"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 ธันวาคม 2555
 
All Blogs
 
หลักธรรมรับ "ปีใหม่" สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ "มีสติทุกขณะชีวิต"

โดย ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ
อาทิตย์สุขสรรค์
มติชน 30 ธันวาคม 2555






สมเด็จพระพุทธชินวงศ์





ถือเป็นบทสัมภาษณ์รับปีใหม่ ที่ชาวไทยทุกคนควรรับฟัง สำหรับเป็นหลักธรรมในการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต

เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเรื่องราววุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วง ความขัดแย้งของคนต่างสีเสื้อ ความวุ่นวายในสภา หรือแม้แต่เหตุการณ์ หึง หวง โหด ของปัจเจกชนที่เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของหน้าหนังสือพิมพ์รายวันไปเสียแล้ว

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ ""สมเด็จพระพุทธชินวงศ์"" บอกว่าเป็นเพราะคน "ขาดสติ"

"มีสติทุกขณะชีวิต" จึงเป็นสิ่งที่เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม วรวิหาร แนะนำให้กับทุกคน เป็นเสมือน "ของขวัญรับปีใหม่"

"สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม)" หรือนามเดิม "สมศักดิ์ ชูมาลัยวงศ์" เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 ที่บ้านเลขที่ 100 หมู่ 2 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา สถานะเดิมนั้น เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 4 คน ของพ่อเหลี่ยม-แม่สำลี ชูมาลัยวงศ์ เป็นครอบครัวชาวนาที่ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก

เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนชนบทใกล้บ้าน ด้วยความที่พ่อแม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงอยากให้ลูกชายได้บวชเรียน หากแต่ว่าอาจารย์ประจำชั้นที่โรงเรียนอยากให้เด็กชายสมศักดิ์เรียนต่อทางโลก

แต่ในที่สุด เด็กชายสมศักดิ์ก็ไม่ได้เรียนต่อทั้งทางโลกและทางธรรม ถึงกระนั้น ก็ได้มีโอกาสศึกษาบาลีกับพระที่นับถือกันจนมีความรู้แตกฉานพอสมควร ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ที่บ้านเกิด

จากวัยเด็ก ชีวิตล่วงสู่วัยรุ่น เหมือนคนหนุ่มทั่วไปที่อยากทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ชีวิตช่วงหนึ่งในวัย 16-17 ปี มีโอกาสเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นกระเป๋ารถเมล์ หรืออีกครั้งตอนวัยใกล้บวชตามประเพณี เตรียมทำงานก่อสร้างอยู่ย่านเทเวศร์ แต่เมื่อกลับบ้านเกิด ปรากฏว่าน้าชายอยากให้บวชเรียนสัก 1 พรรรษาเพื่อแทนคุณพ่อแม่

เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2504 ณ วัดละมุด ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี "พระครูนครวิหารคุณ (ฟัก)" วัดบันได เป็นพระอุปัชฌาย์ "พระอธิการเมี้ยน" วัดละมุด เป็นพระกรรมวาจารย์

"เหมือนบุญพาวาสนาส่ง เพราะการบวชครั้งนั้นทำให้นายสมศักดิ์ ครองชีวิตบรรพชิตมาตราบกระทั่งทุกวันนี้"

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ศาสตราจารย์พิเศษ ปธ.9 MA.,Ph.D. อายุ 70 ปี พรรษา 50 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม วรวิหาร, กรรมการมหาเถระสมาคม, เจ้าคณะใหญ่หนกลาง, หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 1, กรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.), กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์, รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จัดทำสถานีวิทยุโทรทัศน์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (Thailand Buddhist Channel) ซึ่งสามารถติดตามชมได้ทางดาวเทียมไทยคม 5 ระบบ C-Band (จานดำ) สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา NBT SONGKHLA ความถี่ 4130 V/SR 2530 เว็บไซต์ //www.thaibuddhist.tv และเคเบิลทีวีทั่วประเทศ

เป็นภารกิจสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

"เนื่องในโอกาส "ปีใหม่" ที่จะมาเยือน "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์" ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงเรื่องราวในชีวิต พร้อมทั้งไม่ลืมที่จะให้หลักธรรมกับทุกคนเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต"

- ความตั้งใจตอนแรกบวช?

ความจริงแล้ว อาตมาตั้งใจบวชตามประเพณี คิดว่าจะบวชสัก 1 พรรษา แต่ก็มีฉันทะอยู่อย่างหนึ่งว่า บวชแล้วจะตั้งใจเรียน ส่วนจะนานแค่ไหนก็สุดแล้วแต่บุญพาวาสนาส่ง มีโอกาสได้ฟังพระอธิบายธรรมทุกวัน รู้สึกชอบจนมีโอกาสได้ไปศึกษา เตรียมสอบนวกะด้วย

แต่ก็เกิดเหตุอย่างหนึ่งให้ต้องบวชต่อ คือตอนนั้น ก่อนออกพรรษา เกิดเป็นไส้เลื่อนไหล เจ็บปวดมาก ต้องถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและเข้ารับการผ่าตัดทันที แม้จะนอนโรงพยาบาลแค่ 4-5 วัน แต่ก็ต้องพักรักษาตัวให้หาย 3-7 เดือน ยังลาสิกขาไม่ได้

ช่วงนี้เองที่อยู่ว่างๆ เลยมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ได้อยู่ท่องปาฏิโมกข์ และก็พอดีกับที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ซึ่งสอนหลักไวยากรณ์ให้กับพระเณรที่วัดบันไดสอนจบพอดี และกำลังจะขึ้นสู่ชั้นการแปลพระธรรมบท จะให้พระเณรซื้อหนังสือ อาตมาก็ประสงค์อยากซื้อเข้าห้องสมุด

เลยฝากสามเณรที่วัดรูปหนึ่งซึ่งเรียนกับท่านเจ้าคุณไปถาม ตอนเย็นเณรมาบอกว่า เจ้าคุณให้ข้ามไปพบ พบแล้วท่านก็บอกว่าอย่าซื้อเลย ซื้อแล้วก็เก็บไว้ไม่ได้เรียน ดูตู้พระไตรปิฎกเก็บไว้เยอะแยะ ใยแมงมุมจับเต็มไปหมด แล้วเจ้าคุณอาจารย์ก็พูดอีกประโยคว่า ถ้าจะซื้อ ท่านต้องเรียนเอง

- เลยได้เรียนและสอบนักธรรมเรื่อยมา?

อาตมาได้ยินท่านเจ้าคุณพูด ด้วยความสนใจอยากเรียนอยู่แล้ว เลยคิดที่จะเรียน และท่านก็พูดต่ออีกว่า ถ้าหากอยากเรียนยินดีซื้อถวาย ก็เลยตัดสนใจเรียน ต่อมา ก็สอบนักธรรม สำหรับการสอบนักธรรมนั้นมีสอบทุกปี ปีละชั้น

ส่วนสอบบาลีที่กำหนดกันตอนนั้นไม่มีประโยค 1 ประโยค 2 มีประโยค 3 เลย แต่ต้องเรียนไวยากรณ์ สอบธรรมบท อย่างน้อย 3 ปีถึงจะสอบได้ แต่อาตมาเรียนเพียง 2 ปีก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรมประโยคหนึ่ง

จากนั้นพระรุ่นพี่ที่นับถือกัน อยากฝากเข้ามาที่กรุงเทพฯ เลยไปหาท่าน ก่อนอื่นก็ชวนให้อยู่ที่สระบุรีก่อนปีหนึ่ง ตอนนี้ก็ได้อ่านหนังสือด้วยตัวเอง มีบ้างที่เข้ามาติวในกรุงเทพเดือนสองเดือนก็สอบได้ประโยค 4 ปีต่อมา คณะสงฆ์มีหลักสูตรบาลีแผนใหม่ กำลังจะเปิดสอนทุกจังหวัด

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้มาช่วยสอนที่วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่วัดบันไดซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่เลยไม่มีพระสอน อาตมาต้องไปสอนแทน อยู่วัดบันได 2 พรรษา สอบได้อีก 2 ประโยค เป็นประโยค 6 ต่อมา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ชวนมาช่วยงานที่วัดพนัญเชิง 2 ปี ก็สอบได้อีกหนึ่งประโยค

ต่อมามีเหตุการณ์ที่เกิดความสลดใจคือเจ้าคุณอาจารย์มรณภาพ เมื่อท่านสิ้นบุญแล้ว อาตมาก็พิจารณาว่าเราต้องแสวงหาความรู้ให้ก้าวหน้าให้มากกว่านี้ เลยติดต่อขอมาอยู่ที่วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ให้ช่วยสอนหนังสือ

นอกจากนี้ก็ให้สิทธิพิเศษด้วยว่า เวลาสอบเปรียญธรรมให้กลับไปสอบที่อยุธยาได้ เพราะอยากให้มีชื่อฝากไว้ที่อยุธยา ต่อมาปี 2515 ก็จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ตอนนั้นบวชได้ 11 พรรษา อายุ 32ปี สมเด็จก็เมตตาให้เป็นช่วยผู้ช่วยเจ้าอาวาส และขอพระราชาคณะให้

- เป็นคนที่รักเรื่องการเรียน?

มีใจรักเรื่องการเรียนเป็นทุนเดิม เห็นพวกพ้องเดินทางไปเรียนที่ประเทศอินเดีย ก็เกิดสนใจที่จะไปเรียนบ้าง ตอนไปปรากฏว่าภาษาที่ติดตัวก็แค่งูๆ ปลาๆ เลยไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก เพราะติดเรื่องภาษา อาตมาคิดว่า การที่เราจะไปเรียนเมืองนอก ไม่ว่าจะประเทศไหน หากภาษาไม่ดี วิชาการก็จะไม่ดีด้วย

แต่อาตมาก็พยายามเรียนจนสำเร็จปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์อินเดียโบราณและประวัติศาสตร์เอเชียใต้ มหาวิทยาลัยมคธ ต่อมาก็เรียนต่อปริญญาเอกในสาขาวิชาเดิม ซึ่งเรียนเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมในอินเดียและเอเชียใต้ อิทธิพลของศาสนาต่างๆ ที่ทำให้เกิดประเพณีวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ อาตมาตั้งใจเรียน ค้นคว้าด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ในที่สุดก็เรียนจบปริญญาเอก ในปี พ.ศ.2526 รวมแล้วอยู่อินเดีย 9 ปี

- กลับจากอินเดียมารับตำแหน่งและทำงานอะไร?

กลับมาประเทศไทย มาช่วยท่านสมเด็จพระมหาธีราจารย์สอนหนังสือ ช่วงนั้นบังเอิญว่าเลขาฯเจ้าคณะภาค 13 จังหวัดระยอง ชลบุรี ตราด ลาสิกขา อาตมาก็เลยเป็นเลขาเจ้าคณะภาค 13 แทน และช่วยสอนหนังสือด้วย ขณะที่ช่วยสอนหนังสือนี้เองที่มีเหตุทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเยอะ เพราะมีพระซึ่งเป็นนักศึกษาบาลีที่เรียนไวยากรณ์จาก จ.ลำปาง มาเรียนด้วย

ท่านเป็นลูกศิษย์ อาตมาเป็นครูผู้สอน แต่กลับพบว่าท่านเป็นคนที่มีความรู้ที่แตกฉานมาก บางเรื่องที่อาตมาตอบไม่ได้ ท่านตอบได้ ก็เลยทราบว่า ท่านเรียนที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จ. ลำปาง ที่นั่นเขาเรียนละเอียด ทำให้อาตมาเปลี่ยนแนวความคิดว่า

ที่เรียนประวัติศาสตร์โบราณนั้นไม่ช่วยอะไร เราน่าจะเรียนเรื่องของเราให้แตกฉานกว่า คือเรียนเรื่องการค้นคว้าพระไตรปิฎกโดยตรง และต้องปฏิบัติวิปัสนาด้วยถึงจะได้ผลดี

- ไปมาอย่างไรถึงได้จัดทำหลักสูตรที่ มจร.?

อยากสอนหนังสือให้กับพระเณร ให้พระเณรได้มีใบรับรอง เลยไปขอทาง มจร.จัดทำหลักสูตรขึ้นมาเอง คือหลักสูตร บาลีไวยากรณ์ชั้นสูง โอนมาเป็นหน่วยงานหนึ่งในชื่อ สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส เปิดสอนคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและสัททาวิเสส

ตอนแรกพระเณรรุ่นใหม่ๆ เรียนก็ปรากฏว่าไม่ไหว เรียนช้าไป เลยคิดทำเป็นหลักสูตรปริญญาตรี รับพระเณรระดับเปรียญ 5 ประโยค เรียน 4 ปี และคราวนี้ก็ได้ผล หลักสูตรนี้อยู่ในคณะพุทธศาสตร์ ภาควิชาบาลีพุทธศาสตร์

หลักสูตรนี้เรียนยาก ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากพระเณรเท่าไหร่ แต่ก็มีความจำเป็นต้องเรียน เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนเพื่อรักษาพระไตรปิฎกให้คงอยู่ ทำให้พระเณรมีความรู้ อ่านพระไตรปิฎกได้อย่างแตกฉานเพื่อนำไปสอนกับพระเณรรุ่นใหม่ รวมถึงพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไปได้อย่างถูกต้อง

- ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มจร.ควบคู่ไปด้วย?

เป็นระเบียบของมหาวิทยาลัย ถ้าได้รับการยกระดับเป็นวิทยาเขต ก็ต้องมีตำแหน่งรองอธิการบดีทำหน้าที่แทน วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแม่คือ มจร. อาตมาก็ทำหน้าที่บริหาร ดูแลวิทยาเขตนี้ ถึงจุดนี้แล้วเป็นพระนักปกครอง ก็อยากทำงานด้านนี้ เห็นว่าพระเรายังขาดความรู้เรื่องการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกระดับสูง

นอกจากนี้ ก็คือเรื่องการวิปัสสนากรรมฐานก็ขาด จึงนำพระมาฝึกอบรมตั้งแต่เมื่อยังเป็นรองเจ้าคณะภาค 13 พอมารับตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ก็ยังทำเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่ โดยตั้งกฎเกณฑ์ไว้เลยว่า พระที่บวชต้องผ่านกรรมฐาน เจ้าอาวาสตั้งใหม่ต้องมาฝึกกรรมฐาน

นอกจากนี้แล้ว มาคิดร่วมกับมหาวิทยาลัยสอนหลักสูตรปฏิบัติสำหรับพระสังฆาธิการระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาส ขอให้ทาง มจร.จัดหลักสูตร ประกาศนียบัตรการบริหารคณะสงฆ์ จบแล้วก็ต่อปริญญาตรีด้วย นี่เป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ อาตมาคิดว่าการปฏิบัติเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

โดยตอนนี้ก็ได้รับการสนับสนุนด้วยจากโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย สนับสนุนโดยทางการศึกษา ปฏิบัติ เผยแพร่พระพุทธศาสนา ในการเรียนมีการฝึกอบรมวิปัสสนาทั่วประเทศ ใช้เวลาฝึกภาคละ 45 วัน

- อะไรเป็นเรื่องยากสำหรับการเป็นพระสายปกครอง?

อาตมาว่าที่ยากคือบุคลากร คือพระสังฆาธิการ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ ตรงนี้จึงต้องแก้ แก้ด้วยการสร้างหลักสูตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ขึ้นมา จะได้บริหารไม่ผิดพลาด เพราะที่ผ่านมาท่านจะบริหารกันตามลำพัง ตามความเข้าใจ ก็เลยเกิดความผิดพลาดอยู่ วันนี้หลักสูตรนี้ช่วยได้

ปัจจุบัน อาตมามีวัดที่อยู่ในปกครอง 6,000 วัด ใช้หลักสูตรดังกล่าวก็ช่วยได้เยอะ เพราะพระมีความรู้ และยังให้มีการฝึกวิปัสสนากรรมฐานจะได้นำความรู้เรื่องนี้สอนญาติโยม ฝึก ทำให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปอย่างมีความสุข อย่างที่วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร ในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีผู้มาปฏิบัติธรรมวันละไม่ต่ำกว่า 200-300 คน

- สถานีวิทยุโทรทัศน์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในฐานะประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาตมาได้เสนอโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางสถานีโทรทัศน์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามโครงการ เนื่องจากเป็นนโยบายของมหาเถรสมาคม

ที่ส่งเสริมอนุญาตให้จัดตั้งสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วประเทศ จำนวน 260 แห่ง และอนุญาตให้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง

เป็นการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย โดยจัดทำรายการเผยแผ่ในรูปแบบความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน จะก่อให้เกิดสื่อการเผยแผ่ที่เหมาะสมกับยุคสมัย เข้าถึง เข้าใจ และปรับรูปแบบการนำเสนอให้สามารถกลมกลืนกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม นั้นก็เพื่อ

1. ส่งเสริมพระพุทธศาสนา

2. เผยแผ่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง

3. ทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาจากการเข้าใจผิดและนำไปใช้ซึ่งเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา และ

4. ให้ระบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ และมีช่องทางการให้บริการที่หลากหลายโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

- อยากให้ช่วยอวยพรปีใหม่ ให้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต?

อาตมาคิดว่าทุกคนมีปัญหาที่รุมเร้า วิธีแก้คือต้องฝึกจิตให้พบกับความสงบเย็น จึงจะพบธรรมมะ พบกับวิถีชีวิตตัวเอง หลักคือต้องมีสติ เพราะวันนี้คนทำงานด้วยความขาดสติ ทำให้กิเลสเข้าครอบงำ เกิดโลภะ โทสะ โมหะ การที่คนทุกระดับทำงานอย่างขาดสติ จึงเกิดการฆ่ากัน ทำร้ายกันตลอดเวลา

ทางที่จะทำให้เกิดความสงบเย็น ให้คนฝึกจิตด้วยการมีสติ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ประมาท นอกจากนี้ ต้องมีคุณธรรม มีความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา จะคิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา

ขณะเดียวกันให้มีความสามัคคี เราเป็นมนุษย์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไม่ว่าไพร่ ผู้ดี ไม่เกินร้อยปีก็ไปจากโลกนี้แล้ว ให้ช่วยกันรักษาความสามัคคี แล้วสร้างความสุขให้เกิดขึ้น ทำแผ่นดินทองให้เป็นแผ่นดินธรรม

วันนี้เราเจริญด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่การพัฒนาด้านจิตใจยังมีน้อย ต้องพัฒนาด้านคุณธรรมด้วย เพราะจิตที่มีความรู้มากๆ ไม่ใช่จิตที่มีคุณธรรม เป็นจิตโลภ คนเรียนมากก็อยากทำงานมากๆ แต่ดันทิ้งธรรมะไว้ จึงอยากให้มีสติ อย่าประมาท

"การสำรวมด้วยสติ จะทำให้กิเลสไหลเข้ามาไม่ได้ ก็อยากให้ทุกคนยึดถือในข้อนี้"




ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
อาทิตย์สุขสรรค์
คุณตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ

สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ


Create Date : 31 ธันวาคม 2555
Last Update : 31 ธันวาคม 2555 7:19:13 น. 0 comments
Counter : 3208 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.