Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
18 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 

การโซโลในแนวแจ๊ส

Improvisation หมายถึง การเล่นทำนองออกมาใหม่อย่างสดๆ (คล้ายกับการด้นในดนตรีไทย) คล้ายกับการเล่าเรื่องหรือเล่านิทานโดยการเรียบเรียงด้วยภาษาของผู้เล่นเอง โดยผู้เล่นนั้น นอกจากจะต้องมีทั้งทักษะและความชำนาญทางเทคนิคเฉพาะของดนตรีในสไตล์นั้นๆแล้ว จำเป็นที่จะต้องรู้จักกับภาษา ตลอดจนมีความคุ้นเคยกับธรรมเนียมต่างๆและแฟชั่นของดนตรีแนวนั้นเป็นอย่างดีด้วย การโซโล่นั้นบางครั้งอาจจะไม่ใช่การเล่นในแบบด้นทั้งหมด แต่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี หรือมีการบันทึกเป็นโน้ตไว้เพื่อช่วยในการซ้อมก็มี

การโซโล่ในแนวแจ๊สนั้นผู้เล่นจะต้อง:

1. มีประสบการณ์ในการฟังเพลงแจ๊สมานานพอเพียง รู้จักเพลงตั้งแต่ New Orleans, Swing, Bebop และ Modern Jazz เป็นอย่างดี และถ้ามีประสบการณ์ในการฟังเพลงในแนวอื่นๆด้วยก็ดี
2. มีทักษะความชำนาญในเครื่องดนตรีที่ตนเล่นอยู่ สามารถเล่น Scales และคอร์ดต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว เพียงพอสำหรับที่จะถ่ายทอดความคิดออกมาอย่างไม่สะดุด จากสมองแล้วผ่านทางเครื่องดนตรีออกมา โดยไม่ปล่อยให้นิ้วมือเล่นเอง
3. ต้องคุ้นเคยกับทำนองและลีลาของแจ๊ส (Jazz Lines) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนว Blues และ Swing ซึ่งเป็นรากฐานของเพลงแจ๊ส
4. รู้จักเพลงที่เล่นเป็นอย่างดีในเรื่องของทำนอง คอร์ด และ Scales ที่จะใช้ในการโซโล่ และสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องดูโน้ต
5. การโซโล่นั้นต้องเล่นอย่างมีวิญญาณ ปราศจากความกดดันทั้งปวง ความจริงใจใน Ideas หรือความคิดของตัวเองนั้น จะทำให้การโซโล่มีความชัดเจนและหนักแน่น ไม่คลุมเครือหรือฉาบฉวย

การโซโล่ที่ดีในแนวแจ๊ส

1. การวางประโยค (Phrasing) ที่ดี
2. ประโยค ถาม-ตอบ (Question-Response)
3. การใช้และพัฒนา Motifs หรือ Ideas
4. การเปรียบเทียบระหว่างประโยคง่ายกับประโยคซับซ้อน (Simplicity & Complexity)
5. ช่วง Climax ของการโซโล่
6. ประโยคเริ่ม(Opening Statement)และประโยคจบ(Closing Statement) ที่ดี
7. การต่อ (Transition) ที่ดีกับ Chorus ถัดไป
8. ความชัดเจน (Clarity) ไม่คลุมเครือ
9. การ “พูด” ในสิ่งที่มีความหมาย น่าสนใจ ตื่นเต้น มีรสชาติ
10. สไตล์การเล่นที่เหมาะสมกับเพลงนั้นๆ
11. Sound และ Technique ที่ดี
12. Space หรือช่วงที่เงียบ หรือหยุดระหว่างประโยค (Breathing Room)
13. การสร้างและคลายความเครียด (Tension-Release)
14. “ภาษา” (Vocabulary หรือ Licks) ที่ดีและเหมาะสม
15. ความหลากหลายในการเล่นจังหวะในตัวโน้ต (Rhythmic Variations) และค่าของตัวโน้ต(Note Values)
16. Dynamics หรือความดัง-เบา
17. การพัฒนาแนวความคิด (Development of Ideas) ที่ชัดเจนหนักแน่น
18. การเปลี่ยนเรื่องหรือสไตล์การพูด หรือเปลี่ยน Mood หรือเปลี่ยน Momentum เมื่อเกิด Chorus ใหม่
19. การออกสำเนียง (Articulation) ของตัวโน้ต และการย้ายตำแหน่งของโน้ตที่มีการใส่ Accent ให้
20. การเปลี่ยนทาง (Direction Change) ภายในประโยค
21. การใช้ทั้ง Chord Tone และ Tensions
22. การใช้คู่เสียง (Intervals) ที่มีสีสันต่างๆ
23. การนำประโยคหรือวลีสั้นๆของเพลงอื่นที่รู้จักกันดีมาใช้ โดยการแทรกเข้าไปในช่วงใดก็ได้ของการโซโล่ โดยจะมีกี่ครั้งก็ได้

เทคนิคในการโซโล่ (Improvisational Techniques)

มีอยู่ 3 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. วิธี Paraphrasing
2. การใช้ Formulas
3. การใช้ Motifs

วิธี Paraphrasing

หมายถึงการใช้ทำนองของเพลงที่เล่นอยู่เป็นหลัก เช่น การล้อ ดัดแปลง หรือตกแต่งทำนองโดยไม่หนีไปไกลจากเดิมมากนัก หรืออาจเป็นการพูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่ใช้วิธีพูดคนละแบบ วิธีการนี้นั้นผู้ฟังมักจะเข้าใจและตามผู้เล่นได้ง่าย เพราะยังได้ยินทำนองเพลงที่แอบแฝงอยู่ เป็นวิธีที่ใช้กันมานานแล้ว เรามักจะได้ยินจากเพลง Standard เก่าๆ เพลงลูกกรุง และเพลงลูกทุ่งทั่วไปก็ใช้วิธีนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรมากนัก เพียงแค่ต้องรู้จักทำนองเพลงเป็นอย่างดีเท่านั้น ในเพลงแจ๊สนั้น นิยมใช้วิธีนี้ใน Chorus แรกเป็นส่วนใหญ่

การใช้ Formulas

คือการใช้สูตร หรือ “ลูกสูตร” หรือ Licks นั่นเอง คำว่า Licks หมายถึง วลีหรือประโยคของทำนองที่นิยมนำไปใช้กันมากในการโซโล่ ปกติมักจะเป็นทำนองที่เด่นและไพเราะ โดยอาจจะมีผู้คิดขึ้นมาก่อนและใช้มากจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และต่อมาคนอื่นๆก็เลยนำไปใช้กันบ้าง หลายทำนองท่านคงเคยเห็นหนังสือที่เกี่ยวกับ Licks ในสไตล์ต่างๆ ที่มีขายกัน เช่น Blues Licks ของ B.B. King, Piano Licks ของ Chick Corea เป็นต้น ในทางแจ๊สนั้นนิยมใช้ Licks กันมากที่สุดในยุค Swing และ Bebop ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง Jazz Licks ก็คือ Charlie Parker ซึ่งเป็นต้นตำรับของสไตล์ Bebop นี้ด้วย
ผู้ที่ใช้วิธี Formulas ได้ดี จะต้องมีการฝึกซ้อมมากเป็นพิเศษในการเล่น Licks หรือลูกสูตรต่างๆให้ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถจำได้อย่างแม่นยำ และนำมาใช้ได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้น การโซโล่ทั้ง 3 วิธีนี้ วิธีการใช้ Formulas น่าจะเป็นวิธีที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์น้อยที่สุด

การใช้ Motifs

Motifs หมายถึงส่วนที่เล็กที่สุดของทำนอง จะเป็นกลุ่มโน้ตตั้งแต่ 2-7 โน้ตที่มีรูปร่างลักษณะที่เด่นชัดและมักจะติดหูคนฟังง่าย และที่สำคัญคือ สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ หลาย Motifs รวมกันจะกลายเป็น Phrase (ประโยค) หลาย Phrases รวมกันจะกลายเป็น Paragraph (ย่อหน้า) หลาย Paragraph รวมกันจะกลายเป็น Chorus (1เที่ยวเพลง)

การพัฒนา Motifs (Motivic Development)

การพัฒนาโมทีฟมีอยู่หลายวิธีได้แก่

1. Repetition (การซ้ำ) หมายถึง การเล่น Motif นั้นซ้ำอีก อาจแบ่งเป็น
1.1 แบบ Exact คือเหมือนเดิมทุกประการ
1.2 Octave Displacement คือการเปลี่ยน Octave ของโน้ตบางตัวซึ่งจะทำให้Sound แปลกออกไป
1.3 Rhythmic Displacement คือการย้ายตำแหน่งของจังหวะ

2. Transposition หมายถึงการเล่น Motif เดิมโดยการเปลี่ยนระดับเสียงสูงขึ้นหรือต่ำลง อาจแบ่งออกเป็น
2.1 แบบ Diatonic คือ การเปลี่ยนระดับเสียงโดยอยู่ในคีย์เดิม
2.2 แบบ Exact คือการเปลี่ยนระดับเสียงของ Motifs โดยรักษาระยะห่างของโน้ตทุกตัวเอาไว้โดยไม่คำนึงถึงโน้ตถึงคีย์ที่จะต้องเปลี่ยนไป

3. Question and Answer (ถาม-ตอบ) เป็นการพัฒนาโมทีฟในลักษณะ ถาม-ตอบ คือ ประโยคแรกถามและประโยคหลังตอบ

4. Alteration of Intervals คือการเปลี่ยนระยะห่างของโน้ตใน Motif

5. Addition or Subtraction of Material หมายถึง การเพิ่มหรือการตัดจำนวนของตัวโน้ตใน Motif

6. Rhythmic Alteration หมายถึงการยืดหรือหดค่าของตัวโน้ตทั้งหมดหรือเพียงแค่บางตัว อาจแบ่งออกเป็น
6.1 Augmentation การยืดออกหรือเพิ่มค่าของตัวโน้ต
6.2 Diminution การหดหรือลดค่าของตัวโน้ต

7. Retrograde การเล่นถอยหลัง จะใช้ได้ดีสำหรับโมทีฟสั้นๆ แต่บางทีก็อาจจะได้ผลไม่ค่อยดีนัก เพราะฟังแล้วเข้าใจยาก

8. Melodic Inversion การเล่นกลับหัว หรือแบบกระจกเงา อาจแบ่งออกเป็น
• แบบ Diatonic คือการกลับหัวโดยอยู่ ในคีย์เดิม
• แบบ Exact คือการกลับหัวโดยรักษาระยะห่างของโน้ตทุกตัวเอาไว้ โดยไม่คำนึงถึง คีย์ที่จะเปลี่ยนไป

9. Change of Melody-Harmony Relationship คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างโน้ตในโมทีฟกับคอร์ดที่รองรับอยู่ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น
• การเล่นซ้ำโมทีฟเดิม ในขณะที่ คอร์ดเปลี่ยนไป
• การใช้วิธี Transpose โน้ตบางโน้ต ขึ้นหรือลงเพื่อปรับให้เข้ากับคอร์ด

เราจะหาโมทีฟเหล่านี้ได้จากที่ไหน ?

1. จากทำนองของเพลงที่กำลังเล่นอยู่
2. จากทำนองหรือ Motif เด่นๆของเพลงอื่น
3. ยืมจาก Motif ที่ผู้เล่นอื่นๆใช้
4. คิดเอาเองโดยเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า หรืออาจคิดออกมาสดๆ
5. จาก Motif หรือ Ideas ที่ถูกพัฒนาไปแล้ว
วิธีการพัฒนา Motifs ทั้งหมดนี้ เราสามารถนำมาผสมผสานกันใช้ จะใช้พร้อมกันหลายวิธี หรือใช้ทีละวิธีก็ได้ แต่สิ่งสำคัญอันหนึ่งทึ่ควรคำนึงถึง คือ
1. ความสมดุลระหว่างการพัฒนา Motifs กับ Ideas ใหม่ ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปอาจจะเกิดความน่าเบื่อ
2. Motif ที่มีการพัฒนาไป กับ Ideas ใหม่จะต้องมีความสัมพันธ์กัน
การใช้และพัฒนาโมทีฟ เป็นเทคนิคของการโซโลที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ซึ่งผู้เล่นจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลาที่เล่น ผู้ที่มีชื่อเสียงในการใช้เทคนิคนี้คือ John Coltrane

ตัวอย่างการพัฒนาการของโซโล่ (4 Choruses)

Chorus ที่ 1

• เข้าสู่การโซโล่ด้วยประโยค หรือ Statement ที่เหมาะสม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย
• ใช้วิธี Paraphrase เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าใช้ Motifs จะดึงออกมาจากทำนองหลักของเพลงมาพัฒนา
• ค่าของตัวโน้ตส่วนใหญ่เป็น Eight Notes กับ Quarter Notes หรือมากกว่า
• ใช้ช่วงเสียง (Range) แคบๆ ยังไม่สูงหรือต่ำมาก
• มี Space มาก
• Scale ส่วนใหญ่ยังเป็น Diatonic อยู่ (เล่น “Inside”ก่อน)
• ใช้ประโยคง่ายๆ เล่นแบบอิง Chord Tones เป็นส่วนใหญ่และไม่ยาวมาก
• โน้ตสีสันมีจำนวนน้อย
• ใช้ Intervals ที่ฟังง่าย
• Dynamics อยู่ในระดับปานกลาง ไม่ค่อยหรือดังมาก

Chorus ที่ 2

• เริ่มมี Ideas ใหม่ๆเข้ามา และมีการใช้ Formulas บ้าง และเริ่มมีการพัฒนา Motifs บ้าง
• ค่าของตัวโน้ตส่วนใหญ่เป็น Eight Notes มากขึ้น
• เริ่มใช้ช่วงเสียง (Range) กว้างขึ้น
• มี Space น้อยลงบ้างสลับกับ Space มากบ้าง
• เริ่มมี Scale อื่นๆที่เป็น Non-Diatonic เข้ามา
• เริ่มมีประโยคยากและซับซ้อนเข้ามาสลับ มีการใช้ Tensions และ Altered Tension ก็เริ่มมีบ้าง
• ใช้คู่เสียงที่มีระยะห่างและฟังยากมากขึ้น
• เพิ่มระดับของ Dynamics ขึ้นมากกว่า Chorus 1

Chorus ที่ 3

• มีการเปลี่ยน Ideas ใหม่ๆเข้ามา การพัฒนา Motifs มีอย่างเต็มที่ และมีการใช้ Formulas มากหรือน้อยแล้วแต่ความถนัดของผู้โซโล่
• ค่าของตัวโน้ตส่วนใหญ่เป็น Eight Notes และอาจมี Sixteen Notes แทรกเข้ามาบ้างแล้วแต่สไตล์ของเพลง
• มี Space น้อย
• Range กว้างมาก มีทั้งสูงมากและต่ำมาก
• มีการใช้ Scale ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น Altered Scale, Symmetric Scale, Upper Structure Triads เป็นต้น
• มีการใช้ Tension ในระดับสูงและอาจมี Outside Note ด้วย
• ใช้คู่เสียงที่หลากหลายและฟังยากมากกว่า หรือ พอๆกับ Chorus 2
• เพิ่มระดับของ Dynamics ขึ้นอีก
• อาจมีการเปลี่ยน Mood เพื่อ Break Momentum บ้าง
• อาจมีการ “Quote” ทำนอง หรือ Motif ของเพลงอื่นเข้ามาพัฒนาบ้าง

Chorus ที่ 4

• ความหนาแน่น ความแรง ความตื่นเต้นเร้าใจ และทุกๆอย่างอยู่ในระดับสูงสุด
• มีการใช้เทคนิคทั้ง 3 วิธีปนกัน โดยเฉพาะการใช้ Formulas และการพัฒนา Motifs
• Climax หรือ High Point ของโซโล่มักจะอยู่ใน Chorus นี้
• ช่วงท้ายของ Chorus จะค่อยๆลดความเครียดลงจนอยู่ในระดับพอๆกับ Chorus ที่ 1
• จบการโซโล่ด้วยประโยคหรือ Statement ที่เหมาะสม ชัดเจน และเข้าใจง่าย โดยผู้ที่โซโล่ต่อสามารถที่จะเชื่อม Idea นั้นเข้ากับ Idea ของเขาต่อได้อย่างสะดวก

*** สำหรับรายละเอียดให้อ่านจากเอกสารประกอบการสอนของผู้เขียน






 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2552
3 comments
Last Update : 1 มิถุนายน 2555 18:58:28 น.
Counter : 13675 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ
ขอบคุณที่ไปทักทายกัน
มีปัญหาเรื่อง blog ถามมาถ้ารู้จะช่วยบอกให้นะ

คืนนี้ขอให้นอนหลับฝันดีนะคะ

 

โดย: pantawan 8 ธันวาคม 2554 23:44:07 น.  

 

ขอบคุณมากครับ ผมชอบทุกบทความที่อาจาร์ยเขียนมากๆเลยครับ

 

โดย: Tronswing IP: 223.206.227.51 17 เมษายน 2555 21:58:05 น.  

 

ขอบคุญครับ มีประโยชน์มากๆในการศึกษาดนตรีJazz ครับ

 

โดย: ชาญวิทย์ IP: 1.47.197.40 23 ตุลาคม 2558 20:10:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


wwai9
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




สวัสดีครับ นี่คือ Blog ส่วนตัวของคุณ waiwai นะครับ
Friends' blogs
[Add wwai9's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.