เพลงประกอบ Chanukah Song By Adam Sandler

Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
21 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 

แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนแห่งพันธะสัญญา (5)



หลังจากบรรยากาศต่อต้านทั้งอังกฤษ และพวกยิวไซออนนิสต์ทวีความตึงเครียดขึ้นถึงขีดสุด ชาวอาหรับปาเลสไตน์ก็ได้ลุกขึ้นสู้อย่างดุเดือดรุนแรงตั้งแต่ปี 1936 จนถึงปี 1939

มีการระดมกำลังชาวอาหรับนับหมื่นจากทุกชนชั้น ตามหน้า หนังสือพิมพ์ ตามโรงเรียน ไปจนถึงในแวดวงปัญญาชน เต็มไปด้วยสีสันของกระแสชาตินิยมอันเชี่ยวกราก

ฝ่ายอังกฤษซึ่งถึงกับผงะเมื่อเจอกระแสลุกฮือเช่นนี้ ได้ส่ง ทหารกว่า 20,000 นายเข้าสู่ปาเลสไตน์ และเมื่อถึงปี 1939 พวกไซออนนิสต์ ก็ติดอาวุธให้ชาวยิวถึงกว่า 15,000 คน

การลุกฮือที่ว่านี้ เริ่มขึ้นด้วยการใช้ความรุนแรงของบรรดาสาวก ของ ชีค ‘อิซ อัด-ดิน อัล-กัสซัม (Sheikh ‘Izz ad-Din al-Qassam) ซึ่งได้ถูก อังกฤษฆ่าตายในปี 1935

ในเดือนเมษายน 1936 การสังหารชาวยิว 2 คนได้ทำให้ ความรุนแรงขยายวงยิ่งขึ้น กลุ่มของกัสซัมได้ก่อการนัดหยุดงานในเมืองยัฟฟา และนาบลุส ถึงจุดนี้ บรรดาพรรคการเมืองของชาวอาหรับได้ก่อตั้งคณะกรรมการใหญ่อาหรับ (Arab High Committee) ขึ้น โดยมีเจ้าผู้ครองนครเยรูซาเลม อามิน อัล-ฮุสเซนี เป็นประธาน

คณะกรรมการชุดนี้ ได้เรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป งดจ่ายภาษี ปิดที่ทำการเทศบาลต่าง ๆ แม้ยังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานต่อไปได้ รวมทั้งเรียกร้องให้ยุติการอพยพเข้าของชาวยิว ห้ามขายที่ดินให้ชาวยิว พร้อมกับเรียกร้องเอกราช

ขณะที่มีการสไตรค์นั้นเอง บรรดากบฏชาวอาหรับ ซึ่งมีอาสาสมัครจากประเทศอาหรับใกล้เคียงหลายประเทศเข้าร่วม ได้เข้าโจมตีถิ่นฐานของชาวยิวและที่ทำการขอ'อังกฤษทางตอนเหนือของดินแดนปาเลสไตน์

เมื่อสิ้นสุดปีนั้น การเคลื่อนไหวต่อต้าน ได้กลายเป็นการลุกฮือทั่วทั้งดินแดนไปแล้ว โดยมีกำลังหลักเป็นชาวนาอาหรับ อย่างไรก็ดี การหยุดงานได้ยุติลงในเดือนตุลาคม 1939 ซึ่งถึงแม้กำลังทหารของอังกฤษจะระงับเหตุการณ์รุนแรงได้ในระดับหนึ่ง แต่การจับอาวุธต่อต้าน การวางเพลิง วางระเบิด และลอบสังหารก็ยังมีต่อไป


รัฐบาลอังกฤษได้ส่ง ลอร์ด โรเบิร์ต พีล เข้าสอบสวน สถานการณ์รุนแรง ซึ่งเขาได้รายงานในเดือนกรกฎาคม 1937 ว่า การกบฏเกิดจากความปรารถนาของชาวอาหรับที่จะได้เอกราช และความหวั่นเกรงต่อการอพยพของชาวยิวเข้าสู่ปาเลสไตน์

รายงานชี้ว่า ระบบการปกครองแบบอาณัติใช้ไม่ได้ผล และพันธกิจของอังกฤษต่อชาวอาหรับกับชาวยิวก็ไปด้วยกันไม่ได้ พีลยังบอก ด้วยว่า “ต่างฝ่ายต่างถูกทั้งคู่” จึงเสนอให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์เป็นส่วน ๆ

ต่อข้อเสนอนี้ ฝ่ายไซออนนิสต์ยอมรับแบบกล้ำกลืนฝืนใจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อังกฤษพูดชัดเจนถึงการมีรัฐยิว แล้วนอกจากคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้จะจัดสรรพื้นที่รัฐยิวให้ในขนาดที่ใหญ่กว่าการถือครองที่ดินของชาวยิวในเวลานั้นแล้ว ยังได้เสนอให้อพยพชาวอาหรับออกจากเขตที่จะให้เป็นรัฐยิวด้วย

เหตุที่ฝ่ายยิวไม่สู้จะเต็มใจรับข้อเสนอนี้ในเวลานั้น เพราะยังต้องการให้ระบบอาณัติคุ้มครองพวกตนไปก่อนระหว่างที่กำลังก่อร่างสร้างตัว และยังอยากให้ปาเลสไตน์เป็นแผ่นดินเดียวมากกว่า

ข้างฝ่ายชาวอาหรับนั้นไม่ต้องพูดถึง ทุกคนล้วนตกตะลึงกับความคิดที่จะให้หั่นดินแดนนั้นเป็นเขต ๆ โดยเฉพาะข้อเสนอให้บังคับให้ชาวอาหรับย้ายไปอยู่ที่ทรานส์จอร์แดนยิ่งรับไม่ได้ใหญ่ ผลก็คือ การกบฏยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงปี 1937-1938

ในเดือนกันยายน 1937 อังกฤษจำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึก คณะกรรมการใหญ่ชาวอาหรับถูกยุบเลิก สมาชิกหลายคนของสภามุสลิมสูงสุดและองค์กรอื่น ๆ ถูกจับกุมคุมขัง เจ้าผู้ครองนครเยรูซาเลมหนีไปเลบานอน แล้วไปอิรัก ไม่ได้กลับมายังปาเลสไตน์อีกเลย

ถึงแม้การกบฏของชาวอาหรับจะดำเนินล่วงจนถึงปี 1939 การที่บรรดานักรบได้เสียชีวิตไปมากมาย และการปราบปรามอย่างแข็งขันของอังกฤษ ก็ทำให้การต่อต้านอ่อนแรงลงไปเรื่อย ๆ ประมาณว่าชาวอาหรับกว่า 5,000 คนถูกฆ่าตาย บาดเจ็บ 15,000 คน และถูกจับเข้าคุก 5,600 คน

แม้การลุกฮือจะทำให้ชาวอาหรับรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นชาวปาเลสไตน์ที่ฝันอยากมีประเทศของตนเอง แต่การลุกฮือครั้งนี้ก็มีผลสะท้อนด้านลบหลายอย่าง

การนัดหยุดงานพร้อมกันได้ทำให้พวกไซออนนิสต์หันมาพึ่งตนเองมากขึ้น และชาวอาหรับในปาเลสไตน์ก็ไม่อาจฟื้นกำลังขึ้นมาท้าทายอังกฤษได้อีก ผู้นำตามจารีตประเพณีถูกสังหาร จับกุม หรือเนรเทศไปมากมาย พวกที่ยังเหลือซึ่งไร้อาวุธและขวัญเสียก็รวมกันไม่ติด ต่างจับกลุ่มกันไปตามแนวทางศาสนา เครือญาติ ชนชั้น และภาคเมืองกับภาคชนบท พูดได้ว่าถูกอังกฤษแบ่งแยกแล้วปกครองอย่างได้ผล

ตรงกันข้าม ฝ่ายไซออนนิสต์ต่างผนึกกำลังกันภายใต้การนำของ เบน-กูเรียน และกองกำลังฮากานาห์ก็ได้รับอนุญาตให้ติดอาวุธตนเองได้ กองกำลังนี้ได้ร่วมมือกับอังกฤษโจมตีชาวอาหรับ

อย่างไรก็ตาม กลิ่นของสงครามที่เริ่มโชยในยุโรปได้ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องหันมาทบทวนนโยบายต่อดินแดนปาเลสไตน์ใหม่ เพราะรู้ดีว่าถ้าอังกฤษเข้าสู่สงคราม (ซึ่งจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา) อังกฤษจะรับศึกสองด้านไม่ไหว เพราะประเมินว่าชาวอาหรับในปาเลสไตน์และประเทศข้างเคียงต้องฉวยโอกาสเล่นงานอังกฤษแน่นอน

อังกฤษจึงตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อประเมินความเหมาะสมในเรื่องการแบ่งดินแดนปาเลสไตน์เป็นส่วนของชาวยิวกับชาวอาหรับ

ในเดือนพฤศจิกายน 1938 คณะกรรมการชุดนี้ลงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการชุดของพีล ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า จำนวนของชาวอาหรับในเขตที่เสนอให้เป็นรัฐยิวนั้นจะเกือบเท่ากับจำนวนชาวยิวเลยทีเดียว พร้อมกับเสนอให้ลดขนาดของรัฐยิวให้เล็กลง และให้รัฐนี้มีอธิปไตย อย่างจำกัด

ข้อเสนอนี้ถูกเมินทั้งจากฝ่ายอาหรับและฝ่ายยิว อังกฤษจึงล้มเลิกความคิดเรื่องแบ่งดินแดน แล้วจัดประชุมโต๊ะกลมขึ้นที่กรุงลอนดอน

ที่ประชุมโต๊ะกลมในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 1939 หาข้อตกลงอะไรกันไม่ได้ ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม 1939 รัฐบาลอังกฤษได้ออกสมุดปกขาว (White Paper) ซึ่งมีเนื้อหาโน้มเอียงตามข้อเรียกร้องของฝ่ายอาหรับ

สมุดปกขาวระบุว่า ถิ่นพำนักของชนชาติยิวควรก่อตั้งขึ้นภายในรัฐเอกราชปาเลสไตน์ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะอนุญาตให้ชาวยิวอพยพเข้าไปอาศัยในดินแดนนั้น 75,000 คน แล้วหลังจากนั้นให้ขึ้นกับ “ความ ยินยอม” ของชาวอาหรับ การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินไปสู่ชาวยิวจะทำได้เฉพาะในเขตที่กำหนด และจะพิจารณาให้มีรัฐเอกราชปาเลสไตน์ภายใน 10 ปี

ถึงชาวอาหรับจะชมชอบนโยบายใหม่ แต่ก็ไม่ยอมรับสมุดปกขาว เพราะไม่ไว้ใจอังกฤษ และไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลที่อาจยืดการปกครองแบบอาณัติต่อไปจากช่วงเวลา 10 ปีดังกล่าว

ส่วนฝ่ายไซออนนิสต์ถึงกับช็อกไปเลย เพราะถ้าขืนเป็นอย่างนั้น ชาวยิวก็จะไม่มีที่หลบภัยจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป และเป็นการปิดประตูต่อโอกาสที่จะมีประเทศของตัวเอง สมุดปกขาวปี 1939 จึงเป็นจุดที่อังกฤษกับพวกไซออนนิสต์ต่างหันหลังให้กัน

อย่างไรก็ดี ถิ่นฐานของชาวยิวก็เติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่ปี 1918 แม้ชาวยิวส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง แต่นิคมชาวยิวในชนบทก็เพิ่มจาก 47 เป็นประมาณ 200 แห่ง ระหว่างปี 1922-1940 การถือครองที่ดินของชาวยิวได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 148,500 เอเคอร์ เป็น 383,500 เอเคอร์ คิดเป็น 1 ใน 7 ของที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ประชากรชาวยิวก็เพิ่มจาก 83,790 คน เป็น 467,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดที่มีราว 1,528,000 คน

เมืองเทลอาวีฟได้พัฒนาเป็นเมืองของชาวยิวล้วน มีผู้อาศัย 150,000 คน และมีการส่งเงิน 80 ล้านปอนด์ของชาวยิวเข้าไปพัฒนาถิ่นฐานของชาวยิว อัตราผู้รู้หนังสือของชาวยิวก็สูง มีการขยายโรงเรียน และภาษาฮีบรูก็แพร่หลาย

ถึงแม้จะเกิดการแตกคอกันในปี 1935 ระหว่างพวกไซออนนิสต์กับกลุ่มไซออนนิสต์ใหม่หัวรุนแรง ซึ่งสนับสนุนให้ใช้กำลังเพื่อก่อตั้งรัฐไซออนนิสต์ แต่สถาบันต่าง ๆ ของไซออนนิสต์ในปาเลสไตน์ก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นสภาวะที่เอื้อให้เกิดการก่อตั้งรัฐยิวในเวลาต่อมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษกับไซออนนิสต์ก็ยิ่งดำเนินนโยบายสวนทางกันหนักขึ้น เพราะฝ่ายหลังอยากให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ ขณะที่อังกฤษพยายามขัดขวาง เนื่องจากเห็นว่าการหลั่งไหลเข้าไปของชาวยิวจะคุกคามต่อเสถียรภาพในภูมิภาคนั้น




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2549
0 comments
Last Update : 15 ธันวาคม 2549 22:17:26 น.
Counter : 872 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


vad
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add vad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.