Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
21 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 

บางตอนจาก หนังสือ “ กรรมทีปนี “ ของ พระพรหมโมลี ( วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙ )

บางตอนจาก หนังสือ “ กรรมทีปนี “ ของ พระพรหมโมลี ( วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙ ) ในปัจจุบันสมัยนี้ มีเราตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นในโลก ก็เราตถาคนผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอัครสาวกคู่หนึ่งซึ่งเป็นสาวกคู่เลิศ เป็นสาวกคู่เจริญ มีนามว่า พระสารีบุตรอัครสาวก และ พระโมคคัลลานอัครสาวก


ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ต่อไปภายหน้า เหตุจักปรากฏมี คือชื่อแห่งเวปุลลบรรพตจักอันตรธานไป หมู่มนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็จักกระทำกาลกิริยาตายไปหมด และเราตถาคตก็จะดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานไป ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ขึ้นชื่อว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมเป็นสภาพไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ไม่น่าชื่นใจอย่างนี้ ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ก็เหตุเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นเหตุเพียงพอทีเดียว เพื่อที่จะเป็นเครื่องเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ย่อมเป็นเหตุเพียงพอทีเดียว เพื่อที่จะเป็นเครื่องคลายกำหนัด ย่อมเป็นเหตุเพียงพอทีเดียว เพื่อที่จะเป็นเครื่องให้ถึงความหลุดพ้นได้ ดังนี้

พระพุทธฎีกาที่ตรัสถึงความยาวนานแห่งวัฏสงสารที่ผ่านมาแล้วนี้ย่อมจักเป็นเครื่องชี้ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า วัฏสงสารนี้ มีความยาวนานจริงๆ บรรดาสิ่งที่ว่ายาวและนานในจักรวาลทั้งหลาย ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะมีความยาวและนานเกินกว่าวัฏสงสารไปได้ ปุถุชนทั้งหลายย่อมจักต้องท่องเที่ยวอยู่ภายในวัฏสงสารนี้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ยังคงมีสภาพดำผุดดำว่าย เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในห้วงทะเลใหญ่กล่าวคือวัฏสงสารนี้เอง เมื่อกล่าวถึงคำว่า ปุถุชน นี้ ก็เกิดมีปัญหาขึ้นมาว่า ที่ว่า ปุถุชนนั้นเป็นไฉน ?


ในพระคัมภีร์สัทธัมมปกาสินี กล่าวไว้ว่า เป็นปุถุชน ก็เพราะมีการปรุงแต่งอภิสังขารนานาประการอีกเป็นอันมาก หมายความว่ายังต้องไปเกิดในอบายภูมิ ด้วยอำนาจแห่งอปุญญาภิสังขาร คือความปรุงแต่งแห่งอกุศลกรรมความชั่วร้ายอีกเป็นอันมาก และยังต้องไปเกิดในกามสุคติภูมิ ด้วยอำนาจแห่งปุญญาภิสังขาร คือความปรุงแต่งแห่งกามาวจรกุศลกรรมความดีอีกเป็นอันมาก ทั้งยังต้องไปเกิดในรูปปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ด้วยอำนาจแห่งอเนญชาภิสังขาร คือความปรุงแต่งแห่งรูปาวจรอรูปาวจรกุศลกรรมอีกเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังมีอรรถาธิบายคำว่าปุถุชนไว้อีกหลายนัย เช่นว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่ได้ชื่อว่าเป็น ปุถุชน ก็เพราะเหตุดังต่อไปนี้ คือ

เป็นผู้ประกอบด้วยเหตุอันชั่วร้าย โดยเป็นผู้ยังอกุศลธรรมอันมากมายมีกิเลสเป็นต้น ให้เกิดขึ้นวุ่นวายนานาประการ
เป็นผู้มีสักกายทิฐิ คือความสำคัญผิดในขันธ์ห้าหรือรูปนาม ประจำอยู่ในสันดานอย่างเหนียวแน่น โดยเหตุที่ตนยังละสักกายทิฐินั้นไม่ได้

เป็นผู้เบือนหน้าจากศาสนธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีมรรคผลและพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นผู้ติดแน่นอยู่ในคติภพทั้งปวง ไม่สามารถที่จะนำตนให้หลุดพ้นออกไปจากคติภพทั้งปวงได้ หมายความว่า ต้องเที่ยววิ่งพล่านไปในคติ คือไปเกิดในภูมิต่างๆ เรื่อยไปนั่นเอง

เป็นผู้ยังต้องมีความเดือดร้อนทุรนทุราย ด้วยความเดือดร้อนทุรนทุรายซึ่งมีอยู่มากมายในภูมิต่างๆ เป็นอันมาก เพราะเหตุที่ความเดือดร้อนทุรนทุรายทั้งหลายนั้น ตนยังไม่สามรถที่จะละได้

เป็นผู้มีความกำหนัดรักใคร่และพอใจสยบอยู่ในเบญจกามคุณารมณ์ทั้ง ๕ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่เบญจกามคุณารมณ์เหล่านั้น ตนยังไม่สามารถที่จะละได้
เป็นผู้ถูกนิวรณ์ทั้ง ๕ กล่าวคือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ เสียบแทงติดแน่นอยู่ในจิตใจเสมอเป็นนิตย์ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่นิวรณ์เหล่านั้น ตนยังไม่สามารถที่จะละได้
เป็นผู้ที่ติดอยู่ในหมู่สัตว์ที่นับว่ามีธรรมสมาจารอันต่ำทราม เบือนหน้าออกจากพระอริยธรรมซึ่งมีอยู่ในจักรวาลนี้มากมาย สุดที่จักนับจักประมาณได้ เพราะมิใช่เป็นผู้ประกอบด้วยพระอริยธรรมอันประเสริฐดังนี้เป็นต้น
สัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งยังได้นามว่าปุถุชน เพราะเหตุหลายอย่างหลายประการ ดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันมีความยาวนานนักหนา โดยมิรู้จักจบจักสิ้นไปได้ อะไรเป็นเหตุให้สัตวโลกทั้งหลายผู้ยังเป็นปุถุชนจำต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร อันมีความยาวนานโดยมิรู้จักจบสิ้นเช่นนั้น ? จะอะไรเสียอีกเล่าก็เพราะ “ กรรม “ ของปุถุชน คือ กรรมทั้งหลายของสัตวโลกที่ยังเป็นปุถุชนนั่นเอง เป็นเหตุให้สัตว์โลกปุถุชนต้องท่องเที่ยวเวียนวนตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ ตราบใดที่ยังมีกรรมอันเป็นพืชติดอยู่ในสันดาน ตราบนั้นกรรมอันเป็นพืชป็นเผ่าพันธุ์ ก็จักบันดาลให้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสารนี้อยู่ร่ำไป โดยไม่มีวันสิ้นสุด

จักทำอย่างไรกันดีล่ะทีนี้ สัตวโลกปุถุชนทั้งหลาย จึงจะพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารอันยาวนานโดยไม่มีวันสิ้นสุดนั้นเสียได้ เพราะการเวียนตายเวียนเกิดอย่างซ้ำซากอยู่เช่นนั้น ให้รู้สึกว่าเป็นที่น่ารำคาณน่าสังเวชใจ และน่าเบื่อหน่าย น่าระอาเป็นหนักหนา กรรมฑหนะ ! จะทำอย่างอื่นมิได้นอกจากจะกระทำกรรมฑหนะ คือเผาผลาญกรรมทั้งหลายเสียให้สูญสิ้น เมื่อกรรมอันเป็นพืชทั้งหลาย ได้ถูกเผาผลาญเสียให้หมดสิ้นไปแล้ว การเกิดการตายอันน่าเบื่อหน่ายในวัฏสงสารนั้น ย่อมจักพลันถึงความสิ้นสุดลงไปได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงกำหนดจดจำไว้ให้ดี
ตอนต่อไป ..... กรรมที่ต้องเผาผลาญเมื่อได้ทราบว่า กรรมเป็นพืชหรือเผ่าพันธุ์ บันดาลปวงประชาสัตว์ทั้งหลายซึ่งรวมทั้งมนุษย์ปุถุชนให้ท่องเที่ยวเวียนวนอยู่ในวัสงสารซึ่งมีภัยใหญ่ ต่อเมื่อใดกรรมอันเป็นพืชนั้น ได้ถูกทำลายเผาผลาญลงไปจนหมดสิ้น เมื่อนั้นความทุกข์ซึ่งเกิดแต่การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันยาวนาน ย่อมจักถึงความหมดสิ้นไปด้วยดังนี้แล้ว และมีใจผ่องแผ้วปรารถนาที่จักกระทำการเผาผลาญทำลายกรรม ตามพระโอวาทานุสาสนีแห่งองค์สมเด็จพระมหามุนีบรมศาสดา แต่เกิดมีปัญหาขึ้นมาอีกว่า

บัดนี้ ก็มีความเห็นด้วยอย่างจริงใจแล้วว่า กรรมเป็นพืช เป็นตัวบันดาลให้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอันยาวนานไม่รู้จบสิ้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จักต้องเผาผลาญทำลายให้สูญสิ้นไปเสีย แต่อยากจะทราบว่าที่ว่าให้เผาผลาญทำลายกรรมนั้น เราจักต้องเผาผลาญทำลายกรรมทั้งหมดทุกชนิดหรืออย่างไร ?
มีคำวิสัชนาว่า ในทางพระพุทธศาสนาสอนให้เผาผลาญทำลายกรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ทั้งนี้ก็เพราะขึ้นชื่อว่ากรรมแล้วย่อมเป็นพืช เป็นตัวการบันดาลให้เกิดตายอยู่ภายในวัฏสงสารทั้งนั้น อันนี้เป็นหลักวิชา แต่เมื่อจะว่าโดยหลักปฏิบัติแล้ว ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติเพื่อละ “ อกุศลกรรม “ ให้ได้โดยเด็ดขาดแต่เพียงอย่างเดียวก็พอ เมื่อละอกุศลกรรมได้โดยเด็ดขาดแล้ว กุศลกรรมก็จักเป็นอันละไปได้เอง เพราะว่าบรรดากรรมทั้ง ๒ คือ อกุศลกรรมและกุศลกรรมนี้ อกุศลกรรมเป็นกรรมที่ทำได้โดยง่ายนักหนา แต่ว่ากุศลกรรมทำได้โดยยากยิ่ง สมจริงตามวาทะที่ท่านพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกายว่า


ธรรมดาว่าสัตวโลกที่ยังเป็นปุถุชน ย่อมจักมีปรกติตกไปในอบายภูมิทั้งหลายบ่อยๆ มากครั้งหลายหน ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ ปุถุชนเป็นผู้มากล้นหยาบหนาไปด้วยบรรดาสรรพกิเลส ชอบที่จะทำบาป ไม่ชอบที่จะทำกุศล เพราะบาปกิริยา คือการกระทำบาปหรืออกุศบกรรมนั้น เป็นกิริยาที่ประชาสัตว์ทั้งหลายกระทำได้โดยง่าย แต่ว่าบุญกิริยา คือการกระทำบุญหรือกุศลนั้นเป็นกิริยาที่ประชาสัตว์ทั้งหลายกระทำได้โดยยากเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้

เมื่อบาปหรืออกุศกรรม เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยง่ายนักหนา แต่ว่าบุญหรือกุศลกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้โดยยากยิ่ง ก็ย่อมจะหมายความว่า บาปหรืออกุศลนั่นและเป็นสิ่งที่ละได้โดยยาก แต่บุญหรือกุศลกรรมเป็นสิ่งที่ละได้โดยง่าย โดยเหตุที่บาปหรืออกุศลกรรมเป็นสิ่งที่ละได้โดยยากนี้เอง ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้พยายามปฏิบัติ เพื่อละคือเผาผลาญทำลายบาปหรืออกุศลให้ได้

เมื่อปุถุชนคนใด พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี จนกระทั่งสามารถที่จะละคือเผาผลาญบาปหรืออกุศลกรรมได้จนหมดสิ้นแล้ว บุญหรือกุศลกรรมก็ย่อมเป็นอันถูกละถูกเผาผลาญให้หมดสิ้นไปเองโดยปริยาย นโยบายที่ให้พยายามปฏิบัติเพื่อละเพื่อเผาผลาญบาปหรืออกุศลกรรมนี้ เป็นนโยบายที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนาเป็นนโยบายที่ถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์
ทั้งนี้ก็โดยเหตุทว่า การที่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้อุตส่าห์ประกอบกองการกุศลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศลกรรม รูปปาวจรกุศลกรรม หรืออรูปาวจรกุศลกรรมก็ตาม จุดมุ่งหมายก็มีอยู่อย่างเดียว นั่นคือมุ่งหวังที่จะให้ประชาสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีใจละจาก “ อกุศลกรรม “ เท่านั้น


ตามที่พรรณนามาเป็นโวหาร ซึ่งรู้สึกว่าออกจะฟังได้ยากอยู่สักหน่อยนี้ต้องการที่จะชี้แจงให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบไว้ว่า กรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งแก่การเผาผลาญทำลายให้หมดสิ้นไปก็คือ อกุศลกรรม !
อกุศลกรรมนี้แลเป็นกรรมที่เราท่านผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งหวังจักนำตนให้หลุดพ้นออกไปจากทุกขภัยในวัฏสงสาร จำเป็นจักกระทำการเผาผลาญให้สูญสิ้นไปจากสันดานแห่งตนเป็นอย่างยิ่ง


อกุศลกรรมที่จำเป็นจักทำการเผาผลาญให้สูญสิ้นไปจากสันดาน คืออะไร ?

อ้าว ! แล้วกัน นี่จะให้ต้องทนทุกข์ทรมานวนเวียนมะงุมมะงาหราอยู่ในปัญหาเรื่องกรรมซ้ำซากกลับไปกลับมา เหมือนกับการที่ประชาสัตว์ผู้มีกรรม ต้องทนทุกข์ทรมานวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอันยาวนานอย่างซ้ำซากกลับไปกลับมาไปอีกแล้วหรืออย่างไร จึงได้ถามขึ้นมาเช่นนี้ อันที่จริง ปัญหาที่ว่าอกุศลกรรมคืออะไรนี้ ได้กล่าวไว้อย่างเรียบร้อยใน กรรมทีปนีภาคที่ ๒ ตอนที่ว่าด้วยเรื่องของอกุศลกรรมโน่นแล้ว จำมิได้หรือ...แต่เอาเถิดเพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา เมื่อถามขึ้นมาในที่นี้ก็จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชื้ รับกรรมตอบซ้ำลงไปก็ได้ว่า อกุศลกรรมก็คืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ซึ่งมี ปาณาติบาตเป็นต้น และมีมิจฉาทิฐิเป็นปริโยสานนั่นเอง

ก็อกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ ปรารถนาจักนำตนให้พ้นจากทุกขภัยในวัฏสงสาร ปรารถนาที่จักนำตนให้พ้นจากความเป็น “ ปุถุชน “ ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็น “ อริยชน” จำเป็นที่จักต้องทำการเผาผลาญทำลายให้สิ้นไปจากสันดานของตนโดยแท้ เพราะอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ตรัสเรียกว่าเป็น “ อนริยธรรม “ คือเป็นธรรมของปุถุชน มิใช่ธรรมของพระอริยะสมตามพระพุทธวจนะที่ตรัสไว้ในอริยานริยธรรมสูตร แห่งทสกนิบาตอังคุตตรนิกาย ดังต่อไปนี้

อริยานริยธรรม

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! เราตถาคต จักแสดงอริยธรรมและอนริยธรรมแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงใส่ใจให้ดี เราตถาคตจะกล่าวในบัดนี้

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ก็อนริยธรรมเป็นไฉน ?
๑. ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน คือ การลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท คือ การพูดเท็จ
๕. ปิสุณาวาจา คือ การพูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ คือ การพูดเพ้อเจ้อ
๘. อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
๙. พยาบาท คือ ความปองร้าย
๑๐. มิจฉาทิฐิ คือ ความเห็นผิด
ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เรียกว่า “อนริยธรรม” ดังนี้


ดูกรเธอผูธ้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ก็อริยธรรมเป็นไฉน ?๑. การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. การงดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. การงดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๖. การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๗. การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. ความไม่อยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
๙. ความไม่ปองร้าย
๑๐. ความเห็นชอบ

ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เรียกว่า “ อริยธรรม “ ดังนี้
พระบาลีในอริยานริยธรรมสูตรนี้ ย่อมจักเป็นเครื่องชี้ให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เป็นอนริยธรรม คือ เป็นธรรมของปุถุชน มิใช่ธรรมของอริยชน การที่จักนำตนให้พ้นไปจากทุกขภัยในวัฏสงสารได้นั้น มีกฎธรรมดาอยู่ว่า จำต้องพัฒนาให้ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นอริยชนเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ปรารถนาความเป็นอริยชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการเผาผลาญอนริยธรรมหรืออกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นธรรมของปุถุชนนี้ให้สูญสิ้นไป จำไว้ง่ายๆ ว่า ตราบใดที่ยังทำการเผาผลาญทำลายอนริยธรรมคือ อกุศล กรรมบถให้ขาดออกไปจากสันดานไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะสามารถนำตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปได้
เมื่อจะกล่าวเป็นโวหารอุปมา โดยเปรียบเทียบว่าเป็นฝั่งนี้และฝั่งโน้น อกุศลกรรมบถ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นธรรมของปุถุชนสัตว์ที่ยังอยู่ฝั่งนี้ ส่วนการละกุศลกรรมบถได้ ย่อมได้ชื่อว่าถึงธรรมของอริยชนซึ่งประดิษฐานอยู่ฝั่งโน้น อันเป็นสถานที่พ้นจากทุกขภัยในวัฏสงสาร โดยมีหลักฐานที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสไว้ในสคารวสุตร แห่งทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย







 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2554
6 comments
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2554 22:20:27 น.
Counter : 6836 Pageviews.

 

 

โดย: maramba1 21 พฤศจิกายน 2554 22:46:54 น.  

 

ขออนุโมทนาที่ท่านนำเร่องนี้มาลง ขอให้คงเร่องราวเหล่านี้ไว้นาน ๆ จะได้เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลาย

 

โดย: คัคนางค์ แสบงบาล IP: 171.4.17.249 18 มีนาคม 2555 1:27:25 น.  

 

ช่วงนี้งานเข้า...ครับ พอดีสนใจหลายเรื่อง ทั้งพุทธศาสตร์ และโหราศาสตร์

และงานหลัก ก็ต้องรับผิดชอบให้ดีก่อน นะครับ

งานที่ปรึกษา... ต้องอ่านมาก และตอนนี้เน้นรู้ลึก ในงานครับ หลังจากตรวจรายงาน ทำ Power Point มาหลายปี

 

โดย: Toad 7 เมษายน 2555 15:41:31 น.  

 

//www.pantip.com/cafe/silom/topic/B11851961/B11851961.html#38

 

โดย: Toad 7 เมษายน 2555 16:02:44 น.  

 

สวัสดีเพื่อน ทศ
ณุตามเข้ามาอ่านครับ ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่รู้สึกว่าน่าอ่านมาก ตินิดตัวหนังสือ ถ้าไฮไลท์ ควรทำให้อ่านง่าย สบายตาครับ

 

โดย: บอย ลาดกระบัง IP: 124.120.164.230 9 กันยายน 2555 16:14:28 น.  

 


อนุโมทนาสาธุค่ะ^-^

 

โดย: ปาท่องโก๋ IP: 101.51.164.103 11 มกราคม 2557 15:57:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.