ผมทำเพลงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อชำระจิตใจใคร (บทสัมภาษณ์มาโนช พุฒตาล)

ประสบการณ์ทางดนตรีของมาโนช พุฒตาล เป็นที่ประจักษ์แจ้งต่อนักฟังเพลงทั้งมืออาชีพและมือสมัคเล่นมาเป็นเวลานานแล้ว ในฐานะนักจัดรายการวิทยุ เขามีแฟนประจำอยู่จำนวนไม่น้อย เสน่ห์อย่างหนึ่งคือ นอกจากเสียงเพลงจากแผ่นแล้ว เรามักได้ฟังเสียงร้องและเสียงบรรเลงกีตาร์สด ๆ ผสมผสานกับการบอกเล่าเรื่องราวที่ให้แง่คิดแปลกใหม่เกือบทุกครั้ง บทสัมภาษณ์ที่ได้สะท้อนประสบการณ์และเรื่องราวความคิดที่น่าสนใจของมาโนช พุฒตาลอีกครั้งหนึ่ง
คนทั่วไปมักมองดนตรีเป็นเรื่องบันเทิงไร้สาระจากประสบการณ์คุณคิดว่าดนตรีเป็นอะไรที่มีแก่นสารหรืออะไรที่เป็นสาระได้บ้างหรือเปล่า
ผมก็ไม่อาจตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เท่าที่จำได้ผมฟังเพลงเพราะความบันเทิง ฟังแล้วมีความสุข ต่อมาคล้าย ๆ เป็นเครื่องมือกลบปมด้อยในด้านอื่น เช่นตอนเด็กเราเล่นกีฬาไม่เก่ง เป็นเด็กตัวเล็ก เพื่อนบางคนเล่นกีฬาเก่ง บางคนเป็นจิ๊กโก๋ สามารถมีลูกน้องในโรงเรียนได้ เราไม่มีอะไรแบบนั้นเลย แต่เรามีความรู้เรื่องดนตรีเรื่องเพลง ก็ใช้เรื่องดนตรีเรื่องเพลงเป็นเครื่องมือโดยเล่าให้เพื่อนฟังเพื่อนก็ให้ความสนใจเคารพเราในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นดนตรีในเบื้องแรกเป็นเครื่องมือในการหาความสุขส่วนตัว ในการพาเราเข้าสังคม ทำให้เรามีที่ยืนในสังคมได้ดีไม่แพ้คนที่เป็นนักบอลของโรงเรียนเลย
ในช่วงแรกผมเข้าใจว่าไม่ได้ใส่ใจเรื่องสาระของดนตรี แต่พอฟังมาก ถลำลึกในดนตรี ก็เริ่มพบบางเพลงมีเนื้อหากินใจ ทำให้เรารู้สึกแต่ก็ไม่ได้เพิ่มความรู้ให้เรามากมาย คล้าย ๆ เป็นสารช่วยหล่อลื่นความรู้จากที่อื่น เช่น เราไปอ่านตำราปรัชญาบางอย่าง แล้วรู้สึก โอ เป็นเรื่องน่าคิด น่าไตร่ตรองต่อ แล้วไปเจอเพลงบางเพลงซึ่งเหมือนเป็นเรื่องเดียวกับหนังสือ ก็รู้สึกว่าเพลงเขายังสนับสนุนแนวคิดเรื่องนี้ เหมือนมันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
แต่ถ้าจะถามว่าดนตรีมีส่วนเสริมทางด้านจิตวิญญาณยังไงเปรียบเหมือนวิชาเคมี ถ้าจะผสมสาร ๒ อย่างให้ทำปฏิกิริยากัน มันจะเปรียบเหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สำหรับผมดนตรีเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาในอันที่เราจะเข้าถึงแนวคิดอีกหลากหลายอย่าง
คุณเริ่มสนใจปรัชญา ศาสนา หรือสิ่งแวดล้อมตอนไหน
คือไม่รู้จะเรียกว่าเกิดความสนใจตอนไหนเพราะนึกไม่ออก แต่พอได้อยู่ใกล้ต้นไม้รู้สึกว่าร่มเย็น ผมชอบเล่นบนลานดินบนสนามหญ้าที่มีต้นไม้เยอะ ๆ เพราะรู้สึกว่าร่มเย็นกว่า หายใจโล่งคอกว่า แล้วยังมีต้นไม้ให้ปีนป่ายไปเด็ดอะไรกินได้ด้วย จากความรู้สึกว่ามันดีกว่าเลยรู้สึกว่าด้านเขียว ๆ เป็นพวกเดียวกับเรา พอชอบแล้ว มันค่อย ๆ มาเองได้รู้จักต้นไม้ เจอหนังสือที่พูดถึงต้นไม้ก็อ่านต่อ ๆ กันไป คล้าย ๆ ไอ้นู่นเสริมไอ้นี่ ไอ้นี่เสริมไอ้นั่น
ด้วยความที่เป็นคนชอบสังเกตและชอบคิด ว่าคนคิดอะไร เขาจะทำอะไร ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ก็เลยทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดถึงคนอื่นแล้วก็คิดถึงตัวเองด้วยว่า ทำไมเราถึงเป็นคนอย่างนี้ล่ะ ทำไมเรื่องแค่นี้เราถึงกระวนกระวายฟุ้งซ่านได้ถึงขนาดนั้น เอาตำราพระมาอ่านเขาก็สอนสารพัด อ่านตำราพุทธทาสก็สอนให้เข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นตัวเรา มันไม่ได้เป็นของเรา มันเป็นแค่นิยาย เป็นละครเรื่องหนึ่งเท่านั้น เดี๋ยวก็จบ ก็ได้แต่อ่าน เหมือนจะเข้าใจแต่ว่าไม่กระจ่างแจ้งหรอก เนื่องจากเราไม่ได้บำเพ็ญศีลภาวนาอย่างต่อเนื่อง อย่างเข้มข้น และมีวินัย พอเราไม่มีวินัย เราก็ได้แค่รู้ตามตำราแต่เราไม่สามารถมีจิตใจที่ปลอดโปร่งโล่งสบายได้ ผมว่าบางทีก็ยิ่งกว่าคนไม่อ่านเสียอีก คนที่ไม่อ่านไม่รู้อะไรเสียเลยจะโกรธจะเกลียดจะรัก มันยังไปเองตามธรรมชาติแต่นี่มีความรู้สึกว่ารู้แต่ทำไมเรายังเป็นแบบนี้ รู้แต่ไม่ได้ปฏิบัติยิ่งฟุ้งซ่านกว่าอีก
อัลบั้ม “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” คุณพูดถึงความเชื่อ ความดี เรื่องราวทางจิตวิญญาณ ซึ่งถือว่าแปลกไปจากงานเพลงที่มีทั่วไป ตอนนั้นคิดอะไร ทำไมจึงทำอัลบั้มนี้
มันไม่ได้เกิดจากการคิด ณ เวลาที่ทำอัลบั้มนั้นหรอก ตอนที่ทำอัลบั้มนั้นเป็นปี ๒๕๓๙ แต่ความคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่เราคิดทบทวนอยู่ตลอดเวลา เราเป็นครอบครัวมุสลิม พ่อผมเคร่งศาสนามาก ตั้งแต่เด็กแล้วพ่อแม่ชอบดุเวลาที่เราทำอะไรไม่ถูกต้องว่า ตายไปจะตกนรกนะ ตายไปจะต้องไปที่นั่นที่นี่ตามหลักศาสนาที่บัญญัติไว้คัมภีร์ เช่นถ้าเราทำผิดมาก เมื่อตายปั๊บเอาไปฝังไว้ในดินจะมีเจ้าพนักงานงัดเราขึ้นมา ตีซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะบรรลุโทษที่ทำเอาไว้ เรียกว่า มาลาอิกัต นี่ยังไม่ได้ตกนรกนะ แค่ยังอยู่ในหลุมฝังศพ อยู่ในอีกโลกหนึ่ง
เวลาที่พ่อแม่บอกเราเรื่องนี้ เราจะนอนหลับด้วยความหวาดกลัวเริ่มรู้สึกว่าตายไปเป็นอย่างไรแน่ ก็พยายามแก้ไขความกลัวด้วยการไม่เชื่อ เริ่มคิดหาวิธีอื่นว่าตายไปแล้วจะเป็นยังไง ผมไปงานศพเห็นเขาฝังศพบ่อย เห็นสภาพที่เอาศพห่อไว้ในผ้าขาวแล้วใส่ไปในชั้นดินลึกลงไป ๖ ศอก ในความเป็นเด็กเรารู้สึกว่าถ้าต้องไปอยู่ในดินอึดอัดอย่างนั้นจะเป็นยังไงหนอ หนอน ไส้เดือนมาไชร่างกายเรา ทำให้เราใช้เวลากับความคิดเรื่องชีวิตกับความตายอยู่บ่อย ๆ ถ้าอยากได้คำตอบจากทั้งหนังสือพุทธ หนังสืออิสลาม หนังสือแปล บางเรื่องเราก็เพียงอยากรู้ก็เริ่มอ่านเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มันดันพาเราสนุกไปด้วย พออ่านเล่มนี้จบก็เป็นช่องทางให้ไปอยากอ่านเล่มอื่นต่อ สิ่งนี้ทำให้เรามีข้อมูลเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่รู้จะปักใจอันเรื่องไหนดี เลยเป็นเหมือนคนเคว้งคว้างซึ่งตามหลักศาสนาอิสลาม การไม่เชื่อถือในพระเจ้าถือว่าเป็นบาปหนักมาก ตกนรกได้เลย แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กวัยรุ่นซึ่งมักจะไม่กลัวในสิ่งที่ควรกลัว คิดว่าเจ๋ง คิดว่าเท่ด้วย การท้าทายในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้จริงสักหน่อย
การงานทำอัลบั้มนั้นเกิดจากคล้าย ๆ ท้าทายในสิ่งตัวเองยังไม่ได้รู้สักหน่อย แต่กล้าท้าไปแล้ว แม้แต่ตัวผมเองก็ไม่ได้เข้าใจสักหน่อย คล้าย ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตแล้วก็เล่าเรื่องที่เราสังเกตเห็นออกไปโดยที่เราก็ยังไม่มีคำตอบให้นะว่า แท้จริงแล้วกำเนิดของโลกคืออะไร
ในยุคหนึ่ง มีเพลงจำนวนมากที่เรียกร้องความถูกต้องบางอย่างให้แก่สังคม แต่ปัจจุบันเพลงลักษณะนี้น้อยลงจนแทบหายไปเลย เป็นเพราะทุกวันนี้โลกไม่มีวิกฤตการณ์แล้วหรือเปล่า
วิกฤตการณ์คงมีอยู่เหมือนเดิม แล้วเพลงยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่เป็นว่ายุคหนึ่งก็ใช้ภาษาแบบหนึ่งแล้วก็สื่อสารอีกแบบหนึ่ง ผมอ่านมติชนสุดสัปดาห์เล่มที่หนุ่ม เมืองจันท์ เขียนเรื่อง “ต่างรุ่น” (คอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ ๒๑ – ๒๗ ก.ย. ๒๕๕๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๑๔๑๔) แกบอกว่าเพลงยุคโบราณที่เราบอกว่ามีคุณค่ามีสัมผัสคล้องจองตามหลักวรรณยุกต์ทุกอย่าง เด็กสมัยใหม่ไปอ่านบอกว่าทำไมคนโบราณแต่งเพลงไม่ใช้ความพยายามเลย แค่เอาไปเปรียบเทียบกับธรรมชาติก็ใช้ได้แล้วเหรอ แล้วก็ยกตัวอย่างอีกว่าในห้องเรียนห้องหนึ่ง อาจารย์ซึ่งไปเรียนเมืองนอกกลับมา มาเล่าเรื่องลูกดูดนมแม่ให้นักเรียนในห้องฟังว่า ขณะที่แม่ให้ลูกดูดนมจะเกิดสารเคมีบางอย่างหลั่งออกมาทำให้รักลูก ดูแลลูกอย่างดี เด็กยกมือถามว่าจะมีทางทำให้หลั่งสารตัวนี้น้อยลงได้ไหม ด้วยความรู้สึกว่าแม่รักตัวเองมากเกินไป แล้วมาจู้จี้จุกจิก เด็กมันยังคิดได้แบบนี้เลย ผมว่าหนุ่ม เมืองจันท์ เขียนหนังสือได้มันส์ดี คือไม่ได้เขียนเพื่อจะยกย่องยุคสมัยหนึ่งแล้วไปดูถูกในยุคสมัยหนึ่ง แต่ชี้ว่ายุคสมัยก็มีช่องทางที่แตกต่างของมัน คือรู้สึกว่าเวลาที่ใครจะทำอะไรต่างก็มีเป้าหมายทั้งนั้น บางทีก็ทำเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป้าหมายต่างกันผลที่ออกมามันต่างกันมากเลย
ที่ผมทำเพลงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อชำระจิตใจใคร แต่เป้าหมายหนักไปทางเพื่อแสดงออกมากกว่า ถ้าเป็นเพื่อการแสดงออกอย่างเดียว ถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่มีผลอะไร อย่างท่านพุทธทาสเองไม่ได้ทำเพื่อแสดงออก แต่ทำเพราะมีเป้าหมายชัด ๆ ว่าอยากจะแก้ไขพัฒนาความเชื่อในทางศาสนาพุทธที่ผิดทิศผิดทางตั้งแต่สมัยก่อน เช่นว่าเคร่งครัดในปริยัติธรรมแต่ไม่สามารถหลุดพ้น ท่านพุทธทาสถึงขนาดสอนว่าแม่บ้านก็สามารถหลุดพ้นได้โดยไม่ต้องไปท่องพระไตรปิฎก ฝึกการทำงานกับการหลุดพ้นให้ไปด้วยกัน เป้าหมายของท่านพุทธทาสเป็นแบบนี้ มันก็ออกมาเป็นแบบนี้ ก็ทำนองเดียวกับคนที่อยู่ในวงการเพลงที่สร้างออกมา บางทีเพลงของโมเดิร์นดอก หรือเพลงของวงใหม่บางวงก็อาจมีเป้าหมายที่ดีงามด้วยก็ได้ แต่ด้วยวิธีการก็เป็นแบบของเขา ก็สื่อสารกับคนรุ่นของเขา
คุณคิดว่าเพลงที่มีเนื้อหาสาระดี ๆ จะช่วยพัฒนาจิตใจคนได้ไหม
น่าจะได้นะ แต่ผมไม่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะได้ไปในทางแบบ spa หรือแบบ Mozart ที่เขาให้ทารกฟังตั้งแต่ในครรภ์แล้วเด็กจะฉลาดกว่า ผมเห็นว่าเวลาได้ฟังเพลงบางประเภทที่กล่อมเกลาจิตใจฟังแล้วรู้สึกเย็นสบายมีความสุข พอจิตใจมีความสุข โอกาสที่จะคิดอะไรได้ถูกต้องดีกว่าคนที่มีความฟุ้งซ่านสับสน คิดอะไรได้ทะลุปรุโปร่งกว่ารอบคอบกว่า มันก็พอเพียงแล้วที่จะนำพาชีวิตให้ก้าวหน้าไปอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะฉะนั้นเพลงก็น่าจะช่วยได้ในด้านนี้ แต่เพลงก็ชักนำไปในทางรกรุงรังก็ได้ บางเพลงทะลึ่งตึงตังลามกก็มี อย่างที่บอกมันขึ้นอยู่กับเจตนาที่ทำขึ้นมา
อย่างเพลง Rock ทำได้หรือเปล่า
ประเภทของเพลงหรือแนวเพลงไม่น่าจะเป็นปัญหา ผมคิดว่าเป็นเป้าหมายของคนสร้างเพลงมากกว่า ว่ามีเป้าหมายจะบอกให้ทำอะไร อย่างเพลง Rock ธรรมชาติพื้นฐานเกิดมาจากกิเลส ตัณหา มีพื้นฐานจาก Blues เกิดจากคนสร้างเพลงต้องการให้สนุกอย่างเดียวและมีเป้าหมายคือเด็กวัยรุ่น ตอนยุค ๑๙๕๐ ที่ Rock เกิดใหม่ ๆ เนื้อหาของเพลงจะเป็นเรื่องระบำรำเซิ้ง ชิงรักหักสวาท เรื่องกิเลสเรื่องเพศทั้งนั้นแหละ คำว่า Rock&Roll ตัวคำเองยังหมายถึงการร่วมเพศเลย เป็นคำ slang ของคนผิวดำในยุคนั้น หรือแม้แต่คำว่า Jazz ก็มาจากคำว่า Orgasam ขนาดที่มามันยังเป็นเรื่องแบบนี้ ที่นี้เราต้องมาดูว่าเรื่องร่วมเพศเป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ผิดล่ะ ถ้าเรื่องการร่วมเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องกระทำกันอยู่ในการเกิดมาเป็นสิ่งมี ชีวิต ก็ไม่เป็นไร ทีนี้ต้องมาดูว่าร่วมเพศเป็นแบบใด ข่มขืนหรือว่าขโมยคนอื่นมาร่วมเพศ ถ้าอย่างนั้นเป็นการร่วมเพศที่นำความเดือดร้อนมา
มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ดนตรีถูกนำมาใช้ในทางที่ดี แล้วช่วยยกระดับจิตใจคนให้ดีขึ้น
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เรื่องบันเทิงถ้านำไปใช้เพื่อการบันเทิงมันจะไปได้ดีมากเลย แต่ถ้าเรื่องบันเทิงนำมาใช้เพื่อเป็นแก่นสารแล้วมักจะฝืดเคือง จริง ๆ แล้ว ผมยังไม่เคยเห็นและโอกาสน้อยมากที่เพลงที่พูดเรื่องทางจิตใจการชำระจิตใจจะประสบความสำเร็จ สมมุติว่ามีเพลงที่ได้รับความสำเร็จในแง่นี้ แต่มันจะได้รับความสำเร็จในแง่ทำให้สนุกเฉย ๆ คนไม่เคยจะเข้าถึงและจริงจังกับมัน ต่อให้มีเพลงฮิตที่เนื้อหาพูดถึงเรื่องความดีความชั่ว อย่างเพลงของโอฬาร หรือเดอะซันหลายเพลง คนก็ร้องเฮ ๆ อยู่ในร้านเหล้าก็ยังกินเหล้าอยู่ ยังประพฤติผิดทั้ง ๆ ที่ ปากร้องเพลงให้ทำความดี
ผมฟังเพลงบ่อย ๆ ก็คิดเหมือนกันว่า เราจำเป็นต้องฟังเพลงกันมากขนาดนั้นเลยเหรอ ทุกวันนี้ผมจัดรายการวิทยุต้องฟังเพลงวันละ ๓ ชั่วโมงทุกวันก็เบื่อนะ รู้สึกว่าทำไมต้องมาฟังอยู่ได้ บางทีฟังนักจัดรายการวิทยุพูดถึงความสำคัญของเพลง ความไพเราะของมันไม่ฟังไม่ได้ บางทีผมจะรู้สึกแย้ง ๆ ในใจว่า แหม มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรอก การกินข้าวยังสำคัญกว่าฟังเพลงเลย
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ทางออกน่าจะอยู่ตรงไหน
มันก็คงยาก คงต้องรอให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงจนไม่มีทางรอด แต่ก็จะสายเกินไปเสียแล้ว อย่างเรื่องโลกร้อนก็เป็นภัยพิบัติแล้วแต่ยังมีฝ่ายที่พยายามจะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นให้ได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี แทนที่จะเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็ยังไม่ทำ คงจะเป็นนิสัยคนที่ต้องรอให้ไฟลนตูด ไม่รอดแล้วถึงจะ โอเค ทำ ซึ่งผมว่ามันเป็นทุกคนล่ะนะ แล้วเราก็ไม่ต้องไปกระวนกระวายกับมัน เพราะว่ามันก็เป็นอย่างนี้ แต่เราต้องไม่ไปคล้อยตามเขานะ แต่เราก็มีวิถีของเรา ในเมื่อคุณเชื่ออย่างนี้อยู่ก็ทำแบบที่คุณทำอยู่ก็ดี แม้ว่าจะมีคนแบบคุณ ๑๐ คน และมีคนแบบตรงข้ามกับคุณ ๑๐๐ คนก็ตามที

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
จากคอลัมน์ธรรมสังคีต หนังสือปาจารยสาร ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒ พ.ย. – ธ.ค. ๒๕๕๐










Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2551 8:42:46 น. 5 comments
Counter : 2704 Pageviews.

 
มาโนช พุมตาล
“มนุษย์ของข้าพเจ้า”

โฮ๊ะๆๆ


โดย: นางฟ้าเดินเอื่อยๆ IP: 125.24.58.230 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:06:20 น.  

 
กลัวเหมือนกันว่าจะเป็นการละเมิดเพราะว่าลอกของเขามาตรง ๆ


นิตยสารปาจารยสาร หาอ่านได้ยากพอควรแต่ว่าสมัครเป็นสมาชิกได้ เป็นนิตยสาร รายสองเดือนที่วิพากษ์สังคมได้อย่างสนใจ โดยเฉพาะเรื่องพุทธศาสนา ความรู้และความเข้าใจในเรืองนี้ลึกซึ้งมากค่ะ


โดย: w2w วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:38:49 น.  

 
ขอส่งต่อความรักให้ทุกๆ คนในบล๊อกครับ



สำหรับความรักและมิตรภาพครับ..

สำหรับความรักและมิตรภาพครับ



โดย: มิน (kaminkp ) วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:58:38 น.  

 

อ่านยากนิ๊ส คือ ไม่มีที่ว่างจะให้หายใจน่ะ

ผมว่าคุณมาโนชเป็นคนเก่ง รู้อะไรรู้จริง

อ้อ คนทับแก้วเป็นคนๆหนึ่งในบล๊อกแก๊งค์ ที่ชื่นชอบคุณมาโนชมากกกกก


โดย: yyswim วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:04:18 น.  

 
อยู่ทับแก้วเมื่อหลายปีมาแล้ว
ตอนปีสองที่คุณมาโนชออกอัลบัม ใน ทรรศนะของข้าพเจ้า

เขาไปบรรยายที่คณะอัดษรด้วยหล่ะ


โดย: w2w IP: 125.26.29.114 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:13:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

w2w
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
14 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add w2w's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.