Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
สมปองเล่าเรื่องเพลงชาวกลุ่มอาสาฯ

คุยเฟื่อง...เรื่อง ร้อง รำ ทำเพลง กับ กลุ่ม / ค่ายอาสา’มหิดล
สมปอง ไม้สุพร
สมาชิกกลุ่มฯ ปี 2514 / ค่ายฯ 6-9 , เยี่ยมค่าย 10 -15


        เมื่อ สมัครมาเป็นสมาชิกกลุ่มฯ เรื่องแรกที่เราต้องฝึกให้ได้ คือ การร้องเพลงประจำกลุ่มอาสาฯ เพลงมหิดลมงคลนาม และ เพลง มาร์ชมหิดล (ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า เดิน เดิน เดินอย่างองอาจ เรารับใช้ชาติไม่ขาดกตเวที...ขออภัยถ้าชื่อเพลงผิด) ซึ่งแต่งโดย ท่านอาจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้เริ่มก่อตั้งกลุ่มฯ  เพื่อใช้ร้องสร้างความบันเทิง ก่อนออกรถ / ลงรถ ไปร่วมกิจกรรมประจำเดือน หรือไปค่าย  และจะลืมไม่ได้ ต้องร้องเพลง อวยพรขอบคุณ ที่ชาวกลุ่มฯทุกคนจำเป็นต้องร้องให้เป็น(ที่เรามักเรียกกันเล่นๆติดตลก ว่า เพลงหากิน ถ้าไม่ร้องเพลงนี้อาจจะไม่ได้กินอาหารฟรี )  ที่ขึ้นต้นด้วย คำว่า...ขอให้รื่นเริงสุขสำราญ (ใช้ปากทำทำนอง...) เหมือนดอกไม้บานยามเช้า หอม อะคร้าว หอมอะคร้าวชมดม เหล่..เล..เล้..เหล่..เล..เล้..เล..เล..เหล่..เล  ขอให้สุขกาย สุขใจเหมือนดังน้ำในคงคา ให้สุขกายสุขตาเหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ ให้สุดชื่นดังดอกไม้ เมื่อยามน้ำค้างพร่างพรม ให้ทรัพย์สินอุดมให้พบแต่ความร่มเย็น..( ร้อง ช่วง
ให้สุขกายสุขใจ ประมาณ 3 เที่ยว ก่อนจะร่ำลาเจ้าภาพ กลับไปขึ้นรถ) มีสมาชิกบางคน รวมทั้งผู้เขียน พูดแซวว่า ถ้าเจ้าภาพไม่เลี้ยงอาหารหรืออาหารไม่ดี น่าจะเปลี่ยนจาก ให้ทรัพย์สินอุดมให้พบแต่ความร่มเย็น มาเป็นให้พบแต่ความล่มจม (ฮา..กันทั้งคันรถ / ห้ามเผยแพร่ สงวนลิขสิทธิ์เฉพาะพวกเราเท่านั้น )  ซึ่งสมาชิกที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ จะต้องร้องทุกเพลงได้โดยไม่ต้องดูโฉนด    ทั้งนี้เพลงต่างๆ คณะกรรมการกลุ่มและสมาชิกกลุ่ม/ค่าย ที่มีจิตอาสา จะช่วยกันจัดทำโดยพิมพ์ โรเนียวเนื้อร้อง เข้ารูปเล่มตามกำลังงบ ตามอัตภาพ พิมพ์กันเองโดน จิ้มดีด ( เครื่องพิมพ์ดีด สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ )               
        เรื่องที่สอง เราต้องฝึกตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ อุปกรณ์ประกอบจังหวะอื่นๆให้เป็น ซึ่งมีสมาชิกหลายคนฝึกแล้วฝึกอีก ตียังไงก็ไม่เข้าจังหวะ ทั้งที่ปรบมือให้จังหวะได้ ปรากฏว่าเป็นการยากสำหรับบางคน จนปัจจุบันยังร้อง, ตีไม่เป็น บางคนเคยมีประสบการณ์และมีทักษะสามารถเรียนรู้ได้ไว    ส่วนจังหวะที่ฮิตๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงจังหวะรำวง จังหวะสามช่า(ช่า..ช่า..ช่า..) จังหวะมาร์ช ฯลฯ
        โชคดีที่ทั้งสองอย่างนี้ผู้เขียนมีประสบการณ์มาก่อน จึงสามารถตีกลองร้องเพลง (เป็นร้อยๆเพลง)  เคาะจังหวะต่างๆได้ โดยผู้เขียนได้ฝึกร้อง จำเนื้อเพลงต่างๆจากวิทยุและหนังสือเพลง ( สมัยนั้นไม่มีคาราโอเกะ ต้องท่องจำเนื้อร้องทำนอง100 %  ไม่มีเทปคลาสเซท วีดีโอ ซีดี ต้องช่วยกันจำเนื้อล้วนๆ)     
        ช่วงต่อมามีสมาชิกกลุ่มฯ/ค่ายฯบางคน มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นเดียวกันและรุ่นน้อง เท่าที่จำได้มี พี่ศักดิ์(วีระศักดิ์) พี่แจ๋ว(ปรียา) พี่ตุ๊(วิทยา) พี่ภู(ภูษิต) พี่ออด(อำพล) พี่ยาว(อนุวัฒน์) พี่อู๊ด(ธรรมนูญ) พี่โต้ง(อนันตพัฒน์) พี่หน่อง(กฤษฎา)  แก่(พันวิทย์) ก้อน(โสภณ) แป๋ง(ชูพันธ์) ตัวเล็ก(ไพรัตน์) ส้วม(ห้องสิน) ซีด(ณรงค์) เบิ้ม(ฑีฆายุ) ดา(จินดา) อ้วย(วาณี) แจ๊ส(มนต์จันทร์)  เจี๊ยก(ศัลยา)  คิม(ดนยา)  จักร์(จักร์กฤษณ์)  เหน่ง(อิสรา) โจ(ธีระภาพ)  ปริ๊น(ชุมพล) ธง(ธงชัย) ฯ และปอง(ผู้เขียน)  มีความประสงค์ จะทำรูปเล่ม หนังสือรวมเพลงต่างๆ   สำหรับสมาชิกที่มาใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ร้องเพลงไม่เป็นจำเนื้อไม่ได้  จะได้นำไปใช้ประกอบกิจกรรมและมีส่วนร่วมขณะเดินทาง หลายๆคน  ช่วยไปหาเนื้อเพลงทุกประเภท จากหนังสือเพลงจากความจำเดิม ประมาณ100 เพลง    เผอิญผู้เขียนสามารถร้องเพลงลูกทุ่งได้เยอะ เพลงลูกกรุง และเพลงสุนทราภรณ์บางเพลง จึงเขียนเนื้อเพลงที่จำได้เป็นลายมือต้นฉบับ ส่งพิมพ์ (บางครั้งก็พิมพ์ จิ้มดีดเอง) พิมพ์ลงบนกระดาษไข (ผิดไม่ได้ อาจเสีย) วางแบบ ออกแบบรูปเล่ม โรเนียว  ทำปก เข้าเล่มกันเอง ผลิตออกมาประมาณ 100 เล่ม  ( ดูรูปเล่ม ก็ไม่ชี้เหร่เท่าไหร่ สวยพอใช้ ในขณะนั้น บางเวอร์ชั่นทำปกด้วยฟิลม์เอ๊กซเรย์ เก๋ไก๋ดี )  นับว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่ง ที่เป็นรูปธรรม ที่ กลุ่ม/ชมรมฯ อื่นๆ ต้องมาขอยืมไปใช้ และขอนำไปใช้เป็นต้นแบบ       
        เมื่อสมาชิกกลุ่ม/ค่ายมาร่วมกิจกรรมขึ้นรถแล้ว เราจะแจกหนังสือเพลงคนละเล่ม ช่วยกันร้อง ช่วยกันตีจังหวะ โดยจะมีผู้เขียน และชาวกลุ่มชาวค่ายบางคนที่ร้องเพลงเป็นช่วยกันนำ ช่วยกันสร้างบรรยากาศ  ตีกลอง ร้องเพลง เป่าเม้าท์ออร์แกน (Hamonica) ประกอบจังหวะ  ตั้งแต่รถออกจนรถจอด เราจะร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานตลอดเส้นทาง ใครที่ร้องไม่ได้ ไม่เคยร้อง ก็จะฝึกร้อง กันจนร้องเป็น  สมาชิกบางคนไปร่วมกิจกรรมบ่อยๆ จะร้องจนจำเนื้อ และตีกลองให้จังหวะได้ หลังจากจบกิจกรรมแล้ว  สมาชิกจะต้องรวบรวม เก็บ ถนอม หนังสือเพลงเหล่านี้ไว้ที่กลุ่มเพื่อใช้ในโอกาสต่อไป และหนังสือเพลงนี้จะมีการปรับปรุงเพิ่มเพลงที่ดังๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ


การร้องเพลงเพื่อสร้างความบันเทิง     
        ชาวกลุ่ม / ค่ายอาสามหาวิทยาลัยมหิดล จะมีการร้องเพลงเพื่อสร้างความบันเทิงร่วมกัน ในบรรยากาศงานต่างๆ ได้แก่
        1. กิจกรรมกลุ่มฯ(ระยะสั้น) เช่น การทำบุญ  การไปร่วมกิจกรรมประจำเดือน การไปทัศนศึกษา  เป็นต้น
        2. กิจกรรมค่ายฯ(ระยะยาว)  ระหว่างเดินทาง และอยู่ในค่ายฯ
        ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม  เมื่ออยู่บนรถบัส เราจะเริ่มร้องเพลง พร้อมตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ ปรบมือให้จังหวะ สร้างความสนุกสนาน ใครใคร่ตี (กลอง)..ตี   ใครใคร่ ร้อง..ร้อง ใครร้องไม่ได้ ดูโฉนด(ในเล่มตามสารบัญเพลง) ใครตีไม่ได้ ปรบมือตามให้เข้าจังหวะ แล้วค่อยไปฝึกทีหลัง    
         ห้าเพลงแรกสั้นๆ  ที่ต้องร้องเป็นประเพณี คือ เพลงกลุ่มอาสาฯ(จังหวะรำวง) เพลงมหิดลมงคลนาม(จังหวะรำวง)  เพลงมาร์ชมหิดล(จังหวะมาร์ช)  และเพลงรำวงกลุ่มอาสา โดยร้องแบบต่อเนื่อง  ที่ขึ้น ด้วย คำว่า...
        กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล   รวมใจกายมุ่งหมายศุภผลชนทั่วไป                                                                  กลุ่มอาสา อาสารัฐพัฒนาเมืองใหม่   ภูมิใจไทย ได้มาอาศัยใช้ภูมิธรรม
หญิงชาย ชมรมเรา ยอมรับ นับเอาโครงการสร้างทำ  พร้อมพลีวีรกรรม กระหน่ำสู้ไป  
สร้างทำกรรมดีงาม ไว้ตามเขตคามชนบทไกล เพื่อรัฐไทยไฉไล ยิ่งใหญ่สมภูมิ
(เพลง มหิดลมงคลนาม) 
ร้องหมู่.... มหิดลมงคลนามงามสง่า กลุ่มอาสาฯ พากระจายหลายถิ่นฐาน
             โดยรอยบาททูลกระหม่อมจอมอาจารย์  อุดมการณ์คือ   สงเคราะห์ไม่เจาะจง
ผู้ชายร้อง..สละสุขส่วนตน เพื่อผลเลิศ   ได้บังเกิดแก่ปวงชนต้นประสงค์ 
             ปัจจัยสี่ มีอุดมสมจำนง  ทั้งมุ่งตรง พัฒนา ปัญญาดี
ผู้หญิงร้อง..มหิดลมงคลนามงามพิลาส  ข้าพระบาทฯ ประณตบทศรี
              ถวายความจงรักษ์ และภักดี  ด้วยกตเวทีต่อท้าวไท
ร้องหมู่....  ขอกล่าว สัจจะวาจา  ณ ครานี้  จะรักษาประเพณีที่สดใส
              ถนอมเกียรติ กลุ่มอาสาฯ กว่าสิ่งใด ไม่ยอมให้ใครเหยียดหยาม มหิดล
(เพลง มาร์ชมหิดล)
(สร้อย)  เดิน เดิน เดิน อย่างองอาจ  เรารับใช้ชาติ ไม่ขาดกตเวที อาบเหงื่อต่างน้ำ มุ่งทำความดี เพื่อพ้องน้องพี่ สุขศรี สมบูรณ์...
        กลุ่มอาสา มหิดล คนรู้ทั่ว มิใช่ชั่วสู้ตายทั้งชายหญิง  ทำอะไรไม่เพลี่ยงพล้ำเพราะทำจริง งานทุกสิ่ง สู้ได้ไม่จำนน...(สร้อย)
        จะขึ้นเหนือหรือล่องใต้  เราไม่หวั่น จะบากบั่นสู้ไปทุกแห่งหน นอนกลางดินกินกลางทราย ไม่กังวล ขอแผ่เกียรติ มหิดลตระการไกล...(สร้อย)   
        ( ขณะร้องเพลงนี้ ชาวกลุ่ม / ชาวค่ายชาย- หญิง จะโค้งกันออกมารำวง บางคนฝึกรำวงเป็นก็เพลงนี้แหละ)
(เพลง รำวงกลุ่มอาสาฯ)         
        มารำวงเถิดหนา  กลุ่มอาสาฯ รวมใจทุกคน เราชาวมหิดล ทุกคนร่วมใจพัฒนา 
        เสร็จมาจากการงาน สุขสำราญกันทั่วหน้า  ต่างสนุกเฮฮา พาใจให้เบิกบาน
        ชายเชิญออกมาโค้ง หญิงรำวงด้วยความยินดี  สร้างความสามัคคี ตามประเพณีโบราณ
        หญิงก้าวรำนำหน้า ชายลีลาเยื้องตามทำนอง เต้นตามจังหวะกลอง ตามทำนองเพลงรำวง...
( จากนั้นมักจะต่อตามด้วยเพลง รำวงดาวพระศุกร์ 2-3 เที่ยว ) 
        มา..มา..รำ ร้องเพลงลำนำร่ายรำเฮฮา ถึงดาวพระศุกร์ สนุกหนักหนา  เย้ายวนวิญญาอารมณ์     พริ้งพราวพวกดาวพระศุกร์ สมนามสมสุข สนุกภิรมย์ อยู่ต่างโลก โชครวมรัก  ถึงคราวสมัครฝากไมตรี รำวงคืนนี้ สุขีชื่นชม  เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เรามาสุขใจ ฤทัยรื่นรมย์ รัก ชิดชม อารมณ์สุขเอย..                                                                 
        หลังจากจบห้าเพลงบังคับแล้ว เราจะร้องต่อเพลงในจังหวะรำวง (จนกว่าจะเบื่อ เปลี่ยนเพลง หรือหมดเพลงรำวง)  เช่น มักจะต่อด้วยเพลง  รำวงดาวพระศุกร์   รำวงชุดรำวงมาตรฐาน   และรำวงของวงสุนทราภรณ์ จนนักร้องเบื่อกันไปข้างหนึ่ง  จึงเปลี่ยนไปร้องเพลง จังหวะ สามช่า     และจังหวะอื่น เช่น  กัวลาช่า  แทงโก้ บีกิน โบเรโล่ ออฟบิส โซล ฯ  อย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุด (Non-Stop)  แม้กระทั่ง ลงรถไปเข้าห้องน้ำ หรือ ทานอาหาร ขึ้นรถมาร้องต่อ สลับกับเพลงช้าเพื่อพักผ่อนเสียง   จนรถถึงปลายทาง ( สมัยแรกๆ จำได้ว่า   ร้องกันยาวมาก ระหว่างเดินทางไปที่ตั้งค่าย หลายชั่วโมง  บางคนร้องแบบไม่หลับไม่นอน บางคนร้องจนเสียงแหบแห้ง บางคนหลับไปแล้ว ตื่นมาร้องต่อ )
        เพลงเร็ว จังหวะสามช่า ที่ร้องกัน มักจะเป็นเพลงลูกทุ่งที่ฮิตในสมัยนั้น เช่น เพลง  เหล้าจ๋า  ฮักกันบ่ได้  รักจางที่บางปะกง ทำบุญร่วมชาติ  ฉันทนาที่รัก สามสิบยังแจ๋ว ยมบาลเจ้าขา ทุยเพื่อนรัก ขี่เก๋งอย่าลืมเกวียน รักสิบล้อรอสิบโมง ฮักสาวขอนแก่น สาวอีสานรอรัก ปืนบ่มีลูก บ่นแก้กลุ้ม ไอ้หนุ่มตู้เพลง  เมียไม่มาเมียไม่มี  ตั๊กแตนผูกโบว์  โทน  พบรักหน้าอำเภอ  กระแซะเข้ามาซิ  คนดังลืมหลังควาย ในรั้วแดงกำแพงเหลือง...ฯลฯ
        เพลงช้า  เช่น  เพลง มนต์รักลูกทุ่ง รักเก่าที่บ้านเกิด  สมศรี 1992  เพลงตา เพลงมอง  สาวสวนแตง ลารักสาวสวนแตง  สัญญาเมื่อสายัณห์  ลาสาวแม่กลอง ร้องไห้กับเดือน สงกรานต์บ้านนา ฝนเดือนหก ฝนซาฟ้าใส
พบรักปากน้ำโพ  หลานย่าโม  น้ำตาจ่าโท สิบหกปีแห่งความหลัง เสียวไส้ สาละวันรำวง  สายเปลสายใจ รักแม่หม้าย รักพิลึก อกอุ่น มันมากับความแค้น ข้าวไม่มีขาย มอเตอร์ไซด์ทำหล่น น้ำท่วม  มนต์รักหนองหาร  อ้อนจันทร์ พายงัด ที่รัก..เรารักกันไม่ได้ ทำไมถึงทำกับฉันได้  มนต์เมืองเหนือ นกขมิ้น รักเอย ที่รัก  เพ็ญโสภา  น้ำตาร่วงหลังพวงมาลัย แม่โขงสะอื้น เดือนหงายที่ริมโขง บ้านเรา จุฬาตรีคูณ  น้ำตาแสงไต้  เรือนแพ รักซ้อนซ่อนรัก ครวญ  เพ้อ ไม่รักไม่ว่า นกเอี้ยง สาวมอเตอร์ไซด์ อุ๋ยคำ ของกินบ้านเฮา  สาวมอเตอร์ไซด์  อุ๋ยคำ ของกิ๋นบ้านเฮา  ขอให้เหมือนเดิม ลาภูพิงค์ พรหมลิขิต ลามหิดล ในฝัน รังรักในจินตนาการ ปรารถนา  ลาสาวแม่กลอง  ลำน้ำพอง ผู้ชนะสิบทิศ  ทุงยาบาเล  เย้ยฟ้าท้าดิน หยาดเพชร รู้ว่าเขาหลอก ชุดเพลงพระราชนิพนธ์  ชุดเพลงดิอิมพอสซิเบิ้ล...ฯลฯ
        เพลงร้องคู่  เป็นเพลงที่ชาวกลุ่ม / ค่ายฯ นิยมกันมาก เพราะแข่งกันร้องสลับหญิงชาย (มีแปลงเนื้อร้องแซว บางช่วงบางตอน)  เช่น เพลง สักขีแม่ปิง  นกเขาคูรัก มนต์รักดอกคำใต้  ไฟรักอสูร  วนาสวาท   จุดไต้ตำตอ โสนสะเดา  มะนาวไม่มีน้ำ  หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ ไพรพิศดาร  วนาลี  ใต้ร่มมลุลี  ....ฯลฯ
        เพลงเพื่อชีวิต เช่น ดอกไม้ให้คุณ  วณิพก  เมดอินไทยแลนด์ ...ฯลฯ
( ขออภัยอย่างแรง มีอีกเยอะแยะ นึกไม่ออก  ดูในเล่มเพลงก็แล้วกัน )   
        ส่วนนักร้องดังๆ  ที่เรานำเพลงเขามาร้อง ในยุคนั้น  ส่วนใหญ่   ได้แก่
วงสุนทราภรณ์  เอื้อ สุนทรสนาน บุษยา รังสี  สมศักดิ์ เทพานนท์  เลิศ ประสมทรัพย์  ศรีสุดา รัชตะวรรณ ชวลี  ช่วงวิทย์  รวงทอง ทองลั่นทม  มาริษา อมาตยกุล  ยรรยง เสลานนท์  นพดล ชาวไร่เงิน  อโศก โฉมฉาย อรุณฉาน        
        ลูกกรุง สุเทพ วงศ์คำแหง  ธานินทร์ อินทรเทพ  ชรินทร์ นันทนาคร  มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์  ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา    ดาวใจ ไพจิตร  ศรวณี  โพธิเทศ   รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส  ลินจง บุนนากรินทร์  ชรัมย์ เทพชัย  หยาด นภาลัย
        ลูกทุ่ง  สมยศ ทัศนพันธ์  ทูล ทองใจ  ปอง ปรีดา  สุรพล สมบัติเจริญ พร ภิรมย์  ผ่องศรี วรนุช ยุพิน แพรทอง  วงจันทร์ ไพโรจน์    ศักดิ์ศรี ศรีอักษร  ไพวัลย์ ลูกเพชร ชาย เมืองสิงห์  ไวพจน์ เพชรสุพรรณ  สังข์ทอง ศรีใส   สุชาติ เทียนทอง  พนม  นพพร  ชายธง ทรงพล  รักชาติ ศิริชัย  สมัย อ่อนวงศ์  ภูมินทร์ อินทวงศ์  ศรีไพร ใจพระ บุปผา สายชล  พรชัย สร้อยเพชร กังวานไพร ลูกเพชร  สายัณห์ สัญญา  ยอดรัก สลักใจ  ศรเพชร ศรสุพรรณ  สดใส ร่มโพธิ์ทอง  เอกพจน์ วงศ์นาค  พรศักดิ์ ส่องแสง เอกชัย ศรีวิชัย สัญญา พรนารายณ์  น้ำอ้อย พรวิเชียร ศิรินทรา นิยากร สุนารี ราชสีมา  พุ่มพวง ดวงจันทร์  ยิ่งยง ยอดบัวงาม   
        วงชาตรี  วงดิอิมพอสซิเบิ้ล  วงคาราวาน วงคาราบาว  วงสามศักดิ์ (สักรินทร์,ทนงศักดิ์,มีศักดิ์)                                   
        ระหว่างอยู่ในค่ายฯ  ช่วงกลางคืนก่อนนอน ชาวค่ายจะมีการแสดงบันเทิง ระหว่างเวลา 19.00-20.00 น. หลังอาหารเย็น โดยจะมีกรรมการบันเทิงที่ได้รับมอบหมายจัดการแสดงทุกคืน  จะเริ่มต้น การร้องเพลงกลุ่ม 4-5 เพลง ต่อด้วย การแสดงต่างๆที่เตรียมกันมา   บางคืนมีลิเก  บางคืนมีโขน  บางคืนมีละครเพลง    บางคืนมีดนตรีลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง (จำได้ว่า สมปอง เคยร้องลูกทุ่ง  อาจารย์สรรใจและชาวค่าย เต้นหางเครื่อง สนุกดี ) บางคืนก็มีเกมส์ ...แล้วแต่จะสรรหา คิดกันล่วงหน้าวันต่อวัน จากการประชุมทีมงานกรรมการผู้รับผิดชอบประจำวัน
        ต่อจากนั้น ก่อนเลิกบันเทิง ชาวค่ายจะร่วมกันสวดมนตร์ แผ่เมตตา และแยกย้ายกันไปนอน (บางคนอาบน้ำแปรงฟัน หลายคน ส่วนใหญ่ชาวค่ายชาย และชาวค่ายหญิงบางคน ประหยัดน้ำนอนเลย เรียกว่า อาบแห้ง บางคนไม่อาบเลยตลอดค่าย ไปอาบตอนเล่นสงกรานต์ หรือ พักหยุดกลางค่าย  และเล่นน้ำตกก่อนกลับ  เหม็นไม่เหม็น  ใครเป็นใคร ถามไถ่กันเอาเอง....ฮา )   
        นอกจากนั้น ยังมีเพลงประจำแต่ละค่าย ที่ อาจารย์อวย ท่านได้กรุณาแต่งให้ทุกค่ายที่ท่านอยู่กับพวกเรา (รวมทั้งเพลง รำวงฉลองชัย ร้องหลังจากตอกตะปูตัวสุดท้าย )  และชาวค่ายบางคนที่ชอบกลอน ชอบแต่งเพลง ช่วยกันแต่งโดย เนื้อเพลง จะบรรยายถึงสภาพพื้นที่ที่ตั้งค่าย และบรรยากาศภายในค่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทำนองไทยเดิม ร้องจำง่าย ฝึกร้องก่อนปิดค่าย จำได้ว่า ผู้เขียนเคยแต่ง 2-3 ค่าย เช่น ค่ายที่ บ้านภูพานทอง  ขึ้นต้นว่า ภูพานเอย เอ๋ย ภูพานทอง งามน่ามอง พี่และน้องร่วมใจ....และ ค่ายที่ บ้านเสาเล้า เป็นต้น
        ไม่ทราบว่า ค่ายในปัจจุบัน มีบรรยากาศแบบนี้ เหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อนหรือไม่ ???
        ก่อนจะปิดค่าย และก่อนจะแยกย้ายจากกัน จำได้ว่า ยังมีเพลง ลา ที่ท่านอาจารย์อวย ได้แต่งไว้ให้เราร้องกัน แบบน้ำหูน้ำตาไหล ร้องไห้สะอึกสะอื้นกัน อย่างน่าประทับใจยิ่ง... ด้วยเพลงที่ขึ้นต้นด้วย คำว่า...โอ่ต้องลาแล้ว โอ้ดวงแก้ว ที่สดใส ...และเพลงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า...เมื่อก่อนนี้เราเคยชื่นฉ่ำ... ...(จำเนื้อไม่ได้แล้ว ดูในเล่ม..ฮิฮิ )  
        ขอยืนยัน ว่าที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยาย ผู้เขียนมีความประทับใจมาก เราชาวกลุ่ม / ค่ายหลายคนในยุคนั้น แม้จะเหนื่อย  แต่ก็มีความสุขสนุกสนาน จนบัดนี้ ยังมีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน ไม่ทิ้งกัน มีอะไรถามไถ่ โทรหากัน ผูกพันมิรู้คลาย เรามักจะถามกันว่า ไปค่ายแล้วได้อะไร...คำตอบอยู่ในใจชาวค่ายทุกคน ตามบรรยากาศที่ขุดคุ้ย  แคะ แกะ เกา  มาเล่าให้อ่าน  ถ้าเอ่ยถึง  น้องปอง  พี่ปอง  อ้ายปอง   ชาวกลุ่ม / ค่ายหลายคน   ต้องนึกถึงเอกลักษณ์  สมปอง...นักตีกลอง ร้องเพลง  เป่าเม้าออร์แกน จ้า .
                                                                                                                                สวัสดีครับ  
                                                                                                                              สมปอง  ไม้สุพร
                                                                                                                               28 ตุลาคม 2553 




Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2553 23:06:26 น. 3 comments
Counter : 2575 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะพี่ปองและพี่เจ้าของบล็อค บางคืนยังเคยฝันเห็นพี่ปองตีกลองอยู่เลยค่ะ ฝังใจเป็นเอามาก555


โดย: กุ๊กไก่ค่าย15 IP: 58.9.89.180 วันที่: 8 มิถุนายน 2554 เวลา:11:54:48 น.  

 
อ่านแล้วระลึกชาติได้เลยครับ พี่ปอง ไม่ได้เจอกันนานมากแล้ว แต่พี่ปองยังดูไม่เปลี่ยนเลยครับ


โดย: กาง ค่าย10-15ครับ IP: 172.16.3.233, 161.200.107.196 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:13:04:48 น.  

 
ในค่ายต้นๆจะมีพี่ๆศิลปากรไปร่วมด้วย จึงมีเพลงในแนวของศิลปากร เช่น Santa Lucia , Burung Krakatua เป็นเนื้อไทย ครับ ร้องกันที พี่ๆศิลปากรตาเยิ้มคิดถึงบ้านกันเลย ผมจำเนื้อไม่ได้แล้ว ก็ขอเพิ่มเติมข้อมูลตรงนี้ให้สมบูรณ์อีกนิดนึงครับ // ขอบคุณมากครับ


โดย: เฉลียว หอมวิเศษ IP: 61.90.30.29 วันที่: 16 กันยายน 2564 เวลา:14:42:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wpanwit
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




Friends' blogs
[Add wpanwit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.