Group Blog
 
 
สิงหาคม 2559
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 สิงหาคม 2559
 
All Blogs
 

ประวัติวัดเขาพุทธโคดม





















วัดเขาพุทธโคดม

ประวัติและพัฒนาการของวัดเขาพุทธโคดม

๑. สภาพทั่วไป

วัดเขาพุทธโคดมตั้งอยู่บนเขาด้านตะวันออกของถนนสุขุมวิท เลยหลักกิโลเมตรที่ ๑๑๙ ไปเล็กน้อย (ถัดจากปั้มเอสโซ่ มีไฟแดงหน้าวัด) อยู่ในเขตการปกครอง ของตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ปัจจุบัน วัดเขาพุทธโคดมเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความเจริญทางวัตถุสูง รอบๆเขาเต็มไปด้วยชุมชนที่อาศัยอยู่ แหล่งพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม สถานที่ตั้งวัดอยู่บนเขาห่างจากชายทะเลประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ เมตร และหันหน้าไปทางทะเล เมื่ออยู่ที่วัดจึงได้รับลมทะเลและมองเห็นทิวทัศน์ทะเลสวยงาม 

ภายในวัด มีการปลูกสร้างอาคารเป็นที่ประชุมอบรม ที่พัก และกุฏิจำนวนมาก เหมาะสำหรับเป็นสถานที่เรียนของภิกษุ-สามเณร เป็นสถานที่ฝึกอบรม พร้อมมีที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม มีการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความร่มรื่น คงสภาพป่าไว้ โดยปลูกอาคารต่างระดับแบบขั้นบันได ดังนั้น แม้ภายในวัดจะมีผู้พักอาศัยเพื่อปฏิบัติธรรมจำนวนมาก แต่ก็ยังรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ได้ และยังคงมีความสงบ วิเวก ด้วยสัดส่วนของสิ่งก่อสร้างและต้นไม้ที่กลมกลืน  

ภาพลักษณ์ของพระภิกษุ-สามเณร แห่งวัดเขาพุทธโคดม เป็นนักบวชผู้มุ่งศึกษาเล่าเรียน มีศีลาจารวัตรเคร่งครัด ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เหมาะสมกับการเป็นสมณะเพศในพุทธศาสนา ประชาชนจึงเลื่อมใสศรัทธา ส่งบุตรหลานบวชเรียน ทำให้วัดมีความสัมพันธ์กับชุมชน พระภิกษุจึงมีกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน และประชาชนเข้าไปทำบุญในวัดจำนวนมาก สมกับเป็นวัดที่ได้มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี


สำเริง สังวโร (2527) ได้กล่าวถึงวัดเขาพุทธโคดมไว้เป็นร้อยกรอง ดังนี้

“วัดเขาพุทธโคดมนั้นสมชื่อ นามระบือทั่วแคว้นแดนสยาม

มีทั้งไทยและเทศทั่วเขตคาม ดูอารามงามสง่าบนผาชัน

ทั้งวันเสาร์วันอาทิตย์ดูไม่ขัด แน่นขนัดปวงชนดูล้นหลาม

สถานที่น่าชมสมกับนาม ช่างงดงามละลานสะคราญตา

ทั้งทางขึ้นทางลงดูโค้งคด งามไปหมดทั้งกุฎีที่ศึกษา

เจ้าอาวาสสมองดีมีปัญญา ตรึกตรองมาจัดประดิษฐ์สิทธิคุณ

เขามีเรียนอภิธรรมคำบาลี ทั้งแม่ชีก็ร่ำเรียนเพียรศึกษา

เป็นสถานที่กำเนิดเกิดวิชา ล้วนควรค่าดังระบือชื่อโคดม

ออกพรรษาปลายมีเขามีจัด ปฏิบัติ เร่งอบรมทุกสาขา

เฉพาะนักธรรมเอกภูมิปัญญา ทุกวิชาหมดสิ้นกบิลความ.....”



ประวัติวัดเขาพุทธโคดม

พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ (เช็ง ปุญฺญเตโช) (สัมภาษณ์ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖) เจ้าอาวาสวัดเขาพุทธโคดมกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเขาพระพุทธบาทบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้มีญาติโยมที่อยู่บริเวณเขาพระครู ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดเขาพุทธโคดมในปัจจุบัน นิมนต์ให้ไปสร้างวัดที่บริเวณเขาพระครู ประกอบกับในขณะนั้น เป็นช่วงที่ท่านกำลังแสวงหาสถานที่สงบ เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามสมณวิสัย ซึ่งเมื่อได้พิจารณาพื้นที่แล้ว เห็นว่ามีสภาพพื้นที่เป็นเป็นไร่มันสำปะหลังอยู่ชายเขา เหนือขึ้นไปบนเขามีสภาพป่า เหมาะสมที่จะสร้างเสนาสนะบริเวณชายเขา และมีที่วิเวกบนเขา เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงได้มาพำนักที่เขาพระครู และเริ่มต้นพัฒนาเพื่อให้เป็นวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปีแรก นอกจากได้มีญาติโยมบริเวณเขาพระครูและบริเวณใกล้เคียงสนใจศึกษาและมาปฏิบัติธรรมพอสมควรแล้ว ยังมีภิกษุร่วมจำพรรษาเพื่อปฏิบัติธรรมอีกจำนวน ๕ รูป

ต่อมามีภิกษุมาจำพรรษาและชาวบ้านมาปฏิบัติธรรมเจริญภาวนามากขึ้น สภาพแวดล้อมก็ร่มรื่น พอหาความสงบได้ อีกทั้งยังมีพลังศรัทธาของญาติโยมชาวศรีราชา ช่วยหาเงินสมทบทุนซื้อที่ดินขยายอาณาเขตเพื่อสร้างวัด แล้วญาติโยมก็ช่วยกันตัดทาง ถางป่า ก่อสร้างกุฏิที่จำพรรษาของภิกษุ เกิดเป็นที่พักสงฆ์ใน พ.ศ.๒๕๐๖ โดยมีการสอนปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาแก่ญาติโยมด้วย

จากการศึกษาเอกสาร (คุณวังโส ภิกษุ, ๒๕๒๕) ไผ่ พนา, ๒๕๒๘) และสัมภาษณ์พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ (๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖) สรุปการพัฒนาการของวัดเขาพุทธโคดม ได้ว่า 
พ.ศ.๒๕๐๙ นายทองหล่อ ทองบุญรอด (นักพัฒนาและจัดสรรที่ดินบริเวณซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ) ได้เดินทางเข้ามาพักค้างคืนในที่พักสงฆ์แห่งนี้ แล้วเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม และเกิดความศรัทธาในอากัปกิริยาศีลาจารวัตรของภิกษุผู้อยู่ในวัด ประกอบกับปฏิปทาของประธานสงฆ์ก็น่าเลื่อมใส จึงบริจาคทรัพย์เป็นจำนวนมากในการพัฒนาวัด

นายทองหล่อ ทองบุญรอด ได้สละกำลังกายและทรัพย์สิน สร้างถังน้ำ ตัดถนนลาดยาง เพื่อความสะดวกในการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง สร้างกุฏิ วิหารใหญ่ มีพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ประดิษฐานไว้ในวิหาร และสร้างบันไดขึ้นสู่วิหารและกุฏิซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา ทำให้ภิกษุเดินไปบิณฑบาตโดยสะดวก มีที่ประชุมและที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ โดยได้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษไว้ที่วิหารด้วย นับเป็นผู้อุปการะในการสร้างวัดคนสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัดเขาพุทธโคดม

พ.ศ.๒๕๑๒ มีภิกษุจำพรรษาในวัดมากขึ้น พระเช็ง ปุญฺญเตโช ประธานสงฆ์ พิจารณาเห็นว่า การดำเนินงานในพุทธศาสนานั้นมี ๒ ด้าน คือ วิปัสสนาธุระและคันถธุระ แต่สำนักสงฆ์ที่ตั้งขึ้นนี้ไปปฏิบัติกิจอยู่ด้านเดียว คือวิปัสสนาธุระ ดังนั้น เมื่อมีสถานที่และอุปกรณ์พร้อมแล้ว จึงได้เริ่มทำการสอนพระปริยัติ แผนกนักธรรม เป็นปีแรก โดยมุ่งหวังให้กุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพุทธศาสนามีความรู้ครบทั้ง ๒ ด้าน และเป็นการดำเนินงานพุทธศาสนาอย่างครบถ้วนด้วย โดยมีพระเช็ง ปุญฺญเตโช และพระครูสังฆรักษ์ (จันทร์ ณัฏโถ) เป็นผู้สอนทั้งปริยัติและปฏิบัติ

พ.ศ.๒๕๑๓ พระอาจารย์มหาประโยชน์ (ป. ญาณโสภโณ) ได้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ และมีความเห็นตรงกับพระเช็ง ปุญฺญเตโช ในการจัดการเรียนรู้ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติธรรม จึงได้ร่วมกันขยายการสอนแผนกพระอภิธรรม ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง และการจัดการศึกษาทั้ง ๒ หลักสูตร ก็เจริญรุดหน้ามาโดยตลอด มีภิกษุ-สามเณร จากต่างจังหวัด ผู้หวังความเจริญในพระพุทธศาสนาได้หลั่งไหลกันเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก

พ.ศ.๒๕๑๖ พระครูปลัดเช็ง ปุญฺญเตโช และพระอาจารย์ ป. ญาณโสภโณ ได้พิจารณาเห็นว่า คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วยภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดสอนวิชาบาลีขึ้นอีกแผนกหนึ่ง รวมเป็น ๓ หลักสูตร คือ นักธรรม อภิธรรมและบาลี นับเป็นสำนักเรียนพุทธศาสนาที่จัดการศาสนศึกษาครบทุกหลักสูตร ซึ่งมีสำนักเรียนน้อยแห่งที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ผลการสอบในสนามหลวงของนักศึกษาแห่งสำนักเรียนวัดเขาพุทธโคดม มีผลน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง

ด้านการพัฒนา วัดเขาพุทธโคดม ได้รับการสนับสนุนจากญาติโยมชาวศรีราชาและที่อื่นๆ สละปัจจัยทำบุญเพื่อก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด และได้ยกระดับขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ถูกต้องตามกฎหมายและกฎของคณะสงฆ์ ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตั้งให้เป็นวัด ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ชื่อว่า “วัดเขาพุทธโคดม” (พระธรรมโกศาจารย์ เป็นผู้ตั้ง) มีพระครูปลัดเช็ง ปุญฺญเตโช เป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระบรมราชโองการ พระราชทานวิสุงคามสีมา ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๑ มีที่ดินของวัด ๗ ไร่ ๓ งาน ๘๗ ตารางวา มีเนื้อที่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมากว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๒ ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาขึ้น โดยมีพระเดชพระคุณ พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธี

พ.ศ. ๒๕๒๓ วัดเขาพุทธโคดม ได้จัดสร้างศาลาหลังใหญ่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุม ที่เรียนของพระภิกษุ-สามเณร ที่สอบอภิธรรม ตลอดจนใช้ในการปฏิบัติกรรมฐานของภิกษุ-สามเณรและญาติโยมด้วย ซึ่งปีเดียวกันนี้ กรมการศาสนา ได้ยกย่องวัดเขาพุทธโคดม ให้เป็นสำนักเรียนตัวอย่างในเขตการปกครองของคณะสงฆ์ สังกัดภาค ๑๓ เขตภาคตะวันออก ของฝ่ายอาณาจักร เป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับวัดเขาพุทธโคดม และชาวจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะชาวศรีราชา ที่มีสำนักเรียนทางพุทธศาสนาทั้งปริยัติและปฏิบัติ เป็นตัวอย่างแก่สำนักเรียนอื่นๆต่อไป

ปัจจุบัน วัดเขาพุทธโคดม มีศิษย์เก่าที่ออกไปทำคุณประโยชน์ต่อพุทธศาสนา และสังคมจำนวนมาก และยังเป็นสถานที่ศึกษาอบรมพุทธศาสนาของภิกษุ-สามเณร และคฤหัสถ์ ทุกปีมีภิกษุ-สามเณรจำพรรษาอยู่ประมาณ ๑๐๐รูป มีแม่ชี อุบาสก-อุบาสิกา พักอาศัยในลักษณะประจำประมาณ ๔๐ คน เป็นสถานที่การจัดฝึกปฏิบัติธรรมสำหรับพระสังฆาธิการในเขตอำเภอศรีราชา มีการอบรมปฏิบัติธรรมระยะสั้นแก่พุทธศาสนิกชนระยะ ๓–๑๐ วันตลอดปี ประมาณ ๓๐-๔๐ หลักสูตร แต่ละหลักสูตรมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมและพักค้างได้สูงสุดประมาณ ๕๐๐ คน (ดูภาพที่ ๕ ภาพการอบรมปฏิบัติธรรมของพระสังฆาธิการในเขตอำเภอศรีราชา)



ประวัติเจ้าอาวาส

พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ (สัมภาษณ์, ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖) เจ้าอาวาสวัดเขาพุทธโคดม มีประวัติโดยสังเขป ดังนี้

พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ มีนามเดิมว่า “เช็ง ศรีรุ่งเรือง” เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ณ ซอยสะพานบ้านลำภู (ชุมชนชายทะเลในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี ปัจจุบัน) อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรนายฮี้ นางเผือด ศรีรุ่งเรือง ในวัยเด็ก เรียนหนังสือจนสำเร็จชั้นประถม ๔ ที่โรงเรียนวัดใหม่พระยาทำ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

ต่อจากนั้น ก็ได้ประกอบอาชีพประมงอยู่กับบิดามารดา จนวัยหนุ่ม จึงได้เข้ารับราชการเป็นทหารเรืออยู่ ๒ ปีเศษ เนื่องจากมีเหตุการณ์ปฏิวัติในขณะที่รับราชการครบ ๒ ปี จึงถูกกักให้อยู่ต่อจนเหตุการณ์สงบ จากนั้นได้ออกมาทำอาชีพประมงตามเดิม

เช็ง ศรีรุ่งเรือง อุปสมบทเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐ ณ อุโบสถ วัดธรรมนิมิตต์ โดยมี พระธรรมโกศาจารย์ วัดราษฎร์บำรุง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระเมธีชลธาร วัดโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระครูพิศิษฐ์พรหมยาน วัดใหม่พระยาทำ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญฺญเตโช”

พระเช็ง ปุญฺญเตโช จำพรรษาที่วัดธรรมนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้ ๔ พรรษา โดยสอบได้นักธรรมชั้นตรี ในนามสำนักเรียนวัดราษฎร์บำรุง ใน พ.ศ.๒๕๐๑

พ.ศ. ๒๕๐๔ ไปจำพรรษาที่วัดเขาพระพุทธบาทบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา

พ.ศ. ๒๕๐๕ ไปริเริ่มสร้างวัดที่เขาพระครู อำเภอศรีราชา

พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์เขาพุทธโคดม

พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม วัดเขาพุทธโคดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นพระครูปลัด พระฐานานุกรม ของพระราชศีลโสภิต เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม

พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นธุรนิเทศก์ อำเภอศรีราชา

พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาพุทธโคดม กรรมการคุมสอบสนามหลวง อำเภอศรีราชา และเป็นสมาชิกสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูสาธุกิจจานุรักษ์

พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเจ้าคณะตำบลสุรศักดิ์ เขต ๑

พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่พระครูสาธุกิจจานุรักษ์

พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นเจ้าคณะตำบลศรีราชา และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ที่พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ (ภาพที่ ๖ ภาพพระครูสาธุกิจจานุรักษ์)



บทบาทและภารกิจ ๖ ด้านของวัดเขาพุทธโคดม

วัดเขาพุทธโคดม ได้ปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ครบทั้ง ๖ ด้าน โดยเน้นภารกิจด้านการศาสนศึกษา ได้แก่การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม อภิธรรม และบาลี มีภิกษุ สามเณร สำเร็จการศึกษา ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ศาสนา และพัฒนาพัฒนาประเทศจำนวนมาก มีผลการปฏิบัติภารกิจแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้

๑. ด้านการปกครอง

การปกครองคณะสงฆ์ วัดเขาพุทธโคดม เป็นวัดในความปกครองของเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เจ้าคณะอำเภอศรีราชา และเจ้าคณะตำบลศรีราชา ตามลำดับ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานเจ้าคณะตำบลศรีราชาด้วย

๑.๑ การปกครองภายใน ภายในวัด มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครอง โดยมีผู้ช่วยเจ้าอาวาส ๒ รูป เป็นผู้ช่วยดูแลภายใน

ลักษณะการปกครองภายในวัดเขาพุทธโคดม พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ ปกครองพระภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา โดยใช้พรหมวิหารธรรม และใช้การวินิจฉัยถือถูกต้องตามพระธรรมวินัยเป็นหลัก นับเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรมของนักปกครองที่ดี ถือเป็นนิติบุคคลของอนุชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี ท่านมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อภิกษุ-สามเณร และศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุ-สามเณรที่เรียนดี ปฏิบัติดี ท่านก็ได้รับภาระเป็นธุระจัดหารางวัลมอบให้แก่นักเรียนที่สอบได้ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ในเขตอำเภอศรีราชาทุกปี ส่วนภายในสำนัก ท่านได้ตั้งทุนการศึกษาเพื่ออุปถัมภ์นักศึกษา ครูอาจารย์ที่ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน และท่านได้จัดให้มีการแจกทุนการศึกษาแก่ครูอาจารย์และนักศึกษาทุกปี การที่ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวแล้ว จึงทำให้พระภิกษุ-สามเณรที่มาอยู่อาศัย ซึ้งในน้ำใจสุดที่จะพรรณนาได้

จริงอย่างนั้น ต้นไทรใหญ่ที่ถึงพร้อมด้วยกิ่งก้านสาขาทั้งลูกและใบ ได้เป็นที่อาศัยของหมู่นกนานาชนิดในยามร้อนได้ฉันใด ท่านก็เป็นประดุจร่มไทรให้พระภิกษุ-สามเณร ตลอดทั้งอุบาสก-อุบาสิกาได้พักพิงอาศัยร่มใบบุญบารมี ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง พระพิรุณที่หยดหยาดลงมาในหน้าแล้ง ทำให้พฤกษา-มัจฉาชาติ ทั้งมวลมนุษย์สดชื่นชุ่มฉ่ำ ปานประหนึ่งได้ประโลมด้วยของทิพย์ ฉันใด นักศึกษาที่มาอยู่ในอารามของท่าน ก็ได้รับน้ำทิพย์ คือ เมตตาธรรม จากท่านเสมอกัน ฉันนั้น

พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ สามารถเข้าไปนั่งในดวงใจของบรรดาเหล่านักศึกษาทุกท่าน สมแล้วที่ท่านเป็นภิกษุองค์แรกที่ได้มาริเริ่มด้วยการสร้างป่าให้เป็นวัด จากวัดธรรมดาให้เป็นสำนักเรียน และจากสำนักเรียนธรรมดาจนได้ยกระดับฐานะมาเป็น “สำนักเรียนตัวอย่าง” นับเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปีเต็มที่ท่านได้ได้พยายามด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ และกำลังปัญญาบารมี จนวัดเขาพุทธโคดมได้โด่งดังไปในวงการศาสนาและคณะสงฆ์ เป็นที่ปรากฏแก่ชาวโลกเป็นอย่างดี

พระครูสาธุกิจจานุรักษ์ กล่าวว่า ภายในวัดเขาพุทธโคดม มีภิกษุผู้มีคุณวุฒิทั้งทางโลกและทางธรรมหลายรูป และมีศีลาจารวัตรอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างแก่ภิกษุ-สามเณรได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในด้านการปกครองจึงไม่เป็นเรื่องหนักใจสำหรับเจ้าอาวาส ภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่รู้หน้าที่และปฏิบัติตามวินัยและกฎข้อบังคับของวัด อีกทั้งยังมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ช่วยเหลือดูแลปกครอง ให้วัดมีความเรียบร้อยอีกด้วย ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสได้ยึดหลักการสร้างสัปปายะในการศึกษาและปฏิบัติธรรม แก่พระภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา ตลอดจนคฤหัสถ์ที่มาพำนักอยู่ในวัด เพื่อให้ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเต็มกำลังและตามวิสัยของแต่ละบุคคล

๑.๒ ระเบียบการปกครองของวัด วัดเขาพุทธโคดมยึดถือหลักปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและระเบียบการปกครองของคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัด ภิกษุ-สามเณร ต้องลงทำวัตรเช้าและเย็น เว้นแต่อาพาธ หรือมีกิจธุระจำเป็น ต้องศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งนี้ภายในวัดเขาพุทธโคดมไม่มีการจัดทำเครื่องรางของขลัง ไม่มีการทำนายโชคชะตาราศี ใบ้หวย แต่อย่างใด

๒. ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม

วัดเขาพุทธโคดมเป็นวัดที่มีความพร้อมในการเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งทรัพยากรบุคคลและอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการจัดการศึกษาอบรม โดยมีภิกษุที่มีความรู้ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติจำนวนมาก มีสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ จึงมีการจัดการเรียนรู้เพื่อเผยแผ่ศาสนาพุทธอย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่เป็นการจัดเฉพาะบุคคล และการจัดแก่หมู่คณะ ในวัดและนอกวัด มีตัวอย่างกิจกรรมเผยแผ่ศาสนธรรม ซึ่งนอกเหนือจากการอบรมภิกษุ-สามเณร ในวันทำอุโบสถกรรม และการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา อันเป็นกิจวัตรประจำแล้ว ดังต่อไปนี้

๒.๑ การปฏิบัติธรรมของพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หัวหน้าที่พักสงฆ์ และเลขานุการ อำเภอศรีราชา จากการที่เจ้าคณะภาค ๑๓ กำหนดนโยบายให้พระสังฆาธิการทุกรูปในเขตภาค ๑๓ ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างน้อยปีละครั้งนั้น คณะอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้จัดการฝึกปฏิบัติธรรมดังกล่าวที่วัดเขาพุทธโคดม สืบต่อมาตั้งแต่ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๔๕ และครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖

๒.๒ การจัดการฝึกอบรมพุทธศาสนาระยะสั้น จากการที่วัดเขาพุทธโคดมมีความพร้อมทุกด้าน ได้แก่ การมีสถานที่ฝึกอบรม มีที่พัก การคมนาคมสะดวก มีวิทยากร และมีภาพลักษณ์เป็นวัดที่ยึดหลักปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงมีสถานศึกษาหลายแห่งนำครู อาจารย์ นักศึกษา นักเรียน เข้าปฏิบัติธรรมระยะสั้นเป็นประจำ

๒.๓ การฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแนวคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย พบว่าศาลาธรรมสันติ ภายในวัดเขาพุทธโคดม เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา มีพระภิกษุ เป็นผู้แนะนำการปฏิบัติสืบต่อกันมานานตั้งแต่ศาลาสร้างแล้วเสร็จ โดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ ได้มีอุบาสก-อุบาสิกา ชาวศรีราชาและบริเวณใกล้เคียง มาสวดมนต์ นั่งสมาธิ และสนธนาธรรม มีโยมหวานมาถวายน้ำปานะเป็นประจำ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๐ พันตำรวจโทกรณรงค์ โสภณศิริ และพันตำรวจตรีชานนท์ เอมพันธ์ ได้มาหารือพระอาจารย์ ป.
...




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2559
1 comments
Last Update : 5 ตุลาคม 2561 14:20:43 น.
Counter : 4847 Pageviews.

 

กราบนมัสการ... ผมเคยขับรถขึ้นไป แต่ระยะนั้นมีคนไป
ปฏิบัติธรรม เยอะมาก.. ไม่สดวกในการจอดรถ เลยต้อง
ขับรถกลับลงไปครับ

วันหลังผมคงได้กลับ ไปปฏิบัติที่นี่บ้างครับ

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 28 สิงหาคม 2559 11:55:59 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


เขาพุทธโคดม
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add เขาพุทธโคดม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.