Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 

RTAF F-16 MLU ตอนที่ 3: เรดาร์ APG-66(V)2 หัวใจของระบบตรวจจับของ MLU

หัวใจของระบบตรวจจับใน F-16 MLU คือ การปรับปรุงเรดาร์ควบคุมการยิงจากรุ่น APG-66(V)1 ไปสู่รุ่น APG-66(V)2 (จริงๆ แล้วแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรดาร์ใหม่เลยก็น่าจะได้ เพราะ มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก) ซึ่งจะมีขีดความสามารถสูงขึ้นกว่าเรดาร์รุ่นเดิม และใกล้เคียงกับเรดาร์ APG-68(V)5 ใน F-16C/D block40/42/50/52 ที่ผลิต lot แรกๆ เพียงแต่มีน้ำหนักเบากว่าและที่สำคัญ คือ ราคาถูกกว่า (โดยชุดอุปกรณ์ปรับปรุงเรดาร์ใหม่ทั้งหมด เรียกรวมกันว่า MLU kit มีราคา 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2002) อย่างไรก็ดีขีดความสามารถของ APG-66(V)2 ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับเรดาร์ APG-68(V)7, (V)8 หรือ (V)9 ใน F-16C/D ที่ใหม่กว่าได้ (แน่นอนว่ารวมทั้งเรดาร์ PS-05/A ทุกรุ่นที่ใช้งานกับ Gripen ด้วย)




เรดาร์ APG-66(V)1 บน F-16A
(copyright: //www.helicones.itgo.com)



เรดาร์ APG-66(V)2 บน F-16AM (F-16A MLU)
(copyright: Kassjager - //www.f-16.net)



เรดาร์ APG-68(V)9 บน F-16C block50 plus
(copyright: Lockheed Martin Aeronautics Co.)



ในส่วนของการใช้งานสำหรับเรดาร์ APG-66(V)2 ที่สำคัญที่สุด คือ มีการติดตั้ง data-link ของอาวุธนำวิถี AIM-120 AMRAAM เพื่อให้สามารถใช้งานอาวุธนำวิถี AMRAAM ได้ โดยตัวเรดาร์สามารถควบคุมการยิง AMRAAM ได้ 6 ลูก ต่อเป้าหมาย 6 เป้าพร้อมกัน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถในการส่งคลื่นอย่างต่อเนื่องเพื่อชี้เป้า (Continuous Wave Illumination; CW Illumination) สำหรับอาวุธนำวิถีแบบ semi-active radar homing เช่น AIM-7 Sparrow มีความละเอียดในการสร้างภาพแผนที่พื้นดิน (ground mapping) สูงขึ้น มีระบบ ECCM ป้องกันการถูกแจม มีอัตราการแสดงผลเป้าหมายที่ผิดพลาด (false alarm) เช่น จากสัญญาณรบกวนที่สะท้อนกลับจากพื้นดิน หรือจากสภาพอากาศ ที่ต่ำลง สามารถแสดงข้อมูลบนจอภาพ MFD สี ซึ่งจะติดตั้งใหม่ในการปรับปรุงห้องนักบินได้ รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับกระเปาะตรวจจับและชี้เป้า และหมวกนักบินติดศูนย์เล็งได้

นอกจากนี้เรดาร์ APG-66(V)2 ยังมีโหมดการทำงานเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจ ได้แก่
1. Track-While-Scan (TWS) mode: ค้นหาและติดตามเป้าหมายอากาศยานพร้อมกัน 10 เป้าหมาย ภายในมุมมอง +/- 60 องศา ในแนวระนาบ และ +/- 25 องศา ในแนวตั้ง
2. Four-target situational awareness mode: ติดตามเป้าหมายอากาศยานพร้อมกัน 4 เป้าหมาย ภายในมุมมอง +/- 60 องศา ทั้งในแนวระนาบและแนวตั้ง ออกแบบมาใช้งานร่วมกับอาวุธนำวิถี AIM-120 AMRAAM โดยเฉพาะ เพื่อให้มีโอกาสในการยิงถูกเป้าหมายสูงที่สุด
3. Ground Moving Target Identification mode: ติดตามเป้าหมายภาคพื้นดินที่เคลื่อนที่ เช่น ยานยนต์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันหลายเป้าหมาย




ส่วนประกอบของอาวุธนำวิถี AIM-120 AMRAAM
แสดงให้เห็นส่วนของ data-link ซึ่งจะทำหน้าที่รับข้อมูลตำแหน่งเป้าหมาย
จากเรดาร์ APG-66(V)2 ระหว่างการนำวิถีในช่วงกลาง (mid-course guidance)
(Copyright: Raytheon Co.)





ส่วนของ data-link บนอาวุธนำวิถี CATM-120C-5 AMRAAM
จะมีลักษณะเป็นสันนูนออกมาด้านข้างของตัวลูกอาวุธนำวิถี
ซึ่งจะอยู่ด้านตรงข้ามกับส่วนที่ยึดลูกอาวุธนำวิถีเข้ากับรางปล่อยอาวุธ
(Copyright: Warfighter)






ในภารกิจอากาศ-สู่-อากาศ F-16 MLU
สามารถติดตั้งอาวุธนำวิถี AIM-120 AMRAAM ได้สูงสุด 6 ลูก แต่ปกติจะติดตั้งเพียง 4 ลูก
โดยเหลือที่ว่างไว้สำหรับอาวุธนำวิถี AIM-9 Sidewinder เพื่อป้องกันตัวในระยะประชิด
ในภาพเป็น F-16AM (F-16A MLU) ของทอ.นอรเวย์ ติดตั้ง
อาวุธนำวิถี AIM-120A/B AMRAAM ที่ปลายปีกและใต้ปีก 4 ลูก (ข้างละ 2 ลูก),
อาวุธนำวิถี AIM-9M Sidewinder ที่ใต้ปีก 2 ลูก (ข้างละ 1 ลูก),
ถังเชื้อเพลิงสำรองใต้ปีก 2 ถัง (ข้างละ 1 ถัง)
และกระเปาะ ECM ALQ-131 ใต้ลำตัว
(Copyright: US Air Force)



เรดาร์ APG-66(V)2 ทำงานที่ความถี่ 9.7-9.9 GHz จัดอยู่ในช่วงคลื่น X-band มีระยะตรวจจับและติดตามเป้าหมายไกลกว่าเรดาร์ APG-66(V)1 เดิม 25% โดยมีระยะตรวจจับไกลสุดที่ 80 nm (140 km) ระยะตรวจจับแบบ look down 36 nm (65 km) และแบบ look up 48 nm (86 km) มุมการกวาดของจานเรดาร์อยู่ที่ +/- 60 องศา ทั้งในแนวระนาบและแนวตั้ง (azimuth and elevation) เลือกระยะตรวจจับได้ 4 ช่วงตั้งแต่ 10, 20, 40 และ 80 nm




การเปรียบเทียบระยะตรวจจับไกลสุดที่เป็นไปได้ของเรดาร์ APG-66(V)2
กับเป้าหมายอากาศยานแบบต่างๆ ที่มีภาคตัดขวางเรดาร์
(Radar Cross-Section; RCS) ต่างๆ กัน
(ให้ลองเปรียบเทียบกับระยะยิงไกลสุดของอาวุธนำวิถี AIM-120C-5 AMRAAM
ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 55 nm หรือ 100 km)
(Copyright: Warfighter)





การเปรียบเทียบระยะตรวจจับไกลสุดที่เป็นไปได้ในหน่วย nm และ km
สำหรับเรดาร์แบบต่างๆ ของ F-16 กับเป้าหมายที่มีค่า RCS ต่างๆ กัน
(Copyright: Warfighter)



ถ้าพิจารณาที่ตัวอุปกรณ์ เรดาร์ APG-66(V)2 จะมีความน่าเชื่อถือในการใช้งานสูงขึ้นกว่าเดิม 40% โดยมีค่าระยะเวลาก่อนที่จะต้องซ่อมบำรุง (MTBF) เพิ่มจาก 150 เป็น 210 ชั่วโมง มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม 16% และน้ำหนักน้อยลง 18% ประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น 14% และต้องการอากาศหล่อเย็นน้อยลง 19% มีความเร็วในการประมวลผลข้อมูลสูงกว่าเดิม 7 เท่า และมีหน่วยความจำใหญ่กว่าเดิม 20 เท่า ตัวเรดาร์จะเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ด้วย data bus ใหม่ มาตรฐาน MIL-STD-1553B เพื่อให้รับกับคอมพิวเตอร์ MMC

เรดาร์ APG-66(V)2 มีส่วนประกอบหรือ Line-Replaceable Unit (LRU) น้อยลงจาก 6 เหลือ 4 ส่วน โดยจากเดิมประกอบด้วยจานเรดาร์ (antenna), ตัวส่งสัญญาณ (transmitter), ตัวประมวลผลแบบอนาล็อก (low power RF module), ตัวประมวลผลแบบดิจิตอล (digital signal processor), คอมพิวเตอร์เรดาร์ และแผงควบคุมการทำงาน ซึ่งหลังการปรับปรุงจะมีการติดตั้งตัวประมวลผลสัญญาณ (signal data processor) ใหม่ ซึ่งส่วนนี้ส่วนเดียวจะทำงานทดแทนส่วนประกอบเดิมถึง 3 ส่วน คือ ตัวประมวลผลแบบดิจิตอล, คอมพิวเตอร์เรดาร์ และแผงควบคุมการทำงาน ทำให้มีความประหยัดสูงขึ้น ความเชื่อถือในการทำงานดีขึ้น และซ่อมบำรุงง่ายขึ้น พร้อมทั้งยังมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนบางชิ้นของจานเรดาร์และตัวส่งสัญญาณ รวมทั้งติดตั้งตัวประมวลผลแบบอนาล็อกตัวใหม่

ขีดความสามารถของเรดาร์ APG-66(V)2 นั้น ผ่านการพิสูจน์การใช้งานจริงในการรบไปแล้ว (combat proven) นั่นคือ ใน Operation Allied Force ปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายในประเทศเซอร์เบียเพื่อสร้างสันติภาพในประเทศโคโซโว (ในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเซอร์เบีย) โดยกำลังทางอากาศขององค์การนาโต้ เมื่อปี ค.ศ.1999 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงค่ำของคืนแรกของการปฏิบัติการโจมตี คือ ในวันที่ 24 มีนาคม 1999 เมื่อหมู่บิน F-16AM (F-16A MLU) ของ ทอ.เนเธอแลนด์ 4 เครื่อง ซึ่งทำภารกิจคุ้มกันหมู่บินโจมตีของนาโต้ เข้าสู่น่านฟ้าของเซอร์เบีย ก็ได้รับรายงานจาก AWACS ว่าตรวจพบ Mig-29 จำนวน 3 เครื่องบินขึ้นจากฐานบินใกล้กรุงเบลเกรด F-16AM ทั้ง 4 เครื่องมุ่งหน้าเข้าสู่เป้าหมายทันที ภายใต้คำแนะนำของ AWACS และ F-16AM ทั้ง 4 เครื่องก็ตรวจพบ Mig-29 เครื่องหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ระยะยิงของอาวุธนำวิถี AIM-120A AMRAAM หัวหน้าหมู่บินได้ยิง AMRAAM 1 ลูกไปยัง Mig-29 เครื่องนั้น AMRAAM ใช้เวลาเดินทาง 30 วินาที ด้วยความเร็ว 4 มัค เป็นระยะทาง 18 nm (33 km) ก็พุ่งกระทบเป้าหมาย และระเบิดมันออกเป็นลูกไฟที่สว่างจ้าตัดกับท้องฟ้ายามค่ำคืน มองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า

นี่เป็นการพิสูจน์ขีดความสามารถของเรดาร์ APG-66(V)2 ทั้งการค้นหาและติดตามเป้าหมาย และการทำงานของระบบ data-link ของอาวุธนำวิถี AMRAAM จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเรดาร์ APG-66(V)2 สามารถตรวจพบ Mig-29 ได้ที่ระยะเกินกว่าระยะยิงไกลสุดของ AIM-120A ซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 nm (54 km) ดังนั้นจึงเป็นไปตามข้อมูลข้างต้นที่คาดว่าเรดาร์ APG-66(V)2 น่าจะตรวจพบ Mig-29 ได้ที่ระยะไกลสุด 40 nm (70 km)




อาวุธนำวิถี AIM-120A/B AMRAAM ขณะถูกยิงออกไปยังเป้าหมาย
(Copyright: //www.strategypage.com)



การพ่นเครื่องหมาย Mig Kill ลงบนลำตัวของ F-16AM (F-16 A MLU)
เครื่องที่ยิง Mig-29 ตก
(Copyright: Jane's Defense Weekly)



เครื่องหมาย Mig Kill บนลำตัวของ F-16AM (F-16A MLU)
(Copyright: Melvin Jansen - //www.airliners.net)



โฉมหน้าของ F-16AM (F-16A MLU) หมายเลข J-063 ของ ทอ.เนเธอแลนด์
ผู้พิชิต Mig-29 ใน Operation Allied Force
(Copyright: Rene Wilthof - //www.airliners.net)



ทั้งนี้นอกจากการปรับปรุงเรดาร์แล้ว หากต้องการขีดความสามารถที่สูง แต่ก็ในราคาที่สูงด้วยเช่นกัน ก็สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนเรดาร์ใหม่ก็ได้ เช่น การเปลี่ยนเรดาร์ไปสู่รุ่นล่าสุดอย่าง APG-68(V)9 ซึ่งเป็นเรดาร์ที่ติดตั้งใน F-16C/D block50/52 plus และ F-16I โดยมีจุดเด่นสำคัญ คือ การมีโหมด SAR (Synthetic Aperture Radar) เพื่อสร้างภาพเป้าหมายพื้นดินอย่างละเอียดอีกด้วย ไม่นับระยะตรวจจับที่เพิ่มขึ้น และความน่าเชื่อถือในการใช้งานที่สูงกว่าเดิม แต่เรดาร์รุ่นนี้ก็ยังเป็นแบบ mechanically scanned array อยู่ ไม่ใช่แบบ active electronically scanned array (AESA) เหมือนเรดาร์ APG-80 ใน F-16E/F อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาออปชั่นการปรับปรุงเรดาร์ได้รับความนิยมมากกว่า โดย ทอ. ในยุโรปทั้ง 5 ประเทศ คือ เบลเยี่ยม, เดนมาร์ค, เนเธอแลนด์, นอรเวย์ และโปรตุเกส เลือกออปชั่นนี้ ซึ่งน่าจะมาจากเรื่องราคาเป็นสำคัญ ส่วนออปชั่นการเปลี่ยนเรดาร์ใหม่นั้นจนถึงทุกวันนี้มีเพียง ทอ. ปากีสถาน ซึ่งเป็นลูกค้าล่าสุดของ MLU ที่อาจจะเลือกออปชั่นดังกล่าว (สหรัฐฯ เสนอออปชั่นทั้งการปรับปรุงและเปลี่ยนเรดาร์ใหม่)

แล้วถ้าหากว่า ทอ. เลือกที่จะไม่เปลี่ยนเรดาร์ใหม่ แต่ใช้การปรับปรุงเรดาร์เป็นรุ่น APG-66(V)2 ด้วยขีดความสามารถของเรดาร์ที่ปรับปรุงแล้วนี้ F-16 MLU ของ ทอ. จะสู้กับ บ.ขับไล่ ของประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ ลองพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ดูพอเป็นแนวทาง กล่าวคือ การเปรียบเทียบระยะตรวจจับไกลสุดที่เป็นไปได้ระหว่างเรดาร์ APG-66(V)2 กับเรดาร์แบบอื่นๆ ที่ติดตั้งใน บ.ขับไล่ แต่ละชนิดที่ประจำการอยู่ใน ทอ.ต่างๆ รอบประเทศของเรา การเปรียบเทียบเหล่านี้มีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่างๆ ซึ่งอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงหรือสูงกว่าความเป็นจริงไปบ้าง ประกอบด้วยระยะตรวจจับของเรดาร์แต่ละชนิด และค่า RCS ของ บ.ขับไล่แต่ละแบบ เมื่อใช้สูตรคำนวณจะสามารถหาระยะตรวจจับได้ อย่างไรก็ดีข้อมูลดังกล่าวมิได้คำนึงถึงปัจจัยประกอบอื่นๆ เช่น กฎการปะทะ, การใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นการรบแบบ head-on คือ บินเข้าหากันตรงๆ อีกด้วย




การเปรียบเทียบระยะตรวจจับของเรดาร์ APG-66(V)2 กับเรดาร์ชนิดอื่นๆ
(Copyright: Warfighter)



การเปรียบเทียบระยะตรวจจับของเรดาร์ APG-66(V)2 กับ
เรดาร์ Type 226 และ RP-21M ของ F-7M และ Mig-21PFM ตามลำดับ (ซ้าย)
และเรดาร์ RP-22 ของ Mig-21bis (ขวา)
จะเห็นว่า F-16 MLU ได้เปรียบ บ.ขับไล่ ทั้ง 3 แบบ
เนื่องจากเรดาร์ทุกชนิดมีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับการรบแบบ WVR เป็นหลัก
(Copyright: Warfighter)



การเปรียบเทียบระยะตรวจจับของเรดาร์ APG-66(V)2 กับ
เรดาร์ N019 ของ Mig-29B (ซ้าย) และ N019ME ของ Mig-29N (ขวา)
จะเห็นว่า F-16 MLU ได้เปรียบกว่า Mig-29B แต่ใกล้เคียงกับ Mig-29N
ถึงแม้ว่าเรดาร์ทั้งคู่จะมีขีดความสามารถสูงกว่า แต่ F-16 มีค่า RCS ต่ำกว่า จึงได้เปรียบ
(Copyright: Warfighter)



การเปรียบเทียบระยะตรวจจับของเรดาร์ APG-66(V)2 กับ
เรดาร์ N001 ของ Su-27SK และ Su-30K (ซ้าย) และเรดาร์ APG-65 ของ F/A-18D (ขวา)
ในกรณีแรกจะเห็นว่า ถึงแม้ว่าเรดาร์ N001 จะมีขนาดใหญ่กว่ามากก็ตาม
แต่ด้วยค่า RCS ของ F-16 ที่ต่ำกว่าของ Su-27SK และ Su-30K อยู่ถึง 10 เท่า
จึงยังทำให้ F-16 MLU ยังคงสูสีกับ บ.ขับไล่ ทั้ง 2 แบบอยู่
ในขณะที่กรณีหลังจะเห็นว่า F-16 MLU เสมอกับ F/A-18D เนื่องด้วยทั้งคู่มีค่า RCS เท่ากัน
และเรดาร์ของทั้งคู่ก็มีขีดความสามารถเท่ากัน ดังนั้นตัวตัดสินจึงอยู่ที่อาวุธและปัจจัยอื่นๆ
(Copyright: Warfighter)



การเปรียบเทียบระยะตรวจจับของเรดาร์ APG-66(V)2 กับเรดาร์ N001M ของ Su-30MKM
จะเห็นได้ว่า F-16 MLU ไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบของการมีค่า RCS ต่ำกว่า Su-30MKM
ประมาณ 10 เท่า มาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป เนื่องจาก N001M เป็นเรดาร์แบบ PESA
จึงมีขีดความสามารถในการตรวจจับสูงกว่าเดิมมาก
นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐฯ เสนอเรดาร์ APG-68(V)9 ให้ปากีสถาน
ซึ่งต้องการใช้ F-16 MLU ในการหยุดยั้ง Su-30MKI ของอินเดีย ที่ใช้เรดาร์ N001M




 

Create Date : 28 มีนาคม 2551
6 comments
Last Update : 2 เมษายน 2551 18:11:33 น.
Counter : 9551 Pageviews.

 

เป็นหน้า blog ที่เสียเวลาเขียนนานที่สุด เท่าที่เคยทำมาเลยก็ว่าได้ กว่าจะทำภาพกราฟฟิกประกอบ รวมทั้งคำนวณข้อมูลเรดาร์ด้วย เล่นเอาแทบตาย

 

โดย: rinsc seaver (Warfighter ) 2 เมษายน 2551 18:23:22 น.  

 

^
^
^
emo เขียนเองเจิมเองอ๊ะ

 

โดย: Skyman (Analayo ) 2 เมษายน 2551 19:05:17 น.  

 

อดเจิม

 

โดย: นางน่อยน้อย 3 เมษายน 2551 6:55:33 น.  

 

ประเด็นหลักถ้าทอ.จะซื้อชุด kit มาปรับปรุงเรด้าร์เป็น AGP-66 (V)2 ก็คืองบประมาณ แต่จากข้อมูลประสิทธิภาพแล้ว เสียเงิน 2 แสนเหรียญ หรือราว 8 ล้านบาท (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้น) แล้วได้คุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ ผมเห็นด้วยครับว่าใช้ (V)2 จะดีที่สุด แทนที่จะต้องเสียเงินหลายสิบล้านไปถอย (V)5 ใหม่ สู้เอาเงินไปเติม option อื่น ๆ + จัดหาอาวุธดีกว่าครับ

ว่าแต่อาจารย์ครับ ซี่รี่ย์นี้อย่าลืมเขียนเรื่องระบบ Datalink ของ F-16 และการ integrate ระบบ Datalink ระหว่าง F-16, Gripen, Erieye, และ RTADS ด้วยนะครับ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ๆ เลย

 

โดย: Skyman (Analayo ) 3 เมษายน 2551 11:28:37 น.  

 

รุ่นล่าสุดนั้น APG-68(V)9 จ๊ะโย แต่แพงระยับเลยล่ะ อ้อ อีกเหตุผลนึงที่ปากีสถานอาจเลือกเรดาร์ตัวนี้ ก็เพราะว่า F-16C/D ที่ซื้อใหม่ ใช้เรดาร์รุ่นนี้เหมือนกัน จะได้สะดวกต่อการซ่อมบำรุงและสำรองอะไหล่ด้วย

เรื่อง data-link ไม่ลืมแน่นอนขะรับ แต่คาดว่าจะอยู่ประมาณตอนที่ 8 ของซีรี่ย์ชุดนี้ล่ะครับ เหอๆๆๆ (นี่ขนาดพึ่งเขียนได้แค่ 3 ตอน ยังจะคิดยาวไปถึงตอนที่ 8)

ปล. งานนี้เจิมเอง หนูเหม่งอดเจิม หุหุ

 

โดย: rinsc seaver (Warfighter ) 3 เมษายน 2551 13:20:42 น.  

 

ทราบแล้วฮะ 'จารย์ แต่ผมคิดว่า (V)9 นี่ให้ตายเราก็ไม่มีปัญญาแน่นอน แต่ (V)5 ยังพอมีหวัง แต่ก็หวังอยากเหลือเกินครับ

ปล. อาจารย์ต้องระวังดี ๆ นะครับ หนู๋เหม่งชอบโผล่มาเจิมจากไหนก็ไม่รู้อยู่เรื่อย

 

โดย: Skyman (Analayo ) 3 เมษายน 2551 16:01:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Warfighter
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




พบกันได้ที่ http://www.thaifighterclub.org ครับ และ pantip.com ห้องหว้ากอ (นานๆ โผล่ไปซักทีนะครับ)
Friends' blogs
[Add Warfighter's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.