“..การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ๒๕๓๗

 
มีนาคม 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 มีนาคม 2550
 

เรื่องจีน ๆ 9

เรื่องเล่าในเทศกาลตรุษจีน >
ในประเพณี วัฒนธรรมของชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ทุกคนคงรู้จักกับ งานเทศกาลตรุษจีน ......
เทศกาลตรุษจีน เป็นเทศกาลที่ชาวจีนถือว่ามีความสำคัญที่สุด ในแต่ละยุคราชวงศ์ที่ผ่านมา เทศกาลตรุษจีนนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น เวลาแห่งของการเริ่มต้น ( หยวนเช็ง)
วันแรกฃ ( หยวนริ) วันแรกของเดือนแรก ( หยวนเฉ่า) วันเริ่มต้นของเดือน ( หยวนเซ่ง) และ อรุณแรกของปี ( หยวนต่าน)
ประเทศจีน ในปัจจุบันเรียกเทศกาลตรุษจีนนี้ว่า เทศกาลแห่งฤดูใบไม้ผลิ (ชุนยี่)
เทศกาลตรุษจีน มีความหมายถึงเวลาของการรวมหมู่ญาติพี่น้องและการทบทวนจิตวิญญาณ ในอดีตนั้นสามัญชนทั่วไปจะใช้ชีวิติย่างสมถะและอดออม แต่เมื่อเทศกาลนี้มาเยือน ประชาชนจะเฉลิมฉลองด้วยอาหารชั้นเลิศ
มีเรื่องเล่า เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนมากมาย วันนี้ เราจะเอาเรื่องราวที่เป็นต้นรากของความเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ของวันตรุษจีนมาเล่าสู่กันฟัง ....เรื่องแรก คือเรื่องการใช้สีแดงของชาวจีน ในวันตรุษจีน .....
เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เชื่อกันว่าโลกเต็มไปด้วยงูพิษและสัตว์ดุร้ายที่นิยมบริโภคมนุษย์เป็นอาหารหลัก มีสัตว์ประหลาดตนหนึ่งชื่อว่า เหนียน มันจะคอยออกมาจับมนุษย์กินก่อนวันตรุษจีน ประชาชนมากมายถึงเหนียนจับไปกิน ตรุษจีนมีแต่ความเศร้างโศก ผู้คนไม่อยากและไม่อาจจะจัดงานเฉลิมฉลอง จนเทพเจ้าต้องจำแลงร่างเป็นผู้เฒ่า ลงมาเพื่อกำจัดสัตว์ร้ายในวันสุกดิบ ซึ่งเป็นวันที่เหนียนจะอาละวาด ผู้เฒ่าได้ขอร้องให้เหนียนยุติการทำร้ายมนุษย์เสียแต่เหนียนก็ดื้อดึง ทั้งยังแสดงความอวดเก่งด้วยการกินงูพิษและสัตว์ดุร้ายในป่ามากมาย และหันมาเล่นงานผู้เฒ่าหมายจะกลืนกิน
ผู้เฒ่าที่เป็นเทพพยดาแปลงลงมาจึงได้ถอดเสื้อผ้าออก เผยให้เห็นชุดด้านในที่มีสีแดงสด
เหนียนเกลียดและกลัวสีแดง จึงยอมศิโรราบต่อผู้เฒ่าโดยดี
ชาวจีนเชื่อว่า เหนียนคือตัวแทนของความอัปมงคล ความชั่วร้าย การแปะกระดาษสีแดงไว้ที่หน้าประตูบ้านก่อนถึงวันตรุษ และมีการเขียนถ้อยคำมงคลบนกระดาษ เป็นการขับไล่ความชั่วร้ายให้พ้นไปจากบ้านเรือน
ความเชื่อในวันตรุษจีนเรื่องต่อมา จะเป็นเรื่องของคำกลอนและคำมงคลที่เขียนในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน....
เรื่องเล่าของชาวจีนเล่าว่า นานมาแล้ว ในแถบทะเลตะวันออกของจีน มีหุบเขาลูกหนึ่งที่ชื่อว่า หุบเขาแห่งแดนท้อ ตั้งตระหง่านอยู่ในมหาสมุทร บนเขานั้นเต็มไปด้วยท้อยักษ์ขึ้นดกเต็มไปหมด ท้อแต่ละต้นมีไก่แจ้ตัวใหญ่เกาะอยู่บนยอด พอถึงยามเช้าไก่แจ้เหล่านั้นก็จะเริ่มขัน พวกไก่ตามบ้านก็จะเริ่มขันตาม
ครั้งหนึ่งมีภูตผีปีศาจ ที่มีอิทธิฤทธิ์แรงกล้ามากมาย ได้ลักลอบแอบเข้ามากัดกินต้นท้อ เง็กเซียนฮ่องเต้ จักรพรรดิแห้งสรวงสวรรค์จึงมีบัญชาให้ขุนพลสวรรค์เซ็นตู๋ และยู่หลี่ ลงมากำหราบปราบมาร ภูติผีถูกทำลายโดยถูกโยนให้เสือกิน จนหวั่นหวาดไม่กล้าเข้ามากัดกินต้นท้ออีก
สองขุนพลสวรรค์จึงนั่งเฝ้าต้นท้อยักษ์อยู่ทั้งในยามกลางวันและกลางคืน
ชาวจีนเชื่อว่า ขุนพลสวรรค์เซ็นตู๋และยู่หลี่ คือตัวแทนของสวรรค์ในการควบคุมและปกป้องรักษาให้พ้จากพวกภูตผีปีศาจ จึงมักนิยมสลักรูปสองขุนพลบนไม้ท้อ วางไว้หน้าบ้าน 30 วันแรกของปี มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว แต่ต่อมาความนิยมในการแกะสลักรูปบุคคลได้เปลี่ยนมาเป็นการเขียนอักษรมงคลบนไม้ท้อแทน คำมงคลของตรุษจีน จึงมีลักษณะเป็นคำกลอน เขียนโดยจักรพรรดิเม่งชาง แห่งราชวงศ์ซูเป็นครั้งแรก มีถ้อยคำว่า “ปีใหม่นำมาซึ่งสายธารแห่งโชคลาภ ส่วนฤดูกาลอันเป็นศรีนี้มีชื่อว่าฤดูใบไม่ผลิมิรู้หยุดสะพรั่ง”

เรื่องเทศกาลตรุษจีนต่อมาที่อยากจะเล่าให้กับท่านผู้ฟัง คือเรื่องของทวารบาล...เทพผู้ปกปักษ์รักษาให้บ้านเรือนพ้นจากความชั่วร้าย
ประเพณีการเขียนรูปเทพเจ้าไว้ที่ประตูเพื่อคุ้มครองเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น ส่วนการที่แม่ทัพฉินซู่เปา และแม่ทัพอวี๋ไฉ่ จิงเต๋อ ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพนายกองของจักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่น กลายเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าที่คุ้มครองป้องภัยให้มนุษย์นั้น เริ่มตันตั้งแต่สมัยพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ ตามตำนานเรื่องราวอันพิสดารที่เล่านี้เป็นเรื่องสนุก ซับซ้อนและมีเงื่อนงำ
เรื่องในสมัยราชวงศ์ถังมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพญามังกรเล่งอ๋อง ผู้ปกครองแม่น้ำจิง มีหน้าที่ให้ฝนแก่ชาวโลก ได้รับข่าวว่า บนเมืองมนุษย์มีหมอดูผู้ที่มีความสามารถ กำลังสอนให้ชาวบ้านรู้จักวิธีการจับปลาให้ได้ผลเป็นจำนวนมาก พญามังกรจึงคิดลองดีด้วยการแปลงร่างเป็นมนุษย์ขึ้นมาท้าทายหมอดูผู้นั้น ให้หยุดการทำนายและสอนชาวบ้านจับปลาในแม่น้ำของตน พญามังกรให้หมอดูทำนายว่า เมื่อใดฝนจึงจะตก หากทำนายไม่ถูกต้อง ต้องเลิกเป็นหมอดู หมอดูผู้วิเศษทำนายว่าฝนจะตกในบ่ายของวันรุ่งขึ้นและจะตกอย่างหนัก พญามังกรรู้สึกฮึกเหิม เพราะตนเป็นผู้กำหนดการตกของฝนในแถบนี้ และตั้งใจว่าจะทำให้การทำนายของหมอดูผิดพลาดให้จงได้
เมื่อกลับมาที่วังบาดาล พญามังกรก็ได้รับราชโองการจากจักรพรรดิหยก ให้ทำฝนตกหนักในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้น พญามังกรไม่ทำตามราชโองการ กลับไปก่อฝนในช่วงเวลาอื่นทำให้ฝนตกมากเกินความจำเป็นเพราะเกิดขึ้นไปซ้อนกับพญามังกรอื่น ๆ เกิดอุทกภัย ราษฎรเดือดร้อน ล้มตายเป็นจำนวนมาก
พญามังกรกลับมาที่หมอดูเพื่อจะเอาชนะในการที่ฝนไม่ได้ตกตามเวลาที่ทำนายไว้ หมอดูผู้เป็นเทพเจ้าจำแลงจึงได้แจ้งแก่พญามังกรเล่งอ๋องว่า การเอาชนะในครั้งนี้ ท่านได้ใช้ชีวิตของท่านเป็นเดิมพัน เพราะจักรพรรดิหยกได้มีรับสั่งให้ไหว่ฮี ซึ่งในภาคมนุษย์คือเอกอัครเสนาบดีของจักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่น แต่ในภาคสวรรค์เขาคือเทพเพชญฆาตผู้ที่จะมาเอาชีวิตของพญามังกรที่ขัดพระราชโองการ ในเวลาบ่ายสามโมงของวันรุ่งขึ้น
หมอดูได้แนะนำให้เล่งอ๋องไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่น เพื่อทูลขอให้ทรงช่วย ก็อาจจะพ้นเคราะห์กรรมจากความอวดดีในครั้งนี้ได้ พญามังกรจึงรีบไปเข้าเฝ้าเพื่อขอความช่วยเหลือในความฝันทันที
จักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่น พยายามให้ความช่วยเหลือพญามังกรเล่งอ๋อง โดยชักชวนให้เอกอัครเสนาบดีไหว่ฮีในภาคมนุษย์เล่นหมากรุกเป็นเพื่อนในช่วงเวลาสำคัญ เวลาบ่ายสามโมงไหว่ฮีเกิดเผลองีบหลับไปเล็ก ๆ ในขณะที่เข้าภวังค์ชั่วประเดี๋ยวเดียว แต่ก็มีเวลาเพียงพอในอีกภพหนึ่งที่ไหว่ฮีคือเพชญฆาตสวรรค์ ขณะลงมือไหว่ฮีก็ละเมอขึ้นว่า “ ซัว” อันหมายถึงการฆ่า และก็สะดุ้งตื่นขึ้นเล่นหมากรุกต่อไป จักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่น จึงรับสั่งถามไหว่ฮีว่า ตอนม่อยหลับไปนั้นละเมอว่าอย่างไร ไหว่ฮีเล่าความให้ฟัง พระองค์ก็รู้แน่แล้วว่า พญามังกรเล่งอ๋องได้ถูกไหว่ฮีประหารชีวิตเสียแล้ว
ฝ่ายวิญญาณของพญามังกร ผู้เครียดแค้นจักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่น จึงได้คอยมาป้วนเปี้ยนรังควานพระองค์อยู่ในวังหลวงทุกเมื่อชั่วคืน ทำให้ทรงพักผ่อนไม่เพียงพอ ในเวลานั้นมีทหารเอกคู่พระทัยสองคนคือแม่ทัพฉินซู่เปา และแม่ทัพอวี๋ไฉ่ จิงเต๋อ ผู้ถวายความจงรักภักดีรับอาสาเฝ้าพระทวารห้องบรรทมมิให้วิญญาณพญามังกรเล่งอ๋องมารบกวนได้ จักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่นจึงพระบรรทมได้อย่างสงบสุขเป็นครั้งแรก แต่นานวันเข้า ขุนทหารทั้งสองก็กลับจะเจ็บป่วยเสียเอง เพราะต้องยืนเฝ้าทั้งกลางวันและกลางคืน มิได้หลับนอน จักรพรรดิหลี่ซื่อหมิ่นจึงแก้ปัญหาด้วยการหาช่างฝีมือมาเขียนภาพฉินซู่เปา และอวี๋ไฉ่ จิงเต๋อ ที่บานประตูทวารห้องบรรทมบานละคน ให้มีขนาดใหญ่เท่าตัวจริง และแต่งกาย ถืออาวุธยืนหน้าตาถมึงตึง ทำเป็นรูปเสมือนเวลาที่ทั้งสองมาเข้าเฝ้าถวายอารักขา ซึ่งก็ได้ผล วิญญาณอาฆาตของพญามังกร ก็มิได้มารบกวนอีกเลย สัญลักษณ์ของแม่ทัพทั้งสองจึงกลายมาเป็นเทพเจ้าที่เป็นที่นิยมของสามัญชนทั่วไป
ยังมีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับทวารบาล
หากท่านสังเกตบานประตูหน้าโบสถ์วัดบวรนิเวศ ด้านตรงกันข้ามกับโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัยนั้น มีทวารบาลจีนแท้ขนาดใหญ่ แต่งตัวถืออาวุธแบบจีนโบราณ เป็นภาพที่แกะสลักขึ้นจากไม้ ปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์ แต่บริเวณปากเป็นสีดำเปอระ เล่ากันมาว่า คนบ้าหวย ก ข ในราวสมัยรัชกาลที่ 4 - 5 มาบนทวารบาลเพื่อขอให้ถูกหวย บังเอิญโชคดี คนถูกหวยจึงนำเอาฝิ่นมาป้ายที่ปากเพื่อเป็นการแก้บน ชะรอยจะเอาเค้าที่คนจีนในประเทศไทยยุคนั้นชอบสูบฝิ่นกันเป็นนิจ ต่อมามีคนเอาฝิ่นมาป้ายที่ปากของท่านทั้งสองอยู่เรื่อย ๆ จนทวารบานติดฝิ่นไปเสียแล้ว มาเลิกเอาตอนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เมื่อ สามสิบกว่าปีที่แล้ว ที่จับฝิ่นและยาเสพติดอย่างจริงจัง
แต่สมัยหลัง ๆ ก็ยังมีคนแอบเอาฝิ่นไปป้ายอยู่บ้าง แต่อย่าเอายาบ้าไปป้ายให้ท่านเลย เพราะเดียวพวกภูติผี และใจที่ชั่วร้ายจะแอบเข้ามาเอาชนะเราได้ ....

เรื่องสุดท้ายของเรื่องเล่าในเทศกาลตรุษจีน คือเรื่องการจุดประทัด

เล่ากันว่าในสมัยโบราณ มีปีศาจสูงหนึ่งฟุต ขาเดียวอาศัยอยู่บนเขาที่มีต้นไผ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
ปีศาจเหล่านี้ มักจะคอยกลั่นแกล้ง แย่งชิงและขโมยอาหารจากผู้ที่สัญจรผ่านไปมาอยู่เสมอ จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว
มาวันหนึ่ง ชาวบ้านผู้หนึ่งออกไปหาอาหารเพื่อเตรียมงานวันตรุษจีน ถูกเหล่าปีศาจภูเขาเข้าเล่นงาน เขาสามารถจับตัวปีศาจได้ตนหนึ่ง จึงมัดพากลับมาที่หมู่บ้านเพื่อลงโทษ แต่ระหว่างทางเขาก็เริ่มรู้สึกไม่สบาย เป็นไข้ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว
เมื่อมาถึงหมู่บ้าน ก็ได้รับคำตอบว่า หากใครสัมผัสกับเจ้าปีศาจภูเขาจะได้รับโรคร้าย ให้รีบปล่อยกลับไป แล้วพาชายผู้นั้นเข้ามาผิงไฟเพื่อให้ความอบอุ่น ปีศาจภูเขา เห็นเพื่อนถูกจับตัวมา จึงรีบตามมาเพื่อช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ต่างเข้าล้อมทำร้ายผู้คนในหมู่บ้าน ขณะนั้น ปล้องไม้ไผ่ที่ถูกใส่ในกองไฟเกิดระเบิดเสียงดังขึ้น ปีศาจภูเขาตกใจกลัว และรีบหนีไปทันที ชาวบ้านจึ้งรู้ว่า ปล้องไม่ไผ่ที่ถูกเผาจนระเบิดเป็นเสียงดังนั้น ขับไล่ปีศาจที่ชั่วร้ายได้
ความเชื่อเรื่องเสียงระเบิดปล้องไม้ไผ่ ได้พัฒนามาเป็นการจุดประทัดเพื่อไล่ความอัปมงคลและความชั่วร้ายในเทศกาลตรุษจีนและการรับขวัญปีใหม่ สืบต่อมา




 

Create Date : 22 มีนาคม 2550
4 comments
Last Update : 22 มีนาคม 2550 10:10:34 น.
Counter : 1286 Pageviews.

 
 
 
 
อาจารย์ลองเว้นวรรคเผื่อว่าจะอ่านสบายขึ้นนะคะ
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:11:55:18 น.  

 
 
 
เห็นด้วย
ว่าแต่อาจารย์ไปเติมบล็อกให้ครบก่อน เช่น Anthropologist
แล้วค่อยมาจัดหน้าตาตรงนี้ เพราะอ่านเจอบ่อยอยู่แล้ว
อยากรู้เรื่องนั้นไวๆ ครับอาจารย์
 
 

โดย: NickyNick IP: 203.113.80.137 วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:21:34:59 น.  

 
 
 
มาเยี่ยมครับ

ขยันจังเลย
 
 

โดย: เมื่อไรจะหายเหงา วันที่: 7 กันยายน 2550 เวลา:18:46:38 น.  

 
 
 
 
 

โดย: ............. IP: 222.123.37.153 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:49:06 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

วรณัย
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เวลาผ่านไป หัวใจยังคงเดิม
[Add วรณัย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com