space
space
space
<<
มกราคม 2561
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
27 มกราคม 2561
space
space
space

กฎหมายกับการคุกคามทางเพศของเด็ก


ช่วงนี้มีข่าวดังซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างฉาวโฉ่ในวงการครู มี ผ.อ. โรงเรียนท่านหนึ่งมีแชทหลุดออกมาซึ่งเป็นข้อความพูดคุยกับเด็กหญิงซึ่งอายุเพียงแค่ 14 ปี เป็นทำนองชู้สาว และพอสืบสาวราวเรื่องไปลึกๆ แล้วมีความสัมพันธ์ค่อนข้างลึกซึ่ง ซึ่งเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น คงต้องดูข่าวกันต่อไป เอาล่ะ เรื่องสมควรคงไม่สมควรอยู่แล้ว แต่ในที่นี้เราจะไม่พูดถึง เพราะเราจะมาพูดกันเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง

ความผิดที่ 1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า คนเราทุกคนไม่ว่าจะชายหรือหญิงย่อมมีเสรีภาพทางเพศ การบังคับขืนใจกันกระทำชำเราย่อมไม่อาจทำได้ แต่หากเป็นการสมัครใจสมยอมกันย่อมไม่มีความผิด แต่สำหรับกรณีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ เพราะเด็กที่อยู่ในวัยไม่เกิน 15 ปีนั้น กฎหมายมองว่ายังไม่มีประสบการณ์ อ่อนต่อโลก อาจถูกหลอกหรือถูกชักจูงได้ง่าย

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามมาใช้กลวิธีใดๆ เพื่อหลอกล่อให้เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ยอมให้ตนกระทำชำเรา หรือแม้แต่ไม่ได้หลอกลวง เด็กจะยินยอมเพราะความรักก็ไม่สามารถกระทำชำเราเด็กได้ ตามที่ปรากฎในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท”

จะเห็นได้ว่ากรณีของการกระทำชำเราเด็กนั้น เด็กจะยอมหรือไม่ยอมไม่ใช่องค์ประกอบความผิด เพราะไม่ได้พิจารณาถึงความยินยอมของเด็ก แตกต่างจากกรณีของบุคคลที่อายุเกิน 15 ปี หากไม่ยินยอมถึงจะมีความผิด

มาตรา 277 วรรคสาม “ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป”

จะเห็นได้ว่า มาตรา 277 วรรคสาม เป็นเหตุยกเว้นโทษ แต่มีเงื่อนไขสำหรับบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นโทษ คือ

  1. ต้องเป็นการกระทำของบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี กระทำต่อบุคคลอายุมากกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี
  2. เด็กนั้นยินยอม
  3. ภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน

ดังนั้น หากเป็นการกระทำของบุคคลที่อายุเกิน 18 ปี เช่น คนแก่อายุ 59 ปีกระทำชำเราเด็กอายุกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปี แม้ต่อมาศาลจะพิพากษาให้สมรสกัน ก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นโทษตาม มาตรา 277 วรรคท้าย ด้วยเหตุผลที่ว่า กฎหมายต้องการที่จะปกป้องเด็กจากพวกคนแก่ตัณหากลับทั้งหลาย จะมาใช่เหล่เหลี่ยมหลอกเด็กที่ยังไม่รู้จักประสีประสา แต่หากเป็นการกระทำของเด็กด้วยกัน ในที่นี้คืออายุไม่เกิน 18 ปี กฎหมายเข้าใจว่า อาจเป็นการกระทำของเด็กที่อยู่ในวัยยั้งคิดไม่มีประสบการณ์ชีวิต ดังนั้น กฎหมายก็เห็นใจเมื่อปรากฎว่าศาลพิพากษาให้สมรสกันได้ ก็ไม่ต้องรับโทษ

และที่สำคัญ ความผิดตามาตรา 277 เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก เป็นความผิดต่อรัฐ เป็นอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถที่จะยอมความไกล่เกลี่ยคดีกันได้ หรือแม้ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความหรือไม่ไปร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีอำนาจดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด

ความผิดที่ 2 ควาดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร

ความผิดฐานพรากเด็กหรือผู้เยาว์ เป็นความผิดต่อเสรีภาพ ที่กฎหมายมุ่งประสงค์คุ้มครองอำนาจปกครองของผู้เยาว์ หากใครมาพาเด็กหรือผู้เยาว์ที่อยู่ในอำนาจปกครองของเขาโดยไม่ได้รับความยินยอมย่อมมีความผิด

ความผิดฐานพรากเด็กกับพรากผู้เยาว์มีความแตกต่างกันในเรื่องของอายุ โดยความผิดฐานพรากเด็ก หมายถึง พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนความผิดฐานพรากผู้เยาว์ หมายถึง พรากบุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี

โดยที่ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีนั้น กฎหมายก็ไม่ได้พิจารณาถึงความยินยอมของเด็ก แม้เด็กยินยอมไปด้วยบุคคลที่พรากเอาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากบิดาก็ย่อมมีความผิด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 317

มาตรา 317 “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท”

และโทษตามกฎหมายจะหนักขึ้นทันทีหากเป็นการพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้นั้นกระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

การพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร หมายถึง การพรากเด็กไปเพื่อกระทำอันไม่สมควรทางเพศ ไม่จำต้องถึงขั้นกระทำชำเราเด็ก แต่การกระทำอันไม่สมควรทางเพศอื่นก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคท้ายนี้ด้วย เช่น พรากเด็กไปกอดจูบลูบคลำ เป็นต้น

ส่วนกรณีของการพรากผู้เยาว์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 และมาตรา 319 ซึ่งแยกพิจารณา

มาตรา 318 เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ส่วนมาตรา 319 เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่เต็มใจไปด้วย

นอกจากนี้ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ยังเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ นั้นหมายความว่า แม้บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแลจะไม่ติดใจเอาความก็ต้องถูกดำเนินคดี เพราะยอมความกันไม่ได้



Create Date : 27 มกราคม 2561
Last Update : 27 มกราคม 2561 10:53:50 น. 2 comments
Counter : 741 Pageviews.

 
กฏหมายอย่างเดียวเอาไม่อยู่คะ ต้องรณรงค์ศิลธรรมด้วยอย่างด่วน


โดย: สมาชิกหมายเลข 4313444 วันที่: 27 มกราคม 2561 เวลา:11:16:22 น.  

 
@431444 กฎหมายเป็นมาตรการหนึ่งเท่านั้นครับ เห็นด้วยครับที่จะต้องรณรงค์เรื่องนี้


โดย: สมาชิกหมายเลข 4063333 วันที่: 27 มกราคม 2561 เวลา:19:45:18 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 4063333
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4063333's blog to your web]
space
space
space
space
space