Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
 
11 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 

ปัญหาใหญ่ของเด็กไทยคือ แก้ปัญหาชีวิตไม่เป็น…!!!/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข่าวร้าย ๆ เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนหลายเหตุการณ์ที่สร้างความไม่สบายใจให้กับสังคมไทยยิ่งนัก
       
       ข่าวแรกเด็กป 6 แทงเพื่อนเสียชีวิต อีกข่าวหนึ่งก็คือนิสิตจากมหาวิทยาลัยชื่อดังตัดสินใจผูกคอตายเสียชีวิต กลายเป็นข่าวคราวคึกโครม และเกิดคำถามมากมายในสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น บ้างก็ว่าเพราะทำศัลยกรรมพลาด บ้างก็แย้งว่าไม่ใช่ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่มีวันที่พวกเราจะรู้ความจริงนอกจากผู้ตายเท่านั้น
       
       สาเหตุเป็นเรื่องของผู้คนที่ใกล้ชิดและคนในครอบครัวอยากรู้ที่สุด แม้จะเป็นการอยากรู้ที่สายเกินไป แต่ก็เป็นบทเรียนอุทาหรณ์ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองคนอื่นๆ ได้ตระหนักว่าความใกล้ชิด การสังเกตความเป็นไปและพฤติกรรมของลูกในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญ
       
       ทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้ใหญ่สังเกตหรือพบเห็นสัญญาณบอกเหตุบางประการก่อนเกิดเหตุเลยหรือ…หรือ..เพราะไม่ได้ใส่ใจกัน..!!!
       
       อีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษก็คือ ทำไมหนูน้อย ป 6 และนิสิตนักศึกษาสาว จึงเลือกหนทางชีวิตเช่นนี้เมื่อเกิดปัญหา
       
       เด็กคนหนึ่งโกรธก็แก้ปัญหาด้วยการเอามีดไปทำร้ายคนอื่น ส่วนเด็กสาวอีกคนผิดหวังก็เลือกแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองจากโลกไป
       
       อะไรทำให้พวกเขาเลือกการตัดสินใจเช่นนี้ …!!!
       
       หรือ..เป็นเพราะเด็กไทยขาดทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต 
       
       สอดคล้องกับงานวิจัยจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถึงผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (Emotional Quatient) ของเด็กนักเรียนไทยอายุ 6-11 ปี โดยในปี 2554 มีคะแนนอีคิว เฉลี่ยระดับประเทศอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มีค่าคะแนนอยู่ที่ 45.12 จากค่าคะแนนปกติ 50-100 ซึ่งมีจุดอ่อนทั้ง 3 ด้าน คือ ดี เก่ง สุข และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบย่อยในแต่ละด้าน พบว่า การปรับตัวต่อปัญหา มีค่าคะแนนอยู่ที่ 46.65 การควบคุมอารมณ์ 46.50 การยอมรับถูกผิด 45.65 ความพอใจในตนเอง 45.65 ความใส่ใจและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น 45.42 การรู้จักปรับใจ 45.23 และที่เป็นจุดอ่อนมาก ได้แก่ ความมุ่งมั่นพยายาม ซึ่งมีค่าคะแนน อยู่ที่ 42.98 รองลงมา คือ ความกล้าแสดงออก 43.48 และความรื่นเริงเบิกบาน 44.53
       
       แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวถึงการเปรียบเทียบเรื่องอีคิวกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนพบว่า ประเทศสิงคโปร์มีความพร้อมมากที่สุด ในขณะที่ประเทศเวียดนาม พม่า และอินโดนีเซียก็มีความพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามที่ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีเด็กเวียดนามมีความขยันขันแข็งและความมุ่งมั่น มุมานะมากสุด ในขณะที่เด็กไทยกลับพบว่าถดถอยลง ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้ง 3 ด้าน แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือเรื่องความมุ่งมั่น ความพยายามต่ำสุดเมื่อเปรียบกับประเทศในอาเซียน 
       
       ส่วนคะแนนการปรับตัวต่อปัญหาก็มีค่าคะแนนอยู่ที่ 46.65 ซึ่งก็ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน
       
       สิ่งเหล่านี้สะท้อนชัดว่า ความเจริญทางด้านวัตถุ หรือการเอา GDP เป็นเครื่องมือวัดความเจริญของประเทศชาตินั้น ไม่ได้ส่งผลให้ผู้คนในประเทศมีความสุข หรือมีอีคิวดีขึ้นเลย
       
       ตรงกันข้าม เรากลับพบตัวเลขร้ายๆ เกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตของเด็กไทยมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นในวัยที่ลดลงทุกขณะ ตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่มีอาการโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น อัตราการพยายามฆ่าตัวตายก็มากขึ้น ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย
       
       ความสามารถในการแก้ไขปัญหา เป็นความฉลาดด้านหนึ่งของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า AQ (Adversity Quotient ) หมายถึงการมีความสามารถในการเอาชนะฝ่าฟันอุปสรรค ความอดทนต่อความยากลำบากโดยไม่ท้อแท้ เป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมยุคปัจจุบันที่พ่อแม่พึงนำมาฝึกทักษะให้กับตัวเองและลูก เพื่อที่จะทำให้ลูกสามารถเอาตัวรอดอยู่ในสังคม และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
       
       ฝึกให้ลูกมีทักษะแก้ปัญหาได้อย่างไร
       
       ประการแรก เริ่มจากพ่อแม่ก่อน ต้องเป็นคนเข้าใจปัญหา และเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่กลัวที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาใด แต่มองว่าปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องผ่านไปให้ได้ ลูกจะเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากพ่อแม่
       
       ประการที่สอง สอนให้ลูกคิดบวก รวมไปถึงการมองโลกในแง่ดี เด็กที่ได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้การแก้ไขปัญหามักเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ และทุกเรื่องมีทางออก พ่อแม่อาจลองจำลองสถานการณ์เพื่อให้ลูกลองแก้ปัญหาง่ายๆ โดยคำนึงถึงวัยของลูกด้วย จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเติมสถานการณ์ที่ยากขึ้นหรือสลับซับซ้อนมากขึ้น
       
       ประการที่สาม ตั้งคำถามลูกบ่อยๆ อาจใช้เหตุการณ์จริง แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเป็นลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงบอกถึงวิธีการของพ่อแม่ด้วย ว่าพ่อแม่จะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าวิธีการแก้ปัญหามีหลายแบบ และทุกวิธีก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันอย่างไร เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย
       
       ประการที่สี่ สอนให้ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ให้ลูกเรียนรู้ว่าการใช้อารมณ์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตรงกันข้ามอาจทำให้ปัญหาบานปลายได้ ควรต้องใช้สติ และค่อยๆ แก้ปัญหาหรือหาทางออก
       
       ประการที่ห้า ฝึกให้คิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ รอบตัว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนหลากหลายวัย รวมไปถึงการฝึกให้เป็นเด็กช่างสังเกต เพื่อช่วยในการขยายกรอบความคิด ไม่ยึดติดกับการปัญหาหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ และคิดหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าในหนึ่งปัญหาสามารถหาทางออกได้หลายทาง
       
       ประการสุดท้าย สอนเรื่องความมุ่งมั่น พยายาม อย่างสร้างสรรค์ ก็จะทำให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน
       
       ในต่างประเทศบางประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มีหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนและพัฒนาโปรแกรมสำหรับการสอนในครอบครัว เรื่องการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ 
       
       แต่ในบ้านเราคงเป็นเรื่องอีกห่างไกลจากความเป็นจริง จึงควรต้องเริ่มต้นจากรากฐานครอบครัว เริ่มจากคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องมองเห็นว่าทักษะการแก้ปัญหาเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องสำคัญ และควรจะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เพราะเราคงไม่อยากเห็นลูกของเราเป็นเด็กที่แก้ปัญหาไม่เป็น และหาทางออกไม่ได้มิใช่หรือ..!!!




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2555
0 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 7:15:44 น.
Counter : 1109 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.