"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Empress Maria Feodorovna of Russia)


จักรพรรดินีมาเรีย







สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Empress Maria Feodorovna of Russia) พระอิสริยยศเมื่อแรกประสูติคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแด็กมาร์แห่งเดนมาร์ก (มารี โซฟี เฟรเดริคเค แด็กมาร์; 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2390 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2471) ทรงเป็นพระจักรพรรดินีมเหสีแห่งรัสเซีย

เจ้าหญิงแด็กมาร์ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งเฮสส์ - คาสเซิล

หลังอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย จึงทรงได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีมเหสี หรือ ซาริน่าแห่งรัสเซีย ด้วยพระนามใหม่หลังจากการเข้ารีตในศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียว่า มาเรีย เฟโอโดรอฟนา (อักษรซิริลลิก: Mapия Фёдopoвна)

พระราชโอรสพระองค์โตของพระองค์คือ สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย องค์พระประมุขรัสเซีย พระองค์สุดท้ายที่พระจักรพรรดินีทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าเป็นเวลาสิบปี


ครอบครัว

เจ้าหญิงแด็กมาร์ ซึ่งทรงมีพระนามเต็มว่า มารี โซฟี เฟรเดริคเค แด็กมาร์ ทรงได้รับการขนานพระนามตามบรรพสตรีผู้หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าหญิงมารี โซฟี เฟรเดริคเคแห่งเฮสส์-คาสเซิล (พ.ศ. 2310 - พ.ศ. 2395) พระราชชนนีพันปีหลวงแห่งเดนมาร์ก

ต่อมาไม่นานพระชนกในเจ้าหญิงแด็กมาร์ทรงเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เดนมาร์ก ทั้งนี้เป็นเพราะสิทธิในการสืบราชสมบัติของพระชายา ซึ่งทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 8

เจ้าหญิงซึ่งประสูติในสายย่อบของรัฐเจ้าครองนครที่มีฐานะยากจน ทรงเข้ารับศีลจุ่มในลัทธิลูเธอรัน พระชนกของพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2406 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 7

เนื่องมาจากความสัมพันธ์อันรุ่งโรจน์ของบรรดาพระราชโอรสและธิดากับพระราชวงศ์อื่นในทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นการอภิเษกสมรสหรือการครองราชสมบัติ ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชสมัญญาว่า "พระสัสสุระแห่งยุโรป" (Father-in-law of Europe)

ตลอดช่วงพระชนม์ชีพ เจ้าหญิงแด็กมาร์ทรงเป็นที่รู้จักว่า มาเรีย เฟโอโดรอฟนา (ในภาษารัสเซีย Мария Фёдоровна) ซึ่งเป็นพระนามที่พระองค์ทรงใช้เมื่อเข้ารีตในศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซีย

ก่อนการอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2409 กับสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย นอกจากนี้พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในครอบครัวว่า "มินนี่" (Minnie)

เจ้าหญิงแด็กมาร์ หรือ มาเรีย เฟโอโดรอฟนาทรงเป็นพระขนิษฐาในเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่ช่วยอธิบายถึงความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก ระหว่างสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ และ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 8 ซึ่งทรงเป็นพระเชษฐาพระองค์ใหญ่ อีกทั้งยังทรงเป็นพระภคินีในเจ้าหญิงไธรา ดัชเชสแห่งคัมเบอร์แลนด์อีกด้วย

เป็นคู่หมั้นสองหน สุดท้ายเป็นเจ้าสาว

การถือกำเนิดของอุดมคติเกี่ยวกับความชื่นชอบสิ่งซึ่งเป็นของสลาฟในจักรวรรดิรัสเซียทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซียทรงเสาะหาเจ้าสาวให้กับแกรนด์ดยุคนิโคลาส อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย

ในประเทศอื่นนอกเหนือไปจากรัฐเยอรมันต่างๆ ที่ได้ถวายพระชายาให้กับพระจักรพรรดิรัสเซีย อย่างเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาเป็นเวลานาน ในปี พ.ศ. 2407 แกรนด์ดยุคนิโคลาส หรือ ซึ่งรู้จักในหมู่พระประยูรญาติว่า "นิกซา" เสด็จเยือนประเทศเดนมาร์ก และทรงหมั้นกับเจ้าหญิงแด็กมาร์

แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรค เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2408 ทั้งนี้ก่อนสิ้นพระชนม์ยังมีพระประสงค์ให้เจ้าหญิงทรงหมั้นกับแกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระอนุชาแทน

เจ้าหญิงแด็กมาร์ทรงเสียพระทัยมากเมื่อพระคู่หมั้นสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงพระทัยสลายมากเมื่อเสด็จกลับสู่มาตุภูมิ พระประยูรญาติต่างทรงรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพของเจ้าหญิง พระองค์ททรงรู้สึกเกี่ยวพันกับประเทศรัสเซียและนึกถึงประเทศที่ยิ่งใหญ่อยู่ไกลโพ้นที่จะเป็นบ้านใหม่ของพระองค์

การสูญเสียครั้งใหญ่นี้ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพระชนกและชนนีของแกรนด์ดยุคนิกซา และทรงได้รับพระราชหัตถเลขาจากสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ซึ่งเนื้อความในนั้นเป็นคำปลอบใจจากพระจักรพรรดิ พระองค์ตรัสกับเจ้าหญิงด้วยความรักใคร่ว่าพระองค์ทรงหวังว่าเจ้าหญิงจะยังคงคิดว่าเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์รัสเซียอยู่

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2409 เมื่อแกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์เสด็จเยือนประเทศเดนมาร์ก ทรงขออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแด็กมาร์ ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในห้องของเจ้าหญิงเพื่อดูรูปต่างๆ ด้วยกัน


เจ้าหญิงมาเรียและเจ้าชายนิคกี้

เจ้าหญิงแด็กมาร์เสด็จออกจากประเทศเดนมาร์กเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2409 ขณะนั้นท่ามกลางฝูงชนที่ยืนรายล้อมท่าเรือส่งเสด็จ

ได้มีฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ็นยืนเฝ้าส่งเสด็จอยู่ด้วย เขาได้เขียนลงในสมุดบันทึกว่า "เมื่อวานนี้ ที่ท่าเรือ ขณะเจ้าหญิงเสด็จผ่านหน้าข้าพเจ้า ก็ทรงหยุดยืนและจับมือของข้าพเจ้า นัยน์ตาสองข้างเต็มไปด้วยน้ำตา ช่างเป็นสาวน้อยที่น่าสงสารอะไรเช่นนี้

พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาและเห็นใจเจ้าหญิงด้วย เขาร่ำลือว่ามีราชสำนักอันงามสง่าในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และครอบครัวของพระจักรพรรดินั้นดี แต่กระนั้นเจ้าหญิงยังคงต้องมุ่งหน้าไปยังประเทศที่ไม่ทรงคุ้นเคย ที่ซึ่งผู้คนแตกต่างและศาสนาก็แตกต่างเช่นกัน อีกทั้งจะไม่ทรงมีคนรู้จักอยู่ข้างๆ เลย"

เจ้าหญิงแด็กมาร์ทรงได้รับการต้อนรับอันอบอุ่น ที่เมืองครอนสตัดท์จากสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 และสมาชิกทุกพระองค์ในราชวงศ์รัสเซีย เจ้าหญิงทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็นแกรนด์ดัชเชสมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย

งานพิธีราชาภิเษกสมรสอันหรูหราเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน (28 ตุลาคม ตามปฏิทินแบบเก่า) พ.ศ. 2409 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หลังจากคืนวันอภิเษกสมรส แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ทรงเขียนเล่าในสมุดบันทึกว่า

"เราถอดรองเท้าและชุดคลุมประดับด้วยเงินออก และสัมผัสร่างกายที่รักของเราอยู่ด้านข้าง เรารู้สึกยังไงน่ะหรือ เราไม่ปรารถนาที่จะพรรณนาลงในนี้ หลังจากนั้นเราสองคนก็คุยกันอยู่เป็นเวลานาน"

หลังจากงานเลี้ยงฉลองการอภิเษกสมรสทั้งหมดผ่านพ้นไป ทั้งสองพระองค์ก็ได้ย้ายไปยังพระราชวังอานิชคอฟ ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นที่ประทับอีกต่อมา 15 ปี เมื่อมิได้เสด็จประพาสฤดูร้อนยังพระราชวังลิวาเดีย อันเป็นตำหนักฤดร้อนอยู่ในเมืองไครเมีย

แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์และแกรนด์ดัชเชสมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย ทรงมีพระโอรสหกพระองค์และพระธิดาสองพระองค์ ดังนี้

แกรนด์ดัชเชสมาเรีย เฟโอโดรอฟนาและพระราชวงศ์สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย (18 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461)
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437 และทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2461

ทรงอภิเษกสมรสกันในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กับ เจ้าหญิงวิกตอเรีย อลิกซ์ เฮเลนา หลุยส์ เบียทริซแห่งเฮสส์และไรน์ (6 มิถุนายน พ.ศ. 2415 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461) หลังจากการเข้ารีตในศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซีย ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น แกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437

แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย (7 มิถุนายน พ.ศ. 2412 - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2413)

แกรนด์ดยุคจอร์จ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2414 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2442)

แกรนด์ดัชเชสซีเนีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย (6 เมษายน พ.ศ. 2418 - 20 เมษายน พ.ศ. 2503)
ทรงอภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2437 ณ พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof) ใกล้กับกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กับ แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ มิคาอิโลวิชแห่งรัสเซีย (13 เมษายน พ.ศ. 2409 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476)

แกรนด์ดยุคไมเคิล อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย (22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2421 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2461)
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติหลังการสละราชสมบัติของพระเชษฐาธิราชเป็น สมเด็จพระจักรพรรดิไมเคิลที่ 2 แห่งรัสเซีย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2461 แต่ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2461

ทรงอภิเษกสมรสกันเมื่อในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2455 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กับ นาตาเลีย เซอร์เกเยฟนา เชเรเมทเยฟสกายา (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495) ได้รับการสถาปนาเป็น เค้านท์เตสบราสโซวา เมื่อปี พ.ศ. 2471 และ เจ้าหญิงโรมานอฟสกายา-บราสโซวา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

แกรนด์ดัชเชสโอลกา อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย (13 มิถุนายน พ.ศ. 2425 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503)
ทรงอภิเษกสมรสครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2444 ณ เมืองกัตชินา แต่ทรงหย่าร้างเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2459 กับ ดยุคปีเตอร์ ฟรีดริช จอร์จ อเล็กซานโดรวิชแห่งโอลเด็นบูร์ก (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2467)

ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สองเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ณ กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน กับ นิโคลาส อเล็กซานโดรวิช คูลิคอฟสกี (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2425 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2501)

เจ้าฟ้าหญิงพระชายา

แกรนด์ดัชเชสมาเรีย เฟโอโดรอฟนาทรงมีพระสิริโฉมและเป็นที่ชื่นชอบ ในช่วงแรกพระองค์ทรงเริ่มเรียนรู้ภาษารัสเซียและทรงพยายามทำความเข้าใจกับชาวรัสเซีย พระองค์ไม่ค่อยทรงแทรกแซงการเมือง โดยมากโปรดที่จะให้เวลาและกำลังพระวรกายกับครอบครัว การกุศล และงานด้านสังคม

สำหรับตำแหน่งของพระองค์ ทั้งนี้ยังมีข้อยกเว้นหนึ่งคือ ความไม่ชอบในด้านสงครามต่อประเทศเยอรมนี อันเนื่องมาจากการผนวกดินแดนของเดนมาร์กเข้าไปในจักรวรรดิเยอรมันที่สถาปนาขึ้นมาใหม่

จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย

ในตอนเช้าของวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ขณะมีพระชนมพรรษา 62 พรรษา ทรงถูกปลงพระชนม์ในขณะเสด็จกลับมายังพระราชวังฤดูหนาวจากการตรวจแถวทหาร

ต่อมาแกรนด์ดัชัเชสมาเรียได้ทรงบรรยายลงในสมุดบันทึกถึงความบาดเจ็บที่พระจักรพรรดิทรงได้รับเมื่อถูกนำกลับมายังพระราชวัง "พระเพลาทั้งสองข้างของพระองค์ถูกระเบิดอย่างรุนแรง และเปิดขึ้นมาถึงพระชานุ พระโลหิตไหลออกมามากมาย ประมาณครึ่งหนึ่งของฉลองพระบาทบู๊ตข้างขวา เหลืองแต่พระบาทขวาเพียงข้างเดียว"

สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 เสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แม้ว่าประชาชนจะไม่รักใครในพระจักรพรรดิองค์ใหม่ แต่ก็ชื่นชอบในสตรีหมายเลขหนึ่งองค์ใหม่อย่างมาก ดังที่บุคคลร่วมสมัยเดียวกับพระองค์กล่าวว่า

"ทรงเป็นพระจักรพรรดินี อย่างแท้จริง" พระองค์เองทรงไม่พอพระทัยกับพระราชสถานะใหม่เท่าใดนัก ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ทรงเขียนว่า "ช่วงเวลาที่สุขและสงบที่สุดของเราหมดสิ้นลงแล้ว สันติสุขและความเงียบสงบมลายหายไปแล้ว ตอนนี้เราคงจะห่วงแต่เพียงซาชา (ซาชา คือพระนามลำลองที่ทรงเรียกสมเด็จพระราชสวามี จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ) เท่านั้น"

สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ณ พระราชวังเครมลิน ที่กรุงมอสโก เพียงก่อนงานพิธีบรมราชาภิเษก การสบคบคิดวางแผนร้ายครั้งใหญ่ก็ถูกเปิดโปง

ซึ่งทำให้การเฉลิมฉลองเงียบเหงาหดหู่ แต่ก็ยังมีแขกเหรื่อจำนวนกว่าแปดพันคนมาร่วมพระราชพิธีอันงามเลิศนี้ เนื่องมาจากภัยอันตรายต่อสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย ภายหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

นายพลเชเรวิน ซึ่งเป็นหัวหน้าตำรวจรักษาความปลอดภัย ก็เร่งเร้าให้สมเด็จพระจักรพรรดิและครอบครัวเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังกัตชินา ซึ่งเป็นที่ประทับอันปลอดภัยมากกว่า โดยตั้งอยู่ 50 กิโลเมตรนอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

พระราชวังหลังใหญ่นี้มีห้องหับราวเก้าร้อยห้องและสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 พระราชวงศ์โรมานอฟได้ให้ความสนใจกับคำแนะนำดังกล่าวนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียประทับอยู่ที่พระราชวังกัตชินาเป็นเวลาสิบสามปีและทรงเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาจนเจริญพระชนม์ในพระราชวังแห่งนี้ด้วย

ด้วยการคุ้มกันอย่างแน่นหนา สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียเสด็จจากพระราชวังกัตชินาเป็นครั้งคราวเพื่อไปยังเมืองหลวงในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางพิธีการต่างๆ

สมเด็จพระจักรพรรดินีทรงโปรดงานเลี้ยงเต้นรำและการพบปะสังสรรค์ในพระราชวังฤดูหนาวมาก แต่กระนั้นก็ยังสามารถจัดขึ้นในพระราชวังกัตชินา สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ทรงเคยร่วมสนุกกับนักดนตรี แม้ว่าภายหลังจะทรงส่งกลับทีละคน เมื่อสิ้งนี้ได้เกิดขึ้น สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงทราบดีว่างานเลี้ยงได้สิ้นสุดลงแล้ว

ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 กลุ่มต้อต้านระบอบกษัตริย์เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้พยายามวางแผนลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระจักรพรรดิในงานครบรอบหกปีการเสด็จสวรรคตของพระชนกนาถ สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ ๒

ที่จัดขึ้น ณ ป้อมปีเตอร์และปอลมหาวิหารสุสานหลวงแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เหล่านักวางแผนก่อการร้ายได้ยัดระเบิดลงไว้ในไส้ข้างในของหนังสือเรียนที่พวกเขาตั้งใจจะขว้างใส่สมเด็จพระจักรพรรดิขณะเสด็จกลับจากมหาวิหาร

ตำรวจลับรัสเซียได้เปิดโปงแผนการร้ายก่อนที่ถูกทำให้สำเร็จลุล่วง นักศึกษาจำนวนห้าคนถูกจับแขวนคอ รวมทั้งอเล็กซานเดอร์ อุลยานอฟ เขามีน้องชายที่มีพรสววรค์คนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดทางการเมืองในเชิงปฏิบัติดังเช่นพี่ชาย เด็กชายคนนั้นคือ วลาดิมีร์ เลนิน

ซึ่งอีกหลายปีต่อมาได้ใช้เวลาส่วนมากกับขบวนการปฏิวัติใต้ดินอยู่ในทวีปยุโรปในการหล่อหลอมแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองที่เขาจะนำมาใช้ในประเทศรัสเซียหลังจากการกลับมาในปี พ.ศ. 2460 เพื่อล้างแค้นให้กับการตายของพี่ชาย

เมื่อเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานดรา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ มกุฏราชกุมารีแห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระราชวังกัตชินาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2437 พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่ได้เห็นว่าพระพลานามัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระกนิษฐภรรดาอ่อนแอลงมาก

โดยทรงดูเหมือนเหี่ยวแห้งลง ความสดชื่นบนพระปรางและความสดใสร่าเริงได้จางหายไป ในตอนนั้นสมเด็จพระจักรพรรดินีทรงทราบนานแล้วว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระประชวรและจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้อีกไม่นาน

จึงได้ทรงหันความสนใจมาที่มกุฎราชกุมารนิโคลาส พระราชโอรสองค์ใหญ่ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและอนาคตของพระราชวงศ์ซึ่งตอนนี้ขึ้นอยู่กับพระองค์ มกุฎราชกุมารนิโคลาสทรงหมายมั่นมานานที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์และไรน์

ทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสนี้ มกุฎราชกุมารนิโคลาสจึงทรงสรุปสถานการณ์ไว้ดังนี้ "เราอยากเดินไปสู่จุดหมายหนึ่ง แต่มันก็เห็นชัดว่าแม่อยากจะให้เราเดินไปอีกทาง ความฝันของเราคือวันหนึ่งจะแต่งงานกับอลิกซ์"

ทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงมองว่าเจ้าหญิงอลิกซ์ทรงขี้อายและแปลกประหลาดในบางครั้ง ทั้งสองพระองค์ยังทรงกังวลว่าเจ้าหญิงวัยดรุณีพระองค์นี้ขาดคุณสมบัติคู่ควรในการเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งรัสเซียอีกด้วย

พระชนกนาถและพระราชชนนีของมกุฎราชกุมารนิโคลาสทรงรู้จักกับเจ้าหญิงอลิกซ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงมีความรู้สึกว่าเจ้าหญิงทรงมีอารมณ์รุนแรงผิดปกติและไม่เต็มบาท ทั้งสองพระองค์ทรงยอมให้มกุฎราชกุมารอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอลิกซ์อย่างลังเลพระทัย

พระจักรพรรดินีพันปีหลวง

สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437 ณ พระราชวังลิวาเดีย ที่ประทับตากอากาศบนแหลมไครเมีย ขณะทรงมีพระชนมพรรษาได้ 49 พรรษา สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงเขียนลงในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ว่า

"เราเสียใจและท้อใจอย่างที่สุด แต่เมื่อเราเห็นรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขและความสงบบนใบหน้าของเขาตามมานั้น มันก็ทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น" ในระยะเวลาที่ไม่สามารถปลอบโยนได้ของสมเด็จจักรพรรดินีมาเรีย เจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระเชษฐภคินีและเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) พระเชษฐภรรดา (พี่เขย) ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังประเทศรัสเซียในอีกไม่กี่วันต่อมา

เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงวางกำหนดการพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสสำหรับสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 องค์พระประมุขแห่งรัสเซียพระองค์ใหม่กับเจ้าหญิงอลิกซ์

เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ พระนัดดาเขยในพระจักรพรรดินีมาเรีย ทรงบันทึกว่า พระองค์ทรงมีอิทธิพลอย่างมากในพระราชวงศ์ เซอร์เกย์ วิตต์ก็ได้ชื่นชมถึงไหวพริบปฏิภาณและทักษะทางการทูตของพระองค์ แต่กระนั้นพระองค์ทรงเข้ากับสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระสุณิสาได้ไม่ดีนัก

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทำให้ต้องทรงรับผิดชอบกับความเศร้าโศกที่ประดังเข้ามาในครอบครัวของสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัส พระราชโอรสของพระองค์

ทันที่การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ผ่านพ้นไป สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย ซึ่งบัดนี้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแห่งรัสเซีย ทรงมีมุมมองอนาคตที่สดใสมากกว่าเดิม ดังที่ตรัสว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างจะราบรื่นดี"

พระองค์ประทับอยู่ในประเทศรัสเซียมาเป็นเวลายี่สิบแปดปีแล้ว โดยช่วงสิบสามปีทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีเอกอัครมเหสี และในอีกสามสิบสี่ปีความเป็นม่ายยังคงรอพระองค์อยู่ ส่วนในสิบปีสุดท้ายเป็นการลี้ภัยอยู่นอกประเทศในมาตุภูมิ

ในตอนสิ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2437 สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังอานิชคอฟ ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จนกระทั่งการปฏิวัติเริ่มขึ้น พระองค์ทรงดำรงพระชนม์และปลอบพระทัยพระองค์เองได้อย่างเสรี

และเมื่อเวลาผ่านเลยไปความกลัวได้ลดน้อยถอยลง ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีและพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ไม่ได้ทรงตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองสำหรับพวกมือสังหารในลัทธิสังคมนิยมและอนาธิปไตยอีกต่อไป

การปฏิวัติและลี้ภัย

การปฏิวัติเข้ามาที่ประเทศรัสเซียในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 หลังจากทรงพบกับสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พระราชโอรสซึ่งทรงถูกโค่นล้มลงมาจากราชบัลลังก์ในเมืองโมกิเลฟ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียประทับ ณ เมืองเคียฟอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจในสภากาชาดต่อไป

เมื่อมันเป็นอันตรายต่อการประทับอยู่ต่อ พระองค์จึงเสด็จไปยังเมืองไครเมียพร้อมกับสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟที่ลี้ภัยพระองค์อื่น เมื่อประทับอยู่ที่ทะเลดำ พระองค์ก็ทรงได้รับรายงานว่าพระราชโอรส พระราชสุณิสาและพระราชนัดดาทรงถูกปลงพระชนม์

พระองค์ทรงปฏิเสธว่ารายงานนั้นเป็นเพียงข่าวลือ ในวันหนึ่งหลังจากการปลงพระชนม์ครอบครัวของสมเด็จพระจักรพรรดิ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงได้รับข้อความฉบับหนึ่งจากนิคกี้ที่เป็น "ชายที่น่าประทับใจคนหนึ่ง" ซึ่งเล่าถึงชีวิตอันยากลำบากของครอบครัวพระราชโอรสในเมืองเยคาเทรินเบิร์ก

"และไม่มีใครช่วยหรือปลดปล่อยพวกนั้นได้เลย มีแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์โปรดช่วยเหลือนิคกี้ผู้น่าสงสารและโชคร้าย ช่วยเขาในเวลายากลำบากมากด้วย" ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์นั้น ยังทรงปลอบใจพระองค์เองว่า "เราแน่ใจว่าพวกนั้นได้ออกจากรัสเซียมาแล้วและตอนนี้พวกบอลเชวิคกำลังพยายามปิดบังความจริงเอาไว้"

พระองค์ทรงยึดถือความเชื่อมั่นนี้อย่างเหนียวแน่นจนถึงวันสวรรคต ความจริงมันเจ็บปวดมากเกินกว่าพระองค์จะแบกรับไว้ได้ พระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรสและพระราชวงศ์ได้หายสาบสูญไปนับแต่นั้น แต่ในฉบับหนึ่งที่พบ พระองค์ทรงเขียนว่า

"ลูกรู้ว่าความคิดและคำภาวนาของแม่ไม่เคยหายไปจากลูกเลย แม่คิดถึงลูกทั้งวันและคืนและบางครั้งรู้สึกเจ็บปวดที่ใจมากจนแม่แทบจะทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่พระเจ้าทรงมีพระเมตตา พระองค์จะประทานความเข้มแข็งให้เราผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้"

ถึงแม้ว่าจะมีการล้มล้างระบอบราชาธิปไตยไปในปี พ.ศ. 2460 แล้วก็ตาม ในตอนแรกสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกจากประเทศรัสเซีย พอในปี พ.ศ. 2462 ด้วยการเร่งเร้าของสมเด็จพระบรมราชชนนีอเล็กซานดราแห่งอังกฤษ จึงจำต้องเสด็จออกจากประเทศรัสเซียอย่างไม่เต็มพระทัย

โดยการหลบหนีไปทางแหลมไครเมีย ประทับเรือหลวงของอังกฤษที่พระเจ้าจอร์จที่ ๕ ผู้เป็นพระราชนัดดา (เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าอเล็กซานดราฯพระพี่นาง) ออกจากทะเลดำ ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และไปถึงกรุงลอนดอน ในที่สุด

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงส่งเรือรบหลวง HMS Marlborough เพื่อจะช่วยชีวิตสมเด็จพระมาตุจฉา (น้า น้องสาวแม่) หลังจากการประทับในฐานทัพเรืออังกฤษที่เกาะมอลตา และต่อมาในกรุงลอนดอนระยะหนึ่งแล้ว จึงเสด็จกลับประเทศเดนมาร์ก

โดยทรงเลือกประทับอยู่ในตำหนักฮวิดอร์ ใกล้กับกรุงโคเปนเฮเกน เป็นที่ประทับถาวรแห่งใหม่ แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีอเล็กซานดราไม่ทรงเคยปฏิบัติพระองค์ไม่ดีกับพระกนิษฐาและทรงใช้เวลาในวันหยุดด้วยกันในตำหนักเล็กหลังหนึ่งในอังกฤษ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียกลับทรงรู้สึกว่าตอนนี้ทรงเป็น "รอง"

ในระหว่างการลี้ภัยอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็ยังมีผู้อพยพชาวรัสเซียจำนวนมากมาย สำหรับพวกเขาสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียยังคงทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงศักดิ์สูงสุดเหนือพระราชวงศ์รัสเซียทั้งมวล

ผู้คนแสดงความเคารพและเห็นคุณค่าของพระองค์อย่างมาก รวมทั้งยังให้ความช่วยเหลือพระองค์อยู่บ่อยครั้ง สมัชชาสนับสนุนประมุขแห่งชาวรัสเซียทั้งมวลซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2464 ได้เสนอให้พระองค์เป็นผู้รักษาการณ์ชั่วคราวของราชบัลลังก์รัสเซีย แต่พระองค์ทรงปฏิเสธข้อเสนอนั้น

พระองค์ไม่โปรดที่จะแทรกแซงเกมทางการเมืองและทรงให้คำตอบที่หลบเลี่ยงว่า "ไม่มีใครเห็นนิคกี้ถูกปลงพระชนม์" และดังนั้นจึงยังมีโอกาสเหลืออยู่ พระองค์ทรงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นิโคไล โซโคลอฟ ซึ่งเป็นนักลงทุน ที่ศึกษาเหตุการณ์เกี่ยวกับการปลงพระชนม์ครอบครัวของสมเด็จพระจักรพรรดิ

ทั้งพระองค์และนิโคไลไม่เคยพบกันเลย โดยในตอนสุดท้ายแกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงส่งโทรเลขมายังกรุงปารีส เพื่อยกเลิกนัดหมายในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินี มันคงเป็นการยากมากสำหรับสตรีชราและเจ็บป่วยที่จะได้ยินเรื่องราวอันเลวร้ายของลูกชายและครอบครัว

การสวรรคตและการฝังพระศพ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอเล็กซานดรา พระบรมราชเทวี พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระเจ้าจอร์จที่ ๕ แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีที่ทรงสนิทสนมมากที่สุดเสด็จสู่สวรรคาลัย สิ่งนี้นับเป็นการสูญเสียครั้งสุดท้ายเกินกว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย ผู้ทรงพระชราจะทรงทนรับได้

แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ มิคาอิโลวิชแห่งรัสเซีย ซึ่งทรงเป็นพระชามาดา(ลูกเขย) ได้เขียนเกี่ยวกับบั้นปลายพระชนม์ชีพของสมเด็จพระจักรพรรดินีไว้ว่า "พระองค์ทรงพร้อมที่จะพบกับพระผู้สร้างแล้ว" สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียเสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2471

ณ พระตำหนักที่เคยทรงประทับร่วมกับสมเด็จพระบรมราชชนนีอเล็กซานดรา แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี ที่เมืองฮวิดอร์ ใกล้กับกรุงโคเปน เฮเกน สิริพระชนมายุ ๘๑ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระจักรพรรดินีมเหสีในราชวงศ์โรมานอฟที่เสด็จสวรรคตเป็นคนสุดท้าย

หลังจากการทำพิธีทางศาสนาในโบสถ์ออร์โธด็อกซ์รัสเซียอเล็กซานเดอร์ เนฟสกี พระบรมศพของสมเด็จพระจักรพรรดินีได้รับการบรรจุฝังอยู่ในวิหารหลวงรอสคิลด์ อันเป็นสุสานหลวงของพระราชวงศ์เดนนิช ตามพระชาติกำเนิด ที่ทรงพระราชสมภพเป็นเจ้าหญิงเดนนิช

ในปี พ.ศ. 2548 สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์กและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียและรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระจักรพรรดินีคืนสู่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

เพื่อให้สอดคล้องกับที่ทรงมีพระราชประสงค์จะได้รับการบรรจุฝังไว้เคียงข้างกับสมเด็จพระราชสวามี พิธีกรรมทางศาสนาจำนวนมาก เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ในพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งบุคคลสำคัญระดับสูงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งเจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารและเจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายและเจ้าหญิงไมเคิลแห่งเคนต์ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น โดยมีกลุ่มคนยืนรอบโลงพระศพแน่นขนัดมากเสียจนทำให้นักการทูตหนุ่มชาวเดนมาร์กคนหนึ่งตกลงไปในช่องที่เตรียมไว้สำหรับบรรจุฝังพระบรมศพก่อนจะมีการวางหีบพระบรมศพลงมา ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549

หลังจากการทำพิธีทางศาสนาในมหาวิหารเซนต์ไอแซ็ก พระบรมศพได้รับการบรรจุอยู่เคียงข้าง สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระราชสวามี เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ณ ป้อมปีเตอร์และปอล

อันเป็นสุสานหลวงที่ประดิษฐานพระบรมศพซาร์และซารินาแห่งรัสเซียทุกพระองค์ตั้งแต่ซาร์ปีเตอร์ที่๑ มหาราชเป็นต้นมา รวมเป็นเวลา 140 ปีหลังจากการเสด็จมาประเทศรัสเซียเป็นครั้งแรกและเกือบ 78 ปีหลังจากการเสด็จสู่สวรรคาลัย


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


โสรวารสิริสวัสดิ์ มานมนัสรมเยศค่ะ




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 19 ธันวาคม 2552 7:33:44 น.
Counter : 2326 Pageviews.


sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.