"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
1 กันยายน 2552
 
All Blogs
 

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (สำนักหอสมุดแห่งชาติ 2510)

พระราชประวัติ


พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสของ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” กษัตริย์ไทยพระองค์แรกแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย และพระนางเสืองพระราชมารดา ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยกันรวม 5 พระองค์

พระราชโอรสพระองค์ใหญ่กับราชธิดาสององค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คงเหลือเพียงพระราชโอรสองค์รองหรือพระองค์ที่ 2 นามว่า “บานเมือง”

(บางตำราเขียน บาลเมือง “ หรือต่อมาคือ “พ่อขุนบาลเมือง” ซึ่งได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย และพระราชโอสรองค์น้อย ซึ่งต่อมาคือ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย (ราชวงศ์พระร่วง)


ศึกยุทธหัตถีและที่มาแห่งพระนามรามคำแหง

ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด เป็นหัวหน้าคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะตั้งตัวเป็นใหญ่เช่นเดียวกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และไม่ยอมรวมกับอาณาจักรสุโขทัย ได้รวบรวมกำลังพลยกกองทัพมาตีเมืองตาก

ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเมืองฉอดในปัจจุบันคืออำเภอแม่สอดในจังหวัดตาก (ปัจจุบันยังมีเจดีย์ยุทธหัตถีปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในอำเภอบ้านตาก) อันเป็นหัวเมืองชายแดนของอาณาจักรสุโขทัย

ในการรบครั้งนี้ ทหารของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียทีแตกพ่ายถอยร่นลงมา เจ้ารามพระราชโอรสองค์น้อยทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งไม่ยอมเสด็จหนี ทรงชับช้างเข้าทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนจนได้รับชนะ กองทหารของขุนสามชนแตกพ่ายหนีไป

แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่มีหลักฐานระบุไว้แน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ. 1800 หรือ พ.ศ. 1801 อันเป็นช่วงที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เพิ่งจะก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยใหม่ ๆ ยังมีกำลังพลไม่กล้าแข็ง เพราะไม่เช่นนั้นขุนสามชนคงไม่กล้ายกกองทัพมารุกราน

และสันนิษฐานต่อไปได้ว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะเสด็จพระราชสมภพในราวปี พ.ศ. 1780 หรือ พ.ศ. 1781 เนื่องจากในศิลาจารึกกล่าว่า พ่อขุนรามคำแหงชนช้างชนะขุนสามชนขณะมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ดังนี้

“..เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่า (ตี) เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชันหัวซ้าย ขุนสามชนขัยมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใส่พ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ๋น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล (นำพล) กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหงเพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน”

ปีพระราชสมภพที่กล่าวมานี้ยังใกล้เคียงกับปีประสูติของพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานทั้ง 2 พระองค์ คือ “พญาเม็งรายมหาราช หรือ พ่อขุนเม็งรายมหาราช” เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งประสูตbเมื่อ พ.ศ. 1782

กับ “ พญางำเมือง หรือพ่อขุนงำเมือง” เจ้าเมืองพระเยา ซึ่งประสูติเมื่อ พ.ศ. 1781 ทั้ง 3 พระองค์ต่างเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบาน และบางตำนานว่าต่างเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันตั้งแต่เมื่อครั้งไปเรียนศิลปวิทยาที่สำนักสุกรรทีนตฤษี ณ เมืองละโว้ (ลพบุรี)

เมื่อเสร็จสงครามในคราวนี้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงปูนบำเหน็จรางวัลพระราชโอรสอย่างสูง พร้อมทั้งพระราชทานพระนามว่า “พระรามคำแหง” มาจากพระนามเดิมว่า “ราม” หรืออาจเรียกกันเป็นสามัญว่า “เจ้าราม” ก็ได้


พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ


เมื่อทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงเห็นว่าพระราชโอรสรามคำแหงเป็นนักรบทีเข้มแข็งและมีความสามารถ จึงให้เป็นแม่ทัพคุมพลไปตีเมืองหัวน้อยใหญ่ ที่ยังไม่เข้ามาอ่อนน้อมโดยเริ่มจากเมืองที่อยู่ใกล้เคียงก่อน เพื่อเป็นการขยายพระราชอาณาจักร

ซึ่งพระราชโอรสรามคำแหงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดียิ่ง เมื่อทรงตีได้เมืองใดก็ให้กวาดต้อนผู้หญิงชาย ตลอดจนช้างม้าวัวควาย อันเป็นพาหนะสำคัญที่ใช้ในการรบ

รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองของมีค่าต่าง ๆ อันเป็นธรรมเนียมของการทำศึกในครั้งนั้น โดยส่งนำมาถวายพระราชบิดาและพระเชษฐาทุกครั้งไป ดังมีหลักฐานในศิลาจารึกกล่าวไว้ว่า

“…กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง (ชายหญิง) ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม”

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคตปีใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด (แต่มีบางตำราว่าครองราชย์อยู่ประมาณ 11 ปี และสวรรคตในปี พ.ศ. 1811) จากนั้นพระราชโอรสผู้เป็นพระเชษฐาธิราชองค์โตของเจ้ารามคำแหง คือ “เจ้าบานเมือง” (บางตำราเขียน บาลเมือง”

ซึ่งดำรงตำแหน่งองค์อุปราชจึงเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 สืบต่อมา ทรงพระนามว่า “พ่อขุนบานเมือง” และได้ทรงสถาปนาพระอนุชา คือ “เจ้ารามคำแหง” หรือ เจ้าร่วง” ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย (เมืองเชลียง)

พ่อขุนบานเมืองสวรรคตปีใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดเช่นกัน (บางตำราว่าครองราชย์อยู่ 9 ปี คือครองราชย์ปี พ.ศ. 1811 และสวรรคตใน ปี พ.ศ. 1820 )

แต่หากคำนวณจากข้อความในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 พ่อขุนบานเมืองน่าจะสวรรคตในปี พ.ศ. 1822

ซึ่ง “เจ้ารามคำแหง” ผู้เป็นอุปราชได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 สืบต่อมา ทรงพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหง” (พ.ศ. 1822-1842)


พระราชกรณียกิจด้านการขยายพระราชอาณาเขตและป้องกันประเทศ


เมื่อชนชาติไทยที่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในถิ่นต่าง ๆ ทราบว่าอาณาจักรสุโขทัยสามารถตั้งตนเป็นอิสระมิได้อยู่ภายใต้การปกครองของพวกขอมดังแก่ก่อน บวกกับพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหง จึงต่างพากันมาขออาศัยพระบรมโพธิสมภารด้วยเป็นจำนวนมาก

พ่อขุนรามคำแหงยังได้ดำเนินการขยายพระราชอาณาเขตและป้องกันประเทศ โดยกำหนดให้ชายฉกรรจ์ทุกคนซึ่งในยามปกติมีฐานะเป็นพลเมือง และยามสงครามต้องจับอาวุธเข้าเป็นทหาร ส่วนในยามสงบก็ทรงให้ฝึกปรืออาวุธยุทโธปกรณ์อย่าเสมอเพื่อความไม่ประมาท

พ่อขุนรามคำแหงไม่ต้องการที่จะให้เกิดการรบราฆ่าฟันในระหว่างคนไทยด้วยกันเอง จึงขยายพระราชอาณาเขตลงไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนของพวกขอมและมอญ

ซึ่งทรงดำริว่าเมื่อสามารถปราบปรามได้แล้วคนไทยในดินแดนอื่น ๆ ที่ยังตั้งตนเป็นอิสระย่อมยอมรับในพระราชอำนาจ

หัวหน้าคนไทยที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นต่างเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานของพระองค์ เช่น พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) เจ้าเมืองเงินยาง และ พญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา จึงดำเนินนโยบายผูกสัมพันธไมตรีเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น

เมื่อครั้งที่พญามังรายมีพระราชประสงค์จะสร้างราชธานีใหม่ ก็ได้ทูลเชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานไปช่วยดูทำเลเลือกหาชัยภูมิเมืองเชียงใหม่

พ่อขุนรามคำแหงทรงดำเนินพระราชไมตรีกับ “พระเจ้าหงวนซีโจ๊วฮ่องเต้” อดีตชนชาติตาดหรือมองโกล มีพระนามเดิมว่า “ฮูปิโล” หรือ “กุบไลข่าน” (หลานของเจงกิสข่าน)

หลังจากเข้ายึดครองอาณาจักรจีนไว้ในพระราชอำนาจได้เกือบทั้งหมดในราวปี พ.ศ.1820 กุลไลข่านได้แปลงสัญชาติเป็นจีน สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หงวน และพัฒนาประเทศรวมทั้งกำจัดศัตรูที่เป็นภัยต่อการครองอำนาจภายในประเทศ

อาณาจักรขอมกำลังอยู่ในยุคเสื่อมโทรมหลังจากมีอำนาจอยู่ในดินแดนแหลมทองมาเป็นเวลานับพันปี พ่อขุนรามคำแหงสามารถดำเนินการขยายพระราชอาณาเขตได้โดยสะดวก ทรงนำกองทัพไทยเข้าโจมตีอาณาจักรขอมและได้รับชัยชนะเสมอมา

ทำให้อาณาจักรสุโขทัยสามารถขยายอาณาเขตออกไปครอบคลุมอาณาจักรขอมได้เกือบทั้งหมด (เว้นกรุงกัมพูชา ราชธานีขอม อีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง) บรรดาเมืองใหญ่น้อยต่างพากันเกรงในพระราชอำนาจเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์

ทำให้อาณาจักรสุโขทัยแผ่ขยายออกไปทั้ง 4 ทิศ ปรากฏข้อความในหลักศิลาจารึกสรุปได้ดังนี้

ทิศเหนือ เดิมไทยฝ่ายเหนือ (ลานนา หรือล้านนา) ได้ขยายอาณาเขตมาถึงเมืองลำปาง จดชายแดนอาณาเขตสุโขทัย แต่ต่อมาเมืองแพร่และเมืองน่านเข้ามาสวามิภักดิ์ อาณาเขตด้านนี้ของกรุงสุโขทัยจึงขยายไปจนจดเขตไทยล้านนาที่เมืองลำปาง

เมืองพลัว (ปัจจุบันคืออำเภอปัวในจังหวัดน่าน) แล้วข้ามฝั่งโขงไปจดเมืองชะวา หรือในปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง (ชะวามาจากคำว่าซ่าวหรือบ้านซ่าว เมื่อได้พระบางมาเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองจึงเปลี่ยนเป็นเมืองหลวงพระบาง

ทิศตะวันออก เดิมอาณาเขตเพียงแค่เมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาได้เมืองสระหลวง (คือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตก หรือเมืองโอฆบุรี ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเป็นเมืองพิจิตร) เมืองสองแคว (คือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก) เมืองลุม (คือเมืองหล่มเก่า)

เมืองบาจาย (น่าจะเป็นเมืองศรีเทพ แต่บางตำราว่า “ลุมบาจาย” อาจจะเป้นเมืองเดียวกัน เป็นเมืองโบราณหรืออยู่แถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก) เมืองสคา หรือสระคา (น่าจะเป็นเมืองหนองหานหรือสกลนคร บางตำราว่ายังไม่รู้ที่ตั้งแน่นอน) กระทั่งริมฝั่งแม่น้ำโขงถึงเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงคำ (อยู่ใต้เมืองเวียงจันทน์)

ทิศตะวันตก เดิมอาณาเขตเพียงเมืองตาก ต่อมาขยายไปถึงหัวเมืองมอญที่อยู่ในความปกครองของ “พระเจ้าฟ้ารั่ว” หรือ มะกะโท” ซึ่งเป็นเมืองออกหรือประเทศราช

ทิศใต้ ได้เมืองคนที (คือ บ้านโคกอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างกำแพงเพชรกับนครสวรรค์ แต่บางตำราว่าอาจจะเป็นเมืองพิจิตร ) เมืองพระบาง (คือเมืองนครสวรรค์ในปัจจุบัน) เมืองแพรก (คือเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) เมืองสุพรรณภูมิ (คือเมืองอู่ทอง อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี

ทรงยกกองทัพมาตีหัวเมืองทางใต้เมื่อประมาณ พ.ศ. 1823 ตีได้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เลยไปถึงใต้สุดของแหลมมลายู ได้เมืองยะโฮร์ หรือจนจดมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนตอนใต้

ดังนั้นในหลักศิลาจารึกจึกสรุปความเกี่ยวกับพระราชอาณาเขตกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงได้ว่า “มีเมืองกว้างช้างหลาย”

พระราชกรณียกิจด้านกิจการปกครอง

ในสมัยกรุงสุโขทัยยังคงเป็นการปกครองแบบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือกฎหมาย หรือตามที่เรียกกันว่า “ระบอบราชาธิปไตย”

แต่พ่อขุนรามคำแหงทรงดำเนินการปกครองด้วยแบบและวิธีการที่คิดขึ้นใหม่ เรียกว่าเป็นการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก”

อันถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลสุขทุกข์ของเหล่าอาณาประชาราษฎร์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมและเที่ยงธรรม

บ้านเมืองจึงเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรอยู่เป็นสุขมีอิสระเสรี ดังข้อความตอนหนึ่งในหลักศิลาจารึกได้กล่าวไว้ว่า

“…เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส..”

ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ไม่ว่าจะเป็นขุนนางข้าราชการมีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ หรือไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ต่างมีสิทธิเสรีภาพเสมอกันโดยทรงตรากฎหมายสำคัญไว้ 4 บทคือ

บทมรดก หมายถึงทรัพย์สินต่าง ๆ หรือมรดกตกทอดจากบิดามารดาปู่ย่าตายาย ซึ่งเมื่อล่วงลับไปแล้วทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมตกแก่บุตร ธิดา ญาติ พี่น้อง ได้เป็นผู้สืบทอดปกครองต่อไป

ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นขุนนางหรือเจ้าหน้าที่ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์หรืออำนาจใด ๆ จะกดขี่ข่มเหงและเมิดสิทธิการครอบครองมิได้

บทที่ดิน หมายถึงชาวสุโขทัยทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบสัมมาอาชีพในทางสุจริตตามความถนัดหรือความสามารถของตน

ผู้ใดลงทุนลงแรงหักร้างถางพงจับจองที่ดินทำเรือนสวนไร่นา ย่อมมีสิทธิอำนาจในที่ดินผืนนั้นโดยสมบูรณ์

บทพิจารณา หมายถึงการตัดสินคดีความใด ๆ ให้พิจารณาไต่สวนให้ได้ความสัตย์จริง และตัดสินโดยความเที่ยงตรง

บทฎีกา พ่อขุนรามคำแหงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แวนกระดิ่งไว้ที่หน้าประตูชั้นนอกเขตพระราชฐาน หากผู้หนึ่งผู้ใดมีความทุกข์หรือเดือดร้อนด้วยเรื่องใด ๆ สามารถสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ได้ตลอดเวลา

โดยจะเสด็จออกมารับฟังและวินิจฉัยสั่งการพิพากษาคดีนั้น ๆ ด้วยพระองค์เอง

แม้เมื่อเสด็จไปราชการก็ยังทรงมอบหมายให้พระราชวงค์หรือขุนนางผู้มีหน้าที่โดยตรงรับพระราชภารกิจนี้แทนทุกครั้งไป
ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก หลักที่ 1 ข้อความตอนหนึ่ง ว่า

“ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น (ที่นั่น) ไพร่ฟ้าหน้าปก (ประชาชนที่มีทุกข์ร้อน) กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้

พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยชื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม” คือเมื่อตุลาการชำระคดีนั้น ๆ มาแล้ว แต่หากยังไม่เป็นที่พอใจของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย

พระองค์ก็ทรงเปิดโอกาสให้คู่พิพาทเข้าไปหาพระองค์เพื่อสอบสวนด้วยความเป็นธรรม แล้วตัดสินให้อีกครั้งหนึ่งซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “ถวายฎีกา”

นอกจากทางตรากฎหมายสำคัญดังกล่าวมาแล้วนั้น ในด้านการปกครองภายในประเทศเนื่องจากในเวลานั้นอาณาจักรสุโขทัยขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง พระองค์จึงทรงใช้วิธีกระจายอำนาจการปกครอง

โดยแบ่งการปกครองออกเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช (หรือ เมืองหลวงราชธานี เมืองลูกหลวง เมืองพระยามหาราช และเมืองขึ้นหรือเมืองประเทศราช)

หัวเมืองชั้นใน ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ โดยมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักร อีกทั้งเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม มีเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองอุปราชประกอบด้วยเมืองหน้าด่านสำคัญ (เมืองลูกหลวง) ล้อมเขตราชธานีทั้ง 4 ทิศ ได้แก่

ทิศเหนือ ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย

ทิศตะวันออก ได้แก่ เมื่องทุ่งยั้ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์) เมืองบางยม (?) เมืองสองแคว (ปัจจุบันคือ จังหวัดพิษณุโลก) เมืองสระหลวง (ปัจจุบันคือจังหวัดพิจิตร)

ทิศตะวันตก ได้แก่ เมืองกำแพงเพชร เมืองตาก

ทิศใต้ ได้แก่ เมืองพระบาง (ปัจจุบันคือจังหวัดนครสวรรค์) และเมืองคนที (? บางตำราว่าอาจจะเป็นเมืองพิจิตร)

มีบางตำราว่าเมืองหลวงซึ่งทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันราชธานี มี 4 เมือง คือ ทิศเหนือ ได้แก่เมืองศรีสัชนาลัย ทิศตะวันออก ได้แก่ เมืองสองแคว (พิษณุโลก) ทิศใต้ ได้แก่ เมืองสระหลวง (พิจิตร) และทิศตะวันตก ได้แก่ เมืองนครชุม

หัวเมืองชั้นนอก เรียกว่า “เมืองพระยามหานคร” เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลราชธานี องค์พระมหากษัตริย์มิได้ปกครองด้วยพระองค์เอง แต่ทรงแต่งตั้งให้พระราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่

หรือข้าราชการฝ่ายปกครองที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นเจ้าเมืองไปปกครองแทน เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระ

ลักษณะเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน หัวเมืองชั้นนอกนี้ ยังแบ่งออกเป็นเมืองชั้นเอกเมืองชั้นโท เมืองชั้นตรี และเมืองชั้นจัตวา ตามลำดับความสำคัญ

นอกจากต้องส่งรายได้ของแผ่นดินบางส่วนแล้ว เมื่อยามบ้านเมืองมีภัยเกิดศึกสงครามเจ้าเมืองมีหน้าที่เกณฑ์กำลังพลจัดเป็นกองทัพส่งไปช่วยเมืองหลวงด้วย ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ได้แก่ เมืองแพร่ เมืองเพชรบูรณ์ และศรีเทพ (ปัจจุบัน อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์)

ทิศใต้ ได้แก่ เมืองแพรก (คือเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) เมืองสุพรรณภูมิ (คือเมืองอู่ทอง อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และเมืองตะนาวศรี

เมืองประเทศราช ได้แก่เมืองขึ้นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ชาวเมือง เป็นคนต่างชาติต่างภาษา ทรงให้ดำเนินการปกครองกันเอง ซึ่งเมื่อผู้ใดได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากองค์พระมหากษัตริย์ ณ ราชธานีเสียก่อนจึงจะถือว่าสมบูรณ์

เจ้าประเทศราชมีอำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ แต่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามจำนวนและเวลาที่กำหนด อีกทั้งต้องจัดส่งกองทัพมาช่วยในยามศึกสงครามเช่นเดียวกัน

หากไม่ปฏิบัติตามย่อมอยู่ในลักษณะกระด้างกระเดื่องคิดการกบฎ จะต้องถูกกำราบปราบปรามอย่างเฉียบขาด

เมืองประเทศราชในสมัยพ่อขุนรามคำแหงประกอบด้วย

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมืองน่าน เมืองเซ่า (?) เมือง เวียนจันทน์ และเวียงคำ รวมทั้งหลวงพระบาง (ลาว)

ทิศตะวันตก ได้แก่ เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ และหงสาวดี (อยู่ในการปกครองมอญ)

ทิศใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองมะละกา และยะโฮร์

พระราชกรณียกิจด้านการเศรษฐกิจและการค้า

พ่อขุนรามคำแหงทรงเอาพระทัยใส่ทั้งในด้านการปกครอง และความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์ ในด้านการเศรษฐกิจนั้น ทรงส่งเสริมทั้งภาคเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม

ในผืนนาเต็มไปด้วยข้าว ในแม่น้ำลำคลองอุดมไปด้วยปูปลาและสัตว์น้ำชุกชุม ประชาชนไม่มีความอดอยาก

นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้พลเมืองปลูกพืชเกษตรต่าง ๆ เช่นมี ป่าหมากป่าพลู ป่าหมากพร้าว (มะพร้าว) ป่าลาง (ขนุน) ป่าม่วงป่าขาม (มะม่วง มะขาม) นอกจากนั้นยังกล่าวถึง “ตลาดปสาน” ด้วย

คำว่าป่าหมากป่าพลู มิได้หมายเอาเฉพาะหมากและพลูเท่านั้น แต่หมายถึงพฤกษชาติต่าง ๆ และรวมถึงต้นไม้ประเภทกินใบ เช่นพวกผักสวนครัวต่าง ๆ ด้วย

ส่วน ตลาดปสาน แปลว่าตลาดขายของ หรือ ตลาดอันมีร้านเป็นแถวติดต่อกัน (เป็นคำภาษาเปอร์เซียว่า “bazaar” หมายถึงตลาดที่ขายของเป็นประจำคือ ตลาดห้องแถว มิใช่เป็นเพียงตลาดนัด)

สมัยก่อนการค้าขายในเมืองสุโขทัยเกิดจากบรรดาพ่อค้านำสินค้าบรรทุกสัตว์พาหนะเข้ามาติดต่อซื้อขาย เพราะทำเลที่ตั้งของเมืองอยู่ห่างไกลทะเลทรงดำริว่า

ควรจะให้สุโขทัยเป็นที่ชุมนุมการค้าแหล่งสำคัญทางภาคเหนือ ส่งเสริมจูงใจให้พ่อค้าต่างถิ่นนำสินค้าของตนมาค้าขายในเมืองสุโขทัยมากขึ้นด้วยได้รับความสะดวก ดังมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกว่า

“…เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส..”

พระราชกรณียกิจด้านการเกษตร ชลประทาน และการคมนาคม

ในด้านการเกษตรพ่อขุนรามคำแหงทรงแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ผลที่มีประโยชน์ต่อการครองชีพไว้ทุกครัวเรือน ผู้ใดที่มีความเพียรพยายามได้หักร้างถางพงทำเรือสวนไร่นาปลูกไม้ยืนต้น ก็ทรงมอบสิทธิ์ในการทำกินในที่ดินผืนนั้นและเป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาทอีกด้วย

และทรงส่งเสริมในด้านผลิตผลการเกษตรโดยทรงให้สร้างเขื่อนเล็ก ๆ กั้นสายน้ำที่ไหลมาจากเขาสะพานหิน เขาเจดีย์งามและเขาพระบาทน้อย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองสุโขทัย

และทำเป็นอ่างเก็บน้ำไว้หลายแห่งแล้วฝังท่อระบายน้ำให้ไหลลงสู่ที่ราบเพื่อให้ราษฎรในเมืองสุโขทัยใช้ทำนาไร่ได้ตลอดปี

นอกจากนี้ยังให้สร้างทำนบดินขนาดมหึมาขวางกั้นหุบเขา ระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา ซึ่งเชิงเขาทั้งสองห่างกัน 400 เมตร สำหรับเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขา ซึ่งเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “สรีดภงส” แปลว่า “ทำนบ”

แล้วขุดคลองระบายน้ำเข้าไปภายในตัวเมืองสุโขทัยและตัวเมืองใกล้เคียงซึ่งปกติเป็นถิ่นที่กันดารแหล่งน้ำธรรมชาติ กลับกลายเป็นแหล่งดินดีน้ำอุดมเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำนบที่สร้างขึ้นนี้นักประวัติศาสตร์บางท่านเรียกว่าทำนบพระร่วง

และยังมี “ทะเลหลวง” อันหมายถึงที่ราบกว้างใหญ่ปราศจากต้นไม้ใบบังและมีน้ำขังอยู่มากในฤดูน้ำและฤดูฝน มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ และยังมี “ตระพัง” อันแปลว่า” สระ” ซึ่งในเมืองสุโขทัยนี้มีอยู่ 4 แห่ง

คือ ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังตะกวน และตระพังโพยสี น้ำในสระหรือตระพังทั้ง 4 ในยุคต่อมาถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์นำมาใช้ในพระราชพิธีอภิเษกต่าง ๆ

ในด้านการคมนาคมนั้น ทรงให้สร้างถนนพระร่วงขึ้น โดยทางด้านเหนือตัดจากเมืองสุโขทัยไปเมืองศรีสัชนาลัย ทางด้านใต้ตัดจากเมืองสุโขทัยผ่านเมืองต่าง ๆ ลงไปจนถึงกำแพงเพชร ดังมีข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า

“..กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพย (บ่ออัศจรรย์) สีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง..เบื้องหัวนอน (ทิศใต้) เมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่มีสรีดภงส (ทำนบ) …เบื้องตะวันออกเฉียงเหนือสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู……”

พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ

การเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นพระราโชบายสำคัญอันหนึ่งของพ่อขุนรามคำแหง ทั้งนี้ก็เพื่อยังประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ

หลังจากที่ทรงขยายอาณาจักรสุโขทัยออกไปได้อย่างกว้างขวาง และดำเนินการจัดระเบียบการปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงหันมาเอาพระทัยใส่ในด้านต่างประเทศอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะกับประเทศจีนซึ่งในเวลานั้นเป็นรัชสมัยของ “พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้” แห่งราชวงศ์หงวน ได้แต่งราชฑูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในราวปี พ.ศ.1825

หลังจากนั้นพ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จไปเมืองจีนถึง 2 ครั้ง โดยมีหลักฐานจากจดหมายเหตุของจีนยืนยันว่า ได้เสด็จไปในปี พ.ศ. 1837 และในปี พ.ศ.1843 และในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีของไทยได้มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า

ไทยได้ส่งคณะทูตไปเมืองจีน 10 ครั้ง จีนส่งมา 4 ครั้ง (แต่มาถึงกรุงสุโขทัยเพียง 3 ครั้ง)

พ่อขุนรามคำแหงส่งราชทูตเดินทางมาเฝ้าและแจ้งพระราชประสงค์แก่พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ ณ กรุงปักกิ่งในปี พ.ศ.1835 ว่าจะเสด็จฯ มาเฝ้าด้วยพระองค์เอง แต่เกิดศึกทางด้านเมืองชวา ครั้นถึงปี พ.ศ.1837 พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้เสด็จสวรรคต

พ่อขุนรามคำแหงจึงเสด็จไปถวายคำนับพระบรมศพ ณ กรุงจีนภายในปีนั้น และประทับอยู่จนถึงต้นปี พ.ศ.1838 เพื่อเข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระราชนัดดา (บางตำราว่าคือ ติมูรข่าน ทรงเป็นพระราชโอรส) ของพระเจ้าหงวนสีโจ๊ว ซึ่งเสด็จครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์หงวน ทรงพระนามว่ามหาจักรพรรดิ “หงวนเซ่งจง” หรือ “พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้”

ในการเสด็จไปประเทศจีนนั้นมีผลดีทางด้านการเมือง 2 ประการ คือ

เพิ่มพูนสัมพันธไมตรีระหว่างราชวงศ์ไทยและจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าสมัยใด ๆ ที่ผ่านมา

ไทยมีการพัฒนาทางด้านงานศิลปหัตถกรรม โดยเมื่อเสด็จกลับจากเมืองจีนแล้ว พ่อขุนรามคำแหงได้ให้ตั้งโรงงานทำถ้วยชามเครื่องเคลือบดินเผาขึ้นในกรุงสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย

ซึ่งมีนายช่างที่นำมาจากเมืองจีนเป็นผู้ควบคุมดูแล โดยในระยะแรกทรงให้สร้างโรงงานขนาดเล็กขึ้นก่อน เป็นโรงงานสำหรับฝึกช่างไทยและทำผลิตผลส่งหลวง

ครั้นอีก 6 ปีต่อมาพ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเยือนเมืองจีนเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.1843 พระมหาจักรพรรดิหงวนเซ่วจงได้ถวายช่างฝีมือเพิ่มเติมจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานขนาดใหญ่ขึ้น ณ เมืองสวรรคโลก (เมืองเชลียง) อีกแห่งหนึ่ง

โดยระดมทั้งช่างไทยและช่างจีน ทำการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบนานาชนิด ส่งเป็นสินค้าทางทะเลออกจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ณ ประเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บอร์เนียว และมาเลเซีย เป็นต้น

ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากมีลวดลายวิจิตรวายงามและขนาดไม่ใหญ่เทอะทะเหมือนแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ ทั้งอายุการใช้งานก็ยาวนาน จึงเป็นที่ต้องการของตลาด

ในสมัยต่อมาคำว่าสวรรคโลกได้เพี้ยนไป ถ้วย ชาม เครื่องเคลือบดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยนั้นจึงถูกเรียกว่า “เครื่องสังคโลก” ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าหาได้ยากยิ่ง มีราคาซื่อขายกันแพงลิบลิ่ว และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในนานาประเทศ

สำหรับเตาเผาที่ใช้เผาเครื่องสัคโลกเรียกว่า “เตาทุเรียง” อันเป็นคำที่เพี้ยนมาจากเมืองเชลียง ลักษณะเตาก่อด้วยอิฐกว้าง 1.50 เมตร ยาว 4-5 เมตร ทำรูปร่างคล้ายกับประทุนเกวียน แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

นอกจากการติดต่อกับประเทศจีนแล้ว จากข้อความในหนังสือราชาธิราชปรากฏว่ามีการติดต่อกับประเทศใกล้เคียงคือ เมืองรามัญ เมืองหงสาวดี ชวา มลายูและลังกา

พระราชกรณียกิจด้านการศาสนาสถาปัตยกรรมและประติมากรรม

นับว่าการสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและด้านการศาสนาเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงกระทำควบคู่กันไป เช่น พ่อขุนรามคำแหงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแท่น “มนังคศิลาบาตร” ไว้กลางดงตาลชานเมืองสุโขทัย ด้วย พระราชประสงค์ 2 ประการ คือ

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันธรรมสวนะ หรือ วันพระใช้เป็นที่ฟังพระธรรมเทศนาจากพระเถรเจ้าผู้มีความรู้แตกฉาน ทั้งบรรดาข้าราชการบริพารและเหล่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

ทรงใช้เป็นที่ประทับในการว่าราชการ เพื่อพระราชทานพระบรมราโชวาทแนะนำสั่งสอนเหล่าพสกนิกรของพระองค์ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าเฝ้าร้องทุกข์ ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในหลักศิจารึกว่า

“ 1214 ศก. (มหาศักราช) ปีมะโรง (พ.ศ. 1835) พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดารหิน (บางตำราเขียน ขดารหิน) ตั้งระหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนออก ข้างขึ้น แปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้าง (ข้างแรม) แปดวัน ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่งเหนือขะดารนี้ สวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงท่วยจำศิล,

มิใช่วันสวดธรรมพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน…ในกลางป่าตาลมีศาลาสองอัน อันหนึ่งชื่อศาลาพระมาส อันหนึ่งชื่อพระพุทธศาลา ขะดารหินนี้ชื่อมะนังศิลาบาตร สถาบกไว้หนี้จึงทั้งหลายเห็น”

ด้วยเหตุที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระเถวรานุเถระ และจากองค์พระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอยู่เนืองนิตย์ ประชาชนสุโขทัยจึงตั้งมั่นอยู่ในศิลธรรม นิยมการทำบุญให้ทานรักษาขนบธรรมเนียม ดังปรากฏข้อความในหลักศิลาจารึกตอนหนึ่ง ว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศิล มักอวยทาน …ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศิลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว ….” และ ” …เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก”

เนื่องจากพ่อขุนรามคำแหงทรงเลื่อมให้ในพระพุทธศาสนา จึงปรากฏว่าบ้านเมืองเต็มไปด้วยวัดอารามและพระพุทธรูปนานาชาติ ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า

".....กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหารมีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศมีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่มีพระพุทธรูปอันราม (ขนาดกลาง) มีปู่ครู มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตก เมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก..ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม (ที่สุด) มีพระอัฎฐารศอันหนึ่งลุกยืน (พระยืนสูง 12 เมตร).."

อรัญญิกที่กล่าวถึงนี้ หากเทียบกับภาษาในปัจจุบันน่าจะเป็น "อุทยานแห่งชาติ" อันเป็นที่ประพาสของกษัตริย์กรุงสุโขทัย (ปัจจุบันคือวัดสะพานหิน) ประกอบไปด้วยทิวเขาหลายลูกติดต่อกัน มีห้วยละหานธารน้ำตกและไม้ยืนต้นสูงใหญ่ร่มรื่น

มีบริเวณนับแต่ด้านตะวันตกของกำแพงเมืองเรื่อยไปจนถึงเขาหลวง โดยถือเขาสะพานหินเป็นศูนย์กลาง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารสูงใหญ่ไว้บนยอดเขาสะพานหินเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐ์พระอัฎฐารศซึ่งองค์พระสูงถึง 12 เมตร

วิหารที่กล่าวถึงในศิลาจารึก คือ "วัดมหาธาตุ" เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัยมีขนาดกว้างขวางและใหญ่โตมาก เต็มไปด้วยพระพุทธรูปและเจดีย์น้อยใหญ่ มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี

ซึ่งในปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายให้มาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศเทพวราราม กรุงเทพฯ (นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระเรียกว่า "พระอัฎฐารศ")

และเคยมีแท่าศิลาสัณฐานคล้ายกับคนโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินอยู่ที่ฐานพระเจดีย์หน้าซุ้มพระอัฎฐารศด้านใต้ มีตำนานเล่าว่าคือ "ขอมดำดิน" ซึ่งถูกพระร่วงสาปให้กลายเป็นหิน กล่าวคือขอมผู้มีวิชาได้รับคำสั่งให้ติดตามจับตัวนายร่วงบุตรนายคงเครา ผู้เป็นนายกองส่งส่วยน้ำให้แก่พวกขอม

ครั้นทราบว่านายร่วงมาบวชอยู่ในกรุงสุโขทัยจึงใช้วิชาดำดินมาโผล่เห็นพระร่วงกวาดวัดอยู่แต่ไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วงจึงว่า "สูอยู่ที่นี่เกิด รูปจะไปบอกนายร่วง" ขอมเลยกลายเป็นหินอยู่ตรงนั้นตามวาจาสิทธิ์ ต่อมาทางการได้นำไปเก็บรักษาไว้

นอกจากนี้กรุงสุโขทัยยังมีวัดต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น วัดตะพังเงิน วัดชนะสงคราม วัดสระสี วัดตะกวน วัดศรีชุม เป็นต้น ภายในวัดศรีชุมมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดมหึมา คือ "พระอัจนะ" ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารซึ่งสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน

ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนาภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมดภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี

สถาปัตยกรรมที่สำคัญอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ครอบพระมหาธาตุ ณ เมืองศรีสัชนาลัย มีข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า

"...1207 ศกปีกุน ให้ขุนเอาพระธาตุออกทั้งหลายเห็น กระทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึงเอาฝังในกลางเมืองศรีสัชนาลัยก่อพระเจดีย์เหนือหกเช้าจึงแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระธาตุสามเช้าจึงแลัว.."

และได้ทรงให้สร้างโบสถ์ วิหาร ให้สกัดศิลาแลงเป็นแท่งมาเป็นกำแพงล้อมเขตวัด เช่น ที่วัดช้างล้อม อันเป็นวัดที่ทรงสร้างขึ้นครั้งแรกในเมืองศรีสัชนาลัยโดยมีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด และต่อมาจึงใช้เป็นแบบในการสร้าง ณ วัดในเมืองสุโขทัยและเมืองกำแพงเพชรอีกด้วย

ซากโบราณสถานโบราณวัตถุที่ปรากฏในเมืองสุโขทัยในปัจจุบัน รวมทั้งเมืองอื่น ๆ ที่เคยอยู่ในอาณาบริเวณการปกครอง เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เมืองกำแพงเพชร และเมืองพิษณุโลก เป็นต้น

เป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองในด้านศิลปกรรม ประติมากรรม บ่งบอกความเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นของอาณาจักรสุโขทัยตลอดระยะเวลาอันยาวนานในฐานะราชธานีสำคัญของชนชาติไทย


การเจริญสัมพันธไมตรีด้านการศาสนา

ย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 600 เดิมคนไทยซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งแผ่ขึ้นไปจากทางเหนือของประเทศอินเดีย พระคัมภีร์ในครั้งนั้นจึงเป็นภาษาสันสกฤต

เมื่ออพยพมาอยู่ในดินแดนแหลมทองก็ยังคงนับถือนิกายมหายานเช่นเดียวกับพวกขอม ต่อมาในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงปรากฏว่าได้ดีพระภิกษุเถระชั้นผู้ใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญในสมัยนั้น

ล้วนเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดกว่าพระภิกษุในนิกายเดิม เนื่องจากเคยเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัย "ลัทธิลังกาวงศ์" หรือ "มหานิกาย" ณ เกาะลังกา จนสำเร็จมีความรู้แตกฉาน (ซึ่งพระไตรปิฏกใช้ภาษาบาลีหรือมคธเป็นหลัก)

พ่อขุนรามคำแหงจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช อาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ที่ทรงคุณวุฒิมาจำพรรษา ณ พระอารามหลวงภายในกรุงสุโขทัย

เพื่อจัดระเบียบวินัยสงฆ์ อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาอบรมและเผยแพร่พุทธศาสนามหานิกายให้แพร่หลายไปทั่วอาณาจักรสุโขทัยอย่างรวดเร็ว

ในเวลานั้นพระบรมเดชานุภาพของพ่อขุนรามคำแหงกำลังแพร่สะพัดไปทั่วทุกทิศ เมื่อพระเจ้ากรุงลงกาทราบจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี ว่ากษัตริย์แห่งกรุงแห่งสุโขทัยมีพระประสงค์ในองค์พระพุทธสิหิงค์

ซึ่งตามประวัติว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 700 หรือตามตำนานว่าเมื่อพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ทั่วไปในชมพูทวีป (อินเดีย) โดยเฉพาะ ณ กรุงลังกา เชื้อพระวงศ์แห่งลังกา 3 พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธสิหิงค์ขึ้นและประดิษฐาน ณ เมืองลังกาเป็นเวลากว่าหนึ่งพันปี

ถึงแม้ว่าจะเป็นพระพุทธรูปล้ำค่าเป็นศรีบ้านศรีเมือง แต่พระเจ้ากรุงลังกาทรงคำนึงพระราชไมตรีอันดีต่อกันไปในภายภาคหน้า จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาถวายตามพระราชประสงค์

พ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จไปรับพระพุทธสิหิงค์ซึ่งถูกอัญเชิญมาไว้ ณ เมืองนครศรีธรรมราช และเมื่อนำขึ้นประดิษฐานเหนือช้างพระที่นั่ง พระองค์ได้ทรงประคองด้วยพระหัตถ์ตลอดทางจนถึงกรุงสุโขทัย และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหลวงสมโภชเป็นงานใหญ่นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญ

โดยประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัยตั้งแต่ พ.ศ.1850 จนถึง พ.ศ. 1921 นับเวลาได้ประมาณ 71 ปี จากนั้นจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เมืองต่าง ๆ เช่น พิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา เมืองเชียงใหม่

ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชองค์ปฐมกษัตรีย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือในปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

โดยในวันขึ้นปีใหม่ของไทย (วันสงกรานต์) ทางราชการได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง เหนือบุษบกภายใต้ร่มฉัตร เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทำการสักการบูชา สรงน้ำเป็นประจำทุกปี

นับแต่ปีที่สร้างคือประมาณ พ.ศ. 700 จนถึงปัจจุบัน พระพุทธสิหิงค์มีอายุประมาณเกือบ 2,000 ปี นับแต่เข้ามาประดิษฐานในเมืองไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงราวปี พ.ศ. 1850 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาประมาณเกือบ 700 ปี

พระราชกรณียกิจด้านอักษรศาสตร์

แต่เดิมไทยเราใช้ตัวอักษรขอมหวัดหรือเทวคฤนท์ในการบันทึกข้อความหรือการสื่อสารในลักษณะจดหมายหรือข้อความ

เนื่องจากยังไม่มีอักษรใช้เองและอักษรขอมหวัดที่นำมาใช้ในภาษาไทยนั้น ไม่สะดวกทั้งการเขียนและการอ่านเพราะบางคำต้องซ้อนตัวพยัญชนะเข้าด้วยกัน เช่น "อัน" ต้องเขียนว่า "ออน" ทั้งยังวางสระไว้บ้างบนพยัญชนะบ้างข้างล่างบ้าง ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยข้อสำคัญก็คืออักษรขอมไม่มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำหนดเสียงสูงต่ำยากต่อการออกเสียงให้ตรงตามภาษาไทยได้ทุกคำ

ครั้นถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทรงมีพระราชดำริว่าบัดนี้ชาวไทยสามารถตั้งบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว ทั้งมีภาษาเป็นของตนเอง ยังขาดแต่เพียงตัวหนังสือหรือลายสือของคนไทยเท่านั้น จึงทรงคิดแบบอย่างตัวหนังสือขึ้นใหม่โดยทรงนำอักษาโบราณทั้งจากขอม มอญ และพม่าเป็นต้นมาดัดแปลง แล้วเพิ่มพยัญชนะและสระ

ทำให้สามารถใช้เขียนภาษาไทยได้ตรงตามสำเนียงพูดครบทุกเสียง อีกทั้งทรงคิดวรรณยุกต์ขึ้นใหม่ คือ ' (ใช้เป็นไม้เอก) และ + (ใช้เป็นไม้โท) ใช้เป็นเครื่องหมายกำกับให้ออกเสียงที่แน่นอนชัดเจนเท่ากับสำเนียงพูดของคนไทย ตัวหนังสือทรงคิดหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้เรียกว่า "ลายสือไทย" ดังปรากฏข้อความในหลักศิลาจารึกว่า

"...เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี (มหาศักราช) 1205 (พ.ศ.1826 ) ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ ..." (บางตำราเขียน ลายสือไท)

ตัวหนังสือที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ มีการจัดวางรูปแบบตัวอักษรใกล้เคียงกับอักษรของประเทศตะวันตก คือ เขียนจากซ้ายไปขวา วางสระและวรรณยุกต์ไว้ในบรรทัดเดียวกันหมด เพื่อความสะดวกในการอ่านและเขียน (ต่างจากวิธีการเขียนของชาวจีนและอาหรับ ซึ่งเขียนจากขวามาซ้าย)

และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระเจ้าสิไทครองราชย์ปี พ.ศ.1891- พ.ศ.1912 ) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงด้วยการนำสระไปไว้ข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง

ตามแบบอย่างหนังสือขอมที่ไทยได้ใช้กันมาแต่ก่อนจนเคยชิน เช่น สระ อิ อี อือ นำไปเขียนไว้บนพยัญชนะส่วนสระ อุ อู เขียนไว้ใต้พยัญชนะ (ส่วน สระ อะ อา อำ แต่เดิมเขียนไว้หลังพยัญชนะอยู่แล้ว เช่นเดียวกับสระ เอ แอ โอ ไอ ซึ่งเขียนไว้หน้าพยัญชนะมาแต่เดิม)

และได้ทรงเพิ่มไม้หันอากาศ เพื่อใช้แทนตัวอักษร เช่น คำว่า "อนน" เปลี่ยนเป็นเขียนว่า "อัน" เป็นต้น และรูปแบบตัวอักษร ก็เปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย

ลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดขึ้นนี้ ประเทศข้างเคียง เช่น อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง อโยธยา สุพรรณภูมิ ได้นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย

ต่อมาครั้นเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง ทางล้านช้างได้เปลี่ยนไปใช้อักษรลาว ส่วนทางล้านนาเปลี่ยนไปใช้อักษรไทยลื้อ และเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์ปี พ.ศ. 1893- พ.ศ.1912) ทรงตั้งอาณาจักรเป็นอิสระกับสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ.1893 ก็ได้เอาแบบอักษรไทยสุโขทัยมาใช้ ซึ่งมีการแก้ไขดัดแปลงกันมาตามลำดับจนเป็นอย่างที่เห็นและใช้กันแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน


การตัดสินแปลงแก้ไขอักษรขอมของพ่อขุนรามคำแหง มีดังนี้


ตัวอักษรขอมที่มีหนามเตยและเชิง พ่อขุนรามคำแหงทรงเห็นว่ารุงรังมิได้เป็นประโยชน์ในภาษาไทย ตัวอักษรตัวเดียวควรเขียนด้วยเส้นเดียวไม่ควรยกปากกาบ่อย ๆ ทำให้อักษรไทยเขียนได้ง่ายและรวดเร็ว พยัญชนะแต่ละตัวต่อเป็นเส้นเดียวตลอด ในขณะที่พยัญชนะขอมต้องเขียนสองหรือสามเส้นต่อหนึ่งพยัญชนะ

เพิ่มพยัญชนะบางตัวที่มิได้มีในภาษาขอม เช่น ฃ ฅ ซ ฏ ด บ ฝ ฟ อ (ในภาษาเขมร ตัว บ ใช้เป็นทั้ง ป และ บ ตัว ฎ ใช้เป็นทั้ง ฎ และ ฏ)
เพิ่มสระที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น ได้แก่สระอึ สระอือ สระแอ สระเอือ ฯลฯ

สระออ และสระอือ ไม่ต้องมี อ เคียง เช่น เขียน พ่ชื่ แทน พ่อชื่อ สระ อิ อี อือ อุ อู นำมาเขียนข้างหน้าติดกับพยัญชนะต้น เช่น อี ป น แทน ปืน ฯลฯ
สระอักษรขอมมีความสูงไม่เท่ากัน

แต่สระของพ่อขุนรามคำแหงสูงเท่ากันหมด และสูงเท่ากับพยัญชนะทุกตัว หางของ ศ ส ก็ขีดออกไปข้าง ๆ ส่วน ป และ ฝ หางสูงกว่าอักษรตัวอื่น ๆ เพียงนิดเดียว สระกับพยัญชนะรวมทั้งสระโอ สระไอ ไม้ลาย และสระไอไม้ม้วน

สระขอมวางไว้รอบด้านพยัญชนะ ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ข้างล่าง แต่พ่อขุนรามคำแหงทรงดัดแปลงให้สระอยู่บนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะทั้งหมดและอยู่หน้าพยัญชนะเป็นส่วนมาก ที่อยู่หลังมีแต่สระ อะ อา อำ ที่มาเขียนไว้รอบตัวอย่างปัจจุบันนี้เรามักมาแก้กันในชั้นหลัง

วิธีเรียงอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้าย ๆ กับวิธีเรียงตัวอักษรของฝรั่งผิดแต่ที่ของฝรั่งเรียงสระไว้ข้างหลังตัวพยัญชนะแต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงสระบางตัวอยู่ข้างหลัง เช่น อา อำ อะ บางตัวอยู่ข้างหน้า เช่น อิ อี อือ อุ อู เอ แอ ไอ ใอ โอ

ขอมไม่มีวรรณยุกต์ใช้ พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์วรรณยุกต์ขึ้นใช้ 2 รูป ในปัจจุบัน นับว่าก้าวหน้ากว่าภาษาอื่น ซึ่งไม่มีวรรณยุกต์ใช้ และทำให้สามารถอ่านออกเสียงได้ตามเสียงที่เปล่งออกมา

พยัญชนะต้นและสระเขียนเชื่อมติดต่อกัน เช่น กา
ตัวสะกดเขียนแยกออกไป เช่น การ เขียนเป็น กา ร
อักษรควบเขียนเชื่อมติดกัน เช่น กราน เขียนเป็น กรา น และ อักษรนำเขียนเชื่อมกับอักษรตาม เช่น แหนง เขียนเป็น แหน ง

ขอมไม่มีไม้หันอากาศ ใช้ จึงกำหนดให้ใช้พยัญชนะตัวเดียวกัน หรือพยัญชนะวรรคเดียวกัน เขียนเชื่อมกันแทนตัวไม้หันอากาศ เช่น อัน เขียน อ นน และ อัง เขียน อ งง

เนื่องจากตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมีข้อบกพร่องบางประการได้แก่
การวางสระไว้หน้าอาจอ่านผิดได้ง่าย ต้องระวังความด้วย เช่น อี หน (หนี) และ อี หน (หีน)

การเขียนติดกันไปเป็นพืดไม่เว้นวรรค ทำให้อ่านยาก ถ้าแบ่งใจความผิดก็ทำให้เสียความไปด้วย ดังปรากฏว่า ในการอ่านศิลาจารึกทบทวนครั้งหลัง ๆ นี้ คณะกรรมการต้องแบ่งวรรคหลายแห่ง ซึ่งเป็นปัญหาโดยที่แต่เดิมมามิได้พิจารณากัน


หลักศิลาจารึก

หลังจากที่ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว พ่อขุนรามคำแหงทรงตระหนักว่า ต่อนานไปในเบื้องหน้าเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นย่อม จะกลายเป็นอดีต และข้อมูลของเหตุการณ์ต่าง ๆ ย่อมลบเลือนหรือสับสนเปลี่ยนแปลงไปหากมิได้มีการจดบันทึกไว้

จะเห็นได้ว่านอกจากทรงเป็นกษัตริย์นักปกครอง ตลอดจนนักปราชญ์ทางด้านอักษรศาสตร์แล้ว ยังทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีสายพระเนตรอันยาวไกล จึงทรงให้มีการจารึกเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ในหลักศิลา ไม่ว่าจะเป็นในด้านพระราชกรณียกิจด้านการปกครอง กฎหมาย การต่างประเทศ ฯลฯ

นับเป็นสิ่งสำคัญล้ำค่าในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจสำหรับคนไทยทั้งชาติเพราะทำให้รู้ว่าไทยเราเป็นชาติเก่าแก่มีอาณาจักรอันเป็นอิสระเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ตัวอักษร ตัวเลข มาตั้งแต่ยุคโบราณ

หลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เป็นแท่งหินชนวนสีเขียว รูปสี่เหลี่ยมยอดมน สูงประมาณ 1 เมตร 11 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร มีตัวอักษรจารึกไว้ทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 มีอักษร 35 บรรทัด

ด้านที่ 2 มีอักษร 35 บรรทัด

ด้านที่ 3 มีอักษร 27 บรรทัด

ด้านที่ 4 มีอักษร 27 บรรทัด

คำจารึกสูง 59 เซนติเมตร ข้อความที่จารึกแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

ตอนที่ 1 เป็นพระราชประวัติ และพระราชภารกิจของพระองค์ นับแต่ประสูติจนเสด็จขึ้นครองราชย์

ตอนที่ 2 เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองสุโขทัย เช่นเรื่องราวของการสร้างพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ วัดมหาธาตุ เมืองศรีสัชนาลัย และการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย

ตอนที่ 3 กล่าวถึงอาณาเขตของเมืองสุโขทัย สรรเสริญ และยอพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น เมื่อให้ทำการจารึกแล้วเสร็จได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "หลักศิลาจารึก" ไว้ ณ กลางดงตาล เมืองศรีสัชนาลัย

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความในภาษาที่นำมาใช้จะเห็นได้ว่ามีความสละสลวย ได้ใจความ แม้ว่าจะเขียนประโยคไว้น้อยคำเนื่องจากความจำกัดของบรรทัดและขนาดของหลักศิลาจารึก พระองค์จึงทรงได้รับการย่องเทิดทูนว่า

"ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดลานสือไทย และทรงเป็นนักประพันธ์พระองค์แรกของไทย ที่ทรงจารึกวรรณคดีไทยไว้บนแผ่นหิน เป็นวรรณคดีเล่มที่มีความทนทานและเป็นวรรณคดีเล่มแรกของไทยด้วย"

ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น (ที่นั่น) ไพร่ฟ้าหน้าปก(ประชาชนที่มีทุกข์ร้อน) กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมักจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้


เสด็จสวรรคต

พ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 1822 ต่อจากพ่อขุนบานเมืองผู้เป็นพระเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1842 รวมระยะเวลาครองราชย์ 20 ปี พระองค์อภิเษกกับผู้ใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีพระราชโอรสที่ปรากฏพระนามในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 2 องค์

องค์แรกคือ "พระเจ้าเลอไทย " หรือ "พระยาเลอไทย" ได้สืบราชสมบัติต่อจากพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัชกาลที่ 4 ของกรุงสุโขทัย (ครองราชย์ในปี พ.ศ. 1842-1891)

ส่วนพระราชโอรสองค์ที่ 2 คือ พระเจ้าลือไทย หรือ ลิไทย (พระมหาธรรมราชาที่ 1) เป็นรัชกาลที่ 5 ของกรุงสุโขทัย (ครองราชย์ในปี พ.ศ. 1891-1912 ผู้พระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง)

นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า "พระนางเทพสุดาสร้อยดาว" หรือ "สุวรรณเทวี" ต่อมาได้ทำการอภิเษกสมรสกับพระมหากษัตริย์มอญแห่งเมืองเมาะตะมะ คือ พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท)


จาก หนังสือ พระมหากษัตริย์ไทย
สำนักหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ. 2510
ขอขอบคุณ


สิริสวัสดิ์มงคลวาร - กมลมานปรีดิ์เขษม ที่มาอ่านค่ะ




 

Create Date : 01 กันยายน 2552
0 comments
Last Update : 25 ตุลาคม 2552 11:46:37 น.
Counter : 6752 Pageviews.


sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.