Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
29 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
ปกิณกะ พระเครื่อง : 'หลวงพ่อทวด' วัดช้างให้ กับ 'พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร'

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๕ ขออำนาจแห่งองค์สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ทุกท่าน จงประสบแต่ความสุขสวัสดีตลอดไป คิดหวังสิ่งใดที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ขอให้สมความปรารถนาทุกประการ โดยทั่วหน้ากันเทอญ



ในทุกวันนี้หากกล่าวถึงพระเครื่อง หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ นักสะสมพระเครื่องไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ทุกคนมีความใฝ่ฝันที่จะได้ครอบครองพระเครื่องหลวงพ่อทวด รุ่นใดรุ่นหนึ่ง ที่ทัน ท่านพระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ปลุกเสก

พระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่หมายปองของนักสะสมพระเครื่องมากที่สุดรุ่นหนึ่ง คือ รุ่นปี ๒๕๐๕ ที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (องค์ชายกลาง) เป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส ตามหลักฐานปรากฏว่า ปี ๒๕๐๕ เพียงปีเดียวเท่านั้นที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ได้ทรงจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด รุ่นนี้ขึ้น



"ทำไมพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ถึงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวด วัดช้างให้"

จากหลักฐานประวัติการจัดสร้างพระหลวงพ่อทวด พบว่า "องค์ชายกลาง" ทรงรู้จักคุ้นเคยและเป็นมิตรที่ดีต่อกันกับ นายอนันต์ คณานุรักษ์ ผู้ร่วมจัดสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ โดยนายอนันต์ ได้มอบพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ พิมพ์ใหญ่ ที่มีความสวยงาม (พิมพ์ที่มีเม็ดตา ซึ่งในภายหลังเรียกว่า "พิมพ์กรรมการ") ให้ "องค์ชายกลาง" ในคราวที่ได้เสด็จเยี่ยมเยือนนายอนันต์ ที่ จ.ปัตตานี

หลังจากนั้น "องค์ชายกลาง" ได้เสด็จต่อไปยัง จ.ตรัง โดยทางรถยนต์ ปรากฏว่าได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่เขาพับผ้า เขตติดต่อระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.ตรัง โดยที่ "องค์ชายกลาง" ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระเครื่องหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ อยู่ในกระเป๋าเสื้อเพียงองค์เดียวเท่านั้น

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ "องค์ชายกลาง" เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในองค์สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นอย่างยิ่ง และอยากที่จะสนองพระคุณหลวงพ่อทวด โดยการจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง จึงได้เสด็จพร้อมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ เข้ากราบนมัสการและแจ้งความจำนงต่อ พระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ในสมัยนั้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่ พระอาจารย์ทิม กำลังเตรียมการจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด ให้ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามบัญชาขององค์สมเด็จหลวงพ่อทวด ที่ได้กำหนดไว้ในการจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ครั้งแรก ปี ๒๔๙๗ ซึ่งได้สร้างไว้เพียง ๖๔,๐๐๐ องค์ เนื่องจากเวลามีไม่เพียงพอ ได้ฤกษ์ปลุกเสกเสียก่อน จึงยังขาดจำนวนพระที่ต้องสร้างเพิ่มอยู่อีก ๒๐,๐๐๐ องค์ ในวาระนั้น (ปี ๒๕๐๕) จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะสร้างพระเครื่องจำนวนที่เหลือดังกล่าวให้ครบถ้วน ท่านพระอาจารย์ทิมจึงได้ทำพิธีขออนุญาตต่อดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เพื่อจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง



ดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จหลวงพ่อทวด ได้บอกว่า "ครั้งแรกที่สร้างด้วยเนื้อดินและว่าน ลูกหลานได้นำไปใช้แล้วแตกหักเสียหาย ท่านเสียใจมาก หากมีกำลังทรัพย์เพียงพอ การจัดสร้างพระครั้งนี้ขอให้สร้างด้วยโลหะ"

ดังนั้น "องค์ชายกลาง" จึงขอรับเป็นประธานอุปถัมภ์ ในการจัดสร้าง พระหลวงพ่อทวด ครั้งนี้ โดยได้ให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ ให้เหมือนกับพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์กรรมการ) อันเป็นองค์เดียวกับที่พระองค์ทรงประสบกับปาฏิหาริย์ที่เขาพับผ้า จ.ตรัง ... นี่เป็นที่มาของการจัดสร้าง พระเครื่องหลวงพ่อทวด รุ่นหลังเตารีด ปี ๒๕๐๕ อันโด่งดังไปทั่วเมืองไทยในขณะนี้

การจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด ปี ๒๕๐๕ ครั้งนั้น มี ๓ แบบพิมพ์ ที่ "พระองค์ชายกลาง" ทรงเป็นองค์ประธานการจัดสร้าง คือ

๑.พระกริ่ง รุ่นพระองค์เจ้าเฉลิมพลฯจำนวน ๑๐๘ องค์

๒.พระหลวงพ่อทวด หล่อโบราณ รุ่นหลังเตารีด ๒๐,๐๐๐ องค์ (พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก)

๓.เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ ๕ แถว

(ในส่วนของพระหลวงพ่อทวด รุ่นหลังหนังสือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก และเหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์น้ำเต้า ซึ่งสร้างในปี ๒๕๐๕ เช่นเดียวกันนั้น เป็นการจัดสร้างของทางวัดช้างให้ โดยตรง รวมทั้ง พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ออกที่วัดพุทธาธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา ปี ๒๕๐๕ เป็นการจัดสร้างโดย ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา)

สำหรับพระเครื่องหลวงพ่อทวด หล่อโบราณ หลังเตารีด รุ่นปี ๒๕๐๕ นอกจากสร้างด้วยเนื้อทองผสมแล้ว ยังได้มีการเททองหล่อ พระเนื้อพิเศษ ที่เรียกว่า เนื้อกลับดำ หรือ เนื้อนวโลหะ อีกด้วย ซึ่งนับเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวของการจัดสร้าง พระหลวงพ่อทวด เนื้อนวโลหะ (รวมทั้ง พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ที่ออกในปีเดียวกัน) นอกเหนือจาก ปี ๒๕๐๕ แล้ว ไม่ปรากฏในประวัติของวัดช้างให้ว่า มีการจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดที่เป็นเนื้อนวโลหะอีกเลย หรืออาจกล่าวได้ว่า พระหลวงพ่อทวด เนื้อนวโลหะ มีการจัดสร้างเป็นครั้งแรกครั้งเดียว และครั้งสุดท้าย คือ ในปี ๒๕๐๕ เท่านั้น

ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้ฐานข้อมูลมาจากหนังสือที่ นายอนันต์ คณานุรักษ์ ได้เขียนให้ไว้กับวัดช้างให้ ผสมกับบทวิเคราะห์ของผู้เขียนเอง ที่นำเอาประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้คลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่องพระบูชามาตลอดหลายสิบปี กลั่นกรองจนออกมาเป็นบทความชิ้นนี้ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากนี้ก็ได้...ขอขอบพระคุณ

.....................................................
(ปกิณกะ พระเครื่อง : 'หลวงพ่อทวด' วัดช้างให้ กับ 'พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร' โดย....วิจิตร ปิยะศิริโสฬส (แพะ สงขลา) )


Create Date : 29 ธันวาคม 2554
Last Update : 29 ธันวาคม 2554 13:58:09 น. 1 comments
Counter : 2877 Pageviews.

 


โดย: amulet108 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:20:07:57 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

yonradee24
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add yonradee24's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.