Timshel : Maybe , Maybe not

<<
เมษายน 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
1 เมษายน 2551
 

วิทยาศาสตร์กับศาสนา

ถึงแม้ว่าในอดีต ศาสนาจะต่อต้านวิทยาศาสตร์มาก ดังจะเห็นได้จากการพิพากษาจำคุก Galileo เมื่อเขาเชื่อว่าโลกมิได้อยู่นิ่ง แต่เคลื่อนที่ไปรอบดวงอาทิตย์ แต่เหตุการณ์ในทุกวันนี้ได้แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และศาสนาเป็นมิตรกันมากขึ้น เช่น เมื่อองค์สันตะปาปา John Paul ที่ ๒ ได้ประกาศอภัยโทษให้ Galileo และได้ยอมรับว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin เป็นทฤษฎีที่ควรค่าแก่การฟังมากทฤษฎีหนึ่ง

ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นเล่า สถาบัน National Academy of Science และสมาคม American Association for the Advancement of Science ก็ได้มีโครงการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์หลายโครงการ ทั้งมหาวิทยาลัย Cambridge ของอังกฤษและมหาวิทยาลัย Princeton ของสหรัฐก็ได้มีการจัดตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ผู้มีหน้าที่ผสมผสานความคิดของศาสนากับวิทยาศาสตร์ให้กลมกลืนกัน และแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับรางวัลโนเบล เช่น Charles Townes ก็ได้ออกมาพูดถึงความเชื่อทางศาสนาของเขาทั้งในหนังสือที่เขาเขียน และในโทรทัศน์ เป็นต้น ส่วน Stephen Hawking นักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้ค้นคว้าเรื่องหลุมดำ ก็ได้เคยพูดว่า การศึกษากำเนิดของจักรวาลจะทำให้มนุษย์รู้และเข้าใจพระทัยของพระเจ้า และในการสำรวจความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์อเมริกันต่อความเชื่อในพระเจ้า เมื่อราว ๑๑ ปีก่อนนี้ ก็ได้ผลสรุปว่านักฟิสิกส์และนักชีววิทยาร้อยละ ๔๐ เชื่อในพระเจ้ามาก

ณ วันนี้ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์กำลังรุดหน้าไปทุกขณะ เช่น ได้มีการพบวิธีโคลนนิง GMO และการรู้รหัสพันธุกรรม (genome) ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ ชีวิตและจริยธรรม การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดและแนวปฏิบัติระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนา ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำมาก ดังนั้น ในทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจที่แม้แต่องค์สันตะปาปาก็ทรงต้องการรู้แนวคิดของวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ก็มีความจำเป็นต้องรับทราบแนวคิดของศาสนาเช่นกัน

Pontifical Academy of Science คือสภาวิทยาศาสตร์แห่งองค์พระสันตะปาปา ที่สันตะปาปา Pius ที่ ๑๑ ได้โปรดให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เพื่อถวายคำแนะนำแด่องค์สันตะปาปา ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาและคำตอบสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

สมาชิกตลอดชีพของสถาบันนี้มีทั้งสิ้น ๘๐ คน และต่างก็เป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิก ๒๕ คน ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลเช่น Carlo Rubbia สาขาฟิสิกส์ David Baltimore และ Joseph Murray สาขาแพทย์ เป็นต้น ส่วนนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น Stephen Hawking นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษและ C.N. Rao นักเคมีชาวอินเดีย ก็เป็นสมาชิกของสถาบันนี้เช่นกัน

ในทุกปีสมาชิกจะเดินทางมาประชุมกันที่ Casina Pio Quattro ในกรุงวาติกัน เพื่อแสดงปาฐกถาและรับฟังเรื่องสถานภาพด้านวิทยาศาสตร์ของโลก และเมื่อสิ้นสุดการประชุม ที่ประชุมก็จะทำรายงานถวายองค์สันตะปาปาเพื่อทรงทราบ พร้อมกับถวายข้อเสนอแนะที่จะให้สันตะปาปาทรงสามารถช่วยชาวโลกให้อยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น

ดังนั้น ในการประชุมทุกครั้ง สมาชิกทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และองค์สันตะปาปาก็จะทรงได้รับข่าวล่าสุดและถูกต้องที่สุดจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ระดับเซียน ไม่ว่าจะเป็นด้านดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา พันธุศาสตร์ หรือหัวข้ออะไรก็ตามที่คริสต์ศาสนิกชนสนใจเป็นพิเศษทันที และเมื่อองค์สันตะปาปาทรงใช้วิจารณญาณกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นแล้ว ถ่ายทอดพระดำริของพระองค์สู่ประชาชน คริสต์ศาสนิกชนจะยอมรับหรือต่อต้านเทคโนโลยีด้านนั้นๆ ก็ได้

เมื่อ ๑๐ ปีก่อนนี้ ที่ประชุมของสถาบันได้ประชุมเรื่องด่วน เช่น สภาพแวดล้อมของโลก ปัญหา GMO การวิจัยด้านประสาทวิทยา การให้ทารกดื่มนมมารดา กำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก โคลนนิงและกำเนิดของแกแลกซี เป็นต้น การมีสมาชิกของที่ประชุมเพียง ๘๐คน ทำให้การประชุมกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ และการตัดสินใจสรุปผลใช้เวลาไม่นาน และในการประชุมของสถาบันเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยนักฟิสิกส์ นักชีววิทยา นักเทววิทยา และนักบวช ได้ฟังเรื่องชีววิทยาของสมองพระเจ้ามีจริงหรือไม่ วิวัฒนาการของจักรวาล บทบาทและอิทธิพลของคริสต์ศาสนาต่อการค้นพบกฎต่างๆ ของ Newton และภัยพิบัติอันเกิดจากธรรมชาติ เป็นต้น โดยผู้พูดอาจจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออิตาเลียนก็ได้

ถึงแม้การรับฟังเรื่องราวต่างๆ จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ประชุมสนใจพูดมากคือ นโยบายที่จะเสนอให้องค์สันตะปาปาทรงทำ เช่นเมื่อ ๒๗ ปีก่อน ที่โลกรู้สึกตื่นเต้นกับการพบเทคนิคพันธุวิศวกรรมใหม่ๆ และที่ประชุมคิดว่า คริสต์ศาสนาคงไม่ขัดข้องที่จะมีการวิจัยด้านนี้ และเมื่อองค์สันตะปาปาทรงเห็นด้วย กระแสต่อต้านจากสังคมก็ได้ลดลงมาก

ความเห็นเกี่ยวกับ DNA มิได้เป็นหัวข้อเดียวที่ที่ประชุมเสนอต่อสันตะปาปา ความเห็นเรื่องอื่นๆ เช่น อาวุธนิวเคลียร์ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีสงครามนิวเคลียร์ระเบิด ก็ได้ช่วยให้สันตะปาปาทรงเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีขึ้น ดังนั้น เมื่อสันตะปาปาทรงแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติว่า ศาสนาไม่เห็นด้วยกับการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในการทำสงคราม กระแสต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์จึงยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อ ๑๗ ปีก่อน ที่ประชุมได้เสนอให้สันตะปาปาทรงอภัยโทษ Galileo ซึ่งท่านก็ทรงทำ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์อภัยโทษเกิดช้าไป ๓๗๖ ปี แต่ก็ยังดีกว่าที่สันตะปาปาไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย

และเมื่อการคุมกำเนิดเป็นปัญหาที่วิทยาศาสตร์และศาสนามีความเห็นแตกต่างกัน ดังนั้น ที่ประชุมก็ไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็ได้พูดถึงปัญหาประชากรล้นโลก ซึ่งองค์สันตะปาปาก็ได้ทรงยอมรับว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของโลก

ในที่ประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ประชุมได้พูดถึงการใช้เทคโนโลยี GMO อย่างรับผิดชอบด้วย ซึ่งองค์สันตะปาปาก็ได้ทรงแถลงว่า ในการประเมินคุณค่าของเทคโนโลยี เราต้องคำนึงถึงผลบวกและลบทางเศรษฐกิจและจริยธรรมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของพลโลกในอนาคต และนั่นก็หมายความว่า องค์สันตะปาปาทรงเห็นชอบที่มีการค้นคว้าวิจัยด้าน GMO อย่างมีสติรอบคอบ

และเมื่อการประชุมสิ้นสุด บาทหลวง Poupard ก็ได้กล่าวแถลงสรุปว่า วิทยาศาสตร์และศาสนาจะต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เราก็จะเข้าใจพระเจ้า

ดังนั้น การที่คนบางคนคิดว่า โลกวิทยาศาสตร์กับโลกศาสนาเป็นโลกที่ขนานกัน อย่างที่ถ้านำมาอยู่ด้วยกัน จะทำให้ทั้งสองโลกทำงานไม่ได้ ความคิดเช่นนี้ไม่จริง และไม่ถูกต้อง เพราะ pontifical Academy of Science ได้พิสูจน์แล้วว่า โลกทั้งสองโลกสามารถทำให้โลกมนุษย์ดีขึ้นได้

เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ Gunnar Staalseth บาทหลวงชาวนอร์เวย์ ผู้เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้กล่าวว่า สันตะปาปา John Paul ที่ ๒ มีโอกาสน้อยมากที่จะพิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ เพราะพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการใช้ถุงยางอนามัยในการต่อสู้มหันตภัยเอดส์ ทั้งๆ ที่ ณ วันนี้ทั่วโลกมีคนติดเชื้อ HIV ถึง ๓๖ ล้านคนแล้ว ซึ่งเป็นการผิดศีลธรรม

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ถึงแม้องค์สันตะปาปาจะได้รับคำถวายเช่นไร หรือมากเพียงใดจากนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่อง "มีชัย" พระองค์ก็ทรงมีความเชื่อมั่นในคำสอนของคริสต์ศาสนาที่ว่า การคุมกำเนิดทุกรูปแบบผิดศีลธรรมอยู่นั่นเอง

ดังนั้น การประกาศชื่อของผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จะทำให้เราเข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจของคณะกรรมการรางวัลโนเบลว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับพระดำริของพระองค์ในเรื่องชีวิต และความตายของมนุษย์ด้วยเอดส์

ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์




Create Date : 01 เมษายน 2551
Last Update : 1 เมษายน 2551 18:54:50 น. 2 comments
Counter : 2226 Pageviews.  
 
 
 
 


 
 

โดย: Opey วันที่: 1 เมษายน 2551 เวลา:19:18:09 น.  

 
 
 
funny well
 
 

โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 1 เมษายน 2551 เวลา:20:12:09 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Timshel
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Timshel's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com