Group Blog
 
 
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
3 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
ข้อสอบและธงคำตอบเนติบัณฑิต กลุ่ม ป.วิ.แพ่ง ภาคสอง สมัย 61











ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอม สำหรับที่ดินของโจทก์โดยอายุความ ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่เป็นภาระจำยอมแล้วทำที่ดินให้มีสภาพเป็นทางเดิน จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่เคยใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออก ที่ดินของจำเลยจึงไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณานายทองยื่นคำร้องว่า ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ตกลงขายที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทอันเป็นมูลเหตุในการฟ้องร้องคดีนี้ให้แก่ผู้ร้อง โดยตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีนี้และบังคับคดีแก่ผู้ที่ปิดกั้นทางภาระจำยอมได้สำเร็จ หากโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีหรือไม่อาจบังคับคดีได้ใน 3 ปี นับแต่วันฟ้อง ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินเป็นอันยกเลิก จึงขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ให้วินิจฉัยว่า นายทองมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับโจทก์หรือไม่


ธงคำตอบ
ผู้ร้องสอดที่ขอเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ซึ่งหมายความว่า ผลของคดีตามกฎหมายจะเป็นผลไปถึงตนโดยจะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรงจึงจะร้องสอดได้ นายทองเพียงแต่ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยจากโจทก์ ภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ทั้งสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข โดยจะมีผลต่อเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีนี้และสามารถบังคับคดีได้ แต่ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีหรือไม่อาจบังคับคดีได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันฟ้องคดีนี้ สัญญาจะซื้อขายก็สิ้นผล นายทองมิได้ถูกกระทบกระเทือนหรืออาจถูกบังคับโดยคำพิพากษาในคดีนี้แต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามความหมายของมาตรา 57(2) นายทองจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับโจทก์ตามมาตรา 57(2) (คำพิพากษาฎีกาที่ 3995/2541)



ข้อ 2. คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์ในราคา 200,000 บาท แต่จำเลยไม่ซื้อบ้านและที่ดินคืนจากโจทก์ภายในกำหนดและยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยละเมิด ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 200,000 บาท แต่ไม่มีแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาซื้อขายมากรอกข้อความแทนสัญญากู้ยืมเงิน ศาลวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาขายฝาก บ้านและที่ดินมือเปล่าเมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่จะมาฟ้องขับไล่ พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด คดีหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 200,000 บาท แต่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมเงินที่จำเลยเบิกความรับและลงลายมือชื่อต่อศาลในคดีก่อนกับหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์เคยนำหนังสือสัญญาซื้อขายมาฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยกับได้อ้างหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นพยานในคดีก่อนมาแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน
ให้วินิจฉัยว่า คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่


ธงคำตอบ
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่า จำเลยอยู่ในบ้านและที่ดินโดยไม่มีสิทธิเพราะขายให้แก่โจทก์ไปแล้ว อันเป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์และยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินเป็นการกระทำโดยละเมิดหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระเงินคืนโจทก์ อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้กู้ยืมหรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีก่อน แม้คดีก่อนจำเลยให้การว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นเป็นเรื่องที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ แต่ก็ไม่มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีก่อนว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้กู้ยืมเงินตามที่จำเลยให้การถึงหรือไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1254/2493 และ 2950/2549) ฟ้องโจทก์ในคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 กับคดีก่อน
ดังนั้น คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่อ้างว่าฟ้องของโจทก์คดีหลังเป็นฟ้องซ้ำและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จึงฟังไม่ขึ้น



ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าซื้อ 2 งวดติดต่อกัน โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 มีชีวิตอยู่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามนัดครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และโจทก์มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับโจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อเด็กชายมานพทายาทของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบสัญญาค้ำประกันปลอมดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 เพื่อนำไปทำลายต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบหรือไม่


ธงคำตอบ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับฟ้องเดิมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และ 179 วรรคสาม (คำพิพากษาฎีกาที่ 3932/2549) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ
ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นั้น ข้อที่จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่า ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่เคยทำทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสัญญาไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 สัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 3 อ้าง ก็ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับให้ตามกฎหมาย และศาลย่อมนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้อยู่แล้ว จำเลยที่ 3 หาจำต้องฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบสัญญาค้ำประกันปลอมแก่จำเลยที่ 3 เพื่อนำไปทำลายแต่ประการใดไม่ ทั้งคำขอตามฟ้องแย้งดังกล่าวศาลก็ไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะหากสัญญาค้ำประกันตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ก็เท่ากับการค้ำประกันรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้ จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์พอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และ 179 วรรคสาม (คำพิพากษาฎีกาที่ 625/2548) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบเช่นกัน



ข้อ 4. คดีสามัญเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระหนี้ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน ในวันสืบพยาน โจทก์มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 มีเสมียนทนาย ซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 ให้มาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งศาล สำหรับจำเลยที่ 2 มีเสมียนทนายซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 2 ให้มาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณาและลงลายมือชื่อแทนในรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของทนายจำเลยที่ 1 ว่า คำร้องขอถอนทนาย ยังไม่ได้รับความยินยอมจากตัวความ จึงไม่อนุญาตและสั่งในคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว โจทก์นำพยานเข้าสืบจนเสร็จ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า (ก) การที่ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข) หากจำเลยทั้งสองไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่



ธงคำตอบ
(ก) เสมียนทนายผู้รับมอบฉันทะจากตัวความหรือทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 64 จะถือว่ามีฐานะเป็นคู่ความก็เฉพาะในกิจการที่ได้รับมอบหมาย การที่เสมียนทนายผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 มาศาลในวันสืบพยานเพื่อยื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งศาลนั้น เสมียนทนายจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในฐานะคู่ความตามมาตรา 1(11) เพราะเสมียนทนายไม่มีสิทธิที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกจากมายื่นคำร้องดังกล่าว และรับทราบคำสั่งของศาลตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น กรณีของจำเลยที่ 1 ย่อมถือว่าไม่มีคู่ความมาศาลในวันสืบพยาน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 640/2549) เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา 204 ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว การที่ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 การที่ทนายจำเลยที่ 2 มอบฉันทะให้เสมียนทนายมาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณา และลงลายมือชื่อแทน ถือว่าเสมียนทนายของจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นคู่ความ เท่ากับฝ่ายจำเลยที่ 2 มีคู่ความมาศาลในวันสืบพยานแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมิได้ขาดนัดพิจารณา (คำพิพากษาฎีกาที่ 3790/2549) ที่ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา แล้วพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) ตามมาตรา 207 คู่ความที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้นั้น ต้องเป็นคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาและแพ้คดี จำเลยที่ 1 เป็นคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาและแพ้คดี จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นมิใช่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาและแพ้คดี จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 967/2535)



ข้อ 5. โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ชำระค่าเสียหาย 60,000 บาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 50,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย หลังจากนั้น 1 เดือน จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเพราะยื่นคำร้องเกิน 15 วัน และส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยยื่นเกิน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข) จำเลยจะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่



ธงคำตอบ
(ก) การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้เป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ใช่ปัญหาในประเด็นที่พิพาทในคดี การพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นเงินเกิน 50,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เมื่อไม่เกิน 50,000 บาท ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4244/2541) ส่วนการที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 236 ไม่มีหน้าที่ตรวจสั่งไม่รับเหมือนอย่างชั้นรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 232 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์จึงไม่ชอบ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 451/2549 และ 1044/2550)
(ข) การที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ยื่นเกินกำหนด ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย จึงมีผลเป็นการไม่รับอุทธรณ์ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 236 วรรคหนึ่ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1044/2550, 4493/2550 และ 801/2551)



ข้อ 6. บริษัทซื่อตรง จำกัด ว่าจ้างนายเบี้ยวสร้างอาคารตลาดสดสองชั้น นายเบี้ยวสร้างตลาดชั้นล่างเสร็จแล้ว ขนย้ายคนงานออกไปไม่ยอมสร้างต่อ หลังจากนั้นนายเบี้ยวฟ้องบริษัทซื่อตรง จำกัด จำเลยที่ 1 และนายสิน กรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ให้ชำระค่าจ้าง จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่สร้างอาคารให้แล้วเสร็จ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างแล้ว และที่ขนมาไว้ในที่ก่อสร้างก็มิใช่ชนิดที่ดี ตลาดชั้นล่างที่เสร็จก็มีรอยร้าว ซึ่งตามสัญญาทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างเสร็จแล้วและที่อยู่ในที่ก่อสร้างต้องตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดในความชำรุดบกพร่อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จัดหาวัสดุและก่อสร้างอาคารอย่างดีไม่มีความชำรุดบกพร่อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้ว จำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยทั้งสองในระหว่างพิจารณาโดยอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าดูแลรักษาตลาดสดส่วนที่สร้างเสร็จ และเข้าครอบครอง กับจัดหาผู้ค้ามาเช่าพื้นที่ตลาด โจทก์ยื่นคำคัดค้าน
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองอย่างไร


ธงคำตอบ
เมื่อตามสัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างในที่ก่อสร้างต้องตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงมีส่วนได้เสียในอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว และวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ก่อสร้างในระหว่างการพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่สร้างอาคารตลาดสดต่อไป การที่ตลาดสดพิพาทถูกปล่อยปละละเลยไม่มีผู้ดูแลรักษาเช่นนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของจำเลยทั้งสองโดยตรง ทั้งกรณีที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าดูแลรักษาตลาดสดพิพาทก็ไม่กระทบถึงสิทธิหรือส่วนได้เสียตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบอาคารตลาดสดพิพาทให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยทั้งสองในระหว่างพิจารณาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ดูแลรักษาตลาดสดพิพาทในระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าไปดูแลรักษาตลาดสดที่สร้างเสร็จแล้วตามขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2828/2526)
ส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครอง และจัดหาผู้ค้ามาเช่าพื้นที่ตลาดสดพิพาทนั้น เป็นเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาในภายหลัง แต่คดีนี้ จำเลยทั้งสองเพียงให้การปฏิเสธว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ผลของคดีหากจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายชนะ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การเท่านั้น ไม่มีผลบังคับถึงการเข้าทำประโยชน์และการครอบครองอาคารตลาดสดพิพาทของจำเลยทั้งสอง เว้นแต่จำเลยทั้งสองจะฟ้องแย้งและมีคำขอบังคับเช่นนั้น แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งแล้วถอนฟ้องแย้งไป ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในตลาดสดพิพาทได้ ศาลชั้นต้นต้องยกคำร้องในส่วนนี้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2828/2526 และ 3900/2532)



ข้อ 7. โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งครอบครองที่ดินมรดกอยู่ ขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยคนละส่วน ในฐานะผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับจำเลย ในที่สุดโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความใส่ชื่อโจทก์ จำเลยและนายเอกทายาทอีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของร่วมคนละส่วนเท่ากัน ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว จำเลยเพิกเฉยเสียไม่ไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนายเอกเป็นเจ้าของร่วมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
(ก) โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลว่านายเอกมาขอรับส่วนแบ่งที่ดิน จึงขอให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนายเอกเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยคนละส่วนเท่ากันตามคำพิพากษาตามยอม
(ข) นายเอกยื่นคำขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์จะได้ที่ดินไว้ ขอให้ศาลมีหมายบังคับคดีตั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ จำเลยและนายเอกตามส่วน
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านในกรณี (ก) ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้แบ่งส่วนให้นายเอก ขอให้ยกคำขอของโจทก์ และคัดค้านกรณี (ข) ว่า จะนำที่ดินออกขายทอดตลาดไม่ได้ ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อผู้มีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ขอให้ยกคำขอของนายเอก
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำขอทั้งสองกรณีอย่างไร


ธงคำตอบ
กรณีตาม (ก) นายเอกได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สิทธิของนายเอกย่อมเกิดขึ้น โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาหาอาจเปลี่ยนแปลงสิทธิหรือระงับสิทธิได้ไม่ โจทก์ซึ่งมีส่วนได้เสียตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตรง มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยไม่มีสิทธิคัดค้านการแบ่งส่วนให้แก่นายเอก ศาลจึงควรสั่งให้นายทะเบียนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนายเอกกับจำเลยมีส่วนคนละส่วนเท่ากันโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3053/2527)
กรณีตาม (ข) นายเอกซึ่งเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ใช้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่มีสิทธิบังคับคดี ไม่มีสิทธิขอให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ศาลต้องยกคำขอของนายเอก (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 269/2508)



ข้อ 8. นายแดงเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายดำต่อศาลแพ่งว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินบางส่วน เนื้อที่ 50 ตารางวา ของที่ดินมีโฉนดจากนายดำในราคา 1,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่นายดำครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา และนายดำตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จ นายดำถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขายเสียก่อน โจทก์จึงยื่นคำขอต่อจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาแทนนายดำ แต่จำเลยสั่งยกคำขอเพราะไม่เชื่อพยานหลักฐานของโจทก์ ขอศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ศาลแพ่งตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายดำมีคำสั่งปฏิเสธไม่โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะไปยื่นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายเพื่อมีคำวินิจฉัยต่อไปมิใช่มาฟ้องยังศาลอื่น จึงไม่รับฟ้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์
ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลแพ่งที่ไม่รับฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


ธงคำตอบ
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 26 บัญญัติว่า ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ และมาตรา 27 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้เท่านั้นโดยจะต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวิธีการที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ แต่ก็ห้ามเฉพาะหนี้เงิน
ส่วนหนี้ตามฟ้องที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่กันซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เพราะมิใช้หนี้เงิน จึงหาได้อยู่ในบังคับที่ห้ามมิให้ฟ้องแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของดำซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปตามมาตรา 22(1) ปฏิเสธสิทธิของโจทก์โดยยกคำขอของโจทก์ย่อมมีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งเป็นคดีนี้ได้
นอกจากนี้ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งก็มิใช่การร้องขอต่อศาลเพื่อให้กลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 146 คดีของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องดำเนินการในคดีล้มละลาย ดังนั้น คำสั่งศาลแพ่งที่ไม่รับฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 686/2551)



ข้อ 9. บริษัท เอ จำกัด ได้กู้ยืมเงินนายมี จำนวน 10,000,000 บาท โดยมีนายโชคเป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้น 6 เดือน บริษัท เอ จำกัด มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท เอ จำกัด ลูกหนี้ และตั้งผู้ทำแผน นายมีและเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้นายมีได้รับชำระหนี้จำนวน 10,000,000 บาท เต็มตามขอ แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นายมีเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มเจ้าหนี้ที่ 3 ซึ่งแผนกำหนดให้ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 30 ของหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งอนุญาต ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผน โดยนายมีลงมติไม่ยอมรับแผน หลังจากนั้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามแผนครบถ้วน ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ให้วินิจฉัยว่า นายมีจะฟ้องเรียกหนี้ส่วนที่ขาดจากบริษัท เอ จำกัด และนายโชค ได้หรือไม่ เพียงใด


ธงคำตอบ
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะลงมติยอมรับแผนหรือไม่ ดังนี้ นายมีซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ แม้จะมิได้ลงมติยอมรับแผน ก็ต้องผูกมัดตามแผนในอันที่จะได้รับชำระหนี้ตามจำนวนหรืออัตราส่วนที่กำหนดไว้ในแผน เมื่อนายมีได้รับชำระหนี้ตามแผนครบถ้วนแล้วลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ส่วนที่ขาด โดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ นายมีจะฟ้องเรียกหนี้ส่วนที่ขาดจากบริษัท เอ จำกัด ไม่ได้
ในส่วนของนายโชค คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของนายโชคซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง เมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนจากลูกหนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เท่านั้น หนี้ส่วนที่ขาด ผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง นายมีจึงฟ้องเรียกหนี้ส่วนที่ขาดจากนายโชคได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3704/2546)



ข้อ 10. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินยืมจำนวน 400,000 บาท จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือขอให้ยกฟ้อง นายสมกับนายแสงผู้พิพากษาศาลจังหวัดตราดซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาแล้วเสร็จ กำหนดฟังคำพิพากษาวันที่ 1 เมษายน 2551 นายสมเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่นายแสงเห็นว่าควรพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ในวันดังกล่าวผู้พิพากษาหัวศาลป่วยไม่อาจปฏิบัติราชการได้ จึงมอบให้นายแดงผู้พิพากษาศาลจังหวัดตราดที่มีอาวุโสสูงสุดร่วมเป็นองค์คณะ นายแดงตรวจสำนวนแล้วเห็นพ้องกับนายสมและร่วมทำคำพิพากษายกฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายให้นายแดงร่วมทำคำพิพากษาชอบหรือไม่ และนายแดงมีอำนาจร่วมทำคำพิพากษาหรือไม่


ธงคำตอบ
เป็นกรณีที่คำพิพากษาคดีแพ่งจะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคนและผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากไม่ได้ เป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31(3) เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการทำคำพิพากษาตามมาตรา 29 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่มีอำนาจมอบหมายให้ผู้อื่นทำคำพิพากษา การมอบหมายจึงไม่ชอบ แต่นายแดงเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตามมาตรา 9 วรรคสอง และมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีแล้วตามมาตรา 29 (3) วรรคหนึ่งและวรรคสุดท้าย นายแดงจึงมีอำนาจร่วมทำคำพิพากษา




จากเวบ //www.siamjurist.com/forums/archive/index.php/f-12.html







Create Date : 03 เมษายน 2552
Last Update : 3 เมษายน 2552 14:20:01 น. 4 comments
Counter : 6104 Pageviews.

 
ร้อนกาย นะมิเท่าไหร่หรอกครับ แต่ร้อนใจนี่สิ
วันนี้จะเดินทางไกล ลงไปทางปักษ์ใต้ ไปเย่ยมเยียนเตร็ดเตร่ พบปะเพื่อนฝูงก่อนกลับบ้าน ไร่ทวนลม สุรินทร์

อาจจะต้องร้างลาหรือห่างหายไปสักพัก แต่มิรู้เมื่อไหร่จะได้คุย สนทนา หาความอิ่มเอมและแสนใจกันอีก

แต่ขอบคุณมากในมิตรภาพ ตลอดเวลาหนึ่งเดือนครับ

ทำให้เชียงราย ไม่เคยเหงาเลยแม้แต่วันเดียว
ขอบคณครับ


โดย: ไนล์ รอยเคียว วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:15:43:27 น.  

 
เฉลยธงคำตอบ ป.วิ.แพ่ง
อาทิตย์หน้าจะมาดูธงคำตอบ ป.วิ.อาญา นะ


โดย: พ่อระนาด วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:18:15:56 น.  

 
เอาตุ๊กตามาฝากก้าบ



โดย: พลังชีวิต วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:21:42:45 น.  

 


โดย: satineesh วันที่: 4 เมษายน 2552 เวลา:8:53:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พธู
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]











มากกว่าได้ยิน



สัมผัสรักจากนี้................................อยู่เสมอ
แม้นห่างไกลจากเธอ........................สุดหล้า
ทุกคืนค่ำละเมอ...............................ใครห่วง
มากกว่ากว้างขอบฟ้า..............โสตได้ยินเสียง

นับเม็ดทรายเกลื่อนพื้น....................รายเรียง
น้อยกว่าคิดถึงเคียง..............................จิตนี้
โครมครืนคลื่นสั่งเสียง.......................ซัดสาด
คล้ายดั่งใครบ่งชี้...................อยากใกล้ชิดกัน

แม้นนับดาวหมดฟ้า...........................รวมกัน
ความห่วงใยจากฉัน.........................กว่าแล้ว
ฟ้ากว้างต่างไกลกัน....................มิห่าง ใจเนอ
เหมือนกอดจากดวงแก้ว..........อุ่นนี้หนาวคลาย

ถ้วนคำนึงน้อมสู่............................เพียงใคร
รอแต่ร่วมสายใย..........................สวาดิพ้อง
ซาบซึ้งกับความนัย...................ตรึงอก นี้เนอ
นานตราบนานจิตน้อง...............ฝากไว้ร่วมฝัน






"Pacta Sunt Servanda-สัญญาต้องเป็นสัญญา"







Friends' blogs
[Add พธู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.