We can Change the world everyday
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ลิตเติ้ลทรี

การให้และรับอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม

ลิตเติ้ลทรี : วรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี ,ฟอเสต์ คาเตอร์ เขียน กรรณิการ์ พรมเสาร์ แปล ,สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ,130 บาท



ครั้งแรกที่ฉันเห็นหนังสือปกสีเขียวดูเรียบๆ ชื่อลิตเติ้ลทรี ก็ไม่ได้สะดุดตาสะดุดใจอะไรนัก แต่เมื่อหยิบขึ้นอ่านไปได้ราว 10 กว่าหน้าความรู้สึกตื่นเต้นดีใจก็ผ่านเข้ามาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ป่าต้อนรับการมาถึงของลิตเติ้ลทรี ความรู้สึกปีติทำเอาฉันขนลุกอย่างบอกไม่ถูก จนบอกกับตัวเองว่าเราได้พบหนังสือดีๆ อีกเล่มแล้ว

ฉันปล่อยตัวเองให้เข้าไปสัมผัสโลกของลิตเติ้ลทรีลึกขึ้นๆ เรื่องราวที่ผ่านมาแต่ละบทบอกเล่าถึงวิธีคิดวิธีการมองโลกอธิบายโลกที่น่าสนใจ หลายบททำเอาฉันน้ำตาคลอกับเรื่องราวอันน่าเจ็บปวดของมนุษย์และธรรมชาติ แต่บางบทไม่ใช่น้ำตาที่เกิดจากความเสียใจกับชะตากรรมของตัวละคร หากเป็นความตื้นตันใจ ประทับใจกับความงดงามของมนุษย์ บางบทสั่นสะเทือนใจกับความชั่วร้ายในหัวใจตัวเอง

ในลิตเติ้ลทรี มีประเด็นน่าสนใจมากมายจนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถบรรจุไปในหนังสือวรรณกรรมเล่มเล็กๆ นี้ได้หมด โดยแต่ละประเด็นต่างก็มีความลึกซึ้งพอที่จะหลอมละลายหัวใจแข็งกระด้างให้อ่อนโยนลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการมองธรรมชาติ ความเข้าใจธรรมชาติ ความเข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ อันโยงใยไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติและชีวิตอื่นๆ รวมทั้งเรื่องราวการกดขี่ของระบบ สิทธิชนกลุ่มน้อย จิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็ก การศึกษา ความรัก ฯลฯ

การจะแสดงทัศนะกับทุกประเด็นในเนื้อที่น้อยๆ คงไม่อาจทำได้ ฉันจึงเลือกเอาเฉพาะประเด็นการให้และรับในลิตเติ้ลทรีเพียงประเด็นเดียว

ฉันคิดว่าการให้และรับมีหลายแบบ
แบบแรก การให้ในความหมายที่เรามักใช้กันก็คือการให้อย่างหวังผลตอบแทน ซึ่งในทัศนะฉันถือว่านี่ไม่ใช่การให้ที่แท้จริง มันเป็นได้เพียงการซื้อขายในนามของการให้ เพียงแต่มันไม่ได้ใช้เงินซื้อเท่านั้น ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นการที่พ่อค้าให้ของขวัญแก่ข้าราชการหรือนักการเมืองเป็นประจำเพราะหวังว่าเขาเหล่านั้นจะอำนวยความสะดวกในการค้าแก่ตนเอง หรือถ้าจะใกล้ตัวแต่ซับซ้อนกว่านั้นหน่อยก็อย่างเช่นการที่เราให้ของขวัญวันเกิดแก่ใครบางคนด้วยหวังว่าเขาจะให้ของขวัญแก่เราตอบแทนเมื่อถึงวันเกิดของเรา

การให้อีกแบบ ก็คือการให้ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนทางวัตถุ นั่นคือการให้อะไรแก่ใครบางคนโดยไม่ได้หวังว่าจะได้อะไรตอบแทน แต่การให้ชนิดนี้แฝงไปด้วยการให้สองแบบ ตัวอย่างเช่น นาย ก. ให้ของขวัญแก่นาย ข. เพราะคิดถึงความเป็นเพื่อนโดยไม่ได้ต้องการของขวัญตอบแทน แต่ให้เพราะอยากให้ เราอาจคิดว่านาย ก. เป็นผู้ให้ นาย ข. เป็นผู้รับ ซึ่งเป็นการมองในมิติทางวัตถุ แต่หากมองในแง่ความสัมพันธ์แล้วการให้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อนาย ข. ยอมรับสิ่งของนั้น หรือพูดอีกอย่างคือ นาย ข. ยอม “ให้” นาย ก. เป็นผู้ “ให้” ถ้านาย ข. ไม่ยอมให้นาย ก. เป็นผู้ให้ เขาก็ไม่ยอมรับสิ่งของนั้น นั่นหมายถึงว่าหากนาย ก. ต้องการ “การเป็นผู้ให้” ก็จำเป็นจะต้องได้รับ “การเป็นผู้รับ” ของนาย ข. ด้วย

เรามักเสพสุขกับการเป็น “ผู้รับ” หรือ “ผู้ให้” ในด้านใดด้านหนึ่งอยู่เสมอ เพราะเมื่อเราเป็นเป็นผู้รับเราก็ได้สิ่งของ เมื่อเราเป็นผู้ให้เราก็ได้รับการยอมรับ การที่คนผู้หนึ่งจะเป็นผู้รับหรือผู้ให้ก็ขึ้นอยู่ว่าเขาขาดอะไร ต้องการอะไร

โดยทั่วไปถ้าเราไม่เข้าใจความสัมพันธ์ดังว่าเรามักจะคิดว่าการเป็นผู้ให้นั้นเหนือกว่าผู้รับ ไม่ว่าจะทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ดังนั้นบางคนจึงอาจพยายามแสดงว่าตนเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ดังกรณีง่ายๆ เช่น นักสังคมสงเคราะห์เอาของไปแจกชาวบ้าน แล้วคิดว่าได้ทำบุญ โดยหาคิดไม่ว่าชาวบ้านก็เป็นผู้ให้เช่นกัน หรือถ้าจะให้ใกล้ตัวแต่ซับซ้อนกว่านั้นก็ในกรณีของพ่อแม่กับลูกหลายๆ ครอบครัวในสังคมปัจจุบัน
ในความสัมพันธ์เดียวกันนี้ การให้จึงต้องคำถึงถึงผู้รับด้วยเช่นกัน ประการแรกการให้ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้รับด้วยว่าเขาต้องการเป็นผู้รับหรือไม่ เพราะบางครั้งเขาก็ต้องการทำอะไรๆ ด้วยตนเอง หรือต้องการสงวนความทรนงของตนเองไว้บ้าง เช่น กรณีที่ลิตเติ้ลทรีให้รองเท้ามอคคาซินแก่เด็กหญิงลูกคนเช่าที่นา แล้วพ่อของเด็กไม่ต้องการรับไว้ ประการต่อมาบางทีถ้าเราให้มากไป ผู้รับก็อาจเกิดความเคยชินกับการรับจนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ประการสุดท้ายถ้าเราเอาแต่ให้โดยไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ให้บ้างก็ดูจะเป็นการเห็นแก่ตัวไปสักหน่อยเพราะเราจะกลายเป็นผู้เสพรับความสุขจากการให้ไว้ผู้เดียว เพราะในแง่ความสัมพันธ์ทางอำนาจแล้ว ผู้ให้จะเป็นผู้เหนือกว่า

การให้แบบที่สามคือการให้ที่สักแต่ว่าให้ ไม่ได้หวังอะไรทั้งสิ้น เหมือนพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ทุกสิ่งบนพื้นโลกเท่ากัน โดยไม่ได้หวังว่าสรรพสิ่งจะยอมรับหรือให้อะไรตอบแทน เหมือนความรักของพระเจ้า หรือความรักของพระโพธิสัตว์

ฉันเคยคิดว่าฉันครุ่นคิดกับการให้มามากพอสมควรแล้ว นึกไม่ออกว่าจะมีการให้แบบอื่นได้อีก

แต่ในลิตเติ้ลทรี ฉันพบความสัมพันธ์ใหม่ของการให้และรับ ซึ่งถือว่าเป็นการให้อย่างที่ผู้ให้และผู้รับต่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม เป็นการให้อย่างคำนึงถึงความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าบางทีอาจจะมีลีลามากไปหน่อย

ครั้งแรกที่พูดถึงการให้ได้น่าประทับใจคือตอนที่ลิตเติ้ลทรีแบกกระสอบเศษไม้มาใส่เตาไฟขนาดใหญ่ที่อยู่ในร้านให้คุณเจนกินส์ คุณเจนกินส์จึงให้อมยิ้มอันโตแก่ลิตเติ้ลทรี แต่ลิตเติ้ลทรีไม่ยอมรับ เพราะเขารู้สึกว่ากะอีแค่ไปหยิบกระสอบเศษไม้เท่านั้น ไม่ได้หนักหนาอะไรเลย คุณเจนกินส์จึงเอาอมยิ้มอีกอันที่เก่าแล้วกำลังจะขว้างทิ้งมาให้ ลิตเติ้ลทรีเห็นว่าไหนๆ มันก็จะทิ้งอยู่แล้ว และคงไม่มีประโยชน์กับใครจึงรับไว้ แต่คุณเจนกินส์ก็พบอมยิ้มแท่งเก่าทุกเดือน คุณเจนกินส์ยังบอกว่าลิตเติ้ลทรีช่วยเขาได้มากทีเดียว (หน้า 89)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ฉันมองว่า ลิตเติ้ลทรีไม่ได้คิดว่าการแบกกระสอบเป็นการทำงาน “ให้” คุณเจนกินส์ การกระทำเช่นนี้เป็นการ “ให้” อย่างไม่ได้คิดว่าให้ ส่วนคุณเจนกินส์ก็ไม่ต้องการทำลายความรู้สึกดีๆ ของลิตเติ้ลทรีให้กลายเป็นความสัมพันธ์แบบซื้อขายตอบแทนธรรมดาๆ ด้วยความตระหนักถึงการกระทำอันยิ่งใหญ่นี้เขาจึงอยากที่จะเป็นผู้ให้บ้าง จึงทำให้การให้ของเขากลายเป็นการเอาของที่ใกล้จะทิ้งมาให้ นั้นคือเขาไม่ต้องการความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ของการให้กับการรับแบบทั่วไป

ในกรณีของคุณไวน์ก็เช่นเดียวกัน
คุณไวน์ พ่อค้าเร่ผู้ขี้ลืม มักจะลืมอะไรบางอย่าง จนต้องถามลิตเติ้ลทรี แล้วลิตเติ้ลทรีก็จะบอกเขาว่าเขาเอาอะไรบางอย่างใส่กระเป๋ามา คุณไวน์ก็จะจำได้ว่าเขาเอาแอปเปิ้ลลูกใหญ่กว่าที่ปลูกในภูเขาแถบนี้มา แต่บอกว่าเขาพบมันโดยบังเอิญแล้วเก็บมา ตั้งใจว่าจะขว้างทิ้งเพราะไม่ชอบแอปเปิ้ล ลิตเติ้ลทรีก็จะบอกกับเขาเสมอว่าจะเอาออกจากมือเขาเอง (หน้า 178)

ครั้งหนึ่งคุณไวน์ ทำเสื้อโค้ทสีเหลืองแสนสวยเพื่อให้เหลนปู่ของเขาคนหนึ่ง แต่ขนาดที่เขาทำเป็นขนาดของเหลนเขาเมื่อหลายปีก่อน หลังจากทำเสร็จแล้วถึงได้นึกออกว่ามันไม่พอดีตัวแน่นอน ตอนนี้ไม่มีใครใส่เสื้อตัวนี้ได้ คุณไวน์บอกว่าการขว้างทิ้งสิ่งของที่ยังมีคนใช้ได้นั้นเป็นบาป เขากลุ้มใจจนนอนไม่หลับ ถ้าเขาหาใครมาช่วยใส่เสื้อตัวนี้ไม่ได้เขาต้องแย่แน่ๆ จนเขาเห็นลิตเติ้ลทรีจึงขอให้ลิตเติ้ลทรีช่วยยกความผิดบาปและภาระหนักอึ้งแก่เขา ปรากฏว่าลิตเติ้ลทรีมีขนาดเท่ากับขนาดของเหลนคนที่คุณไวน์จำผิดเลย (หน้า 183-184)

ความสัมพันธ์ของการให้และรับในกรณีเสื้อโค้ทนี้ จะเห็นได้ว่าลิตเติ้ลทรีไม่ได้อยู่ในสถานะของผู้รับอย่างสิ้นเชิง แต่ได้อยู่ในสถานะของการเป็นผู้ให้ด้วย ซึ่งถ้าคิดอีกแง่ว่าเป็นไปได้ไหมว่าอันที่จริงคุณไวน์ต้องการเอาเสื้อโค้ทมาให้ลิตเติ้ลทรีอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องการให้ลิตเติ้ลทรีต้องกลายเป็นผู้รับเฉยๆ จึงแกล้งบอกว่าเขาตั้งใจจะทำให้เหลนแต่มันใช้ไม่ได้ และขอความช่วยเหลือจากลิตเติ้ลทรี

ปู่บอกลิตเติ้ลทรีถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนแบบอินเดียน “อินเดียนนำเอาบางสิ่งบางอย่างไปแลกเปลี่ยนและวางมันไว้แทบเท้าคนขาว ถ้าพวกเขาไม่เห็นสิ่งที่ตนต้องการ ก็จะหยิบของของตนเดินจากไป ด้วยความไม่เข้าใจ คนขาวเรียกการกระทำแบบนี้ว่า “การให้แบบอินเดียนแดง” ทั้งที่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าหากอินเดียนจะให้ของขวัญใครสักชิ้นหนึ่ง เขาไม่มีพิธีรีตองอะไรเลย แค่เอาไปวางให้คนผู้นั้นมาพบเอง” (หน้า 136) หลังจากนั้นลิตเติ้ลทรีก็พบกับการให้แบบอินเดียนแดงตอนที่ลิตเติ้ลทรีพบมีดยาวเล่มหนึ่งในโบสถ์ตรงที่ๆ เขานั่งเป็นประจำ ย่าบอกว่าเป็นสิ่งที่วิลโลจอห์นให้ลิตเติ้ลทรี และบอกว่า “เป็นวิธีที่คนอินเดียนให้ของแก่กัน พวกเขาจะไม่เอามาวางให้เราเห็นถ้าไม่ต้องการมอบให้เราหรือไม่มีเหตุจะให้ และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นเรื่องโง่ที่จะไปขอบคุณใครในสิ่งที่เราสมควรจะได้รับ” (หน้า 162)

นอกจากเรื่องของการให้และรับที่เป็นการแบ่งปันความสุขแก่กันอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมดังตัวอย่างข้างต้นแล้ว ในวรรณกรรมเรื่องนี้ยังพูดถึงการให้ที่ยิ่งใหญ่อีกแบบ คือให้การพึ่งตนเอง แม้จะไม่น่าประทับใจเท่าการให้แบบแรก และไม่ใช่การให้ที่แปลกใหม่มากนัก แต่เป็นทัศนะเกี่ยวกับการให้ที่สำคัญต่อโลกไม่น้อยทีเดียว

ทุกวันอาทิตย์ก่อนมีการเทศน์ที่โบสถ์ จะมีช่วงเวลาให้คนพูดเรื่องผู้ที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือแล้วทุกคนในโบสถ์ก็จะนำสิ่งของมาช่วยเหลือ ครั้งหนึ่งปู่เอาเก้าอี้มาให้คนที่บ้านไฟไหม้ และใช้เวลานานกับการบอกวิธีทำเก้าอี้ ปู่บอกว่า “ถ้าเราสอนให้เขาทำเป็น ดีกว่าเอาของไปให้เขาเฉยๆ ปู่ว่าถ้าเราสอนให้เขาทำเก้าอี้เขาก็จะทำของเขาเองได้ แต่ถ้าเราเอาไปให้เขาเฉยๆ โดยไม่สอน ต่อไปเราก็ต้องให้เขาอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะตายไปนั่นล่ะ เราไม่ควรทำให้เขาเสียนิสัยเพราะถ้าเขาต้องพึ่งเราขึ้นมาเมื่อไรก็เท่ากับเราขโมยเอาบุคลิกภาพของเขาไป” (หน้า 173)

“ปู่บอกว่า คนบางคนชอบให้อยู่เรื่อยๆ เพราะมันทำให้เขารู้สึกทะนงตัวและคิดว่าตนเองดีกว่าคนที่เขาให้ของ” ปู่ยังบอกอีกว่า “มนุษย์บางจำพวกก็รู้ว่ามีบางคนชอบที่จะรู้สึกทะนงตน ปู่ว่ามนุษย์พวกนี้น่าสมเพชจนยอมเป็นสุนัขของใครก็ได้ที่อยากเลี้ยงเขาไว้ พวกเขาต่ำต้อยจนเป็นได้แค่สุนัขล่าเนื้อของนาย ทะนงยิ่งกว่าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ปู่บอกว่าพวกเขาเอาแต่คร่ำครวญเรียกร้องเอาสิ่งที่ต้องการ ทั้งๆ สิ่งที่จำเป็นสำหรับเขาก็คือ การถีบแรงๆ เข้าที่หลังสักทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้” (หน้า 174)

ปู่ถือว่าการทำให้คนเสียนิสัยจนต้องพึ่งพาผู้ให้ตลอดนั้นเป็นการขโมยเชียวนะ นักสังคมสงเคราะห์หรือคุณหญิงคุณนาย คนออกค่าย ฯลฯ ที่เอาแต่ให้โดยไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนนั้นคงสะดุ้งเป็นแถบๆ

ที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ยังมีการให้แบบอื่นๆ อีกมากในลิตเติ้ลทรี เช่น การให้ความเข้าใจ อย่างตอนที่ปู่เล่าเรื่องคูนแจ็ค การเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ เช่น สิ่งที่ปู่ทำกับเฒ่าริพพิด ริงเกอร์ และหมาตัวอื่นๆ หรือการให้ความรักแก่เพื่อนมนุษย์ ฯลฯ

ฉันคิดว่า ถ้าเราใส่ใจและครุ่นคิดเกี่ยวกับการให้และรับ เหมือนดั่งผู้คนและสรรพสิ่งในลิตเติ้ลทรี ทัศนคติเกี่ยวกับการให้เราคงเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงนี้คงจะทำให้เรามีความสัมพันธ์ของเรากับตัวเรา เรากับเพื่อน เรากับสังคม และเรากับธรรมชาติเปลี่ยนไปด้วย

ก่อนจะจบความสัมพันธ์ของเราตรงนี้ลง ฉันขอขอบคุณ คุณที่อ่านบทระบายความอัดอั้นนี้ เพราะฉันคงอัดอั้นใจไปตลอดแน่ถ้าฉันไม่ได้ระบายความรู้สึกที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ให้ใครฟังแม้จะเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ตามที

และฉันยังหวังต่อไปอีกว่าจะมีใครสักคนหรือหลายๆ คนช่วยกันค้นหาประเด็นหรือเรื่องราวน่าสนุกของลิตเติ้ลทรีมาแลกเปลี่ยนกันอีก


21 กุมภาพันธ์ 2542
พิมพ์ครั้งแรกในปาจารยสาร ปี 2542



Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 5 สิงหาคม 2549 11:36:25 น. 3 comments
Counter : 536 Pageviews.

 
อ่านแล้วประทับใจมากมาก..
อดไม่ได้ต้องน้ำตาซึมตอนจบ..


โดย: narintr007 (Narintr007 ) วันที่: 2 สิงหาคม 2549 เวลา:11:18:54 น.  

 
ยังอ่านไม่จบเลยซักกะเรื่อง คงต้องมีสมาธิมากกว่านี้
ว่าแต่น่าจะมีรูปประกอบกับเพิ่มสีสันให้บล้อกหน่อยนะคะ ตัวอักษรเยอะๆ รูปประกอบน่าจะช่วยให้อ่านได้จนจบ


โดย: หญิงสาวทะเลทราย (หญิงสาวทะเลทราย ) วันที่: 3 สิงหาคม 2549 เวลา:10:04:58 น.  

 
วันนี้เข้าเนต ค้นหาภาพมาใส่บทความนี้ ปรากฏว่าเจอข้อมูลน่าสนใจ
อันแรก
ลิตเติลทรีเป็นหนังสือที่ถูกแบนจากห้องสมุดแมรี่แลนด์ของอเมริกา ด้วยเหตุผลว่าให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกี ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โกหก หลอกลวง ฯลฯ ดูที่นี่ต่อได้นะครับ
//www.mdlib.org/divisions/raig/bannedbooks/banned.htm

อันต่อมา เป็นประวัติของผู้เขียน
ผู้เขียนชื่อจริงว่า Asa Carter เคยเป็นสมาชิก Klu Klux Klan ซึ่งเป็นกลุ่มที่รังเกียจคนผิวสี และใช้ความรุนแรง
เคยเป็นคนเขียนสุนทรพจน์ให้ George Wallace (ไม่รู้ใคร) แต่เป็นผู้ประกาศการเหยียดสีผิวของอเมริกา
ดูต่อที่นี่นะครับ
//www.aritearu.com/Influence/Native/NativeBookPhoto/LittleTree.htm
และ
//www.nativeweb.org/pages/legal/carter.htm

ผมอ่านไม่ค่อยคล่อง เลยเล่าได้ไม่มาก


โดย: อ้วน IP: 58.136.84.122 วันที่: 5 สิงหาคม 2549 เวลา:11:52:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wechange
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add wechange's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.