พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุ่หัว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔ )



--------------------------------------------------------------------------------
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมชื่อว่า พระองค์เจ้าชายทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จสมเด็จพระศรีสุราลัย ( เจ้าจอมมารดาเรียม ) ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ ได้รับพระสุพรรณบัตรเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อพ.ศ.๒๓๕๖ ได้ทรงรับราชการกรมท่ากรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจและรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณนอกจากนั้นยังได้ทรงรับพระราชกรุณาให้แต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายกับเมืองจีน พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า เจ้าสัว เสด็จขึ้นเสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ พระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา ครองราชสมบัติอยู่ ๒๗ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา


ศิลปกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถาปัตยกรรม

การสถาปัตยกรรมของไทยในรัชกาลที่ ๓ นี้ ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมต่างประเทศอยู่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากการคบหาสมาคมอย่างสนิทสนมกับชาติต่าง ๆ นั่งเอง เกื้อกูลให้ต้องยอมรับศิลปของเขาเข้ามาใช้อันได้แก่ ศิลปการช่างแบบจีน ที่ปรากฏตามหลังคาโบสถ์ วิหาร และเก๋งจีน ตัวอย่างเกี่ยวกับศิลปกรรมที่ว่านี้ ส่วนมาจะพบในวัดพระเชตุพน ส่วนการทำประตูลายรดน้ำในรัชสมัยนี้อาจกล่าวได้ว่า รุ่งเรืองไม่แพ้สมัยก่อน ๆ เลย สถาปัตยกรรมประเภทพระสถูป ก็ได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสมัยนี้ด้วย

การสร้างและปฏิสังขรณ์วัด แต่ก่อนนั้นคำว่า พระอารามหลวง หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์โปรดปรานให้สร้างโดยทรัพย์ส่วนพระองค์ ดังนั้น วัดที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ จึงมีน้อย ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ นี้ พระองค์โปรดให้เจ้านายในราชวงศ์และบุคคลทั่ว ๆ ไปมีโอกาสได้สร้างด้วย ถ้าทรงเห็นว่า วัดไหนดีหรืองามพร้อมก็ทรงรับเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงก่อให้เกิดการประกวดกระชันขันแข่งกันในที จึงมีคำกล่าวกันว่า ใครสร้างวัดก็โปรด เมื่อทุก ๆ คนอยากเป็นคนโปรด ก็ขวนขวากันสร้าง และเหตุดังกล่าวนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรืองในรัชสมัยของพระองค์ท่านอย่างยิ่ง สำหรับวัดที่ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ก็มี

๑. วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
๒. วัดราชนัดดา ทรงสร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติยศแก่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี
๓. วัดเทพธิดาราม ทรงสร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติยศแก่ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
๔. วัดราชโอรส วัดนี้รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างเมื่อครั้งยังดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า วัดราชโอรส
๕. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๔ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๘๑ ทรงปฏิสังขรณ์ในรัชกาลนี้ก็มี พระอุโบสถ เปลี่ยนไม้และกระเบื้องเครื่องบนทั้งหมด ภาพตามฝาผนังเปลี่ยนเขียนใหม่หมด พระระเบียงก็เปลี่ยนเครื่องบนใหม่ ภาพรามเกียรติ์ก็ลบเขียนใหม่หมด ก่อภูเขา ทำแท่นที่นั่ง ตั้งตุ๊กตาหินติดตั้งเครื่องประดับรอบ ๆ ลานบริเวณ ทำให้โครงงานที่วางไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระอัยกาเพียบพร้อมสมบูรณ์
๖. วัดพระเชตุพน ฯ ทรงปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่า ที่โปรดให้รื้อลงโบสถ์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีขนาดกว้างและสูงใหญ่กว่าหลังเดิม ขยายเขตพระอารามออกไป สร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกขึ้นแทนกุฏิไม้ของเก่า สร้างพระวิหารพระนอนพร้อมด้วยพระพุทธไสยาสน์ สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นอีกสององค์ องค์หนึ่งอยู่ทางด้านขวา พระเจดีย์ศรีสรรเพชร ( ของเดิม ) สร้างถวายพระชนก อีกองค์หนึ่งอยู่ด้านซ้าย พระเจดีย์ศรีสรรเพชร สร้างเป็นของพระองค์เอง นอกจากนี้ก็ทรงบูรณะเครื่องประดับพระอาราม บานมุกพระอุโบสถ เครื่องเขียน ฯลฯ
แต่ในสิ่งที่พระองค์สร้างและปฏิสังขรณ์ไว้นั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า พระราชมรดกอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าควรคำนึงถึงพระกรุณาธิคุณท่านอย่างหาที่สุดมิได้ สิ่งนั้นคือ การปฏิรูปวัดพระเชตุพน ฯ ให้กลับกลายมาเป็นสถานศึกษาที่เพียบพร้อมด้วยตำราอันหาค่ามาเปรียบมิได้นั่นเอง ได้โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตยในสาจาวิทยาการต่าง ๆ ครั้งนั้นมาประชุมกัน แล้วให้ช่วยกันสอบสวนตำราต่าง ๆ เช่น วิชากวีนิพนธ์ วิชาแพทย์ เลือกสรรเอาแต่ฉบับที่ดี ลงความเห็นว่าถูกต้องแน่นอนแล้ว มาจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ในวัด เพื่อสะดวกแก่ประชาชนผู้ใฝ่ใจในตำราเรียนเหล่านี้ เมื่อประชาชนหลั่งไหลเข้ามาศึกษาการความรู้ ณ ที่นี้ ก็เป็นประการหนึ่งว่า พวกเขาได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยนั่นเอว จึงมีคำกล่าวกันว่า มหาวิทยาลักแห่งแรกของไทย คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
๗. วัดอรุณ ฯ ทรงสร้างพระปรางองค์ใหญ่สูงเด่นเป็นสง่า เรียกกันว่า พระปรางค์วัดอรุณ ฯ อันที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทยมาเท่าทุกวันนี้
๘. วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ
๙. วัดนางนอง ที่คลองด่านใต้
๑๐. วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ทรงปฏิสังขรณ์มณฑปใหญ่
๑๑. วัดมหาธาตุ ฯ ทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม
๑๒. วัดโมลีโลกยาราม
๑๓. วัดยานนาวา เดิมคือ วัดคอกกระบือ หรือวัดคอกควายก็เรียก โปรดให้ปฏิสังขรณ์ทั่งพระอาราม และในครั้งนั้นทรงพระราชดำริจะให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ จึงโปรดให้สร้างฐานพระเจดีย์เป็นรูปเรือสำเภา ให้มีขนาดเท่าของจริง เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเรือสำเภาที่นับวันจะสูญไป อีกประการหนึ่งทรงตระหนักว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์อุปมาบารมีธรรมทั้งหลายประดุจด้วยสำเภายานนาวา พระองค์จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า วัดยานนาวา
๑๔. วัดระฆัง ฯ
๑๕. วัดราชสิทธาราม ( รัชกาลที่ ๓ ทรงผนวช ณ วัดนี้ )
๑๖. วัดศาลาปูน พระนครศรีอยุธยา
๑๗. วัดสระเกศ ทรงสร้างพระวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารส อัญเชิญมาแต่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ทรงสร้างเจดีย์ใหม่อย่างเจดีย์ภูเขาทองที่พระนครศรีอยุธยาแต่สร้างได้เพียงฐานเดียว
๑๘. วัดสุทัศน์ ฯ ทรงสร้างได้สำเร็จบริบูรณ์ แล้วทรงพระราชทานนามว่า วัดสุทัศน์เทพวราราม
๑๙. วัดสุวรรณาราม เป็นวัดประจำพระราชวงศ์จักรี ทรงสร้างกุฏิอุทิศถวายรัชกาลที่ ๒ และสร้างศาลาการเปรียญสำหรับพระองค์
๒๐. วังสังข์กระจาย

นอกจากนี้มีวัดอื่น ๆ อีก ๓๓ วัด เป็นที่ผู้อื่นสร้างและพระองค์ท่านทรงอุปการะ ปฏิสังขรณ์


ประติมากรรม

ในรัชกาลนี้ ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก เพราะพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ให้เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงหล่อพระพุทธไสยาสน์ไว้ที่วัดพระเชตุพน ฯ เป็นต้น และสิ่งที่จะเว้นไม่กล่าวถึงเสียไม่ได้ คือ การสร้างพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แล้วขนานนามพระพุทธรูปที่สร้าง และโปรดให้ประชาชนเรียกนามอดีตรัชกาลตามชื่อของพระพุทธรูปที่สร้างแทนการเรียกว่า แผ่นดินต้น และแผ่นดินกลาง ส่วนพระพุทธรูปฉลองพระองค์นั้น ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเป็นจำนวนหลายพระองค์ ทั้งยังได้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถึง ๔๐ ปาง

การสร้างพระพุทธรูป

๑. พระพุทธรูป เนื่องด้วยพระราชประวัติ ทรงสร้างไว้เป็นทรงฉลองพระองค์ หล่อหุ้มทองคำ เป็นพระทรงเครื่องต้นปางห้ามสมุทร นอกจากนี้ก็มีหล่อด้วยองค์หนักองค์ละ ๑๐ ตำลึง มีจำนวน ๖๔ องค์ องค์สำคัญ คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างในปี พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๘๖ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องยืน หุ้มทองคำองค์ละ ๖๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ทรงพระราชอุทิศถวายแด่สมเด็จพระอัยกาธิราชองค์หนึ่ง และสมเด็จพระบรมราชชนกนาถอีกองค์หนึ่ง แล้วโปรดให้เรียกนามอดีตรัชกาลนั้นตามพระนามของพระปฏิมาทั้งสององค์นี้ด้วย
อันนี้เองจึงเป็นพระนามของรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ที่เราเรียนกัน เราคงทราบมาแต่รัชกาลก่อนแล้วว่า การจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเรียกถึงพระองค์ท่านองค์ที่ ๑ จึงเรียกแผ่นดินต้น พอพระองค์ที่ ๒ ก็เรียกว่า แผ่นดินกลาง ครั้รถึงรัชกาลที่ ๓ จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นสององค์ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเรียกอดีตกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นั่นเอง
๒. พระประธาน โปรดให้หล่อพระประธานแล้วพระราชทานอัญเชิญไปยังพระอุโบสถวัดต่าง ๆ
ก. พระพุทธอนันตคุณ หล่อไว้ตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์อยู่ในพระอุโบสถวัดราชโอรส
ข. พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ หน้าตักกว้าง ๑๐ ศอกใหญ่กว่าพระพุทธรูปที่หล่อในสมัยนั้น
ประดิษฐาน ณ วัดสุทัศน์ ฯ
ค. พระเสรฐฏมุนี ประดิษฐาน ณ วัดราชนัดดา
ง. พระพุทธมหาโลกกภินันท์ ประดิษฐาน ณ วัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี
๓. พระพุทธรูปปาง โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรง
เลือกค้นในคัมภีร์ มีเรื่องพระพุทธประวัติ คัดเลือกพระอิริยาบถปางต่าง ๆ รวมกับปางต่าง ๆ ของเก่า ๔๐ ปาง สร้างพระพุทธรูปปางประดิษฐานไว้ในหอราชกรมานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๔. พระพุทธรูปใหญ่ ทรงสร้างไว้ ๓ องค์ คือ พระพุทธไตรรัตนายก หรือพระโต ประดิษฐาน ณ วัดกัลญาณมิตรและพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรส
๕. ทรงสร้างเครื่องทรงพระแก้วมรกต สำหรับฤดูหนาวขึ้น ๑ ชุด
๖. พระสถูป ที่ทรงสร้างในรัชกาลนี้มี พระสมุทรเจดีย์ พระบรมบรรพต สำเภายานนาวาพระปรางค์วัดอรุณ ฯ โลหประธาน ( ทรงคิดแบบแปลก สร้างขึ้นแทนเจดีย์ที่มีผู้สร้างกันดื่นแล้ว ) พระมหาเจดีย์วัดพระเชตุพน ฯ
อีกประการหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้นิยมการแกะสลักด้วยหินเป็นรูปต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานของช่างชาวจีนทั้งนั้น ซึ่งมีตุ๊กตาหินแกะสลักเป็นรูปงิ้ว สิงโต และยักษ์ใหญ่ยืนถือกระบอง ซึ่งตุ๊กตาหินเหล่านี้มีอยู่ตามวัดพระเชตุพน ฯ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม


วรรณกรรม

ในรัชกาลนี้ วงการกวีและวรรณคดีเฟื่องฟูอยู่ในรัชกาลต้น ๆ และวรรณคดีในรัชสมัยก็มีไม่สู้มากนัก

บทพระราชนิพนธ์
๑. เสภาขุนช้างขุนแผน ทรงพระราชนิพนธ์ตอนขุนช้างขอนางพิมพ์ และขุนช้างจามนางวันทอง
๒. บทละครเรื่องสังข์ศิลปไชย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งยังพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ ทำนองแต่งเป็นกลอนบทละครเพื่อใชเป็นบทละครนอก มีความไพเราะ ใช้สำนวนเจรจาน่าฟัง เรื่องนี้เป็นพระราชนิพนธ์ที่ยาวที่สุด
๓. เพลงยาวรัชกาลที่ ๓ มีกลบทถอยหลังเข้าคลอง กลบทบานบัวคลี่ เพลงยาวกลอนสุภาพ เรื่อพระราชปรารภการจารึกความรู้บนแผ่นศิลา ณ วัดพระเชตุพน ฯ และเพลงยาวกลอนสุภาพเรื่อง ปลงสังขาร เมื่อครั้งทรงพระชวรปลายรัชกาล
โคลงปราบดาภิเษก ใช้ร่ายสุภาพและโคลงสี่สุภาพทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เพื่อยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๒ และบรรยายพระราชพิธีปราบดาภิเษก


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายวาสุกรี ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๓ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๒๙ ในรัชกาลที่ ๑ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย ( ท้าวทรงกันดาร ) ผนวชเป็นสามาเณรเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๔ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๔ ในรัชกาลที่ ๒ เมื่ออุปสมบทได้ ๓ พรรษา ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน ฯ และทรงเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ ในรัชกาลที่ ๓ โปรดสถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงบังคับบัญชาสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเลื่อนพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ งานทางด้านวรรณคดีมีดังนี้

ลิลิตตะเลงพ่าย ใช้ร่ายสุภาพสลับโคลงสุภาพ นิพนธ์ทำนองลิลิต เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระปฐมสมโพธิ์กถา ใช้ร้อยแก้ว มีคาถาบาลีแทรกบ้าง เพื่อสนองพระราชศรัทธาแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีรับสั่งให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตทรงอาราธนา
สรรพสิทธิ์คำฉันท์ ใช้กาพย์และฉันท์ ทรงนิพนธ์เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๓ พระองค์เจ้ากนิษฐาขัตติยกุมาร ( กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ) ทูลอาราธนาให้ทรงนิพนธ์แล้วทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ ๓ ในคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ใช้ฉันท์และกาพย์นิพนธ์เพื่อเป็นสุภาษิตสอนหญิงและเป็นตัวอย่างคำประพันธ์ ฉันท์พระนิพนธ์เรื่องนี้จารึกอยู่ที่วัดพระเชตุพน ฯ ในรัชกาลที่ ๓


สมเด็จกรมพระยาเดชาดิสร พระนามเดิมพระองค์ชายมั่ง ประสูติเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๓๖ เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานิ่ม ทรงรับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ตลอดจนรัชกาลที่ ๒ ทรงกรมเป็นกรมหมื่นเดชาดิสรในรัชกาลที่ ๒ ทรงเลื่อนเป้นกรมขุนในรัชกาลที่ ๓ และทรงกำกับกรมนาอีกกรมหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จไปทัพเวียงจันทร์ทรงนิราศไว้ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิสร ทรงเป็นกรมพระยาในรัชกาลที่ ๕ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๐๔ งานวรรณคดีมีดังนี้

โคลงโลกนิติ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ชำระเมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมขุน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ แล้วจึงจารึกไว้บนแผ่นศิลาวัดพระเชตุพน ฯ ทำนองแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพเพื่อเป็นคติสอนใจ
โคลงนิราศเสด็จเวียงจันทร์ ทรงนิพนธ์เมื่อครั้งยังทรงกรมหมื่น ฯ คราวที่ไปในกองทัพของกรมพระราชวังบวร ฯ มหาศักดิพลเสพในรัชกาลที่ ๓ ใช้แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ


กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายนวม ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๑ ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ ทรงเป็นศิษย์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ในรัชกาลที่ ๓ ได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นวงศาสนิท กำกับกรมหมอ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงเลื่อนเป็นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงกำกับกรมมหาดไทย กรมพระคลังสินค้า และที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๓๙๕ - ๒๓๙๖ เป็นแม่ทัพหลวงยกไปตีเมืองเชียงตุงแต่ไม่สำเร็จ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๔๑๔ งานทางด้านวรรณคดีมีดังนี้

โคลงนิราศพระประธม ทรงนิพนธ์ด้วยโคลงสี่สุภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑ เพื่อเป็นการแสดงความโศกเศร้าต่อนางที่จากมา การแต่งดำเนินตามแบบนิราศทั่วไป
โคลงจินดามณี ทรงใช้โคลงสี่สุภาพและกาพย์นิพนธ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ เพื่อเป็นแบบเรียนภาษาไทย และกาพย์กลอน


พระมหามนตรี ( ทรัพย์ ) มีชีวิตอยู่ถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นแม่กองกำกับตำรวจ แต่งบทละครเรื่อง ระเด่นลันได เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ ( ปาน ) เพลงยาวและโคลงฤาษีดัดตนจารึกวัดพระเชตุพนฯ
ระเด่นลันได ใช้กลอนบทละครแต่งเพื่อล้ออิเหนาโดยเอาเค้าโครงมาจาก เหตุการณ์ที่แขกเลี้ยงวัว และขอทานชิงคู่วิวาทกันต้องขึ้นถึงโรงถึงศาล


คุณพุ่ม เป็นธิดาพระยาราชมนตรี ( ภู่ ) ข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ ๔ อยู่บ้านเป็นแพ อยู่เหนือท่าพระ เมื่อเจริญวัยถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายใน ตำแหน่งพนักงานพระแสงเป็นที่โปรดปรานแต่อยู่ไม่นาน ก็ถวายบังคมลาออกไปอยู่บ้าน มีความสามารถทางบอกสักวา ได้สมญาว่า บุษบาท่าเรือจ้าง เจ้านายและขุนนาวไปติดพันเล่นสักวาอยู่เนือง ๆ มีคารมคมคายนัก
งานทางวรรณคดี บทสักวาของคุณพุ่ม เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ และเพลงยาวสรวงฉลองสระบาวโขนด


คุณสุวรรณ เป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม ( กลาง ) ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน ได้อยู่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพพระราชธิดารัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕
งานทางวรรณคดี มีเพลงยาว จดหมายเหตุเรื่องกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวร บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถและบทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง



Create Date : 30 เมษายน 2550
Last Update : 6 ธันวาคม 2551 7:00:58 น.
Counter : 755 Pageviews.

0 comments

โตมิโต กูโชว์ดะ
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ร่างทรงของ "วรรณวรรธน์" โปรดอย่าถามว่าเป็นใครในอดีต รู้แต่ว่าตอนนี้ยังมีลมหายใจอยู่ เท่านั้นก็มากเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งได้รู้จักกันแล้ว
New Comments
เมษายน 2550

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29