365วันของฉันมีแต่เรื่องการเดินทาง
<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
13 สิงหาคม 2558

เที่ยวเส้นทางตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงระยอง-จันทบุรี

        

 มีโอกาสร่วมทริปกับคุณพสิษฐ์ตา อินทร์พันธ์ ผู้อำนวยการททท. สำนักงานระยอง ซึ่งดูแลระยองและจันทบุรี ไปในเส้นทางตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ระยองและจันทบุรี

(ผอ.พสิษฐ์ตา)

เริ่มที่จันทบุรี เป็นอีกเมืองหนึ่ง ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถึง 13 ครั้ง ระหว่างปี 2401-2450 นับว่าพระองค์มีความผูกพันกับจังหวัดจันทบุรีสูงยิ่ง

 

            พระองค์เสด็จครั้งแรก ขณะพระชนมายุ 5 พรรษา ตามเสด็จพระราชบิดา (ร.4) ประพาสจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม-16 กุมภาพันธ์ 2401 และครั้งที่ 2 เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พ.ศ.2417 จนถึงครั้งที่ 13 ได้เสด็จไปในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ น้ำตกพลิ้ว เสด็จถึง 4 ครั้ง แหลมสิงห์ 5 ครั้ง น้ำตกคลองนารายณ์ เขาสระบาป ตัวเมืองจันทบุรี น่านน้ำจันทบุรี ตลอดจนเมืองขลุง เกาะจิก และ ฯลฯ ยกเว้นสถานที่บางแห่งที่ทหารฝรั่งเศสยึดครองอยู่ก็มิได้เสด็จเข้าไป หรือเสด็จผ่าน

          จังหวัดจันทบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองจันทบุรีขึ้นเป็นมณฑลจันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2449 พร้อมกับมณฑลปัตตานี หลังจากฝรั่งเศสเข้ายึดครองจันทบุรีไว้เป็นประกันชั่วคราวระหว่าง พ.ศ.2436-2447 รวมเวลา 11 ปี และฝรั่งเศสถอนกำลังไปยึดจังหวัดตราดและประจันคีรีเขตต์ (เกาะกง) อีก 3 ปี ส่งผลให้ไทยต้องเสียเงินค่าปรับถึง 2 ล้านฟรังก์ และยอมเสียดินแดนอีก 62,500 ตารางกิโลเมตร แลกกับอิสรภาพของจังหวัดจันทบุรี นำมาซึ่งความผาสุกดังเดิมของอาณาประชาราษฎร และต่อมาทหารฝรั่งเศสก็ยอมถอนกำลังอกจากจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 6 ก.ค. พ.ศ.2450

 

 จังหวัดจันทบุรี มีอะไรที่สวยงามมาก มิน่าเล่มพระองค์ท่านถึงได้เสด็จไปหลายครั้ง เริ่มที่ แหลมสิงห์ ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 34 กม. ที่เรียกกันว่าแหลมสิงห์ ก็เพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินรูปร่างคล้ายสิงห์หมอบหันหน้าออกสู่ทะเล ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า "เขาแหลมสิงห์"

              

             "คุกขี้ไก่" สร้างเมื่อ พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) อยู่บริเวณแหลมสิงห์ ก่อนถึงท่าเทียบเรือ 1 กิโลเมตร เมื่อฝรั่งเศสได้เข้ายึดจันทบุรีในกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ระหว่างนั้นฝรั่งเศสได้ยกกองทหารเข้าสู่เมืองจันทบุรีประมาณ 600 นาย แยกกันอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรี บริเวณที่เป็นค่ายทหารในปัจจุบัน อีกแห่งอยู่ที่ปากน้ำแหลมสิงห์ ฝรั่งเศสได้สร้างคุกขี้ไก่เพื่อใช้กักขังคนไทยที่ต่อต้านฝรั่งเศส

         

           มีลักษณะเป็นหอสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ 4.40 เมตร สูงประมาณ 7 เมตร หลังคาโปร่ง เล่ากันว่าเป็นคุกที่ทรมานมาก เพราะชั้นบนใช้เป็นที่เลี้ยงไก่ ซึ่งจะถ่ายมูลลงมารดศีรษะนักโทษที่ถูกคุมขังตลอดเวลา

            

 

            ตึกแดง เป็นอาคารชั้นเดียว ลักษณะยาว ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือแหลมสิงห์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) เดิมเป็นที่ตั้งของป้อมพิฆาตปัจจามิตร แต่ฝรั่งเศสดัดแปลงป้อมให้เป็นที่พัก และกองบัญชาการทหารลักษณะเป็นตึกชั้นเดียว สีแดงหลังคามุงกระเบื้อง

 

           

          

ป้อมไพรีพินาศ เป็นป้อมปืนสร้างขึ้นตามพระราชดำหริของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระยาอภัยพิพิธ (กระต่าย) เจ้าเมืองจันทบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2377 เตรียมรับศึกญวนที่มาทางทะเล ต่อมาใน พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประภาสมลฑลจันทบุรี ได้พระราชทานนามป้อมนี้ว่า ป้อมไพรีพินาศ อยู่คู่กับป้อมพิฆาฏฆ่าศึก ( ป้อมพิฆาฏปัจจามิตร)
              

          เจดีย์อิสรภาพ พ.ศ.2447 พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสหเทพ จัดงานฉลองเมืองจันทบุรี หลังฝรั่งเศสคืนดินแดน ชาวจันทบุรีในสมัยนั้นได้ร่วมกันสร้างองค์พระเจดีย์ครอบพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งพระพิพิธพ่อเมืองตราดสร้างไว้บนป้อมไพรีพินาศ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงของการถอนกำลังกองทหารฝรั่งเศสที่แหลมสิงห์

 

          

          แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จถึง 4 ครั้งคือ "น้ำตกพลิ้ว" ตั้งอยู่ที่อำเภอแหลมสิงห์ ระยะทาง 17 กม. จากตัวเมือง มี 3 ชั้นจากทางขึ้นไป 200 เมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก มีอลงกรณ์เจดีย์อยู่ทางขวามือ เป็นเจดีย์ศิลาแลง พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจันทบุรี เป็นแม่กองสร้างเมื่อ พ.ศ.2419

 

              

             นอกจากนี้แล้วบริเวณใกล้ๆ กัน ยังมีพีระมิดอีกแห่งหนึ่งชื่อ "พีระมิดพระนางเรือล่ม" เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ซึ่งเคยตามเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแล้ว (ในครั้งที่ 2) เมื่อปี พ.ศ.2417

         

          ด้วยตำนานความรักที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าสืบกันมาว่า หากคู่รัก คู่ใดได้มากราบไหว้สักการะพีระมิดแห่งรักนี้ จะสมหวังและเป็นความรักที่มั่นคงนั่นเองค่ะ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาที่ไหนเพื่ออธิษฐานมากมาย รวมไปถึงมาชมความสวยงามของน้ำตกพลิ้ว

 

         โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงนี้ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า " ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล

 

         ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "

         

        นอกจากนี้ยังมี อลงกรณ์เจดีย์ อยู่ด้านข้างเยื้องจากพีระมิดขึ้นมาด้านบน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างในปี 2419 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วพร้อมพระนางเรือล่มอีกด้วย

 

          

           สถานที่แห่งนี้จึงนับเป็น Story แห่งความรักอย่างแท้จริง ไฮไลท์ในการท่องเที่ยวน้ำตกพลิ้วก็คือ น้ำตกที่สดชื่น รวมไปถึงการให้อาหารปลาพลวงหิน ที่มีนับเป็นพันๆหมื่นๆตัวในแทบทุกชั้นของน้ำตก นักท่องเที่ยวจะนิยมซื้อถั่วฝักยาวไปให้ปลาพลวงหิน และว่ายน้ำเล่นกับปลานั่นเอง

 

      

เขาเล่าว่า... น้ำตกสวยงามสายน้ำเย็นฉ่ำที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดหนักหนาตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรี  

 

เขาเล่าว่า... มีตำนานแห่งพีระมิดใหญ่สร้างด้วยศิลาแลงคงอยู่มาเป็นร้อยปีเป็นอนุสรณ์แห่งรักที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

 เขาเล่าว่า...ถ้าได้มาที่นี่สักครั้ง คำอธิษฐานจะส่งผลให้ความรักมั่นคงถาวร

 

            

                 ชุมชนริมน้ำจันทบูร ย่านท่าหลวงในอดีตราว 100 ปีขึ้นไป มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าของเมืองจันทบูร มีท่าเทียบจอดเรือค้าขายหลายแห่งถนนสายแรกที่สร้างขึ้นคือ ถนนริมน้ำ หรือถนนสุขาภิบาล

 

ชุมชนริมน้ำเริ่มต้นจากหัวถนนสุขาภิบาลคือ ย่านท่าหลวง ซึ่งในสมัย ร.5 (พ.ศ.2442) ได้จัดตั้งเมืองจันทบูรเป็นมณฑลจันทบูร ย่านท่าหลวงเป็นที่ตั้งของอำเภอท่าหลวง ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงมาจากด่านเก็บเงินภาษีในสมัย ร.4 และบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและการพาณิชย์ ดังปรากฏหลักฐาน ในบันทึกการเดินทางของ Henry Mouhot นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางจากสยามไปสำรวจเมืองกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.2402 และพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ พ.ศ.2419และพ.ศ.2450 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต (พ.ศ.2453) แต่ละครั้งมีการสร้างท่าน้ำที่ท่าหลวงเป็นที่รับเสด็จในถนนตลาด จันทบูรมีการตั้งซุ้มปักธงแขวน โคมไฟตามรายทางอย่างวิจิตรงดงามยิ่งและครั้งสุดท้ายนี้พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตลาดเมืองจันท์ โดยทางลาดพระบาท มีพ่อค้าประชาชนเฝ้ารับเสด็จอยู่สองข้างทางมีคนนำสิ่งของถวายเป็นอันมาก พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสปราศรัยกับพ่อค้าประชาชนตลอดเส้นทาง และได้ทรงซื้อสิ่งของ เช่น พลอยสีต่าง ๆ ตามสมควร

       

       ปัจจุบันชุมชนริมน้ำจันทบูรยังอนุรักษ์ตึกเก่า และยังมีโรงแรมเก๋ๆอย่างท่ามาจัน  ซึ่งมีทั้งที่พักแบบบูติคและร้านอาหารสวยริมน้ำ

 

        

         จากนี้เราไปเที่ยวต่อที่ระยอง ชม

ย่านเมืองเก่า “ถนนยมจินดา” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอยู่อีกด้วย

 

           ย่านเก่าถนนยมจินดานี้ เป็นถนนสายแรกของเมืองระยองที่ทอดยาวขนานไปกับแม่น้ำระยอง ซึ่งเป็นแหล่งการค้าแห่งแรกของเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกนี้ในอดีตค่ะ ถนนสายนี้เกิดจากดำริของพระศรีสมุทรโภค (อิ่ม ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ที่ให้ตัดถนนขึ้นกลางเมืองในยุคที่การคมนาคมยังพึ่งพาสายน้ำเป็นหลัก นับจากนั้นมา แหล่งการค้าจึงย้ายจากในน้ำขึ้นมาบนบก และถนนยมจินดาก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของเมืองระยองนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

       

แต่ด้วยความเจริญของบ้านเมืองที่ผ่านยุคผ่านสมัย ก็ทำให้ย่านเศรษฐกิจสำคัญอย่างถนนยมจินดานี้โรยราไปตามกาลเวลา ชาวเมืองระยอง และชุมชนบริเวณนั้น จึงตั้งกลุ่มชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง ร่วมมือกับเทศบาล ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยอาศัยมนต์เสน่ห์ของความเก่าแก่ และปิดถนนทุกเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเปิดเป็นถนนคนเดิน

 

         ภายในถนนยมจินดานี้ นอกจากจะมีบ้านเรือนเก่าในสมัยก่อนที่อนุรักษ์ไว้ ยังมีพิพิธภัณฑ์เมืองระยองที่แสดงความเป็นมาของจังหวัดระยอง รูปถ่ายเก่าๆ ข้าวของเก่าๆ ที่น่าหลงใหลอีกด้วยค่ะ เราสามารถเดินชมตึกเก่าๆ บ้านเรือนเก่าๆ และภาพบรรยากาศของเมืองเก่าที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้คนที่ผ่านกาลเวลาและสืบทอดมายังรุ่นลูกหลาน รอยยิ้มของชาวชุมชนและน้ำจิตน้ำใจที่ยังคงมีให้กันอยู่ซึ่งอาจหาได้ยากจากยุคสมัยนี้

 

                 

           

วัดสมมติเทพฐาปนาราม อยู่ที่ อ.แกลง จังหวัดระยอง เป็นชื่อโดยทางการของวัดซึ่งได้รับพระบรมราชโองการจากพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัด เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2427 และได้จัดตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2429 สังกัดมหานิกายอยู่ในเขตการปกครองของคณะสงฆ์ ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาค 13

                 

 ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านและทั่วไปที่รู้จักวัดสมมติเทพฐาปนาราม จะนิยมเรียกชื่อวัดสั้น ๆ ว่า "วัดหลวงหรือวัดแหลมสน" วัดสมมติเทพฐาปนาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำประแส ชุมชนแหลมสน หมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เดิมพื้นที่เป็นป่าชายเลนจึงได้นำทรายจากทะเลและดินลูกรังมาถมเป็นบริเวณที่ตั้งของวัด มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน (ที่ดินตั้งวัดโดยพระบรมราชโองการ) ต่อมาในปี พ.ศ.2521 ได้รับพระราชทานที่ดินซึ่งอยู่ติดกันทุกด้านเพิ่ม รวมเป็นเนื้อที่วัดทั้งสิ้น 131 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา

         นี่เป็นเพียงตัวอย่างเส้นทางเสด็จประพาสเท่านั้น หากยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมาก ออกเดินทางค้นหากันนะคะ 

 

 




Create Date : 13 สิงหาคม 2558
Last Update : 13 สิงหาคม 2558 15:50:46 น. 0 comments
Counter : 3248 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

travelistaนักเดินทาง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




Travelista นักเดินทาง หรือสาธิตา โสรัสสะ อดีตหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจเครือเนชั่น เป็นนักข่าวสายท่องเที่ยวยาวนานเกือบ 40 ปี เดินทางมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก มีผลงานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยว 34 เล่ม ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย และประธานมีเดียแอนด์บล็อกเกอร์ คลับ (คลับของบล็อกเกอร์) เคยได้รับรางวัลบล็อกเกอร์ยอดเยี่ยมปี 59 ,ช่างภาพหญิงยอดเยี่ยมจากจีนปี 60 , สื่อมวลชนยอดเยี่ยมปี 64 และผู้บริหารสื่อออนไลน์ยอดเยี่ยมปี 65 ไอดีไลน์ tatravel โทร 081-817-2805
[Add travelistaนักเดินทาง's blog to your web]