Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
8 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 

เรื่องงงๆ ของคนเมือง (ท่านต้องถาม บางที ‘อำนาจ’ อาจจะตอบ)

โดย ผู้จัดการรายวัน 7 พฤศจิกายน 2550 18:36 น.

เคยรู้สึกงงๆ หรือเปล่า?

ยามที่คุณใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ล่องลอยไปบนถนนรนแคมที่อัดแน่นด้วยรถรา ไปโรงพยาบาล เข้าห้องสมุด หรือรอรถโดยสารประจำทางอยู่ริมถนนด้วยใจระทึก

รู้สึกงงที่ว่าทำไม ‘สิ่งที่มันเป็น’ จึง ‘เป็น’ อย่างที่ ‘มันเป็นอยู่’ ทั้งๆ ที่ ‘มันไม่ควรจะเป็น’ อย่างนั้น

หรือเป็นเพราะความเคยชินที่ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ดำรงอยู่ ‘ช่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา’ เสียเหลือเกิน ปกติมากซะจนบางทีก็ทำให้เราดูกลายเป็นผู้ที่สยบยอม เฉยชา และเหนื่อยหน่ายกับการตั้งคำถาม

ต่อจากนี้เป็นการรวบรวมเรื่องงงๆ บางส่วนมาชวนให้งงกันต่อ ที่สำคัญกว่านั้นเราอยากชวนให้ท่านตั้งคำถาม

1.ห้องสมุดมหาวิทยาลัย เมื่อเราพูดถึงมหาวิทยาลัย ใช่, เรานึกถึงสถานศึกษา แหล่งข้อมูลความรู้-วิชาการ เป็นสถานที่ที่สามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างเสรี เป็นแหล่งต่อยอดทางปัญญาของ ‘ประชาชน’ และสังคม ที่ต้องเน้นคำว่า ประชาชน เนื่องจากว่าจำเป็นต้องนิยามความหมายของคำนี้เล็กน้อย

‘ประชาชน’ ในความหมายของสถาบันการศึกษาของไทยจำกัดจำเขี่ยวงเพียงแค่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านที่เคยใช้บริการหอสมุดตามมหาวิทยาลัยคงรู้ซึ้งดีว่า ก่อนที่ท่านจะมีสิทธิก้าวข้ามพรมแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของหอสมุดมหาวิทยาลัยเข้าไปได้ ท่านจำเป็นต้องมีเงินสักเล็กน้อย และถ้าต้องการสมัครสมาชิกเพื่อหยิบยืมหนังสือ เงินสักเล็กน้อยอาจไม่พอ ท่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบปริมาณธนบัตรในกระเป๋าเสียก่อน เงินเพียงพันสองพันไม่อาจทำให้ท่านเป็นสมาชิกหอสมุดของมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติได้ ...ต้องมีมากกว่านั้น

คำถามมีอยู่ว่าสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของ ‘สังคม’ เหตุใดจึงกลายเป็นสถานที่ชั้นดีในการจำแนกแยกแยะผู้คน กีดกันผู้คนออกจากแหล่งความรู้ด้วยสถานะภาพความเป็น ‘คนของสถาบัน’ และ ‘รายได้’ แม้ว่าสามัญสำนึกพื้นฐานจะตะโกนอยู่ภายในของเราเพียงใดว่า หอสมุดมหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ (หรือควรจะเสียให้น้อยที่สุด) และสง่าผ่าเผย หรือเพราะเราหลงใหลกับอุดมคติแห่งความเป็นสถาบันการศึกษาของประชาชนมากเกินไป

2.หอสมุดแห่งชาติ ยังคงอยู่กับเรื่องห้องสมุด แต่ทีนี้เป็นห้องสมุดของประเทศ ‘หอสมุดแห่งชาติ’ ลองใช้สามัญสำนึกพื้นฐานดูอีกครั้งเถิดว่า ห้องสมุดมีไว้เพื่อการใด? เป็นคำถามที่ไม่ยากเย็น

นอกจากเข้าไปนั่งหลับในยามบ่ายที่แสนสุขแล้ว หน้าที่หลักของสถานที่แห่งนี้คือการเข้าไปอ่านหนังสือ หอสมุดแห่งชาติก็ยังทำหน้าที่ได้ในระดับที่น่าพอใจอยู่บ้าง (แม้บางคนจะรู้สึกว่าน่าจะปรับปรุงสถานที่สักหน่อย)

ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านเคยเกิดอารมณ์นี้หรือไม่? ในยามบ่ายแสนสุขเกิดอยากอ่านหนังสือของตัวเองสักเล่ม แต่ก็ไม่อยากอ่านที่บ้าน ท่านต้องการเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อความกลมกล่อมในการเสพตัวอักษร ท่านถือหนังสือของท่านเดินทางลำบากลำบนไปยังหอสมุดแห่งชาติ เพื่อจะพบว่า ‘ห้ามนำหนังสือจากภายนอกเข้าไปภายในหอสมุด’

ช่างเป็นกติกาที่น่าระทึกและชวนทึ่งยิ่งนักที่ผู้บริหารหอสมุดแห่งชาติสามารถมีจินตนาการที่ขัดแย้งกับสามัญสำนึกพื้นฐานของคนทั่วไปเรื่อง ‘ห้องสมุด’ ได้ถึงเพียงนี้

แน่นอนที่สุด เหตุผลของมันก็เพื่อป้องกันการสูญหาย บางคนบอกว่าความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินสาธารณะของคนไทยยังไม่หนักแน่นพอที่จะไว้วางใจได้ ขณะที่ห้องสมุดในต่างประเทศ ผู้ใช้บริการสามารถหยิบหนังสือจากชั้นเพื่อนำกลับไปอ่านที่บ้าน ด้วยการลงชื่อในสมุดเท่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีบรรณารักษ์

เราเห็นใจหอสมุดแห่งชาติในกรณีนี้ แต่เราควรจะสร้างระบบความปลอดภัยและจิตสำนึก หรือสร้างกติกาที่ขัดแย้งกับแนวทางความเป็นห้องสมุด

3.พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ มันเป็นสถานที่ 2 ประเภทที่คนเมืองหลวงเรียกร้องกันมาหลายชั่วอายุคน และมันก็สิงสถิตอยู่จริงเพียงในคำสัญญาอลังการของรัฐบาลและพ่อเมืองกรุงเทพฯ เท่านั้น

โอ้...มหานครที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าใครแห่งอุษาคเนย์ มีเพียงห้างสรรพสินค้ากับโรงภาพยนตร์สำหรับเข่นฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆ

เปล่า, เราไม่ได้เรียกร้องขนาดพิพิธภัณฑ์ลูร์ฟแห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใครจะเหิมเกริมและอาจเอื้อมคิดได้เพียงนั้น เป็นความจริงที่ว่าสิ่งปลูกสร้างไม่ได้บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองทางอารยธรรมเสมอไป แต่บ่อยครั้งที่ความรุ่งเรืองทางอารยธรรมก็ดูได้จากสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกรสนิยมทางสติปัญญาของผู้คนในสังคมและผู้บริหารประเทศเช่นพิพิธภัณฑ์ใจๆ หรือหอศิลป์คูลๆ

ว่าแต่เราไม่แปลกใจกันเลยหรือว่าทำไมกรุงเทพฯ จึงไม่มี 2 สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว

4.ห้องน้ำสาธารณะ เวลาท่านไม่ได้อยู่บ้านแล้วเกิดปวดท้องทั้งหนักและเบา สิ่งที่ท่านมองหาคือ...ห้างสรรพสินค้าหรือไม่ก็โรงแรม หรือสถานที่อะไรก็ตามแต่ที่น่าจะมีห้องน้ำไว้บริการ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น 2 ที่แรกที่เรานึกถึง

ลองนึกดูเล่นๆ ว่าคุณป้าคนหนึ่งจากบ้านห้วยตึ๊กชู (ไม่รู้เหมือนกันว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า) หอบหิ้วชะลอมและของฝากมาเยี่ยมลูกหลานในเมืองเกิดอยากเข้าห้องน้ำ และมีคนแนะนำคุณป้าว่าสถานที่แห่งเดียวที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของคุณป้าได้คือโรงแรมห้าดาวที่อยู่เบื้องหน้า ถามว่าคุณป้าจะทำอย่างไร ก็คงต้องเดินเข้าไปใช้บริการนั่นแหละ ทีนี้ก็ต้องไปวัดใจกันล่ะว่าพนักงานโรงแรมจะใจดีให้คุณป้าเข้าห้องน้ำหรือเปล่า

เคยมีข่าวว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีคนนำเงินจำนวนมาไปวางไว้ในห้องน้ำสาธารณะเพื่อเป็นงบประมาณในการดูแลห้องน้ำต่อไป บ้านเรา...เออ อาจเป็นการเดินทางที่ยาวไกล ยากลำบาก และต้องฝ่าฟันอุปสรรคร้อยแปดเพื่อค้นหาห้องน้ำสาธารณะจริงๆ เพราะเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ หลายคนเห็นแล้วไม่กล้าเข้า กลัวจะเอาชีวิตเข้าไปทิ้ง บางที่ก็มีเจ้าถิ่นมาคอยเก็บเงินซะอย่างนั้น

กลับไปที่สามัญสำนึกพื้นฐานอีกครั้ง (เป็นสิ่งที่ต้องใช้เยอะมากในข้อเขียนชิ้นนี้) ว่าจริงๆ แล้วห้องน้ำสาธารณะเป็นสิ่งที่ควรจะมีหรือเปล่า

5.เมื่อเราไปหาหมอ ผู้ที่ใช้บริการประกันสังคมคงรู้ดียามที่เราแบกหามความไข้ไปหาหมอ และพบว่าประเทศไทยมีความสามารถสูงเพียงใดในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเพียงแค่ฟังคนไข้พูดจาสั้นๆ ถึงอาการเพียงสองสามประโยค โดยแทบไม่มีการซักถามหรือสัมผัสตรวจสอบ คุณหมอก็สามารถวินิจฉัยและสั่งยาได้ภายในเวลา 16.523 วินาที บางทีคนไข้พูดยังไม่ทันจบด้วยซ้ำ

เราเข้าใจว่าสัดส่วนของคนไข้กับแพทย์ต่างกันค่อนข้างมากจึงบีบให้แพทย์ต้องเร่งรีบวินิจฉัย แต่ก็ดูเป็นการใจร้ายกับคนไข้อยู่เหมือนกัน ท่านที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้คงสงสัยว่า ‘ฉันจะหายมั้ย?’ หรือไม่ก็เคยชินเสียแล้ว เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาก็หายเป็นปกติเหมือนเดิม

ไม่มีใครปฏิเสธระบบประกันสังคม แต่เราจะทำอย่างไรให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ นั่นต่างหากคือสิ่งที่เราถาม

6.รถไฟฟ้าใต้ดิน มีวิธีปฏิบัติอยู่สองสามข้อสำหรับการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน เราไม่ได้หมายถึงว่าต้องจับราวบันไดเลื่อนหรืออะไรทำนองนั้น แต่เรากำลังหมายถึงวิธีปฏิบัติที่เร้นแฝงอยู่ต่างหาก

หนึ่ง-คุณต้องไม่พกพาสิ่งใดที่จะกลายเป็นขยะในภายหลัง สอง-คุณต้องเป็นคนแข็งแรง ไม่ควรเดินมากเกินไปก่อนมาใช้บริการ และสาม-เข้าห้องน้ำห้องท่าให้เรียบร้อยเสียก่อน

จากการสอบถามคนรอบตัวที่เคยไปต่างประเทศและพูดคุยทางโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่ของ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต่างบอกเหมือนกันว่ารถไฟฟ้าใต้ดินในต่างประเทศจะมีถังขยะ ที่นั่ง และห้องน้ำไว้คอยบริการ แต่ของเราไม่มี เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกกับเราว่า เหตุผลหลักๆ คือเรื่องความปลอดภัย ไม่ต้องการให้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นเหมือนในต่างประเทศ และด้วยธรรมชาติของระบบคมนาคมประเภทนี้ซึ่งมีความรวดเร็ว ที่นั่งคอยบนชานชลาจึงไม่จำเป็น เขาบอกอีกด้วยว่าไม่ต้องการให้เกิดการนั่งแช่อยู่ภายในสถานี

เป็นเหตุผลที่ดีและเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ถ้าท่านเมื่อยขามากๆ แต่ถ้าท่านเกิดมีสิ่งที่ต้องทิ้ง แต่ถ้าท่านเกิดต้องเข้าห้องน้ำกระทันหัน แต่ถ้าคุณยายคนหนึ่งจะเป็นลม แต่ถ้าท่านเกิดประสบอุบัติเหตุที่ขาและต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัว

เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่...คล้ายๆ กับกรณีหอสมุดแห่งชาติหรือเปล่า?

7.ป้ายรถเมล์ เชื่อว่าหลายท่านต้องเคยใช้บริการรถเมล์ แต่ถ้าใครยังไม่เคย เราแนะนำให้ลอง แล้วท่านจะพบว่าชีวิตที่แสนวุ่นวายในเมืองหลวงยังมีเรื่องราวน่าตื่นเต้นอีกมากมายให้ท่านค้นหา

ท่านไม่เคยงงกันหรือว่าขณะที่ท่านยืนรอรถเมล์ตรงจุดที่กรุงเทพฯ จัดให้หรือเรียกง่ายๆ ว่าป้ายรถเมล์ จะมีคนกลุ่มใหญ่ดักรอห่างออกไปก่อนถึงป้ายประมาณ 30-50 เมตร แล้วรถเมล์ก็จอดตรงนั้น แล้วรถเมล์ก็วิ่งผ่านไปโดยไม่จอดตรงที่ที่ท่านรออยู่ ท่านก็ได้แต่ทำหน้าปริบๆ และได้เรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตให้อยู่รอดในป่าเมือง ...ท่านตัดสินใจเดินไปรวมกับคนกลุ่มที่ดักรอรถเมล์ก่อนถึงป้าย

แล้ววันหนึ่งเมื่อป้ายรถเมล์กลายเป็นสถานที่เปลี่ยวร้าง กทม. ก็ยกป้ายรถเมล์ไปตั้งตรงที่คนกลุ่มนั้นไปดักรอก่อนถึงป้าย เมื่อป้ายตั้งปุ๊บ ก็จะมีคนกลุ่มเดิมไปดักรอก่อนถึงป้ายอีกครั้ง แล้ววงจรก็เคลื่อนต่อไปเหมือนเดิม

การบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ จำนวนรถที่ไม่พอเพียง ฯลฯ คงเป็นหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ (ใครอยากจะยืนบนรถเมล์เพื่อฝ่าฟันการจราจรในกรุงเทพ) และถ้าท่านคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ...เราก็ไม่ได้ว่าอะไร

8.สี่แยกไฟแดง ณ สี่แยกไฟแดงแห่งหนึ่ง การจราจรติดขัด รถของท่านติดไฟแดง ท่านมองเห็นรถบนถนนเส้นที่ตัดผ่านถนนที่ท่านอยู่กำลังวิ่งด้วยความเร็วเชื่องช้าและบ้างก็หยุดนิ่ง ขณะที่เมื่อมองข้ามแยกไป ท่านพบว่าถนนเส้นที่ท่านใช้อยู่กำลังว่าง รถสามารถเคลื่อนตัวได้สะดวก

แต่ท่านก็ต้องหงุดหงิดเพราะตำรวจจราจรไม่ยอมให้ท่านไป ทั้งที่รถที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่ข้างหน้าท่านก็ไปไหนไม่ได้ ‘ทำไมยอมให้รถทางเราไปก่อนนะ จะได้ระบายรถทางนี้ไปก่อน’ หลายท่านคงเคยเจอสภาพและคำถามนี้ …เพราะมันไม่เมคเซนส์ในความรู้สึกท่านสักเท่าไหร่

ใช่หรือไม่ว่าท่านไม่เคยเข้าใจวิธีการควบคุมการจราจรของตำรวจจราจร ขณะเดียวกันท่านก็ไม่กล้าลงจากรถแล้วเดินไปถามตำรวจจราจร ท่านจึงต้องนับลมหายใจต่อไปเพื่อลดทอนโทสะ

ใช่หรือไม่ว่ามีอะไรบางอย่างที่ควบคุมให้ท่านต้องปฏิบัติตามคำสั่งของตำรวจจราจร ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะขัดกับความรู้สึกหรือสามัญสำนึกแค่ไหน

แต่ถ้าวิธีการควบคุมการจราจรของตำรวจจราจรที่ถูกอบรมและฝึกฝนมามีเหตุผลของมันอยู่ คำถามก็คือว่าคุณตำรวจจราจร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือท่านผู้มีอำนาจคนใดก็ตามแต่ ไม่คิดจะเปลืองเวลาอธิบายให้คนใช้รถใช้ถนนและสังคมเข้าใจบ้างหรือว่าทำไมจึงทำแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลนักที่เราจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเพียงอย่างเดียวและฝ่ายเดียว โดยไม่รู้ที่มาที่ไปและสาเหตุของคำสั่งนั้น

9.ปัญหาการจราจรติดขัด การใช้เวลา 2 ชั่วโมงบนรถยนต์กับระยะทางแค่ 20 กิโลเมตร ไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ขี่เกวียน จริงๆ แล้วเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุดสำหรับชีวิตคนกรุง แต่เมื่อเรื่อง ‘ไม่ปกติ’ อย่างรถติด มันติดจนเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ เราจึงเฉยชาและคิดว่า นี่แหละ! เป็นเรื่องที่เมคเซนส์ที่สุด ...ขออนุญาตไม่สาธยายเพิ่ม

10.ทำไมเราจึงทนอยู่กับเรื่องงงๆ เรื่องไม่เมคเซนส์เหล่านี้ โดยไม่เคยตั้งคำถาม เรื่องงงๆ เรื่องสุดท้าย-ทั้งๆ ที่มีสิ่งไม่ปกติ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามรายรอบตัวเราเต็มไปหมด แต่ทำไมเราจึงไม่เคยตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้เลย

ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย แต่เราก็ปล่อยให้อำนาจเข้ามาแทรกซึม-แทรกแซงในชีวิตประจำวัน ปล่อยให้อำนาจสามารถตั้งกฎกติกาอันน่าพิศวง และเราก็ก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามแบบไม่ต่อล้อต่อเถียง-คนขับรถเมล์สามารถตัดสินใจได้ว่าจะจอดตรงไหน เราไม่ยอมเรียกร้องหรือไถ่ถามวิธีการรักษาจากหมอเพราะเราเชื่อว่าหมอรู้ดีกว่าเรา เรายินยอมให้หอสมุดแห่งชาติออกระเบียบล้ำจินตนาการความเป็นห้องสมุด ผู้บริหาร กทม. ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับการสร้างแหล่งความรู้ ฯลฯ ทั้งๆ ที่เราควรจะมีส่วนร่วมในการร่างกติกาในสังคมที่เราอยู่มิใช่หรือ

หรือว่านี่คือธรรมชาติอย่างหนึ่งของอำนาจที่จะกระทำหรือออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ และท่านมีหน้าที่กระทำตาม แต่ไม่มีสิทธิที่จะถาม

ดังนั้น ท่านจึงต้องถาม เผื่อว่าบางที ‘อำนาจ’ อาจจะตอบ

แล้วถ้าวันใดวันหนึ่งสังคมทั้งสังคมช่วยกันตั้งคำถามล่ะ...

************************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

จะทำอย่างไรเมื่ออำนาจไม่ต้องอธิบายตัวมันเอง

ทำไมเราจึงต้องปฏิบัติตามกติกาที่เราไม่เข้าใจ คำถามนี้ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาบอกว่า “สถานะภาพของอำนาจมันไม่ต้องอธิบายตัวมันเอง มันชอบธรรมเพราะมันคืออำนาจ เพราะมันมีผลบังคับใช้” และส่วนที่เหลือมีดังต่อไปนี้

“ความเข้าใจเรื่องอำนาจในปัจจุบันมีหลายอย่าง แต่หลักๆ มี 2 กระแส กระแสแรกคืออำนาจเป็นเรื่องของกระบวนการควบคุมหรือการใช้อำนาจ อีกด้านคือความเข้าใจอำนาจในสิ่งที่เป็น Productive สิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่นอำนาจที่มาพร้อมกับกระบวนการที่ก่อให้เกิดบรรทัดฐานร่วมกันบางอย่างในสังคม การควบคุมทางสังคม ข้อนี้คือตัวหลักของแนวคิดเรื่องอำนาจที่นักสังคมศาสตร์ใช้อยู่ในขณะนี้

“คำถามที่ถาม มันโยงไปที่เรื่องสิทธิอำนาจ คือผมพยายามจะแยกระหว่างสิทธิอำนาจในเรื่องการควบคุมหรือการทำให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคมร่วมกันที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกับสิทธิอำนาจในการสั่งการหรือมีผลให้เราต้องปฏิบัติตาม ต่างกันนะครับ เราอยู่ในพื้นที่ที่ 2 ที่มีตัวขับเคลื่อนหลักคือกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือกฎหมายที่เราต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกต้องหรือมีความชอบธรรม แต่เพราะมันมีผลบังคับใช้และมีบทลงโทษ กรณีเรื่องจราจรในสี่แยก ตัวสิทธิอำนาจในการสั่งการของจราจรมันมีผลบังคับ ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ถามว่ามันถูกต้องมั้ย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้อง แต่อยู่ที่สิ่งที่มันบังคับเราและเราขัดขืนไม่ได้

“ความลึกลับซับซ้อนของปัญหานี้จึงไม่ได้อยู่ที่ระบบเหตุผลที่เข้ามากำกับวิธีการอธิบาย แต่อยู่ที่กระบวนการบังคับใช้ ผมคิดว่าสิ่งที่เราปะทะอยู่ เราไม่ได้ปะทะกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยตรง ไม่ได้ปะทะกับกระบวนการสั่งการ แต่เราปะทะกับการบังคับใช้ที่เราต้องปฏิบัติและเป็นเรื่องของสิทธิอำนาจในการสั่งการให้เราต้องทำตาม ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม

“ท้ายที่สุด โจทย์มันโยนไปที่เรื่องระเบียบ กฎหมาย หรือตัวคำสั่ง มันมีคนให้การยอมรับและให้ความชอบธรรม ความซับซ้อนจึงมากกว่าความสัมพันธ์ของการเกาะกุมหรือการควบคุม จัดการ เมื่อรากฐานของสังคมทำให้เราต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ซึ่งกฎเกณฑ์ในส่วนนี้มันอาจจะไม่ใช่คำสั่งโดยตรง แต่แสดงออกผ่านการมีสิทธิอำนาจหรือความชอบธรรมของสถานภาพของบุคคลบางประเภทหรือบางองค์กร

“ทั้งนี้เป็นเพราะเราทำรูปแบบชีวิตและวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตยให้อยู่ไกลตัว เราพูดถึงระบอบประชาธิปไตย เราพูดถึงสถาบันทางการเมืองหลักๆ แต่เราไม่เคยบ่มเพาะสิ่งที่เรียกว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตในแบบประชาธิปไตย อีกอย่างคือขั้นตอนต่างๆ ในการรับรองสิทธิอำนาจและความชอบธรรมมันเป็นเรื่องเชิงเทคนิคมากเกินไป

“ถ้าไปดูในระเบียบการปฏิบัติราชการ ความคิดหลักไม่ได้อยู่ที่แนวทางการปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องของบทลงโทษ เวลาติดต่อเจ้าหน้าที่ในระบบราชการ สิ่งที่พบคือคุณทำอะไรไม่ได้บ้าง แต่สิ่งที่บอกว่าคุณทำอะไรได้จะถูกพูดถึงน้อยที่สุด เช่น ระเบียบของหอสมุดแห่งชาติที่ห้ามนำหนังสือข้างนอกเข้าไปอ่าน มันเป็นข้อห้าม มันบังคับเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าคิดถึงแนวทางปฏิบัติว่าห้องสมุดคือสถานที่อ่านหนังสือ มีระบบการตรวจสอบที่รัดกุม สิ่งเหล่านี้คือแนวทางปฏิบัติ แต่เราทำสวนทางกัน เราอยู่บนข้อห้ามมากกว่าแนวทางปฏิบัติ

“การขัดขืนอย่างหนึ่งที่เราทำได้ ผมคิดว่าเราต้องเล่นอยู่บนกติกา ไม่ใช่เล่นในกติกานะ เวลาเล่นอยู่ในกติกาคือระเบียบว่ายังไงเราไม่ฝืนกับระเบียบ แต่เล่นบนกติกาคือเรารู้ที่จะหลบหลีกหรือขัดขืนกับระเบียบ เราต้องยืนอยู่บนนั้นให้ได้ และผมคิดว่าคนส่วนหนึ่งประสบความสำเร็จและรู้ว่าจะยืนอยู่ยังไง นี่คือสิ่งเดียวที่เราทำได้ แต่ไม่ใช่ถึงกับต่อต้านให้เกิดความไร้ระเบียบ

“อย่างในห้องสมุดอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ยากที่สุด เพราะคนไทยไม่ได้ใช้ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือ แต่ใช้เพื่อเก็บของโบราณ คือเราต้องทำให้คนใส่ใจว่าห้องสมุดเป็นสถานที่เรียนรู้ เป็นที่ที่ใช้เวลากับความเงียบเพื่อค้นคว้าหาความรู้ ผลักประเด็นให้ทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้อง

“สรุปคือเราต้องทำให้มันเกี่ยวพันกับชีวิตเรามากที่สุด แล้วชีวิต วัฒนธรรม และรูปแบบการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยจะเกิดตามมา”




 

Create Date : 08 พฤศจิกายน 2550
0 comments
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2550 10:32:45 น.
Counter : 677 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nsd
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add nsd's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.