บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
31 ธันวาคม 2553
 
All Blogs
 
จิปาถะ(10)...ชุมชนนิมนต์ยิ้ม 3






บารมี

เราเคยคิดกันบ้างหรือไม่? ของทุกอย่าง ถ้าคนใช้ไม่มีอำนาจบุญบารมี ก็ไม่มีทางเก็บรักษาไว้ได้ แม้แต่ร่างกาย ผิวพรรณ ถ้าเราไม่มีบุญบารมีพอ ก็ไม่สามารถรักษาให้งดงามอย่างที่อยากเป็นได้ ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับบุญบารมีทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่ผู้หญิง บางคนแม้อายุมาก ก็ดูอายุน้อยได้ ในขณะที่ผู้ชายบางคนก็ดูมีบารมีมากกว่าอายุที่มี เหล่านี้คือ ความจริงที่เห็นๆ กันได้

สามเณรน้อยต้องไปเรียนหนังสือนอกวัด พอเลิกเรียนจะกลับวัด ก็พบว่ารองเท้าที่โยมถวายมาใหม่ๆ หายไป ไม่รู้ว่าใครหยิบผิดไป จึงคิดแต่ว่า...นี่แหละเท้าเรามันไร้วาสนาบารมี ของดีจึงอยู่ไม่ได้...วันนั้นจึงเป็นกรรมของสามเณรน้อยที่ต้องเดินกลับวัดทั้งเท้าเปล่าๆ แต่ด้วยบุญบารมีสร้างสมมายังไม่หมดไป จึงไปพบเข้ากับโยมท่านหนึ่งซึ่งยืนอยู่หน้าร้านรองเท้า พอเห็นสามเณรน้อยเดินเท้าเปล่าผ่านมาจึงอยากถวายรองเท้า

แต่ขณะกำลังเอื้อนเอ่ยนิมนต์ ก็พอดีคนขายออกมาพร้อมบอกกับโยมท่านนั้นว่า

"ท่านเคร่งน่ะ ถึงไม่ใส่รองเท้า อย่ายุ่งกับท่านเลย"แล้วทั้งคู่ก็ต่างยกมือไหว้โดยไม่พูดอะไรกันอีก...สงสัยไม่มีบารมีจริงๆ...

ถ้าเราไม่มีบารมี ก็ไม่จำเป็นต้องเสียใจ เพราะเราสามารถสร้างได้เสมอ นี่แหละสิ่งที่สามเณรน้อยอยากบอกทุกท่าน



ภาษาพระ

ทุกครั้งก่อนจะทำการสนทนากัน สิ่งหนึ่งคือ ต้องใช้ภาษาเขา ในขณะเดียวกันก็ให้คนสนทนาด้วยเข้าใจภาษาเราด้วยเพื่อเปลี่ยนถ่ายข้อมูลกันได้อย่างถูกต้อง มีหลายครั้งที่คนไม่เข้าใจภาษาพระ และใช้ตามที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ ก็ไม่ผิดอะไรบางครั้งน่ารักดีไปอีกแบบ

มีครั้งหนึ่งมีโยมมาถวายอาหาร ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานในวังมาโดยตลอด จึงไม่คุ้นเคยกับคำพูดที่ใช้กับพระนัก พอประเคนเสร็จ เธอก็เชิญชวนให้ลองลิ้มรสอาหารทันที

"ลองเสวยดูสิเพคะ" พระเณรก็ได้แต่อมยิ้ม ไม่รู้มีเชื้อเจ้ากันตั้งแต่เมื่อไร ที่จริงถ้าจะใช้ให้ถูกคือ คำว่า "ฉัน" หมายถึง รับประทานอาหาร

และยังมีอีกครั้งหนึ่งพระอาจารย์แก้วไปสอนสามเณรที่เข้ามาบวชใหม่ๆ ให้รู้จักภาษาที่พระนิยมใช้กันก็เลยถามไป

"ใครรู้บ้างพระอาบน้ำใช้คำว่าอะไร" สามเณรหลายคนพยายามทำท่าคิดแต่ก็ยังไม่รู้จะตอบอะไร

"เรียกว่า สรงน้ำ" เพื่อไม่ให้สามเณรเครียดเกินจำเป็นจึงตอบแทนให้ก่อนจะถามต่อไป

"แล้วพระนอนล่ะใช้อะไร" สามเณรน้อยรีบยกมือขึ้นก่อนจะลุกขึ้นตอบด้วยความมั่นใจเต็ม ๑๐๐

"หมอนครับ" พระอาจารย์ถึงกับอมยิ้มก่อนจะถามใหม่

"ไม่ใช่ ที่พระอาจารย์ถามหมายถึง พระนอนใช้คำว่าอะไร"

"อ้อ...ครับ แล้วใช้คำว่าอะไรครับ"

"พระนอน เรียกว่า จำวัด"

"กลัวลืมหรือครับ" สามเณรน้อยเริ่มสงสัยกับการใช้คำพระ

...พระอาจารย์เลยต้องอธิบายอีกยาวเลยทีนี้...

"การจะรู้จักหรือพูดคุยกับใครจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะรู้ว่าเขาใช้ภาษา อะไร และชอบพูดกันอย่างไร เพื่อพูดคุย และสอนเขาได้มากขึ้น" เป็นคำที่พระอาจารย์บอกสามเณรไม่ให้ดูถูกภาษา



คำถาม

เป็นธรรมชาติของคนเราอย่างหนึ่ง ที่จะคิดได้ก็ต่อเมื่อ มีคำถามเกิดขึ้น แต่บางคนก็ไม่อยากคิด เพราะคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง จึงกลายเป็นคนที่ไม่อยากคิด และไม่อยากทำไปในที่สุดตรงข้ามกับคนที่มักจะลองหัดคิดและแก้ไขตลอดเวลา ไม่ว่าปัญหาจะเล็กน้อยแค่ไหน สุดท้ายปัญญาก็เกิดจากการได้คิดและทำ

พระอาจารย์มักนำคำถามมาถามสามเณรน้อย ๆ เวลาสอนเสมอ อย่างวันนี้ก็มีคำถามอยู่ว่า

"หากพวกเธอมีปลาอยู่ตัวอนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะกินได้ตลอดชีวิต"

สามเณรช่วยกันหาคำตอบมากมาย เช่น

"เอามาเลี้ยงไว้ครับ ต่อไปพอมันแพร่พันธุ์ก็จะได้เอามากินต่อได้" คงลืมไปว่า ปลาตัวเดียวจะแพร่พันธุ์ได้อย่างไร

แต่ก็ดีที่คิดกันออกมาได้นอกจากนั้นยังมีคำตอบแปลกๆ อย่างเอาไปแขวนไว้แล้วกินข้าวไปนั่งดูไป แต่ที่ชอบก็คงเป็นเอาไปถ่ายเอกสารแล้วเก็บไว้ นี่ก็กินได้นานเหมือนกัน แต่ไม่มีรสชาติ

มีคำตอบของสามเณรบางรูปที่ตรงกับใจหลายคน นั่นคือเอาไปทำเป็นอาหาร แล้วแบ่งให้คนรอบข้างโดยเริ่มจากญาติหรือคนใกล้ชิด แล้วเราจะกินได้ตลอดไป

บทสรุปนี้ก็คือ

การสร้างมนุษยสาัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือเผื่อแผ่คนรอบข้างแล้วต่อไปเราจะมีกิน มีใช้ไม่หมด.....


"คำตอบสุดท้ายนี้ดีจริงๆ เพราะเราคงไม่เที่ยวถ่ายเอกสารแจกคนอื่น แล้วต่อมาจะได้รับความช่วยเหลือกลับคืนแน่ๆ พระอาจารย์สรุปตอนท้าย"



ฉลองศรัทธา

"เวลาโยมมาถวายอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องใช้พระณรเราจำเป็นต้องฉัน หรือใช้เพื่อฉลองศรัทธา" นั่นเป็นคำสอนที่พระอาจารย์มักสอนสามเณรน้อยเสมอแล้วโอกาสฉลองศรัทธาของสามเณรน้อยก็มาถึง

พอดีวันนั้นมีโยมท่านหนึ่งมาหาพระอาจารย์แต่ท่านไม่อยุ่ ไปเรียน โยมเห็นสามเณรจึงคิดว่าถวายกับสามเณรก็คงไม่เป็นไร จึงนิมนต์

"สามเณรเจ้าคะ ช่วยรับสังฆทานโยมหน่อย"

...สังฆทาน เป็นทานแบบหนึ่งที่ไม่เจาะจงคนรับจะเป็นพระหรือสามเณร ได้ทั้งนั้นเป็นคำสอนที่สามเณรน้อยจำได้ติดใจ

"ได้..คุณโยม" สามเณรตอบรับ เพื่อฉลองศรัทธาอย่างที่พระอาจารย์สอน

พอถวายเสร็จ สามเณรก็ให้พรเท่าที่พอจำได้ สร้างความปลื้มใจให้โยมไม่น้อย

"นี่เป็นอะไรหรือที่โยมมาถวาย" สามเณรสอบถาม

"ค่ะ เป็นพวกเครื่องกีฬานะค่ะ พอดีลูกชายโยมเป็นคนชอบเล่นกีฬา

แล้วเสียไปไม่นานมานี้ ก็เลยอยากมาทำบุญด้วยเครื่องกีฬาที่เขาชื่นชอบน่ะค่ะ" โยมอธิบาย

"เจริญพร" สามเณรตอบกลับ

...ที่จริงการถวายอะไรก็แลวแต่ ล้วนเป็นบุญทั้งสิ้นไม่จำเพราะเจาะจงว่าต้องเป็นของที่คนตายชอบ ขอให้เป็นของที่ได้มาบริสุทธิ์และน้อมถวายด้วยศรัทธาก็พอ..สามเณรทวนคำสอนพระอาจารย์ในใจ

พอโยมลากลับไปแล้ว สามเณรก็ไปชวนเพื่อนอีกรูปมาพร้อมๆกับหยิบไม้และลูกขนไก่ออกมาตีกันอย่างสนุกสนาน จนพระอาจารย์กลับมาเห็น จึงพูดไปด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด

"เณรทำอะไรกัน ไม่เหมาะเลย"

สามเณรน้อยกับเพื่อนหน้าสลดลง ก่อนจะตอบด้วยคำสอนที่พระอาจารย์สอนให้ฟังตลอดเวลา

"ฉลองศรัทธาโยมครับ พระอาจารย์"



จับนก

ขณะที่ชายวัยกลางคนคนหนึ่ง กำลังปลดทุกข์หนักอยู่ ณ หลังต้นไม้ใหญ่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทางเดินนัก ก็พอดีกับที่สามเณรน้อยกลับจากกรุงเทพฯ เพื่อมาเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัด พอลงรถก็กะว่าจะเดินสูดไอธรรมชาติในชนบทที่ห่างหายไปนานเสียหน่อย สามเณรน้อยเดินมาก็เห็นท่าทีลับ ๆ ล่อ ๆ ของชายคนนั้นเข้าพอดี จึงถามไปอย่างสงสัย

"โยมทำอะไรอยู่น่ะ"

ชายคนนั้นพอได้ยินเสียงก็ตกใจ พอมองไปเห็นสามเณรกำลังยืนมองอย่างสงสัย จึงเริ่มมีอาการอาย ก่อนจะตอบไปพร้อมๆเอาหมวกที่ปิดหัวอยู่ มาปิดบังก้อนทุกข์นั้นไว้

"อ้อ...ครับเณร พอดีผมกำลังตามจับนกแก้วที่เลี้ยงไว้น่ะครับ ก็พอดีจับมันได้ ก็เลยเอาหมวกปิด"

"อ้าวแล้วนั่นโยมจะทำไงต่อ ทำไมไม่เปิดหมวกแล้วจับมันกลับละ" สามเณรถามต่อ

"ไม่เปิดดีกว่าครับ เดี๋ยวมันบินหนีไปอีก มันตัวเล็กและไวมากๆนี่ให้เพื่อนไปเอากรงมานานแล้ว ยังไม่เห็นมาเลย นิมนต์เณรเถอะครับ" โยมบอกเหตุผล

"เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้นโยมไปเอากรงมาแล้วกัน เดี๋ยวเณรจับหมวกเอาไว้ให้" สามเณรน้อยแสดงน้ำใจอย่างเคย

"เอ้อ...จะดีหรือครับ" โยมบอก

"ดีอยู่แล้ว โยม" สามเณรน้อยย้ำน้ำใจอีกที

ชายคนนั้น เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นอย่างนั้น ไม่รู้จะว่าอย่างไร จึงเลยตามเลยพร้อมกล่าวขอบใจสามเณรก่อนจะรีบเดินลับตาไปจนเวลาล่วงผ่านไปพอควร สามเณรเริ่มกระสับกระส่าย เมื่อยก็เมื่อย ร้อนก็ร้อน จึงเริ่มคิด "ท่าจะอีกนาน กว่าชายคนนี้จะกลับมา เอาเป็นว่าเราจับนกตัวนี้แล้วเอาไปวัดด้วย เดี๋ยวเขาก็ ไปขอคืนที่วัดเองแหละ"

คิดได้เท่านั้น สามเณรก็ค่อยๆ ยกมือที่ปิดหมวกอย่างช้าๆ แต่เพื่อไม่ให้นกบินหนี จึงรีบเอามืออีกข้างตะบบเข้าได้หมวกอย่างรวดเร็วเพียงสัมผัสแรกก็รู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่นกแน่ แต่เป็นอะไรผู้อ่านก็คงพอเดากันได้

สามเณรน้อยได้แต่คิดในใจ...ยุ่งเรื่องที่ไม่ควรยุ่งจริงๆเลยเรา...



รับนิมนต์

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่สามเณรน้อยกำลังลังกวาดวัดอยู่อย่างขะมักเม้น ก็มีโยมคนหนึ่งตรงเข้ามา แล้วถามหาพระอาจารย์แก้วว่าอยู่หรือไม่ ?

"ไม่อยู่หรอกโยม ท่านไปเรียน" สามเณรหยุดกวาดก่อนตอบ

"งั้นสามเณรช่วยบอกท่่านว่า พรุ่งนี้จะมาทำบุญอุทิศให้ญาติที่ตายไป

ให้พระอาจารยืท่านช่วยนิมนต์พระไปสวดมนต์ให้ด้วย

" โยมรีบบอกธุระ"อ้อ...ได้โยม เดี๋ยวเณรจะบอกให้นะ"

"ขอบคุณมากเจ้าค่ะ"

โยมบอกก่อนจะเดินทางจากไปสามเณรน้อยก็ลงมือกวาดต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นตอนเย็นพอพระอาจารย์กลับมาจากเรียน สามเณรน้อยก็รีบรายงานทันทีว่ามีโยมมานิมนต์ให้พระอาจารย์หาพระสวดมนต์ให้วันพรุ่งนี้ด้วยพระอาจารย์ก็รับรู้ก่อนจะจดรายชื่อพระที่ต้องไปสวดมนต์ให้โยมพรุ่งนี้ พร้อมชื่อสามเณรน้อยไปด้วย

"พระอาจารย์ มีชื่อผมด้วยหรือ" สามเณรน้อยถามขึ้นด้วยความแปลกใจ

"ใช่ เพราะพรุ่งนี้มีพระไม่พอ และเณรจะได้หัดสวดมนต์ไว้บ้าง" พระอาจารย์บอกเหตุผล

สามเณรน้อยเริ่มกังวล เพราะนี่เป็นงานแรก และสวดมนต์ก็ยังไม่คล่องจึงรีบหาหนังสือสวดมนต์มาท่องเท่าที่จะจำได้ จนหลับไปรุ่งขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมา ความตื่นเต้นยังไม่จางหายไป เพราะเป็นงานแรกแต่ก็ต้องจำใจเดินขึ้นศาลาตามพระอาจารย์รูปอื่นๆพอเห็นโยมพระอาจารย์ก็ทักทายกันเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มสวดมนต์จนจบ และก่อนจะอนุโมทนา โยมก็เอาชื่อคนตายมาให้เพื่อจะได้บังสกุล

"การบังสุกุลก็คือการที่เอาผ้ามาวางบนสายสิญจน์เพื่อให้พระพิจารณาและผ้าบังสุกุลในสมัยพุทธกาล พระท่านต้องไปเที่ยวหาตามป่าช้ามาไว้ทำจีวรจึงเป็นประเพณีตกทอดมาถึงปัจจุบัน" พระอาจารย์เคยอธิบายให้สามเณรน้อยฟัง

พอพระอาจารย์อ่านเสร็จก็รู้สึกแปลกใจ จึงถามเจ้าภาพ

"นี่หรือชื่อคนตาย...จิฟฟี่"

"ใช่ค่ะ"

"อ่าวเป็นฝรั่งด้วยหรือ แล้วนามสกุลล่ะ" พระอาจารย์ถามต่อ

"ค่ะ มันมาจากต่างประเทศ เป็นหมาของฉันเอง เพิ่งตาย คิดถึงมัน กลัวมันเหงา เลยมาทำบุญไปให้"

พระที่นั่งสวดกันได้แต่อมยิ้มไม่พูดอะไรอีก และก็บังสุกุลไปตามศรัทธาเจ้าภาพต่อไป...ทำบุญให้หมา สามเณรนั่งท่องบทสวดมนต์เกือบตาย หมาตัวนี้มีบุญจริงๆ..เณรน้อยคิดในใจ



แตกเนื้อหนุ่ม

"เป็นเด็กเป็นเล็ก ทำอะไรต้องคอยดูตามผู้ใหญ่ไว้ รู้ไหม" พระอาจารย์มักจะเตือนสามเณรน้อยด้วยประโยคเหล่านี้บ่อยๆ เพื่อให้สามเณรคอยดูพระอาจารย์หรือพระภายในวัดว่าปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วจะได้ยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง

แต่เหมือนกลายเป็นการสื่อว่าสามเณรก็ไม่ต่างจากเด็กที่จะทำอะไรก็ต้องอาศัย ผู้ใหญ่คอยช่วยแนะนำเสมอ จนกลายเป็นความอึดอัดบ้างที่เด็กๆ ต้องมาคอยระวังว่าจะทำอะไรผิด ผิดกับผู้ใหญ่ที่ทำอะไรก็ได้ไม่ผิด นั่นทำให้สามเณรน้อยรอวันที่ตนเองจะได้เป็นผู้ใหญ่กับเขาบ้าง

แต่ก็อดสงสัยเกี่ยวกับคำว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ไม่ได้ จึงต้องปรึกษากับสามเณรปุ้ยสหายธรรมที่สนิทเสียก่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้

"แล้วจะรู้ได้อย่างไรละว่าใครเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่" สามเณรน้อยถามขึ้น

เสียงเกาศีรษะแสดงอาการครุ่นคิดสักครู่ อันเป็นท่าที่สามเณรปุ้ยบอกว่าได้มาจากเณรอิกคิวซังหนังการ์ตูนที่ดูจนติดตา ท่านี้ก็ทำให้คิดอะไรได้เร็วขึ้น จะจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะถามอะไร เวลาสามเณรปุ้ยทำอย่างนี้ต้องได้คำตอบเสมอ

"ก็สังเกตที่สิวสิ เวลาเป็นหนุ่มจะเกิดสิว แล้วก็คอยฟังเสียงตอนดึกๆ" สามเณรปุ้ยตอบอย่างมั่นใจ

"เสียงอะไรหรอ" สามเณรน้อยสงสัย

"เสียงแตกเนื้อหนุ่ม" สามเณรปุ้ยตอบพร้อมอมยิ้ม

สามเณรน้อยพยักหน้าเห็นด้วยกับเรื่องสิว แต่เรื่องแตกเนื้อหนุ่มนี่ไม่ค่อยเชื่อเท่าไร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การรอคอยสิวเม็ดแรกในชีวิตของวัยหนุ่มก็เริ่มขึ้น กระจกดูจะจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ แต่สามเณรน้อยก็เคยถูกตำหนิเรื่องนี้มาแล้วจากพระอาจารย์

"เป็นพระเณรจะใช้กระจกดูไม่เหมาะนะ"

สามเณรน้อยจึงค้นหาอุปกรณ์ทดแทนซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล เป็นฝาบาตรที่ใช้อยู่มันสะท้อนพอให้เห็นใบหน้าได้ ถึงจะไม่ดีนักแต่ก็พอถูไถไปได้ แล้วการรอคอยก็สิ้นสุดลง เมื่อมีบางอย่างเกิดขึ้น

"ปุ้ยๆๆๆๆๆๆๆ" เสียงสามเณรน้อยดังมาแต่ไกล

"มีอะไรหรอ เสียงดังมาเชียว เดี๋ยวพระอาจารย์ก็ว่าเอาหรอก" สามเณรปุ้ยบอกเตือน

สามเณรน้อยไม่ได้สนใจ กลับชี้ให้ดูเม็ดบางอย่างที่ขึ้นอยู่บนใบหน้า ก่อนจะพูดด้วยอารมณ์ดี

"สิว ๆๆๆ ดูสิ"

"เออ จริงด้วย หลายเม็ดเสียด้วย ดีใจด้วยนะ" เสียงตอบรับจากสามเณรปุ้ยหลังจากพิจารณาสักครู่

หลังจากนั้นมาสามเณรน้อยได้แต่นั่งยิ้มพร้อมกับจ้องฝาบาตรตลอดเวลา จนพระอาจารย์สงสัยจึงถามขึ้น

"ทำอะไรนะเณร"

"พระอาจารย์ครับผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว" สามเณรน้อยตอบด้วยความภาคภูมิใจ

"แล้วเณรรู้ได้อย่างไร"

"ก็นี่ไงครับ สิวนี่ไงครับ และไม่ใช่ขึ้นเม็ดเดียวด้วย ตอนนี้ขึ้นเพียบเลยครับ"

สามเณรตอบพร้อมกับชี้ไปบนใบหน้าด้วยความภูมิใจ พระอาจารย์เลยจ้องไปที่สิวของสามเณร

"แล้วสิวทำไมขึ้นหลายเม็ดจัง ไหนดูสิ"

พระอาจารย์เริ่มสงสัยก่อนจะให้สามเณรน้อยรีบถอดจีวรออก พอถอดออกก็เห็นเม็ดขึ้นอีกเต็มตัว จึงรู้ว่านี่ไม่ใช่สิวแล้ว ก่อนจะบอกว่า

"นี่ไม่ใช่สิวหรอกเณร แต่เป็นเม็ดอีสุก อีใสต่างหาก"

"อีสุก อีใส!!!" สามเณรร้องขึ้น

"ใช่ เดี๋ยวกินยาแล้วไม่นานก็หาย" พระอาจารย์จึงพูดขึ้นพร้อมรอยยิ้ม

นั่นนับเป็นประสบการณ์การแตกเนื้อหนุ่มครั้งแรกของสามเณรน้อยอย่างแท้จริง เพราะหลังจากกินยาเข้าแล้ว เม็ดอีสุกอีใสก็แตกเต็มตัวไปหมด กลายเป็นสามเณรที่มีรอยหนุ่มเต็มตัว เพราะแผลเป็นที่เกิดจากอีสุก อีใสนั่นเอง

"การเป็นผู้ใหญ่เขาไม่ได้ดูที่ร่างกายเท่านั้น เขาดูกันที่ความคิดว่ามีเหตุมีผลหรือไม่ เธอยังเด็กจึงไม่รู้จักคิดและไตร่ตรองให้ดี ทำอะไรก็เลยผิดพลาดได้ง่าย" พระอาจารย์เตือน



ปิติ

เราหลายคนคงเคยรู้สึกอิ่มใจในหลายเรื่องที่ผ่านมา อย่างสอบได้ เรียนจบแล้วได้งานทำ แต่งงาน หรือแม้แต่ได้ไปเที่ยวในที่ ๆ ตนอยากไป และทุกครั้งเวลาที่เรารู้สึกอิ่มใจขึ้นมา ร่างกายก็พลอยได้รับอานิสงส์อิ่มตามไปด้วย แม้แต่การบวชก็ไม่เว้น

ตอนสามเณรน้อยบวชใหม่ ๆ ความอิ่มใจยังอยู่ พอได้ยินเสียงพระอาจารย์แก้วเรียกไปฉันข้าว ก็นั่งมองอาหารอย่างเดียว พอถูกถามก็ตอบเพียง

“ไม่หิวเลยครับ วันนี้”

“เณรฉันบ้าง เดี๋ยวเย็นจะหิวนะ” พระอาจารย์ถามด้วยความเป็นห่วง

“ไม่เป็นไรครับ ไม่หิวจริง ๆ “ สามเณรน้อยยังตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พอเวลาล่วงเข้าตอนบ่ายหน่อย ปิติเริ่มหาย ความหิวเริ่มมาเยือน สามเณรน้อยจึงเดินเข้าไปหาพระอาจารย์ก่อนจะถามขึ้น

“พระอาจารย์ พระเณรห้ามฉันอาการเย็นใช่ไหมครับ”

“ใช่...ทำไมหรือ”

“ถ้าอย่างนั้น ผมฉันอาหารร้อนจะผิดไหมครับ” สามเณรน้อยเฉไฉไปน้ำขุ่น ๆ

“เณร ที่จริงไม่ได้หมายถึงอาหารเย็นหรือร้อน แต่หมายถึงห้ามฉันของขบเคี้ยวตั้งแต่เที่ยงไปแล้ว เป็นไง นี่หิวล่ะสิ ไปกินนมซะ จะได้หายหิว” พระอาจารย์ตอบอย่างรู้ทัน

“อ้าว...แล้วสมัยก่อนไม่มีนาฬิกาแล้วจะรู้ได้ยังไงครับว่าเลยเที่ยงแล้ว” สามเณรน้อยยังคงพยายามหาลู่ทางต่อไป จนพระอาจารย์ต้องอธิบายต่อ

“ก็อาศัยเงาต้นไม้ ถ้าเงายังอยู่ ไม่โอนเอนไปทางไหน พระอาทิตย์ตรงศรีษะ นั่นแหละคือเวลาเที่ยงวันล่ะ”

“ขอบคุณครับ ผมไปก่อนล่ะ” สามเณรน้อยรีบก้มลงกราบพร้อมใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเหมือนเพิ่งจะนึกอะไรขึ้นได้ พระอาจารย์ยังคงสงสัยในท่าทีของสามเณรน้อย กำลังจะทักขึ้นแต่ก็ไม่ทัน เพราะสามเณรน้อยรีบเดินออกจากกุฏิไปอย่างรวดเร็ว

เวลาผ่านไปสักพัก พระอาจารย์เดินลงมาจากุฏิเห็นสามเณรน้อยยืนเอนศรีษะไปมา ในปากเต็มไปด้วยขนม จึงทักด้วยเสียงอันดัง

“อ้าว...เณร กินขนมได้ไง ผิดศีล”

“ก็พระอาจารย์บอกว่าฉันได้นี่ครับ” สามเณรน้อยพูดขึ้นขณะที่ขนมยังเต็มปากอยู่

“อาจารย์บอกเมื่อไรกัน”

“ก็ถ้าไม่เกินเที่ยงฉันได้นี่ครับ นี่ยังเที่ยงอยู่เลย”

“นี่มันบ่ายแล้ว เณรไปดูนาฬิกาสิ”

“ผมถือเอาแบบโบราณน่ะครับ อาศัยพระอาทิตย์ตรงหัว นี่ครับ ยังตรงหัวอยู่เลย แสดงว่ายังเที่ยงอยู่ครับ” สามเณรน้อยพูดไปก็เอนศรีษะให้ตรงกับพระอาทิตย์

พระอาจารย์ได้แต่ส่ายศรีษะก่อนจะบอก

“เที่ยงที่พระอาจารย์ว่า ต้องยืนตัวตรง ไม่ใช่เอนไปมาอย่างนี้ เอาล่ะ...ตอนนี้ไปต่อศีลใหม่ แล้วคราวหลังอย่าทำอีกนะ”

“ครับ” สามเรณน้อยก้มหน้าอย่างเข้าใจ ก่อนจะเข้าไปรับศีลใหม่จากพระอาจารย์

คนเรามักจะหาข้อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ พยายามหาช่องของการผิดพลาดของกฎตลอดเวลา เหมือนศีลของพระ แต่ก่อนมีไม่ถึงเท่านี้ แต่เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการทำผิด จึงต้องบัญญัติเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ถ้าเราเพียงเข้าใจว่า...อะไรถูกผิด ความวุ่นวายก็คงไม่มากเท่านี้ และกฎเกณฑ์ก็คงไม่จำเป็น



ความสุขเล็ก ๆ

เป็นธรรมชาติที่ใครต่อใครมักจะหาเวลาว่างเพื่อหาความสุขจากการทำกิจกรรมส่วนตัว เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ไปดูหนัง เที่ยวสวนสาธารณะ สวนสนุก หรือแม้แต่ไปเที่ยวห้างแต่สำหรับพระเณร ไม่มีที่ไหนที่จะให้ไปได้ หรือมีกิจกรรมอะไรให้ทำมากนัก นอกจาก สวดมนต์ กวาดวัด นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงหมา เลี้ยงแมวไปตามเรื่อง

และกิจกรรมที่สามเณรน้อยมักจะอาศัยผ่อนคลายจากกิจวัตรหลักคือ การนอน ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไร สามเณรน้อยสามารถหลับได้ตลอดเวลา จนหลายครั้งที่พระอาจารย์ต้องไปปลุก พร้อมแซวสามเณรน้อยบ่อย ๆ

“กลัวเณรนอนจนเหนื่อย เอ้า...ตื่นมาพักบ้างสิ”

และหลายครั้งที่การนอนนี่เอง ทำให้สามเณรน้อยสร้างปัญหาให้พอควร บางทีขึ้นรถเมล์ก็หลับจนเลยป้าย หรือขนาดไปสอบ ยังเข้าไปหลับจนเกือบหมดเวลาก็มี พระอาจารย์จึงต้องแก้ไขด้วยการมอบนาฬิกาปลุกเรือนเล็ก ๆ ให้เป็นของใช้ที่จำเป็นอีกอันหนึ่ง

โดยให้สามเณรพกติดตัวตลอดเวลา และตั้งปลุกทุกครั้งที่จะหลับ ไม่ว่าจะขึ้นรถหรือเข้าห้องสอบก็ต้องนำไปด้วย “เอาไว้ปลุก ถ้าคิดจะหลับ” พระอาจารย์เตือนอีกครั้ง หลังจากผ่านไปไม่นาน สามเณรน้อยก็เอามาคืนพร้อมกับบอกพระอาจารย์

“ผมไม่ใช้แล้วครับ”

“อ้าว...ทำไมล่ะ”

“ก็พระอาจารย์คิดดูสิครับ เวลาอยู่บนรถ แล้วนาฬิกาดังแต่ละครั้ง คนหันมามองกันหมดทั้งคัน เพราะไม่ได้ปลุกแต่ผมคนเดียว คนอื่นเขาตื่นกันหมด...”

“อายทำไมทีนี้ ทีหลับยังไม่อายเลย”

“ก็อายสิครับ ก็เวลานาฬิกาปลุกทีไร ผมไม่เคยตื่นเลยมีคนอื่นเขาเดินมาปลุกแล้วบอกว่า...เณร ต่อไปไม่ต้องใช้แล้วนะนาฬิกาน่ะ บอกให้คนข้าง ๆ ปลุกให้ง่ายกว่า...นั่นล่ะครับ ต่อไปผมจะขึ้นรถก็บอกกระเป๋ารถให้ปลุกด้วย หรือเข้าห้องสอบก็ให้คนคุมคอยปลุก สบายกว่าเยอะเลยครับ”

สามเณรพูดเมื่อพบเจอวิธีใหม่ในการปลุกตนเอง

“เฮ้อ...นึกว่าเณรจะสำนึก แล้วไม่หลับอีก” พระอาจารย์ถอนหายใจ คนที่ชอบนอนจะแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก ซ้ำร้ายยังจะสร้างแต่ความขี้เกียจ ทำให้ยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต



สายแล้ว

การตื่นเช้า ถือเป็นความปกติของพระเณร เณรลองสังเกตดู นกตัวไหนที่ตื่นเช้าที่สุด ย่อมจะได้อาหารที่ดีๆ ไป ส่วนตัวไหนตื่นสายกว่า ก็มักจะได้แค่เพียงเศษอาหารที่ไร้คุณค่า " เสียงพระอาจารย์แก้วก้องอยู่ในโสตประสาทของสามเณรน้อย เพื่อกระตุ้นให้รักในการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่ก็มีบ้างตามธรรมชาติของเด็ก ที่บางวันหากพระอาจารย์ไม่อยู่ สามเณรน้อยก็มักจะถือโอกาสตื่นช้าอีกนิด ด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า ตื่นเช้ามืดเป็นเรื่องปกติ ตื่นสายนิดเป็นเรื่องธรรมดา

เช้าวันนี้ก็เช่นกัน สามเณรน้อยตื่นช้าหน่อย เพราะพระอาจารย์ไม่อยู่ เดินทางไปต่างจังหวัด พอลืมตาตื่นขึ้นก็หยิบนาฬิกามาดูด้วยความคุ้นเคย

"อ้าว…หกโมงกว่าแล้ว" สามเณรน้อยตะโกนด้วยความตกใจเพราะตื่นสาย ก่อนจะรีบเข้าห้องน้ำ และห่มผ้า แล้วออกไปบิณฑบาตอย่างรวดเร็ว

"โห…เงียบจัง สงสัยรูปอื่นจะบิณฑบาตกันหมดแล้ว"

สามเณรคิดในใจ พอเดินออกมาพ้นประตูวัด ก็เดินมุ่งหน้าไปตามทางที่เคยบิณฑบาต แต่เดินมาได้หน่อยก็เริ่มเห็นบรรยากาศเงียบผิดปกติ รถราที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนก็มีไม่มาก ช่างผิดไปจากวันอื่นทั่วไป และที่สำคัญ ทำไมหกโมงกว่าแล้วพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น

"สงสัยจะเป็นวันหยุด และอาจเป็นเพราะหน้าหนาว พระอาทิตย์จึงขึ้นช้ากว่าเดิม" สามเณรน้อยคิดในใจ แต่พอเดินมาถึงป้อมตำรวจ ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้น

"เณรถือบาตรจะไปไหน" ตำรวจถามขึ้นพร้อมรอยยิ้ม

"ก็บิณฑบาตสิโยม ถามได้" สามเณรน้อยหันมาตอบตามเสียง

"แล้วได้อะไรบ้างล่ะ" ตำรวจถามต่อ

"ยังไม่ได้อะไรเลยโยม สงสัยจะออกสาย" สามเณรตอบ

"เณรน่ะไม่ได้บิณฑบาตสายหรอก"

ตำรวจบอกก่อนจะยื่นนาฬิกาให้ดู ก่อนจะพูดต่อ

"ก็นี่ ๔ ทุ่ม เพิ่งจะหัวค่ำเอง"

"๔ ทุ่ม" สามเณรน้อยบอกพร้อมกับจ้องมองนาฬิกาด้วยความตกใจอีกครั้ง

"เอาล่ะ ไม่เป็นไร ถ้าอย่างนั้นผมใส่บาตรเอง ตอนเช้าตื่นไม่ทัน นี่เณรคงมาโปรดผมแน่ รอก่อนนะครับ" ตำรวจรีบบอกแก้เขินให้สามเณร ก่อนจะวิ่งไปซื้อนมมาใส่บาตร แล้วเอารถมาส่งถึงวัด

พอถึงวัด สามเณรก็รีบเข้ากุฏิทันที ก่อนที่จะมีใครเห็น พอถึงกุฏิก็รีบตรวจดูนาฬิกา ถึงได้รู้ว่ามันตายตั้งแต่ ๖ โมงเย็น แต่ไม่ทันได้ดู

"นี่ล่ะ..ผลแห่งการไม่ตรวจตราให้รอบคอบ
ทำอะไรด้วยความรีบร้อน"
เสียงพระอาจารย์แก้วก้องในความคิดอีกครั้ง



แลกกัน

ในยามเช้าที่มวลอากาศกำลังค่อยคลายตัว การได้ชื่นชมบรรยากาศระหว่างการเปลี่ยนถ่ายจากสีดำของฟากฟ้ายามราตรี ค่อยๆ คลายตัวปล่อยให้สีนวลขาวที่เริ่มจากขอบฟ้าจับจองพื้นที่มากขึ้น ช่างงดงามเกินบรรยาย

บรรยากาศที่ไม่หนาวมากอย่างค่ำคืน แต่ไม่ร้อนอบอ้าวดังกลางวัน ช่างเป็นอากาศชวนฝันยิ่งกว่าเวลาใด

…เช้าวันใหม่สำหรับชีวิตทุกชีวิต ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเดียวกัน แต่มีวิถีทางเดินต่างกันออกไป…

สามเณรน้อยของเราก็มีเช้าวันใหม่กับการใคร่ครวญเส้นทางบิณฑบาต โดยเริ่มต้นต้องดูว่า วันนี้วันอะไร ถ้าเป็นวันพระก็ไม่จำเป็นต้องคิดมาก เดินออกไปทางไหนก็ได้อาหารหวานคาวเต็มบาตร แต่ถ้าไม่ใช่วันพระ การเดินสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ดูทิศทางให้ดี อาจทำให้ชีวิตในวันนั้นต้องบำเพ็ญทุกกรกิริยา อดอาหารโดยไม่จำเป็น

พอคำนวณเสร็จ ก็เดินไปตามที่คิดนั้นทันที ขณะกำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้น ก็มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งจูงลูกสาวออกมาพร้อมกับข้าว กล่าวนิมนต์ให้หยุดรับอาหารจากเธอ สามเณรค่อยๆ เปิดบาตรอย่างเคย พอโยมใส่เสร็จก็ก้มตัวลงไหว้ ทันใดนั้นเองสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

เด็กน้อยตัวนิดเดียวที่ในมือเธอถือผลเงาะอยู่ คิดอย่างไรไม่รู้ พอแม่เธอก้มลงไหว้ เธอคงอยากใส่บ้าง เพราะเห็นเงื้อมือชูลูกเงาะใบนั้นขึ้น ด้วยหมายใจจะใส่ลงไปในบาตรให้ได้

สามเณรจึงก้มตัวเพื่อให้เธอใส่ได้ มือน้อยๆ ค่อยๆ เอาเงาะวางลงในบาตรอย่างแผ่วเบา สร้างความประทับใจให้กับผู้ผ่านไปมา รวมถึงแม่ และตัวสามเณรเองอย่างยิ่ง

"เด็กน้อยๆ พอเห็นผู้ใหญ่ทำดีก็ทำตาม นี่แหละ ถ้าผู้นำดี คนตามก็ดีด้วย"

คิดยังไม่ทันขาดคำ มือน้อยๆ ซึ่งยังวนเวียนอยู่ในบาตร จนไปเจอผลแอ๊ปเปิ้ลเข้า เธอก็หยิบออกมาด้วยความรวดเร็ว พร้อมเงยหน้าขึ้นก่อนจะบอก

"แลกกัน…" แล้ววิ่งหายไปทันที

"ก า ร ทำ ดี… ไม่ว่าใครทำ ก็ล้วนงดงามเสมอ แต่ถ้าแลกกัน..ก็ขอให้มันสมน้ำสมเนื้อกันหน่อยก็ดี"
สิ่งที่สามเณรน้อยอยากฝากให้คิด



น้ำท่วม

มีเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่ง ดังเมื่อประมาณ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า...

...น้ำท่วมเจ้าว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ปล่อยให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า...

ตามเพลงนี้ ไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ก็คงไม่มีใครต้องการ แต่สำหรับเด็กเล็กอย่างสามเณรน้อยแล้ว เรื่องน้ำท่วมถือเป็นความตื่นเต้นอย่างหนึ่ง และด้วยประสบการณ์ที่เคยผ่านปัญหาน้ำท่วมมาแล้ว เมื่อตอนอยู่ต่างจังหวัด ยิ่งทำให้น้ำท่วมเป็นเรื่องน่าสนุกมากกว่าปัญหาอย่างที่ผู้ใหญ่คิด

เพราะสำหรับเด็กที่ไม่คิดอะไรมากนอกจากได้เล่นน้ำเท่านั้น แต่ผ้ใหญ่ถือว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องป้องกันโดยเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นจะพาเศรษฐกิจเสียหาย

มีครั้งหนึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ในวัดก็ถูกน้ำที่ไม่รู้ไหลมาจากไหนท่วมเช่นกัน

"น้ำขึ้นเร็วมาก ไม่ถึงชั่วโมงขึ้นถึงเอวแล้ว" สามเณรน้อยเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ฟังก่อนจะเล่าต่อ

"น้ำท่วมตอนเที่ยงๆ ตอนบ่ายๆ ก็เริ่มลง แต่เห็นข่าวบอกว่าจะท่วมอีก ตอนเย็นๆ หลวงพ่อจึงเกณฑ์ให้พระเณร ช่วยกันไปขนทรายข้างวัดมาใส่ถุง แล้วทำเป็นคันกั้นน้ำกันขนานใหญ่ เพราะกลัวว่าน้ำจะท่วมอีก วันนั้นสนุกจริงๆ ขอบอก"

"เอ้า...เณรเร็วเข้า เดี๋ยวไม่ทัน" เสียงพระอาจารย์ยังก้องอยู่ในความทรงจำของสามเณรน้อยอยู่เลย ก่อนจะหยุดคิด และเริ่มเล่าต่อ เมื่อสามเณรปุ้ยเตือน

"เอ้า...แล้วไงต่อ"

"เราทำคันกั้นจนถึง ๒ ทุ่ม หลังจากนั้นต่างก็นั่งรอ"

"แล้วนั่งรออะไร"

"อ้าว...ก็รอลุ้นผลงานที่ได้ทุ่มเทไปร่วม ๔-๕ ชั่วโมง ว่าจะกั้นน้ำได้จริงหรือไม่..."

"แล้วเป็นไง กั้นได้ไหม"

พอมีคนทักถึงตรงนี้ สามเณรน้อยเลยพูดขึ้นด้วยอารมณ์เบื่อๆ

"ลองคิดดูสิ อุตส่าห์นั่งรอตั้งนาน แต่น้ำก็ไม่เห็นท่วมอีกเลย"

"อ้าว...น้ำไม่ท่วม ไม่ดีหรือ" สามเณรปุ้ยบอก

"ก็ดีหรอก แต่ไม่ดีตรงต้องขนกลับนี่ล่ะ แล้วยังไงต่อรู้ไหม" เสียงเงียบหายไปเหมือนจะให้คนฟังลุ้น ก่อนจะเล่าต่อ

"พอขนถุงทรายกลับไปสักพัก น้ำไม่รู้มาจากไหน ท่วมหนักกว่าเดิมอีก คงไม่ต้องบอกนะว่าทีนี้ต้องทำยังไงอีกตอนน้ำลด...ก็ขนถุงทรายกันอีกรอบ...แล้วนั่งลุ้นกันต่อ เฮ้อ...เณรล่ะเซ็งเลย"



ความแน่นอน...คือความไม่แน่นอน ความไม่แน่นอน...คือความแน่นอน ไม่มีอะไรในโลกที่อยู่ในการบังคับบัญชาของเรา ฉะนั้น ก็อย่าประมาทในการดำเนินชีวิตที่ไม่แน่นอนอีก


จากหนังสือ ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม

ผู้แต่ง กิตฺติเมธี

สำนักพิมพ์ ใยไหม






Create Date : 31 ธันวาคม 2553
Last Update : 7 มกราคม 2554 20:08:53 น. 2 comments
Counter : 6480 Pageviews.

 
สวัสดีปีใหม่ค่ะ






ขอให้โชคดีในชีวิต
ขอให้ความคิดสำเร็จสม
ขอให้ความรักรื่นรมณ์
ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงสุขนิรันด์





โดย: ทะเลใต้แสงจันทร์ วันที่: 31 ธันวาคม 2553 เวลา:15:31:08 น.  

 


โดย: nootikky วันที่: 31 ธันวาคม 2553 เวลา:16:51:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.