"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 ธันวาคม 2558
 
All Blogs
 
70 ปีผ่านไป..เขาคือศิลปินใหญ่ผู้วาดภาพในหลวงมากที่สุด!! “ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ”

 

 

70 ปีผ่านไป..เขาคือศิลปินใหญ่ผู้วาดภาพในหลวงมากที่สุด!! “ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ”

คุณค่าชีวิต “ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ” หนึ่งปรมาจารย์แห่งวงการศิลปะที่แม้ชื่อเสียงไม่ดังกระฉ่อน แต่นี่คือเสาเอกต้นหนึ่งแห่งประภาคารงานศิลป์ของบ้านเรา...สัมผัสเรื่องเล่าเคล้าพลังของอดีตเด็กบ้านนอกที่หนีออกจากบ้าน สู่การพึ่งข้าวก้นบาตรในวัดเมืองหลวง วัดดวงและฝ่าฟัน ลุยงานกรรมกรหาเงินเรียนศิลปะ กระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นในศิลป์ศาสตร์ พลิกชีวิตจากเด็กวัด สู่ศิลปินผู้วาดภาพพระมหากษัตริย์มากที่สุดของเมืองไทย
       
       อาจเป็นชื่อที่ไม่ป็อปเท่าใดนัก หากเปรียบเทียบกับศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์หลายๆ ท่าน แต่นามของ “ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ” หรือที่คนในแวดวงเรียกขานด้วยใจที่โค้งคำนับว่า “อาจารย์ชู” เปรียบไปก็เหมือนไม้ใหญ่ต้นหนึ่งในสวนศิลป์ ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งชีวิตที่ความคิดโอบกอดสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับศิลปะ “อาจารย์ชู” ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์

และก่อนเสียงเรียกแห่งความรักในศิลปะจะเพรียกหา เมื่อกว่าสามสี่สิบปีก่อน ยังถือเป็นนัมเบอร์ต้นๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานโฆษณาได้โดดเด่น ร่วมเซตสร้างบริษัทโฆษณาหลายแห่งให้รุ่งเรือง
       
       อย่างไรก็ตาม ย้อนกล่าวเล่าความกลับไปไกลกว่านั้น “อาจารย์ชู” ในคืนวันแห่งวัยเยาว์ เขาคือเด็กบ้านนอกคนหนึ่งซึ่งมีใจรักในงานศิลป์ แต่เมื่อเห็นว่าผืนดินของถิ่นกำเนิดอาจจะไม่เพียงพอต่อการถือเกิดบนเส้นทางสายนี้ได้ จึงตัดใจหนีออกจากบ้าน ดั้นด้นสู่เมืองหลวงเพียงลำพัง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นแรกๆ ของศิลปินผู้หนึ่ง

ซึ่งไม่เพียงได้รับการเรียกขานด้วยคำว่า “อาจารย์” แบบนับถือเต็มเปี่ยม หากแต่ครั้งหนึ่ง “อาจารย์ชู” นี่เองที่ได้สร้างประวัติการณ์ครั้งสำคัญให้แก่วงการศิลปะบ้านเรา...

ดั้นด้นจากภูธร
       ท่องเส้นทางจิตรกรด้วยใฝ่ฝัน
       
       “จริงๆ เมื่อก่อนผมจะอาย ไม่กล้าบอกใครว่าชาติกำเนิดของตัวเองเป็นคนบ้านนอกขอกนา คือพอเราเข้ามาอยู่ในสังคมเมืองกรุงแล้ว เราก็ไม่อยากให้เขารู้เราเป็นตระกูลต่ำที่เขาดูแคลนทั้งหลาย เขาพูดว่าไอ้เสี่ยวบ้าง ไอ้บ้านนอกบ้าง ก็พยายามปิดบังชาติกำเนิดเพื่อให้คนอื่นรับเป็นเพื่อน ไม่ดูแคลน”
       ศิลปินรุ่นใหญ่ลายคราม เริ่มต้นจรดเส้นสายลายสีแห่งชีวิตที่ตลอดระยะเวลา กว่า 70 ปีที่ผ่าน ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
       
       “ผมไม่เคยบอกใครเลยนะ เพราะเมื่อก่อน คนที่มาจากบ้านนอกจะรู้กันดีว่าเป็นปมด้อย แล้วพอเราคิดว่าเป็นปมด้อย ก็จะพยายามนึกถึงแต่ปมด้อยตัวเองเสมอๆ จึงทำให้ไม่อยากบอกที่มาที่ไปของตัวเอง ให้ดูเห็นแต่ความสำเร็จ อย่างเจ้าสัวต่างๆ บางคนเป็นเด็กยกก๋วยเตี๋ยวมาก่อน เขาไม่เปิดเผยกันง่ายๆ จนกว่าเขาจะสำเร็จหรือมีคนมาถาม เขาถึงจะเล่าให้ฟัง
       
       “แต่เดี๋ยวนี้คนไม่อายเหมือนสมัยก่อนกันแล้ว”
       อาจารย์ชูศักดิ์ว่าพลางยิ้มให้กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในทางดี นั่นก็เพราะผู้คนเกิดการยอมรับนับถือกันแล้วว่า ไม่ว่าจะถือกำเนิดเกิดมาจากรากเหง้าแห่งหนตำบลใด ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในตัวเอง
       
       “ผมมากรุงเทพฯ เพราะเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกเลย คือใฝ่ฝันอยากเห็นกรุงเทพฯ มาก เป็นเด็กบ้านนอก เราก็ได้ยินแต่เพลงเขาร้องว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์ งามอย่างนั้นอย่างนี้ ดูจากหนังสือพิมพ์หรือภาพยนตร์ของคุณลือชัย นฤนาท

(ดาราพระเอกขวัญใจมหาชนยุค พ.ศ. 2500 หน่อยๆ ผู้มาพร้อมกับบุคลิกทำคอเอียงๆ คาบบุหรี่ที่มุมปาก ท่าทางยียวนแต่ดูเท่ จนเป็นแบบอย่างให้ผู้ชายใน พ.ศ.นั้น) เรื่อง การะเกด ผู้คนก็งดงาม แต่งตัวสวย ผมรู้สึกอยากมาเห็น อยากมาเรียนรู้
       
       “อย่างที่สองคือผมอยากทำงานศิลปะ เพราะชอบเขียนรูปมาตั้งแต่เล็กๆ สมัยเรียน ป.3-4 รูปเรื่องราวเกี่ยวกับรามเกียรติ์ก็เขียนได้หมด จากการไปเห็นเขาเล่นหนังตะลุง อย่าลืมว่าคำว่าหนังตะลุงไม่ได้มีแต่ในภาคใต้ ภาคอีสานเขาก็มีหนังตะลุง เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทางภาคใต้ แต่ภาพเขาก็สลักสลวยงดงามใส่สีสัน

 ก็ตัดด้วยหนังเหมือนกัน แต่ตัวไม่ใหญ่เหมือนทางภาคใต้ ตัวใหญ่ไม่เกินศอกหนึ่งหรืออาจจะศอกกว่า แล้วก็เล่นตามงานต่างๆ ตอนนั้นมีคนเขาทำบุญที่บ้านเกิดผม เขาเอาหนังตะลุงไปเล่น จำได้ว่าชื่อเรื่อง “พระลักษณ์ พระราม” ผมก็ไปดูแล้วเกิดรู้สึกรัก หลงใหล พอคืนนั้นจบ รุ่งขึ้นผมเขียนรูปตามที่เห็นในหนังเลย จนกระทั่งพ่อแม่พี่น้องเห็น ยังอัศจรรย์ “มึงไปเขียนได้อย่างไร” (หัวเราะ)
       
       “รูปหนังตะลุงของผมตอนนั้น ก็เกิดจากกล่องกระดาษที่เขาใส่ของไปขายนั่นล่ะ เราก็ไปหามา แล้วนำมาตัดแทนหนัง ตัดเป็นรูปร่างพระลักษณ์พระราม รูปนางสีดา หนุมาน พระฤาษี ตามที่มีในเนื้อเรื่อง ผมสามารถร้องและแสดงหนังตะลุงตั้งแต่อยู่ชั้น ป.3 แสดงหนังตะลุงด้วยตัวเอง เพื่อนรุ่นเดียวกัน

ก็ใช้ก้านกล้วยมาวางแล้วก็เอามุ้งมากางแทน เอาขี้ไต้เป็นกระบอง เพราะไม่มีตะเกียง จุดขี้ไต้แล้วก็แสดง คนก็ดูข้างนอก ดู 4-5 คน เราก็มีความสุขที่ได้เล่น เชิดร้อง จนมีคนมาจ้าง ญาติผมนี่แหละ ให้บาทหนึ่ง บางทีก็ 50 สตางค์ต่อคืน ผมก็ไม่ได้สนใจเรื่องเงินหรอก เพียงแต่มีความสุขที่ได้แสดง แล้วก็เขียนตัวละครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
       “ดังนั้น ถ้าจะถามว่าผมแสดงงานตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมแสดงงานก่อนใครทั้งหมดในบรรดาศิลปินในประเทศนี้ก็ว่าได้ ตั้งแต่ผมอายุแค่ 10-11 ขวบ” 
จากจุดนั้น ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นงานศิลปะที่เริ่มหยั่งรากฝากลงในผืนดินแห่งหัวใจ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำในเวลาต่อมา เขาเลือกที่จะเดินตามทางรอยเส้นและสีในวันเดือนปีต่อมา แม้ว่าจะต้องลำบากเหลือแสน
       
       “คือตอนนั้นถ้าไม่หนีมา คงไม่ได้เรียน เพราะถ้าขอพ่อแม่ก็คงไม่ได้แน่ พ่อผมท่านเป็นครู ท่านก็อยากให้เราเป็นครูเหมือนกับท่าน ก็เลยต้องหนีมากรุงโดยไม่บอกกล่าว ไม่บอกใครเลย ตามพระรูปหนึ่งมาขึ้นรถไฟแล้วก็ถือย่ามให้ท่าน (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อทางบ้านเลยจนเป็นหนุ่มใหญ่ เพราะตั้งมั่นว่าถ้าไม่ได้ดีจะไม่กลับบ้าน จนที่บ้านคิดว่าผมตายแล้ว ขนาดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เลย (ยิ้ม)
       
       “ชีวิตตอนนั้นก็เรียกได้ว่าอยู่วัดแบบถาวร เพราะรุ่นเดียวกันที่เข้ามาอยู่ เขาเรียนจบกันแล้วก็ออกไปใช้ชีวิต แต่ผมเรียนไม่จบสักที ไม่ใช่ขี้เกียจหรือไม่เก่ง แต่เพราะไม่มีเงิน คืออย่างตอนแรกที่สอบเข้าเพาะช่างได้ แต่ไม่มีเงินมอบตัว ประมาณ 500-600 บาท เราหาเงินไม่ได้ แรกๆ ยังคิดว่าสอบได้แล้วจะได้เรียนเลย (หัวเราะ)
       
       “ก็ไม่มีเงินเรียนเลยไม่ได้เรียน แต่ผมคิดเอาว่าผมจบเพาะช่างในวันที่สอบได้นั้นแล้วนะ จบก่อนใครทั้งหมดในรุ่นเดียวกัน” ศิลปินใหญ่กล่าวแซวตัวเองพลางหัวเราะ
       
       “พอไม่ได้เรียน ก็ไปนั่งฝึกเขียนรูปเอง จนไม่รู้จะทำอะไร เพราะว่าอายุก็เริ่มเยอะแล้ว เริ่มเป็นหนุ่ม ก็ต้องไปหางานทำ เป็นกรรมกรก่อสร้างร่วมกับคนงานอีสานที่มาอาศัยอยู่ที่วัดดิษหงษาราม แถวเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อหาเงินไปเรียนศิลปะให้ได้ เพราะว่าเราเขียนรูปได้แล้วก็จริง

แต่ขาดหลักการ ก็เลยต้องหาเงินไปเรียน เป็นกรรมกรตอนนั้นได้วันละ 13-15 บาท เพราะเราเป็นกรรมกรเด็ก พวกพี่ๆ เขาได้วันละ 20 บาท ผมก็ไปกับเขา จนเก็บเงินได้ประมาณ 200 กว่าบาท

เพราะผมกินข้าววัด นอนวัด ก็ประหยัดได้ เงินที่ทำงานมาก็นำไปสมัครเรียนวาดเขียนที่โรงเรียนอาชีวศิลป์เพื่อจะสอบที่กระทรวงศึกษาธิการ เอาวุฒิเป็นหลักเป็นการ เรียนกับอาจารย์ สิงหโต ชนะวัฒน์ อาจารย์ใหญ่ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยอาชีวศิลป์ปัจจุบัน แต่ตอนนั้นยังตั้งอยู่ที่เชิงสะพานโสภณ แถวสี่ย่าน เป็นบ้านไม้เล็กๆ อยู่ตีนสะพานริมคลอง เขาประกาศรับสมัครนักศึกษาศิลปะ เราก็ไปสมัคร
       
       “แต่ก็เรียนได้แค่เทอมเดียว แล้วก็ไม่มีเงินเรียนต่อ เพราะว่าเงินเก็บ 200 บาท หักจ่ายค่าเทอมเหลือประมาณ 50 บาท ตอนไปเรียนผมต้องขึ้นรถเมล์ 2-3 ต่อ ไปกลับก็วันละ 3 บาทเข้าไปแล้ว ไหนเราจะต้องซื้อสี ซื้อกระดาษ ซื้ออุปกรณ์อะไรอีก ข้าวกลางวันไม่ต้องพูดถึงนะ ไม่ได้กิน ผมกลับมากินข้าวตุๆ ที่วัดตอนค่ำ ซึ่งข้าวและกับข้าวก็เริ่มเสียเริ่มบูดแล้ว

วันไหนบูดนิดหน่อยก็กินได้ จนเคยชิน คือไม่มีใครอุปถัมภ์ เราก็ต้องหาเองทั้งหมด วันเสาร์-อาทิตย์ เราก็ต้องไปเป็นกรรมกรด้วย แล้วพอสิ้นเทอม เงินที่เก็บมาได้ก็หมด ไม่มีต่อเทอมใหม่ ก็ยังไม่จ่าย ผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง เขาก็ “อ้าว...นายชูศักดิ์ แล้วค่าเทอมล่ะ” (หัวเราะ) เราก็บอกว่าพ่อกำลังส่งมา ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีทางแน่นอน แต่เราคิดว่าต้องไปทำงานเก็บเงินเพิ่ม เพื่อจะส่งทันค่าเทอม”
       
       จนล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 20 เกือบปลายเดือนแล้วก็ยังไม่มีทีท่าที่เงินจะเดินทางมาต่อการศึกษา 

  “เขาก็ถามว่าเป็นไง เราก็ยังเหมือนเดิม คือบอกว่าพ่อกำลังส่งมาอยู่ แต่คราวนี้ไม่ได้แล้ว โรงเรียนเอกชนเขาก็ต้องมีรายได้ เราก็เข้าใจ ก็ไม่ได้เรียนต่อ หยุดเรียนจริงจัง ไปเป็นกรรมกรทุกวันเพื่อที่จะเก็บเงินไปเรียนต่อ แต่ทีนี้พอได้เงินมาจะกลับไปเรียนต่อที่เดิมก็อายเขา เพราะเดี๋ยวเขาบอกว่าพ่อมึงเพิ่งส่งมาเหรอ (หัวเราะ) ก็ต้องเปลี่ยนที่ไป คราวนี้ไปไทยวิจิตรศิลป์ เรียนกับอาจารย์โภคัย ว่องกสิกร

ตอนนั้นตั้งอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ริมคลอง แกก็เปิดเล็กๆ เป็นห้องแถวก่อนจะมายิ่งใหญ่อย่างปัจจุบันนี้ แต่เรียนๆ ไปก็อีหรอบเดิม เทอมหนึ่งต้องหยุด เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ
       
       อย่างไรก็ตาม เพราะไม่ท้อไม่เลิกล้มความใฝ่ฝัน สุดท้าย แม้เรียนบ้างไม่เรียนบ้างตามหลักสูตร แต่เนื่องจากฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตนเองสม่ำเสมอ จึงทำให้สอบวาดเขียนโทได้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ (หมายเหตุ : การสอบเพื่อเอาประกาศนียบัตรวาดเขียน ณ ยุคนั้น มีแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับวาดเขียนตรี วาดเขียนโท และวาดเขียนเอก)
       
       “ตอนนั้น พอสอบได้ ก็รู้สึกว่า มันเท่มาก”
       ศิลปินผู้ปีนป่ายไต่ฝันมาจากความข้นแค้น หัวเราะร่าให้กับวันวาน
       
       “จากวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เราเคยไปทำงานเป็นกรรมกร ผมก็เปลี่ยนไปนั่งเขียนรูปที่วัดโพธิ์ เป็นรายได้พิเศษแทน เขียนขายฝรั่งใบละ 15 บ้าง 20 บ้าง 30 บ้าง แล้วพอนั่งเขียนๆ พวกนี้ ทำให้เราช่ำช่องขึ้นมาโดยธรรมชาติ ก็เลยไปเรียนวาดเขียนเอกต่อที่โรงเรียนศิลปะไทยของอาจารย์มนัส ทองสอดแสง อาจารย์มนัสท่านเป็นคนที่เก่งลายไทย ปัจจุบันนี้หนังสือสมุดลายไทยของท่านก็ยังมีขายอยู่ แม้ว่าท่านจะเสียไปนานแล้ว
       
       “แต่การเรียนของผมคราวนี้ไม่ค่อยมีปัญหาให้หยุดกลางคัน เพราะกลางคืนผมไปทำงานเป็นบ๋อยหารายได้เสริมที่บาร์แถวถนนสุขุมวิท ชื่อบาร์ พิกกี้ หมูงาม หมูสวย อะไรสักอย่างจำไม่ได้ จากการชักชวนของพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กวัด อายุเกือบจะ 40 แล้วแกก็ยังอยู่วัดอยู่ แกเป็นหัวหน้าบ๋อยที่นี่ ผมก็เลยไปทำงานกับแก หน้าที่ผมก็คือเป็นดอร์แมน คนเปิดประตูเข้าออก คอยเปิดประตูรถ แล้วก็ควบไปเสิร์ฟด้วย ผมก็มีอาหารกินสบาย แต่ก็ยังอาศัยวัดอยู่เหมือนเดิมนะ แต่เงินเก็บ ผมก็ได้มาเรียนวาดเขียนเอก
       
       “คือชีวิตเด็กบ้านนอกที่มาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อสมัย 50 กว่าปี ลำบากขนาดกางเกงเที่ยวกับกางเกงนอนยังตัวเดียวกัน (หัวเราะ) บางทีก็ยืมกันใส่สลับกับเพื่อน ต้องนัดต้องจองกันว่าวันนี้ใครใส่ ที่ไปตากไว้ซักหรือยัง เพราะพรุ่งนี้อีกคนต้องใส่ต่อ เราก็ต้องสู้ด้วยตัวเราเอง"

ปฏิวัติ! วงการศิลปะ
       ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
       
       เมื่อรักชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้ว่าหนทางชีวิตจะต้องพบจุดหักเห แต่กระนั้นพอสบโอกาส วิญาณแห่งศิลปินก็ถูกปลุกขึ้น
       
       “เรียนไปได้สักพัก ก็มานั่งถามตัวเองว่าเรียนวาดเขียนเอกไปทำไม จะไปรับราชการหรือ เพราะผมเหนื่อยแล้ว ทั้งทำงาน ทั้งหาเงิน ทั้งเรียน แล้วก็มองอนาคตไม่ออก ตอนนั้นก็เลยหางานทำจริงจัง”
       อาจารย์ชูศักดิ์ เผยช่วงชีวิตอีกด้านก่อนจะกลายมาเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีผู้รู้จักในวงการอย่างกว้างขวาง
       
       “อีกเหตุผลหนึ่งคืออายวัดด้วย อายเพื่อนฝูง เราอยู่นานเกิน เป็น 10 ปี ก็เลยไปสมัครทำงาน เพราะว่าเรามีความรู้แล้ว ตอนนั้นก็ไปทำงานโฆษณา เป็นอาร์ทิสต์บริษัทโฆษณา แล้วขยับมาเรื่อยๆ เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ เป็นครีเอทีฟ แล้วขยับสู่ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ก่อนจะเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโฆษณาในท้ายที่สุด”
       
       พูดได้ว่าชีวิตช่วงนี้รุ่งโรจน์โชติช่วง เป็นที่นับหน้าถือตาของวงการ มีบทบาทร่วมตั้งบริษัทโฆษณาใหญ่ๆ ของปัจจุบันกว่า 3-4 บริษัท มีความรู้ความชำนาญระดับสามารถเขียนตำราวิชาโฆษณาขายได้สบายๆ แต่แล้วก็อำลาวงการดื้อๆ เพราะเสียงเพรียกแห่งงานศิลป์
       
       “สมัยก่อนมันไม่มีคอมพิวเตอร์อย่างสมัยปัจจุบันนี้ ทุกอย่างเขียนด้วยมือทั้งหมด แม้กระทั่งตัวหนังสือเล็กๆ ก็มาเขียนเอา พวกนี้เราทำมาจนกลายเป็นความรู้ที่เราแตกฉานมาก ทั้งฝีมือทั้งความคิดและวิธีการในการทำงาน เงินเดือนหลักหมื่นมันไม่ธรรมดานะยุคนั้น ขนาดมีการขอซื้อตัวกันด้วย

ถ้าพูดไปแล้วเหมือนจะคุยโม้โอ้อวด พอออกจากที่นั่นไปอยู่ที่อื่นเขาก็ให้เพิ่มขึ้น เพราะตอนนั้นมันหาคนแบบนี้ได้น้อย คือสมบูรณ์แบบ ทั้งคิด เขียน และพรีเซนต์ หลักสูตรพรีเซนเทชัน เราก็จบหลักสูตรอันนี้มา
       
       “แต่เหตุที่เบื่องานโฆษณา มันไม่จบที่เราคนเดียว เราเป็นครีเอทีฟ พอผมจะทำหนังโฆษณาสักเรื่องหนึ่ง มันไปจบที่ลูกค้า จากลูกค้าไปโปรดักชัน ไปห้องตัดต่อ บางทีลูกค้าเขาขอเข้าไปด้วย บอกเอาอันนี้นิดอันนี้หน่อย เวลามันแค่ 30 วินาที หรือ 1 นาที มันยัดอะไรก็ไม่ค่อยได้ เคยทะเลาะกับลูกค้าเหมือนกัน

 เพราะพวกนั้นเขาจะยึดขายแบบฮาร์ดเซล แต่เราอยากจะขายแบบซอฟต์ๆ อยากได้เท่ๆ อยากได้งานจากจินตนาการของเรา ความคิดมันไม่ตรงกัน ก็เลยเบื่อหน่าย ไม่เหมือนเวลาเราขายกระดาษ มันไม่มีความรู้สึกแบบนี้ สตงสตางค์ตอนนี้ก็ไม่เดือดร้อน ก็นึกถึงสิ่งที่เราเคยใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก คือการวาดรูป เพียวๆ”
       
       เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี หลังจากเลือกทางศิลปะที่รักอีกครั้ง ความสามารถจากการทำงานโฆษณายังทำให้หูตากว้างไกลและมีวิสัยทัศน์ นำไปสู่การปฏิวัติวงการศิลปินครั้งสำคัญ นั่นก็คือการนำภาพศิลปะขึ้นแสดงบนศูนย์การค้า ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการศิลปะสู่ภาคประชาชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
       
       “ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะตอนเด็กๆ เราไม่เคยได้เห็นสิ่งเหล่านี้ด้วย”
       ศิลปินใหญ่กล่าวพลางเว้นวรรค คล้ายรอความหลังลอยมาในห้วงคิด

“คือหลังจากเข้าไปอยู่ในวงการ แล้วก็เข้ามาทำงานศิลปะเพียวอาร์ต ก็มีความมุ่งมั่นว่าอยากจะทำงานศิลปะอย่างที่ตัวเองฝันให้ได้จริงๆ พอเข้ามาอยู่ไม่นาน ด้วยความที่ผ่านงานโฆษณามา ผมจึงรู้จักวิธีการนำเสนอ

แต่การที่ผมจะสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้สื่อสนใจก็ทำไม่เป็น มันทำไม่ได้ ไม่ใช่สไตล์เรา อย่างไรก็ตาม คงเป็นความโชคดีที่ผมทำงานโฆษณา ทำให้ผมรู้จักคนเยอะ และก็ล้วนแต่เป็นคนที่อยู่ในระดับสังคม ก่อนหน้านั้นผมก็รู้จักกับคุณยะ (ตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน))

เพราะเคยทำโฆษณา ทำแคมเปญ ให้กับเขาตั้งแต่เริ่มต้นวางรากฐานที่จะทำซีคอนสแควร์ให้ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก พอผมออกมา ผมก็หยุดทำงานของตัวเอง ตอนนั้นก็เลยมาคุยกับเขาว่าอยากจะมาเปิดแกลเลอรีที่ห้างสรรพสินค้า ยังไม่เคยมีที่ไหนทำ สนใจไหม เขาก็สนใจ เสร็จแล้วผมก็มาวางแผนต่อสเต็ปที่ 2 อยากจะสร้างห้างสรรพสินค้าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะของประชาชน
       
       “เพราะเมื่อก่อน ศิลปินไม่อยากเอางานตัวเองเข้ามาอยู่ในห้าง คล้ายๆ กับตกเกรด ต้องอยู่ในมิวเซียม อยู่ในหอศิลป์เจ้าฟ้า อยู่ในที่หรูๆ คนเข้าไปดูใส่สูท คาบไปป์ รองเท้ามันแวบ แต่ผมนึกถึงความคิดของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านต้องการกระจายความรู้ศิลปะให้กับประชาชนในระดับกลางถึงระดับล่าง

และที่สำคัญ พวกที่มาเรียนศิลปะล้วนแต่เป็นลูกคนธรรมดาสามัญทั้งสิ้น

แล้วทำไมจะต้องอายกับการเอารูปเข้าห้าง ผมก็เลยไปปลุกกระแสกับซีคอนฯ ในฐานะนักโฆษณา เขาตกลง ก็เลยตันสินใจถือเอาวันที่ในหลวงท่านทรงครองราชย์ 50 ปี ซึ่งพอดีกับปีที่เขาเปิดห้างด้วย จัดงานแสดงภาพ

ตั้งชื่องานว่า “นิทรรศการเฉลิมฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี” ให้ศิลปินเขียนรูปเข้ามาแสดง คนละไม่เกิน 3 รูป ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้
       
       “แต่ตอนนั้นก็ถือว่าทลายค่ายของสถาบันศิลปะทั้งประเทศ เพราะเมื่อก่อน เขาจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จับกลุ่มกันเล็กๆ น้อยๆ กลุ่มเพาะช่างก็เพาะช่าง กลุ่มศิลปากรก็กลุ่มศิลปากร ช่างศิลป์ลาดกระบังก็ช่างศิลป์ลาดกระบัง ไม่ปนกัน

แต่ผมเอาทั้งประเทศ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทางภาคใต้มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช แล้วเชิญอาจารย์ศิลปะที่สอนอยู่ในประเทศนี้ทุกสถาบัน มาร่วมกัน ทางห้างเขาก็ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 เขายินดีหมดเลย เชิญตั้งคณะกรรมการ ตั้งแต่ วิโชค มุกดามณี, ปัญญา วิจินธนสาร, อาจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ มาเป็นกรรมการ เข้าประชุมร่วมกันแล้ววางแผน”
       
       แม้กระทั่งระดับปรมาจารย์ด้านศิลป์ ณ เวลานั้นอย่างถวัลย์ ดัชนี ก็ยังมาเป็นศิลปินรับเชิญ
       
       “ตอนแรกก็มีการคัดค้าน เพราะไม่เห็นด้วยที่จะเอางานศิลปะมาไว้ในห้าง เนื่องจากไม่สงบ เขาเห็นว่าศิลปะต้องมีความนิ่ง เราก็ขอความเห็นต่าง เพราะประเทศไทยเราทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเก่าแก่ก็มากมาย ศิลปากรก็มีอายุขนาดนี้แล้ว ถามว่ามีคนส่วนมากเห็นงานศิลปะของเราสักกี่คน”
       อาจารย์ชูศักดิ์ ว่าพลางเว้นวรรค ให้นึกคิดถึงทิวทัศน์รอบๆ มหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำของประเทศที่เรามักเห็นพ่อแม่พี่น้องประชาชนรายล้อมภายนอกข้างกำแพง แต่ก็แค่สัญจรผ่านไปมา...
       
       “มันเหมือนกับการแยกชั้นวรรณะหรือเปล่า คนรวยเท่านั้นที่จะดูงานศิลปะได้ งานศิลปะมันอยู่ในแกลเลอรี คนธรรมดาที่เดินไปรอรถเมล์ได้แค่มองๆ สมมติถ้าเขาอยากเข้าไปดู ก็จะโดนถามว่ามาทำไม

อย่างนี้ตัวเองก็อาย เพราะเขาไม่อยากต้อนรับ แล้วทีนี้งานศิลปะใหญ่ๆ ก็จะไปอยู่ตามหอศิลป์เจ้าฟ้า ถามว่ามีคนรู้จักไหม มีกี่คนที่รู้และเข้าไปดูตรงนั้น

“ในความคิดผม ผมอยากให้เอางานศิลปะมาไว้ที่ห้าง เพราะคนทุกระดับชั้นจะได้ดูได้ชม ผมอยากเห็นผู้หญิงสักคนหนึ่งใส่เกือกแตะ นุ่งผ้าถุง อุ้มลูกเล็กๆ ใส่เอวแล้วดูศิลปะ ผมว่าตรงนั้นแหละมันจะปลูกฝังและสร้างแรงกระตุ้นให้เยาวชนเราอยากเรียนศิลปะมากขึ้นจากที่มันมีอยู่แล้ว

เพราะมันเห็นสี เห็นผ้าใบ เห็นรอยแปรง มันดีกว่าไปดูตามแมกกาซีน เพราะฉะนั้น เราอย่าหวงศิลปะของเราไว้แต่ในมิวเซียมหรือสถานที่อันสูงส่ง เมื่อไหร่เล่า คนด้อยโอกาสอย่างพวกเราจะได้เห็น
       
       “ถามว่าพวกเราเป็นลูกใคร เป็นลูกคนธรรมดา เป็นลูกครู เป็นลูกพ่อค้า เป็นลูกชาวนา คนธรรมดาใช่ไหมที่มาเรียนศิลปะ แล้วทำไมไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาให้พ่อแม่เราดูล่ะ
       
       “สรุป...ทุกคนก็เห็นด้วย การแสดงงานครั้งแรกในห้างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ภาพมากกว่า 500 ภาพ จากศิลปินมากกว่า 300 คน หลังจากนั้นก็มีจัดต่อเนื่องมาตลอด อย่างเช่นงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

 แล้วผมก็ทำเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง ไม่เขียนรูปใครเลย จนกระทั่งครั้งหนึ่ง องคมนตรี 19 ท่านจัดงานแสดงตามรอยพระยุคลบาทในหลวง ผมเป็นศิลปินที่ได้รับโอกาสถูกเชิญเข้าร่วมกับคณะองคมนตรีนั้นด้วย
       
       “ทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นเกียรติในฐานะศิลปินที่เขียนรูปในหลวงเยอะที่สุด”

อาจารย์ชูศักดิ์ บอกเล่าด้วยรอยยิ้มเต็มหน้า เมื่อเอ่ยถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งตลอดชีวิตที่ผ่านมา นอกเหนือจากวาดภาพในหลวงและจัดแสดงไปแล้วมากกว่าร้อยภาพ ในปีพุทธศักราชที่พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

อาจารย์ชูศักดิ์ยังได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานภาพวาด(พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์) จำนวน 85 ภาพ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน

น้ำพระทัยในหลวง
       ในจักษุศิลปินวัย 70
       
       “เพราะต้องการให้คนจงรักภักดีต่อสถาบัน ผมก็รู้สึกว่าเราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาจับพู่กันเขียนเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างจริงจังในเชิงศิลปะ เพราะมีคนเขียนเรื่องราวของพระองค์ในด้านที่เป็นงานวรรณกรรมตัวอักษรมากมายอยู่แล้ว เราเกิดมาแล้วเราเห็นพระเจ้าอยู่หัวทุกวันในโทรทัศน์ เห็นพระองค์เสด็จฯ ไปถิ่นทุรกันดาร เห็นพระองค์ท่านทรงทำฝนหลวง เห็นทรงสะพายกล้อง ทรงถ่ายรูปมือหนึ่ง ขณะที่อีกมือหนึ่งถือแผนที่และหนีบดินสอไปทุกที่ เห็นท่านทรงนั่งพับเพียบกับพื้นดิน ตรัสกับผู้คนที่มาพนมมือกับท่าน บางคนก็ไม่ใส่เสื้อ
       
       “ภาพเหล่านี้ดูแล้วน้ำตาไหลได้ ถ้าเรามองท่านแล้วเข้าใจว่าท่านกำลังทำอะไรให้กับประเทศนี้ แทนที่จะนั่งสบายๆ ไม่ต้องไปทำอะไรเลย มีรัฐบาลทำตั้งเยอะแยะแล้ว ผมก็อยากให้คนไทยเข้าใจพระองค์ รัก รู้จักพระองค์ ซึ่งมันบอกด้วยวาจาก็ไม่ได้หมด ฉะนั้น ผมต้องแสดงด้วยการเขียนรูป บอกผ่านรูปภาพ ตอกย้ำให้คนไทยเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงดูแลประเทศนี้มากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ยังทรงหนุ่มน้อย จนถึงขึ้นครองแผ่นดิน หรือกระทั่งถึงเฒ่าชราแล้วก็ยังทำงาน ผมเห็นอย่างนั้น
       
       “คือความประทับใจอย่างนี้ บางครั้งมันบรรยายด้วยภาษาก็ไม่ได้ ให้มันเหมือนจากใจที่เราอยากพูด มันพูดได้แค่ประมาณนี้ นี่คือสาเหตุที่เขียนอย่างจริงๆ จังๆ"
       
       อาจารย์ชูศักดิ์กล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า ก่อนเล่าถึงงานล่าสุดที่จะจัดแสดงในวันที่ ๑๔-๒๕ ธันวาคมนี้ ที่อาคารสินธร ถนนวิทยุ
       
       “สำหรับงานที่จะแสดงย้อนหลังชีวิต 70 ปี นอกจากจะมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีทั้งงานที่มีความเป็นตัวตนของเด็กน้อยคนหนึ่งที่หนีจากบ้านมาอยู่เมืองหลวงกรุงเทพฯ จนมีทุกวันนี้ นั่นก็คือ “ตำนานแผ่นดินอีสาน” คือเขียนถึงบ้านเกิด คล้ายๆ กับจะบอกว่าอีสานวันโน้นกับวันนี้ไม่เหมือนกัน

 เป็นภาพเขียนที่ออกไปในเชิงระลึกถึงตัวเองมากกว่า บอกว่าตรงนี้ผมเคยอยู่ ตรงนั้นผมเคยไป ควายตัวนี้ผมเคยขี่ พ่อผมเคยอยู่ตรงนี้ ผมจะเล่าเรื่องตัวเองไว้ในภาพเขียน ประมาณนั้น หากว่าคนรุ่นเดียวกันอ่านแล้วก็จะระลึกถึงตัวเองบ้าง แล้วก็ถวิลหามัน เพราะว่าในภาพเขียนนั้นมันคงไปบอกอะไรมากไม่ได้ นอกจากคนที่มีอารมณ์เดียวกัน มีถิ่นเดียวกัน เคยอยู่อย่างนั้นด้วยกัน เขาก็จะขอบใจในสิ่งที่เราทำ ทำให้นึกถึงความหลังในวัยเด็กได้อย่างนี้เป็นต้น



ผลึกชีวิต...จากบ้านนอกถึงบางกอก
       เกิดบนดินถิ่นใด ก็สำเร็จได้ในเจตจำนง
       
       “ถามว่าอีสานทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจนแปลกไหม มันไม่แปลก...”
       อาจารย์ชูศักดิ์เผยทัศนะอย่างผู้ที่ผ่านเห็นโลกมามาก
       
       “ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมเองก็เปลี่ยนแปลง ทำไมจะให้คนอีสานเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไปค่อนแคะเขาก็ไม่ได้ ถ้าเราจะมองดูว่าทำไมทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำไมทำเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะถ้าไปว่าอย่างนั้น เราก็ยังคงจะต้องนุ่งโจงกระเบนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงทุกวันนี้

คือทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง กาลเวลามันบ่งบอกอยู่แล้ว แต่ว่าเปลี่ยนแปลงแบบไหน อย่างไร ควรจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหน อันนี้มันอยู่ที่ชุมชนแต่ละที่จะมาพิจารณากัน

เดี๋ยวนี้ก็มีความพยายามถวิลหาวัฒนธรรมดั้งเดิม พยายามดึงกลับมา แต่ก็เอามาแค่เป็นน้ำจิ้มประปรายในงานเทศกาลประจำท้องถิ่นแค่นั้นเอง แล้วมันก็หายไป เพราะของใหม่มันเข้ามา โทษใครไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้นเอง
       
       “อย่าว่าแต่บ้านนอก กรุงเทพฯ เองก็เปลี่ยน คอนเซ็ปต์ของผมก็จึงเป็น ...จากบ้านนอกถึงบางกอก...บางกอกเมื่อก่อนมันก็เป็นแต่ความหลังที่เหลือไว้ ปัจจุบันนี้บางกอกมันก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ผมเขียนเรื่องราวโรงหนังต่างๆ ที่เขาเห็นว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างนี้ๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็น แค่คนแก่รำลึกถึงอดีต ก็เอาตรงนั้นมาให้คนแก่ด้วยกันได้สัมผัส และให้คนหนุ่มได้รับรู้ก็เท่านั้น
       
       “ผมว่ามันก็เป็นบันไดอีกขึ้นหนึ่งที่จะให้คนเดินตามได้ เพราะว่ามันถึงเวลา แต่ก็จะไม่ใช่อยู่ๆ จะนั่งไปบอกใครนะ แต่ถ้าถามก็จะบอก อย่างที่เล่าไป เราก็จะได้เห็นหนทางของพวกเสี่ยใหญ่ๆ แต่ละคนมา ใช่ไหม จากเด็กยกก๋วยเตี๋ยวบ้าง อะไรบ้าง เคยได้ยินบ่อยๆ ซึ่งเขาเองก็ผ่านตรงนั้นมาแล้วก็พร้อมที่จะแชร์อดีตที่จะเป็นบันไดให้กับคนรุ่นใหม่มีไฟเดินต่อได้
       
       “แต่ยุคนี้คงไม่เป็นเหมือนผมอีกแล้ว ผมอาจจะเป็นยุคสุดท้ายที่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรน เพราะแทบไม่มีใครเป็นเด็กวัดแล้ว มาเรียนก็มีหอพัก ทุกคนก็มีฐานะพอสมควร แล้วก็มีสื่อมีอะไรที่จะมองเห็น สามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่หวังได้ ฉะนั้น คนที่จะมาเรียนศิลปะ อันดับแรกเลยก็คือความรักในศิลปะ

ถ้าคุณไม่มีคุณสมบัติข้อแรกนี้ ก็ป่วยการ มาเรียนแค่ไม่รู้จะเรียนอะไร คุณก็จะไม่ไปสู่ความสำเร็จ นอกจากคนไหนมันจะไปได้ ก็ถือว่าพลิกผันได้เท่านั้นเอง แต่ขนาดคนรักจริงๆ เข้ามาเรียน ก็ยังไปไม่รอด จบมาปีหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคน คนที่โดดเด่นจริงๆ มีกี่คนที่เอาศิลปะมายึดเป็นอาชีพจริงๆ ก็มีไม่มาก

“เพราะฉะนั้น ผมว่าถ้าจะไปสู่เป้าหมายได้ ความรู้ทั้งหมดมันมีอยู่แล้ว ข้อมูลต่างๆ ทางศิลปะทั้งตามสถาบัน ทั้งตามร้านหนังสือ แมกกาซีน นั่นคือครูบาอาจารย์ของเขา จะไปจริงๆ ไปได้หมด

ทุกวันนี้แทบจะไม่ต้องเรียนก็ไปกันได้ ถ้ารัก ศึกษาเรียนรู้ ไม่ยากเย็นเพราะว่าสื่อต่างๆ มีหมดแล้วเท่ากับโรงเรียน ถ้าใฝ่ฝัน สร้างงานของตัวเอง เหมือนกับการบ้าน หนังสือก็มี ตำราก็มี ถ้าจะเอาจริงๆ แต่อย่าขาดแรงกระตุ้น
       
       “และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ คิดให้เป็น คนทำงานศิลปะจะขาดตรงนี้ไม่ได้ เพราะต่อให้ฝีมือห่างไกลกันถึงโค้งขอบฟ้า ก็ตามกันทันได้ แต่เรื่องความคิด ไหล่ชิดกันก็ไม่อาจตามทันได้ ผมจะสอนลูกศิษย์อย่างนี้เสมอ ดังนั้น อย่าคิดว่าเขียนรูปเก่งแล้วจะเก่งตลอดไป ไม่ใช่ ฝีมือมันทันกัน แต่ความคิดไม่ทัน

แล้วความคิดมาจากไหน มาจากการอ่าน คุณต้องเป็นคนอ่านหนังสือ หนังสือคืออาจารย์ของเรา ทุกเล่มเป็นอาจารย์ของเราหมด คุณอยากจะพบอาจารย์คนไหน คุณเปิด คุณก็เจอ เขาก็สอนคุณ คุณเบื่อ คุณก็ปิด เขาก็หนีแล้ว ความรู้เหล่านี้จะพัฒนาศิลปะของคุณอย่างยอดเยี่ยมที่สุด ฝากเอาไว้ เพราะถ้าความคิดคุณตกยุคเมื่อไหร่ งานคุณก็จะไปไม่รอด ชีวิตก็เหมือนกัน”

“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มนุษย์สอนมนุษย์
       ไม่ใช่ศาสนาที่พระเจ้าสอนมนุษย์”
       
       “เส้น สาย ลายสี ๗๐ ปี แห่งชีวิต ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ” เป็นชื่องานนิทรรศการที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ ๑๔-๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ ที่อาคารสินธร ถ.วิทยุ ซึ่งรวบรวมผลงานมากถึง ๑๗๐ ภาพ ที่อาจารย์ชูศักดิ์ได้สร้างสรรค์มานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย ผลงานชุด “พระเจ้าแผ่นดิน”, “ความจริงอันยิ่งใหญ่ (สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ที่อินเดีย), “อาชาบารมี”, “อีสานบ้านนอก”, “บางกอกแห่งความหลัง” และผลงานย้อนหลังไปอีก ๕๐ ปี
       
       หนึ่งในความโดดเด่นซึ่งทุกคนจะได้เห็นในงานนี้ก็คือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ขนาดความสูง 8 เมตร ประดิษฐานเบื้องหน้าอาคาร และนอกจากที่อาคารแห่งนี้

ในช่วงเวลาอันเป็นสิริมงคลสำหรับคนไทยทุกหมู่เหล่า อาจารย์ชูศักดิ์ยังได้วาดภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งขนาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ พระองค์ละ 40 เมตร ประดิษฐาน ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ พระราม 3
       
       นอกเหนือจากชาติ (กำเนิด) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับการถ่ายทอดผ่านเส้นสายลายสีด้วยจิตใจอันแน่วแน่ อีกหนึ่งเสาหลักแห่งชีวิตอย่างศาสนาก็เป็นสิ่งที่ปรมาจารย์ด้านศิลปะผู้นี้ให้ความสำคัญและสื่อผ่านผลงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

“ถ้าถามว่าทำไมศิลปินถึงชอบเขียนรูปเกี่ยวกับศาสนา เพราะแต่เดิมเริ่มแรก งานศิลปะในโลกใบนี้เกิดขึ้นด้วยการรับใช้ศาสนา เป็นความศรัทธาของบุคคลในอดีต ตัวอย่างเช่น ไมเคิล แองเจลโล เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าหมดเหมือนกัน ถ้าคุณไปอินเดีย ถ้ำอชันตา เอลโลรา ที่สลักภูเขาทั้งลูกเป็นเรื่องราวของศาสนา นั่นก็คือศิลปะ
       
       “มาถึงยุครัตนโกสินทร์ของเรา จิตรกรทุกคนเวลาเรียนหนังสือ พวกเราก็อยากจะเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เรามองเห็นเรื่องราวศาสนาอยู่ตามผนังโบสถ์ แล้วมันก็หล่อหลอมพวกเราให้อยากทำบ้าง ตามอย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านทำไว้
       
       “อีกอย่างหนึ่งนั้นก็เนื่องจากว่า ศาสนามันเป็นแก่น เป็นของที่ยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย และยาวนานมาจนทุกวันนี้ ตั้งแต่ 2,000 กว่าปีที่อินเดีย พวกเราเริ่มมาทำที่ประเทศไทย ถ้านับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยามาจนบัดนี้ก็ 700 กว่าปี ผมเดินทางไปอินเดีย 5-6 ครั้ง เพื่อศึกษาความมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้าในทางประวัติศาสตร์ และเขียนเรื่องราวเหล่านี้ลงในผืนผ้าใบ เพื่อบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น

และยิ่งกว่านั้น ผมได้เป็นที่ปรึกษาให้กับสารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นสารคดีที่สุดยอดที่สุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้า และเป็นหนึ่งในงานที่จุดประกายให้ผมเขียนเรื่องราวความจริงอันยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นมาอีก หลังจากที่เขียนไว้แล้วส่วนหนึ่ง 

  “สิ่งที่ผมทำในตอนนี้ไม่ใช่จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารแบบที่เราเคยเห็น แต่มันกลายเป็นประวัติศาสตร์ของศาสนา ผมให้คอนเซ็ปต์นี้ว่า “ความจริงอันยิ่งใหญ่” ที่เหลืออยู่ในโลกเราปัจจุบัน นั่นคือสังเวชนียสถานทั้ง 4 ของพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย และสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกที่ยืนยันความมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้าและเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นิทานหรือตำนาน ไม่ใช่พระเจ้าบนสวรรค์ แต่เป็นมนุษย์
       
       “ผมเขียนเรื่องราวเหล่านี้เพื่อจะตอกย้ำให้ชาวพุทธรู้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มนุษย์สอนมนุษย์ ไม่ใช่ศาสนาที่พระเจ้าสอนมนุษย์”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี


ขอบคุณ MGR Online  

คุณรัชพล ธนศุทธิสกุล
คุณพลภัทร วรรณดี


ศุกรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ




Create Date : 04 ธันวาคม 2558
Last Update : 4 ธันวาคม 2558 10:03:38 น. 0 comments
Counter : 2125 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.