5 อุบายเหนือชั้น + ทันใจ ปราบพยศวัยเตาะแตะ







ต่อไปนี้เป็น 5 กลเม็ดเด็ดพราย ที่จะทำให้ลูกวัยเตาะแตะ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น
" จอมกบฎตัวจิ๋ว " ยอมทำตามในสิ่งที่คุณปรารถนาแต่โดยดี


วันนี้กลองศึกสายเลือดรัวขึ้นแต่เช้าอีกแล้ว คู่ต่อสู้เจ้าเก่าคือฉันกับลูกชายวัย 2 ขวบ โดยสภาพของฉันตอนนี้คือนอนหอบแฮกๆ คาขั้นบันได โดยมีกางเกงวอร์มตัวเล็กวางแหมะอยู่บนหน้าอก ทุกครั้งที่ต้องจับลูกชายซึ่งไวอย่างกับปรอทแต่งตัว ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพชาวบ้านแข่งกันจับลูกหมูในรายการ " สะเก็ดข่าว " ต่างกันตรงที่ตอนสุดท้ายหน้าฉันไม่ได้ทิ่มลงไปในเลนเท่านั้นเอง

เงียบไปพักหนึ่ง นั่น! ใบหน้าน้อยๆค่อยๆโผล่ขึ้นมาจากหลังโซฟา ตาต่อตามาประสาน แล้วเจ้าตัวน้อยก็ "กรี๊ดดด!" อย่างกรีดแหลม แล้วแล่นปรู๊ดต่อเข้าไปในครัว เก๊ง...ระฆังดังลั่นยกที่สอง!

ดีกรีปริญญาโทด้านจิตวิทยาทำให้ฉันลำพองใจ และประเมินพลาดอย่างมหันต์ว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องหมูๆ ฉันตามติดทฤษฏีเลี้ยงลูกใหม่ๆอยู่เสมอ และคิดว่ามีอาวุธครบมือแล้วในการต่อกรกับเจ้าตัวเล็ก

ฮา...(ขำอย่างขื่นๆ)

แต่แล้วก็พบว่า ในสมรภูมิจริง เมื่อคุณมี "คู่ต่อสู้" เป็นยอดนักวีนที่สุดจะดื้อและซนอย่างลูกวัยเตาะแตะ มันช่างซับซ้อน ท้าทายและอยู่เหนือการจินตนาการจริงๆ

ขอบคุณสวรรค์ ที่นาทีนี้ฉันได้บรรลุสุดยอดกลยุทธ์ "เอาน้ำเย็นเข้าลูบ" พิชิตใจวัยเตาะแตะที่ได้ผลอย่างมาก และพบแง่คิดสำคัญอย่างหนึ่งว่า บางทีพ่อแม่อย่างเราก็ต้องเก็บคำว่า "ฉันเป็นแม่ (พ่อ) ฉันสั่งเธอได้" เอาไว้ แล้วใช้วิธีที่สนุกกว่านั้นแทน ...ลองตามไปดูกันไหม

ทำตัว "บ๊องๆบวมๆ" ดูบ้าง

"แม้แต่เด็กที่พยศเข้าขั้นเซียนยังใจอ่อน เมื่อเห็นเราทำตัวน่าสงสาร"
ดร.ฮาร์วีย์ คาร์ป เจ้าของชุดดีวีดีและหนังสือ " The Happiest Toddler on the Block " กล่าว มันคือเทคนิคขอความช่วยเหลือแทนที่จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน

  • แกล้งขี้หลงขี้ลืม
ถ้าหากลูกไม่ยอมเก็บของเล่นเสียที ลองหยิบของเล่นของเขาขึ้มาสักชิ้น แล้วทำท่าจะเก็บในที่อื่นๆ ซึ่งผิดที่ผิดทาง เช่น ตู้กับข้าว อ่างอาบน้ำ ฯลฯ เมื่อลูกมีปฎิกิริยาท้วงติง (เพราะเขารู้อยู่เต็มอกว่าอันที่จริงต้องเก็บที่ไหน) ตีหน้าซื่อแล้วพูดว่า "อะไรเหรอ ก็แม่จะเอาของเล่นหนูเก็บที่ไง!" เด็กมีแนวโน้มที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง

  • แกล้งทำประดักประเดิด
เมื่อคุณทำนายได้ว่าการจับลูกขึ้นรถเข็นต้องเป็นปัญหาแน่ๆ ลองทำท่าว่าจะบีบตัวขึ้นรถของเขาดูซิ แอบนับถอยหลังในใจดูเลย ห้า สี่ สาม สอง...ไม่ถึงห้าวินาที คุณจะได้ยินเสียง "รถหนูนะ!" เห็นไหมล่ะ ความขี้หวงของวัยเตาะแตะก็มีประโยชน์เหมือนกันนะ

  • ทำเป็นเก่งสู้ไม่ได้
ลองสวมเสื้อกลับด้าน เอารองเท้ามาสวมที่มือแล้วพูดว่า "โอเค แม่เสร็จแล้วจ๊ะ เราไปกันได้" ลูกจะหัวเราะเอิ๊กอ๊ากพยายามช่วยคุณถอดและใส่เสื้อเสียใหม่ แล้วสวมรองเท้าของเขาอย่างถูกต้องให้ดูเป็นตัวอย่าง

ไม่ต้องกังวล : ลูกไม่คิดว่าคุณเสียสติหรอกนะ มันก็เหมือนกับการแกล้งหาเขาไม่เจอเวลาที่เล่นซ่อนแอบนั่นแหล่ะ ดร.คาร์ปกล่าว


" พลิกวิกฤตเป็นโอกาส" อย่างมือโปร

หากคุณขยาดกับ "โศกนาฏกรรม" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลองมองมันเป็นความพิเศษ เป็นเรื่องดีๆอย่างหนึ่งดูบ้าง รู้ว่าทำยาก แต่เราคงต้องยอมรับว่า "ทัศนคติ" คือหนทางสว่างกระจ่างใสในการรับมือทุกๆความผิดหวัง (ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่) และมุมมองของเราส่งผลอย่างมากต่อวิธีรับมือกับความผิดหวังของลูกเช่นกัน


  • ใช้ภาษารื่นหู
แค่เราเลือกคำพูดให้ถูกต้องก็สามารถบรรเทาพิษร้ายจากความผิดหวังของลูกได้ คุณแม่ของเด็กชายเคลลี่วัย 3 ขวบเล่าว่า เวลาที่เคลลี่อยากออกไปที่สนามเด็กเล่นแถวบ้านในขณะที่ฝนยังตกไม่หยุด แทนที่จะปล่อยให้ลูกชายกรีดร้องอาละวาดไปทั่วบ้าน เธอจะพูดว่า "ฝนตกนี่ดีจังเลยนะ รู้ไหม เพราะเราจะได้เล่นแค้มปิ้ง กางเต้นท์ในบ้านกัน แม่เตรียมแผนไว้แล้วละ" เคลลี่สนใจขึ้นมาทันที เพราะแค้มปิ้งในบ้านเนี่ยฟังดูน่าสนุกไม่แพ้ไปเล่นในสนามทรายเลยนะ


การพลิกความผิดหวังให้เป็นความเบิกบานเปรียบเสมือนเวทย์มนตร์ขั้นสูงของพ่อแม่เลยทีเดียว และโอกาสที่จะทำสิ่งดังกล่าวมีในทุกที่ทุกเวลา เพียงแค่คุณค่อยๆสังเกตและเรียนรู้เท่านั้น


  • สอนลูกให้มองด้านบวก
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ชวนหวาดหวั่นหรือผิดหวัง (เช่น ทำคัพเค้กโฮมเมดของแม่หล่นไปครึ่งถาด หรือวันนี้เพื่อนซี้ที่เนิร์สเซอรี่ไม่มา) ลองให้ลูกนึกข้อดีของเหตุการณ์เหล่านั้น "ลองนับดู เรายังเหลือคัพเค้กอีก 4 ชิ้นนะ" หรือลูกอาจตอบว่าเขาจะได้ใช้สีกล่องใหม่วาดการ์ดให้เพื่อนด้วยฝีมือตัวเอง พร้อมด้วยลายมือยึกยือจากความตั้งใจ "หายเร็วๆนะ กอล์ฟ" สิ่งที่คุณแนะนำและคอยช่วยเหลือเหล่านี้ ล้วนสอนลูกให้มองโลกในมุมที่สดใสเสมอ


ใช้เทคนิค " ตรงกันข้าม "

แม่บอก "ใช่" ลูกบอก "ไม่" ลูกบอก "ใช่" แต่แม่ว่า "ไม่" สองคำนี้จุดชนวนอารมณ์เดือดมานักต่อนัก ซึ่งอันที่จริงมันเป็นพฤติกรรมที่บอกใบ้ว่า ลูกกำลังพัฒนาทักษะในการยืนหยัดและรับมือปัญหาด้วยลำแข้งตัวเอง

นี่เป็นขั้นแห่งพัฒนาการสำคัญที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ " เวลาที่คุณเลือกเสื้อผ้าหรือหยิบยื่นอาหารแปลกใหม่ให้ลูกลอง แต่ลูกแสดงออกว่าฉันไม่เอา เราอาจเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "ปฏิปักษ์นิยมของวัยเตาะแตะ (Oppositionalism of Toddlerhood)" ดร.ลอเรนซ์ สไตน์เบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ "สิบกฎพื้นฐานในการเป็นพ่อแม่ที่ดี" กล่าว

ถึงตรงนี้คุณคงพอเดาทางแก้ได้เลาๆ ใช่แล้ว ถ้าคุณอยากให้ลูกทำสิ่งใด เช่น สวมถุงเท้า ลองแกล้งพูดไปอีกทางหนึ่งที่แสดงว่า ไม่อยากให้เขาทำดูซิ

เมื่อน้องหลินอายุได้ 2 ขวบ คุณแม่ของเธอใช้วิธีปฏิเสธเมื่อลูกขอกินอาหารในจาน ถ้าอาหารชนิดนั้นเป็นสิ่งที่อยากให้ลองรับประทานอยู่พอดี ปฏิเสธแค่ 2-3 ครั้งแรกเท่านั้นนะ "เราจะกันอาหารบางอย่างที่อยากให้เขารับประทานออกมาอยู่ในจานของผู้ใหญ่ ลูกจะเริ่มจ้องอาหารในจานเรา แล้วเดี๋ยวเขาก็พูดขึ้นมาเองว่า "หม่ามะ หนูจะกินนั่นน่ะ" ดิฉันก็จะตอบไปว่า "ไม่เอาจ๊ะ ตัวยุ่ง อันนี้มันเป็นของผู้ใหญ่นะ หนูจะกินได้เร้อ?" คุณแม่ถาม "กินได้" คุณลูกตอบอย่างกลั้นไม่อยู่ พร้อมยื่นจานมาอย่างกุลีกุจอ

ส่วนคุณแม่น้องแซนด์ เด็กชายวัย 3 ขวบ เล่าว่า เวลาที่เธออยากให้ลูกเลิกทำตัวอ้อยอิ่งแล้วรีบแต่งตัวขึ้นรถ เธอจะทำเป็นรีบ "ไปด้วย!" เมื่อน้องแซนด์ร้องตาม เธอจะร้องห้ามว่า "ลูกไปไม่ได้นะ วันนี้หม่ามี้รีบ อยู่บ้านกับพ่อนะจ๊ะ" มีหรือเจ้าตัวน้อยจะยอมง่ายๆ การได้นั่งรถออกไปเที่ยวเนี่ย ของโปรดเลย เมื่อแม่แย็บว่า "หม่ามี้ว่า กว่าหนูจะแต่งตัวเสร็จ หม่ามี้ก็คงออกไปแล้วละ" น้องแซนด์จะรีบวิ่งจู๊ดเข้าไปในห้อง เปลี่ยนกางเกง คว้าหมวก และยัดพี่อุลตร้าแมนลงในเป้ วิ่งกลับมาสวมรองเท้า คุณแม่จึงพูดว่า "โอ้โห เร็วกว่าที่คิดเยอะเลย" ลูกยิ้มอย่างภาคภูมิใจ จากนั้นคุณแม่ก็ช่วยเช็คความเรียบร้อยของเสื้อผ้าให้ เป็นอันว่าลาทีปฏิบัติการ "จับแซนด์น้อยให้มั่น ใส่เสื้อให้ทันก่อนดิ้นหลุดมือ"

ที่เทคนิคนี้ได้ผลก็เพราะว่า เราได้ใช้ธรรมชาติของวัยเตาะแตะที่กลัวถูกทิ้งไว้ตามลำพังให้เป็นประโยชน์ เรียกอีกอย่างว่า "กลยุทธ์ผลักให้ห่างเพื่อดึงเข้าหา" ก็ว่าได้ แล้วอย่าลืมรักษาอารมณ์ของสถานการณ์ให้สนุกสนานเข้าไว้ ที่สำคัญอย่าให้ลูกจับได้บ่อยๆล่ะ


ใช้คำว่า " ได้สิ แต่... "

เมื่อน้องต้าอยู่ในวัยเตาะแตะ เธอชอบออกไปเล่นนอกบ้านมากๆ แล้วถ้าแม่ไม่ให้ละก็ เธอก็จะยืนเอาจมูกชนประตูมุ้งลวดในครัวอยู่อย่างนั้น แล้วยิ่งถ้าใช้คำว่า "ไม่" หรือ "อย่าออกไป" ละก็ อาการกระวนกระวาย สะบัดสะบิ้ง ก็จะยิ่งทวีความรุนแรง คุณแม่ของเธอเรียนรู้ว่า คำว่า "ก็ได้ แต่ว่า..." นั้นช่วยได้มาก เธอจะพูดกับลูกด้วยประโยคเช่น "ได้ลูก เดี๋ยวเราไปเล่นข้างนอกกัน แต่ต้องกินข้าวเย็นก่อน" หรือ "ได้ เดี๋ยวแม่ให้ขี่รถเล่น แต่เราต้องรอให้ฝนหยุดก่อน"

เตาะแตะวัยซนมักให้ความร่วมมือมากขึ้น ถ้าเขารู้ว่าเรื่องสนุกๆที่เขาอยากทำ อีกประเดี๋ยวจะได้ทำแน่นอน

แต่เราไม่ควรลืมว่า เด็กยิ่งเล็กแค่ไหน ความอดทนรอคอยนานยิ่งเป็นไปได้น้อยเพียงนั้น ฉะนั้นอาจเปลี่ยนการรอคอยเป็นภารกิจที่ทำร่วมกัน เช่น "ได้ เดี๋ยวแม่ให้กินคุ๊กกี้ แต่ตอนนี้เรามาช่วยกันทำกับข้าวก่อนนะ" หรือ "ได้ เดี๋ยวแม่ให้ดูเอลโม่ แต่ตอนนี้เรามาเล่นกับตุ๊กตุ่นใส่ตะกร้ากันก่อน" คำว่า "อย่า" นั้นชวนให้ทำพฤติกรรมท้าทาย ขณะที่คำว่า "ได้ แต่ว่า..." นั้นทำให้ยอมจำนนได้อย่างน่าประหลาด


ตัดไฟแต่ต้นลมจะดีที่สุด

หากคุณรู้จัก "มองข้ามช็อต" คุณจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ฉุกเฉินได้เสมอ ลองคิดดีๆสิ ส่วนใหญ่สงครามอารมณ์ระหว่างเรากับเจ้าตัวยุ่งก็มาจากเรื่องพื้นฐานของเกเล็ก ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความเหนื่อย หรือการมีสิ่งรบกวน กว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จะนึกได้ก็เมื่อลูก "อารมณ์บ่จอย" ไปเสียแล้ว ทั้งที่จริงๆแล้วแอ๊ปเปิ้ลสัก 2-3 ชิ้น อาจดับไฟแต่ต้นลมไปแล้ว

ถ้าเราสามารถทำนายสถานการณ์ล่วงหน้า และค่อยๆพัฒนาตารางประจำวันของเราและลูกอย่างประณีต ท้ายสุดเราก็ไม่ต้องมานึกให้ปวดขมองในภายหลังว่า "อาการแบบนี้ อารมณ์ไหนอีกละนี่" เพราะเอาเข้าจริง ต่อให้นึกออกและมีวิธีคิดแก้ไข ก็ไม่สนุกสักเท่าไหร่

ถ้าพ่อแม่ไม่ประมาทกับเรื่องพื้นฐานง่ายๆ (แต่สำคัญ) อย่างการกินนอนของลูก คุณก็จะควบคุมสถานการณ์ในวันยุ่งๆได้เหมือนกับเรื่องอื่น

  • พาไปงีบ
ก่อนจะง่วงจนป้อแป้

  • ให้เขากินมื้อย่อยๆ
เพื่อพยุงระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีผลต่อความคงเส้นคงว่าของอารมณ์ลูก

  • ให้กำลังใจกัน
การให้กำลังใจ ช่วยกันแก้ไขมากกว่าซ้ำเติม ช่วยลดแนวโน้มที่ลูกจะสติแตกเมื่อตัวเองก่อเหตุวุ่นวาย หรือมีอุปสรรคขัดขวางกิจกรรมตรงหน้า

ลองคิดแบบ "ดับเบิ้ล" ก่อนที่จะใช้ไม้แข็งกับลูกโดยไม่จำเป็น หากคิดว่ารับมือได้กับลูกที่กำลังง่วงระหว่างไปช็อปในห้าง ให้คิดใหม่อีกที ความเชื่อที่ว่า "ไปธุระอีกสักที่น่าจะพอไหว" ทำเอาแม่หลากหลายเชื้อชาติต้องเสียศูนย์มารักต่อนักแล้ว

หลังจากผ่านสุดยอดสถานการณ์ในการเลี้ยงลูก (สุดยอด หมายถึง สุดสะพรึงและน่าขำในเวลาเดียวกัน) ไม่ว่าจะเป็นการกึ่งอุ้มกึ่งลาก "เจ้าจ๋อ" ที่กำลังโยเย พูดไม่รู้เรื่อง และป่วนกวนโมโหอย่างที่สุดออกจากที่สาธารณะ อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ฯลฯ มาเกือบ 40 ครั้ง ก็คิดได้ว่าจะหวังลมๆแล้งๆอีกไม่ได้แล้ว ต้องกำหนด "ขีดจำกัด" แล้วละ ต่อไปนี้ฉันจะไม่ให้ลูกเล็กไปแกร่วข้างนอกเกิน 2 ชั่วโมงอีกแล้ว

เมื่อลูกอยู่ในวัยกำลังป่วน (เลยวัยทารก แต่ยังไม่เข้าอนุบาล) ชีวิตของคุณนั้นแทบจะไม่เป็นไปตามแผนเลยสักอย่าง ฉะนั้นขอฝากแง่คิดข้อสุดท้ายเอาไว้ จงทำเหมือนรู้เสมอว่าต้องทำอะไร และหากมีจังหวะละก็...อย่าได้รอช้า







Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 17 มีนาคม 2551 21:51:26 น. 0 comments
Counter : 1161 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

แม่น้องแปงแปง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]






แป๊ว แม่น้องแปงแปง






Photo Flipbook Slideshow Maker


Photo Flipbook Slideshow Maker


Photo Flipbook Slideshow Maker





Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
5 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่น้องแปงแปง's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.