ดูทีวีออนไลน์ ดูทีวีย้อนหลัง ละครย้อนหลัง ช่อง 3 5 7 9 True AF8
Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
1 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2555

ในรอบ 1 ขวบปีที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังลูกผีลูกคน เศรษฐกิจในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐลุ่ม ๆ ดอน ๆ ขณะที่ สหภาพยุโรป หรืออียู โดยเฉพาะ 17 ประเทศสมาชิกยูโรโซน หรือประเทศที่ใช้เงินยูโร ย่ำแย่หนักเสียกว่า โดยวิบากกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐและอียู กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้ง หน่วงเหนี่ยวเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นให้เติบโตช้าในปี 2554 เนื่องจาก 2 ภูมิภาคนี้ เป็นตลาดใหญ่ หากกำลังซื้ออ่อนแอ ก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกจากต่างประเทศด้วย

สำหรับปี 2555 นี้ ว่ากันว่า จะเป็นปีแห่งความจริงของยูโรแล้ว โดยเงินสกุลเดียวยุโรป ที่มีอายุครบ 10 ปี จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ หรือว่าประเทศยูโรโซนจะแตกเป็นเสี่ยง ปีนี้จะรู้กัน ทั้งนี้ หากปี 2554 เป็นปีที่ตกต่ำสำหรับอียู บรรดาผู้นำเยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศหุ้นส่วนที่เกิดปัญหาหนี้ ขณะนี้ กำลังเริ่มเข้าสู่สภาวะที่ล่อแหลม หลังจากจมปลักอยู่กับปัญหามานานหลายเดือน

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส กล่าวว่า วิกฤติหนี้ยูโร อาจทำให้ยุโรปทั้งหมดถึงกับเข่าอ่อน ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเชื้อร้ายกำลังแพร่ระบาดจากกรีซ ผ่านไปยังไอร์แลนด์และโปรตุเกส ที่เข้าโครงการกู้เศรษฐกิจแล้ว ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อไปยังสเปน และสุดท้ายที่อิตาลี “ยุโรปจะเป็นอย่างไร หากยูโร ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจยุโรปล่มสลาย” ผู้นำฝรั่งเศสตั้งคำถาม

กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ทั้งหมดถูกพิจารณาว่า เป็นปัญหาที่ไม่น่าระคายยูโรโซน แต่เมื่อปีที่แล้ว เชื้อร้ายได้ลุกลามประเทศสมาชิก กัดกร่อนเข้าสู่ประเทศที่เป็นหัวใจเศรษฐกิจอย่างฝรั่งเศส และแม้กระทั่งเยอรมนีก็ถูกขู่ที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้ จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ยูโรโซนจะมีวิธีการป้องกันปัญหาในอิตาลี หรือสเปน ไม่ให้กลายเป็นเนื้อร้ายได้หรือไม่

โพลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ในปี 2555 ยุโรปยังต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่น่าสลดหดหู่ต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดดันต่อการเติบโตทั่วโลก แต่ยังดีที่อย่างน้อยยังมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และอเมริกา เป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยกอบกู้ซากเศรษฐกิจโลกเอาไว้ได้ โดยผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่จัดทำขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2555 นี้ ประเทศพัฒนาแล้วรายใหญ่หลายประเทศ จะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงเศษเสี้ยวจากที่ดิ่งลงอย่างหนักเมื่อปี 2554 ส่วนราคาน้ำมันเอง แน่นอน จะปรับตัวลง

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ตั้งสมมุติฐานไว้บนความหวังที่ว่า วิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซน จะไม่บานปลายกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็กัดกร่อนการเติบโตของประเทศผู้ส่งออกสำคัญที่มียุโรปเป็นจุดหมายปลายทางอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เจอร์ราร์ด ลียองส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2555 นี้ ยังคงเติบโตแบบแบ่งเป็น 2 ภาคส่วน คือยุโรปจะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำในช่วง6 เดือนแรกของปี แต่จีนจะดันเศรษฐกิจโลกให้เติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เริ่มจากเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ผลงานดีกว่าที่คาด และผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่รอยเตอร์จัดทำขึ้นยังแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจแดนลุงแซมมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 2.2 ในปี 2555 เทียบกับร้อยละ 0 ที่คาดการณ์ไว้สำหรับยูโรโซน

แต่กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญทางการเมืองจะร่วมผสมโรงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกให้คลุมเครือยิ่งขึ้น โดยที่ในปี 2555 นี้ จะมีการเลือกตั้งและการเปลี่ยนตัวผู้นำในหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุด ขณะเดียวกัน แนวโน้มความปั่นป่วนวุ่นวายในตะวันออกกลาง ก็ยังจะยืดเยื้อต่อไป

สำหรับสถานการณ์ของอียูนั้น ต้นเดือนธันวาคม บรรดาผู้นำได้ดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์ในการมุ่งสู่การรวมตัวใกล้ชิดขึ้นทางการคลัง แต่นักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถบรรเทาวิกฤติหนี้สั่งสมย่างเข้าสู่ปีที่ 3 และปัญหานี้จะยังคงคาราคาซังต่อไป นักเศรษฐศาสตร์แสดงความวิตกกังวลว่า ผู้นำยุโรปพยายามน้อยเกินไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่สเปนและอิตาลีกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอยที่เจ็บปวดและยาวนาน ซึ่งจริง ๆ แล้วในขณะนี้ ยูโรโซนโดยภาพรวมอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอ่อน ๆ แล้วและจะยืดเยื้อไปจนถึงกลางปีหน้า ยูโรโซนจึงจะยังคงเป็นที่มาของความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของทั่วโลกต่อไป

ด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตในปี 2555 สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก พร้อมเตือนถึงผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยุโรป เอดีบี คาดการณ์ว่า ขณะนี้ 14 ประเทศเศรษฐกิจในภูมิภาค จะขยายตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2555 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมร้อยละ 7.5 เมื่อเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม เอดีบียังรักษาการคาดการณ์ในปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 เหมือนเดิม โดยรวมเอาทั้งเอเชียตะวันออก คือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน บวกจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้และไต้หวัน เอดีบีบอกว่า การปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคลง ส่วนใหญ่เนื่องจากอุปสงค์จากภายนอกอ่อนแอ

เอดีบีเตือนว่า ปัญหาหนี้ยุโรป อาจกลายเป็นวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลกเต็มรูปแบบ อิวาน อาซิส หัวหน้าสำนักงานบูรณาการเศรษฐกิจภูมิภาคของเอดีบี กล่าวว่า ผลกระทบรอบแรกจะเกิดขึ้นกับหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ส่วนผลกระทบรอบ 2 จะเกิดขึ้นกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเกือบทั้งหมด

ในรายงานของเอดีบี เรียกร้องผู้กำหนดนโยบาย ปฏิบัติการตอบโต้อย่างทันท่วงที เด็ดขาด และโดยองค์รวมเพื่อให้ภูมิภาคหลุดพ้นจากวิกฤติ เอดีบียังเตือนถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ เช่นลัทธิกีดกันการค้า, การไหลของเงินทุนที่ไร้เสถียรภาพและภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อ ดูเหมือนจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดแล้วในประเทศส่วนใหญ่ และไม่คาดว่าจะทำให้เกิดภาวะถดถอยในภูมิภาค

ส่วนสแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ ระบุว่า อัตราการเติบโตในเอเชีย จะลดลงมาเหลืออยู่ที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2555 จากร้อยละ 7.3 ในปี 2554 แต่ก็ยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่ เศรษฐกิจญี่ปุ่น จะหดตัวลงร้อยละ 0.1 ในงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม จากข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับร้อยละ 0.5 ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัย ระบุด้วยว่า การเติบโตในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากร้อยละ 2.7-2.9 ที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ โดยรัฐบาลปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจลง เนื่องจากค่าเงินเยนแข็ง และวิกฤติหนี้ยูโรโซน

ธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็เตือนเหมือนกันว่า การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงเนื่องจากวิกฤติดังกล่าว นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาติก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว ยังเชื่อกันว่า ญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิด แต่มีความหวังน้อยมากสำหรับการหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดในเร็ว ๆ นี้

ไม่ว่าอนาคตของยูโรโซนจะเป็นอย่างไร ผลจากวิกฤติหนี้ได้แผ่ขยายเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย อียูนั้นเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของจีน และข้อมูลด้านการผลิตของจีน บ่งชี้ว่า ยอดสั่งซื้อใหม่ ๆ จากต่างประเทศลดลงอย่างมาก โดยเศรษฐกิจจีนขณะนี้โตช้าที่สุดนับจากปี 2552 เพื่อส่งเสริมการเติบโต ธนาคารชาติจีนจึงลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงเมื่อเดือนที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รอยเตอร์จัดทำขึ้นหลังการประกาศดังกล่าว พบว่าธนาคารกลางจีนจะยังคงละเว้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก เว้นเสียแต่ว่า การเติบโตดิ่งต่ำกว่าร้อยละ 8 เช่นเดียวกัน อินเดียประสบปัญหาการเติบโตชะลอตัว และโพลของรอยเตอร์บ่งชี้ว่า ธนาคารชาติจะผ่อนคลายนโยบายการเงินกลางปีหน้าแม้ภาวะเงินเฟ้อยังสูงอยู่ก็ตาม ขณะที่บราซิล ธนาคารกลางก็ปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปีปัจจุบันจากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3 และร้อยละ 3.5 ในปี 2555 ซึ่งถือว่าน่าผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยปีก่อน ๆ ที่เกือบเป็นตัวเลขสองหลัก แต่ยังนับว่าดีหากเทียบกับอัตราที่ห่อเหี่ยวของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ กระนั้นก็ตาม โดยรวมแล้ว สรุปได้ว่า แม้มหาอำนาจเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้มีอัตราเติบโตตกต่ำลงเล็กน้อย แต่ยังสามารถผลักดันการเติบโตของโลกได้ในปี 2555 นี้

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐ ล่าสุด สำนักข่าวเอพีเผยผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า ส่วนใหญ่เชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตเร็วขึ้นในปี 2555 หากไม่ถูกทำให้เฉออกนอกเส้นทางจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุโรป และอัตราการว่างงานน่าจะลดลงจากปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.6 โดยผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 36 คนในสถาบันการศึกษาและบริษัทต่าง ๆ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปีใหม่ จะเติบโตร้อยละ 2.4 ส่วนในปี 2554 คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่าร้อยละ 2

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า เศรษฐกิจในปี 2554 ผ่านพ้นไปด้วยทิศทางขาขึ้น โดยมีการจ้างงานใหม่อย่างน้อย 100,000 อัตราเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2549 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ยื่นขอสิทธิประโยชน์จากการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 บ่งชี้ว่าการลอยแพกำลังจะสิ้นสุดลงและการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจทำขึ้นระหว่างวันที่ 14-20 ธันวาคม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าในปี 2555 จะมีการสร้างงานเดือนละ 177,000 อัตราไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในตอน
ปลายปี

อย่างไรก็ตาม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ แคปิตอล มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอ่อนแอต่อผลกระทบจากภายนอก และภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด คือวิกฤติหนี้สินของยุโรป จะทำให้สินเชื่อทั่วโลกหยุดชะงักเหมือนกับครั้งที่เกิดกับในวอลล์ สตรีท ช่วงปลายปี 2551

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ปัญหาจากภายนอกจะไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ถ้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่เมื่อเศรษฐกิจจะเติบโตเพียงร้อยละ 2-3 ทำให้วิกฤติในระดับโลกจะส่งผลต่อการสร้างงานและทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น.


Create Date : 01 มกราคม 2555
Last Update : 1 มกราคม 2555 8:05:05 น. 0 comments
Counter : 534 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ตุ้งแง่ว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ตุ้งแง่ว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.