โรคหลอดเลือดสมองวัยไหนก็เป็นได้

จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 2 ของอัตราการเสียชีวิตของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง แม้โรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมาก เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัย แต่คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถเป็นได้เช่นกัน
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ กลายเป็น " โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน " โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มักเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังสร้างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันเวลาจะมีโอกาสสามารถกลับคืนมาเป็นปกติได้
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
สัญญาณอันตรายสู่การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ – อัมพาต) ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- มีอาการชาครึ่งซีก
- อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ
- เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง)
- พูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจ หรือพูดไม่ชัด ทันทีทันใด
- ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการคล้ายม่านบังตาที่เป็นฉับพลัน
- ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน ชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน
- งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ข้างต้น
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วยแต่ละคน