your enjoyable TENTarized knowledge :)
เข้าไปถามคำถามในเฟซบุคที่จะสะดวกตอบกว่านะ ^^
<<
ตุลาคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
3 ตุลาคม 2552

เฉลย: การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

เฉลยเรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

ตอนที่ 1
1. ถูก เด็กชายตาบอดสีมีจีโนไทป์ XaY ซึ่งเขาได้ Y มาจากพ่อและได้ Xa มาจากแม่
แม่ของเขา (ต้องมีจีโนไทป์ XAXa เท่านั้นเพราะโจทย์บอกว่าตาปกติ) อาจจะได้ Xa มาจากคุณตา หรือคุณยายก็ได้
2. ผิด ยีนในโครโมโซม X นั้น มีแค่อัลลีลเดียวก็แสดงออกได้แล้ว ลองนึกถึงผู้ชายที่เป็น XY สิ มีโครโมโซม X แค่แท่งเดียวยังแสดงออกได้เลย
3. ผิด multiple alleles คือหลาย allele เลือกลงมาเติมใน 1 ยีนที่เป็นดิพลอยด์ ส่วน polygene คือหลายยีนมาควบคุมหนึ่งลักษณะ
4. ผิด ความสูงถั่วลันเตาเป็นการถ่ายทอดแบบเมนเดล คือไม่มีข้อยกเว้นใดๆเลย ส่วนความสูงของคนเป็น polygene คือฟีโนไทป์ขึ้นกับทั้งจีโนไทป์และสิ่งแวดล้อม เราเลยสูงเตี้ยแตกต่างลดหลั่นกันไป
5. ผิด เป็นพันธุกรรมที่ขึ้นกับอิทธิพลเพศ (sex-influenced trait) ต่างหาก
6. ถูก ต้นสูงถั่วลันเตาแสดงว่ามีจีโนไทป์ T_ คือเป็น TT หรือ Tt ก็ได้ แต่ถ้าเป็นแบบแรก (TT) ลูก F1 ที่เกิดขึ้นต้องเป็นสูงหมด แสดงว่าเป็น Tt ซึ่งลูกที่เกิดขึ้นจะมีสูง : เตี้ย = 3 : 1
7. ถูก เป็นข้อสอบเอนท์ที่งงๆหน่อย เราต้องรู้ว่าแมลงสาบถูกกำหนดเพศด้วยระบบ XO คือตัวเมียเป็น XX (มี X 2 แท่ง) กับตัวผู้เป็น XO (คือมี X แท่งเดียว) จากโจทย์จะเห็นว่าตัวเมียมีโครโมโซมทั้งหมด 22 แท่ง แต่ตัวผู้มี 21 แท่ง
แต่ถึงยังไงๆเราจะถือว่าแมลงสาบมีโครโมโซม 22 แท่ง (11 คู่) โดยที่โครโมโซมเพศของผู้ชายหายไปแท่งนึง นั่นแสดงว่ามีจำนวน haploid number เป็น n = 11 และมี linkage group 11 กลุ่ม (เพราะจำนวน linkage group = จำนวน haploid number)
8. ถูก พันธุกรรมนอกนิวเคลียส (ใน mitochondria) จะถ่ายทอดมาจากฝ่ายแม่ ดังนั้นจึงเหมือนของยาย (แม่ของแม่) มากกว่าของย่า (แม่ของพ่อ)
9. ผิด ผิดตรงผิวสีคล้ำ เพราะสีผิวถ่ายทอดแบบ polygene ได้ลักษณะเชิงปริมาณ (quantitative trait) คนเราจึงมีสีผิวแตกต่างลดหลั่นกันไป
10. ถูก เป็น concept ธรรมดาๆ ไม่รู้จะอธิบายยังไง -*-
11. ผิด ลูกที่เกิดมีทั้งกรุ๊ป A, B, AB และ O แสดงว่าอาจจะเกิดจากพ่อ A (IAi) กับแม่ B (IBi) หรือพ่อ B (IBi) กับแม่ A (IAi) คือเป็นไปได้สองกรณี
ที่รู้ได้เพราะจากการที่มีลูก AB แสดงว่าพ่อแม่คนหนึ่งต้องมีอัลลีล IA ส่วนอีกคนต้องมีอัลลีล IB และการที่มีลูก O แสดงว่าพ่อแม่ทั้งสองคน ต้องมีอัลลีล i
12. ถูก ถ้าเกิดมีการถ่ายทอดแบบเมนเดล ลูกที่เกิดมาจะได้ aabb : aaBb : AaBb : Aabb = 1 : 1 : 1 : 1 ลองคิดดูนะ
และถ้าเกิดถ่ายทอดแบบเป็น linkage ก็ได้อัตราส่วนแบบนี้เหมือนกัน เพราะทั้งสองกรณีนั้น ตัว Aabb สร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ 2 แบบคือ Ab และ ab ส่วน aaBb สร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ aB และ ab เหมือนกัน
13. ผิด จะถ่ายทอดไปด้วยกันเสมอถ้าเกิดสองยีนนั้นอยู่ใกล้กันจนเป็น linkage ซึ่งกันและกัน แต่ถ้าอยู่ห่างๆกันก็ไม่ได้ถ่ายทอดไปด้วยกัน แถมยังเกิด crossing over ได้อีกต่างหาก
14. ผิด สรุปได้มั่วมาก เกิดเพราะมีความแปรผันของพันธุกรรมต่างหาก มีการรวมกันของลักษณะพ่อและแม่ กลายเป็นลูก
15. ผิด เมล็ดเรียบสีเหลือง = R_Y_ เมล็ดขรุขระสีเขียว = rryy
ข้อนี้จะถูกต้องก็ต่อเมื่อ เมล็ดเรียบสีเหลืองที่โจทย์ให้มานั้นมีจีโนไทป์ RRYY เมื่อผสมกับ rryy จะได้รุ่นลูกจีโนไทป์ RrYy และรุ่นหลานมีจีโนไทป์ 16 แบบ มีฟีโนไทป์ 4 แบบ โดยเด่นเด่น : เด่นด้อย : ด้อยเด่น : ด้อยด้อย = 9 : 3 : 3 : 1เหมือนในตัวอย่างที่ 2 ในหนังสือ แต่จากโจทย์ที่ให้มา R_Y_ นั้นอาจจะเป็น RRYY หรือ RrYy หรือ RrYY หรือ RRYy ก็ได้นะ
16. ผิด ABO blood group เป็น codominance และ multiple alleles
17. ผิด ตั๊กแตนกำหนดเพศด้วยระบบ XO ต่างหาก
18. ถูก เหมือนกับลักษณะการมีหนวดเคราของผู้ชาย มียีนทั้งสองเพศแต่แสดงออกเฉพาะในผู้ชาย เรียกลักษณะจำกัดเพศ (sex-limited trait)
19. ผิด กฎทั้งสองข้อเกิดขึ้นในระยะ anaphase I อันนี้สำคัญมากและเป็นสิ่งที่เข้าใจผิดกันมากที่สุด *
20. ผิด genetic variation ไม่จำเป็นต้องเกิดจาก polygene ซึ่งให้ความแปรผันเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว ลักษณะแบบ Mendel ก็ให้ความแปรผันเชิงคุณภาพได้เหมือนกัน การที่คนหนึ่งมีตาสองชั้น อีกคนหนึ่งมีตาชั้นเดียว ก็ถือว่าเป็นความแปรผันทางพันธุกรรมได้แล้ว

ตอนที่ 2
1. TT x tt จะได้รุ่น F1 เป็น Tt
1.1 อัตราส่วนจีโนไทป์รุ่น F2 เป็น TT : Tt : tt 1 : 2 : 1 และฟีโนไทป์เป็น เด่น (T_) : ด้อย (tt) = 3 : 1 ง่ายๆ
1.2 เมื่อนำรุ่น F1 (Tt) มาผสมต้นทดสอบ (tt) แล้วโอกาสที่จะได้ลูก heterozygous เท่ากับ
โอกาสได้ Tt (จากพ่อ Tt x แม่ tt) = 1/2

2. RRYY x rryy จะได้ F1 เป็น RrYy
2.1 อัตราส่วนฟีโนไทป์ F2 เป็น เด่นเด่น : เด่นด้อย : ด้อยเด่น : ด้อยด้อย = กลมเหลือง : กลมเขียว : ขรุขระเหลือง : ขรุขระเขียว = R_Y_ : R_yy : rrY_ : rryy = 9 : 3 : 3 : 1
2.2 โอกาสเกิด Rryy จากพ่อ RrYy และแม่ RrYy เท่ากับ
โอกาสได้ Rr (จาก Rr x Rr) X โอกาสได้ yy (จาก Yy x Yy) = 2/4 X 1/4 = 1/8

3. จีโนไทป์ AaBbCCDdEEFFGg จะเห็นว่ามี heterozygous อยู่ 4 ยีน คือ Aa, Bb, Dd และ Gg ดังนั้น n = 4
3.1 สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่ต่างกันได้ 24 แบบ = 16 แบบ และในรุ่น F1 จะมีจีโนไทป์ 34 = 81 แบบ และฟีโนไทป์ 24 = 16 แบบที่ไม่ซ้ำกัน
3.2 โอกาสที่ได้ลูกเป็น heterozygous สำหรับทุกลักษณะ คือมีจีโนไทป์ AaBbCcDdEeFfGg จากพ่อ AaBbCCDdEEFFGg และแม่ AaBBccDdeeffgg มีค่าเท่ากับ
โอกาสได้ Aa (จาก Aa x Aa) X โอกาสได้ Bb (จาก Bb x BB) X โอกาสได้ Cc (จาก CC x cc) โอกาสได้ Dd (จาก Dd x Dd) X โอกาสได้ Ee (จาก EE x ee) โอกาสได้ Ff (จาก FF x ff) โอกาสได้ Gg (จาก Gg x gg)
= 1/2 Aa X 1/2 Bb X 1 Cc X 1/2 Dd X 1 Ee X 1 Ff X 1/2 Gg
= 1/16

4. ถั่วลันเตาเมล็ดกลมเหลือง เราควรรู้เองว่ามีจีโนไทป์ R_Y_
4.1 ถามว่า R_Y_ ต้องเป็นยังไง เมื่อผสมกับ RrYy แล้วจะได้อัตราส่วนรุ่นลูกเป็น R_Y_ (กลมเหลือง) : R_yy (กลมเขียว) = 3 : 1
จะเห็นว่ารุ่นลูกลักษณะสีเมล็ดนั้นเป็น Y_ (เหลือง) : yy (เขียว) = 3 : 1 เห็นแล้วคุ้นๆตัวเลขนี้ไหม ?
เด่น : ด้อย = 3 : 1 คืออะไรกันนะ ? ให้ลองนึกถึงการผสม heterozygote 1 ยีนดูสิ อย่างเช่น Aa x Aa ได้ลูกออกมาเป็น A_ : aa = 3 : 1 ซึ่งในกรณีนี้ก็เหมือนกัน แสดงว่า R_Y_ นี่ต้องเป็น R_Yy นะ เอามาผสมกับ RrYy
ส่วน R_ ล่ะจะเป็น Rr หรือ RR ? ก็ต้องเป็น RR เพราะถ้าเป็น Rr จะทำให้เมื่อเอา RrYy x RrYy แล้วจะได้ลูกมีอัตราส่วนฟีโนไทป์ 9 : 3 : 3 : 1 ไง
สรุปคือเกิดจาก RRYy (คำตอบ) มาผสมกับ RrYy นั่นเอง
4.2 ถามว่า R_Y_ ต้องเป็นยังไง เมื่อผสมกับ rryy แล้วได้ลูกทุกต้นมีลักษณะเหมือนกัน
แสดงว่า R_Y_ นี่ต้องสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้แบบเดียว นั่นคือเป็น RRYY นั่นเอง มาผสมกับ rryy จะได้ลูกมีลักษณะเมล็ดกลมเหลือง RrYy แค่แบบเดียวเท่านั้น
ลองนึกดูว่าถ้า R_Y_ เป็น RrYY หรือ RRYy หรือ RrYy จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้มากกว่า 1 แบบ เมื่อเอามาผสมกับ rryy ก็จะได้ลูกที่มีฟีโนไทป์มากกว่า 1 ลักษณะนะ

5. ผิวเผือกเป็น autosomal recessive หนูนิดมีคุณปู่ผิวเผือก (aa) คุณย่าผิวปกติ homozygous (AA) แสดงว่าคุณพ่อต้องเป็น Aa และมีคุณแม่เป็นพาหะ (Aa) สรุปแล้วหนูนิดเกิดจากพ่อ Aa X แม่ Aa นั่นเอง
5.1 โอกาสที่หนูนิดจะผิวเผือก = โอกาสได้ aa (จาก Aa X Aa) = 1/4
5.2 พี่ชายของคุณพ่อ ก็ต้องมีจีโนไทป์ Aa เหมือนกัน (เพราะคุณปู่ aa คุณย่า AA) แต่งงานกับหญิงผิวเผือก (aa) แล้วจะมีลูกผิวปกติ นั่นคือถามว่า โอกาสได้ A_ (จาก Aa X aa) มีค่าเท่ากับ 1/2

6. ข้อนี้เป็นข้อสอบ PAT ที่ค่อนข้างยากมากสำหรับม.ปลายเลยล่ะ
กำหนดให้คนเป็น achondroplasia มีจีโนไทป์ A_ และคนเป็น pseudoachondroplasia มีจีโนไทป์ B_ (เพราะทั้งสองโรคเป็น autosomal dominance) โดยยีนเอและยีนบีไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ดันได้ลูกมีฟีโนไทป์เป็นคนแคระเหมือนกัน
ทีนี้คุณพ่อเป็น A_bb (แคระแบบแรก) ส่วนคุณแม่เป็น aaB_ (แคระแบบหลัง) ถามว่าจะมีโอกาสที่จะมีลูกเป็น aabb หรือไม่ (ปกติ, ไม่แคระแบบไหนเลย)
แสดงว่าเราต้องรู้จีโนไทป์ที่แท้จริงของพ่อและไม่ ไม่ใช่แค่ A_bb หรือ aaB_ ซึ่งคำสำคัญที่สุดที่จะบอกเราได้คือคำว่า ‘กลายพันธุ์’ ซึ่งพี่ว่าเกินความรู้ม.ปลาย (แต่ก็ออกข้อสอบนะ)
ตามปกติแล้วโอกาสที่อยู่ดีๆยีนจะกลายพันธุ์แล้วเกิดโรคนั้นน้อยมากๆๆๆๆ แสดงว่าอัลลีล a และ b นั้นเป็นอัลลีลปกติ ส่วน A และ B นั้นเกิดจากการกลายพันธุ์จนทำให้เกิดโรค คนที่จะมีจีโนไทป์ Aa หรือ Bb (เป็นโรค) นั้นเกิดได้น้อยมาก เพราะการกลายพันธุ์เกิดได้น้อยมาก และคนที่จะมีจีโนไทป์ AA หรือ BB นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะต้องเกิดการกลายพันธุ์ที่เกิดได้น้อยมากถึงสองครั้งกับสองอัลลีลบนต่างแท่งของ homologous chromosome คือกลาย A ตั้ง 2 ครั้งแน่ะ หรือกลาย B ตั้ง 2 ครั้งแน่ะ ดังนั้นในโจทย์นี้คุณพ่อจึงเป็น Aabb คุณแม่เป็น aaBb เมื่อถามหาโอกาสที่จะได้ลูก aabb เท่ากับ
โอกาสได้ aa (จาก Aa x aa) X โอกาสได้ bb (จาก bb x Bb) = 1/2 X 1/2 = 1/4

7. หนูหน่อยมีจีโนไทป์ Aa แต่งงานกับชาย aa และมีลูก โอกาสที่จะมีลูกผิวเผือก (aa) จึงเท่ากับ 1/2 และโอกาสที่เธอจะมีลูกชาย เท่ากับโอกาสที่จะมีลูกสาว เท่ากับ 1/2
7.1 โอกาสที่ลูกชายของเธอจะผิวเผือก ก็ต้องเท่ากับ 1/2 เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหนๆ ผู้ชายหรือผู้หญิง เกิดมาก็ต้องเจอกับความเสี่ยง 1/2 ของการเป็นผิวเผือกทั้งสิ้น เพราะลักษณะนี้นำโดย autosome ที่เพศไม่มีผล
7.2 โอกาสที่เธอจะมีลูกเป็นชายผิวเผือก คือนอกจากจะต้องดูว่าเด็กที่เกิดมาจะโอกาสผิวเผือกเท่าไหร่แล้ว ยังต้องดูว่าเป็นชายหรือหญิงด้วย จึงใช้กฎการคูณเข้ามาช่วย คือ 1/2 x 1/2 = 1/4

8. ตัวเลข 1% ที่ให้มาเป็นตัวเลขหลอกๆที่โจทย์ให้เรามางงเล่นๆ หากเชื่อมโยงกับบทวิวัฒนาการแล้ว เราจะคำนวณโดยใช้สมดุลฮาร์ดีไวน์เบิร์กได้ว่า ในจังหวัดนี้มีประชากรจีโนไทป์ aa 1% Aa 18% และ AA 81% แต่การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพาหะของโรคนี้นั้น ถือว่าอยู่ใน 18% ของประชากรที่เป็นพาหะแล้ว ตัวเลข 1% ที่โจทย์ให้มานั้นจึงไม่เกี่ยวกับการคำนวณของเราเลย (หนังสือเฉลยข้อสอบเอนท์บางเล่มก็เฉลยข้อนี้ผิด)
สรุปคือผู้ว่ามีจีโนไทป์ Aa จบ
8.1 แต่งงานกับ Aa โอกาสได้ลูกที่ป่วยเป็น thalassemia (aa - นำโดย autosomal recessive) มีค่า
ได้ aa (จาก Aa x Aa) = 1/4 = 25%
8.2 ถ้าลูกเขาครึ่งหนึ่งมีโอกาสจีโนไทป์ Aa ลองแยกคิดกรณีดู
ถ้าแฟนเป็น AA เขาเป็น Aa โอกาสได้ลูก Aa ก็ครึ่งหนึ่ง
ถ้าแฟนเป็น Aa เขาเป็น Aa โอกาสได้ลูก Aa ก็ครึ่งหนึ่ง
ถ้าแฟนเป็น aa เขาเป็น Aa โอกาสได้ลูก Aa ก็ครึ่งหนึ่ง
สรุปคือไม่ว่าแฟนจะมีจีโนไทป์แบบไหน ลูกที่เกิดมาก็จะเป็นพาหะครึ่งหนึ่งเสมอ

9. มีแม่จีโนไทป์ XAXa ส่วนคุณพ่อนั้นได้รับโครโมโซม Y มาจากปู่ และ X มาจากย่า แสดงว่าพ่อมีจีโนไปท์ XaY เพราะคุณย่าตาบอดสี (XaXa)
9.1 พ่อ XaY และแม่ XAXa เมื่อเขียนด้วยวิธีกล่องอย่างที่พี่สอนจะพบว่าจีโนไทป์ลูกเป็น
XAY XaY XAXa XaXa
ลูกชายที่เกิดมาจะ 1/2 ปกติ 1/2 ตาบอดสี ลูกสาวที่เกิดมาจะ 1/2 เป็นพาหะ 1/2 ตาบอดสี
โอกาสที่พ่อแม่ของหนูน้อยมีบุตรสายตาปกติ = 2/4 = 1/2 (เพราะพาหะก็สายตาปกตินะ)
9.2 น้องที่เกิดมาจะเป็นน้องชายตาบอดสี เมื่อวาดแผนภาพกล่องเสร็จแล้วก็แหงนหน้าขึ้นไปดูพบว่า
โอกาสที่จะได้ลูกเป็นเป็นชายปกติ 1/4 ชายตาบอดสี 1/4 หญิงพาหะ 1/4 หญิงตาบอดสี 1/4 ดังนั้นคำตอบของข้อนี้คือ 1/4 นะครับ
อย่าลืมว่าโอกาสที่น้องชายที่เกิดมาจะตาบอดสี (1/2 – เพราะเรากำหนดเพศแล้วว่าเป็นชาย ยูนิเวอร์สคือลูกชาย) จะไม่เท่ากับโอกาสที่น้องที่เกิดมาจะเป็นชายตาบอดสี (1/4 – เพราะเรายังไม่กำหนดเพศ ยูนิเวอร์สคือลูกทั้งหมด นอกจากจะตาบอดสีแล้วต้องพิจารณาความเป็นผู้ชายด้วย ทั้งหมดดูได้จากแผนภาพกล่อง)

10. เหมือนจะยาก แต่คิดดูดีๆว่า erythroblastosis fetalis เกิดขึ้นในกรณีที่มีแม่เป็น Rh- และตั้งท้องลูก Rh+ มากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป (อยู่ในหนังสือหน้า 98)
- แสดงว่าดารณีและมีชัยต้องมีหมู่เลือดเป็น Rh+ เพราะเคยเป็นโรคนี้ตอนเด็กๆ
- ลูกของพวกเขาที่เกิดมาไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ เพราะดารณีมีหมู่เลือด Rh+ นั่นเอง

11. hemophilia เป็น X-linked recessive (Xa) ส่วน thalassemia เป็น autosomal recessive (b) ทั้งสองเป็นโรคเลือดเหมือนกันแต่แสดงอาการต่างกัน
คุณพ่อมีจีโนไทป์ bbXAY คุณแม่จีโนไทป์ BbXaXa
เมื่อแยกกรณี hemophilia ออกมาคิดก่อนด้วยแผนภาพกล่อง จะได้ลูก XaY XaY XAXa XAXa คือชายป่วยทั้งหมด และหญิงเป็นพาหะทั้งหมด
11.1 โอกาสที่ลูกของทั้งสองจะเป็นทั้งสองโรค = โอกาสเป็น hemophilia X โอกาสเป็น thalassemia
= 2/4 (ดูจากแผนภาพกล่อง คือชายป่วยสองคนในลูกสี่คน) X โอกาสได้ bb (จาก bb x Bb)
= 1/2 X 1/2 = 1/4
11.2 โอกาสที่ลูกที่เกิดมาจะเป็นผู้หญิงและเป็นพาหะของสองโรค
ความเป็นเพศให้หยิบจากแผนภาพกล่องมาใช้เลย คือ
โอกาสที่ลูกที่เกิดมาจะเป็นหญิงพาหะ hemophilia X โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ thalassemia
= 2/4 (ดูจากแผนภาพกล่อง คือหญิงพาหะสองคนในลูกสี่คน) X Bb (จาก bb x Bb)
= 1/2 x 1/2 = 1/4
(ลองคิดดูโดยให้ความเป็นเพศคูณสองเข้าไป
โอกาสที่ลูกที่เกิดมาจะเป็นพาหะ X โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ thalassemia X โอกาสที่ลูกจะเป็นหญิง
= 2/4 x 1/2 x 1/2 = 1/8 ซึ่งได้คำตอบไม่เท่ากัน และผิด ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อใดก็ตามที่เราคำนวณโดยใช้แผนภาพกล่อง ไม่จำเป็นต้องคูณ 1/2 ของความเป็นเพศเข้าไปอีก เพราะแผนภาพกล่องนั้นแยกเพศอยู่แล้ว)

12. สมชายจีโนไทป์ XaY
12.1 ถ้าเกิดมีลูกครึ่งนึงตาบอดสี แสดงว่าแม่น่าจะเป็นพาหะ (XAXa) เพราะถ้าเกิดปกติ (XAXA) ลูกน่าจะปกติหมด หรือถ้าเกิดตาบอดสี (XaXa) ลูกน่าจะตาบอดสีหมด ลองมาตรวจคำตอบดู
ถ้าเกิดแม่ XAXA แต่งกับสมชาย XaY หาจีโนไทป์ลูกโดยแผนภาพกล่อง ได้ XAY XAY XAXa XAXa คือปกติหมดจริงๆด้วย
ถ้าเกิดแม่ XAXa แต่งกับสมชาย XaY หาจีโนไทป์ลูกโดยแผนภาพกล่อง ได้ XAY XaY XAXa XaXa นั่นคือลูกจะ ชายปกติ ชายตาบอดสี หญิงพาหะ (ปกติ) หญิงตาบอดสี ตามลำดับ นั่นคือลูกปกติ และลูกตาบอดสี อย่างละครึ่ง และเป็นคำตอบ
ถ้าเกิดแม่ XaXa แต่งกับสมชาย XaY หาจีโนไทป์ลูกโดยแผนภาพกล่อง ได้ XaY XaY XaXa XaXa นั่นคือลูกตาบอดสีหมดจริงๆด้วย
12.2 พ่อตาตาบอดสี แสดงว่ามีจีโนไทป์ XaY พ่อตาจะถ่ายทอดโครโมโซม Y ไปให้ลูกชาย (พี่เมีย หรือน้องเมียของสมชาย) และถ่ายทอด Xa ไปให้ภรรยาของสมชาย ดังนั้นการที่เธอสายตาปกติ แต่มี Xa แสดงว่าเป็นพาหะ (XAXa) นั่นเอง
ภรรยา XAXa แต่งกับสมชาย XaY หาจีโนไทป์ลูกโดยแผนภาพกล่อง ได้ XAY XaY XAXa XaXa นั่นคือลูกจะ ชายปกติ ชายตาบอดสี หญิงพาหะ (ปกติ) หญิงตาบอดสี ตามลำดับ นั่นคือลูกที่เกิดมาจะตาบอดสีครึ่งหนึ่งทั้งสองเพศ

13. อย่าลืมว่า aves reptile butterfly ปลาดุกยักษ์ จะใช้ระบบโครโมโซมเพศแบบ ZW คือตรงข้ามกับในคน แม่ไก่จะเป็น ZW พ่อไก่จะเป็น ZZ (โดยคิดซะว่า Z เป็น X ของคน และ W เป็น Y ของคน)
แม่ไก่ลักษณะเด่นแสดงว่ามีจีโนไทป์ ZAW พ่อไก่ลักษณะด้อยแสดงว่าจีโนไทป์ ZaZa
ลูกเจี๊ยบที่เกิดมาเมื่อใช้แผนภาพกล่องจะได้เป็น ZaW ZaW ZAZa ZAZa นั่นคือ ตัวเมียลักษณะด้อย ตัวเมียลักษณะด้อย ตัวผู้เป็นพาหะ ตัวผู้เป็นพาหะ ตามลำดับ
สรุปคือ ตัวเมียด้อยทั้งหมด และตัวผู้พาหะทั้งหมดนั่นเอง

14. วิธีทำโจทย์หัวล้านต้องเขียนจีโนไทป์และฟีโนไทป์ขึ้นมาก่อน จะได้ไม่สับสน
B1 (ล้าน) จะเด่นในชายและด้อยในหญิง และ B2 (ไม่ล้าน) จะด้อยในชายและเด่นในหญิง
B1B1 ชายล้าน หญิงล้าน
B1B2 ชายล้าน หญิงไม่ล้าน
B2B2 ชายไม่ล้าน หญิงไม่ล้าน
ชายปกติ homozygous แสดงว่าจีโนไทป์ B2B2 หญิง heterozygous แสดงว่าไม่ล้าน B1B2
ลูกที่เกิดมาจะมีจีโนไทป์ 1 B1B2 : 1 B2B2
อยากรู้ฟีโนไทป์ต้องแยกเพศลูก คือ ชาย 1 ล้าน : 1 ไม่ล้าน และหญิง 1 : ไม่ล้าน : 1 ไม่ล้าน
14.1 ดังนั้นจึงได้ลูกหัวล้าน 1 ใน 4 คือ 25%
14.2 ชายผมปกติ 50% หญิงผมปกติ 100%

15. มี T จะรับรสได้ (บุคคลสีขาว) แสดงว่าบุคคลสีดำที่รับรสไม่ได้ เป็น homozygous recessive คือ tt
15.1 P มีจีโนไปท์ T_ คืออาจจะเป็น TT หรือ Tt ก็ได้ แต่เธอแต่งงานกับคนที่มีลักษณะด้อย (II-4) จีโนไทป์ tt แล้วได้ลูกที่มีลักษณะด้อย (III-3) นั่นแสดงว่าเธอก็ต้องมีอัลลีลด้อยแฝงอยู่และถ่ายทอดไปให้ลูกคนนั้นด้วย จีโนไทป์ของ P จึง = Tt
ส่วน Q นั้น ทั้งเขาและภรรยาของเขาต่างก็เป็นฟีโนไทป์เด่น (T_) แต่ลูกของเขาและเธอกลับแสดงลักษณะด้อยออกมา (IV-1) นั่นแสดงว่า ทั้ง Q และภรรยาต้องมีอัลลีลด้อย t แฝงอยู่คนละตัว และต่างคนก็ต่างถ่ายทอดให้ลูกคนที่แสดงลักษณะด้อย (IV-1) คนนั้น จีโนไทป์ของ Q จึง = Tt
15.2 จากข้อที่แล้ว R เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นพาหะทั้งคู่ คือ Q = Tt และ III-2 = Tt ดังนั้นโอกาสที่ R ที่เกิดจากพ่อ Tt และแม่ Tt จะรับรสสาร S ได้ (ฟีโนไทป์ T_ ลักษณะเด่น) มีค่าเท่ากับ 3/4 หรือ 75%

16.1 จีโนไทป์ที่ต่างกันใช้สูตร n(n+1)/2 เมื่อ n เป็นจำนวนอัลลีล = 4 จะได้ 4(4+1)/2 = 10 แบบ
ส่วนฟีโนไทป์ที่ต่างกันไม่มีสูตร ต้องนับเอาเองจากลักษณะของแต่ละอัลลีล และถ้ามีการข่มร่วมต้องเพิ่มลักษณะร่วมที่เกิดขึ้นมาด้วย คือ ขาว ดำ เหลือง แดง และบวกกับลักษณะร่วมที่เกิดจากการข่มร่วม คือ เทา (ดำ + ขาว) และ ส้ม (เหลือง + แดง) กลายเป็นทั้งหมด 6 ฟีโนไทป์
16.2 กระต่ายสีเหลืองจีโนไทป์แบบเดียวเท่านั้นคือ CYCY (เพราะถ้าเป็น CYCR จะกลายเป็นสีส้ม) ผสมกับสีขาวจีโนไทป์ CWCR จะได้ลูกจีโนไทป์สองแบบดังนี้คือ CWCY และ CYCR อัตราส่วน 1 : 1 นั่นคือฟีโนไทป์ขนสีขาว : ส้ม = 1 : 1

17.1 รุ่น F1 จะได้ลูกจีโนไทป์แบบเดียวคือ AaBbCc และเมื่อผสมเป็นรุ่น F2 จะใช้สูตรว่า มีจีโนไทป์ที่ต่างกัน 3n แบบ และฟีโนไทป์ต่างกัน 2n + 1 แบบ เมื่อ n คือจำนวนยีนที่ควบคุมลักษณะ
โจทย์นี้คุมโดย 3 ยีน (n = 3) จะได้จีโนไทป์รุ่น F2 = 33 = 27 แบบ และฟีโนไทป์รุ่น F2 = 2(3) + 1 = 7 แบบ
17.2 โอกาสที่รุ่น F2 จะมีจีโนไทป์ AABBCC หรือมีความสูง 1 m เหมือนต้นพ่อ = โอกาสที่รุ่น F2 จะมีจีโนไทป์ aabbcc หรือมีความสูง 58 cm เหมือนต้นแม่ = (1/4)n เมื่อ n = จำนวนยีนที่ควบคุมลักษณะ
โจทย์นี้คุมโดย 3 ยีน ดังนั้นจึงตอบ (1/4)3 = 1/64 กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เราต้องปลูกรุ่น F2 เป็นจำนวน 64 ต้น ถึงจะเจอต้นที่มีความสูงเท่าพ่อหนึ่งต้น หรือมีความสูงเท่าแม่หนึ่งต้น
17.3 ต้นพ่อความสูง 1 เมตรมีอัลลีลเด่น 6 อัลลีล ต้นแม่ความสูง 58 cm ไม่มีอัลลีลเด่นเลย
แสดงว่าอัลลีลเด่นที่เพิ่มมา 6 อัลลีลทำให้ความสูงเพิ่มขึ้น 1m - 58 cm = 42 cm นั่นคือ 1 อัลลีลเด่นทำให้ต้นโป๊ยเซียนสูงขึ้น 42 / 6 = 7 cm
พี่เพิ่งสังเกตว่ามันหายไปบรรทัดนึงครับ ต้องเปลี่ยนในหนังสือจาก 4) เป็น 5) นะ แล้วเติมโจทย์ข้อ 4) ลงไปว่า "โอกาสเกิดรุ่น F2 จีโนไทป์ AaBBcc มีค่าเท่าไหร่"
17.4 โอกาสเกิดรุ่น F2 จีโนไทป์ AaBBcc จากรุ่น F1 AaBbCc ผสมกันเอง
= โอกาสได้ Aa (จาก Aa x Aa) X โอกาสได้ BB (จาก Bb x Bb) X โอกาสได้ cc (จาก Cc x Cc)
= 1/2 X 1/4 X 1/4 = 1/32
17.5 โอกาสเกิดรุ่น F2 สูง 65 cm นั่นคือมีความสูงเพิ่มมาจากจีโนไทป์ที่ไม่มีอัลลีลเด่นเลย (aabbcc สูง 58 cm) อยู่ 7 cm,
จากข้อ 17.3 พบว่า 1 อัลลีลเด่นทำให้สูงขึ้น 7 cm แสดงว่า ความสูง 65 cm นั้นเกิดจากการมี 1 อัลลีลเด่นในจีไนไทป์
ทีนี้ F2 เกิดจาก AaBbCc มาผสมกัน ดังนั้นการจะได้ลูกที่มีอัลลีลเด่น 1 อัลลีลนั้นอาจจะเป็นกรณีไหนก็ได้ทั้งสามกรณีนี้ คือ Aabbcc หรือ aaBbcc หรือ aabbCc เราต้องนำโอกาสเกิดแต่ละจีโนไทป์มาบวกกันตามกฎการบวก
(1) โอกาสเกิด Aabbcc = โอกาสได้ Aa (จาก Aa x Aa) X โอกาสได้ bb (จาก Bb x Bb) X โอกาสได้ cc (จาก Cc x Cc) = 1/2 X 1/4 X 1/4 = 1/32
(2) โอกาสเกิด aaBbcc = โอกาสได้ aa (จาก Aa x Aa) X โอกาสได้ Bb (จาก Bb x Bb) X โอกาสได้ cc (จาก Cc x Cc) = 1/4 X 1/2 X 1/4 = 1/32
(3) โอกาสเกิด aabbCc = โอกาสได้ aa (จาก Aa x Aa) X โอกาสได้ bb (จาก Bb x Bb) X โอกาสได้ Cc (จาก Cc x Cc) = 1/4 X 1/4 X 1/2 = 1/32
โอกาสที่รุ่น F2 จะสูง 65 cm = โอกาสเกิด Aabbcc + โอกาสเกิด aaBbcc + โอกาสเกิด aabbCc = (1) + (2) + (3) = 1/32 + 1/32 + 1/32 = 3/32
17.6 การสร้างเซลล์สืบพันธุ์นั้นเราจะดูที่อัลลีลเด่นของแต่ละยีน เอ บี ซี ของทั้งพ่อและแม่
รุ่น F1 มีจีโนไทป์ AaBbCc มี 3 อัลลีลเด่นใน 3 ยีน มีโอกาสสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่มีอัลลีลเด่น 3 อัลลีล (ABC) 2 อัลลีล (AB, AC หรือ BC) 1 อัลลีล (A, B หรือ C) และ 0 อัลลีล
ส่วนต้นจีโนไทป์ AABbcc ที่เอามาผสมด้วย มี 3 อัลลีลเด่นใน 2 ยีน มีโอกาสสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่มีอัลลีลเด่น 2 อัลลีล (AB) และ 1 อัลลีล (A หรือ B)
ดังนั้นลูกที่เกิดขึ้น มีโอกาสได้รับอีลลีลเด่นมาสุด 5 อัลลีล (เอามากสุดของพ่อและแม่มารวมกัน = 3 + 2) และน้อยสุด 1 อัลลีล (เอาน้อยสุดของพ่อและแม่มารวมกัน = 0 + 1)
คิดเป็นความสูง 5x7 + 58 cm เท่ากับ 93 cm (มากสุด) และ 1x7 + 58 cm เท่ากับ 65 cm (น้อยสุด)

18. ข้อนี้เป็นข้อสอบเอนท์ที่เอา polygene (ขนาดฝัก) มาผสมกับลักษณะแบบเมนเดล (สีเมล็ด)
ถามว่าต้องปลูกอย่างน้อยกี่ต้น ถึงจะพบข้าวโพดที่..... แปลว่า "โอกาสที่จะได้ข้าวโพดที่..... มีค่าเท่าไหร่ ?"
โอกาสที่จะได้ F2 ที่มีขนาดฝักเท่าต้นแม่ และมีเมล็ดสีเหลืองแบบ heterozygous
= โอกาสที่จะได้ F2 ขนาดฝักเท่าต้นแม่ X โอกาสที่รุ่น F2 จะมีเมล็ดเหลืองแบบ heterozygous
= (1/4)3 X 1/2 = 1/128 นั่นคือต้องปลูกอย่างน้อย 128 ต้น
อธิบายเพิ่ม :
สำหรับ(1/4)3 นั้นเป็นสูตรของ polygene คือโอกาสที่จะพบรุ่น F2 เหมือนต้นพ่อหรือต้นแม่สักต้น
จะมีค่าเท่ากับ (1/4)n เมื่อ n = จำนวนยีนที่ควบคุมลักษณะ
และโอกาสได้เมล็ดสีเหลืองแบบ heterozygous นั้นพิจารณาจากการที่พ่อ DD ผสมแม่ dd จะได้ F1 เป็น Dd และโจทย์ถามหา F2 เป็น Dd (จาก Dd x Dd) ซึ่งมีค่า 1/2

19. ค.
พูดถึงแมลงที่กำหนดเพศด้วยระบบ XO และเซลล์ต่อมน้ำลายนั้นเป็นเซลล์ร่างกาย (somatic cell - จึงมีโครโมโซมสองชุด)
แต่เราจะเห็นว่าในภาพนั้น โครโมโซม 6 ไม่มีคู่ แสดงว่าเป็นโครโมโซม X และแมลงตัวนี้เป็นเพศผู้ เพราะมีโครโมโซม XO
โครโมโซมที่ได้รับมาจากแม่ คือ 1 หรือ 3 เลือกมาแท่งนึง, 4 หรือ 5 เลือกมาแท่งนึง, 2 หรือ 7 เลือกมาแท่งนึง (เพราะอีกแท่งที่ไม่ถูกเลือกจะมาจากพ่อ) และ 6 นั้นมาจากแม่แน่ๆ เพราะแมลงตัวผู้ (XO) นั้น จะได้ X มาจากแม่ (XX) และ O มาจากพ่อ (XO)
ก. ผิด เพราะไม่ได้เลือก 4 หรือ 5 แท่งใดแท่งหนึ่ง
ข. ผิด เพราะไม่มีโครโมโซม X (แท่ง 6)
ค. ถูก
ง. ผิด เพราะเลือก 1 และ 3 มาพร้อมๆกันไม่ได้ ต้องมีแท่งหนึ่งมาจากแม่และอีกแท่งมาจากพ่อ

20. ถ้าอยู่กันบนคนละโครโมโซม จะได้ว่า พ่อ AaBb ผสมกับแม่ AaBb อัตราส่วนฟีโนไทป์จึงเป็น A_B_ : A_bb : aaB_ : aabb = 9 : 3 : 3 : 1 เพราะเป็นการพิจารณาทีละสองลักษณะของ 2 ยีนที่เป็น heterozygous (เหมือน Ex 2 ในหนังสือ)
แต่ถ้าเกิดเป็น linkage กัน แสดงว่าเมื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ยีน A และ B บนแท่งโครโมโซมเดียวกันจะไม่แยกออกจากกัน พ่อ (ตัวซ้าย) จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ AB และ ab ส่วนแม่จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ AB และ ab เมื่อผสมกันโช๊ะเช๊ะ จะได้ลูกมีจีโนไทป์ AABB AaBb AaBb และ aabb ตามลำดับ นั่นคือมีฟีโนไทป์ A_B_ : aabb = 3 : 1

21. ให้ PP = ม่วง, Pp = ม่วง, pp = ขาว และ BB = ใหญ่, Bb = กลาง, bb = เล็ก
21.1 ม่วงพันธุ์แท้ขนาดปานกลางผสมกันเอง จีโนไทป์ PPBb x PPBb ยังไงๆลูกที่เกิดมาต้องมีดอกสีม่วงอยู่แล้ว (เพราะเกิดจาก PP x PP) เราจึงพิจารณาเฉพาะขนาดดอกดีกว่า
Bb x Bb = BB : Bb : bb = 1 : 2 : 1 = ใหญ่ : ปานกลาง : เล็ก (เป็นการผสมแบบเมนเดลโดยพิจารณาทีละ 1 ลักษณะ)
ดังนั้นเมื่อบวกกับการที่ต้องได้ม่วงแน่ๆ จึงได้อัตราส่วนลูก ม่วงใหญ่ : ม่วงปานกลาง : ม่วงเล็ก = 1 : 2 : 1 ด้วย
21.2 ต้นพ่อ homozygous dominance (PPBB) ผสมกับต้นแม่ homozygous recessive (ppbb) จะได้ F1 เป็น PpBb แล้วนำไปผสมกลับกับแม่ คือ PpBb x ppbb
โจทย์ถามหาโอกาสที่จะได้ดอกขาวขนาดปานกลาง (ppBb)
= โอกาสได้ดอกขาว X โอกาสได้ขนาดปานกลาง
= โอกาสได้ pp (จาก Pp x pp) X โอกาสได้ Bb (จาก Bb x bb)
= 1/2 X 1/2 = 1/4

22. ก.
ก. ถูก โดย II-3, III-1 และ III-2 เป็นพาหะ (Aa)
ข. ผิด เพราะถ้าเป็น autosomal dominance แล้ว III-1 หรือ III-2 ตัวใดตัวหนึ่งต้องเป็นโรค เพราะถ่ายทอดโรคไปให้ลูก IV-2 และ IV-3
ค. ผิด เพราะถ้าเป็น X-linked dominance แล้ว เมื่อพ่อ (I-1) เป็นโรค (XAY) ก็ต้องถ่ายทอดโรคไปให้ลูกสาวทุกๆคนผ่าน XA เสมอ แต่ลูกสาว II-1 และ II-2 กลับไม่เป็นโรค
ง. ผิด เพราะถ้าเป็น X-linked recessive แล้ว ลูก IV-2 จะมีจีโนไทป์ XaXa แสดงว่าได้รับอัลลีล Xa มาจากพ่อและแม่ นั่นแปลว่าพ่อ III-1 ก็ต้องป่วยเป็นโรคนี้ด้วย (XaY)

23. ลักษณะที่อยู่บน autosome นี้เป็นแบบ autosomal recessive เพราะถ้าเป็น aurosomal dominance นั้น ไม่พ่อหรือแม่ ก็ต้องป่วยเป็นโรคนี้ (A_) และถ่ายทอดอัลลีล A ไปให้สตรีหมายเลขหนึ่งด้วย
เธอมีจีโนไทป์ aa เมื่อแต่งงานกับผู้ชายปกติและไม่มีประวัติในครอบครัว (AA) โอกาสที่จะได้ลูกปกติคือ 100% หรือ 1 เพราะลูกที่เกิดมาทุกคนจะเป็นพาหะ Aa ทั้งสิ้น ไม่แสดงอาการ

24. โรคพร่องเอนไซม์ G6PD มีการถ่ายทอดแบบ X-linked recessive จะมีอาการแพ้ถั่วปากอ้า ทีนี้เราลองมาดูแต่ละคน
7 : ต้องเป็นพาหะแน่นอน เพราะพ่อมีจีโนไทป์ XaY เธอคนนี้ต้องได้รับ Xa มาจากพ่อ แต่กลับไม่มีอาการ แสดงว่าเป็นพาหะ
3 : อาจจะเป็นพาหะ หรือปกติก็ได้ เพราะมาจากครอบครัวที่ไม่รู้ประวัติ และการที่มีลูก (7) เป็นพาหะนั้นก็บอกอะไรไม่ได้ เพราะลูกรับอัลลีลด้อยมาจากพ่อ
1 : ต้องเป็นพาหะแน่นอน
4 : บอกไม่ได้ เพราะเป็นลูกสาวที่เกิดจาก แม่ที่เป็นพาหะ และพ่อที่ปกติ เธออาจจะปกติหรือเป็นพาหะก็ได้
5 : เป็นพาหะแน่นอน เพราะลูกชายของเธอป่วยเป็นโรค ซึ่งลูกชายจะได้รับ Y มาจากพ่อ และรับ Xa มาจากเธอนั่นแหละ ซึ่งเธอไม่แสดงอาการแสดงว่าเป็นพาหะ ได้รับอัลลีลด้อยมาจากแม่ (1) ที่เป็นพาหะ และรับอัลลีลเด่นมาจากพ่อ (2) ที่เป็นปกติ
ส่วน 2 และ 6 นั้นเป็นผู้ชาย ไม่มีการเป็นพาหะนะ มีแค่เป็นโรค / ไม่เป็น

25. พ่อกรุ๊ป A และแม่กรุ๊ป B ต้องมีจีโนไปท์ IAi และ IBi ตามลำดับ เพราะมีลูกกรุ๊ป O (ii) ซึ่งรับอัลลีล i มาจากพ่อและแม่
พ่อเป็น Rh+ (D_) และแม่เป็น Rh- (dd) มีลูกทั้ง Rh+ และ Rh- แสดงว่าพ่อมีจีโนไทป์ Dd (เพราะถ้าเป็น DD ลูกที่เกิดมาต้องเป็น Dd คือ Rh+ ทั้งหมด)
สรุปคือ พ่อ DdIAi แม่ ddIBi
25.1 โอกาสที่ลูกคนถัดไปจะกรุ๊ป O (ii) คือโอกาสได้ ii (จาก IAi x IBi) เท่ากับ 1/4
25.2 โอกาสที่ลูกจะเป็น erythroblastosis fetalis
ต้องเข้าใจก่อนว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อแม่เป็น Rh- และมีลูก Rh+ คนที่สองเป็นต้นไป นั่นหมายความว่าถ้าคุณแม่คนนี้มีลูกเกิดมาเป็น Rh+ อีกคนก็จะทำให้เป็นโรคแน่ๆ
โอกาสเป็นโรค = โอกาสลูกเป็น Rh+ = โอกาสได้ D_ (จาก Dd x dd) เท่ากับ 1/2


Create Date : 03 ตุลาคม 2552
Last Update : 19 ตุลาคม 2552 20:21:13 น. 36 comments
Counter : 116313 Pageviews.  

 
ดีค่ะ ได้ความรู้ดี



โดย: หมี่สึ IP: 192.168.212.55, 127.0.0.1, 118.172.71.72 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2552 เวลา:16:29:09 น.  

 
คือข้อ10 ตอนที่1 สีตาของคน ทำไมถึงขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้วยหรอครับ คือผมเคยเรียนมาว่าสีตาของคนไม่แปรผันตามสิ่งแวดล้อมนี่ครับ ลักษณะพันธุกรรมต่าง ๆ ที่ควบคุมด้วยยีนนั้น [ ยีนบางตัวจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อม เช่น สีตาคน หมู่เลือด จะอยู่เมืองร้อนหรือเมืองหนาวก็สีตาและหมู่เลือดอย่างเดิม ] อันนี้ก็ลองหาจากเว็บมาน่ะครับ รบกวนช่วยอธิบายทีนะครับ เผื่อเข้าใจโจทย์ผิด


โดย: Aui IP: 202.28.62.245 วันที่: 13 มกราคม 2553 เวลา:22:19:04 น.  

 
- อ่า ไม่เคยคิดถึงเลยครับ รู้แค่ว่าเป็น polygene เลยคิดว่าต้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบ้าง
- เคยอ่านผ่านๆว่าควบคุมโดยยีนอย่างน้อยสามยีน ไล่เป็นเฉดสีต่างๆ น้ำตาล ฟ้า ฯลฯ
- ค้นผ่านๆใน google ให้ เค้าบอกประมาณว่าสีตาคนเราเปลี่ยนแปลงได้ครับ โดยเฉพาะฝรั่งจะโพสท์กระทู้ถามกันมากเกี่ยวกับเฉดสีตาเปลี่ยนไปเวลาเข้าสู่วัยรุ่น มหัศจรรย์มากๆ
(ผมว่าตาคนไทยดำปี๋ตั้งแต่เกิดเลยอาจไม่สังเกตมั้ง^^)
//www.thetech.org/genetics/ask.php?id=30
//humangenetics.suite101.com/article.cfm/understanding_eye_color_prediction
ฯลฯ
- ปัจจัยพันธุกรรมเกี่ยวกับโรคบ้าง ยาบ้าง การเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนที่เกียวกับการสร้าง pigment บ้าง
- ส่วนหมู่เลือด ABO ไม่ได้เป็น polygene แต่เป็น single gene ที่มี multiple allele, codominance ดังนั้นอยู่ที่ไหนๆก็ไม่ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมครับ
- อีกตัวอย่างหนึ่งที่เหมือนจะไม่ขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลายนิ้วมือ เค้าบอกว่าสิ่งแวดล้อมขณะตั้งครรภ์ก็มีผลเหมือนกันนะ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 13 มกราคม 2553 เวลา:23:39:48 น.  

 
ขอบคุณมากๆครับ เป็นความรู้ใหม่เลย


โดย: Aui IP: 202.28.62.245 วันที่: 14 มกราคม 2553 เวลา:0:10:45 น.  

 
ตรงข้อที่4 ในตอนที่2 อ่ะคับ
ถั่วลันเตาที่เอามาผสมอาจเป็น RrYy ก็ได้นี่ครับ
ถึงแม้ว่ามันจะได้ 9:3:3:1
แต่ถ้าเราพิจารณาแค่กลมเหลือง : กลมเขียว = 9:3 = 3:1


โดย: ณัฐ IP: 125.26.150.140 วันที่: 20 เมษายน 2553 เวลา:15:07:16 น.  

 
อืมเข้าใจที่น้องว่าแหละ
ถ้าพิจารณาแค่กลมเหลือง:กลมเขียว ก็ 3:1
ถ้าพิจารณาแค่กลมเหลือง:ขรุขระเหลือง ก็ 3:1
แต่ถ้าเจอโจทย์ที่ไหนๆคำว่าอัตราส่วนในรุ่นลูก มันควรจะแปลว่าทั้งหมดมากกว่าที่จะเลือกเอามาคิดแค่ครึ่งหนึ่งนะ
ถูก แต่ยังไม่ถูกที่สุดอะครับ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 20 เมษายน 2553 เวลา:18:37:02 น.  

 
พี่เต้น ถามข้อสอบ PAT หน่อยคับ
"ยีนที่ควบคุมตาสีน้ำตาลเป็นลักษณะเด่นต่อตาสีฟ้า หากพ่อแม่ที่มีจีโนไทป์ของสีตาเป็นเฮเทอโรไซกัสแต่งงานกัน จะมีโอกาสได้ลูกตาสีฟ้า 2 คน และตาสีน้ำตาล 1 คน เป็นเท่าใด"
ก. 1/4 ข. 1/16 ค. 1/32 ง. 3/64
สมมติว่านำตาล=A , ฟ้า=a
จะได้ว่า Aa x Aa ได้ 1/4AA , 2/4Aa , 1/4aa
ดังนั้นโอกาสเท่ากับ 1/4 x 1/4 x 3/4 = 3/64
แต่ถ้าคิดแบบ binomial คือ
ให้ p=โอกาสเกิดตาสีนำตาล , q=โอกาสเกิดตาสีฟ้า
(p+q)^3 = p^3+3p^2q+3pq^2+q^3
โอกาส = 3pq^2 = 3x(3/4)x(1/4)^3 = 9/64
แล้วแบบไหนถึงถูกอ่ะคับ


โดย: ณัฐ IP: 125.26.194.101 วันที่: 21 เมษายน 2553 เวลา:9:48:16 น.  

 
ต้องคิดแบบ binomial ครับ
1/4 x 1/4 x 3/4 ที่น้องเขียนมามันแปลว่าลูกคนสุดท้องเป็นสีน้ำตาลอะ
ต้องเป็น (1/4 x 1/4 x 3/4) + (1/4 x 1/4 x 3/4) + (1/4 x 1/4 x 3/4) = 9/64
คือคิดกรณีที่ลูกคนแรกกับลูกคนกลางเป็นสีน้ำตาลด้วย

ในความน่าจะเป็นม.หกก็ใช้สูตร nCr อะไรซักอย่างอะ
จะได้ 3C1(3/4)1(1/4)2 = 9/64 เหมือนกัน


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 21 เมษายน 2553 เวลา:23:50:16 น.  

 
พี่ขาถามหน่อย พยายามทำแล้วแต่ทำไม่ได้ พี่ช่วยด้วย
1. หญิงคนหนึ่งมีพี่ชายเป็นโรค x-recessive เป็นผลให้ผู้ป่วยตายก่อนวัยเจริญพันธุ์ โอกาสที่ลูกของหญิงคนนี้จะเป็นโรคนี้เท่าใด
ก. 1/2 ข. 1/4 ค. 1/8 ง. 1/16
2. ถ้าเกืด non-disjuntion ที่เซลล์สืบพันธุ์ของแม่จะมีโอกาสเกิดลูกที่ผิดปกติแบบใดบ้าง
ก. xo ข. OY ค. XXY ง. XXX
1. ก และ ข 2. ข และ ค 3. ค และ ง 4. ก ข ค และ ง

3. ข้อใดกล่าวถูกต้อง
1. ลูกสาวหัวล้าน ต้องมีพ่อหัวล้าน 2. แม่หัวล้านจะมีลูกชายหัวล้านเสมอ 3. แม่ปกติ อาจจะมีลูกชายหัวล้าน 4. แม่ปกติจะมีลูกชายปกติเสมอ

4. สัตว์ชนิดหนึ่งมีจีโนไทป์เป็น Aa bb จีโนไทป์ของสปอร์มาโทโกเนียมของสัตว์ตัวนี้ คือ ข้อใด
1. Aa bb 2. AA bb 3. Ab และ ab 4. Aa และ bb

5. หญิงคนหนึ่งตาปกติ มีพ่อเป็นโรคตาบอดสี แต่งงานกับชายตาบอดสี มีลูกชายคนหนึ่งและลูกสาวคนหนึ่ง จงหาร้อยละของลูกชายและลูกสาวทั้งสองคนนี้ที่ตาบอดสีตามลำดับ
1. 25 และ 25 2. 25 และ 50 3. 50 และ 25 4. 50 และ 50


โดย: pung IP: 125.24.4.247 วันที่: 24 เมษายน 2553 เวลา:22:45:35 น.  

 
พี่คะ หนูไม่เข้าใจ คำว่า 3:1 อ่ะค่ะ คือ ถ้ามีหลาน 4 คน ก็จะเด่น 3 คน และด้อย 1 คนใช่มั้ยคะ แล้วถ้ามีหลาน 5,6,7 คน จะแบ่งสัดส่วนยังไงอ่ะคะ


โดย: kigkapoo IP: 183.89.197.174 วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:14:15:10 น.  

 
ตอบช้ามาก ขออภัยนะครับ^^

# น้อง pung
1. พี่ชายผญคนนี้เป็น XaY ซึ่งเขาได้ Y มาจากพ่อและ Xa มาจากแม่
อนุมานให้แม่ของผญคนนี้จีโนไทป์ XAXa เพราะโจทย์ไม่บอกว่าแม่ของเธอเป็นโรค และโอกาสที่ประชากรจะเป็น XaXa นั้นมีน้อยมาก
พ่อของผญคนนี้เป็น XAY เพราะโจทย์ไม่บอกว่าพ่อเป็นโรค
ผญคนนี้อาจจะเป็น XAXA หรือ XAXa ก็ได้ โอกาสเท่าๆกัน 1 ใน 2
ลูกของผญคนนี้จะเป็นโรคก็ต่อเมื่อเทอมีจีโนไทป์ XAXa
เมื่อเทอแต่งงานกับชาย XAY (โจทย์ไม่บอกว่าคู่สมรสเป็นโรค)
จะมีลูกจีโนไทป์ XAY, XaY, XAXA, XAXa นั่นคือเป็นโรค 1 ใน 4 (ลูกชายนั่นเองที่มีโอกาสเป็นโรค)

สรุป โอกาสที่ลูกของผญคนนี้จะเป็นโรค
= โอกาสที่เทอจะเป็นพาหะ (XAXa) x โอกาสที่ลูกของเทอจะเป็นโรค
= 1/2 x 1/4 = 1/8 ตอบ#

2. เปิดหน้า 197 พบว่า non-disjunction ทำให้ได้เซลล์สืบพันธุ์เป็น XX หรือ O ก็ได้ ทั้งๆที่ควรจะได้ X
XX หรือ O อาจจะไปผสมกับอสุจิที่เป็น X หรือ Y
ทำให้ได้ XXX, XXY, XO, YO ก็ได้ (แต่ YO นี่ไม่เกิดมาเป็นคนนะ)
ตอบ ง.

3. เปิดตารางหน้า 184 ประกอบนะ
1. ถูก - ลูกสาวหัวล้าน (B1B1) ต้องรับ B1 มาจากพ่อ ซึ่งต้องหัวล้าน (B1__)
2. ถูก - แม่หัวล้าน (B1B1) ควรจะมีลูกชายหัวล้าน เพราะถ่ายทอด B1 ไปให้
3. ถูก - แม่ปกติ อาจจะมีลูกชายหัวล้านได้ ถ้า 1) แม่เป็น B1B2 หรือ มีพ่อหัวล้าน (B1__)
4. ผิด - แม่ปกติ ไม่จำเป็นต้องมีลูกชายปกติ เหตุผลเดียวกันกับข้อ 3.

4. genotype ของ spermatogonium ก็เหมือนกับของร่างกาย เพราะยังไม่มีการแบ่งไมโอซิสใดๆ
ตอบ Aabb

5. ผญที่ตาปกติและมีพ่อตาบอดสี ต้องเป็นพาหะแน่นอน (XAXa)
แต่งงานกับชายตาบอดสี (XaY)
เขียนแผนภาพกล่องลูกที่เกิดขึ้นทั้งหมด
XAY, XaY, XAXa, XaXa
จะได้ว่าลูกชายจะตาบอดสีครึ่งหนึ่ง ลูกสาวจะตาบอดสีอีกครึ่งหนึ่ง (อีกครึ่งเป็นพาหะ)

# น้อง kigkapoo
- คำว่า 3:1 คือโอกาสที่จะมีอัตราส่วนลูกเด่น : ด้อยครับ
แบบนี้เราจะเห็นชัดเจนขึ้นถ้าเกิดมีลูกหลายร้อยหลายพันตัว
เช่นถั่วลั่นเตา สมมติปลูก 1000 ต้น โอกาสที่จะมีเด่น 750 ต้นและด้อย 250 ต้นนั้นมีมาก
หรือโอกาสที่จะมีลูกอัตราส่วนใกล้เคียงกันนี้ ก็มีมาก
เช่น 744 : 256 (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะรู้ว่าตัวเลขสองตัวนี้เข้าใกล้ 3:1 จริงๆหรือเปล่าต้องใช้วิชาสถิติเข้าช่วย)
- แต่สมมติว่าคนที่มีลูกไม่กี่คน สมมติว่ามี 4 คนนะ
จะมีลูกได้หลายแบบใช่ไหม
เด่น4ด้อย0, เด่น3ด้อย1, เด่น2ด้อย2, เด่น1ด้อย3, เด่น0ด้อย4
แต่เมื่อใช้ความน่าจะเป็นแบบ binomial คิดจะพบว่า โอกาสในการเกิดลูกต่างๆเหล่านี้จะเป็น
31.64, 42.19, 21.09, 4.69, 0.39% ตามลำดับ
นั่นคือโอกาสเกิดลูก เด่น 3 คน ด้อย 1 คน มีมากสุดนั่นเอง
(แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเด่น 3 ด้อย 1, แบบอื่นๆก็เกิดขึ้นได้เพียงแต่'โอกาส'น้อยกว่า)
- แล้วถ้ามีลูก 5 คน (หรือ 6,7,...) ซึ่ง 3 หารไม่ลงตัว
นั่นก็ไม่เป็นปัญหา เพราะโอกาสที่จะเกิดลูกเด่น : ด้อยนั้นจะเลือกที่ใกล้เคียง 3:1 มากที่สุด
5 คนใช่ไหม ก็จะเกิดแบบต่างๆได้ดังนี้
เด่น5ด้อย0, เด่น4ด้อย1, เด่น3ด้อย2, เด่น2ด้อย3, เด่น1ด้อย4, เด่น0ด้อย5
อัตราส่วนเด่นต่อด้อยก็จะเป็น
5:0, 4:1, 3:2, 2:3, 1:4, 0:5 ใช่ไหม
คิดๆดูจะพบว่า 4:1 มันเข้าใกล้ 3:1 มากที่สุด ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดลูกเด่น 4 คน ด้อย 1 คนจากการมีลูก 5 คน จึงมากที่สุด
(ลองคิดดูก็จะพบโอกาสแบบต่างๆเป็น
23.73, 39.55, 26.37, 8.79, 1.46, 0.10% ตามลำดับ)
- สรุปก็คืออัตราส่วน 3:1 นั้นหมายถึง
โอกาสที่จะเกิดลูกเด่น:ด้อย เป็น 3:1 นั้น มีโอกาสมากสุด
โดยเฉพาะเมื่อมีลูกจำนวนมาก อัตราส่วนนี้ก็จะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หวังว่าคงเข้าใจนะ ^^


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 18 พฤษภาคม 2553 เวลา:14:01:32 น.  

 
พี่เต๊นคะ ถามข้อ 2/17.2 ค่ะ
ข้อนี้ทำไมไม่ตอบเป็น 1/32 คะ
คำว่า"หรือ"ต้องนำมายูเนียนกันไม่ใช่หรอคะ
คือได้รุ่น F2 ที่เหมือนแม่ 1/64 และเหมือนพ่อ 1/64
ดังนั้นโอกาสที่จะพบต้นที่เหมือนพ่อ"หรือ"แม่ น่าจะเป็น 2/64 ซึ่งเท่ากับ 1/32


โดย: ปัน IP: 118.173.168.146 วันที่: 22 ตุลาคม 2553 เวลา:12:32:47 น.  

 
แอบขำ ข้อ 11
หนูคิดแบบ คูณเพศหญิงเข้าไปด้วยเป๊ะๆ เลย
ทั้งๆที่ก็โยงแล้วแท้ๆ

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ :)
อ่านหนังสือพี่ แล้วรู้สึกชีวะสนุกจริงๆ


โดย: nekonelo IP: 58.11.73.64 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2553 เวลา:17:21:32 น.  

 
ไม่เข้าใจเฉลยเล่มพิมพ์ครั้งที่ 8 เรื่องการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ตอนที่ 2 ข้อ17.3 ค่ะ
ไม่ทราบว่า max = 93cm คิดจากไหนหรอคะ


โดย: นุ่น IP: 58.11.80.178 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา:18:04:23 น.  

 
1.กฎการบวก-ใช้เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่ในuniverseเดียวกัน ex โอกาสได้ลูกผิวเผือก (มันหมายความว่ายังไงคับ???งง)
2.กฎการคูน-เหตการเกิดต่อหรือพร้อมกัน (มันหมายความว่ายังไงคับ???งงเช่นกัน)
3.ในกรอบหน้า 176 "นี่คือเรื่องเข้าใจผิดกันมากสุด"ตรงกฎข้อ2 แยกเป็น 2 วงคือแยก sis-tid ออกจากกันแล้วหรือยังเป็น homolog กันอยู่ครับ


โดย: ตั้ม IP: 118.173.100.91 วันที่: 10 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:38:41 น.  

 
พี่คะ เพศชายเป็นพาหะได้ด้วยหรอคะ ที่หนูเรียนมาคือครูบอกว่าพาหะพบเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้นอ่ะคะ


โดย: PARTY IP: 124.122.215.73 วันที่: 31 กรกฎาคม 2554 เวลา:9:26:00 น.  

 
ดีใจจัง.....เก็ทเรื่องพวกนี้ซักที งมมานานเหลือเกิน
ขอบคุณ แบบฝึกหัดท้ายบทที่พี่แต่งนะค้ะ
ทำให้เข้าใจขึ้นมากมายคร้าา
จะพยายามทบทวนค่ะ




โดย: WBC IP: 61.19.66.54 วันที่: 6 พฤศจิกายน 2554 เวลา:21:27:44 น.  

 
ขอบคุณครับ ช่วยให้ผมรู้เรื่องมากขึ้นเลย :)


โดย: Gim IP: 58.8.40.65 วันที่: 28 มีนาคม 2555 เวลา:11:53:15 น.  

 
สงสัยข้อ 14.1 ค่ะ
ได้มา ชาย 1 ล้าน : 1 ไม่ล้าน และหญิง 1 : ไม่ล้าน : 1 ไม่ล้าน
แล้วทำไมลูกหัวล้านถึงเป็น 1/4 อ่าคะ ล้าน 2 คนไม่ใช่หรอ


โดย: BT IP: 1.4.164.91 วันที่: 21 กรกฎาคม 2555 เวลา:10:29:55 น.  

 
อ่ออ ทราบแล้วค่ะที่ถามไปด้านบน ดูผิดนี่เอง อิอิ


โดย: ฺBT IP: 1.4.164.91 วันที่: 21 กรกฎาคม 2555 เวลา:10:31:53 น.  

 
ขอบคุณนะค่ะพี่ถ้าไม่มีหนังสือของพี่ ชีวหนูคงไม่รอด


โดย: ink IP: 124.121.175.174 วันที่: 30 ตุลาคม 2555 เวลา:16:50:16 น.  

 
พี่ครับ ทำไมจำนวนฟีโนไทป์ของ poly gene ถึงเท่ากับ 2n+1 ครับ ผมคิดว่า f2 ของ AABB x aabb มันจะได้ฟีโนไทป์เป็น 1.A_B_ 2.A_bb 3.aaB_ 4.aabb มันเป็น4แบบก็ไม่ตรงกับสูตรนี่ แล้วก็ถ้าเป็น AABBCC x aabbcc ผมลองเขียนดูแล้วมันได้8แบบ หรือผมเข้าใจอะไรผิดประการใด ช่วยตอบด้วยครับ


โดย: Toon IP: 115.87.212.94 วันที่: 31 ตุลาคม 2555 เวลา:2:49:11 น.  

 
อีกอย่างครับ ตรงที่ว่า โอกาสที่รุ่นf2 จะเหมือนกับp ตัวใดตัวหนึ่ง คือ (1/4)^n คือผมสงสัยว่า อย่างข้อ17.2 เนี่ย โอาสที่รุ่น f2 จะเหมือนกับรุ่นพ่อแม่ต้นใดต้นหนึ่งมีเท่าไหร่ คือผมคิดว่ามันน่าจะหมายความว่า หมายถึงรุ่นแรก คือพ่อหรือแม่ก้ได้ ดังนั้นโอกาสน่าจะเป็น 1/32 มาจาก ตามสูตร แล้วก็คูณ2มากกว่าไม่ใช่เหรอครับ


โดย: Toon IP: 115.87.212.94 วันที่: 31 ตุลาคม 2555 เวลา:2:55:33 น.  

 
ข้อ 18 ตอนที่2
ต้นเหมือนต้นแม่ ต้อง (1/4)^4 ไม่ใช้หรอครับ
ทำไมพี่ยกกำลังแค่ 3 ??


โดย: Morning IP: 223.205.0.189 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2556 เวลา:20:54:30 น.  

 
Hi Case! Good for you AND your wife for quitting. We are proof it can be done. Your mother-in-law made it far longer than mom…she was only 72 when she passed. Dad made it to 80 and I intend to prove that you can last MUCH longer when you quit early. But like I hope that I explained, with mom, her last 5 years were definitely not the best. Far too much is given up if we don’t quit so it’s better to do anything and everything we can to do it–and help those we love do the same!!! So nice that you were able to help your wife quit (and STAY that way!) Thank you for sharing both of your stories with us. ~Kathy
pre owned cartier love bracelet replica //www.yellowgoldlovejewelry.com/cartier-love-bangle-modified-the-purpose-of-jewellery-during-the-style/


โดย: pre owned cartier love bracelet replica IP: 192.99.14.36 วันที่: 24 กรกฎาคม 2558 เวลา:16:42:30 น.  

 
美少女!素晴らしいポスト | これがしたこれはされています。 この情報 。
新作男女 国内即発 //dev.mhwebb.se


โดย: 新作男女 国内即発 IP: 192.99.14.36 วันที่: 23 กันยายน 2558 เวลา:16:11:02 น.  

 
今それ思わのように利用できる|そこにブログプラットフォームDrupalの ですたった今。 あなたがしているあなたがしている、あなたのブログに使用して(私は何を読んでからは)何ということはありますか?
一部予約販売 限定sale全国無料 //ibnam.org


โดย: 一部予約販売 限定sale全国無料 IP: 157.7.52.183 วันที่: 27 ตุลาคม 2558 เวลา:15:50:23 น.  

 
//www.kringloopwinkelvollenhove.nl国内即発 新品入荷低価
最大80% off 国内即発 //mojmasti.org


โดย: 最大80% off 国内即発 IP: 218.251.113.57 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2558 เวลา:21:05:32 น.  

 
私は 非常にも能力 書き込み |あなた} {ブログへ|あなたの内|あなたの|あなたのための構造|形式| レイアウトでなど。それ| 変更カスタマイズ はあなたの自己 またはあなたがたの支払った| これは、これはということですか? とにかく | それはそれはだ、書き込み| 高品質品質 | | 優れた素敵まで保つ滞在 ピア·ツー 偉大 ブログ これらの日 ..
キーケース 激安 土日祝も発送 //chefko.com


โดย: キーケース 激安 土日祝も発送 IP: 157.7.52.183 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2558 เวลา:16:33:36 น.  

 
非常に急速このサイト すべて なかのうち有名になります、それはだが原因楽しい コンテンツ
一部予約販売 安い卸売,即日発送 //aop.europaplus.pl


โดย: 一部予約販売 安い卸売,即日発送 IP: 157.7.52.183 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2558 เวลา:15:59:48 น.  

 
あなたの 情報 は本当に 興味深いユニーク|重要な|重要|アピール|役立つ|有用|エキサイティング|興味深いです。
国内即発 安心査定 //www.alexanderhomestead.com


โดย: 国内即発 安心査定 IP: 133.130.49.172 วันที่: 1 ธันวาคม 2558 เวลา:15:32:07 น.  

 
うわー これは 役に立ちます ウェブページ。
完売これで最後 国内関税込 //shirakobato.net


โดย: 完売これで最後 国内関税込 IP: 157.7.52.183 วันที่: 4 ธันวาคม 2558 เวลา:21:58:12 น.  

 
仕事仕事! サスラヴィンそれ!
[url=//pockethercules.com]即日出荷 送料無料 30日間返品無料[/url]


โดย: 即日出荷 送料無料 30日間返品無料 IP: 157.7.52.183 วันที่: 13 ธันวาคม 2558 เวลา:16:15:41 น.  

 
พี่ครับข้อ 16 อ่ะครับมันเป็นการข่มร่วมกันแล้วทำไมถึงเป็นการผสมสีอ่ะครับ ทำไมไม่แสดงออกมาทั้งคู่อย่างสีดำกับสีขาว หรือสีแดงกับสีเหลือง ถ้ามันผสมกันมันก็จะเป็นแบบข่มไม่สมบูรณ์ไม่ใช่หรอครับ


โดย: Get IP: 171.6.134.170 วันที่: 18 กันยายน 2559 เวลา:0:21:04 น.  

 
.No.1, N . !2 }}}}}}
https://www.2bcopy.com/product/product-7521.html


โดย: Chato IP: 205.178.183.59 วันที่: 16 พฤษภาคม 2566 เวลา:15:19:59 น.  

 
202310% ! 100% ()! : }}}}}}
https://www.bagssjp.com/product/detail-9090.html
https://www.bagssjp.com/product/detail-7839.html
https://www.bagssjp.com/product/detail-97.html
https://www.bagssjp.com/product/detail-4564.html
https://www.bagssjp.com/product/detail-2739.html


โดย: Moinalo IP: 205.178.183.59 วันที่: 17 พฤษภาคม 2566 เวลา:8:25:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

มิสเตอร์คัสตาร์ด
Location :
Igloo house Antarctica

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 240 คน [?]




เมลล์มาคุยกันได้นะครับ
tentaroro@yahoo.com :)

[Add มิสเตอร์คัสตาร์ด's blog to your web]