"The single best way to grow a better brain is through challenging problem solving." - Eric Jensen (1998), Teaching with the Brain in Mind
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
30 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

ควันหลงจากสัมมนาวิกฤติโลกร้อน

29 ก.ย. 2550



เมื่อวานนี้ (ศุกร์ 28 ก.ย. 2550) ผมได้ไปฟังสัมมนาวิชาการเรื่อง "วิกฤติโลกร้อน ความไม่พร้อมของประเทศไทย" ซึ่งจัดโดย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่โรงแรมเอเซีย

วิทยากรในงานนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน นอกจากนี้แล้ว การเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผมก็เลยไม่พลาด

การจัดสัมมนาในเชิงวิชาการแบบนี้ ผมว่าดี เพราะเราจะได้ทราบถึงสาเหตุ ผลกระทบ และวิธีการแก้ไขและป้องกันปรากฏการณ์โลกร้อน โดยที่มีผลการศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ ถึงแม้บางเรื่อง ประชาชนชาวบ้านทั่วๆ ไปอาจจะไม่เข้าใจถ่องแท้นัก (แม้กระทั่งผมเองที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ก็ยังเข้าใจได้ไม่หมด เพราะอย่างไรเสีย เราก็ไม่มีทางรู้ลึกได้เท่ากับวิทยากรที่เขาชำนาญเฉพาะด้าน) แต่การนำเสนอในเชิงวิชาการที่ย่อยให้ง่ายลงบ้างแล้วแบบนี้ ย่อมจะดีกว่าการออกมารณรงค์ให้ช่วยกันทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไม

ผู้ที่กล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อเปิดงานในตอนเช้า ได้แก่ ศ. ระพี สาคริก เนื้อหาโดยสรุปก็คือ การสอนอะไรให้ใคร ต้องเป็นการสอนให้ คิดเองเป็น รู้เองเป็น ไม่เช่นนั้นก็จะต้องสอนกันอยู่ร่ำไป อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงความคิดหรือพฤติกรรมของคนอื่นนั้นทำได้ยากหรืออาจจะทำไม่ได้เลย คนที่เราจะเปลี่ยนแปลงได้มีเพียงคนเดียวคือตัวเราเอง เพราะฉะนั้น หากจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

วิทยากรท่านแรก คือ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ท่านนี้บรรยายถึง โรคระบาด ที่อาจจะครอบคลุมบริเวณกว้างขวางขึ้นและรุนแรงขึ้น บางตัวอย่างที่คุณหมอยกขึ้นมาก็เช่น มีค้างคาวที่เป็นพาหะของโรคชนิดหนึ่งบินข้ามมาจากออสเตรเลียเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย เมื่อเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในมาเลเซียซึ่งรุนแรงกว่าในอดีตเพราะความแห้งแล้งจากการที่บรรยากาศของโลกร้อนขึ้น ค้างคาวบางส่วนก็บินอพยพเข้าสู่อินโดนิเซีย พม่า รวมทั้งไทย ทำให้พื้นที่ที่เกิดโรคระบาดกินบริเวณกว้างขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่ง คุณหมอพูดถึงยุงที่เป็นพาหะของหลายโรคเริ่มแพร่ขยายกินบริเวณขึ้นไปยังเขตที่เคยเป็นเขตหนาวเพราะโลกมันร้อนขึ้น

วิทยากรสามท่านต่อมา ได้แก่ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผศ.ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ และ รศ.ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ท่านแรกกล่าวถึง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤติโลกร้อนต่อ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ท่านที่สองกล่าวถึง ผลกระทบที่มีต่อ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ส่วนท่านที่สามกล่าวถึง ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ สมมติว่าถ้าอุณหภูมิของโลกทั้งโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิของแผ่นดินจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเล (เพราะน้ำบริเวณผิวหน้าของทะเลจะระเหยออกไปได้อยู่ตลอดเวลา พื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นดิน รวมทั้งความสามารถในการอมความร้อนของแผ่นดินมีค่าสูงกว่าน้ำ) ดังนั้น ลมที่พัดจากทะเลเข้าหาชายฝั่งก็จะรุนแรงมากขึ้นและอาจเกิดถี่ขึ้น ฝนจะตกหนักขึ้น พายุจะรุนแรงขึ้น น้ำท่วมก็จะตามมา ถ้ายังพอจะจำวิทยาศาสตร์สมัยมัธยมได้ ลมทะเลนั้นเกิดจากการที่อากาศร้อนเหนือแผ่นดินลอยตัวสูงขึ้น แล้วอากาศเหนือผิวน้ำทะเลที่เย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่ ดังนั้น ถ้าอุณหภูมิอากาศเหนือแผ่นดินและผิวน้ำต่างกันมากขึ้น ลมก็จะแรงมากขึ้น

วิทยากรท่านสุดท้าย คือ ผศ.ดร. จิรพล สินธุนาวา หัวข้อที่บรรยายเป็นเรื่องเกี่ยวกับ นโยบายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นด้านที่ผมทำงานอยู่ ยิ่งอาจารย์ท่านเป็นคนพูดสนุก พูดตรงไปตรงมาจนเกือบๆ จะเป็นขวานผ่าซากด้วยแล้ว ก็เลยทำให้วิทยากรท่านนี้เป็นท่านที่พูดแล้วฟังสนุกที่สุด ผมก็เลยจะขอสรุปประเด็นที่อาจารย์ท่านนี้บรรยายมาให้ได้อ่านกันมากเป็นพิเศษ



ตั้งแต่เด็ก เราก็ท่องกันมาว่า อากาศประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจนประมาณ 78% ก๊าซออกซิเจนประมาณ 21% ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 0.03% ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซชนิดอื่นๆ

ก๊าซ CO2 นี้ เราทราบกันดีว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวหลักเพราะเป็นตัวที่มีปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ เช่น มีเทน หรือไนตรัสออกไซด์ ตัวเลข 0.03% ก็เท่ากับ 300 ส่วนในล้านส่วน หรือ 300 ppm (Part Per Million) นั่นเอง ตัวเลขนี้เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ตามวัฏจักรของโลกแต่ก็ไม่มากนัก เฉลี่ยแล้วยังคงอยู่ที่ประมาณ 300 ppm จากการวิจัยพบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2293 (เกือบจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองอยู่แล้ว) ระดับก๊าซ CO2 มีค่าประมาณ 280 ppm

แต่พอมาถึงปัจจุบัน ณ ปี พ.ศ. 2550 นี้ ระดับก๊าซ CO2 เพิ่มมาอยู่ที่ 383 ppm แล้ว ควบคู่ไปกับการที่อุณหภูมิบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้นมา 0.6 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับเมื่อปี พ.ศ. 2293

จุดที่จะต้องกลัวก็คือ เมื่อระดับก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 450 ppm ซึ่งคาดว่าจะสัมพันธ์กับ อุณหภูมิบรรยากาศของโลกที่จะเพิ่มขึ้น 2 องศา เหตุที่จะต้องกลัวก็เพราะว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไปถึงขนาดนั้น จะเป็น จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เพราะคาดกันว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายหมด เมื่อละลายหมดแล้ว ก็ไม่สามารถสร้างมันกลับมาได้อีก

ฟังดูน่าขนลุกถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้

แล้วอีกกี่ปีระดับ CO2 จะสูงถึง 450 ppm?

ก๊าซ CO2 สามในสี่ส่วนมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจำพวกน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ อีกหนึ่งส่วนมาจากไฟไหม้ป่าซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้ระดับก๊าซ CO2 ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นปีละ 6 ppm

นั่นเท่ากับว่า นับจากวันนี้ไปอีกแค่ประมาณ 11 ปีกว่าๆ เท่านั้นเอง!

เร็วจนน่าตกใจ

อาจารย์จิรพลยังได้กล่าวถึงมาตรการในการรับมือกับภาวะโลกร้อนเอาไว้ 3 มาตรการ

มาตรการแรก ได้แก่ การป้องกัน ซึ่งอาจารย์บอกว่า สายไปแล้ว ทำอะไรไม่ทันแล้ว เพราะถ้าจะป้องกันจะต้องเริ่มทำตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ถ้าทุกคนบนโลกต้องการที่จะหยุดระดับ CO2 เอาไว้ตรงนี้ จะต้องพร้อมใจกัน ลดการใช้พลังงานลง 85%

แทบจะเป็นไม่ได้เลย

เคยเปิดไฟสิบดวงจะต้องเปิดแค่ดวงกว่าๆ

เคยเปิดแอร์สิบชั่วโมงจะต้องเปิดแค่ชั่วโมงครึ่ง

และถึงจะหยุดระดับ CO2 ในบรรยากาศให้นิ่งอยู่ตรงนี้ได้จริง ผลแห่งกรรมที่คนรุ่นนี้ได้ทำไว้ก็จะยังส่งผลกระทบต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลานเหลนโหลน เพราะก๊าซ CO2 จะค้างอยู่บนบรรยากาศต่อไปได้อีก 200 ปี!

เมื่อมาตรการแรกทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็เหลืออีกสองมาตรการคือ การเตรียมตัวรับมือ และ การปรับตัว ต่อความเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งว่ากันสั้นๆ ก็มีดังนี้

- น้ำแข็งขั้วโลกและน้ำแข็งบนภูเขาละลาย บนแผ่นดินก็จะเกิดภัยแล้งเพราะน้ำในแม่น้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะบนภูเขาลดลง ซึ่งแม่น้ำโขงที่มีที่มาจากเทือกเขาหิมาลัยก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบ

- ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น เพราะน้ำที่เคยเป็นน้ำแข็งอยู่บนแผ่นดินจะไหลลงไปอยู่ในทะเลแทน

- การเกิดคลื่นความร้อนหรือ Heat Wave ซึ่งเป็นภัยพิบัติในยุโรปและอเมริกามาหลายปีแล้ว

- ฤดูหนาวจะสั้นลง ฤดูร้อนจะยาวนานขึ้น

- การเกิดฝนตกหนักเฉพาะที่

- การเกิดภัยแล้งและไฟป่าที่เพิ่มมากขึ้น

- การเกิดโรคระบาด ทั้งสายพันธุ์แปลกๆ ใหม่ๆ ทั้งความรุนแรงที่จะเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่ที่เกิดการระบาดจะกว้างขวางขึ้น

- การอพยพและถิ่นฐานของสัตว์จะเปลี่ยนไป เช่น สัตว์เขตร้อนที่ถิ่นเดิมจะร้อนขึ้นก็อาจจะอพยพขึ้นไปรุกล้ำเขตหนาวซึ่งอุ่นขึ้น แล้วก็อาจจะเกิดการต่อสู้แย่งถิ่นฐานกัน ถ้ารุนแรงมาก สัตว์บางชนิดก็อาจจะสูญพันธุ์ไปเลย ส่วนแมลงที่ปรับตัวได้ดีกว่าสัตว์ใหญ่ก็จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

- การฟอกขาวของปะการัง ซึ่งหมายถึงการที่สาหร่ายเซลล์เดียวที่เคยอาศัยอยู่บนปะการังผละออกไป เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นและไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป ในที่สุด ปะการังก็จะตาย สัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศก็จะต้องได้รับผลกระทบตามไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ อาจารย์จิรพลยังมีแนวความคิดที่ว่า นโยบายด้านพลังงานจะต้องเปลี่ยนไปแบบชนิดที่เรียกว่ากลับตาลปัตรเลยทีเดียว คือ แทนที่จะมาวางนโยบายในลักษณะที่จะต้องจัดหาพลังงานมาให้พอเพียงต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอีกห้าปี สิบปี หรือยี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการที่จะต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านหรือการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็จะต้องไปวางนโยบายในการลดการใช้พลังงานลงให้เหมาะสมกับความสามารถในการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่แทน ซึ่งถ้าบริหารจัดการดีๆ โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ จะสามารถปิดไปได้หลายโรงเลยทีเดียว

แต่นั่นก็หมายถึงรายได้ของรัฐที่จะลดลงด้วย ซึ่งก็เลยทำให้เกิดการลักลั่นอยู่พอสมควร

การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายออกไปทั่วประเทศ ในลักษณะที่ว่า "ใช้ที่ไหน สร้างที่นั่น" โดยใช้แหล่งพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล ก็จะช่วยลดความสูญเสียในระบบสายส่งจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องส่งจ่ายทั่วทั้งภูมิภาคได้มาก รวมทั้งลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าลงได้อีกด้วย

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนในแง่ของพลังงานได้ดีที่สุดก็คือ การลดปริมาณการใช้พลังงาน



ทุกวันนี้ยังคงมี สองฝ่าย ที่ยังถกเถียงกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งก็คือ ฝ่ายที่เชื่อแน่ว่ามนุษย์เป็นผู้ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นผิดปกติอย่างทุกวันนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเพียงวัฏจักรร้อนเย็นที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาของโลก ซึ่งมีวงรอบประมาณแสนกว่าปี ดังนั้น ไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไร ทำมาตรการลดภาวะโลกร้อนกันจริงจังแค่ไหน โลกก็จะยังคงร้อนขึ้นอยู่นั่นเอง

ใครจะเชื่ออย่างไรก็ตามใจครับ ผมเองก็ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นมายืนยันด้วยกันทั้งคู่

แต่ถ้าคิดกันง่ายๆ การประหยัดน้ำมัน ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้านั้น ทำให้เราสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้แน่นอน แค่นี้ก็น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เราลงมือทำสิ่งเหล่านี้แล้ว

แต่ถ้าท่านคิดว่า "แค่นี้ ฉันมีปัญญาจ่าย อย่ามายุ่ง เงินก็เงินของฉัน" ก็ต้องแล้วแต่ท่าน

ถ้าเกิดนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหลังเป็นฝ่ายถูก ท่านก็รอดตัวไป

แต่ถ้าเกิดนักวิทยาศาสตร์กลุ่มแรกเป็นฝ่ายถูก ก็หมายความว่า ท่านกำลังทำบาปทำกรรมต่อลูกหลานของท่านเอง เพราะต้องไม่ลืมว่าก๊าซเรือนกระจกมันจะอยู่อย่างนั้นไปอีกกว่าสองร้อยปี

ระวังลูกหลานมันจะก่นด่าโคตรเหง้ามันเอาได้

หรือดีไม่ดี เราๆ ท่านๆ เองนั่นแหละ ที่จะต้องวนเวียนไปเกิดใหม่แล้วก็เจอกับผลกรรมของตัวเอง



ของฝากสุดท้ายด้านล่าง เป็น 10 ปฏิบัติการลดภาวะโลกร้อน ที่ทาง กรุงเทพมหานคร ทำแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะใครๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนกรุงเทพฯ เท่านั้นด้วย



วันนี้เขียนยาวหน่อย แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ



10 ปฏิบัติการ ช่วยกรุงเทพฯ ด้วยตัวคุณเอง

1. ลดการใช้ไฟฟ้า

กรุงเทพมหานครมี 2 ล้านครัวเรือน ถ้าทุกบ้านช่วยกันปิดไฟขนาด 100 วัตต์ 10 ดวง นาน 15 นาที
ใน 1 วัน จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 50 ตัน และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 125,000 บาท
ใน 1 เดือน จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 150 ตัน และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 3.75 ล้านบาท
ใน 1 ปี จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,800 ตัน และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 45 ล้านบาท

2. เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ

การเปลี่ยนหลอดไส้ 100 วัตต์ เป็นหลอดประหยัดพลังงาน 18 วัตต์ จำนวน 1 ดวง จะลดพลังงานได้ 82 วัตต์ จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 295 กก./ปี และประหยัดเงินได้ 738 บาท/ปี

3. ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส

การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส ทุก 8 ชั่วโมง จะลดคาร์บอนลง 1,098 ตัน/ปี และประหยัดพลังงานได้ 2.4 หน่วย


(หมายเหตุ: ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่าควรจะตั้งให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะงานวิจัยหลายงานยืนยันว่า คนจะปรับตัวเข้าหาอุณหภูมิแวดล้อม หมายความว่า คนเมืองร้อนก็จะทนอุณหภูมิได้สูงกว่าคนเมืองหนาว อุณหภูมิสบายของคนเอเชียโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 27-28 องศา เพราะฉะนั้น เราสามารถตั้งอุณหภูมิสูงว่า 25 องศาได้ แล้วเราก็จะต้องเลิกบ้าใส่สูทผูกไทไปทำงานกันได้แล้ว เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อผ้าไทยตัวเดียวก็ออกงานได้ ความสุภาพนั้นอยู่ที่กิริยามารยาทมากกว่าเสื้อผ้า)

4. ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังการใช้งาน

ปิดและดึงปลั๊กทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียงต่างๆ ในบ้านแต่ละหลังออกเมื่อไม่ใช้งาน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้นับร้อยกิโลกรัม/ปี

5. ปลูกต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่

การปลูกต้นไม้ 1 ต้น จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ตันตลอดอายุของต้นไม้ ดังนั้นให้ปลูกหรือวางต้นไม้ในทุกๆ จุดของบ้านที่เหมาะสม จะเป็นการช่วยดูดซับมลพิษในบ้านได้เป็นอย่างดี

6. แยก ลดปริมาณขยะ

ลดการกินทิ้งกินขว้าง เพราะเศษอาหารและของที่บูดเน่า เมื่อไปทับถมอยู่ที่กองขยะ จะกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่สำคัญ

7. ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก

เพราะการผลิตถุงพลาสติก ต้องใช้พลังงานและก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

8. หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์

การขับรถยนต์เป็นระยะทาง 1 กม. จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.18 กก. ถ้ารถใน กทม. ทั้งหมด 5.5 ล้านคัน ร่วมมือปฏิบัติกัน จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,000 ตัน/วัน


(หมายเหตุ: ช่วยเร่งสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างชานเมืองกับกลางเมืองเร็วๆ หน่อย ได้เปอร์เซ็นต์น้อยหน่อยก็หยวนๆ เถอะน่า ตายไปก็เอาเงินไปใช้ไม่ได้สักหน่อย)

9. ดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถรอนาน หรือ เติมน้ำมัน (ไม่ขับก็ดับเครื่อง)

การดับเครื่องยนต์ทุก 5 นาที จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 0.13 กก. ประหยัดน้ำมันได้ 0.1 ลิตร และควรขับรถในความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. จะลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้ 20%


(หมายเหตุ: การปล่อยให้เครื่องเดินเบา 5 นาที เทียบเท่ากับ การขับรถได้ระยะทางถึงกิโลเมตรกว่าๆ)

10. บริโภคของที่ผลิตในประเทศ

การซื้อสินค้าจากต่างประเทศต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่าย แต่ถ้าใช้ของที่ผลิตในประเทศ จะทำให้สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้น แล้วยังราคาถูก และทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศด้วย





 

Create Date : 30 กันยายน 2550
29 comments
Last Update : 3 ตุลาคม 2550 16:41:02 น.
Counter : 11493 Pageviews.

 

อ่านบล็อกด้วยความหวั่นกลัวค่ะ
ความไม่พร้อมของประเทศ
หรืออยู่ที่ความตระหนัก จิตสำนึกของเรากันแน่นะ

สำหรับ 10 ปฏิบัติการ ที่ช่วยกทม
ดิฉันทำได้แค่ 3 ข้อเองค่ะ
ทั้งที่ ต้ อ ง ทำ มากกว่าควรทำแล้ว

 

โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน 3 ตุลาคม 2550 10:41:56 น.  

 

แวะมาเยี่ยมท่านอาจารย์ครับ

ตอนนี้ปัญหาสภาวะโลกร้อนกลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้วครับ ช่วงนี้ผมก็พยายามช่วยลดภาวะโลกด้วยเหมือนกันครับ ตอนนี้ผมรีดเสื้อที่ใส่มาทำงานเพียงแค่ครึ่งตัวบนเองครับ ส่วนครึ่งตัวล่าง ไม่จำเป็นต้องรีดครับ เพราะว่าอยู่ในกางเกงครับ

อิอิ

วันนี้ที่บล็อคของผม มีจดหมายร้องเรียน สคบ. นะครับ ท่านอาจารย์ช่วยแวะเข้าไปช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ



อิอิ

 

โดย: อาคุงกล่อง (อาคุงกล่อง ) 3 ตุลาคม 2550 19:36:07 น.  

 


1. ลดการใช้ไฟฟ้า – แหะๆ แต่เราต้องเปิดคอมทำงานทั้งวัน ...แย่เลย
2. เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ – ช่างที่เพิ่งทำบ้านให้ เปลี่ยนให้หมดเองค่ะ
3. ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศา – ปกติไม่ค่อยเปิดค่ะ แหะๆ
4. ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังการใช้งาน - ทำประจำค่ะ
5. ปลูกต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ – ว้า ถมที่ทำโรงรถ (ให้น้อง) ไปแล้ว เสียดายจัง
6. ไม่กินทิ้งกินขว้าง - มีแต่คนบอกว่า เรากินล้างกินผลาญ ยอมตายดีกว่าของเหลือ (ฮา)
7. ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก – อันนี้ใช้ประจำค่ะ
8. หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ - ตอนนี้ใช้ขนส่งมวลชนค่า
9. ดับเครื่องยนต์ – ไม่ขับรถ เอิ๊ก ช่วยได้แล้ว
10. บริโภคของที่ผลิตในประเทศ - กำลังพยายามค่ะ

 

โดย: แพนด้ามหาภัย 3 ตุลาคม 2550 22:27:28 น.  

 

1. ลดการใช้ไฟฟ้า

คงไม่ได้ลดอะไรมากนัก เพราะที่บ้านผมก็ใช้เท่าที่จำเป็นอยู่แล้ว


2. เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ


เปลี่ยนเป็นบางจุด ยังไม่ได้เปลี่ยนทุกจุด


3. ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส

อันนี้อยู่แล้ว..แต่เดี๋ยวนี้ก่อนนอนจะปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดหน้าต่าง เพราะว่าเวลาหลับแล้วเราไม่รู้ว่าร้อนหรือเย็นหรอก รู้แต่ก่อนนอนกับตื่นแล้วเท่านั้น




4. ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังการใช้งาน

ส่วนใหญ่ก็ทำอยู่ตามปกติ

5. ปลูกต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่

ไม่อยากอวดเรื่องปลูกต้นไม้ บ้านผมมีเนื้อที่น้อยมาก แต่มีต้นไม้ยืนต้นขึ้นแออัดเกินสถานที่ แต่ผมก็ชอบให้มีต้นไม้เยอะๆ เพราะรู้สึกร่มรื่นดี

6. แยก - ลดปริมาณขยะ

ที่บ้านขยะน้อยอยู่แล้ว


7. ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก

ให้ภรรยาใช้ถุงผ้า แต่ผมมีกระเป๋าสะพาย แต่ถุงพลาสติคก็ยังมีบ้างเวลาทางร้านใส่ให้

8. หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์

( ข้อนี้ผมไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวมานานแล้ว เพราะไมมี ใช้จักรยานเวลาไปไหนมาไหนใกล้ๆ ส่วนรถเมล์ แท็กซี่ยังต้องใช้อยู่

9. ดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถรอนาน หรือ เติมน้ำมัน (ไม่ขับก็ดับเครื่อง)

เมื่อไม่มีก็ไม่ต้องดับ

10. บริโภคของที่ผลิตในประเทศ

อันนี้ไม่ค่อยเลือกว่าในประเทศหรือต่างประเทศ แต่ก็ส่วนใหญ่ก็ในประเทศ เพราะโดยวิถีชีวิตกำลังทรัพย์ไม่เอื้อให้บริโภคของต่างประเทศอยู่แล้ว


ตอบเล่นสนุกๆครับ แต่ตอบจริงครับ

 

โดย: พ่อพเยีย IP: 124.121.20.227 4 ตุลาคม 2550 16:32:45 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ

เราเองก็พยายามทำอยู่ค่ะ แม้จะรู้ว่าสายไปแล้ว แต่ก็พยายามทำเท่าที่จะทำได้ค่ะ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ ล็อกอินหลุดเหรอนี่ (สาวไกด์ใจซื่อ ) 4 ตุลาคม 2550 20:09:31 น.  

 

อาจารย์คะ สวัสดีค่ะ

วันนี้บล็อกอาจารย์โดนใจมากค่ะ
10 ข้อที่กล่าวมา ปอมีนืสัยเสียๆ อยู่หลายข้อมากค่ะ ต่อไปนี้ต้องเลิก อย่างไม่ยอมถอดปลั๊กออกนี่แหละค่ะ เห็นชัดมากๆ เลย

ส่วนเรื่องแอร์นี่ เมื่อก่อนปอไม่มีปัญหาเลย ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ใช้มัน แต่พอมาอยู่เยอรมัน กลับไปที่บ้านแล้วนอนไม่หลับค่ะ ขอนแก่นเดือนห้า มันทั้งร้อน ทั้งไหม้

ปอเคยคิดว่า นรกนี่มันควจะเหมือน ที่จอดรถของโลตัส ค่ะ เพราะมันร้อนมาก มีแต่คอนกรีต ร่มเงาอะไรก็ไม่มี สร้างกันเข้าไป ไอ้ห้างสรรพสินค้า ติดแอร์เนี่ย

ปอชอบเดินมากกว่านั่งรถค่ะ แต่ก็อยู่ที่สภาพอากาศและสัมภาระที่แบก นี่ก็ทำใจไม่ได้เลย ที่รถยนต์มันกลายเป็นปัจจัยจำเป็นไปแล้ว เมื่อไหร่มันจะมีระบบการคมนาคมสาธารณะที่ดีพอใช้ และเดินทางตรงเวลามั่ง คงประหยัดกันได้เยอะ ปอไม่อยากซื้อรถเลยค่ะ แต่ที่บ้านยืนยันว่า กลับไปทำงานแล้วควรจะมี อะไรไม่รู้น้ะ แพ้ง แพง เสียดายตังค์


อีกอย่างเพิ่มเติมไม่รู้จริงหรือเปล่า (ไป่นมาจากไหนไม่รู้) เขาให้ใช้ข้าวของที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าน่ะค่ะ เพราะการที่เราใช้สุรุ่ย สุร่าย ซื้อใหม่เรื่อยๆ ก็เป็นการเพิ่มปริมาณขยะ และเพิ่มกำลังการผลิตของสินค้าที่ไม่จำเป็นจะต้องเพิ่ม) ซึ่งในกระบวนการ การผลิต ก็ต้องมีการใช้พลังงานและ คายความร้อน.....

อ่านแล้วปอเครียดมาก รู้สึกว่า ตัวเองเป็นตัวการทำให้โลกร้อน เพราะ บ้าช้อป ปิ้ง แล้วนี่จะทำยังไงดีคะ รองเท้ายี่สิบคู่ ผ้าพันคอ 20 ผืน กระเป๋าถือ 15 ใบ ก็แล้ว ใจมันยังอยากได้ของใหม่อยู่เรื่อย กรี๊ด....เรามัน.ตัวการทำโลกร้อน....

 

โดย: ปอ (O_Sole_mio ) 5 ตุลาคม 2550 18:17:42 น.  

 

ปล. เพลงเพราะจังค่ะ

 

โดย: ปอ (O_Sole_mio ) 5 ตุลาคม 2550 18:19:46 น.  

 

พยายามอยู่เช่นกันครับ
แต่บางทีมันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลยเนอะ

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 6 ตุลาคม 2550 12:08:10 น.  

 

ดีครับ อยากให้ทุกคนใส่ใจเรื่องนี้เยอะๆ ตอนนี้โลกมันเบี้ยวๆไงไม่รู้

 

โดย: ตงเหลงฉ่า 6 ตุลาคม 2550 12:24:44 น.  

 





สวัสดีตอนเย็นๆของ เนเธอร์แลนด์ นะจ้า

มีดอกกุหลาบมามอบให้
พร้อมด้วยความห่วงใย
มีเพียงคำๆหนึ่ง "คิดถึงมาก"
ที่ส่งฝากฟากฟ้ามาให้เธอ


** ขอให้มีความสุขกับวันหยุดพักผ่อนนะจ้า **


ถ้าช่วยกันคนละไม้ละมือ มันก็คงดีขึ้นมากกว่านี้แน่ๆๆเลยอะ

 

โดย: จอมแก่นแสนซน 6 ตุลาคม 2550 22:38:42 น.  

 

คงต้องรักโลกใบนี้กันให้มากขึ้นแล้วล่ะครับ

ก่อนที่จะสายเกินแก้

 

โดย: DAN_KRAB 7 ตุลาคม 2550 1:26:55 น.  

 

คุณคนทับแก้ว เคยดูหนังเรื่อง

An Inconvenient Truth หรือยังครับ

 

โดย: ฟ้าดิน 7 ตุลาคม 2550 6:39:31 น.  

 

โลกร้อนนี่ ฮิตจังแฮะ

 

โดย: dinkun (กริชครับผม ) 7 ตุลาคม 2550 14:24:35 น.  

 

10 ข้อที่ควรปฏิบัตินั้นถ้าหากว่าช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นแล้วก็เห็นควรว่าจะต้องลงมือกันสักทีค่ะ บางคนชินกับสิ่งที่เคยๆ ทำ แต่ว่าเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้ถูกมากยิ่งขึ้น

ช่วยกันคนละมือละไม้ โลกคือของเรา ต้องช่วยกันทำโลกให้เรายังคงอยู่เพื่อคนต่อๆ ไปและตัวเราเองนะค่ะ


// ช่วงนี้อัพบล็อกเรื่องหนังก็เพราะว่าได้ดูเยอะกว่าเมื่อก่อนน่ะคะ พอดูแล้วแบบว่าคันปากนิดๆ เพราะบางทีเราดูหนังแล้วมันดีหรือว่าไม่ดีเลยอยากมาคุยกับคนที่เคยๆ ดูแล้วว่าเป็นยังไงบ้างน่ะค่ะ ... จริงๆ มีคิวเขียนต่ออีกเรื่อง แต่ว่ามันยาวหน่อยเพราะว่าหนังห่วยแตกเลย แต่ว่าจะเขียนยังไงดีหนอให้มันไม่แรงไปน่ะคะ

 

โดย: JewNid 8 ตุลาคม 2550 9:25:15 น.  

 

จุว่า วิกฤติโลกร้อนมัน ไม่ร้ายแรงไปกว่าวิกฤตใจร้อนหรอกค่ะ


ทำใจให้มันยอมรับแล้วปรับตัว วิกฤติไหนมันก็คลี่คลายนะคะ

 

โดย: กระจ้อน 8 ตุลาคม 2550 11:36:12 น.  

 





สวัสดีตอนเช้าของ เนเธอร์แลนด์ นะจ้า

จะอยู่ในใจแห่งกลางฝัน
จะโบยบินไปพร้อมแสงตะวัน
ก่อนจะตื่นจากภาพฝัน ยามราตรี
ขอสายลมบรรเลงเพลง แล้วกระซิบอีกที
…พรุ่งนี้เราคงได้พบกัน…


** ขอให้มีความสุขมากๆๆนะจ้า **

 

โดย: จอมแก่นแสนซน 8 ตุลาคม 2550 14:12:19 น.  

 

อาจารย์ขา สว้สดีวันจันทร์ค่ะ

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมซากค่ะ
เวลาเครียดๆ ทำไงน่ะเหรอคะ.....
ก็บ้ามันซะให้พอไงคะ แต่ไม่เอาแบบโขกโต๊ะ นะคะ เจ็บค่ะ

เวลาเครียดๆ ปอชอบเดินเล่นค่ะ เดินไกลๆ คนเดียว ปล่อยความคิดไปเรื่อยๆ ซัก ชั่วโมง สองชั่วโมงก็จะดีขึ้น ถ้าถือกล้องถ่ายรูปไปด้วยก็ยิ่งดี จะได้ถ่ายรูป มองอะไร ดีๆ สวยๆ งามๆ พิจารณามันซะมั่ง.....จะได้เบิกบาน

ช่วงนี้ปอ กำลังบ้าหลายเรื่อง .....

บ้าเรื่องทำงานมากไป .....ก็ต้องพัก ไปเล่นกีฬา ฟังดนตรีไปตามเรื่อง

บ้าเพราะกลัวว่างานจะไม่เสร็จ.....ต้องเลิกบ้า แล้วต้องทำแต่งาน... ทำแล้วจะรู้สึกว่าใกล้ความจริงทุกวินาทีที่ทำ... (แล้วจะกลับไปบ้าที่ ข้อ 1 ใหม่)

บ้าเพราะคน.....อ่านหนังสือธรรมะ ไหว้พระสวดมนต์และก็ พุทธเข้า-โท ออก ค่ะ

บ้าเพราะคนบางคน....ต้องทำใจค่ะ เราบ้าของเราเอง เขาไม่เกี่ยว ถ้าจะแก้ ก็แก้ที่เรา....


ขอให้อาจารย์ ทำงานให้สนุกนะคะ

สู้ๆ ค่ะ (ปลอบตัวเองด้วย)





 

โดย: ปอ (O_Sole_mio ) 8 ตุลาคม 2550 16:21:13 น.  

 

Human Adaptation เป็นคำตอบสุดท้ายครับ

 

โดย: กุมภีน 8 ตุลาคม 2550 20:57:34 น.  

 


10 ปฏิบัติ ทำอยู่บ้างแต่ไม่ครบ (ตอนนี้ในบ้านเปิดไฟดวงเดียว เป็นไฟนีออน4ฟุต)

ข้อ5 ทำไม่ได้ ไม่มีที่ปลูก ข้อ6 ก็ ขยะในบ้าน มีนิดเดียว เพราะอยู่คนเดียว โฮะโฮะ แยกออกหลายถุง ยากส์

บล๊อกเรื่องนี้ กดโหวต ได้มั๊ย????

 

โดย: yyswim 9 ตุลาคม 2550 21:53:40 น.  

 

ทุกครั้งที่ผมเห็นใครๆร่วมรณรงค์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
ผมมักนึกถึง "อัลกอร์ " ทุกทีไป
เจ๋งน่ะครับ การขยับตัวของคนๆเดียว ทำให้โลกทั้งใบร่วมขยับด้วย แถมมันเป็นเรื่องที่ดีอีกต่างหาก

ผมก็เป็นหนุ่มที่ร่วมรณรงค์โลกร้อน อย่างสุดใจขาดดิ้นครับ ผมยอมนอนผึ่งพัดลม เป่ารักแร้ๆทุกวัน แทนตากแอร์


ขอบคุณท่าน อ.จ สำหรับ สาระดีๆครับ
ถ้าเราร่วมมือกัน ซักวัน ผมคงปิดพัดลม นอนได้อย่างแน่นอนเลย

ด้วยรักและเคารพ

:->m'26

 

โดย: เด็กผู้ชายที่ไม่เตะบอลตอนกลางวัน (kanapo ) 9 ตุลาคม 2550 22:04:02 น.  

 

มาแวะอีกรอบแล้วค่ะ

 

โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน 10 ตุลาคม 2550 8:22:35 น.  

 





สวัสดีตอนเที่ยงของ เนเธอร์แลนด์ นะจ้า

อยากเป็นสายลม พัดความห่วงใย
อยากเป็นต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มความคิดถึง
อยากเป็นท้องฟ้า ในห้วงความคำนึง
อยากเป็นทุกสิ่ง ที่เธอ ” คิดถึง ” ตลอดเวลา


** ขอให้มีความสุขมากๆๆนะจ้า **

 

โดย: จอมแก่นแสนซน 10 ตุลาคม 2550 17:21:41 น.  

 

แวะมาเยี่ยมบล็อคของท่านอาจารย์คนทับแก้วครับ

ช่วงนี้ท่านอาจารย์หายไปนาน สงสัยว่าท่านอาจารย์ต้องงานวุ่นแน่ ๆ เลยครับ

อิอิ

 

โดย: อาคุงกล่อง (อาคุงกล่อง ) 10 ตุลาคม 2550 18:11:14 น.  

 

อจ.คะ
กำลังจะคุยประเด็นนี้กับนศ.พอดีเลยค่ะ
ขอข้อมูลไปใช้หน่อยนะคะ

ส่วน10วิธีในการประหยัดพลังงาน
บางที..เราก็รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกันล่ะค่ะว่าทำไมถึงเพิ่งรณรงค์กันตอนนี้
ที่แปลกใจก็เพราะว่าที่บ้านเราทำกันมานานมากแล้ว(ยกเว้นข้อ8หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ข้อเดียว)
ทำกันจนติดเป็นนิสัยและแพร่นิสัยนี้ให้เพื่อนๆหรือคนรอบข้างมานานแล้ว
พ่อกับแม่เราเป็นคนหัวล้ำยุคค่ะ
เขาจะคิดอะไรล้ำหน้าไปก่อนเสมอ
เขาสอนให้แยกขยะตั้งแต่เราเด็กๆ
เขาสอนให้ปิดไฟและถอดปลั๊กทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ
เขาใช้ตะกร้าจ่ายตลาด
และอื่นๆในการประหยัดพลังงานมานานมากๆๆๆๆๆแล้ว
เขาบอกว่าอีกหน่อยโลกจะไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้

ส่วนเราก็สอนให้ลูกเปิดปิดไฟเองตั้งแต่ยังเดินไม่ได้เลย
ข้อดีก็คือเขาไม่กลัวความมืด
เพราะรู้ว่าถ้ามืดคือการปิดไฟ
ก่อนขึ้นนอนเราจะอุ้มเขาให้ปิดโทรทัศน์และปิดไฟก่อน
จนวันไหนไม่ได้ปิดเองก็จะบอก"ไฟ ไฟ"

แต่ถึงจะเพิ่งเริ่มทำกันวันนี้..ก็ยังดีค่ะ
แต่ขอให้ทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอด้วยนะคะ

 

โดย: เกดป.ณ. (mrs.postman ) 19 ตุลาคม 2550 12:49:31 น.  

 

โลกร้อน สาเหตุหลัก ...
เพราะคนบนโลกมากกว่าทรัพยากรที่มี แก้โดยคุมกำเนิดคน (1คน ตักอาหาร5อย่าง กินจริงๆ 2อย่าง อีก3อย่างคือขยะ ดูตามโรงแรมซิ ขยะมากตามโรงแรมที่ขึ้นเป็นดอกเห็ด กำจัดอย่างไร)

เพราะคนบนโลกต้องการเทคโนโลยี จนทำลายธรรมชาติ แก้โดยเทคโนโลยีแบบสะอาด และพึ่งเทคโนโลยีให้น้อยที่สุด (จะกำจัดขยะเทคโนโลยีอย่างไร คอมฯ มือถือ ฯลฯ)

เพราะคนต้องการพัฒนา มากกว่าอนุรักษ์ แก้ไขโดยการวางแผนและบริหารจัดการก่อนการพัฒนา โดยเน้นการควบคู่การอนุรักษ์)

และ.....ฯลฯ ทุกคนก็รู้

 

โดย: aey3 IP: 124.121.100.173 22 ธันวาคม 2550 11:47:00 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ ที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์โลกร้อน
ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม รบกวนติดต่อมาที่ คณะทำงานวิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาฯ หรือ vanvimon3210@yahoo.com ด้วยค่ะ

 

โดย: ปวิมลวรรณ รัตนศรีโชติช่วง IP: 210.246.152.6 6 กุมภาพันธ์ 2551 9:53:39 น.  

 

เราว่า ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่ทดสอบความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมน่ะค่ะ เป็นปัญหาที่ทำให้รู้ว่า
เทคโนโลยี ไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และ
มนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่ไม่มีทางหนีพ้นผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อยู่ดี

ปัญหานี้ไม่ได้ยากที่การแก้ไข แต่ยากกับ การเริ่มต้นที่จะแก้ไขอย่างจริงจังมากกว่า

 

โดย: กำจาย IP: 210.246.152.6 6 กุมภาพันธ์ 2551 10:25:17 น.  

 

มันอาจจะซ้ำซ้อน ซ้ำซาก และเราอาจลืมตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง แตาเราก็ยังสามารถช่วยกันลดปัญหาต่างๆ ได้ และถ้าผู้ใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะดีๆ

กรุณาติดต่อได้ที่ pvimonvanrg@gmail

เราจะรวบรวมข้อคิดเห้นเหล่านั้นส่งต่อไปยังสื่อกลาง หรือ หน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุดนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ
สำหรับทุกๆ ความเห็น

 

โดย: Pvimonvan Timvan IP: 203.114.114.194 16 ธันวาคม 2559 11:40:44 น.  

 

มันอาจจะซ้ำซ้อน ซ้ำซาก และเราอาจลืมตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง แต่เราก็ยังสามารถช่วยกันลดปัญหาต่างๆ ได้ และถ้าผู้ใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะดีๆ

กรุณาติดต่อได้ที่ Email : pvimonvanrg@gmail.com
Facebook : Pvimonvan Timvan

เราจะรวบรวมข้อคิดเห้นเหล่านั้นส่งต่อไปยังสื่อกลาง หรือ หน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุดนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ
สำหรับทุกๆ ความเห็น นะคะ

 

โดย: Pvimonvan Timvan IP: 203.114.114.194 16 ธันวาคม 2559 11:48:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


คนทับแก้ว
Location :
นครปฐม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






ศิลปิน: เฉลียง
เพลง: หวาน
ชุด: ปรากฏการณ์ฝน
ปี: 2525



Friends' blogs
[Add คนทับแก้ว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.