หวานเย็นผสมโซดา | รวิวารี | Mahal Kita | NamPhet
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
4 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 

ลูกแก้วเมียขวัญ : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย

ลูกแก้วเมียขวัญ : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย



ชื่อหนังสือ : ลูกแก้วเมียขวัญ
เขียนโดย : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม ๒๕๔๐
สำนักพิมพ์ : มติชน
จำนวน ๓๒๐ หน้า ราคา ๑๙๕ บาท



กระซิบก่อนอ่าน

   "สตรี" ในสังคมไทยมีบทบาทซับซ้อนอย่างยิ่ง
ไม่มีทั้ง "อำนาจ" และฐานะของ "ผู้นำ" ในสังคม
ถูกบดบังด้วบบทบาทของ "บุรุษ" มาโดยตลอด
แต่ในฐานะของ "แม่-เมีย และ ลูก" แล้ว
กลับมีพลานุภาพมหาศาลแฝงเร้นอย่างล้ำลึกแยบยล
เป็นพลานุภาพอันถ่ายทอดด้วยอารมณ์ความรู้สึก
รักใคร่อาทร อ่อนดยนทะนุถนอม
บทบาทของสตรีในประวัติศาสตร์จึงเป็นภาพที่รางเลือน
ไม่มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเล่มใด
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ใช้ความอุตสาหะอยู่ไม่น้อย
ในการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารนานา เข้ามาคุมเป็นเรื่องราว
เพื่อนำบทบาทของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในของสยาม
ซึ่งอยู่ใกลิชิดองค์พระมหากษัตริย์
เสนอให้ปรากฏกระจ่างชัด


ขอบคุณรายละเอียดและภาพปกจาก... MatichonBook ... นะคะ




แวะเคาะประตูร้านหนังสือ







บันทึกหลังอ่าน

   ลูกแก้วเมียขวัญ เป็นหนังสือที่บอกเล่าพระประวัติของเจ้านายที่เป็นสตรีในรั้วในวัง ซึ่งแต่ละพระองค์ทรงมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทรงมี ทรงเป็นคล้ายคลึงกันคือ การเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงของชาติตราบจนปัจจุบัน ทว่าเรื่องราวของฝ่ายในนั้นกลับไม่เป็นที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร เพราะภาระหน้าที่ทั้งหมดจำกัดอยู่แต่เพียงในส่วนของที่เรียกว่า "ฝ่ายใน"

   หลังอ่าน ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก จบ หวานเย็นก็หยิบ ลูกแก้วเมียขวัญ มาอ่านต่อทันที (แต่ไม่ได้รีวิวต่อกันอะค่ะ ดองรีวิวอีกตามเคย ) ซึ่งในเล่มนี้นั้น คุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้ทำการรวบรวมเรื่องราวของ หม่อมห้ามนางใน ที่เข้าข่ายของ ลูกแก้ว หรือ เมียขวัญ ไว้โดยเฉพาะเท่านั้น ซึ่งจากการอ่านจะพบว่าแต่ละพระองค์มีพระราชอัธยาศัย และพระปรีชาสามารถในด้านที่แตกต่างกันออกไป และด้วยภาระหน้าที่และบทบาทนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่า สตรีคือเบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษ

   เริ่มจาก ลูกแก้ว ในพระมหากษัตริย์ไทย

   กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ฯ

   กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพรานารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นขัตติยราชนารีที่สมเด็จพระราชบิดาทรงอบรมเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง
   ...

   สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงอบรมเลี้ยงดูพระราชธิดาอย่างใกล้ชิด โดยมิได้ทรงคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักดังเช่นพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ไทยมีสัมพันธไมตรีติดต่อกับประเทศทางยุโรปบางประเทศ ได้รับวัฒนธรรมบางประการมาใช้ จึงทรงมีพระราชดำริและวิถีปฏิบัติแตกต่างจากบูรพกษัตริย์ทั้งปวง ทรงทั้งตามพระทัย ยกย่องพระราชทานพระเกียรติยศและอำนาจให้พระราชธิดาพระองค์เดียวอย่างล้นเหลือ อย่างที่มิเคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงปฏิบัติต่อพระราชธิดามาก่อน ปรากฏหลักฐานในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ดซึ่งเดินทางเข้ามาไทยพร้อมกับคณะทูตของลาลูแบร์ ใน พ.ศ.๒๒๒๙ กล่าวถึงเรื่องราวนี้ว่า

   "--พระเจ้ากรุงสยามผู้เป็นพระชนกทรงรักใคร่โปรดปรานสมเด็จพระราชธิดาเป็นอันมาก และได้ทรงมอบการฝ่ายในให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชธิดา--การตัดสินถ้อยความและคดีต่าง ๆ ในระหว่างผู้หญิงฝ่ายในนั้นตกอยู่ในหน้าที่ของสมเด็จพระราชธิดา--"
   ...

   เมื่อพระราชธิดาทรงเจริญพระชันษาพอสมควร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิทธิพิเศษให้ทรงมีอำนาจอิสระในการควบคุมบังคับบัญชาปกครองดูแลข้าราชสำนักและข้าราชการทั้งหทารและพลเรือนจำนวนหนึ่ง เรียกว่า กรม มี หลวงโยธาเทพ เป็นเจ้ากรม คนทั่วไปจึงเรียกพระนามพระราชธิดาว่า เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ เรียกสั้น ๆ ว่า กรมหลวงโยธาเทพ คู่กับ เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ หรือ กรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งมี พระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา
การสถาปนาให้อำนาจในการบังคับบัญชากรมดังนี้ เป็นต้นแบบการสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายให้ทรงกรมในกาลต่อมาจนปัจจุบัน


   นี่คือที่มาการสถาปนาพระอิสริยศเจ้านายให้ทรงกรมในยุคหลัง ๆ กระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงยึดถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นราชประเพณีน่ะค่ะ

   พราะเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ราชนารีผู้เมินคุณสมบัติกุลสตรี

   พระองค์เจ้าหญิงบุตรี ซึ่งทรงได้ชื่อว่าเป็นพระราชนารีที่มีแนวพระดำริ ความสนพระทัย ตลอดจนพระจริยวัตรที่ผิดแผกแตกต่างจากพระราชนารีรุ่นเดียวกันโดยสิ้นเชิง ด้วยทรงสนพระทัยเฉพาะวิชาการด้านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว
   ในส่วนวิชาตามแบบกุลสตรีโบราณ อันได้แก่งานฝีมือ และงานด้านประณีตศิลป์ต่าง ๆ ไม่ทรงให้ความสนพระทัย จนถึงขั้นทรงทำไม่เป็นเลยก็ว่าได้ ดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระนัดดาซึ่งเคยอยู่ในพระอุปถัมภ์พระองค์หนึ่ง ทรงกล่าวถึงพระองค์เจ้าหญิงบุตรีว่า
   
"--เสด็จป้าของเราได้รับความฝึกหัดในวิชาของผู้ชายเป็นพื้น ศิลปของผู้หญิง เช่น เย็บ ปัก ถัก ร้อย ทำอาหาร ที่สุดจนเจียนหมากจีบพลู เรายังไม่เคยเห็นท่านทำเองเลย เขาว่าท่านทำไม่เป็นด้วย--"
   ...

   ...แต่อย่างไรก็ตามความเป็นขัตติยราชนารีของพระองค์ยังจำกัดไว้มิให้พระองค์ได้ทรงรับรู้วิทยาการใหม่ ๆ เท่าเทียมกันกับบุรุษ จึงทรงเชี่ยวชาญเฉพาะอักขรสมัย หนังสือไทย ประเภท ธรรมะ ตำนาน วรรณคดี มีโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน กลบทต่าง ๆ อันเป็นวิชาเหมาะแก่สตรี
   นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาเกี่ยวกับวิชาเลขอย่างไทย วิชาดาราศาสตร์ จนทรงสามารถสอนลูกศิษย์ให้มีความรู้วิชาดังกล่าวเป็นพื้นฐานเบื้องต้น
...

ถึงแม้เวลาจะผ่านไปแสนนาน แต่แนวพระดำริอันแปลกแยกจากสมัยและพระกรณียกิจอันเป็นคุณแก่ประเทศชาติ โดยผ่านทางเหล่าศิษย์สำนักพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งถือกันว่าทรงเป็น "ครูคนแรก" นั้น ยังคงเป็นที่จดจำและเล่าขานสืบมาจนปัจจุบัน


   น่าเสียดายนะคะ หากไม่มีข้อจำกัดใด ๆ พระองค์ท่านน่าจะได้ทรงรับรู้วิทยาการใหม่ ๆ เทียบเท่าบุรุษจริง ๆ และพระกรณียกิจของพระองค์คงจะยังประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างกว้างขวางสมพระฐานะ ครูคนแรก ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

   สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ผู้ทรงนำสตรีไทยสู่โลกสมัยใหม่

   ...ทรงมีทัศนคติการมองโลกที่กว้างขวางและถ่องแท้ ซึ่งทำให้ทรงสามารถที่จะปรับพระองค์และพระทัยให้เข้ากับกระแสแวดล้อมที่เลื่อนไหลอย่างรวดเร็วได้โดยมิทรงลำบาก แต่ก็มิได้ทรงละทิ้งความเป็นขัตติยราชนารีในทุก ๆ สถานการณ์ อย่างเช่นครั้งเสด็จร่วมพิธีเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นมีข่าวเล่าลือว่าจะมีการกบฏเกิดขึ้น สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ทรงแต่งฉลองพระองค์งดงามเป็นพิเศษด้วยซิ่นหางกระรอกสีเหลือง สีแพรชีฟองสีขาว ทรงสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์สีเหลือง ทรงเครื่องเพชรงดงาม เพราะทรงมีพระอารมณ์ขันกับข่าวลือ และทรงมีรับสั่งว่า
   "วันนี้แต่งเต็มที่เพราะเวลาตายจะได้ตายสวย ๆ"


   หวานเย็นปลื้มปิติในพระอารมณ์ขันของ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร มาก ๆ อะค่ะ แม้ข่าวลือน่าสิ่วน่าขวาน พระองค์ยังทรงสงบนิ่งและมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อกระแสข่าวลือ สมเป็นขัตติยาราชนารีจริง ๆ ค่ะ

   ในส่วนของ เมียขวัญ

   สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบรมราชินีพระองค์แรกของจักรีวงศ์

   ว่ากันว่าแม้หลวงยกกระบัตรจะมีวาสนาบารมีสูงส่งเพิ่มพูนขึ้นเพียงไรก็ตาม แต่สิ่งที่คงประพฤติปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายคือยึดมั่นในผัวเดียวเมียเดียว แตกต่างจากผู้มีวาสนาบารมีคนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน อันอาจเป็นเพราะความมั่นคงในรัก หลักฐานสำคัญที่แสดงความรักมั่นของทั้งสองพระองค์คือ พระราชโอรสธิดาทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่ประสูตินอกเศวตฉัตรนั้น ล้วนประสูติแต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทั้งสิ้น หรืออาจเป็นเพราะอุปนิสัยของท่านผู้หญิงนาค ซึ่งเป็นที่ร่ำลือกันว่าขี้หึงเป็นที่สุด จนมีคำเปรียบเทียบติดปากว่า "มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ"
   ...
   แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระอมรินทราฯ ไม่อาจที่จะทรงยึดอดีตให้คงอยู่เป็นปัจจุบันได้ เพราะฟันเฟืองแห่งกาลเวลาดำเนินไปไม่หยุดยั้งฉุดรั้งอดีตให้เลยลับ นำสิ่งใหม่ ๆ มาพร้อมกับปัจจุบัน สิ่งใหม่ ๆ ที่กาลเวลานำมาและเป็นสาเหตุให้ชีวิตในครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงก็คือ สาวชาวเวียงจันท์ ชื่อ คุณแว่น


   ...

   เจ้าจอมแว่น ในพระพุทธยอดฟ้าฯ มาจากเวียงจันท์

   ในบรรดาเจ้าจอมทั้งหลายนั้น เจ้าจอมแว่น นับเป็นเจ้าจอมที่มีผู้รู้จักและกล่าวถึงเสมอ เพราะเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานและเกรงพระทัยมากคนหนึ่ง ทั้งที่มิได้เป็นเจ้าจอมมารดาหรือปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้มีความงามต้องพระเนตร จึงน่าที่จะได้ศึกษาชีวประวัติเจ้าจอมแว่นเพื่อสะท้อนถึงพระราชอัธยาศัยและน้ำพระทัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้อีกโสดหนึ่ง
   ...

   คุณสมบัติพิเศษของเจ้าจอมแว่นที่ไม่มีผู้ใดเหมือน ก็คือความกล้าหาญและศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดกล้าจะกราบทูล แต่ถ้าเจ้าจอมแว่นเห็นว่าเป็นสิ่งสมควรและถูกต้องแล้ว ก็จะกราบทูลทันทีมิได้เกรงกลัวพระราชอาญา ด้วยเหตุที่ทรงตระหนักถึงความจงรักภักดีและความสุจริตใจของเจ้าจอมแว่นจึงไม่ทรงพิโรธ หากไม่ทรงเห็นด้วยมักจะพระราชทานคำอธิบายเหตุผลให้ทราบ...


   พระประวัติของ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และ เจ้าจอมแว่น สะท้อนให้เห็นภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนคล้อยไปตามกาลเวลาได้เป็นอย่างดีที่สุด อ่านแล้วสะเทือนใจเล็ก ๆ กับอดีต หวานเย็นคงไม่ต้องอธิบายใช่ไหมคะว่า... ทำไม ?

   เจ้าจอมมารดาอำภา "สายหยุดพุดจีบจีน" ในราชสำนักสยาม บรรพบุรุษสกุล "ปราโมช"

   สตรีจีนท่านหนึ่งมีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าเป็นสตรีอันเป็นที่รักของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สายโลหิตพระองค์หนึ่งแห่งสตรีผู้นี้ปรากฏพระนามในฐานะของผู้มีความเหมาะสมสำหรับสิทธิในพระราชบัลลังก์สยาม และเชื้อสายที่สืบต่อมาจนปัจจุบันก็ได้ทำหน้าที่สำคัญสนองคุณผืนแผ่นดินไทยนั่นคือรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะบริหารงานบ้านเมืองในสมัยประชาธิปไตย สตรีจีนท่านนั้นคือ เจ้าจอมมารดาอำภา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
   เจ้าจอมมารดาอำภา เป็นเจ้าจอมมารดาที่มีเชื้อสายจีนแท้ ๆ เกิดที่ประเทศจีน เมื่อวัยเยาว์ได้รับการเลี้ยงดูตามขนบประเพณีกุลสตรีจีน เช่น การมัดเท้าให้เล็กตั้งแต่เด็ก ๆ จนอายุได้ ๘ ขวบ จึงได้เดินทางมาเมืองไทย
   ...

   ส่วนด้านจิตใจนั้น ปรากฏความเป็นไทยของเจ้าจอมมารดาอำภาอย่างชัดเจนคือ รักแผ่นดินไทย ศรัทธาในพระพุทธศาสนาและภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเต็มเปี่ยมและแน่นแฟ้น เห็นได้จากการปฏิบัติตนของท่านต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงผนวชจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
   ครั้งนั้นท่านได้ส่ง พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าปราโมช มาถวายเป็นศิษย์ปรนนิบัติทูลกระหม่อมพระอยู่ระยะหนึ่ง และตลอดเวลาท่านได้ประดิษฐ์ และเลือกคัดเครื่องเสวยแต่สิ่งดีเป็นพิเศษมาถวายมิได้ขาด จนทรงลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทั้งที่ท่านรู้แก่ใจดีว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยากจนพระราชทรัพย์กว่าพระจ้าแผ่นดินรัชสมัยที่ผ่านมา อันเนื่องมาแต่...
   
"...ท่านทรงผนวชมาแต่ทรงพระเยาว์ และลาผนวชมาเสวยราชสมบัติ ไม่มีเวลาที่จะสะสมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เงินแผ่นดินนั้นต้องทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน จะใช้สอยส่วนพระองค์ก็อัตคัด..."
   และเพราะเหตุนี้ครั้งใดที่ท่านได้มีโอกาสเฝ้าทุลละอองทุลีพระบาท ท่านรวบรวมเงินส่วนตัวของท่านใส่ถุงตีตราครั้งละมาก ๆ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย จึงอาจกล่าวได้ว่า การถวายเงินโดยเสด็จดังที่ปฏิบัติกันในปัจจุบันนี้ เจ้าจอมมารดาอำภาเป็นท่านแรกที่ริเริ่มนำมาปฏิบัติ


   เจ้าจอมมารดาอำภา เจ้าจอมมารดาผู้ริเริ่มขนบการถวายเงินโดยเสด็จ นับได้ว่านี่คือความรู้ใหม่สำหรับหวานเย็นเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ

   เจ้าจอมมารดาแพ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์

   เจ้าจอมมารดาแพ ได้ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาคนเดียวของสามีเป็นครั้งสุดท้าย คือการปรนนิบัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งกำลังประชวรและประทับอยู่ ณ ห้องพระฉาก พระที่นั่งอมรินทร์ จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จเข้าไปประทับในพระราชมณเทียรฝ่ายใน พระจริยาวัตรของพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเปลี่ยนเป็นพระราชานุกิจ
   ก่อนที่จะพ้นหน้าที่ภรรยาคนเดียวนั้น เจ้าจอมมารดาได้ทูลขอพระพรจากพระบรมราชสวามีว่า
"พระองค์เป็นพระมหากษัตรีย์จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ก็จะไม่เคียดขึ้งหึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ"
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาพระราชทานพรให้เป็นพิเศษหลายประการ เช่น ห้ามท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวน สร้างพระที่นั่งเย็นเป็นที่สำราญพระอิริยาบถ มีพระบรมราชานุญาตเฉพาะเจ้าจอมมารดาแพเป็นผู้ปรนนิบัติขณะประทับ ณ พระที่นั่งนี้ และโปรดสร้างพระตำหนักใหญ่ขึ้นใหม่เฉพาะเจ้าจอมมารดาแพ และที่เป็นพิเศษคือ หน้าที่ปรนนิบัติ ที่เจ้าจอมมารดาแพได้ยึดถอปฏิบัติมาโดยตลอดคือ เวลาเช้าตื่นบรรทม ถวายเครื่องพระสำอาง ตั้งเครื่องพระกระยาหารต้ม ตอนบ่ายถวายการปรนนิบัติอีกครั้งเมื่อเสร็จพระราชกรณียกิจช่วงเช้า กลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าที่บรรทมแล้ว ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องบรรทมจนเช้า และปรนนิบัติเช่นเดิมเป็นกิจวัตร นอกจากเวลาดังกล่าว เจ้าจอมมารดาแพจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง


   จากพระประวัติที่ยกมานั้น หวานเย็นซาบซึ้งในพระทัยท่านจริง ๆ ค่ะ

   พระราชชายา เจ้าดารารัศมี กับพระราโชบาย "ครองรัก" เพื่อ "ครองเมือง"

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "พระพุทธเจ้าหลวง" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระราชจักรีวงศ์พระองค์หนึ่ง ที่มีพระมเหสีและเจ้าจอมเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามโบราณราชประเพณีแล้วยังเป็นพระราชกุศโลบายในอันที่จะประสานประโยชน์ด้าน "การบ้าน" เข้าหา "การเมือง" อย่างแนบเนียน
   เพราะในขณะที่บ้านเมืองและพระราชบัลลังก์ยังอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคงนั้น ไม่มีวิธีการผูกพัน ความจงรักภักดีสามัคคีใด ๆ จะแน่นเหนียวไปกว่าการผูกพันกันฉัน "เครือญาติ"
   ...

   จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ที่ทรงนำ "ความรัก" มาเป็นฐานค้ำจุนราชบัลลังก์และประเทศชาติ
   พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
เป็นหนึ่งในความรักที่ทรงผูกพันเข้ากับการเมือง ด้วยเหตุที่พระราชชายาฯ เป็นพระธิดาของเจ้านครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประเทศราชของไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรทั้งสองไม่สู้จะราบรื่น ทั้งนี้แล้วแต่ภาวะและนโยบายของเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งจะหันเหนำบ้านเมืองไปสู่บารมีของพม่าหรือของไทย
   ...

   พราะราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเป็นพระราชชายาฯ จากเวียงเหนือพระองค์เดียว ที่ทรงเกี่ยวข้องในพระบรมราชวงศ์ครั้งแรกเสมือนหนึ่งทูตที่ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองนคร กรุงเทพฯและเชียงใหม่
   ภายหลังด้วยเสน่ห์แห่งพระองค์ทรงผูกมัดพระทัยพระราชสวามี จนอาจกล่าวได้ว่า ทรงเป็นพระมเหสีเทวีพระองค์หนึ่งที่ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในพระทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และทรงร่วมกันสานประโยชน์เพื่อความรุ่งเรืองแห่งประเทศชาติ


   "ครองรัก" เพื่อ "ครองเมือง" ? การเป็นขัตติยราชนารีนั้น ภาระและหน้าที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้านายฝ่ายชายเลยค่ะ เพียงแต่ไม่มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร หรือหากมีปรากฏก็เพียงน้อยนิด หากมิมีผู้รวบรวมไว้ ก็ยากนักที่ชนรุ่นหลังจะซาบซึ้งและเข้าใจในหน้าที่ของเจ้านายฝ่ายหญิง

   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะพิจารณาให้ถ่องแท้คงเป็นเรื่องยาก เพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกจารจำโดยผู้หนึ่งผู้ใดนั้นก็อาจมีเอนเอียงด้วยฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ แลภยาคติ จำต้องใช้ดุลพินิจประกอบการอ่านด้วยนะคะ

   ลูกแก้วเมียขวัญ ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่รวบรวมพระวัติเจ้านายฝ่ายหญิง หรือที่เรียกว่า ฝ่ายใน ไว้ได้ละเอียดลออพอสมควรแก่การอ่านเล่มหนึ่ง ที่หวานเย็นขอแนะนำนะคะ

   ขอเพิ่มเติมนิด สำหรับใครที่สนใจซื้อหามาอ่าน ฉบับตีพิมพ์ล่าสุด ครั้งที่ ๖ นั้น เท่าที่หวานเย็นแอบไปเปิด ๆ แง้ม ๆ มาจะพบว่าตัดในส่วนของพระประวัติ เจ้าจอมแว่น ออกน่ะค่ะ โชคดีที่หวานเย็นหยิบยืมห้องสมุดมหา 'ลัย มาอ่าน และมีให้เปรียบเทียบทั้งฉบับพิมพ์ครั้งแรก และฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด เลยทราบก่อนน่ะค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระประวัติของ เจ้าจอมแว่น ก็มีให้อ่านใน ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก ถ้าใครมีทั้ง ๒ เล่มนี้ก็ไม่ต้องเสียดายไปนะคะ อีกเล่มยังมีพระประวัติของพระองค์ท่านให้อ่านอะค่ะ

   ส่วนหวานเย็นพอเห็นเปรียบเทียบกันชัด ๆ แบบนี้ เลยยังตัดสินใจซื้อมาครอบครองเป็นการส่วนตัวไม่ลงน่ะค่ะ เสียดายพระประวัติ เจ้าจอมแว่น แม้จะมีอีกเล่มอยู่ในครอบครองก็ยังทำใจไม่ได้เด็ดขาด เลยยังไม่ยอมซื้อ ลูกแก้วเมียขวัญ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๖ สักที






 

Create Date : 04 สิงหาคม 2556
6 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2556 1:00:06 น.
Counter : 2823 Pageviews.

 

อยากจะหาอ่านบ้างค่ะ น่าชื่นชมเหล่าสตรีในรั้วในวังสมัยก่อนที่ประวัติศาสตร์แทบจะไม่มีบันทึกไว้ให้ลูกหลานเห็นเลย แต่เล่มนี้...ทรงคุณค่ามากค่ะ...

 

โดย: Aneem 4 สิงหาคม 2556 7:10:54 น.  

 

อ่านแต่เล่มก่อน เล่มนี้ยังเลยค่ะ ถ้าเจอและมีเวลาคงอ่านค่ะ

 

โดย: ~:พุดน้ำบุศย์:~ 4 สิงหาคม 2556 17:11:32 น.  

 

เป็นหนังสือที่น่าเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์เลยนะคะ
น่าอ่านมากเลยค่ะ

 

โดย: lovereason 4 สิงหาคม 2556 23:38:27 น.  

 

ขอบคุณสำหรับรีวิวค่ะ เป็นหนังสือที่น่าอ่านน่าสะสมมากๆค่ะ

 

โดย: Sab Zab' 6 สิงหาคม 2556 22:04:41 น.  

 

อืมม น่าสนใจเชียว

 

โดย: หัวใจสีชมพู 20 สิงหาคม 2556 9:01:27 น.  

 

คุณ Aneem :: เล่มนี้หาซื้อไม่ยากค่ะคุณ Aneem มติชนเพิ่งนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่เมื่อไม่นานนี้เองค่ะ



ปกฉบับตีพิมพ์ครั้งล่าสุดตามที่เห็นนี่เลยค่ะ


คุณ ~:พุดน้ำบุศย์:~ :: เล่มนี้น่าสนใจไม่น้อยไปกว่า 'ลูกท่านหลานเธอ ฯ' เลยค่ะคุณ ~:พุดน้ำบุศย์:~ น่าอ่านมาก ๆ ค่ะ

คุณ lovereason :: ถูกต้องนะคร้าบบบบ

คุณ Sab Zab' :: ขอบคุณที่แวะมาอ่านรีวิวเช่นกันค่ะ เล่มนี้เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก ๆ เล่มหนึ่งเลยล่ะค่ะ

คุณลูกปลา :: น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ หวานเย็นแนะนำเลยล่ะค่ะ

 

โดย: หวานเย็นผสมโซดา 20 สิงหาคม 2556 20:00:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


หวานเย็นผสมโซดา
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 34 คน [?]




คนขี้เหงา...เจ้าน้ำตา
ใช้ชีวิตเหว่ว้าบนโลกกว้าง
ท่ามกลางความวุ่นวาย...สบายดี
New Comments
Friends' blogs
[Add หวานเย็นผสมโซดา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.