Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
27 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

หนังเพลงต่างยุค Cabaret (1972) และ Chicago ( 2002) ความเหมือนในความต่างที่มีรางวัลออสการ์เป็นประกัน

(หมายเหตุ - บทวิจารณ์นี้ เป็นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนลงนิตยสาร Videophile เมื่อหลายฉบับที่ผ่านมา  เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคอหนังเพลงอีกหลายๆ คน  เลยขออนุญาตมาเผยแพร่อีกครั้ง  ต้องขอขอบคุณ บก. มา ณ ที่นี้)

                       ..............................................................................................................

ข้าพเจ้าเป็นคนชอบดูหนังเพลงมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่ยังตัวกระเปี๊ยก คุณพ่อมักจะลากเข้าโรงหนังโน้นออกโรงหนังนี้เป็นประจำ ดูกันเป็นกิจวัตรจนซึมซับเป็นรสนิยมโดยไม่รู้ตัว ดูตั้งแต่หนังเพลงร่วมสมัยในยุคโน้นอย่าง GiBlues, Blue Hawaii ของเอลวิส เพรสลีย์ หรือ The Young Ones, Summer Holiday ของคลิฟริชาร์ด ไปจนถึงหนังที่มาจากละครบรอดเวย์มิวสิคัลอย่าง The Sound of Music, My Fair Lady, Hello Dolly หรือ Oliver! ซึ่งในสมัยนั้นโรงหนังบ้านเราจะเอาใจใส่เรื่องความอลังการตื่นตาเป็นเรื่องเป็นราว หนังเพลงมิวสิคัลแต่ละเรื่องมักจะนำมาฉายด้วยฟิล์มขนาด70 มม. 6 ร่องเสียงแม็กเนติกส่งตรงมาจากอเมริกาไม่ใช่มาก็อปปี้ในแล็บบ้านเราสีกระดำกระด่างเหมือนทุกวันนี้ คุณภาพหายห่วงเรื่องสีสันแจ่มกระจ่าง ระบบเสียงรอบทิศทางก็แสนจะรื่นรูหู ไม่ตูมตามหัวสั่นหัวคลอนเหมือนดอลบี้ดิจิทัล(เทียมๆ) ของยุคนี้ จอหนังของโรงสมัยโน้นก็เน้นความใหญ่ความกว้างเหมือนโรงหนังสกาลาหรือสยามภาวลัย ดูกันเต็มตาเต็มอารมณ์ ไม่ใช่ฉายในโรงมินิเธียเตอร์จอจิ๋วๆ แคบเป็นรูหนู สู้ไปนอนกระดิกเท้าดูที่บ้านจะคุ้มกว่า

อย่างไรก็ดี หนังเพลงในยุคนั้นต่างเดินทางมาถึงจุดเสื่อมของความนิยมในช่วงเปลี่ยนสู่ทศวรรษ70 โปรดักชั่นหนังใหญ่ๆ อลังการงานสร้างหาดูได้ยาก ความนิยมของคนดูเปลี่ยนแนวไปสู่หนังสไตล์ Realistic เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มีภาพยนตร์เพลงแปลกๆ ฉีกแนวบางเรื่องฝ่าด่านอรหันต์มาได้บ้างอย่างPhantom of the Paradise ของไบรอัน เดอ พัลมา ซึ่งมาในแนวเสียดสี Phantom of the Operaแต่นำเสนอด้วยดนตรีร็อคร่วมสมัย อย่างไรก็ดี ที่ประสบความสำเร็จเป็นเนื้อเป็นหนังทั้งการต้อนรับของคนดูและบนเวทีออสการ์ก็เห็นจะมีCabaret ของ BobFosse ผู้กำกับที่ก้าวมาจากละครบรอดเวย์นี่แหละ




คาบาเรต์ เป็นหนังเพลงเรื่องแรกที่ฉีกขนบการเล่าเรื่องในแนวTraditional ลงสิ้นเชิงชนิดไม่แคร์สื่อ เล่าเรื่องอย่างแยบยลด้วยการเปรียบเปรยฉากบนเวทีในคลับคาบาเรต์กับครรลองชีวิตของตัวแสดงที่ต้องเผชิญในชีวิตจริงในยุคที่เยอรมันถูกครอบครองด้วยลัทธินาซี ซึ่งขณะที่ภาพยนตร์เพลงแนว Traditional ก่อนหน้านั้นจะให้ตัวแสดงเป็นคนเล่าเรื่องด้วยเสียงเพลงในเนื้อหนัง และเมื่อวิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ยุคใหม่เปลี่ยนไปสู่ความนิยมในสไตล์Realistic คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าหนังเพลงแนวดั้งเดิมเป็นเรื่องแฟนตาซีและดูแปลกแยกไม่สมจริงกลายเป็นเรื่องขำๆ ไปที่เห็น มาเรีย นางเอกใน West Side Story จู่ๆก็ร้องเพลง Somewhere ขณะที่ร่ำไห้เศร้าโศกต่อหน้าศพ โทนี่ คนรักที่ถูกยิงตาย คาบาเรต์จึงกลายเป็นหนังเพลงในแนวใหม่ที่เล่าเรื่องด้วยดราม่าเข้มข้นแต่ยังคงความเป็นมิวสิคัลได้ด้วยฉากเพลงบนเวทีในคลับคาบาเรต์ที่เสียดสีชีวิตจริงคู่ขนานไปกับเนื้อเรื่องหลัก

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ยังนึกภาพของหนัง คาบาเรต์ ไม่ออก ก็ต้องบอกให้ย้อนไปนึกถึงหนังเพลงขึ้นหิ้งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคว้าออสการ์มาเช่นกันในปี2002 นั่นคือ Chicago ภาพยนตร์เพลงที่มีต้นแบบจากละครบรอดเวย์โดย บ๊อบฟอสซี่ ผู้กำกับคาบาเรต์นี่แหละ แต่หนัง ชิคาโก้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ บ๊อบ ฟอสซี่จากโลกนี้ไปซะก่อนในปี 1987 อย่างไรก็ดี สไตล์การเล่าเรื่องและการออกแบบท่าเต้นอันเลื่องลือของบ๊อบ ยังคงความขลังและโดดเด่นในตัวหนังเหมือนเคย โดย Rob Marshall ผู้กำกับได้ยังคงลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ๊อบ ฟอสซี่ ไว้อย่างเคารพในผลงานดั้งเดิม ที่สำคัญ วิธีการเปรียบเปรยของฉากมิวสิคัลและดราม่านั้น คนรุ่นเก่าที่เคยชม “คาบาเรต์”มาก่อนจะไม่รู้สึกตื่นเต้นมากมาย เพราะคุ้นเคยมาแล้วจากสไตล์ต้นแบบของ บ๊อบ ฟอสซี่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ดูจะฮือฮากับลีลาการเล่าแนวใช้เพลงเป็นสัญลักษณ์ แต่ความดีของ ชิคาโก้ คือการทำให้หนังเพลงที่ใครๆ ตราหน้าไว้ว่าหมดยุคไปนานแล้วนั้น กลับมาประสบความสำเร็จในวงการหนังกระแสฮอลลีวู้ดอีกครั้งหนึ่ง

เวลาที่ผ่านเกือบ 40 ปีไม่ทำให้หนังคาบาเรต์ดูเชยหรือล้าสมัยแต่อย่างไร เป็นการย้ำถึงคุณภาพระดับออสการ์ 8 รางวัล(น่าเสียดายที่รางวัลหนังยอดเยี่ยมไปแพ้ The Godfather แต่อย่างน้อย บ๊อบ ฟอสซี่ก็ยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม) เพราะลีลาการถ่ายทำนั้นยังคงเปี่ยมด้วยสุนทรีย์ของศิลปะภาพยนตร์ มุมมองของการใช้เลนส์ที่มีรสนิยมและทันสมัยดูโดดเด่นกว่าหนังในยุคเดียวกัน สร้างบรรยากาศของเบอร์ลินในยุค 1930 ได้น่าทึ่งที่น่าประทับใจคือ การแสดงอันยอดเยี่ยมของ Liza Minnelli นางเอก และบทสมทบของ Joel Grey ที่คว้าออสการ์มาทั้งคู่ จนแม้กระทั่งเวลาผ่านมาหลายทศวรรษ เพลงเอก Cabaret ยังคงเป็นเพลง signature ประจำตัวของไลซ่า มินเนลลี่ มาจนถึงปัจจุบัน




ความน่าสนใจของคาบาเรต์อยู่ที่การตีความบรอดเวย์มิวสิคัลออกมาเป็นหนังอย่างแยบยล ด้วยสไตล์ที่แตกต่างออกไปโดยอาศัยดราม่าเข้มข้นเป็นหลัก เห็นความทะเยอทะยานของ แซลลี่ โบลว์ (ไลซ่ามินเนลลี่) สาวอเมริกันนางโชว์ใน Kit Kat Club ที่ใฝ่ฝันจะไต่เต้าสู่ความเป็นดาราดังโดยไม่สนใจว่าจะใช้วิธีใดในการตะกายดาว ด้วยความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหนุ่มอังกฤษไบรอัน นำแสดงโดย ไมเคิล ยอร์ค ซึ่งกำลังสับสนกับรสนิยมทางเพศของตัวเอง โดยมีมือที่สามแมกซิมิลเลียน บารอนเศรษฐีเยอรมัน ที่เข้ามาร่วมคลุกคลีตีโมงสามคนผัวเมีย ดูๆเป็นแนวเรื่องที่เปรี้ยวไม่เบาสำหรับหนังในยุคกระโน้น

ความน่าทึ่งของฉากเพลงบนเวที ไม่ได้เน้นความตระการตา หากเป็นเพียงคลับเล็กๆ ที่นำเสนอโชว์เซอร์แตกเสียดสีชาวบ้าน นางโชว์ก็มิได้สวยสะแต่งหรูหราแพรวพราวแบบอัลคาซาร์ทิฟฟานี่ บ้านเรา สไตล์งานออกแบบเสื้อผ้าหน้าผมด้วยลุคแปลกแยกเหมือนสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ ลีลาของโชว์ยิ่งแปลกกว่าด้วยเนื้อหาจิกกัดถากถางด้วยเพลงที่แต่งได้แยบยลเก๋ไก๋ของ John Kander และ Fred Ebb ซึ่งโจล เกรย์ได้แสดงศักยภาพในบทพิธีกรกวนโอ๊ยประจำเวทีได้อย่างยอดเยี่ยม

กลวิธีใช้ดราม่าเป็นตัวนำเรื่องไม่ได้ทำให้ความเป็นมิวสิคัลของเนื้อหนังด้อยถอยลงแต่ประการใด เพราะความสามารถของผู้กำกับในการสร้างสรรค์สไตล์ล้ำบนเวทีคาบาเรต์ประการหนึ่ง และลีลาการเต้นและร้องเพลงที่ยอดเยี่ยมของทั้งไลซ่า และ โจล เกรย์ (รวมถึงเหล่ามวลหมู่นางโชว์) อีกประการหนึ่ง ซึ่งแม้กระทั่งเมื่อนำมาดูใหม่ในปี 2011นี้ เวลาที่ผ่านไปไม่ได้ทำให้ความเฉียบคมในไอเดียและการนำเสนอดูล้าสมัยแต่ประการใด นอกจากนั้น บทพูด (Dialogue) ที่เขียนอย่างชาญฉลาด ยังทำให้หนังดูมีรสนิยมมีอารมณ์ขัน และมีจังหวะจะโคนชวนติดตาม

ที่น่าพูดถึงอีกประการหนึ่งคือ การลำดับภาพที่ฉลาดเฉลียวและนับว่ากล้าหาญมากในยุคนั้น เพราะเป็นการตัดต่อแบบไม่ประนีประนอมคนดู สำหรับยุคนั้นถือได้ว่าเป็นการตัดต่อในเชิงหนังทดลองได้เลยทีเดียว คาบาเรต์จึงมีลุคของความเป็นหนังยุโรปอยู่ไม่น้อย นอกจากการเล่านอกขนบความเป็นหนังเพลงฮอลลีวู้ดดั้งเดิม ยังนำเสนอด้วยการตัดต่อที่เป็น Symbolic (สัญลักษณ์)ใช้ภาพในเชิงเล่าเรื่องสะท้อนความคิดของตัวละคร โดยไม่ต้องบอกทุกอย่างชัดแจ้ง (แบบหนังไทยๆ แต่ก็ไม่ใช่เซอร์หลุดแบบ “ลุงบุญมี”) จึงไม่น่าแปลกใจที่รางวัลออสการ์ลำดับภาพยอดเยี่ยมจะตกเป็นของหนังคาบาเรต์ในปีนั้น




เมื่อเอ่ยถึงเรื่องตัดต่อลำดับภาพก็อดย้อนมาถึงหนัง Chicago ไม่ได้ นับเป็นความเหมือนในความต่างจริงๆ นอกจากสไตล์ของเรื่องที่เล่าเปรียบเปรยระหว่างฉากเพลงกับดราม่าเหมือนคาบาเรต์แล้ว ชิคาโก้ยังมีลีลาการตัดต่อที่เฉียบคมหลักแหลมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการตัดต่อในยุคหลังสหัสวรรษได้ก้าวไปไกล ลูกเล่นลีลาจึงไม่ธรรมดา จึงไม่น่าแปลกใจว่ารางวัลออสการ์ลำดับภาพยอดเยี่ยมในปี 2002 จึงตกเป็นของชิคาโก้ เช่นกัน แค่ฉากเพลง All That Jazz ที่เปิดเรื่อง ก็จะเห็นได้เลยว่าทั้งจังหวะวิธีเล่าเรื่อง และการสลับซีนเปรียบเทียบ ทำได้อย่างโดดเด่นถึงอารมณ์และบ่งบอกการทำการบ้านมาอย่างดีตั้งแต่เป็นสตอรี่บอร์ด

อาจจะเพราะอยู่ในยุคขึ้นศตวรรษที่ 21 ชิคาโก้ จึงกล้านำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ชัดเจนกว่า คาบาเรต์ เป็นการแบ่งแยกฉากเพลงจินตนาการจากฉากดราม่าที่เล่าเรื่องอย่างชัดเจน โดยอาศัยเทคนิคการตัดต่อเชื่อมฉากเพลงและดราม่าเข้าด้วยกัน ซึ่งจะต่างกับคาบาเรต์อยู่บ้างตรงที่ คาบาเรต์ยังนำเสนอโชว์บนเวทีการแสดงในคลับที่ยังมีอยู่ในชีวิตจริง หากแต่โชว์จะทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนภาพชีวิต แต่ชิคาโก้จะใช้ฉากเพลงและเต้นรำในเชิงจินตนาการในการเล่าเรื่องสลับกับดราม่า แต่ความเหมือนที่แน่ๆ คือลีลาการเสียดสีประชดประชันแสบๆ คันๆ สไตล์ Kander & Ebb ผู้ประพันธ์เพลงเจ้าเดียวกันนั่นเอง

ชิคาโก้ เปิดฉากขึ้นในยุค 1920 ในเมืองชื่อเดียวกันซึ่งเป็นยุคแจ๊สส์กำลังเฟื่อง ช่วงที่ความหรูหราฟู่ฟ่า อาชญากรรมการยศหักหลังกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกา เป็นเรื่องราวเสียดสีความดีและความเลวของกิเลสมนุษย์ ในสไตล์มิวสิคัลเต้นๆรำๆ แนวถนัดของ บ๊อบ ฟอสซี่บนเวทีบรอดเวย์ นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยวิธีการที่คล้ายๆ คาบาเรต์ ยังแอบคิดอยู่ว่าถ้าเวลาไม่ผ่านมาถึง 30ปี ร็อบ มาร์แชลคงไม่กล้าเอา ชิคาโก้มากำกับเป็นแน่ เพราะคงอดไม่ได้ที่จะมีคนนำไปเปรียบเทียบกับ คาบาเรต์ แต่ก็ต้องชมว่าการดีไซน์ฉากเพลงฉากเต้น และบทที่ดัดแปลงจากละครบรอดเวย์ทำให้ชิคาโก้ โดดเด่นมีบุคลิกของตัวเอง และโดยเฉพาะฝีมือการแสดงระดับมืออาชีพของ RenéeZellweger, RichardGere และ Catherine Zeta-Jones ทำให้หนังดูสนุกสนานมีสีสันชวนติดตาม แนวเพลงก็ดูน่าฟังชวนติดหูกว่าคาบาเรต์อยู่ไม่น้อย

ชิคาโก้ ไม่ได้น้อยหน้า คาบาเรต์ ในแง่มุมของรางวัล ออสการ์ 6ตัวกับรางวัลหนังยอดเยี่ยมเป็นการันตีได้ดีถึงความไม่ธรรมดา และก็ทำความฮือฮาไม่น้อยกับคอหนังร่วมสมัย หากแต่ ส.ว.แบบข้าพเจ้าซึ่งเคยเห็นงานแนวนี้จาก คาบาเรต์มาแล้วกลับเกิดความรู้สึกว่า เอ๊ะแอบลอกวิธีการนำเสนอจากคาบาเรต์มาหรือกระไร ยิ่งเป็นสไตล์เดียวกันของ บ๊อบ ฟอสซี่ด้วยแล้ว ทำไมไม่คิดอะไรให้เกร๋กว่านี้มั่ง? แต่หลังจากได้ดูครบถ้วนกระบวนความแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ชิคาโก้ ก็มีเอกลักษณ์ในการนำเสนอของตัวเองเหมือนกัน โดยเฉพาะความต่างของบทที่จิกกัดเสียดสีด้วยอารมณ์ขันคันๆ ฉากเพลงจินตนาการที่เล่าเรื่องสลับฉากได้เจิดจรัส และการแสดงทั้งเต้นทั้งร้องของสามดารานำที่เซอร์ไพรส์พอสมควรกับความสามารถของตัวเอกซึ่งไม่เคยคิดว่าจะมาทำอะไรแบบนี้ได้ โดยเฉพาะ ริชาร์ด เกียร์ ซึ่งเขาเองก็ขอบคุณผู้กำกับ ร็อบมาร์แชลอย่างมากที่ทำให้คนทึ่มๆ แบบเขาลุกขึ้นมาเต้นแท็บร้องเพลงเป็นเรื่องเป็นราว รางวัลลูกโลกทองคำดารานำชายยอดเยี่ยมเป็นตัวการันตีได้ดี



และ ชิคาโก้ ยังเล่าเรื่องที่ดูแตกต่างจาก คาบาเรต์ตรงเนื้อหาประชดประชันจิกกัดสังคมของเมืองชิคาโก้ในยุคนั้นที่ความยุติธรรมหรือกฎหมายหาได้เป็นบรรทัดฐานของความถูกต้อง หากแต่ความเชื่อของผู้คนต่อการสร้างภาพของสื่อต่างหากกลับเป็นตัวตัดสิน(เอ๊ะ ฟังดูคล้ายๆ สถานการณ์บ้านเราอย่างไรพิกล)ขณะที่คาบาเรต์เน้นถึงดราม่าของอารมณ์ในแง่ปัจเจกบุคคลมากกว่า ในแง่มุมของคนดู ชิคาโก้จึงน่าจะดูหวือหวามีสีสันชวนติดตามดูง่ายกว่า โดยเฉพาะความเด่นของแต่ละเพลงที่โชว์โปรดักชั่นดีไซน์ที่ตื่นตาหรูหรา ไม่ดูอึมครึมเพี้ยนๆ เซอร์ๆ เหมือนคาบาเรต์ แต่ท้ายสุดแล้วทั้งสองเรื่องต่างนำเสนอบทบาทของตัวละครเอกที่ไม่มีใครเป็นพระเอกนางเอก ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีด้านมืดและต้องเรียนรู้บทเรียนของตัวเอง เป็นทั้งผู้ดีและผู้ร้ายในขณะเดียวกัน

ดีวีดี 9 ของทั้งสองเรื่องที่ได้มานี้พะป้ายไว้ว่าเป็นฉบับ Remastered ซึ่งเมื่อลองเช็คดูก็เป็นฉบับ Widescreen16:9 ทั้งคู่ ต่างจาก Chicagoดีวีดีก่อนหน้านี้ที่เป็น4:3 แต่เรื่องคุณภาพก็คงต้อง “เฮ้อ”อยู่เล็กน้อย เพราะภาพที่เข้มคอนทราสต์จัดจนรายละเอียดหายไป และความคมชัดที่น่าจะดีกว่านี้ (ที่ทราบเพราะมีโอกาสได้ชมเปรียบเทียบกับไฟล์HD อย่าถามนะว่าได้มายังไง อิอิ) น่าเสียดายมากเพราะทั้งสองเรื่องต่างพิถีพิถันในถ่ายทำระดับรางวัลออสการ์ ชิคาโก้ ได้เข้าชิง แต่ คาบาเรต์คว้ารางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมในปีนั้นไปด้วย ที่แย่อีกอย่างคือ ทั้งสองเรื่องต่างได้รับรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยม แต่คุณภาพเสียงที่ได้จากดีวีดี ก็ต้อง “เฮ้อ”ไปอีกรอบ เอาเถอะถึงยังไงก็นับเป็นดีวีดีหนังเพลงระดับขึ้นหิ้งที่ควรสะสมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะราคาแผ่นลิขสิทธิ์ที่ถูกกว่าแผ่นไพเรตซะขนาดนี้




 

Create Date : 27 มีนาคม 2555
4 comments
Last Update : 27 มีนาคม 2555 1:46:49 น.
Counter : 7262 Pageviews.

 

อรุณสวัสดิ์ครับ


พี่หมีรู้ลึกรู้จริงในเรื่องเพลง
และละครเวทีจริงๆครับ

สุดยอดครับพี่








 

โดย: กะว่าก๋า 28 มีนาคม 2555 5:51:49 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับพี่หมี

เป็นครูนี่เหนื่อยจริงๆนะครับ แหะๆๆ
ช่วงนี้หมิงหมิงปิดเทอมอยู่บ้าน
ผมนั่งเล่นด้วยทั้งวันยังเพลียเลยครับ 5555






 

โดย: กะว่าก๋า 29 มีนาคม 2555 5:58:53 น.  

 

อ่านเพลินมากครับ
และขำเรื่อง คุณภาพแผ่น

ก็ เฮ้อ.. ขายถูกซะ จะผลิตให้ดีกว่านี้เดี๋ยวแพง ก็ว่ากันอีก บลูเรย์จีนก็มีนะ 5555

 

โดย: จะใครล่ะครับ IP: 58.8.157.104 27 เมษายน 2555 3:59:22 น.  

 

Pretty section of content. I just stumbled upon your website and in accession capital to assert that I get actually enjoyed account your blog posts. Any way I'll be subscribing to your feeds and even I achievement you access consistently fast.
ugg boots with crystal button //www.shayspaniola.com/it-ugg/xDxCJjEXlt/

 

โดย: ugg boots with crystal button IP: 192.99.14.36 27 พฤศจิกายน 2557 16:21:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Bkkbear
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




งานเขียนบทความ บทหนัง เรื่องสั้น และนวนิยายในบล็อกนี้สงวนลิขสิทธิ์โดย Bkkbear (หมีบางกอก) ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Friends' blogs
[Add Bkkbear's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.