กันยายน 2551

 
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
 
 
25 กันยายน 2551
All Blog
มุมวิชาการ
"เปรี๊ยะ!"

เสียงประตูกระจกตู้หนังสือแตก ตามด้วยเสียงแหวของแม่ที่ดังตาม

"เอื้อทำกระจกแตกอีกแล้ว"
"เอื้อไม่ได้ทำ"
"เอื้อไม่ได้ทำ แล้วใครทำ"
"เอื้อแค่ดูเครื่องบิน"

(เป็นเหตุการณ์จำลอง ที่ดูเหมือนจริงมั่ก ๆ เพราะเอื้อเพิ่งทำประตูกระจกตู้หนังสือบานที่ 2 แตกไป)

ใครผิดใครถูกไม่สำคัญหรอกค่ะ แต่เอื้อกำลังใช้ข้ออ้างและเหตุผลร้อยแปดเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ตรงนั้น

สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องรีบทำ ไม่ใช่หาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่ต้องสร้างสำนึกเรื่องความรับผิดชอบ ให้เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะมันเป็นจริยธรรมพื้นฐานที่เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์เด็ก ประจำกรมสุขภาพจิต บอกไว้ว่ามี 2 เรื่องหลักๆ ที่พ่อแม่ต้องสร้างความเข้าใจกับลูกตั้งแต่วัยนี้

1. การพูดความจริงไม่เป็นโทษกับตัวเอง

2. ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ

ถ้าเรียนรู้คุณธรรม 2 ข้อนี้แล้ว ต่อไปเขาจะรู้จักยับยั้งชั่งใจ และควบคุมอารมณ์ที่จะกระตุ้นให้ทำผิดได้มากขึ้น

ถ้า 2 ข้อนี้ไม่ผ่าน เขาอาจจะโตขึ้นเป็นนักเลงอันธพาล หัวขโมย หรือแม้แต่นักการเมืองที่ปลิ้นปล้อนตลบตะแลงก็ได้

คงไม่มีใครอยากเห็นลูกเป็นแบบนั้น...

เริ่มที่ข้อแรกก่อนค่ะ การจะทำให้ลูกกล้าพูดความจริงได้นั้น เราต้องทำให้เขามั่นใจก่อนว่า พ่อแม่รักเขา และพร้อมจะให้อภัยเขาเสมอ อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะรักก็ต่อเมื่อเขาเป็นเด็กดีเท่านั้น

เพราะสิ่งที่เด็กวัยนี้กลัวที่สุด คือการไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่(หรือคนที่เขารัก) ที่เขาต้องหาเรื่องโทษนั่นโทษนี่ หรือแม้แต่พูดไม่จริง ก็เพราะกลัวว่าจะสูญเสียความรักจากพ่อแม่ไป

เวลาที่จะดุด่าว่ากล่าวจึงควรจะตำหนิที่ การกระทำ มากกว่า ตัวของเขา

เขาทำสิ่งไม่ดี ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดี

ดังนั้น แทนที่จะพูดว่า "ทำไมถึงซนอย่างนี้นะ" ก็ให้พูดว่า "ลูกเห็นแล้วใช่ไหมว่าถ้าเล่นไม่ระวัง มันทำให้ข้าวของเสียหาย แล้วลูกก็จะเจ็บตัวได้ ถ้ากระจกบาด"

แล้วมันก็จะนำไปสู่คุณธรรมข้อ 2 ค่ะ เพราะถ้าลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่ชอบการกระทำของเขา ไม่ใช่ตัวเขาแล้ว เด็กๆ ก็ไม่จำเป็นต้องหาข้อแก้ตัวมาบ่ายเบี่ยงความผิด

คุณโสภณ สุภาพงษ์ วุฒิสมาชิกที่พ่วงตำแหน่งคุณพ่อลูกสองเคยกล่าวไว้ในงานสัมมนาเรื่องคืนความเข้มแข็งสู่ครอบครัวไทย ว่า

"เวลาคนเราทำอะไรผิด เขาต้องการใครสักคนที่เขาสามารถบอกได้ว่า ..เรารู้ว่าเราผิด เราอยากจะแก้ตัวใหม่... และคนๆ นั้นต้องอยู่ที่บ้าน... ถ้าลูกทำผิด ผมจะกอดเขา เพราะผมต้องการให้ลูกรู้ว่าไม่ว่าผิดหรือถูก ทำดีหรือเลว ผมก็จะอยู่ข้างเขา ผมอยากให้เขามั่นใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือลูกจะพลาดพลั้งมาอย่างไร พ่อแม่จะให้โอกาสเสมอ"

ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่คอยแต่จะจับผิด และคาดคั้นให้สารภาพ พอสารภาพแล้วก็ยังทำโทษหรือดุด่าว่ากล่าวรุนแรงซ้ำอีก ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะหนีปัญหามากกว่ายอมรับความจริง เพราะความจริงทำให้เขาเจ็บปวด ตราบใดที่ยังไม่ถูกจับได้ เขาก็ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดนั้น เท่ากับเรากำลังฝึกให้ลูกหลบเลี่ยงความรับผิดชอบโดยไม่รู้ตัว

น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์เด็กและนักเขียนประจำใน life&family เคยเขียนไว้ในคอลัมน์วัยรุ่นต้องวุ่นวาย ฉบับเดือนมิถุนายน 2544 ว่า

"...ถ้าเราลดความโมโหและผิดหวังในตัวลูกลงได้ การพูดจาหรือลงโทษที่ทำร้ายเด็กมากเกินไปก็จะลดลง แต่มิได้หมายความว่าห้ามดุว่าสั่งสอน แต่การดุด่าหรือทำโทษทางร่างกายที่รุนแรงนั้นมักนำมาซึ่งการวางเงื่อนไขทางลบ

"หากลูกรู้สึกว่าผิดจริง พ่อแม่ให้ความอบอุ่นมาสม่ำเสมอ การดุด่าทำโทษมักได้ผล แต่ถ้าแม่ก็ไม่เคยเลี้ยงดูใกล้ชิด มาถึงก็เอะอะลงไม้ลงมือ นี่คือการวางเงื่อนไขทางลบ ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก..."

ครั้งต่อไปที่ลูกทำผิด ให้พ่อแม่ควบคุมอารมณ์ของตนเองก่อน แล้วบอกสิ่งที่เราต้องการให้สั้นและกระชับที่สุด อย่าเสียเวลาเทศนายืดยาว (เพราะเด็ก ๆ มีสมาธิฟังอยู่ได้ไม่นานหรอกค่ะ) เช่น

"แม่รู้ว่าลูกไม่ได้ตั้งใจ นี่ไงแม่ถึงไม่อยากให้ลูกเล่นใกล้ ๆ กระจก"

และแม้มันจะเป็นอุบัติเหตุ เขาก็ควรจะช่วยแก้ไขในความผิดพลาดนั้นๆ

"เอ้า! ไปเอาไม้กวาดมา แม่จะช่วยเก็บเศษแก้วตรงนี้เอง"

แล้วถ้าลูกทำท่าจะเถียงต่อ ก็ให้นิ่งไว้หรือเดินหนีไปเลยก็ได้ เพราะถ้ายิ่งต่อปากต่อคำ ก็เท่ากับเราเปิดช่องให้เขาหาข้อแก้ตัวมาอ้างมากขึ้น แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ยอมรับเหตุผลของลูกนะคะ เพียงแต่รอให้เหตุการณ์มันสงบลงก่อน

ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมเถียงด้วย เขาจะได้มีเวลาคิดทบทวนถึงสิ่งที่ทำลงไปมากขึ้น คิดดูใหม่ว่าทำอะไรไม่ถูกต้อง คิดออกแล้วมาสารภาพได้ แต่ถึงจะไม่ยอมรับออกมาตรงๆ อย่างน้อยเขาก็ได้บทเรียนไปแล้ว

อย่าลืมว่า การยอมรับความผิดพลาดของตัวเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เถอะ เรื่องแบบนี้จึงไม่อาจจะสอนกันได้ด้วยเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว หากต้องอาศัยเวลาและความอดทนอย่างมหาศาลของพ่อแม่

...โดยมีความรักเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุด



Create Date : 25 กันยายน 2551
Last Update : 25 กันยายน 2551 11:59:49 น.
Counter : 813 Pageviews.

4 comments
  
เป็นประโยชน์มากเลยคะ
คำพูด การกระทำของพ่อแม่ ส่งผลต่อนิสัยของลูกได้เหมือนกัน........
โดย: แม่น้องมิ่ง IP: 203.144.130.176 วันที่: 25 กันยายน 2551 เวลา:12:52:35 น.
  
โชคดีว่า กระจกไม่ตกลงมาบาดน้องเอื้อนะ

เห็นด้วยทุกประการกับบทความ แต่ตอนยากที่สุดคงเป็นตอนควบคุมอารมณ์ตัวเอง

ผมว่า อารมณ์ใกล้เคียงกับที่ลูกน้องทำผิด .... จี๊ด จี๊ด ... พอด่าไปแล้วถึงมาสำนึกผิดทีหลังว่าเกินไป แต่ก็ไม่เสียหายอะไรไม่ใช่เหรอที่จะไปขอโทษเค้า

โดย: fzero วันที่: 30 กันยายน 2551 เวลา:19:56:58 น.
  
สำนวนการเขียนนี่ เขียนบทความได้เลยน่ะเนี่ย
โดย: เพื่อนพ่อเพื่อนแม่ IP: 118.173.224.86 วันที่: 17 ตุลาคม 2551 เวลา:10:35:19 น.
  
เห็นด้วยคะ บางทีอารมณ์เราก็มาก่อน มันจี๊ดขึ้นมา คนเป็นพ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์นั้นๆให้ได้ก่อนนะ
โดย: ลิตเติ้ลเกิร์ล IP: 60.52.203.179 วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:8:38:55 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

viji
Location :
Lancaster  United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



คุณแม่ ลูกหนึ่ง...
เมื่อมีลูก จึงรู้ว่าแม่รักลูกมากแค่ไหน...
และจึงรู้ว่ารักแม่ แค่ไหนด้วย....