Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
1 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 

RTAF F-16MLU ตอนที่ 6: กระเปาะลาดตระเวน ตาทิพย์ของ MLU (ภาค 2)

ในบรรดากระเปาะลาดตระเวนที่มีใช้งานกับ F-16 แบบที่ได้รับความนิยมสูง มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และยังมีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นกระเปาะ MRP ที่ผลิตโดยบริษัท Terma ของประเทศเดนมาร์ค




กระเปาะ MRP
(Copyright : Terma Co.)


ลูกค้าหลักของกระเปาะ MRP และในรุ่นล่าสุด คือ MRP II ได้แก่ ทอ. ในยุโรป ที่มี F-16AM/BM (F-16A/B MLU) ประจำการอยู่ ประกอบด้วย ทอ.เนเธอแลนด์, ทอ.เบลเยี่ยม และ ทอ.เดนมาร์ค นอกจากนี้ ทอ.สหรัฐฯ ยังเลือกกระเปาะ MRP ไปใช้งานกับ F-16C/D block 30 ของหน่วยบิน ANG ในชื่อ กระเปาะ AN/ASQ-11 TARS (Theater Airborne Reconnaissance pod) โดยบริษัท Lockheed Martin เป็นผู้ผลิต กระเปาะ MRP จึงผ่านการรับรองจากสำนักงานโครงการ F-16 (F-16 SPO) ของ ทอ.สหรัฐฯ และบริษัท Lockheed Martin Aeronautical System ซึ่งทำให้อนาคตของกระเปาะ MRP กับ F-16 ทุกๆ รุ่น ไปได้ดีมากทีเดียว และที่น่าสนใจที่สุด คือ ทอ.สวีเดน ที่เลือกกระเปาะ MRP II เป็นอุปกรณ์ลาดตระเวนมาตรฐานสำหรับ JAS-39C/D Gripen และนั่นน่าจะทำให้ลูกค้าชาติต่างๆ ที่ใช้งาน Gripen เลือกกระเปาะ MRP ไปใช้งานเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า ทอ.ไทย เองก็จัดอยู่ในข่ายเช่นเดียวกัน








กระเปาะ MRP ใต้ลำตัว F-16AM (F-16A MLU) ทอ.เบลเยี่ยม
(Copyright : Kristof Jonckheere, Dirk Voortmans,
and Bob Verhegghen)






กระเปาะ MRP II ใต้ลำตัวของ Gripen ทอ.สวีเดน
(Copyright : Swedish FMV)


การติดตั้งกระเปาะ MRP กับ F-16MLU จะติดที่ไพลอนใต้ลำตัว สามารถทำงานได้ในขอบเขตการบินในระดับ CAT III คือ การเลี้ยวที่ +9g หรือ -3g การหมุนรอบลำตัว (roll) 360 องศาที่ +6g เพดานบิน 50,000 ฟุต ความเร็ว 600 KIAS (knot indicated air speed) หรือ 1.6 มัค และมีการออกแบบรูปทรงภายนอกที่เข้ากันได้กับ F-16 โดยเฉพาะ สำหรับในรุ่น MRP II ที่ใช้งานกับ Gripen จะมีความสูงน้อยกว่าเล็กน้อย และมีออปชั่นของช่องที่ระบบตรวจจับจะมองออกมาภายนอกแบบหมุนได้ (rotating window) แต่ยังคงชิ้นส่วนเดิมของ MRP รุ่นแรกเอาไว้กว่า 80% (ไม่รวมระบบตรวจจับซึ่งเปลี่ยนได้ตามผู้ใช้งานต้องการอยู่แล้ว)

กระเปาะ MRP แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ระบบจัดการภารกิจลาดตระเวน หรือ RMS (Reconnaissance Management System), ระบบควบคุมสภาพแวดล้อม หรือ ECS (Environmental Control System) และระบบตรวจจับ (sensor) ทั้งนี้ในแต่ละส่วนได้รับการออกแบบในลักษณะของโมดูล ทำให้มีความอ่อนตัวสูงต่อการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงอัพเกรดต่างๆ






ลักษณะภายในของกระเปาะ MRP จะเห็นว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนหน้าสุด คือ MRP (สีน้ำเงินและม่วง) ด้านท้าย คือ ECS (สีเขียวอ่อน)
และตรง คือ sensor (สีเขียวเข้ม)
(Copyright : Terma Co.)


RMS จัดเป็นหัวใจของกระเปาะ MRP โดยทำหน้าที่หลักๆ คือ ควบคุมการทำงานของส่วนต่างๆ ในกระเปาะ และเชื่อมต่อการควบคุมการทำงานกับตัว บ. ที่ติดตั้งกระเปาะ รวมทั้งได้รับการออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมระบบแบบเปิด (open system architecture) จึงง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมชิ้นส่วนต่างๆ ในภายหลัง ตัว RMS เองนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย คือ core system และ adaptive system โดย adaptive system เป็นโมดูลควบคุมการทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

core system จะนำข้อมูลแผนภารกิจลาดตระเวน หรือ MDF (mission data file) ที่นักบินสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์วางแผนภารกิจที่สถานีภาคพื้น และอัพโหลดเข้าสู่ RMS ก่อนขึ้นบิน มาดำเนินการโดยอัตโนมัติ (เมื่อนักบินเลือกโหมดการทำงานของกระเปาะ MRP เป็นแบบอัตโนมัติ)

โดยระบบจะเริ่มจากการเปรียบเทียบตำแหน่งของกระเปาะในขณะนั้น (รับข้อมูลจากระบบนำร่องของตัว บ.) กับตำแหน่งเป้าหมายที่บันทึกไว้ใน MDF เตรียมพร้อมการทำงานของ sensor คำนวณมุมในการหันของ sensor ให้ตรงกับตำแหน่งเป้าหมาย เริ่มการทำงานของ sensor เริ่มการบันทึกข้อมูล หัน sensor ให้ชี้ไปที่เป้าหมายตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ (ดังนั้นนักบินสามารถทำการบินหลบหลีก เช่น เพื่อป้องกันตัวเอง ได้ โดยไม่ต้องสนใจว่ากำลังบันทึกภาพเป้าหมายอยู่ นักบินอาจไม่เห็นเป้าหมายเลยด้วยซ้ำระหว่างการบันทึกภาพ นอกจากนี้กรณีที่เป้าหมายมีลักษณะเป็นเส้นคดเคี้ยวไปมา เช่น ทางรถไฟหรือถนน นักบินไม่จำเป็นต้องบังคับเครื่องให้เลี้ยวไปมาตามเป้าหมาย แต่สามารถบินตัดตรงไปได้เลย เพื่อลดระยะเวลาที่ต้องบินผ่านเฉียดเข้าใกล้หรือเหนือเป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการต่อต้านจากฝ่ายตรงข้ามอย่างแน่นหนา) สุดท้ายระบบจะสั่งหยุดการบันทึกข้อมูล หยุดการทำงานของ sensor และเริ่มการเทียบตำแหน่งของตัวเองกับเป้าหมายต่อไปในรายการที่บันทึกไว้ใน MDF นอกจากนี้ core system ยังทำหน้าที่จัดรูปแบบข้อมูลภาพเป้าหมาย (data formatting) ให้เหมาะสมต่อการบันทึกหรือส่งต่อ บันทึกรายละเอียดการทำงานของกระเปาะ (data logging) ตรวจสอบการทำงานของระบบรองต่างๆ ในกระเปาะและรายงานผล (testing and reporting) รวมทั้งจัดการการใช้พลังงาน และติดตามควบคุมระบบ ECS อีกด้วย




การทำงานของ MRP แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะหัน sensor ไปยังเป้าหมายด้วยตัวเอง
จะเห็นว่าถึงแม้เส้นทางบิน (เส้นประสีดำ) จะเป็นเส้นตรงตัดผ่านพื้นที่เป้าหมาย
ในขณะที่ทางรถไฟที่จะถ่ายภาพโค้งไปมา แต่ระบบก็ยังคงถ่ายภาพได้อยู่
(Copyright : Terma Co.)


สำหรับ adaptive system จะควบคุมการเชื่อมต่อกับระบบรองต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ประกอบด้วย 1) ระบบตรวจจับ ซึ่งเลือกได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น framing camera (ทั้งแบบ visible, IR หรือ dual-band), กล้อง LOROP (ทั้งแบบ visible, IR หรือ dual-band), infrared line scanner หรือเรดาร์ GMTI/SAR และทั้งชนิดที่ทำงานแบบ analog หรือ digital 2) อุปกรณ์บันทึกข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็น VCR หรือ digital recorder 3) อุปกรณ์เชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็น video-link หรือ data-link ก็ได้ และ 4) อุปกรณ์ควบคุมการทำงานและแสดงผลที่อยู่กับอากาศยานที่ติดตั้งกระเปาะ MRP อย่างเช่น ในกรณีของ F-16MLU นักบินจะควบคุมกระเปาะ MRP ด้วยแผงควบคุมเดียวกับระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ALQ-211 EWMS ด้านซ้ายมือใกล้กับคันเร่ง และภาพจากกระเปาะจะแสดงบนจอ MFD เดียวกับที่แสดงภาพจากกระเปาะชี้เป้า เป็นต้น

ระบบ ECS จะปรับสภาพของอากาศที่ไหลผ่านภายในกระเปาะ ให้มีอุณหภูมิเหมาะสมกับชนิดของ sensor ที่ใช้ และยังมีระบบกำจัดละอองไอน้ำ (demisting) ซึ่งอาจเกาะบนผิวหน้าของช่องที่ sensor จะมองออกไปยังภายนอกกระเปาะอีกด้วย

นอกจากนี้ในชุดอุปกรณ์ของกระเปาะ MRP ยังรวมถึงสถานีภาคพื้นดินด้วย ซึ่งจะเป็นสถานที่รับข้อมูลภาพเป้าหมายมาแสดงผล แล้วเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลแผนที่ เพื่อทำการวิเคราะห์ภาพและเปลี่ยนเป็นข่าวกรองเพื่อแจกจ่ายต่อไป และที่สถานีภาคพื้นยังเป็นสถานที่ที่นักบินจะเข้ามาวางแผนภารกิจ เพื่อสร้าง MDF ก่อนขึ้นบินอีกด้วย






ภาพบนเป็น tactical imagery analysis facility ที่สถานีภาคพื้น
สำหรับภาพล่างนักบินกำลังวางแผนภารกิจด้วยคอมพิวเตอร์
(Copyright : Terma Co.)


เมื่อกล่าวถึงกระเปาะ MRP ไปแล้ว แน่นอนว่าหัวใจสำคัญก็ต้องอยู่ที่ระบบตรวจจับหรือ sensor ที่จะนำมาติดตั้งใช้งาน ซึ่งจะขอแนะนำกล้อง LOROP dual-band (ใช้งานได้ทั้ง visible band และ IR band) แบบ CA-270 ที่ผลิตโดยบริษัท Recon Optical Inc. (ROI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีใช้งานอยู่ในกระเปาะ TARS บน F-16C/D block30 ของ ทอ. สหรัฐฯ และกระเปาะ SHARP (SHAred Reconnaissance Pod) บน F/A-18F ของ ทร.สหรัฐฯ (เรียกว่า รุ่น CA-279/M) และที่สำคัญ คือ ในกระเปาะ MRP II (หรือในชื่อของ ทอ.สวีเดน คือ SPK-39) บน JAS-39C/D Gripen ของ ทอ.สวีเดน (เรียกว่า รุ่น CA-270V)

ถ้า ทอ. จัดซื้อกระเปาะ MRP มาใช้งานทั้งใน F-16MLU และ Gripen ก็สามารถใช้กล้อง LOROP CA-270 รุ่นเดียวกันได้ รวมทั้งบริษัท ROI เอง ยังมีสายสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 30 ปี กับ ทอ.ไทย โดยล่าสุด ทอ.พึ่งจะเซ็นสัญญาซื้อกล้อง CA-295 ที่แทบจะไม่ต่างจาก CA-270 มากเท่าไหร่ เมื่อปลายปี 2550 เพื่อมาติดตั้งกับ บ.ตล.12 Learjet 35A ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ติดตั้งกล้อง LOROP KS-157A ของบริษัท ROI เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้า ทอ. สนใจกระเปาะ MRP สำหรับ F-16MLU และ MRP II สำหรับ Gripen ในอนาคต โอกาสที่กล้อง CA-270 จะได้รับเลือกให้เป็นระบบตรวจจับก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากทีเดียว




ลักษณะภายนอกของกล้อง LOROP CA-270
(Copyright : Recon Optical Inc.)


ทั้งนี้กล้อง CA-270 เป็นกล้องที่ทำงานในระบบดิจิตอล ใช้งานได้ตั้งแต่เพดานบินต่ำถึงปานกลาง คือ ตั้งแต่ 1,500 จนถึง 35,000 ฟุต ความยาวเลนส์ (lens focal length) ปรับได้ตั้งแต่ 6, 12 และ 18 นิ้ว (โดยอีกรุ่น คือ CA-295 ที่กล่าวถึงในตอนต้นนั้น เหมาะสำหรับใช้งานที่เพดานบินสูง หรือตั้งแต่ 20,000 ถึง 50,000 ฟุต โดยมีความยาวเลนส์ตั้งแต่ 50 ถึง 84 นิ้ว) ที่ความเร็วในการบิน 0.8-0.9 มัค (กล้อง LOROP นั้นก็เหมือนกับ framing camera เพียงแต่มีเลนส์ยาวกว่า ดังนั้นการที่ต้องระบุความเร็ว เนื่องจากต้องมีการปรับกลไกการทำงานของตัวรับภาพให้พอดี ป้องกันการเบลอของภาพเหมือนใน framing camera ทั่วไป) และถ่ายภาพได้ทุกมุมตั้งแต่ขอบฟ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง (horizon-to-horizon)

ในการใช้งาน กล้อง CA-270 เลือกการถ่ายภาพได้ 3 แบบ คือ visible band อย่างเดียว IR band อย่างเดียว และทั้ง visible และ IR band พร้อมกัน ใน visible band กล้องจะทำงานในช่วงความยาวคลื่น 0.5-0.9 um และช่วง 3-5 um ใน IR band (ซึ่งจัดอยู่ในความถี่ mid-wave IR อันเป็นช่วงที่คลื่นอินฟราเรดสามารถทะลุทะลวงผ่านควัน ฝุ่น หรือหมอกควันได้ดี) ความละเอียดของภาพ คือ 5024x5024 pixel (25 ล้าน pixel) ใน visible band และ 2016x2016 pixel (4 ล้าน pixel) ใน IR band โดยทั้ง 2 band มี frame rate ที่ 4 frame ต่อวินาทีเท่ากัน

นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพในโหมด stereo ซึ่งเป็นการถ่ายภาพให้ภาพแต่ละภาพซ้อนทับ (overlap) กันได้ถึง 55% (ประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดภาพเลยทีเดียว) โดยมากพอที่จะสร้างให้เกิด stereo-effect (คือ ภาพจะมีความลึก แสดงให้เห็นความสูงของวัตถุต่างๆ) ระหว่างการตีความภาพถ่ายโดยนักวิเคราะห์ได้ ซึ่งมีประโยชน์มากต่อการแปรผลภาพถ่าย เช่น ภาพความเสียหายของเป้าหมาย เป็นต้น










ภาพจากกล้อง CA-279/M ในกระเปาะ SHARP บน F/A-18E/F
ถ่ายจากเพดานบิน 24,000 ฟุต ที่ความเร็ว 360 knot
โดย 2 ภาพบน เป็นแบบ visible band ความละเอียด 25 ล้าน pixel
ส่วน 2 ภาพล่าง เป็นแบบ IR band ความละเอียด 4 ล้าน pixel
(Copyright : Recon Optical Inc.)




 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2551
6 comments
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2551 21:40:59 น.
Counter : 4977 Pageviews.

 

ขอบคุณครับ....รอมานาน

 

โดย: terdkiet IP: 125.24.201.119 1 พฤศจิกายน 2551 23:08:47 น.  

 

--- ติดตามต่อครับผม ^o^

 

โดย: myth IP: 58.8.150.106 1 พฤศจิกายน 2551 23:36:11 น.  

 

ว่าแต่อาจารณ์พอจะทราบไหมครับว่าราคาเท่าไหร่ครับ คงจะแพงน่าดูเลยนะครับ

 

โดย: sherlork (prasopchai ) 5 พฤศจิกายน 2551 13:29:23 น.  

 

อาจารย์รินครับ แล้ว CA-295 ใช้กับ MRP ได้หรือไม่ครับ
หรือทหารอากาศต้องซื้อ CA-270 อีกครับ

 

โดย: ป๋าจ๋า IP: 124.121.166.114 29 มกราคม 2552 6:15:18 น.  

 

คาดว่าใช้ด้วยกันได้ครับ

 

โดย: rinsc seaver IP: 61.90.249.250 2 กุมภาพันธ์ 2552 20:36:15 น.  

 

ได้ความรู้มากมายเลยครับ

 

โดย: PALORMAN IP: 117.47.176.220 16 มีนาคม 2552 1:15:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Warfighter
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




พบกันได้ที่ http://www.thaifighterclub.org ครับ และ pantip.com ห้องหว้ากอ (นานๆ โผล่ไปซักทีนะครับ)
Friends' blogs
[Add Warfighter's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.