“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำ หรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์คือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว”

ติช นัท ฮันท์
421 .. เสียงอ่านเพชรพระอุมา-ภาคสมบูรณ์ # 58 (541-555)










เสียงอ่านเพชรพระอุมา–ภาคสมบูรณ์ # 58

ลำดับที่ 541-555










ที่มาของเสียงอ่านเพชรพระอุมา ขอเชิญเปิดอ่านที่นี่






ขอเชิญฟังเสียงอ่านนวนิยาย เพชรพระอุมา – ภาคสมบูรณ์

ลำดับที่ 541-555 ค่ะ






ลำดับที่ 541-543






ลำดับที่ 544-546






ลำดับที่ 547-549






ลำดับที่ 550-552






ลำดับที่ 553-555






ขอเชิญติดตามตอนต่อไปในลำดับที่ 59 ค่ะ






















วรรณคดีไทยที่ปรากฏในเพชรพระอุมา


นำเสนอโดย ดาริเมยา







วรรณคดีไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่เพชรพระอุมาได้นับมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องด้วย โดยจะใช้วรรณคดีไทยเป็นการถ่ายทอดอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆผ่านวรรณคดีที่เรารู้จักเป็นอย่างดี ผู้จัดทำเองได้ทำการรวบรวมวรรณคดีไทยที่ปรากฏไว้ได้ดังนี้ ซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นักหากมีผู้ที่จะให้คำแนะนำผู้จัดทำก็รู้สึกเป็นพระคุณยิ่ง





1. ไกรทอง.

หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง แต่มีการกล่าวไว้ในตอนที่คณะติดตามไอ้แหว่งได้เข้าไปในหุบหมาหอน แล้วไปพบกับจระเข้ มีการเรียกจระเข้เหล่านั้นว่า ชาละวัน ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องไกรทอง





2. อิเหนา

จากตอนที่ไอ้แหว่งบุกค่ายครั้งใหญ่ จนทำให้เชษฐาบาดเจ็บ ระหว่างที่พักรบ รพินทร์ได้คุยกับดารินว่าทำไมถึงไม่แต่งงานหรือมัวแต่หาเทพบุตรในฝันอยู่ ดารินจึงตอบว่า"ใช่ฉันยอมรับในข้อนี้ คุณคงจำบทพระราชนิพนธ์ได้ว่า แม้แผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า"


ซึ่งกลอนบทนี้มีต่อจนจบว่า "พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา ฤาวาสนาน้องจะต้องกัน"


อิเหนาเป็นบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ซึ่งวรรณคดีเรื่องอิเหนานี้จะมีทั้งอิเหนาเล็กและอิเหนาใหญ่ สำหรับอิเหนาในเพชรพระอุมานี้เป็นอิเหนาเล็ก





3. สามก๊ก

การกล่าวถึงสามก๊กในเพชรพระอุมาจะมีอยู่หลายตอน อย่างตอนที่ไอ้แหว่งได้หลอกล่อให้คณะของรพินทร์ติดตามไปจนเกือบหลงทาง ภายหลังจึงได้กลับมาที่ค่ายได้ ดารินได้กล่าวว่า "อาจจะเป็นจิวยี่กลับชาติมาเกิดก็ได้ คราวนี้จะได้รู้กันว่าตาพรานของเราเป็นขงเบ้งกลับชาติมาเกิดด้วยหรือเปล่า"



แม้ตอนที่ดารินได้แอบมาพบรพินทร์ ทำให้รพินทร์ได้เตือนดารินว่าหากเชษฐาทราบเรื่องนี้คงจะไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่ดารินก็ตอบว่าเชษฐาหรือตัวตลอดเวลาว่าเธอคิดอย่างไรกับรพินทร์ ซึ่งตอนนี้ได้มีการกล่าวถึงความแยบยลในการใช้คนของเชษฐาว่า "ถ้าคุณเป็นขงเบ้ง แงซายเป็นบังทอง พี่ใหญ่ก็เล่าปี่เราดีๆ นี่เอง"



หรือคำรำพันที่รพินทร์มักจะนึกกับตัวเองอยู่เสมอยามที่ถูกแงซายลูบคมหรือลองดีบ่อยๆว่า "ฟ้าให้รพินทร์มาเกิดแล้ว ไยต้องส่งแงซายมาเกิดด้วย" ซึ่งประโยดนี้เป็นคำพูดของ จิวยี่ที่เป็นคู่ปรับของขงเบ้ง



หรือตอนที่รพินทร์โดนมันตรัยหลอกให้ตกเหวในภาคสอง หลังจากที่ได้รับการรักษาและนอนพักรักษาตัวอยู่ แงซายซึ่งได้ถอดจิตออกมาได้กล่าวว่า "ไม่เป็นไรน่า โบราณว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยา ตอนนี้ผู้กองปลอดภัยแล้ว ภายหลังจากเป็น 'จิวยี่รากเลือด'เสียพักใหญ่"



เรื่องสามก๊กนี้เป็นฝีมือการแปลของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)







4. พระอภัยมณี


ปรากฏอยู่ในตอนที่เข้าพระเข้านางระหว่างไชยยันต์กับมาเรียในน้ำ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ไชยยันต์นึกเปรียบเทียบตัวเองกับพระอภัยมณีและนางเงือก หรือตอนงานเลี้ยงในงานแต่งงานของรพินทร์และดาริน ที่รพินทร์ได้บอกเชษฐาถึงความผูกพันของทั้งสองคนว่า "ระหว่างผมกับคุณหญิงดารินนี้ 'ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
ถึงอยู่ในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา'



กลอนบทนี้มีแต่ต้นจนจบว่า 'แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา แม่เป็นบัวพี่ขอเป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป'






5. ขุนช้าง ขุนแผน

เพชรพระอุมาได้มีการกล่าวถึงวรรณคดีเรื่องนี้ไว้หลายตอนที่เดียว จะเห็นได้จากตอนที่คณะเดินทางได้ช่วยกันยิงค้างคาวยักษ์หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพันธุมวดี บุญคำก็เปรยขึ้นมาว่าเสียงร้องของมันเหมือนเปรตวันทองที่แกได้ยินจากลิเกที่มาเล่นที่หนองน้ำแห้ง ตอนที่บุญคำได้พูดถึงหมอม้วนขุนแผน ตอนที่บุญคำให้ไชยยันต์หาของดีของเสือโคร่งดำเพื่อเอามาทำของดี บุญคำบอกว่าขุนแผนก็ขุนแผนเถอะยังสู้ไม่ได้



ในตอนจอมพรานเล่มแรกที่ดารินได้มาหารพินทร์เพื่อจะให้วันแต่งงานของทั้งสองแต่รพินทร์เข้าใจผิดไปเอง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รพินทร์คุยโวถึงพระขุนแผนว่า "ไม่อยากคุย พระขุนแผนของผมดีเสียอย่าง"



ทำให้ดารินหมั่นไส้ว่าเอาว่า หากดีจริงทำไมถึงโดนผู้หญิงทิ้ง หรือการพูดถึงดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน ซึ่งมีการกล่าวถึงในตอนที่ใช้เปรียบเทียบกริชที่ปักบนคัมภีร์มายาวิน โดยไชยยันต์ได้กล่าวว่า "เอ มันทำด้วยเหล็กอะไรนี่ สียังกะปีกตัวด้วงมะพร้าว น้ำหนักเหมาะมือดีเหลือเกิน แต่หวังว่าคงไม่ตัดเหล็กด้วยกันขาดยุ่ยแบบเดียวกับดาบฟ้าฟื้นของขุนแผนนะ"



นอกจากนั้นก็ยังมีการกล่าวถึงในแง่การชมธรรมชาติด้วยการ ใช้การขับเสภา ขุนช้าง ขุนแผน ในตอนที่ใชยยันต์ได้ปลอบใจดาริน หลังจากที่ดารินได้ส่องกล้องเห็นเสือดาวตกเขา แต่ภายหลังก็สามารถปีนขึ้นมาได้ใหม่ ด้วยการกล่าวถึงเสภา ในตอนเดินป่าไว้ว่า


"ว่าพลางทางเดินเนินพนม รื่นร่มพันธุ์ไม้ใบหนา พลางชมหมู่วิหคนกนานา สาลิกาพูดจ้ออยู่จอแจ
คุ้มขาบเขาขันสนั่นป่า กระสาจับกระสังส่งเสียงแซ่ นกกะลิงจับกิ่งปะโลงแล คับแคจับคางริมทางจร…."






6. ผู้ชนะสิบทิศ

ปรากฏอยู่ในตอนที่รหัสยะท้าให้คะหยิ่นจับดาบขึ้นมาประลองฝืมือกัน แต่รพินทร์ได้ห้ามเอาไว้ก่อน ครั้นพอรพินทร์หยิบดาบขึ้นมา ดารินก็เกิดเข้าใจผิดคิดว่ารพินทร์จะบ้าแทนคะหยิ่นจึงขู่ไม่ให้ทำเช่นนั้น รพินทร์จึงบอกว่า "ผมไม่ใช่ลูกศิษย์ตคะยีในเรื่องผู้ชนะสิบทิศหรอกถึงจะได้กล้าไปฟันดาบกับมัน"







7. พระนลคำหลวง

ขอเน้นนะค่ะว่าเป็นคำหลวงมิใช่คำฉันท์ พระนลคำหลวงนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้มีการนำเอาพระนลคำหลวงมาใช้ในการดำเนินเรื่องในช่วงที่กล่าวถึงความรู้สึก และความตรอมตรมใจของดาริน ที่ต้องออกมาตามจอมไพรของเธอ จนแงซายที่ได้ถอดจิตมาปลอบใจดารินให้คลายอาดูร ด้วยการพูดคุยและปรากฏมีการใช้เนื้อความจากพระนลคำหลวงในตอนนี้ว่า


"อ้าดูอโศกนี้ ศรีไสววิไลตา อยู่ระหว่างกลางพนา เป็นสง่าแห่งแนวไพร
ชุ่มชื่นรื่นอารมณ์ ลมเพยพัดระบัดใบ ดูสุขสนุกใจ เหมือนแลดูจอมภูผา

อโศกดูแสนสุข ช่วยดับทุกข์ด้วยสักครา โศกเศร้าเผาอุรา อ้าอโศกโรคข้าร้าย
อโศกโยกกิ่งไกว จงตอบไปดังใจหมาย ได้เห็นพระฤาสาย ผ่านมาบ้างหรืออย่างไร

พระนั้นชื่อพระนล ผู้เรืองรณอริกษัย เป็นผัวนางทรามวัย นามนิยมทมยันตี
พระองค์ทรงสวัสดิ์ เป็นนิษัธธิบดี ทูลหัวทมยันตี มาทางนี้บ้างฤๅไฉน

พระมีผ้าห่มกึ่ง ปรกกายครึ่งหนึ่งนั้นไว้ อันกายฤๅสายไซร้ ผิวเธออ่อนสุนทรทรง
เห็นเธอบ้างฤๅไม่ พระทรงชัยฤทธิรงค์ เหนื่อยยากลำบากองค์ ด้นดั้นป่าโอ้อาดูร

อ้าต้นอโศกใหญ่ ตูข้าไซร้โศกบ่สูญ พฤกษาอย่าช่วยพูล จงตัดโศกวิโยคใจ…"


ซึ่งแงซายก็ได้บอกกล่าวว่า "ขณะนี้ นายหญิงก็เปรียบเหมือนนางทมยันตีนั่นแหละ"


หรือในตอนที่ดารินได้พบกับวราดาชรีนั้น ได้บอกกับดารินว่า "น้องสาว ตอนนี้เธอไม่ผิดอะไรกับนางทมยันตี เที่ยวได้บุกป่าฝ่าดงซมซานตามหาพระนล เลยนะ" ซึ่งนางทมยันตีนั้นก็เป็นนางเอกในพระนลคำหลวงนั้นเอง





8. กามนิต

สำหรับเพชรพระอุมานั้นได้มีกล่าวถึงเรื่องราวของกามนิตไว้ตอนที่เชิดวุธได้ถามรพินทร์ซึ่งมีอาการดีขึ้นหลังจากการถูกหลอกให้ตกเหวด้วยฝืมือมันตรัยว่าก่อนหลับได้ถึงแดนสุขาวดีหรือไม่ เพราะเชิดวุธได้ถึงแดนสุขาวดีกับเบลไปแล้ว


ซึ่งรพินทร์ก็ตอบว่า "ผมไม่ไช่กามนิตนี่ครับ ก็เลยไม่คิดที่จะไปสุขาวดีแดนสวรรค์"


และในตอนที่รพินทร์และดารินได้พบกันที่กลางดึก ณ ศาลาปาริชาติ ในอุทยานหลวงแห่งมรกตนคร หลังจากที่คนทั้งสองต้องพลัดพรากจากกันมานาน ระหว่างทางที่เดินไปพบกับคณะของดาริน รพินทร์ได้พูดถึงดอกปาริชาติหรือดอกทองกวาว ที่เชื่อกันว่าถ้าใครได้ดมก็จะรำลึกถึงอดีตชาติเหมือนกับกามนิตและวาสิฎฐี แต่ดารินก็พูดว่า "ฉันไม่ต้องการเป็นวาสิฏฐี และคุณก็ต้องไม่ใช่กามนิต เพราะคนคู่นั้นไม่เคยได้สมหวังในความรักเลย ไม่ว่ากี่ชาติ กี่ภพ จนกระทั่งในที่สุดต่างคนต่างไปเกิดเป็นดวงดาวห่างไกลกันหลายพันปีแสง ได้แต่ส่งกระแสสนทนาโต้ตอบคุยกันในแต่ละประโยคก็กินเวลานานเป็นโกฎิแสนปี"





9. สุธนชาดก

เรื่องราวของสุธนชาดกหรือพระสุธน มโนราห์ นี้เป็นส่วนหนึ่งจากปัญญาสชาดก สำหรับเพชรพระอุมานั้นได้มีกล่าวถึงวรรณคดีนี้ไว้ในตอนที่รพินทร์และดารินต้องหลงป่าด้วยกันสองคนเป็นครั้งแรก หลังจากโดนน้ำป่าซัดหายจากคณะ ระหว่างที่ทั้งสองกำลังจะเดินทางตามหาพรรคพวกที่กระจัดกระจายกันไปนั้น รพินทร์ได้เหลาไม้ไผ่แทนหอกสำหรับไว้เดินป่า ทำให้ดารินแซวรพินทร์ว่า "คราวนี้คุณก็กลายเป็นตาพรานบุญไปแล้วซิ เพราะถือหอก"



ส่วนอีกตอนก็คือ หลังจากที่รพินทร์ได้พาคณะเดินทางของดร.สแตนลี่ห์ไปพบกับทะเลสาบใหญ่ ก่อนที่ตาพรานของเราจะฝันว่าทำมงกุฏไพรให้แก่ดาริน บุญคำได้บอกกับรพินทร์ว่า "นายส่องกล้องดูให้ดีๆเถอะ น่าจะมีฝูงนังกินรีมาถอดปีกถอดหางเล่นน้ำอยู่ตรงไหนสักแห่ง เดี๋ยวพรานบุญคนนี้จะจับมาสักตัว เลือกเอาตัวที่สวยที่สุด มาถวายพระสุธนรพินทร์"







10. หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

หลายคนทีเดียวคงจะสงสัยว่ามันเกี่ยวกับเพชรพระอุมาตรงไหนกันนะ แต่จำตอนที่เสร็จศึกไอ้แหว่งแล้วกำลังจะเดินทางไปหล่มช้างได้ไหม ไชยยันต์ได้ถามดารินว่าต่อไปจะต้องหัดกินเนื้องู เนื้อตะกวดหรือกิ้งก่าจะได้ไหม ดารินจึงหันไปถามตาพรานไพรของเราว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ที่นี้ในป่าจะมีเนื้อเสมอไปไหม"



ตามหลักของวรรณคดีไทยแล้วนับเอาหลักศิลาจารึกเป็นวรรณคดีไทยเล่มแรกสุด ถึงแม้ว่าการที่ดารินจะกล่าวออกมาเป็นคำพังเพยแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งจากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช





11. ลิลิตพระลอ

ในเพชรพระอุมานั้นมีการกล่าวถึงลิลิตพระลอในตอนที่คณะเดินทางได้พบกับเสือโคร่งดำหรืออีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าผีดิบมันตรัยนั่นเอง ระหว่างการเดินทาง เจ้าเสือโคร่งดำนั้นพยายามหลอกล่อให้รพินทร์ออกไปตามมัน เพื่อจะได้อยู่ห่างจากคณะจนทำให้เชษฐาต้องเข้ามาเตือนรพินทร์และไม่ให้ออกจากขบวนเด็ดขาดโดยกล่าวว่า "อย่าดีกว่าผู้กอง อย่าเสียเวลา และอย่าติดกับล่อของมัน ฯลฯ ผมเดาได้ว่าถ้าคุณออกจากขบวนของเราทั้งหมด มุ่งตามมันเมื่อไร ลักษณะของคุณจะกลายเป็น'พระลอตามไก่' เมื่อนั้น"





12. รามเกียรติ์

รามเกียรติ์หรือรามายณะนั้นวรรณคดีที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียอันมาจากความเชื่อศาสนาพราหมณ์ รามเกียรติ์ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อวรรณคดีไทยและนวนิยายอีกด้วย สำหรับรามเกียรติ์นั้นจะปรากฏในเพชรพระอุมาอยู่โดยตลอด ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือการเรียกแงซายว่าพระรามแงซายและลูกศรที่ใช้ว่าศรพรหมมาสตร์ ยามที่ใช้สังหารเจ้างูยักษ์และเจ้าไทรันโนซอรัส แม้แต่เชษฐาก็ยังได้รับการเรียกว่าพระรามเชษฐาด้วยครั้งหนึ่งเมื่อต้องยิงเจ้าทีเร็กซ์แทนแงซาย




ทศกัณฐ์ จะปรากฏบ่อยครั้ง ในเพชรพระอุมาส่วนใหญ่จะใช้เรียกแทนคนที่คอยขัดคอคนอื่น เช่นบุญคำจะใช้เรียกรพินทร์อย่างในตอนหนึ่งที่แกอาสาจะนวดให้มาเรีย แต่รพินทร์ห้ามเอาไว้ จนแกบอกว่า"นายเราละก็ เป็นซะยังงี้ ทศกัณฐ์ยันเตเลย ตัวเองไม่เอาไหนแล้วยังจะยังกันท่าคนอื่น" และบุญคำก็ยังใช้เรียกตัวเองที่คอยกันท่าระหว่างรพินทร์กับคริสติน่าและอิสซาเบลด้วย



ทหารพระรามและเมืองขีดขิน สำหรับทหารพระรามนั้นจะไว้ใช้เรียกลิงในเรื่องเพชรพระอุมาอย่างเช่นลิงยักษ์ที่ปรากฏในไพรมหากาฬ รวมทั้งพลพรรคลิงของวายา อย่างเช่นในตอนที่คณะเดินทางถูกขโมยสัมภาระไปหมดด้วยฝีมือของพลพรรควายา บุญคำก็บ่นถึงของที่ถูกขโมยไปตอนหนึ่งว่า "ไอ้พวกนี้มันลิงดำมีฤทธิ์ สงสัยเป็นพวกนิลเพชร นิลพัท ทหารลิงพันธุ์ดำเมืองขีดขินในเรื่องรามเกียรติ์ทั้งนั้น ไอ้พระรามแงซายของข้าหมดท่าเลย เพราะศรพรหมมาสตร์ถูกขโมยไปเสียด้วยแล้ว น่าชมกันละอีคราวนี้"



ในส่วนเมืองขีดขินนั้นจะเป็นการใช้เรียกเมืองของวายา ว่าเป็นเมืองขีดขิน เพราะเป็นเมืองที่มีพลเมืองเป็นลิงเหมือนทหารลิงในเมืองขีดขินของพระราม



ยักษ์กุมภกัณฑ์
มีกล่าวในที่ คณะเดินทางได้ยินเสียงร้องของเจ้าทีเร็กซ์ต่างก็มีการสันนิษฐานว่าเป็นเสียงอะไร บุญคำจึงได้กล่าวออกมาว่า "เอ๊ะ! ไม่เข้าท่าซะแล้วนาย ยักษ์กุมภกัณฑ์ ที่ไหนมาหักป่าอยู่แถวๆ ปราสาทหินโน่น!"



และในตอนที่เจ้าบรอนโตเซารัสจะโผล่จากน้ำ โดยที่ตัวมันทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ ส่งผลให้ไชยยันต์อุทานว่า "เฮ้ย! อะไรน่ะ ปลาวาฬหรือว่ายักษ์กุมภกัณฑ์ดำน้ำเล่นอยู่ตรงนั้น"



หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน อันที่จริงแล้วเจ้าหิรัญยักษ์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ คือคัมภีร์นารายณ์สิบปาง และหนึ่งในปางทั้งสิบของพระนารายณ์ก็มีเรื่องหิรัญยักษ์



รามเกียรติ์รวมทั้งความเชื่อพระนารายณ์ได้อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้าของเราในปางที่ 9 ด้วย ในตอนที่กล่าวถึงหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดินก็คือตอนที่คณะเดินทางได้พบกับเจ้าทีเร็กซ์เป็นครั้งแรกและเกิดการต่อสู้กันระหว่างสัตว์โลกล้านปีและมนุษย์ ในช่วงที่รพินทร์กำลังจะเข้าไปช่วยแงซาย ตอนนั้นได้กล่าวไว้ว่า

"....หัวกระสุนพุ่งทะลวงส่วนใดส่วนหนึ่งของปากมันอีกครั้งอย่างจังที่สุดเหมือนเอาปืนอัดลมยิงถูกปากตะกวด ไอ้ยักษ์สะดุ้งผงะอีกครั้ง แล้วคราวนี้ฤทธิ์ของมันก็อุปมาประหนึ่งยักษ์หิรัญฯม้วนแผ่นดินในเรื่องรามเกียรติ์ ..." ซึ่งสุดท้ายนั้นเจ้าหิรัญยักษ์ในรามเกียรต์ตนนั้นก็ต้องตายด้วยหมู อันเป็นพระนารายณ์อวตารมาเป็นหมูปราบหิรัญยักษ์



นางเบญจกาย เป็นตอนที่คณะเดินทางได้พบกับฝูงลิงยักษ์ของนีลา โดยนีลามีความสนใจในตัวมาเรียเป็นพิเศษ จนทำให้ทุกคนกลัวว่ามาเรียจะโดนลิงทำอนาจาร ตอนหนึ่งบุญคำได้ถามส่างปาว่าหากมาเรียโดนนีลาจับทำเมีย มันจะทำอย่างไร ส่างปาก็ตอบว่ายกให้มันไปแต่ขอบ้องกัญชาของมันคืนและไม่ต้องกลัวเพราะมาเรียบอกว่าอยากมีสามีเป็นลิงมานานแล้ว ตาบุญคำก็บอกว่า "เอ็งนึกว่านายแหม่มเอ็งเป็นนางยักษ์เบญจกายหรือยังไง ถึงจะมีผัวเป็นหนุมาน"



หนุมาน ตอนที่รพินทร์ได้รับบาดเจ็บจากการตกเหว หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว บุญคำได้ให้รพินทร์กินยาสมุนไพรของแกก็คือ หนุมานประสานกายตำผสมกับเหล้าป่า แล้วแกก็บอกว่า "เอาละ…ประเดี๋ยวหนุมานก็ลุกขึ้นแผลงฤทธิ์ได้ยาพิเภกมาแล้ว นายกูก็ลูกพระพายเหมือนกัน"



หอกโมกขศักดิ์ หอกที่บุญคำทำขึ้นเพื่อเอาไว้สู้กับเจ้าผีดิบมันตรัยและค้างคาวยักษ์ ซึ่งรพินทร์ก็ได้ใช้หอกอันนี้จัดการกับค้างคาวยักษ์ด้วย หอกโมกขศักดิ์นี้เป็นหอกที่ปรากฏในรามเกียรติ์โดยเป็นหอกที่ทำร้ายพระลักษณ์จนได้รับบาดเจ็บ จนหนุมานต้องหายามารักษา







13.สามัคคีเภทคำฉันท์


สำหรับเพชรพระอุมาได้นำเอาสามัคคีเภทคำฉันท์ของ ชิต บุรทัต มาดำเนินเรื่องในตอนที่รพินทร์พาคณะเดินทางของดร.สแตนลี่เข้าสำรวจไปในสุสานของมหิทธิเดชะและจิตรางคนางค์ ระหว่างที่รพินทร์ได้เพ่งมองภาพเกาะสลักบริเวณนั้น รพินทร์ก็นึกถึงกวีนิพนธ์ของสามัคคีเภทคำฉันท์ที่มีลักษณะเป็นการแต่งแบบวสันตดิลกคำฉันท์ว่า



เพ่งภาพตลอดตละผนัง ก็มลังเมลืองสี
แลเห็นสิเด่นประดุจมี ชีวะแม่นกมลครอง

ภาพเทพนพพินิศนิ่ง นรสิงหะลำยอง
ครุฑยุดภุชงค์วิยะผยอง และเผยอขยับผัน

ลวดลายระบายระบุกระหนาบ กระแหนะภาพกระหนกพัน
แผ่เกี่ยวผกาบุษปวัล สิและวางระหว่างเนือง

ภายใต้เศวตฉัตรรัตน์ ก็จรัสจรูญเรือง
ตั้งราชอาสนะประเทือง วรมัญจบรรจถรณ์

ห้อยย้อยประทีปอุบะประทิน รสกลิ่นก็เอมอร
อาบอบตระลบกระแจะขจร ดุจทิพย์สุมาลัย

คัณณาอเนกคณะอนงค์ สิริทรงเจริญใจ
สรรพางคพรรณพิศประไพ กลพิมพอัปสร

เรียงรายจรูงรมยบาท บริจาริกากร
ปันพรรคพิทักษ์บทบวร ณ นิวัทธเวรวาร

โดยรอบมหานครเล่ห์ กะสิเนรุปราการ
ห้อมมั้นมหันต์อริจะราญ ก็ระย่อและท้อหนี

แถวถัมภโดรณะสล้าง ระยะทางจรัลมี
ชลคูประตูวรบุรี ณ ระหว่างพระพารา

เรีบงป้อมและปักธุชะระราย พิศค่ายก็แน่นหนา
เสาธงสถิตธวชะมา รุตโบกสะบัดปลาย

หอรบจะรับริปุผิรอ รณะท้อหทัยหมาย
มุ่งยุทธย่อมชิวะมลาย และประลาตมิอาจทาน

พร้อมพรั่งสะพรึบพหลรณ พยุห์พลทหารหาญ
อำมาตย์และราชบริวาร วุฒิเสวกากร

เนืองแน่นขนัดอัศวพา หนะชาติกุญชร
ชาญศึกสมรรถสุรสมร ชยะเพิกริปูภิณท์

ความสุขก็แสนบรมสุข และสนุกสนานยิน
ยลในไผทระบุบุริน ทรรัตน์จรูญเรือง

กลางวันอนันตคณนา นระคลาคระไลเนือง
กลางคืนมหุสสรวะประเทือง ดุริย์ศัพทะดีดสี

บรรสานผะสมสรนินาท พิณพาทย์และเภรี
แซ่โสตสดับเสนาะฤดี อุระล้ำละเริงใจ

เมืองท้าวสิเทียบทิพะเสนอ ภพะเลอสุราลัย
เมืองท้าวแหละสมบุณไพ บุละมวลประการมานฯ"



นอกจากนี้สามัคคีเภทคำฉันท์ยังมีการประพันธ์หลายแบบเช่น อิทิสังฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ วิชชุมมาลาฉันท์


















ขอขอบคุณ "พนมเทียน" เจ้าของผลงาน "เพชรพระอุมา"

ขอขอบคุณ ณ บ้านวรรณกรรม ผู้จัดพิมพ์วรรณกรรมเรื่องนี้

ขอขอบคุณ ห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ผู้จัดทำเป็นหนังสือเสียง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ...เว็บแฟนแท้แท้เพชรพระอุมา และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขอขอบคุณภาพจากทุกเว็บที่เกี่ยวเนื่องกับเพชรพระอุมา

ขอขอบคุณเครื่องแต่งบล็อก จากบล็อกชมพร / บล็อกญามี่

และขอขอบคุณ คุณ treetree6969 ผู้จัดทำวิดีโอนี้



สาขา Book Blog


ร่มไม้เย็น ค่ะ





Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2557 21:54:09 น. 0 comments
Counter : 5214 Pageviews.

ร่มไม้เย็น
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 127 คน [?]







เริ่มเขียน Blog เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2551


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยม เมื่อเวลา 18.15 น.



Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
3 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ร่มไม้เย็น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.