เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
30 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
การแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ และความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ในทุกๆสังคมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่ประเทศในหมู่เกาะเล็กๆ ต้องพบเจอปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกๆสังคมต้องหาหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร

ผลิตอะไร - สังคมนั้นๆจะต้องคิดว่าเค้าสามารถผลิตอะไรได้บ้าง จะผลิตอาหารหรือคอมพิวเตอร์ดี จะผลิตปลูกข้าวเป็นจำนวนมากหรือจะปลูกยางที่ใช้เวลานานกว่าดี จะผลิตคอมพิวเตอร์หรือจะอบรมคนให้มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ดี ปัญหาต่างๆเหล่านี้สังคมจะต้องเลือก เพราะเค้าไม่สามารถทำทุกอย่างอย่างที่ทุกคนต้องการได้

ผลิตอย่างไร - เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ด้วยวิธีใด จะทำอาหารด้วยเครื่องจักรหรือใช้แรงงานคนดี จะผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน ถ่านหิน หรือพลังงานแสงอาทิตย์ดี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร หรือใครจะเป็นเกษตรกร ใครจะเป็นอาจารย์สอนหนังสือ

ผลิตเพื่อใคร - ใครจะได้กินข้าวที่ปลูกขึ้นมา ใครจะใช้คอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นมา หรือแม้แต่จะแจกจ่ายให้ทุกคนได้รับอย่างยุติธรรมได้อย่างไร ทำไมถึงมีคนรวยคนจน ความแตกต่างระหว่าคนรวมกับคนจนทำไมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รู้หลักกันแล้วลองมาดูในระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆกันบ้าง
ระบบเศรษฐกิจในโลกเราแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
- ระบบเศรษฐกิจแบบผสม
- ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง
ทั้งนี้การแบ่งประเภทของระบบเศรษฐกิจดังกล่าว พิจารณาได้จาก
1. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ว่าเป็นของบุคคลหรือส่วนรวม
2. เสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
3. การตัดสินใจเรื่องปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผ่านกลไกตลาดหรือการวางแผนจากส่วนกลาง

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กลไกราคาเป็นเครื่องมือสำคัญในระบบทุนนิยม รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วย
- ผลิตอะไร ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการเป็นหลัก โดยดูจากราคาสินค้าและบริการนั้นๆเป็นหลัก กล่าวคือ หากสินค้าและบริการใดมีคนต้องการมาก ราคาสินค้านั้นก็จะสูง แต่หากสินค้าและบริการใด ไม่มีคนต้องการ ราคาสินค้าก็จะต่ำตามกลไกตลาด เมื่อผู้ผลิตทราบว่าสินค้าและบริการใดมีความต้องการอย่างไรแล้ว ก็จะพิจารณาต่อถึงต้นทุนการผลิตของสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อจะดูว่าสามารถทำกำไรได้หรือจะขาดทุน ถ้าขาดทุนก็จะไม่ทำการผลิต แต่ถ้ากำไร ก็จะดูต่อไปว่าผลิตขายเท่าไหรจึงจะได้กำไรสูงสุด
- ผลิตอย่างไร โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องการผลกำไรของตนเองสูงสุด โดยกำไรดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับราคาขายและต้นทุน จากกลไกตลาดหากราคาสินค้าสูง ผู้ซื้อก็จะซื้อสินค้านั้นน้อยลง โดยทั่วไปแล้ว การกำหนดราคาขายไว้สูง จะทำให้ยอดขายของผู้ผลิตลดลง ผู้ผลิตจึงมีทางเลือกอีกทางคือ ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด โดยดูจากราคาของปัจจัยการผลิต ดังนั้น จะทำการผลิตสินค้าอย่างไร สามารถพิจารณาได้จากราคาขายสินค้าและบริการ และราคาของปัจจัยการผลิต
- ผลิตเพื่อใคร ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จะมีราคาเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรสินค้าและทรัพยากร กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้มากย่อมมีอำนาจในการซื้อสินค้าและบริการมาก โดยรายได้ดังกล่าว เกิดจากการขายปัจจัยการผลิตให้แก่ผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือทรัพยากร อย่างไรก็ตาม ภายใต้ขีดจำกัดของทรัพยากรรวมถึงสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ทั้งหมด ราคาจึงเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า ทรัพยากรรวมถึงสินค้าและบริการดังกล่าว จะถูกจัดสรรอย่างไร หากมีคนต้องการมาก ราคาของนั้นๆก็จะสูงขึ้น จนกระทั่งความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขาย ทำให้ของนั้นๆถูกจัดสรรไปยังผู้ที่ต้องการและมีรายได้พอที่จะซื้อสินค้านั้นๆ (willingness to pay and ability to pay)

ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง
ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้รัฐจะเป็นเจ้าของทรัพยากรและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงแรงงาน นั่นหมายความว่า แรงงานไม่มีสิทธิเลือกวิถีทางการใช้แรงงานของตนเอง แม้ว่าค่าแรงจะต่ำเพียงใด ก็ไม่สามารถย้ายไปยังงานที่มีค่าแรงสูงกว่าได้ หรือกล่าวได้ว่า กลไกราคา ไม่มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ การตัดสินใจเรื่องปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะถูกวางแผนมาจากส่วนกลาง นับตั้งแต่การจัดสรรทรัพยากร การผลิต รวมถึงการกระจายสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภค ดังนั้นในระบบเศรษฐกิจนี้ รัฐจำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบ ในเรื่องการจัดสรรปัจจัยการผลิตต่างๆว่าจะให้ใครอยู่ในอุตสาหกรรมไหน หรือมุ่งเน้นทรัพยากรใดไปยังอุตสาหกรรมที่เหมาะสม การจัดการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคในระบบ เพื่อใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมกัน การเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจของระบบนี้ขาดการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้คนในการผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น แรงงานขาดความกระตือรือล้นในการทำงาน ไม่มีแรงจูงใจในการผลักดันตัวเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่มีแรงจูงใจที่จะดันตัวเองให้อยู่เหนือคนอื่น

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม
ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กรรมสิทธิต่างๆมีทั้งในส่วนที่เป็นของรัฐและส่วนที่เป็นของเอกชน กลไกราคามีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรรวมถึงสินค้าและบริการต่างๆ แม้จะมีบทบาทน้อยกว่าระบบทุนนิยมก็ตาม เนื่องจากในระบบมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน องค์กรธุรกิจต่างๆ ทำให้มีอำนาจผูกขาดในบางส่วน ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การกำหนดราคาสินค้าและบริการ หรือการจัดสรรทรัพยากร ในส่วนของรัฐ จะมีบทบาทในทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของเศรษฐกิจ ตั้งแต่ผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหาพื้นฐาน เช่น ด้านการทหาร หรือปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเอกชนให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ ซึ่งระบบนี้จะมีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 ระบบข้างต้น

ในโลกของความเป็นจริง ไม่มีประเทศใดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว แต่ละประเทศก็รับเอาข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบมาปรับใช้กับเศรษฐกิจของตนเอง ตามความเหมาะสมของประเทศนั้นๆ รวมถึงความเหมาะสมทางด้านเวลาเช่นเดียวกัน บางอย่างอาจจะเหมาะสมกับประเทศหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะกับอีกประเทศหนึ่ง บางสิ่งอาจจะเหมาะกับเราในอดีต แต่อาจจะไม่เหมาะกับเราในอนาคตก็ได้ครับ


Create Date : 30 ตุลาคม 2549
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2549 2:37:10 น. 0 comments
Counter : 45133 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.