☼ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ใจหยุด คือ ที่สุดแห่งบุญ
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
17 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
ติวมงคลชีวิต ข้อ ๒๒-๓๘






คุณครูไอโกะติวมงคลชีวิต ข้อ ๒๒-๓๘




มงคลชีวิต 38 ประการ


๒๒. มีความความเคารพ
เมื่อจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด
เราจำเป็นต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด
ผู้ที่จะรับประโยชน์จากบุคคลอื่นได้
ก็จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลทั้งหลายก่อนฉันนั้น

ความเคารพ หมายถึง ความตระหนัก ซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

สิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตระหนักถึงพระคุณความดีอันมีอยู่ในพระองค์
ได้แก่ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ

๒. พระธรรม คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของพระธรรมคำสั่งสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๓. พระสงฆ์ คือ ตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา

๔. การศึกษา คือ ตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้

๕. สมาธิ คือตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการทำสมาธิ

๖. ความไม่ประมาท คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติกำกับตัว ในการทำงานต่างๆ

๗. การต้อนรับแขก คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับแขก ซึ่งมีด้วยกัน ๒ ประการ
° อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ
° ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม


๒๓. มีความถ่อมตน
มหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทุกสารทิศ
จะต้องมีระดับพื้นที่ต่ำกว่าพื้นที่ตรงต้นน้ำทั้งหลายฉันใด
ผู้ที่ต้องการจะรับการถ่ายทอดคุณความดีจากบุคคลทั้งหลาย
ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนก่อนฉันนั้น

ความถ่อมตน มาจากภาษาบาลี ว่า นิวาโต
วาโต แปลว่า ลม พองลม
นิ แปลว่า ไม่มี ออก

นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือเอามานะ ทิฐิออกมีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร

ความแตกต่างระหว่างความเคารพกับความถ่อมตน
ความเคารพ เป็นการปรารภผู้อื่น คือ ตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น คอยจ้องหาข้อดีของเขา ไม่จับผิด ประเมินคุณค่าของผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง แล้วแสดงอาการนับถือด้วย กาย วาจา ใจ

ความถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือ คอยพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง จับผิดตัวเอง ประเมินค่าตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อวดดื้อถือดี น้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอาทำให้ถือตัว
๑. ชาติตระกูล
๒. ทรัพย์สมบัติ
๓. รูปร่างหน้าตา
๔. ความรู้ความสามารถ
๕. ยศตำแหน่ง
๖. การมีบริวารมาก


๒๔. มีความสันโดษ
น้ำแม้เพียงน้อย ก็สามารถทำให้แก้วน้ำเต็มบริบูรณ์ได้
ตรงข้าม แม้มีน้ำมากมหาศาล
ก็ไม่สามารถทำให้มหาสมุทรเต็มบริบูรณ์

ในทำนองเดียวกัน ทรัพย์สินเงินทองแม้เพียงน้อย
ก็สามารถยังใจของผู้มีความสันโดษ
ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความพอใจ
ตรงข้าม แม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใด
ใจของผู้ที่ไม่มีความสันโดษ
ก็ยังเร่าร้อน กระวนกระวาย กระหายอยากได้อยู่นั่นเอง

สันโดษ แปลว่า ยินดี ชอบใจ พอใจ อิ่มใจ จุใจ สุขใจ กับของของตน
ความหมายโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ รู้จักประมาณ

ผู้ที่จัดว่าเป็นผู้มีความสันโดษ จะต้องประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑. สเกนสันโดษ ยินดีกับของของตน
๒. สันเตนสันโดษ ยินดีกับสิ่งที่ได้มา
๓. สเมนสันโดษ ยินดีโดยมีใจสม่ำเสมอ

ประเภทของสันโดษ มี ๓ อย่าง
๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ คือได้สิ่งใดมา ก็พอใจอย่างนั้น ไม่เสียใจถ้าได้ไม่เท่าที่ต้องการ แต่ขวนขวายสร้างเหตุให้ดีที่สุดและให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีสิ่งที่ควรแก่สมรรถภาพ คือคนเรามีความสามารถไม่เท่าเทียมกัน ทั้งกำลังกาย กำลังความคิด กำลังใจ กำลังความดี ก็ต้องรู้ว่ากำลังของตนเองมีแค่ไหน และแสวงหาหรือยอมรับเฉพาะของที่ควรแก่สมรรถภาพของตนเองเท่านั้น

๓. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีสิ่งที่ควรแก่ฐานะ คือให้พิจารณาว่าเรามีฐานะเป็นอะไร นักบวช ชาวบ้าน ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ฯลฯ แล้วก็แสวงหาหรือยอมรับแต่ของที่ควรกับฐานะของตน ไม่เป็นคนใฝ่สูงเกินศักดิ์

ข้อเตือนใจ คนจำนวนมากเข้าใจสันโดษผิด คิดว่าสันโดษคือการไม่ทำอะไรหรือ การพอใจอยู่คนเดียว แต่ความจริง
¤ การไม่ทำอะไรนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือ เกียจคร้าน ไม่เรียกว่าสันโดษ
¤ การพอใจอยู่คนเดียวนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า ปวิวิตตะ ไม่เรียกว่า สันโดษ

สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้จักพอ
๑. อำนาจวาสนา
๒. ทรัพย์สมบัติ
๓. อาหาร
๔. กามคุณ

วิธีสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้า ต้องเริ่มด้วยการรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่ และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

ความสุขในโลกแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ
๑. สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือส่งภายนอก มาตอบสนองความต้องการทางตา หู จมูก ลิ้น กายและความคิดอยากต่าง ๆ จัดเป็นความสุขชั้นหยาบเพราะมีทุกข์มาเจือปนมากตลอดเวลา มีอาการคือ
¤ ต้องแส่หาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยาก มีจำกัด
¤ เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหน ผูกพัน กลัวสูญหาย
¤ ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวางก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต พยาบาท จองเวร

๒. นิรามิสสุข เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขขณะที่ใจมีลักษณะ
¤ สะอาด ไม่มีกิเลสปน
¤ สงบ ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย
¤ เสรี เป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่คับแคบ
¤ สว่างไสว ประกอบด้วยปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
¤ สมบูรณ์ ไม่มีความรู้สึกขาดแคลน ไม่รู้สึกบกพร่อง ไม่ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานอื่มเอิบอยู่ภายใจ นิรามิสสุข จึงเป็นความสุขที่แท้จริง ๆ เป็นภาวะสุขที่ไม่ก่อนให้เกิดปัญหาใด ๆ ตามมา ซ้ำยังช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ด้วย

ผู้ที่จะมีนิรามิสสุขได้จะต้องมีสภาพในที่สงบไม่ดิ้นรน คือ มีความสันโดษเสียก่อน ยิ่งสันโดษต่อสามิสสุขมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้นิรามิสสุขมาขึ้นเท่านั้น

"สจฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ
ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์"


๒๕. มีความกตัญญู
คนตาบอด ย่อมมองไม่เห็นโลก
แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างอยู่ฉันใด
คนใจบอด ย่อมมองไม่เห็นพระคุณ
แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณฉันนั้น

สิ่งที่ควรกตัญญู
๑. บุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร

๒. สัตว์คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปราณี

๓. สิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่น หนังสือธรรมะ สถานศึกษา วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ

๔. บุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมาอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์กระทั่งนิพพานได้ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ ไม่ดูถูกบุญ และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่ง ๆขึ้นไป

๕. ตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการที่จะใช้อาศัย
ในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงทนุถนอมดูแลร่างกาย รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลาย ไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว


๒๖. ฟังธรรมตามกาล
กระจกเงาสามารถสะท้อนให้เห็นความสวยงาม
หรือขี้ริ้วของร่างกายเราได้ฉันใด
การฟังธรรมตามกาลก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความดีงาม
หรือความบกพร่องในตัวเราได้ฉันนั้น

การฟังธรรมตามกาล คือ การขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น โดยเมื่อฟังธรรมแล้วก็น้อมเอาคุณธรรมเหล่านั้น มาเป็นกระจกสะท้อนดูตนเองว่า มีคุณธรรมนั้นหรือไม่ จะปรับปรุงคุณธรรมที่มีอยู่ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อย่างไร

กาลที่ควรฟังธรรม
๑. วันธรรมสวนะ คือวันพระนั่นเอง

๒. เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ คือเมื่อใดก็ตามที่ความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจของเรา ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นให้รีบเร่งไปฟังธรรม ไม่ต้องรอ

ความคิดที่ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่
¤ เมื่อกามวิตกกำเริบ คือเมื่อใจของเราฟุ้งซ่านด้วยเรื่องเพศ เรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ห่วงหาอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ
¤ เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือเมื่อใจของเราถูกความโกรธเข้าครอบงำ เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดผลาญทรัพย์ ผลาญชีวิต หรือผลาญเกียรติยศศักดิ์ศรีก็ตาม
¤ เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบคือเมื่อใดที่ใจของเราเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียน
คิดจะเอาเปรียบ คิดจะกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น

๓. เมื่อมีผู้รู้มาแสดงธรรม คือเมื่อมีผู้มีความรู้ความสามารถและมีธรรมมาแสดงธรรมให้รีบไปฟัง เพราะบุคคลเช่นนี้หาได้ยากในโลก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเช่นนี้เราต้องรีบไปฟังธรรมจากท่าน


๒๗. มีความความอดทน
หญ้าแม้เป็นพืชต้นเล็ก ๆ แต่เพราะมีความทนทรหด
จึงสามารถแพร่พันธุ์ไปได้ทั่วโลกฉันใด
คนเราแม้กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ ความสามารถจะยังน้อย
แต่ถ้ามีความอดทนแล้ว ย่อมสามารถฝึกฝนตนเอง
ให้ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตได้ฉันนั้น

ความอดทน มาจากคำว่า ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทอะไรลงไป

ลักษณะสำคัญยิ่งของขันติ คือตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง

ประเภทของความอดทน
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ไม่ใช่เอาแต่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วไม่ทำงาน

๒. อดทนต่อทุกขเวทนา เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่สบายกายของเราเอง ความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้เวลาเจ็บป่วยจะร้องคราญคราง พร่ำเพ้อรำพัน หงุดหงิด โกรธง่าย

๓. อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นการอดทนต่อควาโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม ความบีบคั้นจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม

๔. อดทนต่ออำนาจกิเลส เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่น่าเพลินเพลินใจ อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทนไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่รับสินบน
การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณเปรียบไว้ว่า

"เขาด่าแล้วไม่โกรธ ว่ายากแล้ว
เขาชมแล้วไม่ยิ้ม ยากยิ่งกว่า"



๒๘. เป็นคนว่าง่าย
คนเป็นอัมพาต
แม้จะมีของดีวางอยู่รอบตัว
ก็ไม่อาจหยิบฉวยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ฉันใด
คนหัวดื้อว่ายากแม้จะมีครูอาจารย์ดีวิเศษแค่ไหน
ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเอาวิชา คุณความดี มาใส่ตัวฉันนั้น

คนว่าง่ายสอนง่าย คนที่อดทนต่อคำสั่งสอนได้ เมื่อมีผู้รู้และนำพร่ำสอนให้
ตักเตือนให้ โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมปฏิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพ
อ่อนน้อม ไม่คัดค้าน ไม่โต้ตอบ ไม่แก้ตัวโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น

ลักษณะของคนว่าง่าย
๑. ไม่กลบเกลื่อนเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือน ไม่แก้ตัว ไม่บิดพลิ้ว ยอมรับฟังด้วยความเคารพ

๒. ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อถูกตักเตือน พยายามปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น

๓. ไม่มีจิตเพ่งคุณเพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือไม่คอยจับผิดท่าน แต่รับฟังโอวาทด้วยดี

๔. ยอมทำตามคำสอนนั้นและเชื่อฟังผู้สอนอย่างดี ทำให้ผู้สอนมีเมตตาเกิดกำลังใจที่จะสอนต่อไป

๕. เคารพต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง

๖. มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างดียิ่ง ไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องโอหัง

๗. มีความยินดีที่ท่านกรุณาชี้ขอบกพร่องของเราให้เห็น จะได้รีบแก้ไข

๘. ไม่ดื้อรั้น คือไม่ดันทุรังทำไปตามอำเภอใจทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิด

๙. ไม่ยินดีในการขัดคอ ไม่พูดสวนขึ้นทันที มีความประพฤติชอบเป็นที่พอใจ เป็นที่ปรารถนา

๑๐. มีปกติรับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม ตั้งใจฟังทุกแง่ทุกมุมไม่โต้ตอบ

๑๑. เป็นผู้อดทน แม้จะถูกว่ากล่าวสั่งสอนอย่างหยาบคายหรือดุด่าอย่างไร
ก็ไม่โกรธ อดทนได้


๒๙. เห็นสมณะ
เด็กต้องการตัวอย่างที่ดี
จากพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันใด
ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดี
จากสมณะฉันนั้น

"คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น คนที่ไม่กิจวัตร มีแต่พูดพล่อย ๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จะจัดเป็นสมณะได้อย่างไร คนที่เรา ตถาคตเรียกว่าสมณะนั้นจะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย"

ลักษณะของสมณะ
๑. สมณะต้องสงบกาย คือมีความสำรวม ไม่คึกคะนอง ไม่มีกิริยาร้าย
๒. สมณะต้องสงบวาจา คือไม่เป็นพวกคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร
๓. สมณะต้องสงบใจ คือทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปกรรม นึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด

✿มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชมความงามจากคน คือถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม

"สมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย"


๓๐. สนทนาธรรมตามกาล
การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดด้วยจิตเมตตา
เป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิชาการทางโลกฉันใด
การสนทนาธรรมตามกาลด้วยความเคารพในธรรม
ก็ย่อมนำมาซึ่งสติปัญญา
อันเป็นหนทางเพื่อความพ้นทุกข์ฉันนั้น

สนทนาธรรมตามกาล คือ การพูดคุยซักถามธรรมะซึ่งกันและกันระหว่างคน ๒ คนขึ้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดปัญญา โดยรู้จักเลือกและแบ่งเวลาให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้รับความเบิกบานใจ มีความสุข ความเจริญในบุญกุศลไปในตัวด้วย

ข้อควรปฏิบัติในการสนทนาธรรม
๑. ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน ไม่ใช่เพิ่งสร่างเมาแล้วมาคุยธรรมะกัน

๒. ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสนทนาธรรมถ้าได้ทำสมาธิก่อนจะดีมาก เพราะใจจะผ่องใสดี

๓. แต่งกายสุภาพ สะอาดตา ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องประกอบกายของเราก็เป็นธรรมด้วย

๔. กิริยาสุภาพ จะยืนจะเดินจะนั่งให้เรียบร้อย หนักแน่น สงบเสงี่ยม สำรวม มีกิริยาเป็นธรรม

๕. วาจาสุภาพ คือมีวาจาสุภาษิตดังได้กล่าวมาแล้ว

๖. ไม่กล่าวค้านพุทธพจน์ เพราะพุทธพจน์คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยเนื้อแท้แล้วย่อมถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ อรรถกถาหรือฎีกาเกือบทั้งหมดก็ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเรามีพอจะไตร่ตรองตามท่านหรือไม่

๗. ไม่พูดวาจาที่ทำให้เกิดความแตกร้าว ไม่ใช้คำพูดก้าวร้าวรุนแรง

๘. ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกขัดแย้ง

๙. ไม่ปรารถนาลามก คิดที่จะให้ตนมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดัง

๑๐. ตั้งจิตไว้ว่าจะสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา จะเอาความรู้ของเราไปต่อเอาความรู้คนอื่นเขามา ไม่ใช่ไปเพื่ออวดรู้ แต่จะไปแลกเปลี่ยนความรุ้กัน

๑๑. ไม่พูดออกนอกเรี่องที่ตั้งประเด็นไว้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอวดดีหรือนินทาคนอื่นไป

๑๒. ไม่พูดนานไปจนน่าเบื่อ รู้จักกาลเทศะ


๓๑. บำเพ็ญตบะ
ใจของเราคุ้นกับกิเลส
เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ
แล้วกิเลสก็ย้อนกลับมาเผาใจเราเร่าร้อนกระวนกระวาย
เราจึงต้องบำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลสให้มอดไหม้เสียแต่ต้นมือ
ก่อนที่กิเลสจะเผาใจเราจนวอดวาย

บำเพ็ญตบะ หมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญความชั่ว คือ กิเลสทุกชนิดให้ร้อนตัวทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด ต้องเผ่นหนีไป แล้วใจของเราก็จะผ่องใจ หมดทุกข์

วิธีบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน เพื่อกันไม่ให้กิเลสฟุ้งขึ้นและเพื่อกำจัดกิเลสออกจากตัวทำได้ดังนี้ คือ
๑. มีอินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ คือการสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ

คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ ๖ ทาง คือ
ตา - ตาคนเรานี้เหมือนงู งูไม่ชอบที่เรียบ ๆ แต่ชอบที่ที่ลึกลับซับซ้อน ตาคนเราก็เหมือนกัน ไม่ชอบดูอะไรเรียบ ๆ ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ยิ่งสิ่งที่เขาปกปิดไว้ล่ะก็ยิ่งชอบดู แต่อะไรที่เผยออกแล้ว ไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง

หู- หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือชอบที่เย็น ๆ อยากฟังคำพูดที่เย็น ๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะ ๆ ที่เขาพูดกับเรา

จมูก - จมูกคนเรานี้เหมือนนก คือชอบโผขึ้นไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรถูกใจหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน

ลิ้น - ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน คือชอบลิ้มรสอาหาร วัน ๆ ขอให้ได้กินของอร่อย ๆ เถอะ เที่ยวซอกซอนหาอาหารอร่อย ๆ กินทั้งวัน ยิ่งเปิดพิสดารยิ่งชอบนัก

กาย - กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่น ๆ ที่นุ่ม ๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนั้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้

ใจ - ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน ถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ

อินทรียสังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ที่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรียสังวรดี โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่าง ๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ

๒. ความเพียรในการปฏิบัติธรรม
คนเราส่วนใหญ่มักพอจะทราบอยู่ว่าอะไรดี อยากจะให้สิ่งที่เห็นว่าดี
นั้นเกิดขึ้นกับตัว แต่ก็มักทำความดีนั้นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง
ทั้งนี้เพราะขาดความเพียร คนเราถ้าขาดความเพียรเสียแล้ว
คุณธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาได้เลย

"วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร"


๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์
ชาวสวนชาวไร่ หลังจากถางป่าเผาหญ้าแล้ว
ต้องรีบปลูกพืชผักผลไม้ที่ต้องการลงไป
ก่อนที่หญ้าจะกลับระบาดขึ้นใหม่ฉันใด
คนเราเมื่อบำเพ็ญตบะ ทำความเพียรเผากิเลสจนเบาบางลงแล้ว
ก็ต้องรีบปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ ลงในใจ
ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น
ก่อนที่กิเลสจะฟูกลับขึ้นใหม่อีกฉันนั้น

การประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติตนอย่างพระพรหมหรือความประพฤติอันประเสริฐ หมายถึง การประพฤติตามคุณธรรมต่าง ๆ ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีก จนกระทั่งหมดกิเลสไป ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามภูมิชั้นของจิต

จิตของคนเราแบ่งชั้นภูมิได้เป็น ๔ ระดับ
๑. กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์ ยังยุ่งเกี่ยวกับกามคุณอยู่ ได้แก่ภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป

๒. รูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์ มีความสุขความพอใจอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกสมาธิมามากจนกระทั่งได้รูปฌาณ เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจกามารมณ์ อิ่มเอิบในพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นสุขประณีตกว่ากามารณ์ เป็นเหมือนพระพรหมบนดิน ละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นรูปพรหม

๓. อรูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์ มีความสุขอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณ ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้อรูปฌาน มีความสุขที่ประณีตกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก เมื่อละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม

๔. โลกุตตรภูมิ เป็นชั้นที่พ้นโลกแล้ว ได้แก่ ภูมิจิตของอริยบุคคล มีความสุขอันละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง

วิธีประพฤติพรหมจรรย์
✿พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน คือรักษาศีล ๕

✿พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้วก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราว ๆ ไปและฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔

✿พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย หรือออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิภาวนาและปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่

พรหมจรรย์ทุกชั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก


๓๓. เห็นอริยสัจจ์
เมื่อยังมองไม่เห็นฝั่ง
ผู้ที่ตกอยู่ในทะเลย่อมว่ายวนอยู่ในห้วงทะเลนั้น
โดยไม่รู้จุดหมายฉันใด
เมื่อยังไม่เห็นอริยสัจจ์
บุคคลก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์แห่งวัฎฎสงสาร
โดยไม่รู้จักจบสิ้นฉันนั้น

แม่บทของพระพุทธศาสนาก็คือ อริยสัจจ์ 4
แปลความหมายได้คือ ความจริงอันประเสริฐ


อริสัจจ์ ๔
๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่าง ๆ
ความทุกข์มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะได้แก่
สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ เป็นทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ต้องมี ทุกข์ชนิดนี้มี ๓ ประการได้แก่
๑. ชาติ การเกิด
๒. ชรา การแก่
๓. มรณะ การตาย

ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จร เกิดกับแต่ละคนด้วยระดับที่ต่างกันไปไม่แน่นอน เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ทุกข์จรนี้มีอยู่ ๘ ประการ
๑. โสกะ ความโศก ความแห้งใจ ความกระวนกระวาย
๒. ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน
๓. ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย
๔. โทมนัสสะ ความน้อยใจ ขึ้งเคียด
๕. อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ ความอาลัยอาวรณ์
๖. อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ความขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ จากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
๗. ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกเศร้าโศกาเมื่อพลัดพรากจากของรัก
๘. ยัมปิจฉัง น ลภติ ความหม่นหมอง
จากการปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น

๒.สมุหทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
สาเหตุมาจากตัณหา คือความทะยานอยากที่มีอยู่ในใจของเราเอง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน ได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุปคืออยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ
ภวตัณหา ความอยากเป็น เช่น อยากเป็นใหญ่เป็นโต
วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่

๓.นิโรธ คือความดับทุกข์
หมายถึง สภาพจิตใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง ทำให้หมดตัณหาจึงหมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย มีความสุขล้วน ๆ
ผู้ที่ฝึกสมาธิมาน้อยหรือปฏิบัติไม่ถูกทาง ยังไม่เข้าถึงนิพพาน จึงไม่รู้จักความหมดทุกข์ที่แท้จริง ก็มักเข้าใจกันว่า การได้เสวยสุขอยู่บนสวรรค์นั้นคือความหมดทุกข์ แต่แท้ที่จริงนั้น ต่อให้ได้ขึ้นสวรรค์เป็นเทวดานางฟ้าจริง ๆ ก็ยังคงวนเวียนอยู่แค่ในกามภพเท่านั้น สูงกว่าสวรรค์ ๖ ชั้น ยังมีรูปพรหมอีก ๑๖ ชั้น อรูปพรหมอีก ๔ ชั้น ซึ่งก็ยังไม่หมดทุกข์ จะหมดทุกข์จริง ๆ ต้องฝึกจนกระทั่งหมดตัณหา ดับความทะยานอยากต่าง ๆ โดยสิ้นเชิง หมดกิเลส เข้านิพพานเท่านั้น

๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์
มรรค คือข้อปฏิบัติที่ทำให้ใจหยุดนิ่ง ปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้น คือความเห็นถูกต่าง ๆ เช่น เห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง

๒. สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือคิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือเลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด

๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

๗. สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือไม่ปล่อยให้ใจฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้

๘. สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือมีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนบรรลุฌานชั้นต่างๆไปตามลำดับ


๓๔. ทำนิพพานให้แจ้ง
มีที่ไหนในโลกนี้บ้าง ที่ทุกข์เข้าไปไม่ถึง..ไม่มี
เจ้าชายสิทธัตถะทำไมถึงออกบวช..จะหาที่ที่ทุกข์เข้าไปไม่ถึง
แล้วพบไหม..พบแล้ว
อยู่ที่ใด..นิพพาน
มีใครตามพระองค์ไปได้บ้างไหม...มากมาย
แล้วนิพพานอยู่ที่ไหน...นั่นซิ จึงต้องมาศึกษากัน

นิพพาน แปลว่า ความดับ ความสูญ ดับทุกข์ สูญจากกิเลส สูญจากทุกข์
แปลว่า ความพ้น คือพ้นทุกข์ พ้นจากภพสาม

ประเภทของนิพพาน มีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานเป็น ทุกคนที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์ สามารถเข้าถึงนิพพานนี้ได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็น ๆ อยู่ เป็นนิพพานของพระอริยเจ้า
ผู้ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกต่อไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเข้านิพพานได้เมื่อวันที่พระองค์ตรัสรู้
นิพพานเป็นเหมือนหลุมหลบภัยในตัวเรา มีทุกข์โศกโรคภัยใด ๆ พอเอาใจจรดเข้าไปในนิพพาน ความทุกข์ก็จะหลุดหมดไป จะตามไปรังควานไปบีบคั้นใจเราไม่ได้ พระอรหันต์มีใจจรดนิ่งในนิพพาน ตลอดเวลา จึงไม่มีทุกข์อีกเลย

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานตาย เป็นเหตุว่างนอกภพสาม ผู้ที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เมื่อ เบญจขันธ์ดับ (กายเนื้อแตกทำลายลง) ก็จะเข้าถึง อนุปาทิเสสนิพพานนี้

โคตรภูญาณเห็นนิพพานได้แต่ยังตัดกิเลสไม่ได้
"ถึงแม้ว่า โคตรภูญาณจะเห็นนิพพาน ก่อนกว่ามรรคก็จริง ถึงกระนั้นก็
ไม่เรียกว่า ทัสสนะ เพราะได้แต่เห็น แต่ไม่มีการละกิเลสอันเป็นกิจที่ต้องทำ"

โคตรภูญาณละกิเลสได้ชั่วคราว
"การละภาวะที่มีสังขารเป็นนิมิตด้วยโคตรภูญาณนี้ ชื่อว่า ตทังคปหาน(ละชั่วคราว)"

ตัวของเราจะเข้านิพพานได้หรือไม่
คำตอบคือ "ได้" โดยจะต้องตั้งใจเจริญภาวนาไปจนเข้าถึงโคตรภูญาณ เป็นโคตรภูบุคคล จากนั้นฝึกต่อไปจนเข้าถึงภาวะความเป็นอริยบุคคลที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ก็จะเห็นอริยสัจจ์และทำพระนิพพานให้แจ้ง ได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ในที่สุดก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่ยาก จนเกินไปที่เราจะปฏิบัติได้
เพราะถ้ายากเกินไปแล้วคงไม่มีพระอรหันต์เป็นล้าน ๆ รูปในสมัยพุทธกาล
ถ้านิพพานนี้ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าเข้าไปได้พระองค์เดียว คนอื่นไปไม่ได้เลย
ก็จะบอกว่ายาก แต่จริง ๆ แล้วผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ตั้งใจฝึกสมาธิ
จนเกิดปัญญาเข้านิพพานได้ แสดงว่าไม่ยากจนเกินไป
แต่แน่นอนคงไม่ง่าย เพราะ ถ้าง่ายเราก็คงเข้าไปตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้น
ตั้งใจฝึกตัวเองกันเข้า วันหนึ่งเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ทำได้ แล้วเข้านิพพานได้
ตอนนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ว่ายังไม่ได้ทำต่างหาก อย่าเพิ่งไปกลัว อย่าเพิ่งไปท้อใจ เสียก่อนว่าจะทำไม่ได้ ถ้าทำจริงแล้วต้องได้ ...

อานิสงส์การทำนิพพานให้แจ้ง
๑. ทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
๒. ทำให้จิตไม่โศก
๓. ทำให้จิตปราศจากธุลี
๔. ทำให้จิตเกษม
ฯลฯ


๓๕. จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
ภูเขาศิลาล้วนย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เพราะแรงลมฉันใด
ผู้ที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว
ก็ย่อมมีจิตตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายฉันนั้น

จิตหวั่น คือความหวั่นหวาดกังวล กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
จิตไหว คือความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ

โลกธรรม คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกประจำวัน ใคร ๆ ก็ต้องพบ หลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ มีอยู่ ๘ ประการ แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ
๑.ลาภ คือ การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้บุตร-ภรรยา ได้บ้าน ได้ที่ดิน
๒.ยศ คือ การได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
๓.สรรเสริญ คือ การได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดีที่คนอื่นให้เรา
๔.สุข คือ ได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ ยังไม่ได้คิดหา ครั้งหาได้แล้วก็คิดหวง หวงมากๆ เข้าก็หึง
การที่จิตมีอาการหา-หวง-ห่วง นี่แหล่ะเรียกว่า จิตไหว

ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ
๑.เสื่อมลาภ คือ ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไปเช่น เสียเงิน เสียที่อยู่
๒.เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
๓.ถูกนินทา คือ ถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง
๔.ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ

ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัว เมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่นว่ามันจะมา เมื่อมันมาแล้วก็ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะไปเสียที ไปแล้วก็ยังหวั่นกลัวว่ามันจะกลับมาอีก จิตหวั่น

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมหมายถึงอะไร
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม หมายถึง สภาพจิตของผู้ที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว มีใจตั้งมั่น เกิดความมั่นคงหนักแน่น ดุจขุนเขา เป็นอุเบกขาวางเฉยได้


ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่ง สามัญลักษณะ คือลักษณะประจำของทุกสรรพสิ่งในโลก

๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าทรุดโทรมไปคนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เป็นธรรมดา

๒. ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตก แต่หมายถึงการคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับเพราะเมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ

๓. อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยก็ไม่ได้
คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงลุ่มหลงมัวเมายินดียินร้ายหวั่นไหวในโลกธรรม
ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา


๓๖. จิตไม่โศก
สัตว์ทั้งหลายแม้พญาราชสีห์
หากติดบ่วงนายพราน ก็ย่อมสิ้นกำลังและอำนาจ
ได้รับแต่ความทุกข์ทรมานฉันใด
คนทั้งหลายแม้มีฤทธิ์อำนาจมากเพียงใด
หากติดบ่วงสิเน่หา ก็ย่อมสิ้นฤทธิ์หมดอำนาจ
มีจิตโศก เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานฉันนั้น

จิตโศกหมายถึง สภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้ง ใบไม้แห้ง
หมดความชุ่มชื้นเนื่องจากไม่สมหวังในความรัก ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้ง
หม่นไหม้ โหยหาขึ้นในใจ ใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงาน

"เปมโต ชายตี โสโก
ความโศกเกิดจากความรัก"

จะเป็นรักคน สัตว์หรือสิ่งของ ก็ทำให้เกิดความโศกได้ทั้งนั้น แต่ที่หนักก็มักจะเป็นเรื่องของคน โดยเฉพาะความรักของชายหนุ่มหญิงสาว

ผู้ใดมีความรักถึง 100 ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง 100

"ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากกิเลส
ดุจธุลี ไม่มีอุปายาส คือความตรอมใจ ความกลุ้มใจ"

พวกเราปุถุชนทั่วไป แม้ยังไม่สามารถตัดรักได้เด็ดขาด แต่ถ้าหมั่นทำสมาธิ เจริณมรณานุสติเป็นประจำ ก็จะทำให้ความรักมามีอิทธิพลเหนือใจเราไม่ได้มาก

มีสติดี มีความเด็ดเดี่ยว ก็จะมีจิตโศกน้อยกว่าคนทั่วไป อาการไม่หนักหนาสาหัสนัก เพราะนึกถึงความตายแล้วทำให้ใจคลายออกจากความรัก ซึ่งเป็นต้นทาง แห่งความโศก พอคิดว่าเราเองก็ต้องตาย จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เท่านั้นก็เริ่มจะได้คิด ความโศกความรักเริ่ม หมดไปจากใจ มีสติมาพิจารณาตนเอง ไม่ประมาท ขวนขวายในการสร้างความดี จากนั้นตั้งใจเจริญสมาธิ ภาวนาเต็มที่ก็จะสามารถทำนิพพานให้แจ้งได้ และตัดความรัก ตัดความโศกออกจากใจได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด


๓๗. จิตปราศจากธุลี
บัวย่อมมีใบ
อันหยาดน้ำไม่อาจเกาะติดได้ฉันใด
ผู้ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว
ก็ย่อมมีจิต อันธุลีกิเลสไม่อาจเกาะติดได้ฉันนั้น

จิตปราศจากธุลีหมายถึง จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียดอย่างถอนราก
ถอนโคลน ไม่มีทานฟื้นกลับเข้ามาในใจได้อีก ทำให้จิตสะอาดผ่องใส
นุ่มนวล ควรแก่การงาน ได้แก่จิตของพระอรหันต์

ประเภทของกิเลส
กิเลสในใจคนมีอยู่ ๓ ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลราคะ โทสะ โมหะ

ตระกูลราคะหรือโลภะ คือความกำหนัด ยินดี รัก อยากได้ ในคน สัตว์ สิ่งของ หรืออารมณ์ที่น่าใคร่
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ ความโลภอย่างแรงจนกระทั่งแสดงออกมา
เช่น ปล้น จี้ ลักขโมย

๒. อภิชฌา ความเพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น จ้อง ๆ จะเอาของเขาละ แต่ยังสงวนท่าที
ไม่แสดงออก

๓. โลภะ ความอยากได้ในทางทุจริต อยากได้ในทางที่ไม่ชอบ แต่ยังไม่แสดงออก

๔. ปาปิจฉา ความอยากได้โดยวิธีสกปรก เช่น อยากได้สตางค์เลยไปเล่นกานพนัน
ไม่รักษาเกียรติ ไม่รักษาชื่อเสียงของตน

๕. มหิจฉา ความอยากใหญ่ ความมักมาก เช่น รับประทานอาหารวงเดียวก็คว้า
เอากับข้าวอร่อย ๆ ไปรับประทานเสียคนเดียว ไม่เกรงใจคนอื่น ไม่รู้จักประมาณ

๖. กามราคะ ความพอใจในกาม รักเพศตรงข้าม ยังมีความรู้สึกทางเพศ
หรือยังยินดีในรูป กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์

๗. รูปราคะ ความติดใจยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้รูปฌานแล้ว

๘. อรูปราคะ ความติดใจยินดีในอารมณ์ของอรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้อรูปฌานแล้ว
ข้อ ๖-๘ นี้แหล่ะที่จัดเป็นกิเลสละเอียด ที่เรียกว่า ธุลีในตระกูลราคะ

ตระกูลโทสะ คือความไม่ชอบใจ ความคิดร้าย คิดทำลายผุ้ที่ทำให้ตนโกรธ
๑. พยาบาท ความผูกอาฆาต จองเวร อยากแก้แค้น ไม่ยอมอภัย บางทีข้ามภพ
ข้ามชาติก็ยังไม่ยอม

๒. โทสะ ความคิดร้าย คิดทำลาย เช่น คิดจะฆ่า คิดจะเตะ คิดจะด่า คิดจะเผาบ้าน

๓. โกธะ ความเดือนดาลใจ คือคิดโกรธแต่ยังไม่ถึงกับคิดทำร้ายใคร

๔. ปฏิฆะ ความขัดใจ เป็นความไม่พอใจลึก ๆ ยังไม่ถึงกับโกรธ แต่มันขัดใจ
ข้อ ๔ นี้แหล่ะที่จัดเป็นธุลี กิเลสละเอียดในตระกูลโทสะ

ตระกูลโมหะ คือความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี ไม่รู้จักบาปบุญ ได้ชื่อว่าตกอยู่ในโมหะ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ
เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี

๒. โมหะ ความหลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

๓. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เช่น คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริงๆ

๔. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม เช่น ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าบุญบาปมีจริงไหม ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ

๕. สีลัพพตปรามาส ความติดอยู่ในศีลพรตอันงมงาย เช่น เชื่อหมอดู เชื่อศาลพระภูมิ

๖. มานะ ความถือตัว ถือเขาถือเรา

๗. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อย ๆ ยังไม่หยุดนิ่งสนิทบริบูรณ์ ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่าน ไม่รู้เหนือรู้ใต้อย่างที่คนทั่วไปเป็น

๘. อวิชชา ความไม่รู้พระสัทธรรม เช่น ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน
ตั้งแต่ข้อ ๓-๘ เป็นธุลี กิเลสอย่างละเอียดในตระกูลโมหะ

โดยสรุป ธุลีหมายถึง กิเลสอย่างละเอียดทั้ง ๓ ตระกูล รวม ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. สักกายทิฏฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส
๔. กามราคะ
๕. ปฏิฆะ
๖. รูปราคะ
๗. อรูปราคะ
๘. มานะ
๙. อุทธัจจะ
๑๐. อวิชชา

ทั้ง ๑๐ ประการนี้เรียกว่า สังโยชน์ ๑๐

ระดับของกิเลสทั้ง ๓ ตระกูล

ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า คนจะรักกัน อยู่กันฉันสามีภรรยา ถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ขออย่าไปนอกใจมีชู้ก็แล้วกัน โทษของราคะไม่ค่อยหนักนัก แต่การเลิกนั้นยากมาก คลายช้า

โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว เวลาโกรธขัดใจขึ้นมาฆ่ากันได้ บางทีถึงขนาดฆ่าพ่อแม่ ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้ มีโทษมาก แต่ทว่าคลายเร็ว ถ้าเขามาขอโทษขอโพย เอาอก เอาใจไม่นานก็หาย โทสะคลายเร็วอย่างนี้

โมหะ มีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย ความหลง ความไม่รู้พระสัทธรรมนี้มีโทษมาก ทำให้เราหลงไปทำบาปตกนรกเสียย่ำแย่ เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารกันมา นับภพนับชาติไม่ถ้วน ทนทุกข์กันตลอดมาก็เพราะโมหะนี่เอง และแถมเจ้าโมหะนี่
ยังคลายช้าอีกด้วย


๓๘. จิตเกษม
ผู้ที่ถูกตีตรวนคุมขังอยู่
เมื่อได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ
ย่อมมีอิสสระเสรี มีความสุขกายสบายใจฉันใด
ผู้ที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย
ก็ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น

ภัยของมนุษย์
ตั้งแต่ที่เราเกิดมาลืมตาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่าง ๆ นานาชนิดที่พร้อมจะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเลมหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาคอยตักรุมล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ภัยจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใคร ๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

๒. ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วนเช่น
◕ ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนไม่ดี คนเกเร นับไม่ถ้วน
◕ ภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด
◕ ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ เคยเบียดเบียนสัตว์ก็ทำให้ต้องไข้ได้ป่วย
พิการ เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน ไปลักขโมยโกงเขา

ทำไมเราถึงต้องพบกับภัยเหล่านี้
การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับ ทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านๆๆๆชาติมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะถูกผูกด้วยโยคะ แปลว่า เครื่องผูกสัตว์ ไว้ในภพ มีอยู่ ๔ ประการได้แก่

๑. กามโยคะ คือความยินดีพอใจในกามคุณ

๒. ภวโยคะ คือความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คือเมื่อได้เจอความสุขจาการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌาน หรืออรูปฌานก็พอใจ ยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก

๓. ทิฏฐิโยคะ คือความยึดถือความคิดเห็นที่ผิด ๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อ ตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่จริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู ยังไปหลงยึดความเห็นผิด ๆ อยู่

๔. อวิชชาโยคะ คือความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจ ยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจจ์ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย
ทั้ง ๔ อย่างนี้ผูกมัดตัวเราไว้กับภพทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร
โดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด

จิตเกษม หมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว จิตเป็นอิสระเสรี ทำให้คล่องตัวไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใดๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่จะมีจิตเกษม ได้อย่างแท้จริง คือ ผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในนิพพานตลอดเวลา ซึ่งก็ได้แก่พระอรหันต์นั่นเอง

อภิญญา ๖ คือความรู้อันยิ่งยวด เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลัก เหตุผลธรรมดา ได้แก่
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่าง ๆ ย่อขยายตัวได้
หายตัวได้ ฯลฯ

๒. ทิพยโสต มีหูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร

๔. ปุพเพนิวาสนุสติญาณ ระลึกชาติได้

๕. จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ) มีตาทิพย์

๖. อาสวักขยญาณ ทำกิเลสให้สิ้นไปได้

ในอภิญญา ๖ นี้ ๕ ข้อแรกเป็น โลกียอภิญญา ข้อที่ ๖ เป็นโลกุตตรอภิญญา
คุณวิเศษ เหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง
ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงด้วยการบอกเล่า หรือสั่งสอนกัน
ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนั้นจริง ๆ แล้วจึงจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง


วิชชา ๓ คือความรู้แจ้ง ความรู้พิเศษอันลึกซึ้งด้วยปัญญา ได้แก่ ญาณ คือ ความหยั่งรู้ เป็นความรู้พิเศษ เป็นปัญญาอันเกิดจากการทำสมาธิภาวนาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุด จะเข้าถึงธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ต้องเข้าถึงด้วยภาวนามยปัญญานี้เท่านั้น

วิชชา ๓ มีดังนี้
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติตัวเองได้

๒. จุตูปปาตญาณ คือ ตาทิพย์ ระลึกชาติคนอื่นได้

๓. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้หมดกิเลส


วิชชา ๘ คือความรู้แจ้ง หรือความรู้วิเศษ ๘ อย่าง คือ
๑. วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร โดยไตรลักษณ์

๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ ฤทธิ์ทางใจ

๓. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่าง ๆ หายตัวได้

๔. ทิพยโสต มีหูทิพย์

๕. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร

๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

๗. ทิพยจักษุ มีตาทิพย์

๘. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำกิเลสให้สิ้นไปได้


ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่น ได้แก่
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
เห็นข้อธรรมใดก็สามารถอธิบายขยาย ความออกไปได้โดยพิสดาร

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
สามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับ เก็บความสำคัญได้หมด

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือ แตกฉานเรื่อง ภาษาทุกภาษา
ทั้งภาษา มนุษย์และสัตว์ สามารถเข้าใจได้

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดี สามารถอธิบาย แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำถามได้แจ่มแจ้ง

การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้ เราทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคล ต่าง ๆ
ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำอย่างเอาจริงเอาจัง
ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง
มีจิตเกษมปลอดภัยจากภัยต่าง ๆ และมีความรู้พิเศษสุดยอด
เจริญรอยตามอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และเหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้





Create Date : 17 สิงหาคม 2550
Last Update : 21 กันยายน 2550 13:03:49 น. 1 comments
Counter : 698 Pageviews.

 
หน้านี้ยาวที่สุดค่ะ....
มงคลชีวิต 38 ประการอ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ มีประโยชน์มากๆ
และเราสามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อ ให้เกิดความสุขที่แท้จริงได้


โดย: กิ๊ก (sweetez_g ) วันที่: 14 กันยายน 2550 เวลา:11:10:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sweetez_g
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แล้วคุณจะตกหลุมรักตัวเอง...เป็นหลุมรักภายใน หมดปัญหาใดๆ มีแต่ความรักใสใสให้ทุกคน
Friends' blogs
[Add sweetez_g's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.