***การอ่านหนังสือ คือ การเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเอง*** Open Your Mind by Reading***
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
13 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
วันที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน

สืบเนื่องจากการได้ดูรายการ "พื้นที่ชีวิต" ทางทีวีไทย เมื่อตอน 3 ทุ่มกว่าหลังจบซีรีย์ "ซูสีไทเฮา" ทางรายการได้สัมภาษณ์อาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล หนึ่งในผู้นำนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลา 16 ทำให้ฉันหวนนึกถึงชีวิตในช่วงนั้นขึ้นมมาได้

ฉันชอบอ่านหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เพิ่งอ่านหนังสือออก เพราะที่บ้านเป็นร้านขายกาแฟ พ่อจะรับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งข่าวจะค่อนข้างจำกัด อาจจะมีข่าวอื่นมาบ้างประปราย จำได้ว่าเคยอ่านเจอเรื่องการขานพระนามของเจ้าฟ้าว่า ถ้าเป็นพระราชโอรส ต้องมีคำว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ” นำหน้า ถ้าเป็นพระราชธิดาจะมีคำว่า “พระเจ้าลูกเธอ” นำหน้า ตอนนั้น อยู่ชั้น ป.2 หรือ ป.3 นี่แหละ และทำให้จำมาได้จนโต ซึ่งเรื่องความทรงจำในวัยเด็ก มีเรื่องให้เขียนได้อีกหลายเรื่องทีเดียว เพราะจำแม่นกว่าตอนที่เป็นผู้ใหญ่เสียอีก

มาได้อ่านหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็ต่อเมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย อาศัยอ่านในห้องสมุดโรงเรียน ทำให้ได้รับรู้ข่าวสารการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะอ่านหมดไม่ว่าข่าวประเภทไหน จึงรู้เรื่องนั้นนิดเรื่องนี้หน่อย แต่ที่จำเรื่องการเมืองได้มากกว่า อาจเพราะตอนนั้นฟังวิทยุด้วย

หนังสือพิมพ์ยุคนั้น มีแค่หนังสือพิมพ์หัวสีซึ่งมีข่าวสองประเภทนี้เป็นข่าวหลัก ความเป็นเด็กทำให้ความคิดเห็นทางการเมืองไม่แจ่มชัด ฉันรู้จากสื่อแค่ว่า รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นรัฐบาลเผด็จการ และร่วมมือกับจอมพลประภาส จารุเสถียร เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปเรื่อย ๆ ในสองตระกูลนี้ ด้วยการให้รุ่นลูกเป็นทองแผ่นเดียวกัน

ดังนั้น จึงไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฏหมายหลักในการปกครองบ้านเมือง เมื่อมีผู้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชน เพื่อจะได้มีสิทธิมีเสียงในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง บุคคลเหล่านั้นจึงถูกจับ

ฉันจำได้ว่า ขณะที่ทางเมืองหลวงกำลังมีการก่อหวอดประท้วงการกระทำของรัฐบาลเผด็จการ อาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งสอนวิชาภาษาไทย บอกกับนักเรียนว่า อย่าไปเชื่อข่าวที่ว่ารัฐบาลขี้โกงนะ เพราะตอนนั้น มีเรื่องช่องแคบคอคอดกระเข้ามาเกี่ยวด้วย และรัฐบาลถูกกล่าวหาว่า กำลังจะทำให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์ชาติ แต่ผลประโยชน์ตกอยู่กับสองตระกูล (คุ้น ๆ นะเรื่องทำนองนี้ เหตุการณ์ผ่านมาตั้งกี่สิบปีแล้ว วงจรอุบาทว์ก็ยังคงอยู่ยั้งยืนยงคู่กับเมืองไทย)

ฉันไม่เข้าใจในรายละเอียดหรอก แต่เวลานั้น ฉันก็เทใจให้เหล่าพี่ ๆ นักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยไปหมดแล้ว ช่วงนั้น การชุมนุมประท้วงระบาดไปถึงสถาบันการศึกษาต่างจังหวัดหลายแห่ง ที่โรงเรียนฉันก็มีการประท้วง แต่เรื่องอะไรฉันลืมไปแล้ว เกี่ยวกับท้องถิ่นน่ะ ประท้วงพร่ำเพรื่อมาก บางเรื่องฉันก็ว่ามันไม่ค่อยได้สาระ แต่ก็ตามรุ่นพี่ที่นำการประท้วงแหละ ใคร ๆ ก็ชอบ เพราะจะได้ไม่ต้องเรียนหนังสือ

แล้วพอหลังเหตุการณ์สงบ เพราะจอมพลถนอมยอมเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากปราบปรามนักศึกษาอย่างหนักแต่ไม่สำเร็จ มีการเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชน ยังจำได้ว่า ตัวเองบริจาคไป 2 บาท ซึ่งมากกว่าใครในห้อง และคอยติดตามข่าวว่าเมื่อไหร่เขาจะสร้างเสียที เมื่อเห็นไม่มีความคืบหน้า ฉันก็เขียนจดหมายไปถาม “สีน้ำ” นักเขียนคอลัมน์ ซึ่งตอบปัญหาการเมืองในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ก็ไม่ได้รับคำตอบ (ฉันเป็นแฟน “สีน้ำ” ในนิตยสารบางกอกด้วย ยังจำวาทะ “ผู้ชายพูดคำ “รัก” ได้เสมอ เมื่ออยู่บนเตียงนอน” ประมาณนี้แหละ เพราะตอนนั้น สีน้ำตอบปัญหาหัวใจให้วัยรุ่นด้วย และมีคนเขียนมาถาม ท่านตอบตรงไปตรงมา จนฉันอ่านแล้วยังรู้สึกปวดใจแทนคนถาม)

จำเนียรกาลผ่านไป อนุสาวรีย์วีรชน เพิ่งสร้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ตรงสี่แยกคอกวัว แต่ใช้ชื่อว่า “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” ฉันไม่รู้หรอกว่าเงินที่ฉันบริจาคไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว มีส่วนในงบประมาณการก่อสร้างไหม ถึงเวลานี้ ความรู้สึกคุกรุ่นด้านการเมืองมันลดระดับลงไปมากแล้ว

ช่วงนั้น ประชาธิปไตยในโรงเรียนมันเบ่งบาน จนถึงกับมีการเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียนเป็นครั้งแรก เพื่อให้เป็นตัวแทนนักเรียนเข้าไปนั่งในสภานักเรียน มีการจัดตั้งพรรคการเมือง ฉันถูกทาบทามให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการฯ ครั้งนั้นด้วย เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 2 โดยมีรุ่นพี่ชั้นมัธยมปลายรุ่นแรกของโรงเรียนเป็นคนจัดตั้งพรรคขึ้นมา มีกี่พรรคก็ไม่จำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ได้ขึ้นไปหาเสียงบนเวทีในห้องประชุมด้วย ฉันพูดจนพี่ที่เป็นหัวหน้าพรรคกระซิบว่า พอแล้ว ฉันยังนึกในใจว่า อะไร (วะ) ยังพูดเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ไม่จบเลย แต่ก็ยอมตามที่พี่เขาบอก เพราะเราอยู่ ม.ศ. 2 พี่เขาอยู่ ม.ศ. 4

ตอนนั้น พอได้เป็นคณะกรรมการนักเรียนในปีถัดมา พวกเราก็ออกวารสารเพื่อให้เป็นปากเสียงของนักเรียนและประชาสัมพันธ์งานของพรรคด้วย ฉันได้รับผิดชอบคอลัมน์ที่เขียนวิจารณ์เรื่องทั่ว ๆ ไปในโรงเรียน จำชื่อคอลัมน์ไม่ได้แล้ว ได้ไปช่วยพี่เขาเรียงหน้าวารสาร จำได้ราง ๆ ว่าต้องไปขอใช้เครื่องโรเนียวของทางโรงเรียนด้วย เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทำได้มีบทบาทเกี่ยวกับการเมืองในโรงเรียน นอกเหนือจากการเป็นรองหัวหน้าห้องเมื่อตอน ม.ศ.1

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 “ประชาธิปไตย” ในเมืองไทยก็ดูเหมือนจะกลายเป็นขนมหวานที่ใครก็อยากลิ้มลองและกลายเป็นสิ่งเสพติดของบรรดานักการเมืองมาโดยตลอด มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรหลายยุคหลายสมัย เกิดเหตุการณ์รัฐประหารก็หลายครั้ง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง และกลายเป็นถ้อยคำหรูที่พวกนักการเมืองนำมาใช้แอบอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติที่ทุจริตคิดมิชอบเสมอมา

ชื่อนักการเมืองหลายคนที่ฉันเคยได้ยินตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จนถึงบัดนี้ ก็ยังลอยหน้ามีบทบาทในสังคมการเมือง ทั้งที่ไม่ได้ช่วยให้เมืองไทยพัฒนาขึ้นเลย มีแต่หาผลประโยชน์ให้ตัวเอง กลายเป็นการทำธุรกิจการเมือง ซ้ำยังมีการวางตัวทายาททางการเมืองไว้ โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนว่าจะรู้สึกอย่างไร กลายเป็นว่า ตำแหน่งทางเมืองสงวนไว้ให้คนในตระกูลของตัวเองเท่านั้น

แม้แต่การเรียกร้องหา “ประชาธิปไตย” ครั้งล่าสุด ก็ไม่พ้นวังวนนี้เช่นกัน


การชุมนุมของเหล่านักศึกษา 14 ตุลา 16
//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_14_%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2




Create Date : 13 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2553 16:42:11 น. 2 comments
Counter : 1800 Pageviews.

 
สวัสดีครับ a href="//www.goalranks.com/seo/เว็บไซต์ต่างประเทศ/10263">


โดย: MaFiaVza วันที่: 13 พฤศจิกายน 2553 เวลา:17:35:46 น.  

 
ขอบคุณค่ะ คุณ MaFiaVza ที่เข้ามาเยี่ยมบล็อก ว่าแต่ลิ้งค์ที่ให้มา เกี่ยวกับอะไรคะ ไม่กล้าคลิกเข้าไปดู


โดย: wanalee วันที่: 13 พฤศจิกายน 2553 เวลา:22:16:33 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

wanalee
Location :
ระยอง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




คนธรรมดาที่กำลังพยายามละกิเลส เพื่อลดความอยากและไม่อยากให้มากที่สุด (ยากนะ แต่จะพยายาม)
New Comments
Friends' blogs
[Add wanalee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.