"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
24 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕: "ย่ำรุ่ง" คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไร?

โดย ปรามินทร์ เครือทอง


ภาพจาก news.voicetv.co.th

นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕ : อยากรู้ “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไรแน่?


กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” ลงใน หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน ปี ๒๔๘๔ จำนวน ๑๖ ตอน โดยอาศัยข้อมูลส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บวกกับตอนที่ ๑๗ เป็นการสัมภาษณ์ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ อีก ๑ ตอน เมื่อมีการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี ๒๔๙๐

เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติการยึดอำนาจของคณะผู้ก่อการฯ เกือบจะทุกแง่มุม เรารู้แม้กระทั่งว่าคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน พระยาพหลฯ เข้านอนตอนตี ๒ และหลับสนิท แม้ว่าวันรุ่งขึ้นคือวันคอขาดบาดตายของตัวเองก็ตาม

นอกจากนี้ยังได้บอกเล่าเหตุการณ์เบื้องหน้าเบื้องหลังนับตั้งแต่ “ฝ่ายทหาร” มีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วลำดับเหตุการณ์เรื่อยมาสู่ขั้นตอนวางแผน จนกระทั่งถึงวัน “เอาจริง” ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

แต่พอถึงวินาทีสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือตอนที่พระยาพหลฯ ควักกระดาษออกมาอ่านประกาศยึดอำนาจ ปรากฏว่า เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และหนังสือเล่มอื่นๆ ข้ามรายละเอียดตรงนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้ ไม่มีภาพถ่าย ไม่มีคำบอกเล่าที่ชัดเจน ในวินาทีที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เลยไม่รู้ว่าวินาทีนั้นหรือก่อนหน้านั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่ง “จุดยืน” ที่แท้จริงของพระยาพหลฯ ขณะอ่านประกาศยึดอำนาจอยู่ตรงไหน หันหน้าไปทางไหน เหล่าทหารยืนฟังอยู่ทางด้านไหนของลานพระบรมรูปทรงม้า อ่านประกาศเวลา “ย่ำรุ่ง” คือเวลากี่โมงกี่นาที และอ่านอะไร?

แม้จะไม่ใช่ “สาระสำคัญ” ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ก็เป็นรายละเอียดที่ “อยากรู้” ได้เหมือนกัน

เวลา “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมงกันแน่?

เพื่อค้นหาคำตอบนี้ เราจึงตามไปดูการปฏิบัติงานของฝ่ายทหาร และเริ่มจับเวลาตั้งแต่ฝ่ายทหารตื่นนอน ราวๆ ตี ๓ อาบน้ำแต่งตัว กินอาหารเช้า พร้อมออกปฏิบัติการยึดอำนาจ

ตี ๔ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก กับนายทหาร ๓ นาย พร้อมกันที่บ้านพระยาทรงฯ ซักซ้อมแผนการก่อนออกเดินทางไปยัง “ตำบลนัดพบ”

ตี ๔ ครึ่ง นายพันโท พระประศาสน์ฯ ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ขับรถไปรับ นายพันเอก พระยาพหลฯ ที่บ้านบางซื่อ ก่อนจะเดินทางไปยังตำบลนัดพบ

ตี ๕ พระยาทรงฯ มาถึงตำบลนัดพบที่ ๔ แยกตัดทางรถไฟ ห่างจากบ้านพระยาทรงฯ ที่บางซื่อ ประมาณ ๒๐๐ เมตร เพื่อพบกับคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการฯ ฝ่ายทหาร 

พระยาทรงฯ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายทหาร สั่งดำเนินการตามแผนทันที คือบุกยึดคลังอาวุธที่กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โดยต้องทำการก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเวลา ตี ๕ ครึ่ง

ตี ๕ ครึ่ง คณะผู้ก่อการฯ บุกถึงกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ พระยาพหลฯ นำกำลังเข้าตัดโซ่กุญแจคล้องคลังอาวุธ นำอาวุธปืนและหีบกระสุนออกมา พระประศาสน์ฯ เข้ายึดรถรบ รถยนต์หุ้มเกราะ และรถบรรทุก พร้อมกำลังทหารม้าเป็นผลสำเร็จ 

ทั้งหมดเคลื่อนกองกำลังไปยัง กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ อยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ นาที มี นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นผู้บังคับการกรม ซึ่งเตรียมการจัดกำลังทหารและอาวุธรออยู่ก่อนแล้วประมาณ ๑๕ นาที

เมื่อกองกำลังจากกรมทหารม้า เดินเท้ามาถึง กรมทหารปืนใหญ่ พระยาทรงฯ ออกคำสั่งให้ทหารจากกรมทหารม้า ขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ซึ่งจอดรออยู่แล้วโดยพลัน

ขณะนี้กองกำลังผสมของผู้ก่อการฯประกอบด้วย ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ที่มีทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์หนักเบา มุ่งหน้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ขณะผ่านกองพันทหารช่าง พระยาพหลฯ เพียงแค่ตะโกนเรียกและกวักมือ ทหารช่างที่กำลังฝึกอยู่หน้ากองพัน ก็กระโดดขึ้นรถตามมาด้วย โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริง

ขบวนทหารของกองกำลังของคณะผู้ก่อการฯ นำขบวนด้วย “ไอ้แอ้ด” รถถังขนาดเล็กจากกรมทหารม้า ตามด้วยรถบรรทุกทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ ปิดท้ายด้วยกองพันทหารช่าง ใช้เส้นทางผ่านสะพานแดง ถนนพระราม ๕ เลี้ยวหน้าวัดเบญจมบพิตร เข้าถนนศรีอยุธยา มุ่งหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า

๖ โมง ๕ นาที  กองกำลังหลักถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ช้ากว่าเวลานัดหมายหน่วยอื่น ๕ นาที

ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกองพันพาหนะทหารเรือ นำโดย นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. มาตรงตามเวลานัด ๖ โมงตรง นอกจากนี้ยังมีกำลังจากนักเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมี นายพันโท พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก กำกับมา ส่วนกองพันทหารราบที่ ๑๑ ของ นายพันตรี หลวงวีระโยธา ซึ่งกำลังฝึกทหารอยู่ที่ท้องสนามหลวงนั้น ถูกหลอกให้ตามพระประศาสน์ฯ มาภายหลัง

“ทหารทั้งปวงที่มาชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันนั้น ต่างได้มาโดยมิรู้ว่า กำลังมีการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากพระราชาของตน”

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายพลเรือนที่เริ่มกันตั้งแต่เที่ยงคืน เช่น การควบคุมหัวรถจักรรถไฟ  การเฝ้าสังเกตการณ์ตามบ้านเจ้านายและบุคคลสำคัญ เพื่อ “ล็อก” ไม่ให้ติดต่อสังการใดๆ ได้ ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้การก่อการครั้งนี้สำเร็จ โดยปราศจากการต่อต้าน 

ทางด้านอื่นๆ มีการปฏิบัติงานในกลุ่มของหลวงโกวิทย์อภัยวงศ์ ทำหน้าที่ยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ ในเวลา ตี ๔ ตรง ส่วนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ลอยเรืออยู่ในคลองวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อรอเวลาแจกใบปลิว “ประกาศคณะราษฎร” แก่ประชาชน ซึ่งหากทำการไม่สำเร็จก็จะนำใบปลิวนั้นทิ้งลงในน้ำทันที

เป็นอันว่ากองกำลังของคณะผู้ก่อการฯมาชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกำลังทหารและอาวุธพร้อมรบ เป็นที่เรียบร้อยโดยตลอด เมื่อเวลา ๖ โมง ๕ นาที การประกาศยึดอำนาจขั้นสุดท้ายพร้อมแล้ว

แต่...

“ครั้นแล้วพอได้เวลา๗.๐๐ น. พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้อ่านประกาศยึดอำนาจเสียงสนั่นดังลั่น มีนายทหารของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งทหารบก ทหารเรือ กระจายกันคุมเชิงอยู่รอบๆ 

ในที่สุด เมื่อได้อ่านคำประกาศสุดสิ้นแล้ว ก็ได้เปล่งเสียงไชโยกึกก้อง แล้วก็นำขบวนเข้างัดพระทวารด้านหน้าของพระที่นั่งอนันตสมาคม 

จัดเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของคณะฝ่ายทหารที่ทำการยึดอำนาจ”

เป็นอันว่า พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง อ่านประกาศยึดอำนาจ เมื่อเวลา ๗ โมงตรง ตามบันทึกของ พลโทประยูร ภมรมนตรี ซึ่งไปปฏิบัติการยึดสถานีโทรศัพท์กลาง วัดเลียบ ตั้งแต่ ตี ๔ แต่ใช้เวลาเพียง ๑๕ นาที ก็สำเร็จภารกิจ
และเป็นไปได้ว่า พลโทประยูร ภมรมนตรี อาจจะเดินทางไปสมทบกับคณะทหารที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และ “อยู่ในเหตุการณ์” ที่ พระยาพหลฯ อ่านประกาศยึดอำนาจ เพราะเป็นผู้รับเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลา ๘ โมงตรง๙ และบันทึกของพระยาฤทธิอัคเนย์ก็ยืนยันว่า “พวกก่อการฝ่ายพลเรือนก็มีไปรวมอยู่ ณ ที่นั้นบ้าง”

น่าเสียดายที่คณะทหาร “พกปืน” ไม่พกกล้อง เราจึงไม่มี “ช็อตเด็ด” ในวินาทีที่สำคัญที่สุดของสยามประเทศ ในขณะที่บันทึกของ “๔ ทหารเสือ” ก็ไม่ได้บรรยายถึงบรรยากาศและรายละเอียดขณะนั้น เราจึงไม่ทราบอยู่ดีว่า พระยาพหลฯ หยิบประกาศยึดอำนาจออกจากกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกง
ขณะอ่านประกาศหันหน้าไปทางไหน พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม สนามเสือป่า หรือพูดกับพระบรมรูปทรงม้า เพราะทั้งหมดนั้นคือ “สัญลักษณ์” แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งสิ้น

มีเพียง “ข้อสันนิษฐาน” ว่า พระยาพหลฯ น่าจะยืนอยู่ทางด้านซ้ายของพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นตำแหน่งที่มีหมุดทองเหลืองของคณะราษฎรฝังอยู่กับข้อความ “๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

ซึ่งก็ไม่รู้แน่ว่า “ณ ที่นี้” หมายถึง “จุด” ที่พระยาพหลฯ ยืนอยู่ หรือหมายถึง “บริเวณ” ลานพระบรมรูปทรงม้าทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเวลา “ย่ำรุ่ง” ว่าหมายถึงเวลาที่เหล่าทหารกองผสมมาพร้อมกันตอน ๖ โมง ๕ นาที หรือเวลา ๗ โมงตรง ที่พระยาพหลฯ เริ่มอ่านประกาศยึดอำนาจ อันเป็นวินาทีแห่งการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะ “ชาวโหร” เมืองไทย นิยมเอาเวลา ตี ๕ หรือ ๖ โมงตรงเป็นหลัก

แต่หากพิจารณาจากคำ “ย่ำรุ่ง” แล้ว คณะราษฎรอาจจะมีเจตนาที่จะสื่อถึง “แสงแรก” แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ หรือ “ฟ้าใหม่” ที่อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน ซึ่งน่าจะหมายถึงเวลาแห่งการชุมนุมโดยพร้อมเพรียงของทหารกองผสมเมื่อเวลา ๖ โมง ๕ นาที เพราะเวลา ๗ โมงเช้านั้น น่าจะเกินเวลา “ย่ำรุ่ง” ไปแล้ว

ดังนั้น เวลา “ย่ำรุ่ง” ที่ปรากฏในหมุดทองเหลืองของคณะราษฎร น่าจะหมายถึงเวลา ๐๖.๐๕ น. นั่นเอง

ยังข้อน่าสงสัยอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อเวลา ๖ โมง ๕ นาที เหล่าทหารกองผสมมาชุมนุมพร้อมกันแล้ว เหตุใดพระยาพหลฯ ต้องรอจนถึง ๗ โมงตรง จึงเริ่มอ่านประกาศ

เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่หายไป ๕๕ นาที 

สงสัยคณะทหารรออะไร?

เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ หลังเวลา ๖ โมง ๕ นาที คือการจัดแถวทหาร จัดเตรียมอาวุธให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม และวางแนวป้องกันการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการ “รอ” ผลการปฏิบัติงานของทีม “จับตัวประกัน” ของพระประศาสน์ฯ

หลังจากเวลา ๖ โมง ๕ นาที รถเกราะปิดท้ายขบวนทหารของพระประศาสน์ฯ ที่เคลื่อนพลมาจากกรมทหารปืนใหญ่ มาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า พระยาทรงฯ “ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร” ก็มีคำสั่งทันที

“พระประศาสน์ฯ ไปจับกรมพระนครสวรรค์ฯ พระยาสีหราชเดโชชัย และพระยาเสนาสงคราม”

สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เวลานั้นทรงมีอำนาจเป็น “เบอร์ ๒” ของประเทศ ขณะที่มีการปฏิวัติ ทรงเป็นผู้รักษาพระนคร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระราชฐานไปหัวหิน
นอกจากนี้ยังทรงเป็นประธานอภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ และอื่นๆ ส่วน นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เวลานั้นเป็นเสนาธิการทหารบก “เสือร้ายที่สุดของทหาร” และ นายพลตรี พระยาเสนาสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์

บุคคลทั้งสามมีส่วนชี้เป็นชี้ตายในการปฏิวัติครั้งนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในพระนครพระประศาสน์ฯ โดยใช้เวลาเจรจาต่อรองพอสมควร ก่อนจะควบคุมตัวสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่วังบางขุนพรหมมาได้ โดยไม่ให้เวลาเปลี่ยนเครื่องทรง จากนั้นก็มุ่งหน้าไปบ้านพระยาสีหราชเดโชชัย ใกล้วัดโพธิ์ แล้วก็ทำสำเร็จโดยไม่มีการขัดขืนต่อสู้แต่อย่างใด

ขาดแต่พระยาเสนาสงคราม ซึ่งบ้านอยู่ไกลและนอกเส้นทางปฏิบัติงาน หากต้องเดินทางไปอาจจะทำให้กลับไปลานพระบรมรูปทรงม้าไม่ทันเวลานัดหมาย ซึ่งพระประศาสน์ฯ มีเวลาปฏิบัติการ “จับตัวประกัน” ทั้งหมดไม่เกิน ๑ ชั่วโมง 

แต่สุดท้ายพระยาเสนาสงครามก็ถูก “ทีมสำรอง” ควบคุมตัวได้ แต่พระยาเสนาสงครามขัดขืนต่อสู้จึงถูกยิงบาดเจ็บต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล นับเป็นคนเดียวในการก่อการครั้งนี้ที่ได้รับบาดเจ็บ 

ภารกิจจับตัวประกันสำเร็จแล้วพระประศาสน์ฯ ก็รีบมุ่งหน้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตามแผนที่จะนำตัวประกันไปกักไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม
 
“กรมพระนครสวรรค์ฯ และพระชายา ขึ้นไปบนพระที่นั่งอนันตสมาคม และรีบจัดที่ประทับอันสมควรถวาย แต่ควบคุมไว้อย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้การนองเลือดมีขึ้นได้ 
เจ้าคุณพหลฯ ก็ประกาศเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน...”

สรุปว่าเวลาที่หายไปราว ๕๕ นาทีนั้น คณะผู้ก่อการฯ กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการ “จับตัวประกัน” ซึ่งถือว่าเป็นช่วง “อันตราย” มากที่สุดต่อแผนการก่อการครั้งนี้ และหากแผนการจับตัวประกันผิดพลาด ก็หนีไม่พ้นการนองเลือดอย่างแน่นอน 

ระหว่าง “รอ” พระยาพหลฯ ทำอะไร?

เวลา ๕๕ นาที ในสถานการณ์ “ปฏิวัติ” ย่อมไม่ใช่เวลาที่คณะผู้ก่อการฯ “หลับเอาแรง” แน่ บางท่านคงจะวุ่นวายในการตรวจความพร้อมของแนวป้องกัน ประชุมซักซ้อมแผนการ บางท่านอาจจะอยู่ในอาการ “ตื่นระทึก” 

มีหลักฐานชี้ว่าระหว่าง “รอ” นั้น พระยาพหลฯ พักอยู่บริเวณหัวมุมสนามเสือป่า ด้านซ้ายมือของพระบรมรูปทรงม้า อันเป็น “สถานกาแฟนรสิงห์”

“แต่ในระหว่างบรรยากาศของความขมุกขมัวนั้นเอง นายพันเอกร่างอ้วนอุ้ยอ้าย ดำจ้ำม่ำ ในเครื่องแบบทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ สวมท๊อปบู๊ทและเหน็บคอลท์รีวอลเวอร์ที่บั้นเอว ก็ก้าวออกมาจากร่มเงาของต้นโศก ที่กำลังมีดอกงามบานสพรั่งอยู่หน้า ‘กาแฟนรสิงห์’ ใบโศกยังมีหยาดเม็ดฝนเกาะอยู่จากพระพิรุณเมื่อราตรีที่แล้ว”

“สถานกาแฟนรสิงห์” ที่พักรอของพระยาพหลฯ อยู่บริเวณหัวมุมสนามเสือป่า ด้านซ้ายของพระบรมรูปทรงม้า ตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ในสังกัดกรมมหรสพ ซึ่งใช้ตรา “นรสิงห์” เป็นตราประจำกรม มาเป็นชื่อและตราประจำร้าน

“สถานกาแฟนรสิงห์ ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้นเป็นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในยามว่าง ตัวอาคารปลูกสร้างงดงามมาก สถานที่สะอาดโอ่โถง มีสนามหญ้าตั้งโต๊ะเก้าอี้เต็มไปหมด
เครื่องใช้สอยต่างๆ เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ถ้วยชา ผ้าปูโต๊ะ มีตรานรสิงห์สีเขียวประทับอยู่ทุกชิ้น ล้วนแต่สั่งมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยมากฝรั่งนิยมชมชอบไปพักผ่อนกันมาก”

“สถานกาแฟนรสิงห์” เป็นที่พบปะชุมนุมของ “คนมีระดับ” ในสมัยนั้น รวมถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นที่นัดพบกับ นายร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย เพื่อแนะนำหลวงอรรถกิจกำจร น้องชายหลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้รู้จัก เพื่อเข้าร่วมเป็นผู้ก่อการฯ

แต่ “สถานกาแฟนรสิงห์” ในระยะแรกต้องประสบกับการขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจาก “ผู้มีฐานะดี” มักนิยม “เซ็นเชื่อ” ด้วยลายมือที่อ่านไม่ออก จึงไม่สามารถตามเก็บเงินได้

ต่อมาจึงมีการแต่งตั้ง พระเจนดุริยางค์ หัวหน้ากองดนตรีฝรั่งหลวง สังกัดกรมมหรสพ เป็นผู้อำนวยการ และมี ขุนพิสิฐนนทเดช หัวหน้าแผนกบัญชีและพัสดุ เป็นผู้จัดการร้าน กิจการจึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งด้วยนโยบายวางป้าย “จ่ายสด” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกโต๊ะ

ในวันเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลา ๕ โมงเย็น ถึง ๑ ทุ่ม “สถานกาแฟนรสิงห์” จะมีการบรรเลงเพลงโดยพระเจนดุริยางค์เป็นผู้อำนวยการเพลง เป็นร้านอาหารแห่งแรกในสยามที่เปิดการเต้นรำและมีเบียร์สดจากเยอรมนีจำหน่าย ด้านอาหารเน้นอาหารฝรั่ง ส่วนขนมหวานรับมาจากวังเจ้านาย มีไอศกรีมผลิตจากน้ำกลั่นจากต่างประเทศเท่านั้น

ช่วงรุ่งเรืองของ “สถานกาแฟนรสิงห์” โดยเฉพาะในวันที่เปิดการเต้นรำ จะมีรถยนต์มากถึง ๒๐๐ คัน จอดเต็มลานตั้งแต่หน้าร้านไปจนถึงหน้าพระบรมรูปทรงม้า ถึงกับมีคนกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดไม่เคยไปต่างประเทศ ถ้าได้ไปที่กาแฟนรสิงห์นี้แล้ว ก็เหมือนไปต่างประเทศ”

สุดท้ายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกรมมหรสพถูกยุบ “สถานกาแฟนรสิงห์” ถูกโอนให้กรมรถไฟ ขุนพิสิฐนนทเดชไม่รับเป็นผู้จัดการต่อ ไม่นานก็ต้องเลิกกิจการกลายเป็นตำนานไป 

แต่ขณะเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง“สถานกาแฟนรสิงห์” ยังไม่ได้เลิกกิจการ ส่วนขุนพิสิฐนนทเดช ผู้จัดการร้าน ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการฯ แต่อย่างใด เพราะขณะนั้นไปรับราชการเป็นพะทำมะรง สังกัดกรมพลำภังค์ อยู่ต่างจังหวัด

ดังนั้นขณะเวลา “ย่ำรุ่ง” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน “สถานกาแฟนรสิงห์” ยังไม่เปิดร้าน คณะผู้ก่อการฯ จึงไม่สามารถเข้าไปนั่ง “จิบกาแฟ” ขณะรอทีมจับตัวประกัน เพียงแต่อาศัยร่มไม้โศกหน้าร้านเป็นที่รอ ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะพระยาพหลฯ ได้จิบโกโก้ร้อนมาแล้วหนึ่งถ้วยก่อนออกจากบ้าน



ขอบคุณ
มติชนออนไลน์  
คุณปรามินทร์ เครือทอง
news.voicetv.co.th

อาทิตยวารสวัสดิ์วิบูลย์ค่ะ


"ตอนที่ ๒ อยู่บล็อกบนนี้ค่ะ"



Create Date : 24 มิถุนายน 2555
Last Update : 24 มิถุนายน 2555 8:15:29 น. 0 comments
Counter : 3330 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.