"The single best way to grow a better brain is through challenging problem solving." - Eric Jensen (1998), Teaching with the Brain in Mind
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 

เล่นตามกฎก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง

27 มี.ค. 2551



กำลังเป็นกระแสถกกันอยู่ว่า ควรแก้หรือไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญ



โดยส่วนตัว ผมไม่ชอบ รธน. ฉบับนี้มาตั้งแต่แรก เพราะทำให้การเมืองไม่แข็งแรง ที่เห็นชัดเจน คือ วิธีการเลือกตั้ง สส. ที่ให้เลือกเป็นรายบุคคลแทนที่จะเป็นการเลือกแบบยกพรรค

ที่ไม่ชอบอย่างยิ่ง คือ การให้อำนาจอย่างมากมายแก่หน่วยงานที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนเลย อย่างเช่น องค์กรอิสระต่างๆ สว. จากการแต่งตั้ง คณะกรรมการที่ทำหน้าที่แต่งตั้ง สว. เป็นต้น

ผมมองว่าถ้าพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองภาคประชาชนก็จะเข้มแข็งตาม ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลที่ตรงไปตรงมา เพราะอย่างไรเสีย นักการเมืองนั้นต้องได้รับเลือกมาจากประชาชน นักการเมืองต้องอาศัยประชาชนเป็นที่พิงหลัง ถ้าทำอะไรไม่ดี ประชาชนสามารถเขี่ยเขาออกไปได้ตลอดเวลา จะดีจะชั่วอย่างไร เขาก็ยังต้องเกรงใจเราๆ ท่านๆ อยู่บ้าง (ถึงจะน้อยมากก็เถอะ)

นี่เป็นกรอบความคิดอันแรกที่ผมตั้งไว้ในใจก่อนจะคิดเรื่องควรแก้หรือไม่ควรแก้ รธน.



กรอบความคิดอีกอันหนึ่งที่ตั้งเอาไว้ คือ สถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายทุกวันนี้ เป็นการงัดข้อกันระหว่างอำนาจสองกลุ่ม

กลุ่มแรก คือ กลุ่มนักการเมืองและนายทุนรุ่นใหม่

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ทำตัวลอยอยู่เหนือกติกา เป็นกลุ่มขุนนาง ข้าราชการ นายทุนรุ่นเก่า นายทุนกลุ่มที่ขัดกับกลุ่มแรก รวมไปถึงพรรคการเมืองภาคนิยมที่ดูถูกคนในภาคอื่นว่าโง่จนต้องเป็นฝ่ายค้านชั่วนาตาปี สื่อมวลชน และนักวิชาการบางกลุ่ม

ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารและคำโฆษณาชวนเชื่อจากทั้งสองฝ่าย จนสับสนไปหมดว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ใครโกหก ใครจริงใจ

ผมเชื่อว่ามีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรจริงๆ คนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นไม่มีทางรู้ได้ ทำได้แต่เพียงมองจากภายนอกและรับรู้ข้อมูลอย่างผิวเผินเท่านั้น

รวมทั้งผมที่กำลังเขียนอยู่นี้ด้วย

แต่ในเมื่อคนสองกลุ่มนี้ทำอะไรลงไป ย่อมกระทบต่อเราๆ ท่านๆ ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ไม่คิด ไม่สนใจ คงไม่ได้

นักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรก็เพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีใครหวังดีต่อบ้านเมืองจริงเลยสักคน ซึ่งก็ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย คนกลุ่มที่สองจึงอาศัยเรื่องนี้โจมตีคนกลุ่มแรกและดำรงสถานะอยู่ในสังคมได้เสมอมา

แต่เราต้องไม่ลืมว่า คนกลุ่มที่สองนั้นลอยอยู่เหนือการเมืองและกติกา และไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรงเหมือนกับคนกลุ่มแรก ยิ่งคนกลุ่มที่อยู่นอกกติกามีอำนาจมากเท่าไร พรรคการเมืองและประชาชนก็จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น อ่อนแอจนไม่สามารถทำอะไรกับบ้านเมืองของตัวเองได้เลย

ขอให้ท่านลองมองมุมนี้ดูบ้าง และเฝ้าติดตามดูให้ดี



ผมตั้งกรอบความคิดของผมเอาไว้อย่างนี้แล้ว จึงค่อยคิดต่อไปว่า แล้วควรจะแก้ รธน. หรือไม่

ท่านที่ไม่เห็นด้วยกับผมจนถึงบรรทัดนี้ กรุณาอย่าอ่านต่อ เดี๋ยวจะทะเลาะกันเสียเปล่าๆ

แต่หากยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ก็เชิญอ่านต่อเถิดครับ จะได้ถกกัน ปัญญาจะได้เกิดแก่ทั้งตัวท่านและตัวผม โดยเฉพาะตัวผม เพราะสิ่งที่ผมคิดอาจจะผิดทั้งหมดเลยก็เป็นได้ และผมอยากได้ผู้รู้มาชี้แนะเหมือนกัน

ต้องขอเตือนไว้ก่อนว่า ผมเขียนยาวพอสมควร (ที่จริงต้องบอกว่ายาวมาก...)








ประเด็นที่ผมอยากคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า ทำไมจึงรีบร้อนอยากแก้กันนัก และทำไมจึงพูดกันถึงเฉพาะมาตราที่เป็นประโยชน์แก่พวกพ้องตัวเอง

เพราะเรื่องนั้นมันชัดเจนอยู่แล้วว่าทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองแน่นอน ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ผมไม่ได้มีความเห็นค้านแต่อย่างใด เพราะมันไปตรงกับความคิดของผมที่ไม่ชอบ รธน. ฉบับนี้มาตั้งแต่แรก และสิ่งที่จะแก้ก็เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่ามันควรจะต้องแก้จริงๆ ไม่เช่นนั้น คนกลุ่มที่สองจะมีอำนาจมากเหลือเกิน

ประเด็นที่ผมติดใจมีอยู่สองประเด็น

ประเด็นแรก คือ รธน. ฉบับนี้เพิ่งใช้งานมาไม่นาน ยังไม่สมควรแก้

ประเด็นที่สอง คือ ถ้าไม่ชอบ รธน. ฉบับนี้ แล้วมาลงเลือกตั้งกันทำไมตั้งแต่แรก



ประเด็นแรก ผมคิดของผมง่ายๆ ว่า ถ้าของมันห่วย ใช้แล้วไม่ดี ต้องเปลี่ยนหรือต้องซ่อมทันที ไม่ใช่ทนใช้ไปก่อน

สมมติว่าท่านออกรถป้ายแดงมา ขับแล้วปรากฏว่ารถร่อนไปมาเพราะศูนย์ไม่ดี แอร์ก็เสีย เบรคก็มีเสียงดัง ระดับน้ำในหม้อน้ำก็ลดเร็วผิดปกติ แล้วญาติพี่น้องท่านบอกว่า ทนใช้ไปก่อนเถอะ เพราะรถยังใหม่อยู่เลย เพิ่งถอยออกมา ใช้ไปสักพักก่อนแล้วค่อยซ่อม

ท่านควรจะเชื่อญาติของท่านหรือไม่

ถ้าเป็นผม ผมคงไม่รอให้เกิดอุบัติเหตุเสียก่อนหรอกครับ

หลายคนที่ไปลงประชามติรับร่าง รธน. ฉบับนี้ ด้วยความคิดที่ว่า รับๆ ไปก่อน จะได้เลือกตั้งกัน บัดนี้ท่านน่าจะมองเห็นแล้วว่าท่านถูกหลอก และคนกลุ่มที่ลอยตัวอยู่เหนือกติกาก็ได้ใช้ท่านเป็นข้ออ้างในความชอบธรรมของ รธน. บิดเบี้ยวฉบับนี้เรียบร้อยแล้ว



ประเด็นที่สอง กล่าวเป็นทำนองว่า หากไม่ชอบกติกา แล้วลงไปเล่นทำไม

ประเด็นนี้มีหลายตัวอย่างที่ยกมาคุยกันได้

ตัวอย่างแรก สมมติว่าผมเป็นนักเรียน กำลังจะสอบเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัย แต่ผมไม่ชอบวิธีสอบ O-NET A-NET ผมชอบวิธีสอบวัดผลครั้งเดียวแบบสมัยก่อน

ถามว่า ผมสามารถไปร้องขอให้เขาเปลี่ยนกติกาให้ผมได้หรือไม่ หรือผมควรจะรอจนกว่ากติกาจะเป็นไปอย่างที่ผมชอบเสียก่อนจึงค่อยมาสอบ แล้วชาตินี้ผมจะเอาวุฒิการศึกษาที่ไหนไปใช้ทำมาหากิน

ตัวอย่างที่สอง สมมติว่าผมเป็นนักฟุตบอล ผมอยากให้นำภาพช้ามาช่วยในการตัดสิน เพราะสายตาของกรรมการซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาอาจมองไม่ทันในทุกจังหวะ บางครั้งลูกฟุตบอลข้ามเส้นไปแล้วแต่ผมกลับไม่ได้ประตู บางครั้งผมไม่ได้ล้ำหน้าแต่ผู้กำกับเส้นกลับยกธง แต่ฟีฟ่าไม่สนับสนุนให้นำภาพช้ามาช่วยในการตัดสิน เหตุผลหนึ่งคือ ไม่อยากให้เกมสะดุด อีกเหตุผลหนึ่งคือ ความผิดพลาดของมนุษย์เป็นเสน่ห์ของเกมฟุตบอล

(เรื่องนี้มีบางกระแสบอกว่า วงการฟุตบอลและวงการพนันนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น หากเปิดช่องไว้ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้จากการตัดสินของกรรมการแบบนี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองวงการมากกว่า การทำให้การตัดสินยุติธรรมมากขึ้นจึงยังเกิดขึ้นไม่ได้)

ถามว่า ผมควรจะเลิกเล่นฟุตบอลไปจนกว่าเขาจะนำเอาภาพช้ามาช่วยในการตัดสินหรือไม่ หรือควรจะก้มหน้าก้มตาเล่นฟุตบอลหาเงินเลี้ยงชีพต่อไป เล่นให้เก่ง ให้มีชื่อเสียงมากๆ อย่าง มิเชล พลาตินี หรือ ฟรานส์ เบคเคนบาวเออร์ แล้วค่อยหาทางเข้าไปนั่งเป็นประธานฟีฟ่าให้ได้ จากนั้นค่อยแก้กติกาใหม่ให้เกมฟุตบอลมีความยุติธรรมมากขึ้น

บางครั้ง คนเราก็ต้องเล่นตามกติกาถึงแม้รู้ทั้งรู้ว่ามันมีข้อบกพร่อง เมื่อมีโอกาส จึงค่อยหาช่องทางที่จะแก้ไขให้กติกานั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น



ตัวอย่างที่สามเป็นเรื่องของผมเอง เป็นเรื่องจริง ดังนั้นจึงไม่ต้องสมมติ

ที่ภาควิชาพลังงาน ในสถาบันที่ผมกำลังศึกษาอยู่ นักศึกษาระดับปริญญาเอกต้องลงเรียนวิชาที่เรียนในห้องเรียนอย่างที่เรียกกันว่า คอร์สเวิร์ค หลายหน่วยกิต ปีที่ผมเข้าเป็นปีแรกที่ภาควิชาเพิ่มคอร์สเวิร์คจาก 18 หน่วยกิต เป็น 24 หน่วยกิต คิดแล้วก็ตกประมาณ 9 วิชา (เพราะมีทั้งวิชาที่มี 2 และ 3 หน่วยกิต) ที่ต้องลงเรียนภายใน 2 ภาคการศึกษา

ผมเห็นหลักสูตรแล้วผมก็ไม่ชอบใจ เพราะเห็นว่ามันมากเกินเหตุ การเรียนในระดับ ป. เอก ควรเน้นไปที่การค้นคว้าวิจัย ไม่ใช่เน้นการเรียนในห้องเรียนหนักขนาดนี้ บางวิชาที่จำเป็นต่อการทำวิจัยอย่างเช่น คณิตศาสตร์ขั้นสูง วิทยาศาสตร์เชิงลึก หรือการออกแบบวิธีทดลองนั้น อาจจำเป็นต้องเรียนเพิ่มในห้องเรียน แต่ก็ไม่น่าจะเกิน 4 ถึง 6 วิชา ไม่ใช่ 9 วิชาอย่างที่เป็นอยู่

เทียบกับเมื่อตอนเรียน ป. โท ที่เมืองฝรั่ง ผมเรียนคอร์สเวิร์ค 7 วิชา 21 หน่วยกิต ภายใน 3 ภาคการศึกษา

ผมจึงเห็นว่าที่นี่เรียนคอร์สเวิร์คกันหนักเกินไป

แล้วผมควรจะทำอย่างไร ประท้วง ยื่นหนังสือร้องเรียน หาที่เรียนใหม่ที่เข้มข้นน้อยกว่า...

ถ้าผมเลือกทางเลือกเหล่านั้น มันจะมีช่องโหว่อยู่ช่องหนึ่งที่ผมจะถูกโจมตีได้ คือ เขาจะปรามาสเอาได้ว่า ก็เพราะผมไม่เก่งจริงน่ะสิ ถึงได้รำไม่ดีโทษปี่โทษกลองอย่างนี้ คนอื่นเขาไม่เห็นโวยวายอะไร

สิ่งที่ผมเลือกทำ คือ ผมตั้งใจเรียนตามกติกาที่ผมไม่เห็นด้วยนี้อย่างเต็มที่ เพื่อตัดประเด็นเรื่องความสามารถของตัวเองออกไป

ผลลัพธ์คือ ผมได้ เอ ทุกวิชาที่ผมลงเรียน

จากนั้น ผมก็เขียนหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อจำนวนหน่วยกิตของคอร์สเวิร์คที่มากเกินไปนี้ ส่งถึงคณบดีที่ดูแลภาควิชา

ปีต่อมา ภาควิชาได้ลดจำนวนหน่วยกิตของคอร์สเวิร์คลงเหลือ 18 หน่วยกิตตามเดิม

ผมไม่แน่ใจว่าความคิดเห็นของผมมีน้ำหนักต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน หรือมีนักศึกษาคนอื่นที่ร้องเรียนแบบผมอีกสักกี่คน แต่ผมถือว่าผมสามารถวิจารณ์กติกาได้อย่างชอบธรรม เพราะผมได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผมเล่นตามกติกานั้นแล้วผมก็สามารถเอาชนะได้ ความสามารถของผมมีมากพอที่จะวิจารณ์กติกานั้นได้อย่างเต็มปาก



กลับมาที่เรื่องเดิม คือ ถ้าเห็นว่า รธน. ฉบับนี้ไม่ดี แล้วมาลงเลือกตั้งทำไม

ผมมองในมุมของผมว่า ถึงไม่ชอบ แต่มันไม่มีทางเลือก ต้องเล่นตามกติกาไปก่อน ทั้งที่รู้ว่ากติกามันบิดเบี้ยว (แถมกรรมการตัดสินทั้งหมดยังอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันเสียอีก)

สิ่งสำคัญคือ ต้องเล่นให้ชนะ เพื่อให้สามารถกลับมาแก้กติกาให้บิดเบี้ยวน้อยลงทีหลังได้อย่างชอบธรรม

ต้องยอมรับความจริงว่า จะให้แก้โดยไม่เอื้อประโยชน์ส่วนตนเลยคงไม่ได้ เพราะนักการเมืองอย่างไรก็ยังคงเป็นนักการเมืองอยู่วันยังค่ำ

เพียงแต่ตอนนี้ คนกลุ่มที่ต้องระวังมากกว่าคือ คนกลุ่มที่ลอยตัวอยู่เหนือกติกาต่างหาก เพราะเขาไม่ได้มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลย เขาทำอะไรก็ไม่ต้องเกรงใจประชาชน ถ้าเขาทำผิด เราๆ ท่านๆ จะไปลงโทษเขาได้อย่างไร จะไปเข้าชื่อถอดถอนก็ไม่ได้ จะไม่ไปลงคะแนนเลือกเขาเข้าสภาอีกก็ไม่ได้

ถ้าเนื้อหาของ รธน. ยังคงเป็นอยู่อย่างนี้ คนกลุ่มนี้จะมีอำนาจมากเกินไป ซึ่งผมคิดว่าอันตรายกว่าคนกลุ่มที่เรายังพอมีสิทธิ์เลือก








ขณะที่เขียนรำพึงรำพันอยู่นี้ ในใจก็สำเหนียกอยู่ตลอดเวลาว่าคงจะทำได้แค่บ่น และแสดงความคิดเห็นในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของประเทศ จากนั้น ก็คงต้องนั่งมองตาปริบๆ ติดตามเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มนี้ต่อไปโดยมีประเทศชาติเป็นเดิมพัน

อีกอย่างหนึ่งที่อาจยังพอทำได้และได้ทำก่อนนอนอยู่ทุกคืน คือ สวดมนตร์ภาวนาให้คนทั้งสองกลุ่ม หากจะคิดตัดสินใจทำอะไรลงไป ขอให้นึกถึงประชาชนและประเทศชาติเอาไว้ให้ได้สักครึ่งหนึ่งของที่อ้างกันก็ยังดี...




 

Create Date : 27 มีนาคม 2551
11 comments
Last Update : 28 มีนาคม 2551 8:00:15 น.
Counter : 1105 Pageviews.

 

ตอนนี้บอกได้แค่ว่าติดตามข่าวสารเท่าที่พอจะทำได้
เพราะว่าให้ติดตามมากๆ เกิดความรู้สึกว่า
"เอ่อ แล้วมันจะเป็นยังไงต่อไป "
เพราะมันจะเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไป อยากให้มัน จบ อยากให้มันเปลี่ยน แต่เมื่อไหร่ล่ะคะ ...


เป็นพวกอยากเห็นสังคมและส่วนรวมดีขึ้นจริงๆ
เพราะเห็นเรื่องราวหนักหนาแบบนี้ทีไร เป็นได้คิดว่า
แล้วเมื่อก่อนเราทำไมอยู่กันด้วยความสงบสุขได้
แล้วทำไม "ตอนนี้ล่ะมันถึงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิมหนอ"

 

โดย: JewNid 27 มีนาคม 2551 15:22:05 น.  

 

^
^
คุณ JewNid... เป็นไปได้ว่า เมื่อก่อนข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้กระจายไปทั่วถึงและรวดเร็วเหมือนทุกวันนี้ อะไรที่มันมีอยู่ในสังคมมานานแล้ว เราถึงไม่เคยรู้ และคิดว่ามันเพิ่งมีมาไม่นานนี้

ผมเองก็เพิ่งรู้เหมือนๆ กับคนอื่นนั่นแหละครับ

ที่สำคัญ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรารู้และเข้าใจมันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่านี่สิ


ผมก็เขียนบ่นๆ ไปอย่างนั้นแหละครับ แค่อยากจะจดเอาไว้ว่า ณ วันนี้ เรามองเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร วันหน้าจะได้ย้อนกลับมาอ่านได้ว่ามุมมองความคิดของเรามันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ก็เท่านั้น

เห็นว่าในบล๊อกแกงคุยกันได้สันติดี ไม่ค่อยมีทะเลาะกันสักเท่าไร ก็เลยมาจดไว้ในนี้ด้วย เพราะผมอยากรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรเหมือนกันน่ะครับ

ตอนเขียนนี่ไม่เครียดนะครับ แต่ผมเขียนหนังสือทีไรก็ดูเหมือนเครียดไปเสียทุกที


บ่นเสร็จแล้วก็ไปเปิดหนังดูดีกว่า เพิ่งไปซื้อ "รักแห่งสยาม" กับ "The Warlords" มาด้วย

 

โดย: คนทับแก้ว 27 มีนาคม 2551 20:56:07 น.  

 


ผมเป็นคนง่ายๆครับ ยังไงก็ได้ อยู่แบบไม่เครัยด

แต่อ่านบลีอกของคุณทส แล้วก็ถูกใจ

เรื่องที่เขียนนี้ไม่ว่าของคุณทส และของผม คงจะอยู่ยืนยาว จนพวกเรามีอายุ 70..80..90..100 แหล่ะ

ดีแล้วจะได้บอกจุดยืนของเราให้ลูกหลานรู้

 

โดย: yyswim 27 มีนาคม 2551 22:30:15 น.  

 

คิดเหมือนกันตรงที่ว่าเวลาคนสองกลุ่มมีปัญหากันคนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน

เวลามีปฏิวิติ รัฐประหารอะไรก็ตามแต่ มีผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยว

คนทำงานโรงแรมแบบค้างคาวก็โดนทุกครั้ง

มากบ้างน้อยบ้าง

แผ่นดินไหว ซึนามิ เหตุการณ์นองเลือด กระทบหมด

แค่เหตุการณ์จากภัยธรรมชาติก็พอแล้ว

หากมาแถมด้วยภัยจากการเมืองอีก

ไม่รู้จะว่าอย่างไรดี

ตอนนี้ก็ได้แต่ติดตามข่าวสารไปวันๆนึง

ไม่ได้เชียร์ใคร แต่ก็ไม่เกลียดใคร

มองไปก็ยังนึกไม่ออกว่า ใครจะมาดูแลประเทศ แล้วสงบบ้าง

เพลงชาติที่ว่าไทยนี้รักสงบ.......ตอนนี้เป็นจริงหรือเปล่าคะ





 

โดย: Batgirl 2001 28 มีนาคม 2551 14:18:59 น.  

 

+ ผมมองว่ามันค่อนข้างจะเป็น 'ปัญหาโลกแตก' อ่ะครับ จารย์ทส สำหรับเรื่องนี้ เพราะมันเป็นระบบที่เป็นแบบนี้สืบเนื่องต่อเนื่องกันมานานแล้ว และก็ยังมีท่าทีจะต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เสียอีกด้วย และหลายๆ เรื่องสาเหตุเกิดจาก 'ระบบ' อีกหลายเรื่องก็เกิดจาก 'คน' ... แต่ปัญหาในเรื่องนี้มันเป็นทั้งที่คน (นักการเมือง - บุคคลในชนชั้นอำมาตยาธิปไตย - ไล่ไปจนถึงชาวบ้านผู้หย่อนบัตรเลือกตั้ง) และระบบ (รัฐธรรมนูญ - กติกาการเลือกตั้ง) รวมกันอ่ะครับ

+ รากเหง้าของปัญหาทั้งหมด สาเหตุหลักอย่างนึงก็คือ การคอรัปชั่น & การซื้อเสียง นั่นแหละครับ ทำให้ต้องเกิดการโกงกินและถอนทุนตามมา ... เราก็เลยได้มาแต่นักการเมืองห่วยแตกซะเป็นส่วนใหญ่ คนดีๆ ก็ไม่อยากเข้าสู่ระบบการเมือง (เพราะอาจกลาเป็นคนเลวไปได้)

+ ส่วนหัวข้อนี้ของจารย์ทส มองๆ ไปก็เหมือนงูกินหางตัวเองเนาะครับ กติกาทำมาเพื่อบอนไซนักการเมือง (เลวๆ) ในขณะที่นักการเมืองกลุ่มที่ว่าก็กลับจ้องแก้ไขกติกา (ซึ่งคงจะทำเพื่อตัวเองเป็นหลัก และ (อ้างว่า) เพื่อประชาชนเป็นน้ำจิ้ม

+ ถ้านักการเมืองในสภา ณ ขณะนี้ ไม่ใช่กลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกติกาโดยตรง การแก้ไขอะไร ก็คงน่าตะขิดตะขวงใจน้อยกว่านี้อ่ะครับ

+ จริงๆ ผมเบื่อการเมืองไทยเหมือนกันนะครับ เพราะตามชนบท ไปดูได้เลย ส่วนใหญ่ก็ยังมีการซื้อเสียงเหมือนเดิมทั้งนั้น ชาวบ้านยังเคยชินกับระบบแจกเงินและหัวคะแนนแบบเดิมๆ นักเลือกตั้งทั้งหลายก็เลยต้องทำเหมือนเดิม ... เมื่อไหร่หนอ การเมืองไทยถึงจะเลิกน้ำเน่า และพัฒนาไปกว่านี้ซะทีอ่า

+ อยากบ่นมากกว่านี้เหมือนกันครับ แต่เด๋วจะเบรกแตก ขอสั้นๆ (เหรอ?) เพียงเท่านี้ก่อนแล้วกันครับผม

+ อ้อ! ผมอัพหน้าใหม่แล้วเช่นกัน รอบนี้ก็เป็นเรื่องหนักๆ หัวอีกด้วย (แต่ไม่ใช่การเมือง เป็นแนวเชิงปรัชญา มากกว่า) ถ้าจารย์ทสมีเวลาว่าง เชิญแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้นะครับผม

 

โดย: บลูยอชท์ 28 มีนาคม 2551 19:48:16 น.  

 

เหนื่อยใจกับการเมืองช่วงนี้ค่ะ อย่าเพิ่งทะเลาะกันเล๊ย เอาเวลามาแก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงจะดีกว่า เมื่อวานไปซื้อข้าวสาร ราคาขึ้นเป็นกระสอบละพันสามแล้วอ่า อะไร ๆ ก็ขึ้นราคา ช่วยด้วย!!!!

 

โดย: คุณย่า 29 มีนาคม 2551 7:00:10 น.  

 

คุณคนทับแก้วคะ

เราเพิ่งไปงานหนังสือ ได้หนังสือใหม่คุณวินทร์มาสองเล่ม
สืบสวนชื่อ "ฆาตกรรมจักรราศี" ของพุ่มรัก พานสิงห์
และหนังสือ "เดินไปให้สุดฝัน" (อันนี้ยังไม่ได้อ่าน)

จำได้ว่าคุณก็อ่านหนังสือคุณวินทร์ แนะนำๆ

 

โดย: แพนด้ามหาภัย 31 มีนาคม 2551 1:33:29 น.  

 

ผมว่าการแก้ รธน. มาตรา 237 และ 309 เด็กๆ หลายคนที่ฟังข่าว ยังต้องร้องถาม "เขาแก้ทำไม" จะไปอธิบายให้พวกเขาฟังก็กระไรอยู่

ก็เห็นๆอยู่ ว่าเป็นการแก้เพื่อ "ผลประโยชน์บางประการ"
ที่ฝ่ายรัฐบาลที่ใช้ข้ออ้างตนว่า ได้รับเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม( รึเปล่า?) ฝ่ายรัฐบาลมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
อย่างที่อาจารย์ว่า จะแก้ตัวก็ไม่ขึ้น

แล้วก็ตามที่ คุณบลูยอชท์ว่า รากเหง้าของเรื่องวุ่นวายทั้งหมด ก็มากจากการซื้อเสียง การทุจริต เท่านั้นเอง ตามชนบท ต้องยอมรับว่า การซื้อเสียงยังมีอยู่ทั่วไป ทั้งการเมืองระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ซึ่งถ้ามองให้ดีๆ ผมว่า ที่เป็นแบบนี้ เพราะประเทศไทยประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาที่ทั่วถึง เพียงพอที่ประเทศไทยจะใช้ ระบอบประชาธิปไตย ปกครองประเทศได้ กลายเป็นว่า ประชาธิปไตยกลายเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของรัฐบาลเข้าตัวเองไปเสีย

เสียงของโจร 5 คน กับ เสียงของพระ 1 รูป โจรอาจจะชนะในด้านจำนวน แต่ในด้านคุณภาพยังสู้พระไม่ได้อยู่ดี
(อันนี้แค่เปรียบเทียบครับ) ประชาธิปไตยในบ้านเรายังเป็นแบบ เอาจำนวนเข้าว่า ไม่ได้คิดถึงคุณภาพของ คะแนนเสียง ของบุคคลเลย
สำหรับตัวผม คิดว่า ระบอบ สังคมนิยม ยังเหมาะกับประเทศไทยในตอนนี้มากกว่า เพราะการปรับคุณภาพของประชากรให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญของประชาธิปไตยนะครับ ในชาวบ้าน มีความรู้ด้านประชาธิปไตย เทียบเท่ากับคนชั้นกลาง พอวิเคราะห์การเมืองได้ ไม่ใช่แบบ เงินมาก็กาไป

ผมเขียนงงไปรึเปล่าเนี่ย เพราะตัวเองก็ยังงงๆเหมือนกัน

 

โดย: Yugo 1 เมษายน 2551 0:04:16 น.  

 

นั่นสิคะ อะไร ๆ ก็ขึ้นราคา น่ากลัวมั่ก ๆ คุณย่าบังคับให้ลูกชายกินข้าวให้หมด ห้ามเหลือแม้แต่เม็ดเดียว สงสัยโตขึ้นเจ้าเก็ตต้องงกเหมือนแม่มานแน่เลย
หวังว่าเรื่องร้าย ๆ ที่อาจารย์คิดก่อนนอนคงไม่เกิดขึ้นนะคะ แค่นี้ประเทศชาติก็ย่ำแย่สุด ๆ แล้ว

 

โดย: คุณย่า 1 เมษายน 2551 6:21:40 น.  

 

^
^
คุณ Yugo... อ่านแล้วไม่งงครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าปัญหาวุ่นวายที่เกิดขึ้น มีวิธีแก้หลักๆ อยู่วิธีเดียว คือ "การศึกษา" ครับ

ไม่ได้หมายถึงการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น แต่สื่อโดยรวมทั้งหมดต้องเพื่อเสริมสร้างปัญญาด้วยกันทั้งหมด

แต่เห็นละครแย่งผัวแย่งเมียเต็มจอไปหมด บอกตรงๆ ว่า หมดหวังครับ (แย่งผัวแย่งเมียกันมาตั้งแต่ยุค นางทาส จนถึงยุคโลกาภิวัตน์ก็ยังแย่งกันอยู่... กลุ้มๆๆ )

 

โดย: คนทับแก้ว 1 เมษายน 2551 19:37:25 น.  

 

ต้องรู้ก่อนว่าประชาธิปไตยคือตนเองมีสิทธิทำอะไรก็ได้แต่ก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นและอย่าทำให้การใช้สิทธิ์ของเรานั้นทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ปิดถนน ปิดโรงเรียนฯลฯ ผู้อื่นเดือดร้อนไหม นะก็คิดดู ชุมนุนได้ ต้องไม่กระทบการจราจร ทำแล้วบอกว่าเพื่อประชาธิปไตย จริงหรือเปล่าคิดดูเอง เราต้องสู้ในระบอบประชาธิปไตยในสภา แต่ต้องให้ผมเป็นฝ่ายรัฐบาลนะถึงจะพูดแบบนี้ เฮ้อไม่มีใครดีใครเลวหรอกครับมันอยู่ที่ว่าใครเป็นรัฐบาลใครเป็นฝ่ายค้าน อยู่กันไม่ถึง 100ปีหรอกครับทำดีไว้จะได้สบายในโลกหน้า วันนี้เป็นผลของเมื่อวานพรุ่งนี้เป็นผลของวันนี้ สาธุ

 

โดย: อมิตพุทธ IP: 202.176.81.8 14 พฤศจิกายน 2556 9:35:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


คนทับแก้ว
Location :
นครปฐม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






ศิลปิน: เฉลียง
เพลง: หวาน
ชุด: ปรากฏการณ์ฝน
ปี: 2525



Friends' blogs
[Add คนทับแก้ว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.