Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
3 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 
ขึ้นดอย เข้าป่า ตามหาช้างเผือกกันเถอะ

ภาพถ่ายทางช้างเผือกทางทิศตะวันออก บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ แห่งดอยอินทนนท์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งทัศนวิสัยของท้องฟ้าใส เคลียร์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นบริเวณใจกลางทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน (ภาพโดย: ชนากานต์ สันติคุณาภรณ์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Nikon 14-24 mm. / Focal length : 15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)
       ช่วงกระแสข่าวการตามหาช้างเผือกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลายคนคงให้ความสนใจกันไม่น้อย สำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอย่างพวกผมก็ได้ให้ความสนใจกับช้างเผือกเช่นกัน แต่ช้างเผือกที่ว่านี้มันคือ “ช้างเผือกที่อยู่บนฟ้า” ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึงทางช้างเผือก ซึ่งเป็นกาแล็กซีของเรานั่นเองครับ

        การสังเกตทางช้างเผือกนั้น เมื่อมองบนท้องฟ้าจะปรากฏเป็นแถบขมุกขมัวคล้ายเมฆของแสงสว่างสีขาว ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์จำนวนมากภายในกาแล็กซีที่มีรูปร่างเป็นแผ่นจาน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งปี แต่บริเวณที่สามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้สว่างชัดเจนมากที่สุด จะอยู่ที่บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นทิศทางไปสู่ใจกลางทางช้างเผือก

ภาพตัวอย่างใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ในช่วงเดือนมิถุนายน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลังเที่ยงคืน โดยการสังเกตนั้นเราจะใช้กลุ่มดาวนี้เป็นตำแหน่งอ้างอิง
ทำความเข้าใจกันก่อน

        สำหรับประเทศไทยนั้น การสังเกตใจกลางทางช้างเผือก ฃจะอยู่ใกล้บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู และปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ ไม่สูงมากนัก หากใครที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศก็จะมีโอกาศสังเกตใจกลางทางช้างเผือกได้ค่อนข้างดีกว่าเนื่องจากทางภาคใต้จะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ได้มากกว่าทางภาคเหนือค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าหลายองศาเลยทีเดียว เพราะยิ่งทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามากเท่าไหร่ ก็จะหลีกหนีอุปสรรคของมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าได้มากเท่านั้น ทำให้สังเกตทางช้างเผือกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ภาพทางช้างเผือกเหนือพระธาตุศรีสุราษฎร์บนยอดเขาท่าเพชร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถสังเกตใจกลางทางช้างเผือกในตำแหน่งที่สูงจากขอบฟ้าค่อนข้างสูงกว่าทางภาคเหนือ (ภาพโดย : ชนากานต์ สันติคุณาภรณ์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Nikon 14-24 mm. / Focal length :15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 44s)


ภาพถ่ายทางช้างเผือกเหนือยอดเจดีย์ วัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน (ภาพโดย : สิทธิพร เดือนตะคุ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon Fish Eye 15mm. / Focal length :15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 39s)
       อนึ่ง การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในที่มืดสนิด ในชนบท หรือ ป่าเขา ท้องทะเล และไม่มีแสงจันทร์รบกวนเท่านั้น ดังนั้นในการดูทางช้างเผือก จะต้องมีการเตรียมการวางแผน ศึกษาเวลาการขึ้น-ตกของดวงจันทร์ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากปฏิทิน (ดวงจันทร์ขึ้นช้าวันละ 50 นาที) หรือศึกษาด้วยซอฟต์แวร์ทางดาราศาสตร์ และแผนที่ดาว

        จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าเราสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ไม่ยากนัก หากวางแผนการสังเกตให้ถูกเวลา ถูกสถานที่ พูดง่ายๆ ก็คือ รู้กาละเทศะ นั่นเอง “ก็จะสามารถจับช้างเผือกบนท้องฟ้า” ได้ไม่ยากครับ

        ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ก็ถือเป็นช่วงที่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ตลอดทั้งหากไม่มีแสงมลภาวะทางแสงและฝุ่นควันเมฆฝน หรือแสงจันทร์รบกวน โดยในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. จะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเคลื่อนที่สูงขึ้นจากขอบฟ้าเรื่อยๆ จนตกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงรุ่งเช้า

        ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ประเทศไทยอาจมีฝนตกเกือบทุกวัน หากแต่ในช่วงเช้ามืดนั้น ส่วนมากท้องฟ้ามักจะใสเคลียร์ และยังเป็นช่วงที่ใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในตำแหน่งสูงจากขอบฟ้าค่อนข้างมากอีกด้วย ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีในการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้

ภาพใจกลางทางช้างเผือกเหนือโดมหอดูดาวแห่งชาติ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ในช่วงใกล้รุ่งเช้า (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon Fish Eye 15mm. / Focal length :15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)
       จากการติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฝนอาจทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งหากเราติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดก็จะทำให้เราสามารถวางแผนได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

เทคนิคและวิธีการ
       ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น นอกจากตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูแล้ว ตำแหน่งความสูงที่ปรากฏบนท้องฟ้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะหากเราถ่ายภาพขณะที่ใจกลางทางช้างเผือกอยู่ใกล้กับขอบฟ้า ก็มักจะมีเมฆบางบดบังความสว่างได้ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ทั้งทัศนวิสัยของท้องฟ้าและช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ประเด็นต่อมาก็คือการตั้งค่าการถ่ายภาพ โดยมีเทคนิคง่ายๆ ดังนี้

        1. กล้องดิจิทัลเหมาะกับถ่ายภาพทางช้างเผือก มากกว่ากล้องแบบฟิล์มครับ เนื่องจาก Image sensor ในกล้องดิจิทัลมีความไวแสงมากกว่าฟิล์มหลายเท่า และนอกจากนั้นเพื่อให้ได้ภาพทางช้างเผือกที่ดีที่สุด หากเป็นไปได้ควรใช้กล้องดิจิทัลสามารถปรับค่าความไวแสงได้มากๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไปหรือมากกว่านั้น หากกล้องที่ท่านใช้มีระบบกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดี ส่วนตัวผมมักเลือกใช้ค่าความไวแสงที่ ISO 3200 ครับ เพราะทำให้ได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างและสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นในภาพยังพอรับได้

        2. การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี) หรือระยะอนันต์ ให้มองหาสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายเลข 8 เป็นแนวนอนที่ตัวเลนส์ เนื่องจากภาพที่เราจะถ่ายคือดาวนั่นเองครับ โดยอาจทดลองปรับระยะไกลสุดในช่วงกลางวันก่อน โดยโฟกัสไปที่ระยะไกลสุดเท่าที่จะหาสิ่งที่ใช้ปรับโฟกัสได้ แล้วดูว่าภาพชัดทั่วทั้งภาพที่สุด ที่ตำแหน่งบนกระบอกเลนส์ตำแหน่งใด แล้วติดเทปเอาไว้เพื่อป้องกันโฟกัสเคลื่อน เพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในตอนกลางคืน รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย

       3. เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น เพราะแนวทางช้างเผือกจะพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา

       4. ใช้โหมดการถ่ายภาพ M (Manual) เพื่อให้สามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ได้

       5. เวลาในการถ่ายภาพ โดยใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องนานไม่ควรเกิน 30 วินาที เนื่องจากที่องศาการรับภาพมุมกว้าง เช่น เลนส์ขนาด 18 mm. ซึ่งมีองศาในการรับภาพประมาณ 100 องศา นั้นเวลา 30 วินาทีจะยังคงไม่ทำให้ดาวยืดเป็นเส้น ทั้งยังไม่ทำให้เกิดสัญญาณรบกวนมากเกินไปด้วย

       6. รูรับแสงยิ่งกว้าง ยิ่งได้เปรียบ สำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือกควรเลือกใช้ค่ารูรับแสงของเลนส์ที่กว้างที่สุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพได้ดีมากที่สุด เนื่องจากเราจะเปิดหน้ากล้องในการถ่ายภาพไม่เกิน 30 วินาที

        7. ปรับตั้งค่าสมดุลสีขาว (White Balance) โดยอุณหภูมิสีของท้องฟ้าในช่วงกลางคืน ผมจะเลือกใช้ที่ 4700 เคลวิน หรืออาจเลือกใช้ในโหมดการปรับค่า White Balance เป็นแบบฟลูออเรสเซนต์ก็ได้ เพื่อให้ได้ภาพท้องฟ้าที่ไม่อมสีแดงมากเกินไปครับ

        8. การถ่ายภาพในที่แสงน้อย ทำให้ต้องใช้ ISO สูงๆ หรือต้องเปิดชัตเตอร์ให้รับแสงนานขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้เกิดจุดรบกวนบนภาพที่เรียกว่า Noise ซึ่งแก้ไขได้บ้าง ด้วยการเปิดระบบ Long exposure noise reduction เมื่อความเร็วชัตเตอร์ช้าเกินกว่าที่กำหนด ระบบกำจัด noise เริ่มทำงาน ซึ่งกล้องจะจัดการประมวลผลระดับสัญญาณรบกวนที่ปรากฎบนภาพ และปรับแก้ไขผลในภาพให้ได้ผลที่ดีที่สุด นอกจากนั้นหากกล้องใครที่มีระบบ High ISO speed noise reduction ซึ่งเมื่อใช้ ISO สูงๆ ระบบจะช่วยลด Noise ให้เมื่อเปิดใช้งาน และปรับแก้ไขผลในภาพให้ได้ผลที่ดีที่สุด

        9. ใช้สายลั่นชัตเตอร์บนขาตั้งกล้องที่มั่นคงในการถ่ายภาพเพื่อลดความสั่นไหว หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้หากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์

        10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกด้วย

ภาพถ่ายทางช้างเผือกในช่วงเช้า ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์บนยอดดดอยอินทนนท์ บริเวณหน้ากิ่วแม่ปาน ดอยอินทนนท์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon Fish Eye 15mm. / Focal length : 15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)


ภาพถ่ายทางช้างเผือกในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น โดยในช่วงเวลาดังกล่าวตาเปล่าสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ค่อนข้างน้อย แต่กล้องถ่ายภาพก็ยังสามารถบันทึกภาพได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าว่ามีทัศนวิสัยดีมากน้อยเพียงใด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon Fish Eye 15mm. / Focal length :15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)
       ดังนั้น หากใครชื่นชอบการถ่ายภาพทางช้างเผือกแล้วหล่ะก็ ช่วงนี้ก็ไม่ควรพลาดลองหาโอกาสในวันที่ท้องฟ้าเป็นใจใสเคลียร์ “เราก็สามารถตามหาช้างเผือกได้ไม่ยากครับ”





เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

       สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

       ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”



Create Date : 03 มิถุนายน 2556
Last Update : 3 มิถุนายน 2556 21:23:16 น. 0 comments
Counter : 865 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

huttoza
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




------------------------------------------------------



Friends' blogs
[Add huttoza's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.