<<
ตุลาคม 2564
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
9 ตุลาคม 2564

ส่องอันดับของทีมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในรายการชิงแชมป์โลกรุ่น U18 ถึง U21 ทั้งทีมชายและทีมหญิง

ปีนี้เป็นปีแรกและเป็นครั้งแรกที่ทีมไทยได้ไปแข่งรุ่นจำกัดอายุครบทั้ง 4 รายการ สำหรับรุ่น U18 หญิง อาจจะมีข้อมูลมากกว่ารายการอื่นๆเพราะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันมากกว่ารายการอื่นๆและติดตามมาตั้งแต่ปี 2011

รุ่น U18 หญิง

ทีมไทยได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกรุ่น U18 ทั้งหมด 9 ครั้ง โดยได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ 3 ครั้งในปี 1997, 2009, 2013 (แถบสีเหลือง)



ที่มาของข้อมูลในตารางด้านบน:
https://en.wikipedia.org/wiki/FIVB_Volleyball_Girls'_U18_World_Championship

ปี 2003

จากข้อมูลที่ค้นหามาได้พบว่าทีมไทยชุดนี้มี อรอุมา, ปู มลิกา, สายไหม, ยุ้ย กมลพร (ตัวเซตสำรองชุดแชมป์เอเชียปี 2009) เป็นต้น

ปี 2009

จากข้อมูลที่ค้นหามาได้พบว่าทีมไทยชุดนี้มี พู่ พรพรรณ, ถุงแป้ง วณิชยา, สุทัตตา เป็นต้น

ปี 2011

ทีมไทยได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในฐานะทีมอันดับ 3 จากรายการชิงแชมป์เอเชียปี 2010 แต่นักกีฬาชุดนี้ไม่สามารถเข้าแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกปี 2011 ได้เพราะอายุเกิน 18 ปี (รายการชิงแชมป์เอเชียปี 2010 จำกัดอายุนักกีฬาระหว่าง 17-18 ปี คือเกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 1992 ถึง 31 ธันวาคม 1993 เมื่อถึงปี 2011 ก็อายุเกินกันจึงไปแข่งชิงแชมป์โลกไม่ได้)

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา มีการจำกัดอายุให้สอดคล้องกับรายการชิงแชมป์โลก ดังนี้

  • ถ้ารายการชิงแชมป์เอเชียจัดปีเดียวกับรายการชิงแชมป์โลก ให้จำกัดอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ U18
  • ถ้ารายการชิงแชมป์เอเชียจัดก่อนรายการชิงแชมป์โลก 1 ปี ให้จำกัดอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือ U17 เพื่อให้นักกีฬาสามารถเข้าแข่งรายการชิงแชมป์โลกได้นั่นเอง
สำหรับรายการรุ่นจำกัดอายุอื่นๆ (U19 ชาย, U20 หญิง, U21 ชาย) ก็ใช้หลักเกณฑ์การจำกัดอายุในทำนองเดียวกันตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
 
นักกีฬาชุดที่ได้อันดับ 3 ในรายการชิงแชมป์เอเชียปี 2010 แต่ไม่ได้ไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกปี 2011 ติดทีมชาติชุดใหญ่หลายคน เช่น
  • พู่ พรพรรณ เกิดปราชญ์ (ติดทีมชาติชุดใหญ่ตั้งแต่ปี 2012 ถึงปัจจุบัน)
  • โสรยา พรมหล้า (ติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งล่าสุดคือ รายการ VNL 2021)
  • ถุงแป้ง วณิชยา หล่วงทองหลาง (ติดทีมชาติรายการชิงแชมป์เอเชียปี 2009, ชิงแชมป์เอเชียปี 2011, เอวีซีคัพ 2014, ชิงแชมป์โลกปี 2014 เป็นต้น น้องหายไปจากทีมชาติเพราะมีอาการบาดเจ็บ)
  • เตย หัตถยา บำรุงสุข (ติดทีมชาติรายการเวิลด์กรังปรีซ์ 2010 จากนั้น น้องหายไปพักใหญ่ ก่อนมาติดทีมชาติอีกครั้งตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2018 มีอาการบาดเจ็บตอนที่แข่งรายการ AVC Cup 2018 จนต้องหยุดพักไปนานเกือบ 2 ปี เพิ่งกลับมาเล่นวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกเมื่อปี 2020)
  • สุทัตตา เชื้อวู้หลิม (ติดทีมชาติรายการชิงแชมป์โลกปี 2010, เอเชียนเกมส์ 2010, รายการ VNL 2021)
  • รัศมี สุพะมูล (ติดทีมชาติรายการชิงแชมป์โลกปี 2010, เอเชียนเกมส์ 2010 น้องเป็นผู้เล่นถนัดซ้าย น้องหายไปจากทีมชาติเพราะมีอาการบาดเจ็บ)
 
เนื่องจากทีมชุดที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันอายุเกินตามที่กล่าวไว้ด้านบน จึงมีการใช้นักกีฬาใหม่ทั้งหมดรวมทั้งโค้ชคนใหม่ด้วย (ในช่วงนั้น มีคนโพสต์ไว้ว่าโค้ชโจ้ กิตติพงศ์ ลาออกเนื่องจากต้องให้เวลากับครอบครัว) มีคนเล่าให้ฟังว่านักกีฬาชุดใหม่นี้เพิ่งไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ตัวหลักๆในชุดนี้ เช่น เพียว อัจฉราพร คงยศ, กัตติกา แก้วพิน, แก้วกัลยา กมุลทะลา, คัทลีย์ ปิ่นสุวรรณ, สินีนาฏ โพธิ์เจริญ (อัจฉราพร, กัตติกาและสินีนาฏ เคยติดทีมชาติชุดใหญ่ชุดเดียวกันไปแข่งรายการ AVC Cup 2014 และชิงแชมป์โลก 2014) เป็นต้น

รายการชิงแชมป์เอเชียปี 2010 แข่งที่ประเทศมาเลเซีย ได้ชมคลิปการแข่งขันแมทช์ชิงอันดับ 3 ระหว่างทีมไทยกับเกาหลีใต้ ซึ่งกองเชียร์ไทยถ่ายคลิปเอง (ไม่มีถ่ายทอดสด) ส่วนรายการชิงแชมป์โลกปี 2011 ตอนนั้นไม่มีถ่ายทอดสดเช่นกัน

ปี 2013
 
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยจัดการแข่งขันที่นครราชสีมา กองเชียร์ไทยก็คาดหวังเรื่องอันดับเหมือนกัน ปรากฏว่าทีมไทยจบอันดับ 16 โดยแพ้อียิปต์ในการชิงอันดับ 15 ถูกกองเชียร์บางส่วนบ่นเพราะดันไปแพ้ทีมจากแอฟริกา (น่าจะแพ้ทีมหญิงจากแอฟริกาเป็นครั้งแรกด้วยมั้ง)
 
กองเชียร์เปรูบางส่วนบินตามมาเชียร์ทีมตัวเองถึงนครราชสีมา กองเชียร์เปรูหวังกับทีมเปรูชุดนี้มากเพราะคว้าแชมป์ทวีปโดยเอาชนะบราซิลมาได้ ทีมเปรูชุดนี้เก่งทีเดียวแต่พลาดท่าไปแพ้จีน 2-3 เซตในรอบรองชนะเลิศ (ทั้งๆที่นำไปก่อน 2 เซตแรก) และต้องผิดหวังซ้ำอีกเพราะไปแพ้บราซิลในแมทช์ชิงอันดับ 3
 
ปี 2015
 
น้องบีม พิมพิชยา และน้องบิ๋ม ชัชชุอร ไม่ได้ไปร่วมแข่งขันในรายการนี้เพราะต้องไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกรุ่น U23
 
ในช่วงระหว่างการแข่งขันที่เปรู ตัวรับอิสระของไทย (อนิสา ยอดพินิจ) ต้องเข้าโรงพยาบาลที่ประเทศเปรูแบบกะทันหันเพื่อเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง ทีมไทยต้องนำผู้เล่นที่เป็นตัวตีหัวเสา (ชุติมณฑน์ สากร) มาเป็นตัวรับอิสระแทน รายการนี้ทีมไทยจบอันดับ 18
 
ปี 2017
 
ได้ชมการแข่งขันแต่จำไม่ค่อยได้ จำได้แค่ว่าทีมไทยชนะจีนในรอบจัดอันดับ 17-20 รายการนี้ทีมไทยจบอันดับ 17
 
ปี 2019
 
ทีมไทยชุดนี้ บางแมทช์เล่นดี บางแมทช์เล่นไม่ค่อยดี เหมือนไม่ค่อยเสถียร แต่เป็นทีมที่คาดหวังได้มากกว่าปีก่อนๆ (ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา) มีความรู้สึกว่าเชียร์สนุกดีเพราะมีคนไทยและนักศึกษาไทยในอียิปต์มาช่วยเชียร์ในสนามด้วย รายการนี้ทีมไทยจบอันดับ 15
 
รอบแรก
แพ้ เบลารุส 2-3 เซต (เบลารุสจบอันดับ 17)
ชนะ โรมาเนีย 3-1 เซต (โรมาเนียจบอันดับ 6)
แพ้ รัสเซีย 1-3 เซต โดยทีมไทยได้เซตแรกในแมทช์ที่แข่งกับรัสเซีย (รัสเซียจบอันดับ 7)
แพ้ อาร์เจนตินา 0-3 เซต (อาร์เจนตินาจบอันดับ 12)
 
รอบ 16 ทีม
แพ้ ญี่ปุ่น 0-3 เซต
 
รอบจัดอันดับ 9-16
แพ้ อียิปต์ 2-3 เซต
 
รอบจัดอันดับ 13-16
แพ้ แคนาดา 2-3 เซต
 
รอบชิงอันดับ 15
ชนะ เปอร์โตริโก 3-1 เซต
 
รายชื่อผู้เล่นในชุดนี้
วรัญญา ศรีละออง (หัวเสา หรือ Outside Hitter)
วิรัลยุพา อินทร์จันทร์ (บีหลัง หรือ Opposite)
อรกานต์ สิงห์ขันธุ์ (ตัวเซต)
จิดาภา นาหัวหนอง (ตัวรับอิสระ)
อังคณา พาสังข์ (หัวเสา หรือ Outside Hitter)
อมลรดา ฤกษ์สว่าง (บอลเร็ว หรือ Middle Blocker)
เกวลิน เชื้อเมืองพาน (บีหลัง หรือ Opposite)
พิมพ์ตวรรณ ทองยศ (หัวเสา หรือ Outside Hitter)
สุภัชชา คัมตระรักษา (ตัวเซต)
เสาวภา สู่สุข (บอลเร็ว หรือ Middle Blocker)
ปาจรีย์ มณีศรี (บีหลัง หรือ Opposite)
วิมลรัตน์ ทะนะพันธุ์ (บอลเร็ว หรือ Middle Blocker)
 
ผู้จัดการทีม : ขณาลัย แสงเงิน
ผู้ฝึกสอน : กฤติเดช อาจวิชัย
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : พ.อ.ต.นัฐพงศ์ เกษาพันธ์
นักกายภาพบำบัด : รัตน์กมล จิระอำนวยพร
 
สำหรับการลงสนามในแต่ละแมทช์ พอผู้เล่นตำแหน่งไหนเล่นไม่ดี ก็ส่งผู้เล่นคนอื่นลงไปแทน ที่น่าสนใจคือบอลเร็ว (เสาวภา สู่สุข) ทำคะแนนสูงสุดไป 3 แมทช์ (แมทช์ที่แข่งกับเบลารุส, อาร์เจนตินาและอียิปต์) ทำคะแนนได้มากกว่าหัวเสาอีก
 
ปี 2021
 
ถ้านับเฉพาะปีที่มี 20 ทีม นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ทีมไทยชุดนี้เป็นชุดที่ดีที่สุด เล่นได้เสถียรกว่าทีมไทยชุดปี 2019 อันดับที่ได้มาก็ดีที่สุดด้วยโดยทีมไทยจบอันดับที่ 11 ขอแสดงความยินดีกับน้องๆด้วยนะครับ
 
รายชื่อผู้เล่นในชุดนี้
หมายเลข 2 ณัฐมน เหลืองวัฒนวิไล (ตัวรับอิสระ)
หมายเลข 3 อริสรา ลุนไธสง (ตัวเซต)
หมายเลข 5 ชลันธร ตงธิ (ตัวเซต)
หมายเลข 6 กัญญาณัฐ พลมะศรี (บอลเร็ว หรือ Middle Blocker)
หมายเลข 7 สุชานันท์ แน่นอุดร (บอลเร็ว หรือ Middle Blocker)
หมายเลข 8 อัมพา สนสุรัตน์ (หัวเสา หรือ Outside Hitter)
หมายเลข 9 กัลยรัตน์ คำวงษ์ (ตัวรับอิสระ)
หมายเลข 10 นันท์นภัส มูลจะคำ (บีหลัง หรือ Opposite)
หมายเลข 11 ดลพร สินโพธิ์ (หัวเสา หรือ Outside Hitter)
หมายเลข 16 กัญญาณัฐ ลีโพนทอง (บอลเร็ว หรือ Middle Blocker)
หมายเลข 17 ภิญญดา โต๊ะพ่อ (หัวเสา หรือ Outside Hitter)
หมายเลข 18 อชิรญาภรณ์ กำใจบุญ (บีหลัง หรือ Opposite)
 
หัวหน้าผู้ฝึกสอน : กฤติเดช อาจวิชัย
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : พ.อ.อ. ธีรศักดิ์ นาคประสงค์
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : ณรงค์ฤทธิ์ เว้นบาป
นักกายภาพบำบัด : สุฑามาศ สุทธิวิริยะกุล
เทรนเนอร์ : ภีมวัจน์ บุญจันทร์
ผู้จัดการทีม : อัจฉริยะ แว่นรัมย์

กฤติเดช อาจวิชัย เป็นโค้ชปี 2019 และปี 2021 ถือว่าเป็นโค้ชที่ทำหน้าที่ได้ดีคนหนึ่ง สำหรับผู้เล่นหัวเสาทั้ง 2 คน (หมายเลข 8 และ 11) เด่นมากๆ ทั้งๆที่เจอบล็อกสูงๆก็ยังทำได้ดี ผู้เล่นบีหลัง (หมายเลข 10) เล่นได้ดีในแมทช์ที่แข่งกับโรมาเนียและ 2 แมทช์สุดท้าย สำหรับบอลเร็ว ทำคะแนนได้ดีในบางแมทช์ ตอนแรกที่ชมการแข่งขัน ยังสงสัยว่าทำไมไม่ค่อยส่งให้บอลเร็ว ซึ่งอาจเป็นเพราะตัวเซตมั่นใจในหัวเสามากกว่าบอลเร็วก็เป็นได้ อีกอย่างการจูนกันระหว่างตัวเซตกับบอลเร็วอาจยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่มองว่าสามารถแก้ไขได้ถ้าน้องๆมีเวลาซ้อมมากกว่านี้

การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียรุ่น U19 หญิงในปี 2022 จะเป็นการคัดเลือก 2 ทีมไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกรุ่น U20 หญิงในปี 2023 ซึ่งนักกีฬาชุดนี้สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ (อายุไม่เกิน) ทีมไทยต้องเจอศึกหนักกับทีมจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อแย่งโควต้าเพียง 2 ใบ อยากเห็นน้องๆได้ไปโลดแล่นในรายการชิงแชมป์โลกปี 2023 อีกครั้ง ยังมีเวลาอีก 1 ปีในการเตรียมตัว ขอให้กำลังใจล่วงหน้าให้น้องๆทำได้สำเร็จนะครับ

รุ่น U20 หญิง



ที่มาของข้อมูลในตารางด้านบน:
https://en.wikipedia.org/wiki/FIVB_Volleyball_Women's_U20_World_Championship

ทีมไทยได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน 6 ครั้ง
ปี 1995 ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ จบอันดับ 13 จาก 16 ทีม
ปี 2003 ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ จบอันดับ 9 จาก 16 ทีม
ปี 2007 ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ จบอันดับ 8 จาก 12 ทีม
ปี 2009 จบอันดับ 14 จาก 16 ทีม

ปี 2013 โซนเอเชียได้สิทธิ์เข้าแข่งขัน 4 ทีม ทีมไทยได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในฐานะทีมอันดับ 4 จากรายการชิงแชมป์เอเชียปี 2012

รายการนี้ทีมไทยจบอันดับ 18 จาก 20 ทีม ผู้เล่นหลายคนมาจากทีมชุดชิงแชมป์โลกรุ่น U18 ปี 2011 เช่น อัจฉราพร คงยศ, กัตติกา แก้วพิน, แก้วกัลยา กมุลทะลา, คัทลีย์ ปิ่นสุวรรณ, สินีนาฏ โพธิ์เจริญ เป็นต้น ส่วน ทัดดาว นึกแจ้ง ได้ไปแข่งรายการนี้แต่ไม่ได้ไปแข่งรุ่น U18 ปี 2011

รายการปี 2013 ได้ดูการแข่งขันแค่บางแมทช์เพราะแข่งหลังเที่ยงคืนโดยดูจากเว็บทายผลการแข่งขันซึ่งมีถ่ายทอดสดเพียงอย่างเดียว ไม่มีคลิปการแข่งขัน

ปี 2021 จบอันดับ 14 จาก 16 ทีม

จริงๆปี 2021 ทีมที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันคือ จีนและญี่ปุ่น แต่เนื่องจากทั้งจีนและญี่ปุ่นถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้ไทย (ทีมอันดับ 3 ของรายการชิงแชมป์เอเชียรุ่น U19 หญิง) ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันแทน

รายการปี 2021 ยังไม่มีเวลาดูคลิปการแข่งขันเลยสักแมทช์เดียว เท่าที่ดูรายชื่อผู้เล่น มีหลายคนอยู่ในชุด U18 ปี 2019

รายชื่อผู้เล่นในชุดนี้
กัญญารัตน์ ขุนเมือง
จิดาภา นาหัวหนอง (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
ปนัดดา ไชยเพชร
ปาจรีย์ มณีศรี (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
พิมพ์ตวรรณ ทองยศ (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
วรัญญา ศรีละออง (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
วิมลรัตน์ ทะนะพันธุ์ (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
วิรัลยุพา อินทร์จันทร์ (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
ศศิประภา มณีวงษ์
สุภัชชา คัมตระรักษา (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
เสาวภา สู่สุข (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)
อมลรดา ฤกษ์สว่าง (ผู้เล่นชุด U18 ปี 2019)

ผู้ฝึกสอน : ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : อภิรัฐ งามมีฤทธิ์
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : นัฐพงศ์ เกษาพันธ์
เทรนเนอร์ : ภีมวัจน์ บุญจันทร์
นักกายภาพ : นันฑริกา นิลพงษ์
ผู้จัดการทีม : อัจฉริยะ แว่นรัมย์

รุ่น U19 ชาย

ทีมไทยได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน 2 ครั้ง

ครั้งแรก ทีมไทยเข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกในปี 2003 ในฐานะเจ้าภาพ ทีมไทยจบอันดับ 6 จาก 16 ทีม

ครั้งที่สองคือปี 2021 โดยทีมจากเอเชียได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน 4 ทีม คือทีมอันดับ 1-4 รายการชิงแชมป์เอเชียรุ่น U18 ชาย ปี 2018 (เหตุที่ใช้อันดับของปี 2018 เพราะว่าปี 2020 ไม่มีการแข่งขันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) ซึ่งในปี 2018 ทีมไทยได้อันดับ 5 แต่ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันเพราะทีมอันดับ 3 (อิหร่าน) เป็นเจ้าภาพ เมื่อตัดทีมอิหร่านออกไป ทีมไทยจึงได้สิทธิ์ในฐานะทีมอันดับ 4 ของเอเชีย

ก่อนที่การแข่งขันปี 2021 จะเริ่มต้น ยังกังวลว่าทีมไทยจะเป็นทีมไม้ประดับหรือเปล่าเพราะไม่เคยชมการแข่งขันของน้องๆมาก่อนเลย เมื่อได้ชมการแข่งขันแมทช์แรก รู้สึกว่าผิดคาด น้องๆเล่นได้ดี โดยเฉพาะตัวเซตหมายเลข 2 รู้สึกประทับใจตั้งแต่แมทช์แรก สำหรับการลงสนามในแต่ละแมทช์ พอผู้เล่นตำแหน่งไหนเล่นไม่ดี ก็ส่งผู้เล่นคนอื่นลงไปแทน ได้เห็นฝีมือผู้เล่นแทบทุกคนยกเว้นตัวเซตสำรองหมายเลข 6 ที่ถูกเปลี่ยนลงไปเสิร์ฟในบางแมทช์เท่านั้น ข้อเสียเปรียบที่ทำให้ทีมไทยเสียคะแนนคือ ลูกเสิร์ฟของคู่แข่งกับเจอบล็อกสูง หลายครั้งที่ลูกเสิร์ฟของคู่แข่งตัดเกมรุกของทีมไทย ทำให้ทีมไทยรุกได้ไม่เต็มที่ รุกไปก็ติดบล็อกบ้าง ตีไม่ตายบ้าง ส่วนบอลเสิร์ฟของทีมไทยชุดนี้ก็มีดีเหมือนกัน หมายเลข 3 เสิร์ฟแรงเหมือนพวกทีมตะวันตกเลย ผลงานของทีมไทยในปี 2021 ถือว่าใช้ได้เพราะจบอันดับ 13 จาก 20 ทีม

อีกเรื่องที่น่าสนใจในชุดนี้คือ มีหัวเสาที่ถนัดมือซ้าย 1 คนและบีหลังที่ถนัดมือซ้าย 1 คน
  • ถ้าหัวเสาถนัดซ้ายและบีหลังถนัดขวาอยู่แดนหน้า หัวเสาถนัดซ้ายจะรุกที่เสาขวาและบีหลังถนัดขวาจะรุกจากเสาซ้าย ทำให้มุมตีหนีบล็อกกว้างขึ้น
  • ถ้าหัวเสาถนัดขวาและบีหลังถนัดซ้ายอยู่แดนหน้า หัวเสาถนัดขวาจะรุกที่เสาซ้ายและบีหลังถนัดซ้ายจะรุกจากเสาขวา ทำให้มุมตีหนีบล็อกกว้างขึ้น
  • ในกรณีที่ถูกดักบล็อกได้ อาจจะเปลี่ยนให้หัวเสาถนัดซ้ายไปรุกที่เสาซ้ายดูบ้าง

รายชื่อผู้เล่นในชุดนี้
หมายเลข 1 ณัฐพงษ์ ชาชำนาญ (ตัวรับอิสระ)
หมายเลข 2 เชิดชัย ฉิมพิภพ (ตัวเซต)
หมายเลข 3 กิตติพงษ์ สังศักดิ์ (หัวเสา)
หมายเลข 5 เบญจมินทร์ ใจดี (บอลเร็ว)
หมายเลข 6 จักรี อุดมประเสริฐ (ตัวเซต)
หมายเลข 7 ชนุตย์ ผึ้งกระโทก (บอลเร็ว)
หมายเลข 10 ภูติดล ทากาบุตร (หัวเสา)
หมายเลข 11 ภาณุพงศ์ คำภูมี (บอลเร็ว)
หมายเลข 12 สัตตยา วะดีศิริศักดิ์ (หัวเสา)
หมายเลข 14 นครินทร์ อินธนู (ตัวรับอิสระ)
หมายเลข 17 จักรพันธ์ วิรุณภักดี (บีหลัง)
หมายเลข 19 ธนกร คัณฑักษ์ (บีหลัง)

ผู้ฝึกสอน : ขจรศักดิ์ มานะพรชัย
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : วรวุฒิ ทองดา
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : ณัฐวุธ และสง่า
ผู้จัดการทีม : สถาพร พาณิช
นักกายภาพ : วรพงษ์ คงทอง
เทรนเนอร์ : ศาสตรา อินทรประเสริฐ

รุ่น U21 ชาย

ทีมไทยได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน 2 ครั้ง
 
ครั้งแรก ทีมไทยเข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกในปี 1999 ในฐานะเจ้าภาพ ทีมไทยจบอันดับ 9 จาก 16 ทีม

ครั้งที่สองคือปี 2021 โดยทีมจากเอเชียได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน 2 ทีม คือทีมอันดับ 1-2 รายการชิงแชมป์เอเชียรุ่น U20 ปี 2018 (เหตุที่ใช้อันดับของปี 2018 เพราะว่าปี 2020 ไม่มีการแข่งขันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) ซึ่งในปี 2018 ทีมไทยได้อันดับ 3 ของเอเชียแต่ทีมไทยได้สิทธิ์แข่งขันแทนเกาหลีใต้ที่สละสิทธิ์

ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังกับอันดับการแข่งขันในครั้งนี้เพราะทีมไทยเคยเข้าแข่งขันแค่ครั้งเดียวในฐานะเจ้าภาพ การแข่งขันแมทช์แรกกับแมทช์ที่สอง ทีมไทยเจอลูกเสิร์ฟตัดเกมรุกจนเล่นแทบไม่ออก ทีมไทยมาเล่นได้ดีเมื่อเจอกับทีมจากทวีปแอฟริกาโดยชนะอียิปต์และโมร็อกโก ส่วนในแมทช์ชิงอันดับ 11 ทีมไทยแพ้คิวบา 1-3 เซต (เพิ่งดูคลิปการแข่งขันจบเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 8 นี้เอง) การจบอันดับ 12 จาก 16 ทีมถือว่าดีกว่าที่คาดไว้

สำหรับทีมชุดนี้ เคยเห็นหน้าอยู่ 3-4 คนในรายการระดับเอเชียรุ่นจำกัดอายุ ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆไม่ค่อยคุ้นหน้า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามาเป็นตัวเลือกให้ทีมไทยมากขึ้น ในทีมชุดนี้ หมายเลข 3 ถนัดมือซ้าย เห็นรุกที่เสาขวาบ่อยๆ บางครั้งลอยมาจากเส้น 3 เมตร

รายชื่อผู้เล่นในชุดนี้
หมายเลข 1 คมศร ภาษี (หัวเสา)
หมายเลข 2 บุญชัย เชื้อตะวันงาม (ตัวรับอิสระ)
หมายเลข 3 สุทธิพงษ์ ดรหลักคำ (บีหลัง)
หมายเลข 8 พงศกร ศรีพลรัง (บอลเร็ว)
หมายเลข 9 สิบตำรวจตรีเดชวัฒน์ แจ้งสว่าง (บอลเร็ว)
หมายเลข 10 สุระเดช คำหอม (หัวเสา)
หมายเลข 11 เอกภพ นามวิจิตร (ตัวเซต)
หมายเลข 12 ชยุตม์ คงเรือง (บอลเร็ว)
หมายเลข 15 จตุพล ดุจมยูร (บีหลัง)
หมายเลข 16 ศุภกร เจนไธสง (หัวเสา)
หมายเลข 18 จักรกฤษณ์ จันทร์ไตร (บอลเร็ว)
หมายเลข 23 สิบตำรวจตรีคงกะพัน ทองขาว (ตัวเซต)

หัวหน้าผู้ฝึกสอน : นาวาอากาศโทมนต์ชัย สุภจิรกุล
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : สรรเพชร พันธุ์ค้า
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน : เรืออากาศตรีวีระเมธร์ เพลิงสงเคราะห์
นักกายภาพ : เรืออากาศตรีอเนก สืบเพ็ง
ผู้จัดการทีม : เรืออากาศโทจิตรา หวังอาษา

สรุปเพิ่มเติม

เท่าที่ได้เห็นฝีมือชุด U18 หญิงและ U19 ชายแล้ว มองว่าทีมไทยมีผู้เล่นมาสานต่อจากรุ่นก่อนๆอย่างต่อเนื่องแน่นอน อยากเห็นน้องๆแข่งกับทีมระดับเอเชียดูบ้าง จะได้รู้ว่าน้องๆอยู่ระดับไหนของเอเชีย ซึ่งในปี 2022 (ถ้าไม่เลื่อนการแข่งขัน) จะมีการแข่งขันรายการชิงแชมป์เอเชียรุ่น U19 หญิงและ U20 ชาย เพื่อคัดเลือกทีมจากเอเชียไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกรุ่น U20 หญิงและ U21 ชายในปี 2023 สำหรับรุ่น U20 หญิงและ U21 ชายในระดับโลก จะเป็นการเตรียมขึ้นชุดใหญ่ของแต่ละชาติ ดังนั้น ฝีมือจะต้องสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งเทียบกับ U18 หญิงและ U19 ชาย การเล่นของทีมชายจะโหดกว่าทีมหญิงโดยเฉพาะลูกเสิร์ฟและลูกตบ ตัวรับรับลูกทีอาจเด้งถอยหลังได้ สำหรับทีมไทยซึ่งความสูงน้อยกว่าทีมอื่นๆ ต้องมีตัวเซตเก่งๆมาหลอกบล็อกคู่แข่ง และบอลแรกต้องดีด้วย ถ้าบอลแรกไม่ดี ตัวเซตจะเซตยากขึ้น ยังมีเวลาเหลืออีก 1 ปี น้องๆยังมีเวลาพัฒนาตัวเอง รอดูน้องๆในปีหน้านะครับ

 




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2564
0 comments
Last Update : 10 ตุลาคม 2564 23:55:35 น.
Counter : 1993 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


whitecrown
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add whitecrown's blog to your web]