“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำ หรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์คือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว”

ติช นัท ฮันท์
418 .. เสียงอ่านเพชรพระอุมา-ภาคสมบูรณ์ # 57 (526-540)












เสียงอ่านเพชรพระอุมา–ภาคสมบูรณ์ # 57

ลำดับที่ 526-540








ที่มาของเสียงอ่านเพชรพระอุมา ขอเชิญเปิดอ่านที่นี่






ขอเชิญฟังเสียงอ่านนวนิยาย เพชรพระอุมา – ภาคสมบูรณ์

ลำดับที่ 526-540 ค่ะ






ลำดับที่ 526-528






ลำดับที่ 529-531






ลำดับที่ 532-534






ลำดับที่ 535-537






ลำดับที่ 538-540






ขอเชิญติดตามตอนต่อไปในลำดับที่ 58 ค่ะ














สกู๊ปพิเศษ เพชรพระอุมา ภาค 1

ประติมากรรมระดับยักษ์ของ "พนมเทียน"

โดย วินิตา ดิถียนต์ ( ว.วินิจฉัยกุล )

--- ตอนจบ
---







โครงเรื่อง


เรื่องต่อไปที่จะพูดถึงก็คือการวางโครงเรื่องของ เพชรพระอุมา มองในแง่ของโครงสร้างแล้ว ผู้ที่เขียนนวนิยายเรื่องยาว จะรู้ว่า ยิ่งสร้างเรื่องขนาดยาวมากเท่าไร ก็จะเจอปัญหาว่า ต้องหา "โครงเรื่องรอง" หรือ sub-plot มาแทรกในโครงเรื่อง ใหญ่ มากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้มีเนื้อเรื่องดำเนินต่อไปได้อีกยาว ด้วยเหตุนี้ก็ต้องเพิ่มตัวละครมารองรับมากขึ้นอีกด้วย ในเมื่อหนึ่งบวกหนึ่งออกมาเป็นสอง และสองบวกสองออกมาเป็นสี่เรื่อยๆ อย่างนี้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นว่าโครงเรื่องย่อยนี้ เข้ามามีความสำคัญแทนโครงเรื่องใหญ่ ชะตากรรมนี้เพชรพระอุมาประสบเช่นกัน





จากข้อสังเกต ข้าพเจ้าคิดว่าพนมเทียนวางโครงเรื่องใหญ่เอาไว้ในลักษณะเหมือนห่วงโซ่ใหญ่สองห่วงเกี่ยวกันเป็นเส้น หัวและท้ายครบบริบูรณ์





ห่วงแรกชื่อ "ไพรมหากาฬ" เริ่มจากคณะเดินทางของ ม.ร.ว.เชษฐาเริ่มออกจากหนองน้ำแห้งไปจนถึงหล่มช้าง ในช่วงนี้เป็นนิยายผจญภัยในป่าดง มีพื้นฐานจากประสบการณ์ของผู้ประพันธ์เอง





ห่วงที่สองชื่อ "มรกตนคร" คือเมื่อพ้นจากหล่มช้าง ก็มุ่งไปสู่เทือกเขาพระศิวะ จนกระทั่งถึงมรกตนครอันเป็นจุดหมายปลายทาง ในช่วงนี้จะเปลี่ยนจากนิยายผจญภัยเป็นจินตนิยาย เพราะเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์





อย่างไรก็ตาม พนมเทียนได้แทรกห่วงโซ่ขนาดย่อมอื่นๆ ในลักษณะของโครงเรื่องรองหรือ sub-plot อีกหลายห่วงเข้าไปตรงกลางในระหว่างห่วงใหญ่หัวและท้ายทั้งสองห่วง







ห่วงที่หนึ่ง แทรกเรื่องของการต่อสู้กับเผ่ามนุษย์กินคน-สางเขียว ในตอนนี้ได้ตัวละครหญิงมาเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อน โลดโผนอีกคนหนึ่งคือ มาเรีย ฮอฟมันน์ เพราะดารินคนเดียวอาจจะไม่พอที่จะระบายสีสันฉูดฉาดให้เนื้อเรื่องได้มากไปกว่า ตอนไพรมหากาฬ เพราะความเป็นกุลสตรีของดาริน ไม่เอื้อต่อบทพิศวาส บทโป๊เปลือย หรือบทอัศจรรย์ ให้ฉีกแนวออกไป จากตอนต้นๆ ได้มากกว่านี้





ห่วงที่สอง คือนิทรานคร มีจอมผีดิบมันตรัยเข้ามาเป็นผู้ร้ายสำคัญของตอนนี้ หลังจากที่มีแต่ช้าง ควายป่า งูยักษ์ คนป่าเป็นปรปักษ์มาตลอด ในตอนนี้เองที่ยังมีห่วงเล็กห่วงน้อยแทรกเข้ามาอีก เช่นการพลัดเข้าไปในถิ่นของแมงมุมยักษ์ ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นระหว่างไชยยันต์และมาเรีย ฯลฯ





ห่วงที่สาม การผจญภัยในนรกดำและโลกล้านปี มีเจ้าไดโนเสาร์ไทรันเข้ามาเป็นผู้ร้ายใจฉกาจ แทนมันตรัยผู้ถูกปราบราบเรียบไปแล้ว ร่วมขบวนด้วยสัตว์ล้านปีอีกหลายชนิด





ห่วงที่สี่ เมืองมนุษย์วานร-วายา โดยมีเจ้าตัวสามเขา ไดโนเสาร์อีกตัวหนึ่งเป็นผู้ร้าย และฤาษีโกณฑัญญะเป็นผู้วิเศษ ตัวละครในตอนนี้แม้ว่าไม่มีบทบาทออกมาเด่นนักก็จริง แต่ก็ให้บรรยากาศของความมหัศจรรย์ในทางดี หลังจากความมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติก่อนหน้านี้เป็นมาในทางร้ายโดยตลอด





ห่วงที่ห้า การเดินทางจากหลุมอุกาบาตหนึ่งไปสู่อีกหลุมหนึ่งจนครบสามหลุม ก่อนจะมาถึงเทือกเขาพระศิวะ พักแรมบนทุ่งหญ้า และหาทางขึ้นภูเขาที่ชื่อ "ถันพระอุมา" อันเป็นปากทางสู่มรกตนครได้สำเร็จ





เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ประพันธ์สามารถจะดึงห่วงโซ่ห่วงไหนใน 5 ห่วงนี้ออกก็ได้โดยไม่เสียโครงเรื่องใหญ่ หรือในนัยตรงกันข้าม ถ้ายังมีไฟแรงในการแต่ง จะเพิ่มห่วงที่ 6, 7, 8 ต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็ทำได้เช่นกัน ก่อนจะถึงห่วงมรกตนครอันเป็นห่วงสุดท้าย






ข้อดีของการวางโครงเรื่องแบบห่วงโซ่เช่นนี้ คือสามารถยืดหยุ่นเนื้อเรื่องให้ยาวน้อยหรือยาวมากก็ได้โดยไม่กระทบกระเทือนเรื่องหลัก แต่ข้อเสียก็คือ เรื่องย่อยเหล่านี้จะเข้ามาดึงความยิ่งใหญ่และความน่าสนใจไปล่วงหน้าเสียก่อนจะถึงมรกตนคร เพราะกลเม็ดเด็ดพรายของผู้เขียนจะถูกดึงออกไปแสดงในห่วงโซ่ก่อนๆเสียจนเป็นการยากที่จะสร้างความแปลกใหม่ไม่ให้ซ้ำกันอีกในห่วงโซ่หลังๆ โดยเฉพาะในตอนจบของเรื่องซึ่งน่าจะยิ่งใหญ่ที่สุด





ข้อเสียอย่างนี้ เห็นได้ชัดในกรณีของพ่อมดมันตรัยแห่งนิทรานคร และแม่มดวาชิกาแห่งมรกตนคร เมื่อย้อนไปดูบทแรกของนวนิยาย เห็นได้ว่าพนมเทียนได้ปูพื้นความสำคัญของแม่มดวาชิกาเอาไว้ ตั้งแต่ในแผนที่ของมังมหานรธาที่รพินทร์ ถืออยู่ โดยแย้มพรายเอาไว้ว่านางประจำอยู่ในมรกตนคร เป็นคนหักหลังมังมหานรธามิให้นำสมบัติออกมาจากเมือง
ได้ จนเขาต้องมาตายกลางทาง คนอ่านจะคาดเดาว่าคณะผจญภัยนี้น่าจะต้องหักเหลี่ยมชิงชัยกับนางอย่างดุเดือดเมื่อถึง มรกตนคร ในขณะที่มันตรัยเองยังอยู่ไหนก็ไม่รู้ในตอนต้นเรื่อง และไม่มีการเอ่ยถึง แต่ในเมื่อถึงตอนนิทรานคร มันตรัย ได้แสดงบทสำคัญ โรมรันกับคณะเดินทางกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันมากที่สุดแล้ว มันตรัยก็เลยชิงตำแหน่งจอมผู้ร้ายไปครอง เสียหมด นางแม่มดวาชิกาในเรื่องตอนท้ายแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเหลือ ได้แต่นอนอยู่บนเตียง แล้วก็เลยถูกเผาเป็นขี้เถ้า ไปด้วยกรรมวิธีง่ายๆ ยังไม่ทันจะได้แสดงฤทธิ์รบรากับพระยุพราชแงซายหรือจับดารินไปสูบเลือดพรหมจารีมากินอย่างที่ น่าจะทำด้วยซ้ำไป





ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของห่วงโซ่ก็คือ การใส่เข้ามาโดยไม่จำเป็น ตอนที่เห็นชัดคือตอนเดินทางพบหลุมอุกาบาตทั้งสามหลุม เป็นเหตุการณ์ที่กินความยาวมากจนรวมเป็นหนังสือได้ทั้งเล่ม แต่เนื้อหาคือรายละเอียดของการเดินกันไป พลัดกันมา เจอพายุหิมะบ้าง เท้าแพลงบ้าง หรือการเฝ้าสังเกตทิวเขารูปปีกครุฑอยู่มากมายหลายสิบหน้า ตลอดจนการดูเนินนางนอน ล้วนเป็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เยิ่นเย้อและไม่มีผลต่อความคืบหน้าของเรื่อง





ผลเสียของการสร้างนิยายขนาดยาวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มีโอกาสผิดพลาดในด้านรายละเอียดได้มากกว่านิยายขนาดสั้น เพราะความยาวและเหตุการณ์มากมายหลายอย่างทำให้เกิดความพลั้งเผลอ หรือมิฉะนั้นก็เกิดความจำเป็นจะต้องเพิ่มรายละเอียดในตอนหลังเข้าไป โดยไม่สอดคล้องกับตอนแรก ความผิดพลาดดังกล่าวแม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นข้อบั่นทอนคุณค่าของเรื่อง จนน่าที่จะมีการแก้ไขในการพิมพ์ครั้งต่อไป






ตัวอย่างที่เห็นๆ อยู่ก็มีหลายเรื่อง เช่น ผิวพรรณของดารินนั้นในตอนแรกเป็น "สีมะปราง" เป็น "ผิวที่ดูจะเข้มจัดกว่า พี่ชายเสียอีก เป็นผิวของคนที่นิยมกรำอยู่กลางแดดกลางลมอย่างนักกีฬากลางแจ้งทั้งหลาย" เจ้าตัวเองก็เล่าว่า "ฉันเป็นสมาชิกกิติมศักดิ์ของชมรมอาบแดด ค่ายฟลอริดา นาทูริสต์ ปาร์ค ในสหรัฐ" แสดงว่าผิวคงอาบแดดจนเกรียมเป็นผิวสองสี แต่พอหลายตอนก็บรรยายค้านกันว่า ผิวสีครีม สว่างโพลนไปทั้งร่าง ในตอนหลังรพินทร์รำพึงว่า เมื่อพบกันครั้งแรก ราชนิกูลสาวผู้นี้มีผิวสีชมพูยองใย บัดนี้เข้มคล้ำลงจนเป็นสีน้ำผึ้ง เลยไม่รู้ว่าผิวจริงๆ ของดารินนั้นขาวหรือคล้ำแดดกันแน่





เรื่องต่อมาคือแผนที่ลายแทงของมังมหานรธา ในตอนแรกก็ดูสั้นๆ มีข้อความไม่กี่บรรทัด คิดว่าการวาดเส้นทางก็คงจะ ทำไว้ย่อๆ แผ่นเล็กๆ พอที่จะเก็บไว้ในอกเสื้อได้ แต่เมื่อการเดินทางชักจะยาวมากเข้า สถานที่ที่ระบุไว้ในลายแทงก็ชักจะมี มากขึ้นทุกที คำแปลลายแทงก็ถูกนำมาแปลใหม่ ละเอียดลออขึ้นกว่าเมื่อก่อน จนคิดว่าขนาดของแผนที่ลายแทงนั้น ถ้าบรรจุลงไปได้หมดดังที่ขยายออกมา เห็นทีแผ่นจะใหญ่กว่าโฉนดที่ดินอย่างน้อยก็สองเท่า





เรื่องที่สามคือชีวิตวัยเยาว์ของแงซาย ในตอนแรกบอกว่าเดินทางมากับแม่กลางป่า แม่เจ็บหนัก พระธุดงค์องค์หนึ่งไป พบเข้า "แม่สิ้นใจเพียงไม่กี่นาทีหลังจากเห็นผ้าเหลือง" แต่ในตอนหลังก็กลายเป็นว่าหนานอินต่างหากที่ไปพบแม่ขณะป่วยหนัก แม่สิ้นใจ ก็ฝังศพให้แล้วพาแงซายซึ่งยังเล็กมากเดินทางไปในป่าจนพบพระธุดงค์ ถ้าจะว่าแงซายปิดบังความจริง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปิดบังเรื่องหนานอินเอาไว้





เรื่องหนานอินนี้เช่นกัน รพินทร์เล่าให้นายจ้างทั้งสามฟังว่า หนานอินอายุประมาณ 40 ปี แต่พอมาพบตัวเข้าใน มรกตนคร หนานอินกลับแก่กว่าตาบุญคำผู้มีอายุราว 55 ปีเสียอีก





อีกเรื่องหนึ่งที่ดูมีน้ำหนักอ่อนไปสักนิด คือเหตุผลของการที่ ม.ร.ว.อนุชา ออกจากวังกลายเป็นนักผจญภัยแล้วหายสาบสูญไปเมื่อพยายามจะค้นหาขุมเพชรพระอุมา ม.ร.ว.เชษฐาให้เหตุผลว่า.....


" เมื่อ 5 ปี ก่อนเราทะเลาะกันอย่างรุนแรง เจ้าพ่อของเรายังมีชีวิตอยู่ ท่านเข้าข้างผมทุกอย่าง ผมยอมรับว่าผมทำบาง สิ่งบางอย่างที่ไม่ยุติธรรมกับเขาเพราะความโกรธ ในที่สุดเขาหนีหายออกจากวังไป เมื่อเจ้าพ่อสิ้นเขาไม่ได้รับมรดกอะไร เลย"





ต่อมา เชษฐาเล่าเพิ่มเติมว่า...พี่น้องทะเลาะกันเพราะเรื่องผู้หญิง อนุชาเสียใจที่ผู้หญิงที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย เกิดมามีความสัมพันธ์กับพี่ชาย ความจริงเหตุผลเรื่องผู้หญิงนี้กลับกลายเป็นการทำให้น้ำหนักเหตุผลในข้อแรกเบาลง เพราะ จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่เมื่อเทียบกับนิสัยลูกผู้ชายที่หนักแน่นของเชษฐาและอนุชา





เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ เห็นๆกันอยู่ในการสร้างพื้นฐานตัวละครตามที่พนมเทียนวางไว้มากกว่า คือในพี่น้องสามคน เชษฐากับดารินเป็นคนที่เรียนเก่ง ประสบผลสำเร็จทั้งการเรียนและหน้าที่การงาน เชษฐาอายุเพียง 35 ปีก็เป็นนายทหาร พันโททูตทหารบกจากสหรัฐ ดารินอายุ 27 เป็นศัลยแพทย์เกียรตินิยม และกำลังทำปริญญาเอก ในขณะที่อนุชาไม่เป็นโล้ เป็นพาย ชอบแต่ผจญภัย ท่านพ่อก็คงจะระอาว่าเป็นแกะดำของตระกูล น้องชายก็คงน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ลึกๆ เมื่อพ่อเอาตัว ไปเทียบกับพี่ชาย ในเมื่อเหลื่อมล้ำกันอยู่อย่างนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่วันหนึ่งจะเกิดเรื่องทะเลาะกันเพราะพี่ชายช่วยพ่อ อบรมน้อง จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โต พ่อรักลูกชายคนโตอยู่แล้วจึงเข้าข้างพี่ทุกอย่าง พี่ชายก็คงจะโกรธความดื้อรั้นของน้องที่บังอาจก้าวร้าวกับพ่อและพี่ อาจจะออกปากขับไล่ไสส่งให้ออกจากวัง เพื่อให้สำนึกตัว น้องชายจึงเตลิดเปิดเปิงหนีหายไป เป็นเหตุให้พ่อเห็นว่าไม่รักดีจึงตัดจากกองมรดก และห้าปีต่อมา เชษฐาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเข้มงวดกับน้องชายเกินไป เห็นใจความอาภัพของอนุชา ไม่รู้ว่าจะไปตกระกำลำบากอยู่ที่ไหน จึงออกติดตาม ไชยยันต์ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง แต่ไกล่เกลี่ยไม่ได้เนื่องจากเกี่ยวพันไปถึงผู้บังเกิดเกล้าของทั้งสอง จึงอาสามาเป็นเพื่อนด้วย ถ้าหากว่าพี่น้องสองคน ทะเลาะกันเรื่องผู้หญิงเพียงคนเดียว ไชยยันต์น่าจะไกล่เกลี่ยเสียนานแล้ว ส่วนดารินอยู่ต่างประเทศ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ ทางบ้านจะต้องปกปิด เนื่องจากถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายของตระกูล ดารินจึงมารู้เอาทีหลัง เหตุผลเหล่านี้น่าจะฟังเป็น เหตุเป็นผลมากกว่าเรื่องผู้หญิงซึ่งอ้างขึ้นมาเพียงสั้นๆ แล้วก็จบแค่นั้น ไม่มีการเอ่ยถึงอีกต่อไป ทำให้เห็นว่าตัวหล่อนเอง ก็ไม่น่าจะมีความสำคัญสำหรับพี่น้องทั้งสองเท่าใด






เรื่องที่ห้า ก็คือ การสร้างเงื่อนปมต่างๆ เมื่อมาถึงมรกตนคร ดูหย่อนคลายความเข้มข้นลงไปมากเมื่อเทียบกับตอนก่อนๆ อาจจะเป็นเพราะแต่งมานานกว่าสิบปี (แม้ว่าเวลาในเรื่องผ่านไปเพียง 5-6 เดือนเท่านั้นก็ตาม) ยกตัวอย่างง่ายๆคือ การผูกเงื่อนปมเรื่องคุกที่คุมขัง ม.ร.ว.อนุชาและหนานอินในมรกตนคร เมื่อคณะผจญภัยถูกนำลงไปขังรวมกัน คุกนั้น ทั้งที่แสดงให้เห็นว่าแข็งแกร่งแน่นหนาจนอนุชาและหนานอินหาทางหนีไม่ได้มาตั้งหนึ่งปี เอาเข้าจริงก็ง่ายนิดเดียว คือมี อุโมงค์ลับอยู่ใต้พื้น ทหารฝ่ายกู้ชาติลอดอุโมงค์มากระทุ้งพื้นเปิด พาหนีไปได้ทั้งคณะอย่างลอยนวล ไม่น่าเชื่อเลยว่า นักเดินทางและพรานไพรที่เก่งฉกาจอย่างอนุชาและหนานอิน ซึ่งย่อมจะมีความสังเกตละเอียดลออฉับไวกว่าคนทั่วไปอยู่ มาก จะมองข้ามไปว่าพื้นใต้คุกนั้นความจริงโปร่ง ไม่แน่นทึบ เนื่องจากมีอุโมงค์ซ่อนอยู่ข้างใต้ ความจริงน่าจะสังเกตเห็นได้ ตั้งแต่ระยะแรกแล้วด้วยซ้ำ





เงื่อนปมอีกอย่าง ดังที่กล่าวมาแล้วคือบทบาทของแม่มดวาชิกา ดูหย่อนความขลังความเฮี้ยนลงไปมาก ไม่สมกับพิษสงที่ทำได้ขนาดโค่นบัลลังก์ของท้าววิษณุพรหมนาถลงไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติที่ ติดต่อกับคณะของรพินทร์จนพาหนีไปได้ ออกจะง่ายดาย ลอดหูลอดตานางแม่มดไปได้หลายครั้ง ถึงแม้มีคำอธิบายว่า นางรอบรู้เยี่ยงภูตผีปีศาจ ไม่ได้รู้อย่างผู้ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับแงซายเองมีบารมีคุ้มครองอยู่ ก็เป็นคำอธิบายที่ออกจะง่ายเกินไป ความจริงนางน่าจะมีฤทธิ์ทำอะไรได้มากกว่านี้ มากกว่าพ่อมดมันตรัยเสียด้วยซ้ำ เพราะมีกองทัพทรราชย์ หนุนหลังอยู่ทั้งนคร





รายละเอียดอื่นๆ ที่อาจจะดูเกินจริงไปบ้างนั้นเป็นเรื่องที่มองข้ามกันไปได้ เพราะถ้ายึดถือความเป็นจริงเคร่งครัดนัก นวนิยายเรื่องนี้ก็คงไม่สามารถดำเนินไปจนจบเรื่อง ที่เห็นชัดก็คือกระสุนปืนและระเบิดของคณะผจญภัยคณะนี้ดูช่างมากมายไม่มีวันหมดเอาเสียจริงๆ มีพอจะยิงช้างทั้งโขลง หมาป่าทั้งฝูง ลิงป่าทั้งฝูง งูยักษ์ คนป่าทั้งเผ่า ไปจนถึงถล่ม ไดโนเสาร์ และถล่มทหารกับกำแพงเมืองมรกตนคร ก็ยังมีเหลือพอจะเดินทางกลับอีกทั้งเที่ยว





อย่างที่สองก็คือความหัวแข็งของคณะผจญภัย ทั้งที่ขึ้นเขาลงห้วย ก็ไม่มีรอยขีดข่วน ดารินและรพินทร์ตกไปในลำธาร ใต้ดินเย็นเหมือนน้ำแข็งเป็นชั่วโมงๆ ก็ไม่เป็นแม้แต่หวัด อย่าว่าแต่ปอดบวมเลย แงซายถูกหินก้อนมหึมาทับ ยังรอดมาได้โดยกระดูกไม่หักหรือเดาะ ทุกคนถูกไฟป่าคลอก ลุยหิมะ ปีนขึ้นยอดเขาหรือลงไปก้นเหว เดินทางกันทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่มีใครพลัดตกหกล้มถึงบาดเจ็บหรือตายลงไป ราวกับเนื้อตัวทำด้วยเหล็กไหล เสื้อผ้าเอาไปแค่ 3 ชุดหลังจากออกจาก หล่มช้าง ก็ไม่เปื่อยไม่ขาด ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้ายังใช้ได้อยู่ตลอดทาง





อย่างที่สามคือคุณสมบัติของแงซายเมื่อไปถึงมรกตนคร ดูจะมากเกินความจำเป็น จนกระทั่งจะกลายเป็นจอมยุทธกำลังภายใน หรือพระเอกเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ อยู่รอมร่อ จริงๆ แล้ว ความสามารถ เฉลียวฉลาด และฝีมือของแงซายเท่าที่แสดง ออกมาตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง จนมาถึงชายแดนมรกตนคร ก็ดูเก่งมากพอแล้ว โดยไม่ถึงกับเสียความเป็นมนุษย์ธรรมดา ถ้าหากว่าจะให้แงซายรบกับทรราชย์ผู้ชิงบัลลังก์ด้วยฝีมืออย่างทรหด แสดงความเป็นนักสู้อย่างแท้จริง กว่าจะเอาชนะได้ ก็ปางตาย แต่ชนะอย่างขาวสะอาด จะดูเป็นศักดิ์ศรีของแงซายมากกว่าจะเพิ่มพลังฝีมือแงซายเสียจนเหนือมนุษย์ ตัวเองยืน อยู่บนพื้นดินแท้ๆ ฟันเข้าไปทีเดียว ศัตรูที่อยู่บนหลังม้าพลัดตกลงมา แขนขาขาดสะบั้นหมด นอกจากจะดู "เว่อร์" ไปหน่อยแล้ว ยังทำให้ขาดความสมจริงหลังจากปูพื้นบุคลิกของแงซายให้น่าประทับใจมาตลอด คำอ้างว่าไปฝึกวิชามาจากเจ้าอาวาสวัดในพม่า ด้วยการฝึกสมาธิกรรมฐานอะไรก็ตาม กลายเป็นสิ่งเกิน ใส่เข้ามาโดยไม่จำเป็น แค่ความเป็น ลูกผู้ชายที่แกร่งกล้าอดทนของแงซายก็มากพอแล้วสำหรับเหตุการณ์ตอนนี้





อีกอย่างหนึ่ง รอยลายมือรูปกงจักรเพื่อยืนยันความเป็นยุพราชตัวจริง นั้นก็ไม่จำเป็น แค่ซักถามถึงอดีตสมัยเด็ก หรือ ดูหน้าตาว่าเหมือนพ่อหรือไม่ ก็น่าจะทำให้อดีตข้าราชบริพารเชื่อได้แล้ว และยิ่งบอกว่า คณะผจญภัยทั้งหมดไม่เคยสังเกต เห็นฝ่ามือของแงซายก็ยิ่งไม่น่าเชื่อ คนอื่นอาจจะไม่สังเกตได้ แต่ดารินต้องเคยเห็น เพราะเคยตรวจ ถ่ายเลือด ทำแผล ให้แงซายมาแล้วหลายหน







ทัศนะและแง่คิดในเรื่อง

นวนิยายที่ดีนั้น คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือความคงทนไม่ล้าสมัย สามารถอ่านและชื่นชมในคุณค่าอยู่ได้เป็นเวลา ยาวนานกว่าชีวิตของผู้ประพันธ์ สิ่งที่จะทำให้คงทนได้นานขนาดนี้ มักจะเป็นแง่คิดและสาระที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง เหมือนอย่างนิยายของ "ดอกไม้สด" หรือ "ศรีบูรพา" นิยายอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า"เรื่องยอดนิยม" มักเป็นเรื่องที่ อ่านกันกว้างขวางในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่พอกาลเวลาผ่านไป ค่านิยมผ่านไป เรื่องนั้นก็จะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยอีกต่อไป ถ้าหากว่าเป็นที่จดจำรำลึกอยู่ ก็อาจจะด้วยคุณสมบัติประการอื่นๆ เฉพาะตัวของนิยายเรื่องนั้น





เพชรพระอุมา เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในยุคที่เมืองไทยยังมีป่าดงพงไพร เป็นยุคที่ถือกันว่าเมืองคือการพัฒนา และต่างจังหวัด ที่อุดมไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรยากแก่การคมนาคมคือการด้อยพัฒนา สัตว์ป่ายังถูกจับขายและฆ่ากันได้อย่างเสรี สวนสัตว์ต่างๆ ทั่วโลกยังขังสัตว์ไว้ให้คนมาดูกันเป็นแถวๆ นักเดินป่าถือปืนเข้าป่าล่าสัตว์กันเป็นกิจกรรมเข้มข้นของลูกผู้ชาย แต่ในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมเข้ามาแทนที่ กิจกรรมเข้าป่าล่าสัตว์กลายเป็นเรื่องของ การทำลาย ประกอบกับป่าเองก็แทบไม่มีเหลือให้สัตว์อยู่ ดังนั้น อาชีพการจับสัตว์ป่ามาขายที่รพินทร์ ไพรวัลย์กระทำอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องถูกต้องกับยุคสมัยอีก คนรุ่นหลังอาจจะรู้สึกว่า การที่คณะนักผจญภัยในเรื่อง ปราบไอ้แหว่งและฆ่าช้างป่า ทั้งฝูง ไล่ล่าเสือทีละ 16 ตัวที่มารบกวนหมู่บ้านกะเหรี่ยง นั่งห้างดักยิงกระทิงเป็นเกมกีฬาชั้นน้ำ ฆ่าควายป่า หรือแม้แต่ จระเข้ตายเป็นสิบๆ ตัวนั้น ไม่ใช่การแสดงฝีมือของนักล่า แต่เป็นการฆ่าจากผู้มีพลังเหนือกว่า ความสนุกหรือความภูมิใจ ในอาวุธปืนชั้นนำที่ขนกันเข้าไปในป่า ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้คนอ่านใฝ่ฝันอยากมีในยุคนี้ แต่เป็นความตะขิดตะขวงใจ ก่อความสยดสยองและน่าสมเพชสัตว์เสียมากกว่า





ในยุคปัจจุบันนักอ่านบางคนก็อาจจะตั้งคำถามว่า มนุษย์มีสิทธิ์อะไร ที่จะบุกรุกเข้าไปไล่ยิงสัตว์ป่าในดินแดนของมันได้ตามใจชอบ การนั่งห้างยิงกระทิงที่ถือเป็นกีฬาชั้นยอด ก็ไม่ได้เป็นไป เพื่อความจำเป็นอะไรเลย ไม่ได้เอาเนื้อมากินประทังชีวิต ไม่ใช่เพื่อป้องกันอันตรายให้ตัวเอง ยิงเสร็จแล้วก็แล้วกัน ฝ่ายหนึ่งนั่งอย่างปลอดภัยอยู่บนห้างสูงพร้อมด้วยอาวุธชั้นเยี่ยม อีกฝ่ายมีแต่เขา กีบ และกำลัง อยู่บนพื้นดิน ซ้ำยังไม่รู้ตัวว่าจะถูกยิง กลายเป็นการต่อสู้ที่ไม่ยุติธรรม ยิ่งตัวละครแสดงความตื่นเต้นยินดีที่ยิงได้สมใจ หรือยิงอย่างมันมือ แล้วต่างฝ่ายต่างชมเชยฝีมือกันเองนั้น กลับเป็นสิ่งขัดความรู้สึกของคนอ่านรุ่นใหม่ที่ถูกปลูกฝังเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติเสียอีก





กระแสความคิดพลิกกลับจากการ "ล่า" มาเป็น "อนุรักษ์" ในชั่วเวลา 20 ปีนี้เอง คงจะมีผลต่อทัศนะของพนมเทียนอยู่บ้าง เราจึงเห็นว่าในการแต่งตอนหลังๆ พนมเทียนจึงไม่ได้แสดงให้เห็นการล่าสัตว์อย่างมันมืออย่างในตอนแรกๆ ดารินเองก็กลับพูดว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตยกเว้นจำเป็นจริงๆ และรพินทร์เองในตอนจบของภาค 2 กลับมาเป็นผู้อนุรักษ์ สัตว์ป่าในหนองน้ำแห้ง สอดคล้องกับกระแสความเป็นไปของโลก






สรุป

เพชรพระอุมาภาค 1 เปรียบได้กับงานประติมากรรมขนาดใหญ่มหึมา ยิ่งสร้างใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งมีรอยตำหนิตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้างให้เห็นได้ชัดมากกว่ารูปปั้นขนาดเล็กๆ ที่ช่างสามารถเน้นความประณีตได้ถี่ถ้วนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีใคร ปฏิเสธได้ถึงความยิ่งใหญ่ของงานนี้ ตลอดจนความยากที่จะสร้างขึ้นมาอย่างที่งานเล็กๆ ประณีตไม่อาจจะดำเนินรูปรอย ได้ตามแบบงานใหญ่ มันเป็นงานชิ้นใหญ่มหึมา ที่คนอ่านเมื่อ 30 กว่าปีก่อน แหงนมองด้วยความทึ่งอย่างไร คนอ่านเมื่อ 30 ปีหลังก็ยังมองเห็นเค้าโครงของความยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่อย่างนั้น แม้จะด้วยความรู้สึกบางอย่างผิดแผกกันไปตามยุคสมัยก็ตาม




ที่มา: คัดลอกจาก หนังสือ 'โลกนวนิยาย' รายสัปดาห์
ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 29 – 4 เมษายน 2539
ราคา 30 บาท
สำนักงาน โลกนวนิยาย ( สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ในปัจจุบัน)


















ขอขอบคุณ "พนมเทียน" เจ้าของผลงาน "เพชรพระอุมา"

ขอขอบคุณ ณ บ้านวรรณกรรม ผู้จัดพิมพ์วรรณกรรมเรื่องนี้

ขอขอบคุณ ห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ผู้จัดทำเป็นหนังสือเสียง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ...เว็บแฟนแท้แท้เพชรพระอุมา และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขอขอบคุณภาพจากทุกเว็บที่เกี่ยวเนื่องกับเพชรพระอุมา

ขอขอบคุณเครื่องแต่งบล็อก จากบล็อกชมพร / บล็อกญามี่

และขอขอบคุณ คุณ treetree6969 ผู้จัดทำวิดีโอนี้



สาขา Book Blog


ร่มไม้เย็น ค่ะ





Create Date : 24 มกราคม 2557
Last Update : 24 มกราคม 2557 12:15:26 น. 0 comments
Counter : 7781 Pageviews.

ร่มไม้เย็น
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 127 คน [?]







เริ่มเขียน Blog เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2551


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยม เมื่อเวลา 18.15 น.



Group Blog
 
<<
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
24 มกราคม 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ร่มไม้เย็น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.