“..การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ๒๕๓๗

 
มีนาคม 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 มีนาคม 2550
 

การศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยา

ยุทธภูมิสุริยาศน์อัมรินทร์ ๒๓๐๒ – ๒๓๑๐

การศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยา

หลักการที่สำคัญของการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์และปรากฏการณ์ทางสังคมของมนุษย์ โดยวิธีการทางมานุษยวิทยานั้น ในเริ่มต้น ผู้ศึกษาจะต้องฝึกการ ”ลด”( Remission ) ความคิดเห็น อุปทานและประสบการณ์จากสิ่งที่จดจำ ที่เรียกว่า อคติ ( Bias )ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอุปทานหรืออคติเหล่านี้เอง คือเมฆหมอกในปัญญาความรู้เป็นปัญหาที่สำคัญ ที่จะทำให้การมองภาพปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ผิดเพี้ยนหรือปราศจากความเข้าใจให้เหตุผลข้อเท็จจริง เหตุเพราะประสบการณ์และสิ่งที่เรา ”เคย” รับรู้และจดจำนั้น จะเข้าไปรบกวนและเข้าแทรกแซงในสิ่งที่เรากำลังจะเรียนรู้ ศึกษาและค้นหาข้อสังเคราะห์ใหม่ ๆ
วิธีการและเทคนิคทางมานุษยวิทยาที่ใช้ในการลดอคติใน อันดับแรก คือการอ่านข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณา( Ethnography )หรือที่เรียกว่า Reading Anthropology ในการศึกษาประวัติศาสตร์จะเรียกว่า Reading Historical การอ่านงานศึกษา งานนิพนธ์หรืองานค้นคว้าวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ( Ethnic Group ) และมีความแตกต่างทางเวลา (Times) เป็นเงื่อนไขหรือตามแปรที่สำคัญ ทำให้เกิดการอ่านที่กว้างขวาง หลากหลายและเต็มไปด้วยรสชาติของวิถีความเป็นมนุษย์ การอ่านทางมานุษยวิทยาที่ประสบผล จะต้องอ่านจากงานศึกษาภาคสนามของผู้วิจัย ผู้บันทึก หรือเอกสารที่บรรยายภาพของชนเผ่า กลุ่มสังคม กลุ่มหมู่บ้าน ที่ได้มาจากการศึกษาด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนาม ( Field Note ) จากเทคนิควิจัยภาคสนาม ( Field Works ) โดยตรง อย่างระมัดระวังและละเอียดถี่ถ้วนในพฤติกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ในสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังอ่านอยู่นั้น
รากฐานเบื้องต้นของความพยายามในการลดอคติในการมองปรากฎการณ์ของสังคมมนุษย์ด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยา ด้วยการอ่านจำนวนมากเรื่อง มากสังคม และมากเวลา ในหลาย ๆ แง่มุม ของวิถีชีวิตในกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ในประทศไทยและกลุ่มชนต่าง ๆ รอบโลก ผลประโยชน์โดยตรงของการอ่าน ก็คือ การเก็บสะสมองค์ความรู้ ( Knowledge ) ข้อมูล (Records) รูปแบบพฤติกรรม ความเหมือนและความแตกต่างกันของข้อมูลปรากฏการณ์ทางสังคมของมนุษย์หนึ่ง ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปเป็นใช้เป็นแม่แบบหรือกระจกแว่นมองลอดสู่การวิเคราะห์และสังเคราะห์ในลำดับต่อ ๆ ไป ยิ่งการเก็บสะสมสิ่งที่ผู้อื่นรู้และถ่ายทอดออกมามีมากขึ้นเท่าใด ความเข้าใจและองค์ความรู้ที่เข้มแข็งถูกต้อง ก็จะเติบโตขึ้นในจิตใจของผู้อ่านนั้นด้วยฉันนั้น
ในทางอ้อมการอ่านและศึกษาผลงานของผู้อื่นโดยสม่ำเสมอ เป็นดังการยอมรับในความคิดเห็น การรับรู้ในวิชาความรู้มากกว่าการแสดงออกหรือการใช้ความคิดเห็นของตนเป็นที่ตั้ง ฝึกให้เกิดความใจกว้างทางวิชาการและการยอมรับสิ่งที่แปลกแยกหรือแตกต่างไปจากความคิดเห็นของตน รวมกระทั่งสิ่งที่ตนเองเคยเชื่อและยึดมั่น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะการ อ่าน ( Reading ) ซึ่งเป็นเทคนิควิจัยทางมานุษยวิทยาที่สำคัญในขั้นต้น
การที่นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ ” แตกต่างกัน ” ทั้งแนวตั้ง ( ตามลำดับเวลาก่อนหลัง ) แนวนอน ( ตามกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มสังคมที่หลากหลาย )และแนวลึก ( พฤติกรรมและปรากฏการณ์เฉพาะในเรื่องต่าง ๆ ) อย่างละเอียดในแง่มุมหรือบริบทต่าง ๆ ที่บางครั้งเราจะเรียกบริบทหรือองค์ประกอบทางวัฒนธรรมเหล่านั้นว่า ระบบหรือสถาบัน เช่นระบบเครือญาติ ระบบเศรษฐกิจ สถาบันครอบครัว การปกครอง การสาธารณสุข ความเชื่อและศาสนา ฯลฯ สถาบันทั้งหมดเมื่อรวมกันจะถูกเรียกว่าระบบวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาจึงต้องศึกษาปรากฏการณ์เหล่านั้นด้วยการมองแบบ องค์ภาพรวม( Holistic Approach ) ให้ครบถ้วนทั้งระบบของกลุ่มเป้าหมายที่จะศึกษานั้น
หลายเวลาที่นักมานุษยวิทยาจำต้องก้าวล่วงข้ามเข้าไปในประวัติศาสตร์( History )ของกลุ่มคนหรือสังคมที่ให้ความสนใจอยู่อย่างบ่อยครั้ง การก้าวเข้าสู่สังคมและวัฒนธรรมในอดีตของมนุษย์ จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้เทคนิควิธีการในการเก็บข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น ต้องระมัดระวังและละเอียดละออมากขึ้นกว่าการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่หรือในภาวะปัจจุบัน (Real Times) เราเรียกการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาประเภทนี้ว่าการศึกษาชาติพันธุ์วรรณาเชิงประวัติศาสตร์ ( Ethnohistory ) หากเป็นการศึกษาในระดับสังคมเล็ก ๆ หรือหากในระดับภูมิภาค งานศึกษาประวัติศาสตร์ของนักมานุษยวิทยาจะถูกเรียกว่า การเปรียบเทียบเชิงควบคุมที่เป็นประวัติศาสตร์ ( Historical controlled comparison ) และ การวิจัยข้ามวัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์(Historical cross – cultural research ) ในระดับโลก
การย่างก้าวล่วงเข้าสู่การวิจัยทางมานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการเก็บของมูลแบบประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ( Oral Tradition หรือ Oral History) ของคนในชุมชนนั้น ๆ เป็นความสำคัญในอันดับแรก แต่ในบางครั้งและหลาย ๆ ครั้ง เรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ ย่างเวลาล่วงเข้าไปเนิ่นนานกว่าจะมีผู้คนที่หลงเหลือชีวิตเพียงพอที่จะมาเล่าขานหรือให้ข้อมูลได้ เช่น เรื่องราวของชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งแรกขึ้นไป หรือสังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยา เทคนิคการศึกษาที่สำคัญจึงวนกลับมาอยู่ที่การอ่านทางมานุษยวิทยา ( Reading Anthropology ) อีกครั้ง แต่ในการอ่านในคราวนี้จะยากลำบากขึ้นกว่าเดิม เพราะจะต้องอ่านให้มาก อ่านให้ครอบคลุม จะต้องพึงคำนึงในระหว่างการอ่านและการจดจำในทุกเอกสารหลักฐานไว้ว่า เนื้อหาใดนั้น สิ่งใดคือสิ่งที่น่าจะเป็นเหตุผล หรือเรียกว่า เป็น ตรรกศาสตร์ “ Logical “ ระหว่างกัน สิ่งใดคือ อคติ (Bias) การจดจำส่วนตัว การรำพัน การแสดงทรรศนะ หรือการแต่งเติมเรื่องราว การอ่านงานบันทึก พงศาวดาร เรื่องเล่า คำให้การ จดหมายเหตุ ข้อมูลการเดินทาง ฯลฯ ที่เป็นหลักฐานในอดีตต้องอ่านทั้งหมด หรือไม่ก็ต้องอ่านให้มากที่สุด เพื่อค้นหาข้อมูลและสิ่งที่คงซ่อนไว้ในเนื้อหาของ “ หลักฐาน ” ที่มักจะไม่ถูกนำมาใช้ในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาติ เช่นเรื่องราวของของชีวิตไพร่ ตลาดสด ถนน สะพาน ลำคลอง สภาพเศรษฐกิจ สภาพบ้านเมือง ศาสนาชาวบ้าน วัฒนธรรมข้าว วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ของชนชั้นล่าง ฯลฯ การค้นหาคำ เจตนา และสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในแต่ละตัวอักษรของนักมานุษยวิทยา ก็คือการค้นหาความแตกต่าง และความเหมือนของข้อมูลหลักฐานชั้นต้นต่าง ๆ เหล่านั้นมาเปรียบเทียบกันในแง่มุมและบริบทต่าง ๆ ของผู้คนในอดีตนั้น ๆ ผสมรวมกับความรู้และการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องสามารถอธิบายความเป็นไปได้ – ความน่าจะเป็น เทคโนโลยี ฯลฯ รวมไปถึงความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในการอธิบายมนุษย์ พฤติกรรมของมนุษย์ในระดับวัฒนธรรมหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน จิตวิทยา ศิลปะแรงบันดาลใจ ฯลฯ การศึกษามานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์จึงมีลักษณะเป็น สหสาขาวิชา ( Multi – Disciplinary ) ที่สามารถสร้างภาพจินตนาการ ( Imagine ) พรรณนา ( Description ) รวมทั้งการสร้างภาพจำลอง ( Model ) ภาพวาดลายเส้น ( Drawing ) ภาพเคลื่อนไหว ( Animation ) และอื่น ๆ ดังนั้นภาพประวัติศาสตร์ของนักมานุษยวิทยาจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “พงศาวดาร ” แต่พงศาวดารจะถูกนำมาใช้ประกอบเพียง ส่วนหนึ่งในการสร้างภาพปรากฏการณ์ของมนุษย์เท่านั้น ภาพที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ จึงเป็นภาพของการพรรณนาบ้านเรือน สังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของผู้คนในระดับล่างเสียมากกว่าการบรรยายภาพของพระราชพงศาวดาร หรือประวัติศาสตร์หลวงใด ๆ ที่มุ่งเน้นจุดศูนย์กลางเพียงจุดเดียวเป็นที่ตั้ง และเพราะการศึกษาหรือมุมมองทางมานุษยวิทยานี้เอง ที่ทำให้ภาพของประวัติศาสตร์ไทย กว้างขวางขึ้น หลากหลาย และดูมีชีวิตชีวาขึ้นมากกว่า และแตกต่างไปจากภาพของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมที่ยังคงมุ่งยึดติดอยู่กับหลักฐานประเภทพงศาวดาร และประวัติศาสตร์นิพนธ์ในอดีต โดยไม่เคยคิดที่จะประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน


มุมมองแบบนักมานุษยวิทยาในปัจจุบัน ยังดูเหมือนกับว่า เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์แบบ ” ชายขอบ ” จารีตการศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ในอดีต มุ่งศึกษาจากจุดศูนย์กลางที่มุ่งเน้นในการมองภาพของประวัติราชวงศ์ พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ สงคราม และความขัดแย้งระหว่างพระราชอาณาจักร จากพงศาวดารเป็นหลัก แต่การศึกษาทางมานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์ สนใจที่จะ ” มอง ” ประวัติศาสตร์ ในแง่มุมพื้นฐานของสังคมมนุษย์จากสังคมระดับล่าง ระดับของสังคมไพร่ วัฒนธรรมขนาดเล็ก และสังคมย่อย ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย ประกอบขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ใหญ่ ที่มีความหลากหลายและมากเรื่องราว แนวการศึกษามานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์นี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นผู้บุกเบิกร่วมกับอาจารย์ อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อาจารย์ทั้งสองท่านเป็นนักมานุษยวิทยากลุ่มแรก ๆ ที่หาญกล้าข้ามสีทันดรของการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีแบบจารีตเข้าไป หากเคยอ่านงานศึกษาของท่านอาจารย์ทั้งสอง จะเห็นมุมมองและการพรรณนาข้อมูลแบบ ชาติพันธุ์วรรณา อย่างสมบูรณ์แบบลงตัว ไม่ปฏิเสธของเดิมแต่มีความหลากหลายและลึกซึ้งมากขึ้น ในทุก ๆ ครั้ง
ส่วนในนักประวัติศาสตร์ไทยเอง อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอาจารย์สุเนตร ชุติรธานนท์ นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ก็ได้แสดงศักยภาพในการที่จะพยายามค้นหา “ บริบท ” แง่มุมมอง ทัศนะคติและโลกทัศน์อื่นๆ ผ่านมาจากหลักฐานต่างประเทศที่แตกต่างไปจากหลักฐานพงศาวดารเดิม ๆ ของประวัติศาสตร์ไทยแบบจารีต นอกจากนี้ ยังมีครูบาอาจารย์ และนักคิด นักศึกษาอีกมากมายที่กำลังเติบโตขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างภาพของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สมบูรณ์และมีสีสันอย่างที่สุดในอนาคต
ย้อนกลับมาสู่เรื่องของการมองภาพสงครามคราวยุทธภูมิสุริยาศน์อัมรินทร์ ๒๓๐๒ – ๒๓๑๐ ในมุมมองทางมานุษยวิทยา ข้าพเจ้าเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นลูกศิษย์ ที่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาวิจัยเทคนิควิธีการทางมานุษยวิทยา ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมแบบสังคมหมู่บ้านชนบท วัฒนธรรมข้าว และกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตจังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี ตาก นครราชสีมา เชียงราย เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ฯลฯ โดยมีท่านอาจารย์งามพิศ สัตย์สงวน หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ผู้เป็น ”คุณครู” เปิดมุมมองทางมานุษยวิทยา ให้ข้าพเจ้ารู้จักเปิดใจให้กว้างและเปิดโลกทัศน์ในการมอง ”คน” และปรากฏการณ์ของคนทางสังคมและวัฒนธรรม โดยให้ปราศจากอคติ( Bias )มากที่สุด ( เลยถูกจับนั่งอ่านเอกสารและหนังสือทางชาติพันธุ์วรรณามากมาย ) สอนให้มองคนจากระดับล่างสุดของสังคมขึ้นสู่การเงยหน้ามองขึ้นไปข้างบน เทคนิคการเข้าวิจัยท้องถิ่นในสังคมชาวนาและสังคมที่ปราศจากเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ที่ข้าพเจ้าต้องตักหาบน้ำอาบเองจากคูคลอง เกี่ยวข้าว ดำนา และเข้าร่วมกิจกรรมทางประเพณีและศาสนาอีกมากมาย ในหลาย ๆ ชนเผ่าพันธุ์ การจดจำ ความรู้สึกและข้อมูลเหล่านั้น ทำให้ข้าพเจ้าย้อนกลับไปในเรื่องของประวัติศาสตร์ ที่ข้าพเจ้าเองก็พึงชอบและท่องจำ( แบบแม่น ๆ ชัวร์ ) มาตั้งแต่เด็ก คำถามมากมายจึงเกิดขึ้น โลกทัศน์แบบผู้คนที่อยู่ในสังคมที่ไม่มีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้แบบอย่างในปัจจุบัน สังคมชาวนาและวัฒนธรรมข้าวที่ข้าพเจ้าเข้าศึกษามาเป็นอย่างมาก ได้เข้าเชื่อมต่อเข้าสู่จินตนาการสภาพของชาวบ้านในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาได้แบบเป็นภาษาท้องทุ่งเดียวกัน ความสนใจพื้นฐานส่วนตัวผสมกับการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสนใจและต้องการค้นหาคำตอบเรื่องราวของ ”มนุษย์” ในอดีต ที่มีอยู่อย่างมากมาย และยังเป็นที่น่ากังขานักในทางประวัติศาสตร์ของเรา
ประวัติศาสตร์ของสงคราม ๒๓๑๐ นี้ จึงเป็นเสมือนคำถามแรก ๆ ที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจศึกษาและค้นอ่านเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าต้องการค้นหาภาพที่แท้จริง ( Realistic )ของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้ง ๒๓๑๐ ในบริบทต่าง ๆ มายืนยันกับสิ่งที่ประวัติศาสตร์เคยบอกเล่าให้เรียนรู้ในอดีต การอ่านงานวิจัยประเภทชาติพันธุ์วรรณนา ( Ethnography) จำนวนมากที่มาจาก คำให้การ ฯ จดหมายเหตุ บันทึก ทั้งของไทย ต่างประเทศ พงศาวดารไทย พม่า ญวน กัมพูชา ฯลฯ รวมไปถึงงานศึกษาด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา น้ำ อากาศ อาหารและพืชพรรณ ฯลฯ งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรง ฯ งานศึกษาและบทความที่เกี่ยวข้องร่วมสมัย และล่าสุดก็คืองานของ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่องอยุธยา ยศยิ่งฟ้า : ว่าด้วยวิถีชีวิตของไพร่ฟ้าข้าไท สมัยกรุงศรีอยุธยา มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า และงานหนังสืออื่น ๆ ของค่ายศิลปวัฒนธรรมอีกมาก ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนที่มีพื้นฐานการศึกษามาจากวัฒนธรรมข้าว เช่นเดียวกับชาวอยุธยาในอดีต สามารถปะติดปะต่อภาพของสังคมและวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาในวันก่อนที่จะเสียกรุงได้แต่ไม่ทั้งหมด แต่ภาพและจินตนาการที่เห็นเหล่านั้น มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประวัติศาสตร์ที่คนไทย(รวมทั้งข้าพเจ้าเอง) รับรู้มาในอดีต ภาพที่ข้าพเจ้าเห็น กรุงศรีอยุธยาเวลานั้นรุ่งเรืองด้วยศาสนาที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รุ่งเรืองด้วยการค้า การสำเภา กองเรือค้าขาย ประชาชนไพร่ฟ้า มี ” สิทธิ ” ( กึ่ง ๆ ประชาธิปไตย )ในการค้าขายมากมายกว่าสมัยใด ๆ เท่าที่เคยปรากฏ รวมไปถึงหลักฐานการต่อสู้ของไพร่ทหารหาญในสงครามที่ชาวสยามสู้อย่างสุดชีวิตและตัวตายคาสนามรบไม่ต่ำกว่าเรือนหมื่นเรือนแสน แต่กลับถูกตราหน้าว่า ”อ่อนแอ” อย่างที่สุด จนทำให้กองทัพอังวะมีชัยชนะ และเข้าทำลายพระนครได้
พระเจ้าเอกทัศน์หรือพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ถูกตราบาปว่าเป็นต้นเหตุของการเสียกรุงศรีอยุธยา ทั้ง ๆ ที่พระองค์และเหล่าทหารหาญได้ทอดกายพลีชีวิตเพื่อปกป้องปฐพีอโยธยา “ เมืองที่มิอาจต่อรบได้ ” โดยไม่ได้หลบหนีหรือละทิ้งพระนคร ปรากฏในหลักฐานมากชิ้น แต่ผู้ประพันธ์ประวัติศาสตร์ในยุคต่อ ๆ มากลับใส่อคติและเรื่องราวที่น่าเจ็บปวดสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะกลับมาต่อปากต่อคำได้ มันดูไร้ความยุติธรรม.....ความรู้สึกส่วนตัวของข้าพเจ้า คิดว่า... มันไม่ถูกต้อง ประวัติศาสตร์ในเวลานี้ดูเหมือนจะไร้ค่า ไร้ประโยชน์และน่าเบื่อ ไม่มีข้อเตือนใจหรือข้อคิดจากเหตุและผลอย่างไรเลย คำสอนที่แฝงตัวอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยแบบเดิม ๆ มันยังฝังรากหยั่งลึกให้กับเยาวชน(รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเอง) ให้ดูถูกดูแคลนผู้แพ้ทั้ง ๆ ที่เขาก็ต่อสู้อย่างเลือดยิบตา และยังสอนให้คอยยกยอปอปั้นกับผู้ชนะเพียงเท่านั้น ทั้งยังสอนให้ละเลย ไม่สนใจกับบริบทอื่น ๆ ที่เป็นต้นของเหตุและเป็นผลสรุป ประวัติศาสตร์จึงยังคงทำให้มีการหน้าที่ ( Functional )แฝงที่ทำให้เยาวชนเป็นผู้ที่มักสรุปอะไรอย่างง่าย ๆ ขาดเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง บางครั้งข้าพเจ้าเคยลองเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบันหลาย ๆ เรื่อง เช่น การแข่งขันและความก้าวหน้าทางการกีฬาของประเทศไทย จะสำเร็จสมบูรณ์เพียงแค่ไหน เราท่านก็รู้กันดีอยู่ เมื่อทีมชาติไทยแพ้ ก็มักจะกล่าวหา ว่ากล่าวกันอยู่โดยตลอดเป็นนิจ ผู้ชนะแบบข้ามาคนเดียวกลับได้รับการยกย่องจนดูจะเกินเลย บาดแผลของผู้แพ้จึงดูจะเจ็บช้ำมากยิ่งนักเมื่อเหตุและผลของความพ่ายแพ้ถูกสรุปออกมาอย่างง่าย ๆ บ่อยครั้งว่า “ กระจอก” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอิทธิพลการใส่ร้ายป้ายสี ที่ยังไม่เคยถูกนำมาชำระให้เป็นเหตุเป็นผลกันเสียที ในสังคมที่ต้องการการพัฒนาทางด้านจิตใจอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน



ในยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ครั้งแรกในศึกอลองพญา ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ – ๒๓๐๓ ที่ข้าพเจ้าได้นำมาประกอบไว้ในเล่มนี้ ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นพัฒนาการของสงคราม ที่เปลี่ยนแปลง (Change) ไปตามสภาพของระดับของเทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบยุทธวิธี (Tactics) แตกต่างอย่างชัดเจนไปจากครั้งที่กรุงศรีอยุธยาต้องรับศึกใหญ่ในคราวพระมหาอุปราชาครั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ( ที่ข้าพเจ้ายัง”เชื่อ”อย่างที่สุดว่า ตั้งรับอยู่ตรงชานพระนครบริเวณทุ่งภูเขาทอง ) หลังจากสงครามในครั้งนั้นเกือบสองร้อยปี จารีตของสงครามรวมทั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างแทบที่จะเรียกได้ว่าคนละเรื่องหรือหนังคนละม้วน แต่มักจะถูกกล่าวนำมาเปรียบเทียบกันอยู่เสมอ ๆ ศึกอลองพญา เป็นศึกใหญ่ที่แสดงให้เห็นชัยชนะของการตั้งรับในยุทธศาสตร์ ( Strategy) ป้อมเกาะเมือง ขณะเดียวกัน ยุทธวิธีของอยุธยาก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก กองทัพย่อยได้กระจายออกไปตั้งรับดักกองทัพอังวะนอกพระนคร มีการเตรียมตัวตั้งรับโดยอาศัยป้อมปืนคูเมือง ขวากหล่มและกองทัพเรือ เป็นพิชัยสงครามที่สำคัญ .....แต่แปลกนักว่า ไม่ค่อยมีใครจะพูดถึงพัฒนาการของสงครามในครั้งนี้เลย ในต่อมากรุงศรีอยุธยา มีการปรับยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ในศึกครั้ง พ.ศ. ๒๓๑๐ อย่างชัดเจนปรากฏในหลักฐานต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการรบของทัพอังวะว่าน่าเกรงกลัวมากที่สุด เท่าที่สยามเคยรับศึกพม่ามาในอดีต โดยเฉพาะประสบการณ์ตรงของแม่ทัพนายกอง รวมทั้งพระเจ้ามังระในความพ่ายแพ้ครั้งศึกอลองพญา สงครามใหญ่ในคราว ๒๓๑๐ นี้ ข้าพเจ้าจึงมักจะเรียกว่า ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ เพื่อถวายสดุดีแด่วีรกรรมของบูรพกษัตริย์อยุธยาบรรพบุรุษของเรา ที่สวรรคตคาสนามรบโดยมิได้ถอยหนี เป็นพระองค์ที่สองในหลักฐานประวัติศาสตร์
ในส่วนของความอ่อนแอในราชสำนัก ( ซึ่งข้าพเจ้ามองเห็นเป็นเพียงคนส่วนน้อย ของเงื่อนไขการสงคราม ) หลายครั้งที่มีงานศึกษาในยุคปัจจุบัน ได้อัตถาธิบายความอ่อนแอของราชสำนักและการการแก่งแย่ง การชิงพระราชสมบัติมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ( ก่อนการเสียกรุงถึง ๓๕ ปี ) ซึ่งมีผลให้อยุธยาเสื่อมโทรมและอ่อนแอลงตามเวลา โดยเฉพาะความอ่อนแอของระบบไพร่ในการควบคุมคน ในทัศนะของข้าพเจ้า อำนาจถูกกระจายตัวออกมาในรูปแบบของการแบ่งขั้วอำนาจระหว่างกันของกลุ่มผู้ปกครอง การเติบโตของบ้านเมืองอยุธยาที่เจริญรุ่งเรืองอย่างสุดขีดในช่วงเวลานี้ ยังผลให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาในยามนี้ไม่ได้มีสิทธิขาดขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์อย่างเช่นเดิมอีกแล้ว พระองค์ก็มุ่งที่จะทำการค้าขายจนกระทั่งบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ร่องรอยหลักฐานในส่วนนี้ ในบางครั้งครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่านยังให้ข้อคิดเห็นว่า คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระเจ้ามังระอิจฉา จนต้องการ ”ปล้น” ความมั่งคั่งนั้นจากแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ ด้วยการยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
หลาย ๆครั้งเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ในยุคสมัยต่าง ๆ หลักฐานมาตรฐานหลักที่ผู้นิพนธ์ทุกท่านมักกล่าวอ้างถึงคือ เพลงยาวรบพม่า ของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท หลายครั้งที่ผู้นิพนธ์มักสรุปต่อ ๆ กันมาว่าพระองค์ทรงตำหนิและบริภาษ พระเจ้าเอกทัศน์โดยตรง แต่เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านและได้ยกมาให้ท่าน ๆ ได้อ่านและมองร่วมกันในที่นี้แล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ว่าใครเฉพาะเจาะจง คำว่า” จะอาเพทกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ “ หมายความถึงสถาบันหรือกลุ่มผู้ปกครองโดยรวมมากกว่าตัวบุคคล ในทัศนะคติที่ตัดพ้อต่อว่าพวกข้าราชการผู้ใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่ เนื้อความก็มิได้กล่าวถึงสภาพของสงครามและการต่อสู้แต่อย่างใด อคติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในยุครัตนโกสินทร์ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องอ่านและพยายามทำความเข้าใจ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงต้องทำให้กษัตริย์ที่ต่อรบ สู้กับพม่าอย่างชัดเจนในหลักฐานมากมาย กลายมาเป็น แพะ ( แบะ ๆ ) ทั้ง ๆ ที่เรื่องส่วนตัวกับเรื่องสภาพของสงคราม ดูจะเป็นคนละเรื่องคนละตอน แต่เมื่ออ่านมาพบกับงานเขียนของอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์แล้ว ก็ถึงกับร้องอ๋อที่บางอ้อขึ้นมาเลยทันที
“ ..... ทั้งนี้ไม่น่าประหลาดใดอันใด ชนชั้นนำในยุคนั้นเพิ่งผ่านความตระหนกอย่างใหญ่หลวงมาจากความพินาศของอยุธยา “เมืองอันไม่อาจต่อรบได้” จึงเป็นยุคสมัยที่ชนชั้นนำหันกลับไปมองอดีตเพื่อสำรวจตนเอง มีการวิจารณ์ตนเองที่เราไม่ค่อยได้พบในวรรณคดีไทยบ่อยนัก เช่น กลอนเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่หนึ่ง วิเคราะห์สาเหตุของความล่มจมของอยุธยา ความใฝ่ฝันที่จะจำลองอุดมคติของอดีตกลับมาใหม่ในนิราศนรินทร์ ฯลฯ เป็นต้น พระราชพงศาวดารที่ถูก ” ชำระ” ในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน ความรังเกียจ ความชัง ความรัก ความภูมิใจ ความอัปยศ และอคติของชนชั้นในยุคนี้เป็นอย่างมาก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ดีของประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ซึ่งได้บันทึกสิ่งที่สถิตอยู่ในความคิดและความเชื่อของคนชั้นนำในยุคนั้นอันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อย
ปรากฏชัดในหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไป เช่น ตราตั้ง หมายรับสั่ง หรือจดหมายเหตุ......
ในขณะเดียวกัน การศึกษาเช่นนี้ก็จะช่วยให้เราใช้เป็นหนทางในการวิเคราะห์พระราชพงศาวดารอยุธยาในฐานะที่เป็นหลักฐานชั้นรองด้วยเพราะหากเราแยกอิทธิพลของการชำระในสมัยกรุงธนบุรี – รัตนโกสินทร์ออกจากพระราชพงศาวดารได้ หรือมีหลักอย่างกว้าง ๆ ในการแยกอิทธิพลดังกล่าว เราก็จะสามารถใช้พระราชพงศาวดารในฐานะหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ...”


“...ในปัจจุบัน นักศึกษาประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งสำนึกถึงข้อบกพร่องของการนำเอาปัจจุบันไปปะปนกับอดีต แต่นักศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้จะได้ ”ลูกค้า” สักเพียงใดในสังคมที่เคยชินกับการ ”ใช้” อดีตเพื่อปัจจุบันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อดีตที่ไม่มีสีสัน ไม่มีความสง่างาม ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของใคร ไม่สนับสนุนสถาบันอะไรเป็นพิเศษ แต่อาจจะใกล้เคียงความจริงกว่า จะมีคุณค่าให้ผู้ใดมองเห็นได้ในสังคมชนิดนี้หรือ
และแม้จะพยายามสักเพียงใด งานของนักประวัติศาสตร์ที่จะเสนอความจริงอันแห้งแล้งนี้คือความล้มเหลวอยู่ส่วนหนึ่งเสมอ เราตัดตัวเองออกจาก”ปัจจุบัน” ให้เด็ดขาดไม่ได้ และส่วนนี้เองที่บังคับให้เราสนทนากับอดีตโดยไม่รู้ตัว ตราบเท่าที่เราเป็นมนุษย์ ข้อจำกัดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับไว้ และจนสุดความสามารถที่มนุษย์เล็ก ๆ อย่างเราจะพึงทำได้คือก้าวให้พ้นข้อจำกัดนี้ตลอดไป แม้จะต้องล้มเหลวอีก ในส่วนที่เป็นความล้มเหลวของนักประวัติศาสตร์ตรงนี้เองที่ทำให้การสนทนากับอดีตไม่มีวันสิ้นสุด และในหลักฐานชั้นรองทั้งหลายย่อมมีความเป็นหลักฐานชั้นต้น หรือที่มาร์ค บลอค เรียกว่า หลักฐานที่ไม่ได้ตั้งใจอยู่ด้วยเสมอ...”
( อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา )
เรื่องยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์นี้ คงจะต้องพูดกันอีกมากในวงสัมมนาหรือพูดคุยในที่ต่าง ๆ ซึ่งก็อยากให้ท่าน”ผู้รู้”ทุกท่านช่วยแสดงความคิดเห็นและสั่งสอนแก่ข้าพเจ้า ในมุมมองและเหตุผลที่หลากหลายมากกว่านี้ หากเมื่อท่านได้เข้าร่วมสัมมนาแล้วรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์ ณ ที่ตรงนี้ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบเดิม ๆ อีกต่อไป เพราะข้าพเจ้า อาศัยแนวทางการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์ ที่มุ่งพรรณนาสภาพของบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยา ควบคู่ไปกับการค้นหาความถูกต้อง เป็นธรรม และภาพที่ชัดเจนของปรากฏการณ์ในครั้งนั้น ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะดูเกินเลย ล่องลอย ไร้หลักฐาน( เฉพาะพงศาวดาร )ชัดเจน มีแต่การอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบ เทียบเคียงความเหมือนความแตกต่าง และไม่ว่าจะด้วยสิ่งใดก็ตาม ข้าพเจ้ายังคง ”เชื่อ” อยู่เสมอว่า การศึกษาเรื่องราวของผู้คนในอดีตที่ปราศจาก “ อคติ” เท่านั้น จึงจะนำพาเราไปสู่ ภาพของประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต มีสีสัน มีจินตนาการบนพื้นฐานของเหตุและผล และที่สำคัญประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวได้นี้จะมีภาระหน้าที่ที่สำคัญให้กับเยาวชนและสังคมไทยในอนาคต
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยเซ็นจอห์น ที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้ใช้วิชามานุษยวิทยาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ สมดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระดำรัสไว้ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ความว่า
“..การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...”




 

Create Date : 22 มีนาคม 2550
19 comments
Last Update : 23 มีนาคม 2550 7:46:08 น.
Counter : 8712 Pageviews.

 
 
 
 
ภาพประกอบได้ใจมากค่ะ
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:11:43:14 น.  

 
 
 
โห ความรู้เยอะแยะเลยอ่ะ
 
 

โดย: umi_chan (umi_chan_2 ) วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:17:36:19 น.  

 
 
 
ลงชื่อไว้ก่อนนะคะ แล้วจะมาตามอ่าน รูปด้านบนขวามือ น่ารักมาก ๆ ค่ะ อิอิ
 
 

โดย: biebie999 วันที่: 26 เมษายน 2550 เวลา:10:38:40 น.  

 
 
 
อ่านตรงนี้เหมือนกับฟังเลกเชอร์ครับ ง่วงหน่อย

เมื่อวานผมอ่านบล็อก The last day of Ayothaya มาก่อน
เพิ่งมาดูบล็อกนี้วันนี้ แล้วผมก็ได้กล้าวิจารณ์ไว้ว่า พระราชพงศาวดารสมัยหลังๆ ไม่อนุญาตให้พวกเราได้รับทราบความแข็งแรงของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เลย เพิ่งได้รู้เรื่องนี้ก็ตรงนี้แหละ เคยทราบแต่ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์อมโรคและอ่อนแอ หรือมีแต่เรื่องเชิงลบอื่นๆ

มาอ่านตรงนี้คุณวรณัยได้ยกตัวอย่างถึง ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ ขึ้นมาอีกครั้ง หากเป็นการศึกษาโดยปราศจากอคติ และพอมีหลักฐานน่าเชื่อถือ ก็น่าจะเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ของการเรียนรู้ รวมถึงพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เอาใจช่วยครับ
 
 

โดย: NickyNick วันที่: 26 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:53:51 น.  

 
 
 
มาเยี่ยมบล๊อก... และทักทายเป็นครั้งแรกครับ... ความรู้คุณวรณัยแน่นปึ๊กมากๆ เลยครับ
 
 

โดย: นอกราชการ วันที่: 2 สิงหาคม 2550 เวลา:8:30:34 น.  

 
 
 
อยากจะฝากคุณวรนัยให้ลองศึกษาประวัติของพระเจ้าอลองพญาเพิ่มเติมด้วย เพราะเคยทราบมาว่า พระเจ้าอลองพญานั้นเดิมเป็นโจรป่าที่สามารถตีเมืองหนึ่งของพม่าได้ แล้วจึงคิดการล้มล้างราชบัลลังก์พม่าแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงอังวะ ฉะนั้นยุทธวิธีของพม่าในสมัยราชวงศ์อลองพญาจึงเป็นรูปแบบของสงครามกองโจร ซึ่งตามจากการรบในรูปแบบในสมัยเสียกรุงครั้งแรก ซึ่งน่าจะอธิบายถึงการที่พม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้ชัดเจนขึ้นตามที่คุณวรนัยพยายามนำเสนอ
 
 

โดย: V_Mee IP: 58.8.156.205 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2550 เวลา:8:25:51 น.  

 
 
 
ขอเรียนเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่ง คทิ การศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เท่าที่ติดตามมาหลายๆ ท่านมักจะหยิบยกพระราชกรณียกิจเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์กัน แต่ในความเห็นส่วนตัวผมแล้วการศึกษาพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ ๖ นั้น ต้องมองเหมือนจิ๊กซอว์ เปรียบพระราชกรณียกิจแต่ละเรื่องเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง เมื่อจะศึกษาพระราชกรณียกิจโดยรวมต้องนำจิ๊กซอว์ทั้งหมดมาประกอบกันจึงจะเห็นแนวพระราชดำริในภาพรวมที่ชัดเจน วิธีการนี้ควรจะนำไปปรับใช้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ในกรณีอื่นๆ ด้วย
 
 

โดย: V_Mee IP: 58.8.156.205 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2550 เวลา:8:29:49 น.  

 
 
 
ขอบคุณที่เยี่ยมเยียน
และมีข้อสันนิษฐาน
เกี่ยวกับขอมวิทยา
ในกรุงสุโขทัย
ยิ่งทำให้ประว้ติศาสตร์
ตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป
 
 

โดย: Mr.Chanpanakrit IP: 203.156.35.237 วันที่: 20 เมษายน 2551 เวลา:1:05:22 น.  

 
 
 
ขอออกความเห็นสักนิด ในเรื่องการเรียนประว้ติศาสตร์ ของนักเรียน เด็กนักเรียนไทย
ในปัจจุบันการเรียนประว้ติศาสตร์อาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย อีกทั้งยังมีความเข้าใจที่ยาก
ดังนั้นจึ่งอยากเสนอให้ ช่วยกันปรับปรุง ให้มีเนื้อหาและสาระ น่าอ่าน น่าเข้าใจ มากกว่านี้
หรืออาจมีวิธีที่ดีกว่า เช่นการนำเสนอประว้ติศาสตร์ ในรูปแบบภาพยนต์ หรือการ์ตูน Digital
เพื่อให้เด็กๆ ได้มีความเข้าใจในขั้นต้น และอยากติดตามสาระในเรื่องที่แท้จริง ........................
การนำเสนอประว้ติศาสตร์ ในรุ)แบบภาพยนต์ หรือการ์ตูน Digital อาจเป็นรูปแบบรที่เด็กๆชอบ
โดยมีความเห็นว่าการนำเสนอเช่นนี้อาจทำให้เกิดการรับรู้และซึมซับได้ง่าย จะจดจำได้ง่ายกว่าการท่องจำ
เป็นวิธีการที่ไม่เบื่อหน่าย ถ้าเมื่อนึกถึงตัวเราหากให้เรามานั่งอ่านท่องจำอย่างจำเจ คงอยากจะทิ้ง
ไม่อยากอ่าน แต่หากให้เรามานั่งดูหนัง ดูการ์ตูน จะดูได้ทั้งวันครับ...................................................
ช่วยกันผลักดัน ช่วยกันดำรงค์เพื่อให้คงอยู่ ..... ตลอดไป.............................................................
 
 

โดย: Khun QQ IP: 124.120.32.134 วันที่: 4 กันยายน 2551 เวลา:12:37:50 น.  

 
 
 
ดี
 
 

โดย: แดก IP: 118.172.218.118 วันที่: 12 มีนาคม 2552 เวลา:9:50:29 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ
 
 

โดย: c (chaiwatmsu ) วันที่: 18 เมษายน 2552 เวลา:3:44:46 น.  

 
 
 
ปราสาทหนองตาเป่ลงเป็นธรรมศาลา 1 ในเส้นทางราชมรรคาระหว่าง พนมรุ้ง และพิมาย ของกษัตริย์ขอม ซึ่งจะมีปราสาทรูปแบบลักษณะเดียวกันอยู่เป็นระยะ จำนวนเท่าไรไม่แน่ใจ ตามที่เคยค้นพบเอกสารเมื่อ20 กว่าปีที่แล้ว มีประมาณ 7 ที่ เขตรอำเภอ นางรอง ชำนิ ลำปลายมาศ หนองหงษ์ จังหวัด บุรีรัมย์ อำเภอห้วยแถลง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
 
 

โดย: หลานเจ้าคุณปู่ (romburee ) วันที่: 17 กันยายน 2552 เวลา:9:27:14 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากครับที่แนะนำข้อมูลในการค้นหา ประวัติย์ศาสน์เรื่องนี้หลังจากที่เคยอ่านตอนนั้นน่าจะมาหนังสือพิมษ์ เป็นบทความย่อๆ และหลังจากนั้นไม่เคยเห็นอีกเลย (ตัวผมนะครับ )
 
 

โดย: หลานเจ้าคุณปู่ (romburee ) วันที่: 18 กันยายน 2552 เวลา:9:26:48 น.  

 
 
 
รบกวนสอบถามอีกอย่างครับ ธรรมศาลา หรือบ้านมีไฟ ที่บ้านหนองตาเปล่ง เมื่อ ปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นปีที่ชาวบ้านในระแวกนั้นเข้าไปขุดใต้พื้นปราสาท ปรากฏว่าได้เทวรูปขึ้นมาหลายองค์ที่ผมเห็กับตามีอยู่องค์หนึ่งครับ เป็นเทวรูปสร้างดว้ยหินทราย สูงประมาณ 80 ซ.ม. หน้าตักกว้างประมาณ 50 ซ.ม (เป็นเทวรูปนั่งนะครับแต่นั่งแบบไหนจำไม่ได้) จึงอยากทราบว่าะรรมศาลาแห่งนี้ทำไมมีเทวรูปฝังอยู่ใต้พื้นด้วยครับ พอจะค้นข้อมูลได้จากไหนครับ
 
 

โดย: หลานเจ้าคุณปู่ (romburee ) วันที่: 18 กันยายน 2552 เวลา:16:51:57 น.  

 
 
 
ขออณุญาติ นำรูปไปใช้ประกอบบทความได้มั้ยครับผม
 
 

โดย: kongpair IP: 124.120.52.244 วันที่: 26 กันยายน 2552 เวลา:12:31:06 น.  

 
 
 
เป็นข้อคิดเห็นที่มีคุณค่ามากค่ะ อยากนำไปให้นักเรียนอ่าน ศึกษา เพื่อจุดประกายความคิดของเขาในการศึกษาประวัติศาสตร์หวังว่าจะกรุณาอนุญาต ทั้งรูปประกอบด้วย สวยงามมีชีวิตมาก
ขอบคุณ
 
 

โดย: suma IP: 124.121.60.158 วันที่: 10 ตุลาคม 2552 เวลา:21:37:00 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากเลยค่ะสำหรับข้อมูล ตอนนี้กำลังหาข้อมูลเรื่องของการเขียนชาติพันธุ์จากภาพถ่ายอยู่(เรียนเกี่ยวกับภาพถ่าย) เลยพบว่ามีข้อมูลทางมานุษยวิทยาน่าสนใจเยอะมากมายทีเดียว วันก่อนไปอ่านใน blogger เกี่ยวกับภาพลายเส้นจากTemples and Elephants แล้วชอบมากเลย
 
 

โดย: kakao IP: 125.26.11.134 วันที่: 11 สิงหาคม 2553 เวลา:10:48:29 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
กำลังทำการบ้านประเภทนี้อยู่พอดี
 
 

โดย: โฮเนี้ยว>O< IP: 203.155.232.238 วันที่: 20 กันยายน 2553 เวลา:19:18:10 น.  

 
 
 
ทุกความคิดเห็นมีประโยชน์มากครับ
ปล.ผมรักประวัติศาสตร์ชาติไทยมากครับ
 
 

โดย: JUDIA IP: 58.11.102.134 วันที่: 11 มกราคม 2554 เวลา:12:41:22 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

วรณัย
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เวลาผ่านไป หัวใจยังคงเดิม
[Add วรณัย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com