คืนกำไรให้ชีวิต เพื่อพิชิตไปในโลกกว้าง
space
space
space
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
space
space
30 เมษายน 2555
space
space
space

วิธีการสังเกตคำบาลี-สันสกฤต

เรื่่องการสังเกต  คำบาลี- สันสกฤต


                  เรื่องนี้้  ฉันเขียนขึ้นตามคำขอของ  คุณ เด็กเรียน  ซึ่งขอมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน  พอดีฉันเดินทางไปเที่ยวประเทศ ฮังการี  เชค และออสเตรีย  ตั้งแต่วันที่  7-14  เมษายน  หลังจากกลับมาแล้ว  ฉันก็ติดภารกิจดูหนังสือเพื่อสอบภาษาจีนที่ลงเรียนไว้ที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เลยทำให้การเขียนเรื่อง การสังเกตคำบาลี-สันกฤตตามคำขอของ คุณเด็กเรียน ช้าไปหน่อย  ต้องขอโทษนะคะ  หวังว่า  คุณเด็กเรียนคงเข้ามาอ่านตามที่ได้ขอเอาไว้ 

                 คำบาลี-สันสกฤต  เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในภาษาไทย  เพราะเป็นภาษาที่ไทยเรารับเข้ามาใช้ในภาษาไทยมากเหลือเกิน    และที่สำคัญ  เราจำเป็นต้องรู้จักสองภาษานี้  เพื่อที่จะทำให้เราเรียนรู้เรื่องของคำสมาสได้  (ซึ่งคำสมาสจะมีสองวิธี  คือ วิธีสมาสและวิธีสนธิ)    เนื่องจาก  คำสมาส ต้องมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น  จึงจะนำมาสมาสและสนธิไ้ด้  นั่นเอง  

                 หลักการสังเกตคำบาลี-สันสกฤต

1. คำบาลีส่วนใหญ่จะมีตัวสะกดตัวตาม  หมายถึงมีตัวสะกดตามพยัญชนะวรรคที่ได้แบ่งไว้  ดังนี้   (ส่วนคำสันสกฤตจะไม่มีตัวสะกดตัวตาม)

แถวที่            1                    2                   3                4                5

วรรค    ก        ก                  ข                   ค               ฆ                 ง
วรรค    จ        จ                  ฉ                   ช               ฌ                ญ
วรรค    ฏ        ฏ                  ฐ                   ฑ               ฒ               ณ
วรรค    ต        ต                  ถ                   ท               ธ                 น
วรรค    ป        ป                  ผ                   พ              ภ                 ม

ตามกฏ  แถวที่ 1 สะกด  ตัวที่ตามมา  มี ตัวแถวที่ 1หรือ 2 ในวรรคเดียวกัน เป็นตัวตามได้    เช่น  สักกะ    ทุกข์   เป็นต้น
              แถวที่ 3 สะกด  ตัวที่ตามมา  มี แถวที่ 3 หรือ 4 ในวรรคเดียวกันเป็นตัวตามได้  เช่น  กิจจา    อัจฉรา  เป็นต้น
              แถวที่ 5 สะกด  ตัวที่ตามมา  สามารถตามได้ทุกแถว แต่ต้องเป็นวรรคเดียวกัน  เช่น  องก์  (ตอนหนึ่ง  ฉากหนึ่ง)   สังข์    องค์    สงฆ์   (ง สะกด  ง  ตามไม่ค่ะ)   สัญญา  สัณฐาน   อัชฌาสัย   อัณฑะ  อันตะ  (ไส้ใหญ่)   เป็นต้น

2. สังเกตจากตัวพยัญชนะ  บาลีจะมีพยัญชนะ  33   ตัว  สันสกฤต มี  35 ตัว จะมีมากกว่า บาลี  2  ตัว  คือ    ตัว  ษ  ศ  ดังนั้น  ถ้าเห็นคำใดมี  ษ  หรือ ศ  คำนั้น ก็ไม่ใช่มาจากภาษาบาลีแน่นอน   เช่น  อุษา  ศิลปะ   กุศล  เป็นต้น
3.คำบาลีไม่นิยมคำควบกล้ำ  ดังนั้นถ้าเป็นคำควบกล้ำจะเป็นสันสกฤต  เช่น  วิทยา  (ทย กล้ำกัน )  บาลีจะใช้ว่า  วิชา  (วิชชา)    
4. คำสันสกฤต ใช้  รร  (ร เรผะ)  บาลีจะใช้  ริ  เช่น  จรรยา   บาลีใช้ว่า  จริยา  กริยา  บาลีใช้ว่า  กิริยา  เป็นต้น
5. สังเกตจากสระ  บาลี มีสระ  8 ตัว  สันสกฤตมี  14 ตัว  มากกว่า บาลี  6  ตัว คือ ฤ ฦ ฤาฦา ไอ เอา  ดังนั้น  ถ้าเราเห็นสระทั้ง 6 ตัวนี้  ก็บอกได้ว่า  เป็นสันสกฤตไม่ใช่บาลี  แน่นอน ค่ะ   เช่น   ฤาษี   ไมตรี  มไหศวรรค์  เยาวเรศ  เป็นต้น
6. สังเกตตัวพยัญชนะ  ถ้าบาลี  จะใช้  ฬ  ส่วนสันสกฤตจะใช้  ฑ  ฒ  เช่น  บาลีใช้  กีฬา  สันสกฤต ใช้ว่า  กรีฑา    จุฬา  เป็น  จุฑา  วิรุฬห์   เป็นวิรูฒ   เป็นต้น
7. สังเกต  จาก ตัว  ข  และ กษ  บาลี  จะใช้  ข  เมื่อสันสกฤตจะใช้  กษ  เช่น  เขมะ  สันสกฤตจะใช้ว่า  เกษม   ขณะ  สันสกฤตใช้ว่า  กษณะ  เป็นต้น
8.  สังเกตตัว  ส  ซึ่่งเป็นคำที่ใช้ได้ทั้ง คำบาลีและสันสกฤต  มักใช้กับพยัญชนะวรรค ตะ   (ทันตชะ)  เช่น  พัสดุ  พิสดาร  สวัสดี  เป็นต้น

             ฉันสรุปและยกตัวอย่างประกอบย่อ ๆ ดังกล่าวมาข้างต้น  หวังว่า  คงจะช่วยให้  "เด็กเรียน"  เข้าใจและใช้เป็นข้อสังเกต คำบาลีและสันสกฤตได้บ้างนะคะ

ลองทำแบบฝึกหัดสัก  5 ข้อ ซิคะ

1. คำบาลีในข้อใด  มีความหมายตรงกับสันสกฤต  ต่อไปนี้
    กฤษณะ     รัศมี     
    ก. กัณห   รัสส                                 ข. กัณณ  รังสี
    ค. กัณห   รังสี                                 ง.  กัณณ  รัสส
2. ข้อใดเป็นคำบาลี  ทุกคำ
    ก. อิจฉา  ขัตติยะ                             ข.  ปรกติ  ทิฐิ
    ค. ปรัชญา   สิกขา                           ง.  มณฑล  สมัคร
3. ข้อใด เป็นคำสันสกฤต  ทุกคำ
    ก.วิจิตร   แพทย์                               ข. อริยะ  เบญจรงค์
    ค. อัฒจันทร์  อัฉริยะ                        ง. อิสี  ขณะ  
4. ข้อใด  มีบาลี และสันสกฤต  อย่างละ  1 คำ
    ก. จรรยา  ประถม                               ข. กิตติ  อาชญา
    ค. อาทิตย์  สันติ                                 ง. อัคคี  มัชฌิม
5. ประโยคใดไม่มีคำบาลี  สันสกฤตอยู่เลย
    ก. อย่าทำตัวเป็นคนวิตถารหน่อยเลย         ข. วันอาทิตย์หน้าฉันเรียนจบแล้ว
    ค. วิชาภมิศาสตร์ยากมากเลย                     ง. พ่อและแม่ของฉันไปเที่ยวยุโรป

เฉลย  1. ข้อ  ค        2. ข้อ ก      3. ข้อ ก      4. ข้อ ข       5. ข้อ ง   

        เป็นไงบ้าง  ถูกหมดไหมคะ   ขอให้โชคดีนะคะ           




 

Create Date : 30 เมษายน 2555
117 comments
Last Update : 20 สิงหาคม 2556 12:01:26 น.
Counter : 47926 Pageviews.

 

ก็ดีเเต่งงไปหน่อยควรจะทำให้ดีกว่านี้

 

โดย: พากข้อความ IP: 110.171.27.71 19 สิงหาคม 2555 15:53:36 น.  

 

ให้ความรุดีจัง

 

โดย: เจนซี่ IP: 49.49.197.232 21 สิงหาคม 2555 20:37:19 น.  

 

เกษรเป็นบาลีหรือสันสกฤตคร้า

 

โดย: Pasini IP: 49.229.156.233 8 กันยายน 2555 15:34:44 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ Pasini

คำว่า เกสร เราใช้ ส ค่ะ ไม่ใช้ ษ ในพจนานุกรมไม่ได้บ่งบอกว่าคำนี้มาจากภาษาอะไร

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 8 กันยายน 2555 22:12:19 น.  

 

0873776769

 

โดย: ณรงค์ฤทธิ์ ภูโว้ IP: 110.77.240.201 21 กันยายน 2555 13:23:05 น.  

 


...

 

โดย: ... IP: 180.180.101.206 23 กันยายน 2555 16:12:59 น.  

 

บารมี บุญ ชาติ บุญญา อัญชุลี สดุดี เป็นคำบาลีหรือสันสกฤตค่ะ

 

โดย: Star Love Moon IP: 27.55.6.7 5 มกราคม 2556 14:03:49 น.  

 

ตอบคำถาม คุณStar Love Moon

ขอบใจที่เข้ามาหาความรู้จากบล็อกของครู ขอตอบคำถามของคุณ ดังนี้
1. บารมี เป็นคำบาลี มาจากรูปเดิม คือ ปารมี ป เมื่อมาใช้ในภาษาไทย เราสามารถแผลงเป็น บ ได้
2. บุญ บุญญา เป็น ภาษา บาลี มีตัวสะกดตัวตาม
3. ชาติ ใช้ได้ทั้งเป็นคำ บาลี และ สันสกฤต
4.อัญชุลี เป็น คำ บาลี มีตัวสะกดตัวตาม
5. สดุดี เป็นคำสันสกฤต

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 6 มกราคม 2556 8:30:02 น.  

 

ขอบคุณมากเลยค่ะ ลูกกำลังเรียนเรื่องนี้ ม 3 ให้แม่ช่วยติวบอกว่า ไม่รู้เรื่องเลย ได้อาศัยอ่านจากของคุณครูนี่แหละค่ะ ขอให้มีความสุขมาก ๆ นะค่ะ ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 19 สิงหาคม 2556 12:02:33 น.  

 

สวัสดี คุณ neung

ขอบคุณและยินดีค่ะ ที่เห็นข้อเขียนนี้ มีประโยชน์ ค่ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 20 สิงหาคม 2556 11:36:15 น.  

 

เมื่อคืนลูกให้ติว คำสมาส โอย เมาเลยค่ะคุณครู สรุปว่า คำสมาสหรือสนธิ ต้องเป็นบาลี หรือ สันสกฤติ อย่างเดียวมั้ยค่ะ ก็เลยบอกไปอย่างนั้น ว่า สมาสต้องแปลจากหลังไปหน้า ต่างกะคำประสม แปลจากหน้าไปหลัง แล้วแบบฝึกหัดที่ รร ยังถามอีก คำสมาสนี้ เป็น ระหว่าง บาลีหรือสันสกฤติ เลย คราวนี้ เมาทั้งแม่และลูก เลยกลับมาอ่านของอาจารย์อีกรอบ ภาษาไทยเรายากจริง ๆค่ะ


ขอความกรุณา อาจาย์อธิบายในแบบฝึกหัด

3. ข้อใด เป็นคำสันสกฤต ทุกคำ
ก.วิจิตร แพทย์ ข. อริยะ เบญจรงค์
ค. อัฒจันทร์ อัฉริยะ ง. อิสี ขณะ
ข้อ ก นะค่ะ แพทย์ ทำมัยเป็นสันสกฤติค่ะ

4. ข้อใด มีบาลี และสันสกฤต อย่างละ 1 คำ
ก. จรรยา ประถม ข. กิตติ อาชญา
ค. อาทิตย์ สันติ ง. อัคคี มัชฌิม
ข้อ ค ไม่เข้าใจ อาทิตย์ นะค่ะ

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 22 สิงหาคม 2556 11:10:47 น.  

 

ทวีป วิทยุ สัตว์ ทำไมเป็นสันสกฤติค่ะ ถ้าคิดเอง วิทยุ ตัวสะกดไม่ตรงตามวรรค แต่ ทวีป ไม่เข้าใจค่ะ
เคหะ เมรัย อัศวิน ชุติ โชติ ทำไมเป็นบาลีค่ะ อาจารย์

ขอบคุณมากนะค่ะ พอดีวันนี้ เอามาอ่านแต่คำยืมในภาษาบาลีสันสกฤต ลองทำแบบฝึกหัดแล้ว งง ในคำดังกล่าว เดี๋ยวคราวหน้าจะยืมหนังสือลูกมาที่เรื่องสมาส แล้วแยกเป็นบาลีหรือสันสกฤตินะค่ะ

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 22 สิงหาคม 2556 12:25:06 น.  

 

สวัสดีค่ะ คุณ neung

3. ข้อใด เป็นคำสันสกฤต ทุกคำ
ก.วิจิตร แพทย์ ข. อริยะ เบญจรงค์
ค. อัฒจันทร์ อัฉริยะ ง. อิสี ขณะ
ข้อ ก นะค่ะ แพทย์ ทำมัยเป็นสันสกฤติค่ะ
ข้อ ก. วิจิตรและแพทย์ เป็นสันสกฤตทั้งคู่ เพราะว่า ใช้คำควบกล้ำ คือ ตร และ ทย ควบกล้ำ ค่ะ แพทย์ บาลี จะใช้ เวชช มีตัวสะกดตัวตาม

4. ข้อใด มีบาลี และสันสกฤต อย่างละ 1 คำ
ก. จรรยา ประถม ข. กิตติ อาชญา
ค. อาทิตย์ สันติ ง. อัคคี มัชฌิม
ข้อ ค ไม่เข้าใจ อาทิตย์ นะค่ะ

อาทิตย์ ก็เช่นเดียวกับคำว่า แพทย์ จ้ะ ควบกล้ำของสันสกฤต จะต่างจากไทย ไทยเรามีควบกล้ำแค่ ร ล ว แต่สันสกฤตได้หมดค่ะ แล้วอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ไม่มมีตัวสะกดตัวตาม ค่ะ

ทวีป ก็เป็นประเภทไม่มีตัวสะกดตัวตาม ส่วน สัตว์ และวิทยุ ก็เป็นตัวควบกล้ำ สันสกฤต สามารถควบกล้ำท้ายคำได้ ผิดกับคำควบกล้ำในภาษาไทยเรา จะควบกล้ำได้เฉพาะ ส่วนหน้าของคำเท่านั้น เช่น กวาด คว่ำ กล้วย เป็นต้น

อัศวิน น่ะ เป็นบาลี ไม่ได้แน่จ้ะ เพราะใช้ ศ ซึ่งเป็นพยัญชนะที่ บาลีไม่มีใช้ค่ะ

ส่วน เคหะ เป็นได้ทั้ง บาลีและสันสกฤต คำบาลีสันสกฤตบางคำก็ไม่ได้เป็นไปตามกฏที่ตั้งไว้ทุกคำ ค่ะ กฎมีเอาไว้ให้สังเกตเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ส่วนโชติ ชุติ เป็นบาลี ถ้าสันสกฤต ใช้ ชฺฺฺยฺติ เมรัย มาจาก เมรย แปลงเป็น ไม้หันอากาศ เป็นเมรัย ค่ะ

อย่า งง เลย ค่ะ กฏทุกข้อ ไม่ใช่จะใช้ได้ตรงคำแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ค่ะ ค่อย ๆ สะสมเรียนรู้กันไป อีกหน่อยก็จะชำนาญมากขึ้นนะคะ

ยินดีให้คำแนะนำตามความสามารถของครูที่มีอยู่นะคะ ขอบคุณที่สนใจงานเขียนของครู ค่ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 23 สิงหาคม 2556 21:05:47 น.  

 

ขอบคุณมากเลยค่ะ อ่านตามแล้วทำความเข้าใจได้มากทีเดียว เรื่องคำควบกล้ำของสันสกฤติ นึกว่า มีแต่ รลว อย่างเดียวซะอีก

ตอนนี้ ขอ ความรู้ในเรื่องการออกเสียง รร ค่ะ

เข้าใจว่า รร ถ้าไม่มีตัวสะกดออกเสียง อัน
ถ้ามีตัวสะกด ออกเป็นเสียง อะ

แต่คำว่า บรรพชา บัน พะ ชา สรรพสัตว์ สัน พะ สัด หรือเป็นคำยกเว้นค่ะ คุณครู

 

โดย: ืำีืneung IP: 203.155.165.15 26 สิงหาคม 2556 14:27:37 น.  

 

ขอถามอีกนิดค่ะ แล้วที่ว่า คำ เขมร ก็ินิยมใช้ ควบกล้ำและอักษรนำ ควบกล้ำของเขมร ต่างจาก สันสกฤติมั้ยค่ะ พอจะดูแยกกันวิธีไหนค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

 

โดย: ืำีneung IP: 203.155.165.15 26 สิงหาคม 2556 15:36:06 น.  

 

ขอถามอีกนิดค่ะ แล้วที่ว่า คำ เขมร ก็ินิยมใช้ ควบกล้ำและอักษรนำ ควบกล้ำของเขมร ต่างจาก สันสกฤติมั้ยค่ะ พอจะดูแยกกันวิธีไหนค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

 

โดย: ืำีneung IP: 203.155.165.15 26 สิงหาคม 2556 15:36:34 น.  

 

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 1 กันยายน 2556 6:54:09 น.  

 

ตอบคำถามคุณneung

ขอโทษค่ะ ที่ตอบคุณช้าไปหน่อย พอดีเป็นไข้หวัดและคอมโดยไวรัสเล่นงาน เลยใช้การไม่ได้ไปหลายวัน ค่ะ

ถามว่า คำเขมรและคำสันสกกฤตต่างก็มีควบกล้ำเหมือนกัน จะทราบได้อย่างไรว่า คำควบกล้ำนั้นจะเป็นคำสันสกฤตหรือคำเขมร คำถามนี้น่าจะให้คำตอบว่า เราต้องยึดหลักการสังเกตคำเขมรและหลักการสังเกตคำสันสกฤต ค่ะ อีกอย่าง คำเขมรจะไม่ควบกล้ำท้ายคำ มีลักษณะเหมือนควบกล้ำของไทยเรา (ส่วนใหญ่คำควบกล้ำไทยเราก็รับมาจากคำเขมรค่ะ ) เช่น ขจาย คำเขมร พอภาษาไทยมาใช้ เราแผลงเป็น กระจาย ได้ค่ะ กระ ก็กลายเป็นคำควบกล้ำไป คำเขมรคำนี้ เราใช้ทั้งสองคำค่ะ แล้วแต่ข้อเขียนตอนนั้นเราจะใช้ในลักษณะใด เช่น การกระจายของเชื้อโรค เราไม่ใช้ ขจาย แต่ถ้าเป็นชื่อเสียง เราก็ใช้ว่า ชื่อเสียงขจรขจายไปไกล อะไรประมาณนี้ ค่ะ ครูอธิบายอย่างนี้ พอจะเป็นประโยชน์ไหมคะ บางครั้ง การบอกว่า คำนี้ เป็นคำมาจากภาษาไหน ก็บอกยากเหมือนกัน นอกจากคำนั้นจะใช้กันบ่อย ๆ และมีหลักให้เห็นชัดเจน น่ะค่ะ

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังมีคำถามหรือต้องการทราบอะไรเพิ่มเติม ก็ถามมาได้นะคะ


 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 1 กันยายน 2556 7:08:37 น.  

 

ลืมตอบคำถามอีกข้อ อิอิ

ถามเรื่องการอ่านคำ รร (ร หัน) หรือ เรียกอีกอย่างว่า ร เรผะ
รร มีใช้ในภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต ค่ะ ส่วนคำว่า บรรพ อ่านได้ 3 แบบ คือ
1. เมื่ออยู่เดี่ยว ๆ และเป็นพยางค์สุดท้ายของคำสมาส ต้อง อ่านออกเสียง บับ เช่น สักบรรพ อ่านว่า สัก กะ บับ
2. เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำ อ่านว่า บัน พะ เช่น บรรพชา อ่านว่า บัน พะ ชา
3. เมื่อมีเครื่องหมายทัณฑฆาต (การันต์ ไม่ออกเสียง) อ่านว่า บัน
เช่น ดึกดำบรรพ์ อ่านว่า ดึก ดำ บัน เป็นต้น

มีคำยกเว้น เมื่อคำว่า บรรพ เป็นพยางค์หน้า แต่อ่านว่า บับ เช่น บรรพภาค แปลว่า ข้อมือ เป็นต้น

คำว่า สรรพ คำนี้ เมื่อเป็นพยางค์หน้าหรืออยู่โดด ๆ ก็อ่านว่า สับ พะ เช่น สรรพคุณ สรรพทุกข์
ในกรณีที่จะอ่านว่า สัน คือ
1. เมื่อมีตัวการันต์ที่ พ เช่น สรรพ์ อ่านว่า สัน
2. เมื่อมีรูปสระที่ ตัว พ เช่น สรรพางค์ สรรพากร สรรพาวุธ (มาจากคำสมาสแบบสนธิ นั่นเอง จำได้ไหมคะ )

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 1 กันยายน 2556 7:29:43 น.  

 

ขอบคุณมากเลยค่ะ เข้าใจแล้วคะ นึกว่า คุณครูเบื่อตอบเสียแล้ว ทีแท้คุณครู ไม่สบาย ขอให้หายไวๆ นะค่ะ ดูแลสุขภาพมาก ๆ ค่ะ

อ่านแล้ว บาลี สันสกฤติที่ท้ายคำ ลงเสียงเป็น อะ ตัว บรรพชา เลย เป็น บัน ตัว พ ต้องออกเสียง พะ

งั้น รบกวนถามอีกค่ะ

1 ข้อใดเป็นการสมาสและสนธิในคำเดียวกัน

วิทยาทาน เดโชชัย มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์

เดโชชัย และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคำสมาส
วิทยาทาน แยกได้เป็น วิทยา + ทาน หรือ วิทย + อาทาน ได้มั้ยค่ะ

มหาวิทยาลัย แยกเป็น มห + อวิทยาลัย มหา + วิทยาลัย

2 พลความ ชาตินิยม บุรุษโทษ เป็นคำอะไรค่ะ สมาสทั้งหมดรึไม่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: ืneung IP: 203.155.165.15 6 กันยายน 2556 14:39:02 น.  

 

เอ เดโชชัย หรือจะเป็นคำประสม ชัย น่าจะเป็นคำไทย ไม่ใช่บาลี สันสกฤติ รึเปล่าค่ะ คุณครู

 

โดย: ืneung IP: 203.155.165.15 6 กันยายน 2556 14:42:31 น.  

 

สวัสดี ค่ะ คุณneung

ไม่เบื่อหรอกค่ะ ถ้าครูตอบและอธิบายได้ ยินดีตอบและอธิบายให้เสมอค่ะ
คำถาม วันนี้ คือ ข้อใดเป็นการสมาสและสนธิในคำเดียวกัน
คำว่า วิทยาทาน เป็นสมาสค่ะ เพราะเมื่อนำมารวมคำแล้ว รูปคำไม่ เปลี่ยนไปจากเดิม วิทยา แปลว่า ความรู้ ทาน แปลว่า การให้ รวมแล้วแปลจากคำหลังมาหน้า คือ การให้ความรู้ นั่นเอง วิทยา เป็น สันสกฤต ทาน เป็น บาลี อาทาน ไม่มีค่ะ

เดโชชัย เดโช เป็นคำที่ลงวิภัตติ แล้วมาสมาสกับชัย เดโช มาจากคำว่า เดช แล้วลงวิภัตติ เป็น เดโช ไทยนำมาใช้เอาดื้อ ๆ เพราะภาษาไทยไม่มีการลงวิภัตติ ปัจจัย ค่ะ (เรื่องยาก ไม่ต้องไปสนใจนะคะ เราไม่เรียนลึกเหมือนพวกนักภาษาศาสตร์ อิอิ ชัย มาจาก ชย ในภาษาบาลี ค่ะ ไม่ใช่คำไทย ค่ะ ออกเสียง อะ พยางค์ พอมาใช้ในภาษาไทย เราเปลี่ยนสระ อะ เป็น ไม้หันอากาศ ค่ะ

มหาวิทยาลัย มาจาก มหาสมาสกับ วิทยาลัย (สนธิ คือ วิทยา สนธิกับ อาลัย อาลัย แปลว่า ที่อยู่ รวมเป็น วิทยาลัย แปลว่า ที่อยู่ของความรู้ ไปสมาสกับมหา รวมแล้ว กลายเป็นที่อยู่ที่ยิ่งใหญ่ของความรู้ ค่ะ

วิศวกรรมศาสตร์ เป็นสมาส ค่ะ วิศวะ กับ กรรม กับ ศาสตร์ เป็น สันสกฤต ทุกคำ ค่ะ

พลความ เป็นคำ ประสมค่ะ เพราะ ความ ไม่ใช่คำ บาลี สันสกฤต ค่ะ จึงเป็นคำสมาสไม่ได้

ส่วน ชาตินิยม กับ บุรุษโทษ เป็น สมาสได้ค่ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 7 กันยายน 2556 20:10:07 น.  

 

ขอบคุณมากเลยค่ะ อ่านตามแล้ว ทึ่งในคนคิดกฏต่าง ๆ มากทีเดียว ภาษาเรายากจริง ๆ

รบกวนถามคุณครูต่อนะค่ะ

ข้อใดเป็นสมาสทุกคำ
ก ขัณธสีมา สูตรคูณ อุโบสถศีล บายศรี
ข โอษฐภัย กลเม็ด ประภาคาร องคาพยพ
ค ทิพยจักษุ หิรัญบัตร เมรุมาศ ภูมิลำเนา
ง รัตติกาล วัฏจักร พิพิธพร ทศนิยม

น่าจะ ง มั้ยค่ะ

ก บาย น่าเป็นคำไทย
ข เม็ด น่าเป็นคำไทย
ค ลำเนา น่าเป็นคำเขมร

ข้อใดเป็นสมาสทุกคำ
ก ชาติพันธุ์ ชาติภูมิ ชาตินิยม ชาติรส
ข ชีววิทยา ชีวเคมี ชีวประวัติ ชีวจิต
ค ธรรมจริยา ธรรมภถา ธรรมขันธ์ ธรรมดา
ง ภูมิบาล ภูมิประเทศ ภูมิลำเนา ภูมิภาค

ไม่ ก ก็ ข แต่ ข้อ ก ชาิตินิยม ไม่มีเสียงตรงกลาง ติ ชักงง ๆค่ะ
ค ดา น่าเป็นคำไทย
ง ลำเนา น่าเป็นเขมร

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 9 กันยายน 2556 14:08:55 น.  

 

คุณครูค่ะรบกวน อีกแล้วค่ะ

หาคำบาลีหรือสันสกฤติที่มีความหมายเหมือนคำต่อไปนี้

พยายามค้นหลายเวป ก็ยังขาดอยู่อีกหลายคำค่ะ

สัตตะ ทิฎฐิ อักษร กิตติ รัช ครุฑ อาษฒ มัตสยา กฤติกา ปักขี ปัตนิ วิพังค์ สังข์ สามี

อ่านไปมาแล้วเริ่มสับสน อย่างคำว่า ตำรวจที่แผลงมาตรวจ ของเขมร สรุปว่า ตำรวจเป็นคำไทย ใช่มั้ยค่ะ หรือคำเชมร

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 13 กันยายน 2556 15:46:27 น.  

 

ตอบคุณ neung

สัตตะ เป็นบาลี สันสกฤต ใช้ สัปดาห์
ทิฏฐิ (ทิฐิ) บาลี
อักษร เป็นสันสกฤต บาลี ใช้ อักขระ
กิตติ บาลี
รัช บาลี มีสองความหมาย รช หมายถึง ธุลี ฝุ่น รัช รชฺช หมายถึง ความเป็นพระราชา สันสกฤต ใช้ว่า กษัตริย์ ความหมายเหมือนกัน
ครุฑ น่าจะเป็นสันสกฤต บาลี น่าใช้ ครุฬ เพราะ ตามหลัก สันสกฤตใช้ ฑ บาลี จะใช้ ฬ
อาษฒ แปลว่า เดือนที่ 8 บาลี ใช้ อาสาฬห
มัตสยา สันสกฤต บาลีใช้ มัจฉา
กฤติกา เป็นสันสกฤต บาลี ใช้ กติกา เป็นคำแผลงจากคำนี้
ปักขี บาลี ปักษี สันสกฤต
ปัตนิ เป็น สันสกฤษ บาลี ใช้ ปตานี
วิพังค์ ไม่มี มีแต่ วิภังค์ แปลว่า การจำแนก การแบ่ง บาลีและสันสกฤต ใช้รูปเดียวกัน
สังข์ บาลี สันสกฤต ใช้ ศงฺข
สามี เป็น บาลี สันสกฤต ใช้ สวามี

บางคำที่เว้นไว้ ครูหาไม่พบจ้ะ ส่วนคำถาม อีกชุดหนึ่งไว้ว่างแล้วจะมาตอบให้นะจ๊ะ วันนี้ดึกแล้วจ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 13 กันยายน 2556 22:28:34 น.  

 

ข้อใดเป็นสมาสทุกคำ
ก ขัณธสีมา สูตรคูณ อุโบสถศีล บายศรี
ข โอษฐภัย กลเม็ด ประภาคาร องคาพยพ
ค ทิพยจักษุ หิรัญบัตร เมรุมาศ ภูมิลำเนา
ง รัตติกาล วัฏจักร พิพิธพร ทศนิยม

น่าจะ ง มั้ยค่ะ

ก บาย น่าเป็นคำไทย
ข เม็ด น่าเป็นคำไทย
ค ลำเนา น่าเป็นคำเขมร
ตอบคำถาม ที่ค้างไว้จ้ะ

ข้อใดเป็นสมาสทุกคำ
ก ชาติพันธุ์ ชาติภูมิ ชาตินิยม ชาติรส
ข ชีววิทยา ชีวเคมี ชีวประวัติ ชีวจิต
ค ธรรมจริยา ธรรมภถา ธรรมขันธ์ ธรรมดา
ง ภูมิบาล ภูมิประเทศ ภูมิลำเนา ภูมิภาค

ตอบข้อ ก ถูกแล้ว ค่ะ เป็นคำสมาสแบบวิธีสมาส เพราะมาจากภาษาบาลี สันสกฤต และรูปคำไม่เปลี่ยนแปลง
ข้อข ผิดคำว่า ชีวเคมี เพราะเคมี เป็นภาษาอังกฤษ ค่ะ
ข้อ ค. เป็นคำมูล ค่ะ (ธรรมดา) น่าจะเป็นธรรมกถา นะ พิมพ์ผิดไหม
ข้อ ง.ตำที่ไม่ใช่ คือ ภูมิลำเนา ค่ะ ลำเนาไม่ใช่บาลี สันสกฤต ค่ะ

ข้อใดเป็นสมาสทุกคำ
ก ขัณธสีมา สูตรคูณ อุโบสถศีล บายศรี
ข โอษฐภัย กลเม็ด ประภาคาร องคาพยพ
ค ทิพยจักษุ หิรัญบัตร เมรุมาศ ภูมิลำเนา
ง รัตติกาล วัฏจักร พิพิธพร ทศนิยม

ตอบถูกแล้วค่ะ ข้อ ง เป็นข้อถูก เก่งมากแล้วค่ะ อิอิ

ก บายศรี น่าจะเป็นคำมูล นะ
ข เม็ด เป็นคำไทย จ้ะ คำว่า องคาพยพ เป็นคำสมาสแบบวิธีสนธิ จ้ะ
ค ลำเนา น่าเป็นคำเขมร

เก่งมาก จ้ะ ตอบถูกทั้งสองข้อเลย แถมมีเหตุผลมาระกอบอีก ยอดเยี่ยมเลย จ้ะ ให้คะแนนเต็มเลย จ้ะ ลูก ๆ ต้องเก่งเหมือนแม่แน่นอน

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 15 กันยายน 2556 11:36:24 น.  

 

ลูกของคุณ neung เรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ รึเปล่าครับ การบ้านข้อเดียวกับผมเลยอะครับ ผม ก็อยู่ม.3

 

โดย: พงธวัช IP: 171.98.91.180 15 กันยายน 2556 23:13:16 น.  

 

หุ หุ

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 19 กันยายน 2556 12:35:30 น.  

 

ขอบคุณคร้า คุณครู สงสัยงานนี้มีแต่แม่รู้ ลูก ยัง ปะ พะ ภะ อะไรต่อนะแม่ อยู่เลยคร้า คุณครู สงสัย เสร็จแน่สอบคราวนี้


อ้อ น้องพงธวัช รีบลอกไปส่งคุณครูโดยไวจร้า

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 19 กันยายน 2556 12:43:50 น.  

 

คุณครูขา แล้ว ตำรวจที่แผลงมาจาก ตรวจ เป็นคำไทยหรือเขมรค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 19 กันยายน 2556 12:47:19 น.  

 

คุณ neung

ถามว่า ตำรวจ แผลงมาจาก ตรวจ เป็นคำไทยหรือ เขมร ตามหลักการ ตรวจ เป็นคำ มาจาก เขมร โดยสังเกตจาก ตัวสะกด จ และไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด (คำไทย จะมีตัวสะกด ตรงตามมาตราเป็นส่วนใหญ่) และเมื่อแผลงมา เป็น ตำรวจ ก็มี สระ อำ นำหน้า ตรงกับหลักการสังเกต คำที่มาจาก ภาษาเขมร ดังนั้นคำ นี้ ก็ควรจะจัดเป็น คำเขมร ค่ะ แต่คนไทยนำคำ เขมรมาใช้ จนคิดว่า เป็นคำไทยเสียแล้วน่ะค่ะ เช่น คำว่า เดิน จริง ๆ นำมาจาก คำเขมร เดิร แล้วเราก็ใช้ น สะกด ชะเลย กลายเป็นคำไทยเรา อิอิ ไทยเราเก่งในเรื่อง ดัดแปลง ค่ะ ลองไปอ่านหลักการสังเกต คำเขมร ซิ คะ ครูเขียนไว้เหมือนกัน ค่ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 20 กันยายน 2556 10:05:34 น.  

 

ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้มากมาย จากวิชาที่เป็นยาขมมากตอนเด็ก ๆ มาค่อยอ่านตามลูกตอนโตนี่ และมีอาจารย์คอยแนะนำ ค่อยรู้สึก ความขมของภาษาไทยมันน้อยลงมากค่ะ


ป ล คุณครูค่ะ ถ้าไปหาอ่านโจทย์ข้อสอบ หรือทำโจทย์วิชาภาษาไทยแล้วมีข้อสงสัย จะขอเรียนถาม คุณครูสะดวกมั้ยค่ะ แล้วให้ถามในหัวข้อไหนดีค่ะ บางทีมันไม่มีในหัวข้อที่คุณครูเขียนบล็อคไว้ค่ะ เพราะลูกชาย ไม่มีทางหาอ่านเองแน่ วิชานี้เป็นยาขมสำหรับเด็กผู้ชายพอควร บอกว่าให้อ่านเลข วิทย์ ยังพอจะเข้าใจง่ายกว่าจริง ๆ นะแม่ ก็เลย ต้องช่วยหน่อย

 

โดย: neung IP: 203.155.165.15 23 กันยายน 2556 11:24:13 น.  

 

สวัสดี ค่ะ คุณneung

ดีใจค่ะ ที่มีส่วนทำให้คุณเห็นภาษาไทยไม่ใช่ ยาขม อีกต่อไป ทุกคนมักจะพูดอย่างนี้เสมอ ก็น่าจะจริงบ้างนะคะ เพราะภาษาไทยของเรา ดิ้นได้ มีศักดิ์ของคำ มีคำที่มีความหมายเดียวกัน แต่เอาไปใช้ต่างกันก็มาก การเรียนภาษาไทยให้เก่งและแตกฉาน ก็คงต้องอาศัยการอ่านหนังสือมาก ๆ การสังเกตการใช้ภาษา การศึกษาหลักเกณฑ์ ที่บุรพาจารย์ได้บัญญัติไว้ให้แม่นยำ ก็คงจะช่วยให้เราใช้ภาษาไทยได้ง่ายและถูกต้องค่ะ

สำหรับคำถามที่ถามครูว่า ถ้าไปอ่านเจอข้อสอบที่ไม่ได้อยู่ในหัวข้อความรู้ที่ครูเขียนนั้น จะถามอย่างไร ที่จริง ครูเขียนเรื่องเกี่ยวกับความรู้ โดยเฉพาะหลักภาษาไว้หลายเรื่อง นะคะ ไม่ทราบว่า คุณได้อ่านครบทุกเรื่องไหมคะ ถ้าคำถามนั้นไม่ตรงกับหัวข้อใดที่ครูเขียน คุณก็เลือกไปถามในข้อเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ค่ะ จะได้ไม่แออัดอยู่ในหัวข้อเดียวกัน ไม่อยากให้ถามหลังไมค์ เพราะว่า การถามหลังไมค์ ข้อความรู้ที่ถามและตอบ คนอื่นจะไม่ได้รับน่ะค่ะ

ครูยินดีตอบให้ความรู้เสมอค่ะถ้าตอบได้นะคะ ไม่ต้องเกรงใจ ค่ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 25 กันยายน 2556 10:47:20 น.  

 

ไม่เข้าใจอะ เบื่อว่ะ

 

โดย: ..... IP: 171.4.71.121 2 มกราคม 2557 20:05:54 น.  

 

อยาก ทราบ ชื่อ กับ นามสกุล ตัวเอง ค่ะ
นพวรรณ เป็น สันสฤกต ใช่รึป่าวค่ะ
วีระประสิทธิ์ เป็น สันสฤกต ทั้งหมด ใช่ไหมค่ะ
ถ้าผิด หรือ ถูกยังไง รบกวนผู้มีความรู้ตอบหน่อยนะค่ะ
พอดีต้องใช้ตอบข้อสอบ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ชื่อตัวเอง
ขอบคุณค่ะ

 

โดย: นพวรรณ IP: 49.230.79.85 4 มีนาคม 2557 20:15:10 น.  

 

อยาก ทราบ ชื่อ กับ นามสกุล ตัวเอง ค่ะ
นพวรรณ เป็น สันสฤกต ใช่รึป่าวค่ะ
วีระประสิทธิ์ เป็น สันสฤกต ทั้งหมด ใช่ไหมค่ะ
ถ้าผิด หรือ ถูกยังไง รบกวนผู้มีความรู้ตอบหน่อยนะค่ะ
พอดีต้องใช้ตอบข้อสอบ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ชื่อตัวเอง
ขอบคุณค่ะ

 

โดย: นพวรรณ IP: 49.230.79.85 4 มีนาคม 2557 20:16:10 น.  

 

ตอบคำถาม คุณนพวรรณ

นพ นว ( ว และ พ สามารถแผลงแทนการได้) มีความหมายได้สองความหมาย คือ 1. แปลว่า เก้า 2. ใหม่ นพ เป็น บาลี นว เป็น สันสกฤต เป็นคำ ที่ใช้ประกอบคำนำหน้าอื่น ๆ เพื่อ เป็นคำสมาส

วรรณ เป็น สันสกฤต แปลได้หลายความหมาย คือ สี ผิว ชนิด หนังสือ ดังนั้น ชื่อคุณ จึงเป็นคำ สมาส นพวรรณ น่าจะแปลความหมายในทางว่า ผิวพรรณงามดังทองเนื้อเก้า ก็น่าจะได้นะ

นามสกุล วีระ แปลว่า กล้าหาญ เช่น วีรชน ประสิทธิ์ แปลว่า ความสำเร็จ เป็นสันสกฤต ความจริงคำนี้ เป็นสมาสได้ แต่ควรตัดสระ อะ ออก จึงจะถูกต้องตามหลักสมาส รวมความแล้ว แปลจากศัพท์คำท้ายมาคำหน้า จึงแปลได้ความว่า ความสำเร็จอันเกิดจากความกล้าหาญ

หวังว่า คำอธบายนี้ คงจะเป็นประโยชน์ให้คุณได้นะคะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 4 มีนาคม 2557 22:18:56 น.  

 

ขอบคุณ มากๆเลยค่ะ ครู ช่วยหนูได้เยอะเลน

 

โดย: นพวรรณ IP: 110.164.187.28 5 มีนาคม 2557 15:44:34 น.  

 

คุณครูคะ รบกวนช่วยแปลชื่อให้หนูหน่อยค่ะ

พัชรากร เฉิดผล

 

โดย: พัชรากร IP: 101.109.222.239 5 มีนาคม 2557 15:49:59 น.  

 

วิเคราะห์ชื่อ*

 

โดย: พัชรากร IP: 101.109.222.239 5 มีนาคม 2557 15:51:11 น.  

 

คือว่าอยากทราบชื่อและนามสกุลตัวเองเหมือนกันค่ะว่าเป็นบาลีหรือสันสกฤต แบบอยากให้วิเคราะห์ตั้งแต่ เสียง พยางค์ คำ วลี ประโยคค่ะ หนูชื่อ ปาริชาติ อินไชยา คืออาจารย์เขาออกสอบค่ะ ไม่เก่งเรื่องภาษาบาลี สันสฤตค่ะรบกวนหน่อยนะคะ TT

 

โดย: ปาริชาติ IP: 183.89.146.249 5 มีนาคม 2557 16:51:23 น.  

 

อาจารย์ค้ะ รบกวนช่วยแปลความหมายชื่อ นามสกุลให้หน่อยค้ะ ว่าเป็นภาษาบาลี หรือสันสกฤษ แปลว่าอะไร พอดีอาจารย์เขาออกข้อสอบให้แปลความหมาชื่อนามสกุลอ้ะค้ะ รบกวนช่วยหนูหน่อยน้ะค้ะ 😭

 

โดย: พัชราภรณ์ คำเพ็ง IP: 27.55.151.61 5 มีนาคม 2557 17:33:04 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ พัชรากร เฉิดผล

คุณนี่ สงสัยจะเป็นเพื่อนกับคุณ นพวรรณ ใช่ไหม จ๊ะ มาหลายคนทีเดียว อิอิ ที่ให้แปลชื่อ แปลนามสกุล พวกเธอต้องพยายาม ศึกษา สมาส สนธิ ให้คล่อง เวลาสอบน่ะ จะได้พิจารณา ข้อสอบได้ ครูคงตามไปห้องสอบช่วยเฉลยไม่ได้นะจ๊ะ

คำว่า พัชร มาจาก สันสกฤต แปลว่า เพชร กร มาจาก คำว่า อากร แปลว่า หมู่ กอง บ่อเกิด ที่เกิด มาจาก บาลี สันสกฤต

สองคำนี้ นำมาสนธิกัน ตัด อ ออก แล้ว เชื่อมติดกัน พัชรากร แปลว่า ที่อยู่ของ เพชร บ่อเกิดของเพชร แล้วแต่จะชอบความหมายใด

เฉิด แปลว่า งาม สง่าผ่าเผย ผล สิ่งที่ได้รับ รวมความแล้ว งาม ตามผลที่ได้รับ น่าจะได้ นะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 5 มีนาคม 2557 19:43:02 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ ปาริชาติ อินไชยา

ปาริชาติ เป็น คำ บาลี แปลว่า เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งในสวนดอกไม้ของพระอินทร์ บนสวรรค์ เชื่อว่า ใครอยากได้อะไร ให้ไปอธิษฐานขอก็จะได้

อิน เป็นชื่อ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง พวกต้นจัน แต่ลูก อิน โตกว่า ลูกจัน ไชยา มาจาก เชยย เป็น บาลี แต่แปลงไปเป็น ไชย ได้ แปลว่า ดีกว่า เจริญกว่า รวมกันแล้ว คงแปลได้ว่า ลูกอิน ต้นอินที่ได้ชัยชนะ คือ เจริญกว่า ดีกว่า อะไรประมาณ นั้น


 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 5 มีนาคม 2557 19:56:10 น.  

 

ตอบคำถาม พัชราภรณ์ คำเพ็ง

พัชร เป็นสันสกฤต แปลว่า เพชร สนธิ กับอาภรณฺฺ์ แปลว่า เสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นคำ บาลี สันสกฤต เมื่อสนธแล้ว ตัด อ. ทิ้ง เป็น พัชราภรณ์ เครื่องประดับด้วยเพชร

คำเพ็ง คำ ก็แปลว่า คำ เพ็ง เพี้ยนมาจากคำว่า เพ็ญ ภาษาเขมร แปลว่า เต็ม คำเพ็ง ก็น่าจะแปลว่า คำเต็ม อิอิ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 5 มีนาคม 2557 20:07:08 น.  

 

รบกวนอาจารย์แปลความหมายชื่อนามสกุลให้หน่อยครับ ไม่แน่ใจว่าชื่อนามสกุลผมมาจากภาษาอะไร บางคนบอกว่าสันสกฤต บางคนก็บอกว่าไทยแท้ โดยเฉพาะนามสกุล ผมไม่ทราบความหมายเลย ขอบคุณมากครับ

 

โดย: ชยพล สินทะมณี IP: 124.122.12.17 5 มีนาคม 2557 20:46:58 น.  

 

ขอบคุณค่า แล้วปาริ นี่มีรากศัพท์มาจากอะไรค่ะ แล้วชาตินี่เป็นภาษาบาลีหรือสันสฤตค่ะ ความหมายนี่แปลว่าประเทศ หรือละลึกชาติค่ะ

 

โดย: ปาริชาติ IP: 183.89.146.249 5 มีนาคม 2557 21:47:36 น.  

 

ขอบคุณมากๆน้ะค้ะอาจารย์ 🙏🙏🙏🙏

 

โดย: พัชราภรณ์ คำเพ็ง IP: 27.55.143.136 5 มีนาคม 2557 22:45:21 น.  

 

คือ คำว่า คำเพ็งนี่แปลว่า คำเต็มจริงหรอค้ะ แบบมันไม่มีความหมายอย่างอื่นที่ดูเป็นรูปธรรมหรอค้ะ 😂

 

โดย: พัชราภรณ์ คำเพ็ง IP: 27.55.143.136 5 มีนาคม 2557 22:49:13 น.  

 

รบกวนอาจารย์แปลความหมายชื่อนามสกุลให้หน่อยครับ ไม่แน่ใจว่าชื่อนามสกุลผมมาจากภาษาอะไร บางคนบอกว่าสันสกฤต บางคนก็บอกว่าไทยแท้ โดยเฉพาะนามสกุล ผมไม่ทราบความหมายเลย ขอบคุณมากครับ

 

โดย: ชยพล สินทะมณี IP: 124.121.162.109 6 มีนาคม 2557 12:03:25 น.  

 

ตอบ คุณ ชยพล สินทะมณี

ชย มาเป็น ชัย ในภาษาไทย เป็นคำ บาลี สันสกฤต (ใช้ทั้งสองภาษา ) แปลว่า การชนะ พล เป็นคำ บาลี สันสกฤต แปลว่า กำลัง ทหาร ยศ ทางทหาร ก็ได้ ชื่อ คุณ ถือเป็น คำสมาส แปลว่า กำลังแห่งชัยชนะ หรือ กำลังที่ได้มาจากการชนะ อะไรประมาณนั้นน่ะค่ะ

สิน โดยรูปศัพท์ เป็นคำไทย หมายถึงสมบัติ มณี แก้วมีค่า เพชรพลอย แต่ คำว่า ทะ ที่เพิ่มมา ไม่ทราบจะให้แปลอย่างได้นะ โดยปรกติ ทะ อาจแปลในคำประพันธ์ว่า ปะทะ ได้ รวมความแล้ว น่าจะแปลได้ว่า ทรัพย์สินเงินทอง เพชรพลอย มาเจอกัน เนอะ

 

โดย: ิอาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 6 มีนาคม 2557 18:32:07 น.  

 

ตอบ ข้อสงสัย คุณ ปาริชาติ

ชื่อคุณ ปาริชาติ เป็น คำมูล จ้ะ ไม่มีการแยกศัพท์ พจนานุกรม ก็ไม่ได้แยกคำนี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่า คำว่า ปาริชาติ นั้น เป็นคำมูล เพราะแยกพยางค์แล้ว ไม่ได้มีความหมายทุกพยางค์ มีความหมายเฉพาะคำว่า ชาติ เท่านั้น ปาริ ไม่มีคำแปลให้ค่ะ

คำว่า ชาติ เป็นคำ บาลี ค่ะ มาจาก ชาต แปลว่า เกิด เดิม อิ เข้าไป การเกิด หรือเกิดมาแล้ว

 

โดย: อ (อาจารย์สุวิมล ) 6 มีนาคม 2557 18:40:13 น.  

 

ตอบ พัชราภรณ์ คำเพ็ง
คำ
ที่จริง คำว่า คำ หมายถึง ทองคำ หรือเสียงที่พูดก็ได้ ให้ได้หลายความหมายอยู่ แปล ใหม่เป็น มีทองคำ เต็ม ก็น่าจะได้เนอะ อิอิ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) 6 มีนาคม 2557 18:52:11 น.  

 

หนูขอบคุณคุณครูมากเลยนะค่ะ เป็นประโยชน์กับหนูมากเลย

 

โดย: พัชรากร IP: 125.25.9.195 6 มีนาคม 2557 19:33:47 น.  

 

ขอขอบคุณค่ะ ที่อุตส่าห์สละเวลามาช่วยพวกหนู พูดแล้วจะน้ำตาจะไหล ช่วยได้เยอะมากเลยค่ะ

 

โดย: ปาริชาติ พัชราภรณ์ นพวรรณ IP: 180.183.139.226 6 มีนาคม 2557 19:47:38 น.  

 

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

 

โดย: ชยพล สินทะมณี IP: 124.121.144.145 6 มีนาคม 2557 20:45:16 น.  

 

ขณะ เป็นบาลีหรือสันค่ะ เพราะอะไรค่ะ

 

โดย: wave wave IP: 180.180.115.138 31 สิงหาคม 2557 14:07:23 น.  

 

ตอบคุณ wave wave IP:

คำถามของคุณ ครูตอบตัด ข้อ 7 มาอธิบายแล้ว นะคะ

7. สังเกต จาก ตัว ข และ กษ บาลี จะใช้ ข เมื่อสันสกฤตจะใช้ กษ เช่น เขมะ สันสกฤตจะใช้ว่า เกษม ขณะ สันสกฤตใช้ว่า กษณะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 1 กันยายน 2557 14:24:19 น.  

 

บุปผชาติ เป็นคำสมาสใช่มั้ยค่ะครู
เเล้ว เกิดจากคำว่า บุปผา บวก กับคำว่าชาติใช่มั้ยค่ะ
บุปผาเป็นคำบาลี หรือสันสกฤต ค่ะ

 

โดย: เเพรว IP: 49.230.111.187 22 พฤศจิกายน 2557 14:13:04 น.  

 

ตอบ คุณแพรว

คุณเข้าใจถูกแล้วค่ะ บุปผชาติ เป็นคำสมาส จ้ะ เพราะเกิดจากคำบาลี ทั้งสองคำมารวมกัน อ่านออกเสียง อะ กึ่ง หนึ่ง เป็น บุบ-ผา-ชาด
บุปผา เป็นบาลี เพราะมีตัวสะกดตัวตาม ป เป็นตัวสะกด แถว 1 ผ เป็นแถว 2 เป็นตัวตาม จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 23 พฤศจิกายน 2557 21:14:41 น.  

 

คำว่าฉัตร
คำบาลี-สันสฤตเขียนต่างกันยังไงคะ

 

โดย: เชอรี่ IP: 1.47.37.244 1 ธันวาคม 2557 20:43:42 น.  

 

ตอบคุณ ้เชอรี่

คำว่า ฉัตร เป็นภาษาสันสกฤต เพราะ ตร เป็นควบกล้ำ จ้ะ ส่วนรูป บาลี ใช้ ฉัตต ต สะกด ต เป็นตัวตาม (ตัวที่ 2)

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 1 ธันวาคม 2557 23:00:14 น.  

 

อาจารย์คะ รบกวนช่วยแปลชื่อให้หน่อยได้ไหมค่ะ
ชื่อ ดารณี นามสกุล พุกประยูร
ฝากด้วยนะค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: Danee IP: 1.47.136.244 7 มิถุนายน 2558 16:21:20 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ ดารณี จ้ะ

คำว่า ดารณี แปล ว่า เรือ จ้ะ ส่วนนามสกุล คำว่า พุก เป็นชื่อของ หนู ชนิดหนึ่ง หรือ หมายถึงไม้ที่ตอกประกับไว้ สำหรับรับสิ่งที่หนัก ๆ เช่น รอด เรือน เป็นต้น ส่วนคำว่า ประยูร แปลว่า เชื้อสาย เผ่าพันธุ์ จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 8 มิถุนายน 2558 19:11:11 น.  

 

ไม่ใช่อย่างนั่นค่ะอาจารย์ หนูหมายถึงแปลชื่อที่บอกลักษณะของคำน่ะค่ะ อย่างเช่น บอกว่าคำนี้ เป็นคำบาลี คำสันสกฤ หรือคำสมาส แล้วหมายถึงอะไรค่ะ
*ต้องขอโทษอาจารย์ด้วยนะค่ะ ที่อธิบายไม่ชัดเจน
ยังไงก็ต้องขอรบกวนอาจารย์อีกครั้งด้วยนะค่ะ

 

โดย: Danee IP: 1.47.97.123 9 มิถุนายน 2558 21:42:06 น.  

 

ตอบคำถาม ของ คุณดารณี จ้ะ

ดารณี เป็นคำ สันสกฤต จ้ะ ส่วน พุก น่าจะเป็นคำไทย เพราะมีตัวสะกด ตรงตามมาตราตัวสะกด คำ ประยูร ในพจนานุกรม ไม่ได้บ่งบอกว่า มาจากภาษาใด จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 10 มิถุนายน 2558 18:41:42 น.  

 

รบกวนอาจารย์แปลความหมายชื่อนามสกุลให้หน่อยค่ะ ไม่แน่ใจว่าชื่อนามสกุลมาจากภาษาอะไร แปลว่าอะไร
ชื่อ วชิรภูวรินทร์ มณีศักดิ์
ฝากด้วยนะค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: วชิรภูวรินทร์ IP: 101.108.95.185 11 มิถุนายน 2558 22:22:09 น.  

 

อาจารย์ค่ะช่วยแปลชื่อให้หนูหน่อยค่ะ ช่วยแยกคำไหนเป็นบาลี สันสกฤต และการสร้างคำด้วยค่ะ ขอขอบคุณค่ะ ชื่อ วจีภัทร มะลิวรรณ

 

โดย: วจีภัทร มะลิวรรณ IP: 49.230.98.241 12 มิถุนายน 2558 8:33:19 น.  

 

อาจารย์ค่ะช่วยแปลความหมายชื่อ แยกคำบาลลี สันสกฤตและการสร้างคำด้วยค่ะถ้าคุณคูรเห็นแล้วตอบเป็นกรุณาเคารพอย่างสูงค่ะ ชื่อ อรธิดา อนุศาสตร์ชน

 

โดย: อรธิดา อนุศาสตร์ชน IP: 49.230.213.2 12 มิถุนายน 2558 8:33:53 น.  

 

เจน-จิ-รา สาม-พัน-เย็น ช่วยหาที่มาของคำ ความหมายของคำ เป็นคำที่มาจากภาษาไหนบ้าง ขอบคุณล่วงหน้าน้ะค้ะ 😊

 

โดย: เจนจิรา สามพันเย็น IP: 49.230.212.238 12 มิถุนายน 2558 9:08:20 น.  

 

อาจารย์ค่ะช่วยแปลชื่อให้หนูหน่อยค่ะ ช่วยแยกคำไหนเป็นบาลี สันสกฤต และการสร้างคำด้วยค่ะ ขอขอบคุณค่ะ ชื่อ วจีภัทร มะลิวรรณ

 

โดย: วจีภัทร มะลิวรรณ IP: 49.230.231.245 12 มิถุนายน 2558 9:25:11 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ วชิรภูวรินทร์

วชิร แปลว่า สายฟ้า เพชร หรือ หมายถึงอาวุธของพระอินทร์ เป็นคำมาจาก ภาษา บาลี
ภู มีความหมายได้ 2 อย่าง ภู ที่มาจากภาษา บาลี สันสกฤต แปลว่า แผ่นดิน ดิน โลก อีกความหมายหนึ่ง แปลว่า เนินที่สูงขึ้นเป็นจอม เช่น ภูเขา ถ้าใช้ ภูว เป็นสันสกฤต
สำหรับชื่อคุณ อาจจะมาจาก คำว่า ภู ส่วน วรินทร์ มาจาก วร สนธิกับ อินทร์ (ส) เป็นวรินทร์ วร แปลว่า ประเสริฐ อินทร์ ยิ่งใหญ่ เป็นใหญ่ อะไรประมาณ นั้น รวมความเอาเองนะจ๊ะ
มณีศักดิ์ มณี (บ ) หมายถึง เพชรพลอยของมีค่า ศักดิ์ เป็น สันสกฤต แปลว่า อำนาจ ฐานะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 12 มิถุนายน 2558 9:45:53 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ วจีภัทร มะลิวรรณ จ้ะ

วจี (บาลี) แปลว่าคำพูด ภัทร (ส) แปลว่า เจริญ ดี ประเสริฐ

มะลิ คำไทย วรรณ (ส) ผิวพรรณ ทอง สี หนังสือ แปลได้หลายอย่างจ้ะ รวมความเองนะจ๊ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 12 มิถุนายน 2558 9:52:15 น.  

 

คำว่า สุภา แปลว่าอะไร
คำว่า จัง. แปลว่าอะไร
แยกคำให้ด้วยนะคะ ว่าเป็นคำบาลีหรือเปล่า
ขอบคุณคะ

 

โดย: สุภาวดี IP: 49.230.162.109 12 มิถุนายน 2558 9:53:00 น.  

 

คำว่า สุภา แปลว่าอะไร
คำว่า จัง. แปลว่าอะไร
แยกคำให้ด้วยนะคะ ว่าเป็นคำบาลีหรือเปล่า
ขอบคุณคะ

 

โดย: สุภาวดี IP: 49.230.162.109 12 มิถุนายน 2558 9:53:01 น.  

 

ตอบคำถามคุณ อรธิดา อนุศาสตร์ชน

อร เป็นคำมาจาก ภาษา บาลี สันสกฤต มีความหมาย 2 อย่างแล้วแต่บริบท อร ( อะ ระ) ก ำ หรือ ซี่ล้อรถ หรือเกวียน ความหมายอีกอย่าง หมายถึง นาง นางงาม สวย อ่านว่า ออน หรือ ออระ ธิดา เป็น บาลี แปลว่า ลูกหญิง
อนุ เป็นคำ ปัจจัย เติมหน้า แปลว่า รอง เล็ก ๆ มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ศาสตร์ เป็นคำ สันสกฤต แปลว่า ความรู้ ชน เป็นคำบาลี สันสกฤต หรือไทย แล้วแต่บริบท ถ้า เป็น บาลี ส หมายถึงคน
รวมความหมายเองนะจ๊ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 12 มิถุนายน 2558 10:08:19 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ เจนจิรา สามพันเย็น

เจน น่าจะเป็นคำไทย แปลว่า เชี่ยวชาญ จิร จิรา แปลว่ายั่งยืน มาจากภาษา บาลี สันสกฤต รวมแล้ว คือ ผุ้มีความเชี่ยวชาญตลอดกาล หรือยั่งยืน

สาม พัน เย็น จากรูปศัพท์ เป็นคำไทยทั้ง 3 คำ จ้ะ แปลตามตัวเอาเองนะจ๊ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 12 มิถุนายน 2558 10:20:33 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ สุภาวดี

สุภา แปลว่า ตุลาการ คณะผู้พิพากษา ไม่บ่งบอกที่มาของภาษา
คำว่า วดี มาจากภาษาบาลี มีความหมายสอง ลักษณะ ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า รั้ว กำแพง ความหมายที่สอง ใช้เติมท้ายคำอื่น ให้มีความมีหมาย หมายถึงเพศหญิง จะใช้ความหมายใด ก็แล้วแต่บริบทของเนื้อความที่แวดล้อม

คำว่า จัง เดี่ยว ๆ อย่างนี้ แปลยาก มักเป็นคำต่อท้ายคำอื่น เช่น เปรี้ยวจัง น่าตีจัง อะไรประมาณนี้ โดยรูปศัพท์แล้ว น่าจะเป็นคำไทย เพราะมีตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 12 มิถุนายน 2558 10:36:46 น.  

 

อาจารย์ค่ะช่วยแปลชื่อให้หนูหน่อยค่ะ ช่วยแยกคำไหนเป็นบาลี สันสกฤต และการสร้างคำด้วยค่ะ ขอขอบคุณค่ะ ชื่อ วจีภัทร มะลิวรรณ

 

โดย: วจีภัทร มะลิวรรณ IP: 49.230.80.204 12 มิถุนายน 2558 11:57:54 น.  

 

สาวิตรี ภารเจิม แปลให้หน่อยคะ เป็นคำบาลี หรือสันสกฤต ช่วยแยกคำให้ด้วยคะ เป็นคำไทยแท้หรือคำยืม ขอบคุณล่วงหน้าคะ

 

โดย: สาวิตรี IP: 49.230.151.97 12 มิถุนายน 2558 12:29:58 น.  

 

สาวิตรี ภารเจิม แปลให้หน่อยคะ เป็นคำบาลี หรือสันสกฤต ช่วยแยกคำให้ด้วยคะ เป็นคำไทยแท้หรือคำยืม ขอบคุณล่วงหน้าคะ

 

โดย: สาวิตรี IP: 49.230.93.155 12 มิถุนายน 2558 14:01:50 น.  

 

สาวิตรี ภารเจิม แปลให้หน่อยคะ เป็นคำบาลี หรือสันสกฤต ช่วยแยกคำให้ด้วยคะ เป็นคำไทยแท้หรือคำยืม ขอบคุณล่วงหน้าคะ

 

โดย: สาวิตรี IP: 49.230.204.197 12 มิถุนายน 2558 19:34:50 น.  

 

ตอบคำถาม คุณสาวิตรี ภารเจิม

สาวิตรี เป็นคำ ภาษาสันสกฤต เป็นคำนาม แปลว่า คำสดุดีพระอาทิตย์บทหนึ่งในพระเวท
ภาร หรือ ภาระ เป็นคำ บาลี แปลว่า ของหนัก ธุระ การงานที่หนัก ส่วนคำว่า เจิม หมายถึง การเพิ่ม เอาแปเงหอมแต้มเป็นจุด ๆ ในภาษาเขมร แปลว่า คิ้ว จิญเจิม รวมคำแปลเอง นะจีะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 13 มิถุนายน 2558 10:30:06 น.  

 

วารุณี พลเสน ช่วยแปลให้หน่อยคะ เป็นคำบาลี หรือสันสกฤต ช่วยแยกคำให้ด้วยคะ เป็นคำไทยแท้หรือคำยืม และโครงสร้างคำด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าคะ

 

โดย: วารุณี IP: 49.230.160.1 15 มิถุนายน 2558 11:18:38 น.  

 

รบกวนอาจารย์แปลความหมายชื่อนามสกุลให้หน่อยค่ะ ชื่อนามสกุลมาจากภาษาอะไร แปลว่าอะไร แยกเป็นคำๆและมีโครงสร้างอย่างไร
ชื่อ ดารณี พุกประยูร

 

โดย: ดารณี IP: 49.230.160.1 15 มิถุนายน 2558 11:26:48 น.  

 

ตอบคำถาม ของ คุณดารณี จ้ะ

ดารณี เป็นคำ สันสกฤต จ้ะ ส่วน พุก น่าจะเป็นคำไทย เพราะมีตัวสะกด ตรงตามมาตราตัวสะกด คำ ประยูร ในพจนานุกรม ไม่ได้บ่งบอกว่า มาจากภาษาใด จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 10 มิถุนายน 2558 เวลา:18:41:42 น.

ครูตอบคำถาม คุณดารณี ดังข้อความด้านบน คุณไม่ได้รับหรือ จ้ะ เห็นมีคำถาม ถามมาใหม่ จ้ะ )

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 15 มิถุนายน 2558 14:32:57 น.  

 

ฝากหน่อยนะค่ะครู
ประภาพร ใจดี

 

โดย: ประภาพร IP: 49.237.139.201 15 มิถุนายน 2558 14:54:23 น.  

 

ฝากหน่อยนะค่ะครู
ประภาพร ใจดี
ช่วยแยกคำว่าเป็นบาลีหรือสันสกฤต
และการสร้างคำค่ะครู

 

โดย: ประภาพร IP: 49.237.139.201 15 มิถุนายน 2558 14:56:35 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ วารุณี พลเสน

วารุณี เป็นคำ ในภาษาบาลี สันสกฤต (ใช้ทั้งสองภาษา) แปลว่า เทวีแห่งเหล้า เป็นคำนาม

พล เป็น บาลี สันสกฤต แปลว่า กำลัง ทหาร

เสน ถ้าเป็น บาลี จะอ่านว่า เส นะ แปลว่า เหยี่ยว แต่ในบริบทนี้ ไม่อ่านว่า เส นะ แน่ แปลได้หลายความหมาย คือ แปลว่า สี สำหรับทา เป็นสีแดงอมเหลือง หรือแปลว่า เสนา กองทหาร หมู่ทหาร คุณ ก็ลองรวมคำแปลเลย ้จะ ว่าจะใช้ในความหมายไหน

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 15 มิถุนายน 2558 15:37:45 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ ประภาพร ใจดี

ประภา เป็นคำสันสกฤต แปลว่า แสงสว่าง แสงไฟ
พร เป็นคำ บาลี แปลว่า คำแสดงความปรารถนาดี การขอสิ่งที่ตนปรารถนา คำนี้ เป็นสมาสได้ เพราะมาจากภาษาบาลี สันสกฤตทั้งสองคำ แปลจาก คำหลังมาหน้า คงจะรวมความว่า สิ่งที่ดีงาม อันมาจากแสงสว่าง แปลให้ สละสลวย น่าจะ ความปรารถนาที่เจิดจ้า อิอิ
ใจดี เป็นคำประสม จ้ะ คงไม่ต้องแปล นะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 16 มิถุนายน 2558 8:02:28 น.  

 

รบกวนอาจารย์แปลความหมายชื่อให้หน่อยค่ะ ไม่แน่ใจว่าชื่อนามสกุลมาจากภาษาอะไร แปลว่าอะไร ประสมคำอย่างไรค่ะ

กัณณิการ์ ภูทองเป้ง

 

โดย: กัณณิการ์ IP: 101.108.95.205 2 กรกฎาคม 2558 12:09:23 น.  

 

ขอบพระคุณคุณครูมากๆ เลยค่ะ เป็นประโยชน์ มากๆๆ ครูน่ารักมากๆๆ ตอบทุกคำถามในบล๊อกเลย

 

โดย: วชิรภูวรินทร์ IP: 101.108.95.205 2 กรกฎาคม 2558 12:11:50 น.  

 

ตอบคุณวชิรภูวรินทร์

ครูก็ดีใจ ที่มีส่วนช่วยให้เธอได้ความรู้เพิ่มขึ้น ถ้าหากมีอะไรจะให้ช่วยเกี่ยวกับเรื่องภาษาไทย วรรณคดี ถ้าครูช่วยอธิบายได้ ก็ยินดีเสมอจ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 2 กรกฎาคม 2558 22:23:30 น.  

 

ตอบ คุณ กัณณิการ์

ชื่อ กัณณิการ์ เป็นชื่อเฉพาะจ้ะ ไม่มีคำแปล ถ้าเขียน กรรณิกา หรือ กรรณิการ์ ก็จะแปลว่า ต้นไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้น ดอกหอม สีขาว หรือ ถ้าเขียน กัณณิกา ไม่มี ร์ แปลว่า ดอกไม้ จ้ะ กรรณิการ์ เป็นสันสกฤต ส่วนนามสกุล ภูทองเป้ง ภู หมายถึง เขา ภูเขา ทอง ก็แปลได้อยู่แล้ว เป้ง ก็แปลเองได้นะ รวมความเองนะจ๊ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 2 กรกฎาคม 2558 22:43:39 น.  

 

คำว่าลักษณะเป็นบาลีหรือสันสกฤตค่ะรบกวนด้วยนะค่ะ

 

โดย: ืnon IP: 171.98.242.248 16 กันยายน 2558 5:46:49 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ ืnon จ้ะ

คำว่า ลักษณะ เป็นคำ ภาษาสันสกฤต จ้ะ เพราะ ใน ภาษาบาลี ไม่มีพยัญชนะ ษ ใช้ ไงจ๊ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 16 กันยายน 2558 22:18:31 น.  

 

อาจารย์ค่ะ รบกวนแปลนามสกุลให้หน่อยค่ะ
นามสกุล "เตชะตระวรากุล"รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ :)

 

โดย: ตัวเล็ก IP: 1.47.235.61 2 มกราคม 2559 15:33:01 น.  

 

ตอบคำถาม คุณตัวเล็ก

เตชะตระวรากุล" แปลตามคำก่อนนะจ๊ะ เตชะ มาจาก เดช แปลว่า อำนาจ คุณเล็ก น่าจะแซ่แต้ เลยใช้ คำว่า เตชะ ด ในภาษาบาลี สันสกฤค เราสามารถแผลงเป็น ต ได้ จ้ะ ส่วนค่ำว่า ตระ ตัวเดียว เดี่ยว ๆ พจนานุกรม ไม่ได้ให้ความหมายไว้เลย คำว่า ตระ มักจะไปนำหน้าคำอื่น มากกว่า อยู่เดี่ยว ๆ เช่น ตระกูล ตระการ เป็นต้น ส่วน วรากุล วรา น่าจะมาจาก วร ที่แปลว่า พร . ประเสริฐ ส่วน คำว่า กุล หมายถึง ตระกูล รวมความว่า ถ้าไม่เอาคำว่า ตระ เข้ามาแปลด้วย ก็คงจะรวมความแปลได้ว่า ตระกูลที่ประเสริฐมีอำนาจ ประมาณนี้ ค่ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 5 มกราคม 2559 14:27:32 น.  

 

ขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะ ทีแรกก็หวั่นๆนึกว่าอาจารย์จะปิดบล็อกไปแล้วเพราะเห็นว่าไม่มีคนมาแสดงความคิดเห็นแล้ว+รออาจารย์มาตอบอยู่หลายวัน 55 ยังไงก็ขอขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะคะ มันเป็นประโยชน์ต่อหนูมากเลย :)

 

โดย: ตัวเล็ก IP: 61.7.188.249 5 มกราคม 2559 18:15:06 น.  

 

สวัสดี คุณเล็ก

ขอบใจ คุณเล็กที่เข้ามาอ่านในบล็อตครู เพื่อหาความรู้ บางครั้งอาจตอบช้าไปบ้าง ต้องขอโทษด้วยจ้ะ เพราะเขียนบล็อกหลายประเภท ส่วนใหญ่ เป็นบล็อกท่องเที่ยว ส่วนบล็อกความรู้เกี่ยวกับเรื่อง หลักภาษา การใช้ภาษา และวรรณคดี หลัก ๆ ครูก็ได้เขียนไว้หลายเรื่อง แล้ว หากมีใครสนใจจะทราบเรื่องอื่น ๆ อีก ก็ถามมาได้ จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 6 มกราคม 2559 17:58:05 น.  

 

......555555
......*-*/*/**--**

 

โดย: ..... IP: 116.58.251.178 19 มกราคม 2559 11:54:09 น.  

 

ชื่อ วิภาวรรณ ภารประดับ ช่วยแปล ความหมายของชื่อ ว่าเป็นภาษาอะไร ให้หน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ 😊

 

โดย: วิภาวรรณ ภารประดับ IP: 122.155.45.28 27 พฤษภาคม 2559 20:12:54 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ วิภาวรรณ ภารประดับ จ้ะ

คำว่า วิภา เป็นภาษามาจาก บาลี สันสกฤต แปลว่า รัศมี แสงสว่าง ความแจ่มใส ความสุกใส งดงาม
คำว่า วรรณ เป็นคำมาจาก ภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า ผิวพรรณ สี ชนชั้น ในฮินดู เช่น ฮินดู แบ่งชนชั้น เป็น 4 วรรณะ
รวมความว่า ชื่อ วิภาวรรณ จึงรวมความว่า ผู้มีผิวพรรณ งดงาม สดใส
นามสกุล ภารประดับ
ภาร หรือ ภาระ เป็นคำมาจากภาษา บาลี แปลว่า ของหนัก
การงานหรือหน้าที่ที่หนัก
ประดับ พจนานุกรม ไม่ได้บอกที่มาของภาษา แปลว่า ตกแต่งให้สวยงาม ด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมความแล้ว นามสกุล ภารประดับ จึงควรแปลว่า ตกแต่งด้วยการงานหรือหน้าที่ที่หนัก อิอิ ว่ากันตามรูปศัพท์นะคะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 27 พฤษภาคม 2559 23:01:26 น.  

 

ช่วยแปลให้หนูหน่อยย่ะค่ะสุทธินี อุดมสมบัติรัตนะ เป็นคำบาลีหรือสันสกฤตค่ะช่วยหน่อยต้องส่งอาจารย์พรุ่งนี้แร้วว

 

โดย: สุทธินี IP: 49.49.245.23 30 พฤษภาคม 2559 0:04:47 น.  

 

ตอบคำถามคุณ สุทธินี อุดมสมบัติรัตนะ

คำว่า สุทธิ แปลว่า บริสุทธิ์ แท้ ๆ ล้วน ๆ เป็นคำ บาลี มี ท สะกด ธ เป็นตัวตาม ส่วน นี น่าจะเป็นคำเติมต่อท้าย ที่เรียกว่า ปัจจัย รวมความแล้ว น่าจะ แปลว่า หญิงผู้มีความบริสุทธิฺผุดผ่อง
อุดม บาลีสันสกฤต แปลว่า สูงสุด มากมาย สมบูรณ์
สมบัติ บาลี สันสกฤต แปลว่า ทรัพย์สิน เงินทอง
รัตนะ บาลี แปลว่า แก้ว ของมีค่า
รวมความแล้ว นามสกุล เธอ ก็แปลว่า ทรัพย์สิน เงินทอง แก้ว มากมาย (รวย จริง ๆ อิอิ )

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 30 พฤษภาคม 2559 11:36:25 น.  

 

ชาดายา แยกได้เป็นอะไรบ้างค่ะ แล้วเป็นเป็นคำบาลีหรือสันสกฤตค่ะ

 

โดย: ดรีม IP: 171.7.20.16 12 มิถุนายน 2559 21:23:45 น.  

 

ตอบคำถาม คุณชาดายา

ชื่อ คุณ น่าจะ แยกออกเป็น ชาตา แล้ว แผลง ตา เป็นดา เป็น ชาดา ชาดา แปลว่า เวลา ที่เกิดของคน เป็นคำบาลี ส่วนคำว่า ยา คงเติมเข้ามา เพื่อให้ ชื่อ ไพเราะ เป็นชาดายา

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 14 มิถุนายน 2559 19:44:49 น.  

 

อาจารย์ครับช่วยดูให้หน่อยครับว่าชื่อกับนามสกุล ผมเป็นภาษาอะไรบ้าง

 

โดย: นนท์ปวิช แก้วโชติ IP: 58.9.236.15 18 ธันวาคม 2559 15:52:07 น.  

 

สวัสดี จ้ะ คุณ นนท์ปวิช

นนท์ แปลว่า ดี ความสนุก เป็นคำมาจาก ภาษา บาลี

ปวิช หรือ ประวิช ก็ใช้ แปลว่า แปลว่า แหวน ไม่มีที่มา ของภาษา จ้ะ

แก้ว เป็นคำไทย โชติ แปลว่า สว่างไสว เป็นคำมาจาก ภาษา บาลี จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 19 ธันวาคม 2559 14:15:33 น.  

 

อยากทราบอ่ะค่ะว่า สิราวรรณ นี้ใช่สันสกฤตไหมค่ะ

 

โดย: chanbaek IP: 1.47.66.141 15 พฤษภาคม 2560 21:14:39 น.  

 

ตอบคำถาม คุณchanbaek IP:

ที่ถามมาว่า สิราวรรณ เป็นคำภาษาอะไร

สิร เป็น บาลี ถ้าเป็นสันสกฤต ใช้ ศิร จ้ะ

วรรณ เป็น เป็น ภาษาสันสกฤต จ้ะ ใช้ รร จ๊ะ บาลี ใชัวัณณ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 16 พฤษภาคม 2560 21:43:18 น.  

 

อยากทราบว่า ลดามณี เป็นภาษาอะไรคะ

 

โดย: บิบิมบิบิม IP: 223.24.175.53 14 มิถุนายน 2561 18:57:09 น.  

 

ตอบคำถาม คุณ บิบิบิ...

ถามว่า ลดามณี เป็นคำมาจากภาษาอะไร

ตอบว่า มาจาก ภาษา บาลี สันสกฤต ทั้งสองคำ จ้ะ ลดา แปลว่า
เถาวัลย์ เครือเถา
มณี คือ แก้ว หินที่มีค่า รวมแล้ว ก็คือ แก้วหินมีค่าเป็นสายเหมือนดั่งเถาวัลย์ (แปลตามตัวหนังสือ นะ)

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 14 มิถุนายน 2561 22:39:55 น.  

 

ถ้าเราจะเอาสองคำนี้ มาสมาสกัน จะต้องแปลงรูปอย่างไรครับ
หัตถ + นฤมิต

 

โดย: วีระจักร์ IP: 118.172.1.237 28 กันยายน 2562 10:07:18 น.  

 

ตอบคำถามของคุณ วีระจักร

คำสมาส มี 2 วิธี ค่ะ คือ วิธี นำคำที่มาจากภาษาบาลี สันสันกฤต มาเชื่อมกันโดยมีบางส่วนของคำเชื่อมต่อกันและกลืนหายไปกลายเป็น
คำใหม่ วิธีนี้ เรียกว่า วิธีสนธิ เช่น วิทยา สนธิ กับ อาลัย นำมาสนธิ
กัน ออกมาเป็นคำใหม่ เป็น วิทยาลัย จะเห็นว่าบางส่วนของคำหลัง
ถูกกลืนรวมกับคำหน้า คือ ตัว อ หายไป
อีกวิธีหนึ่ง คือการนำคำบาลี สันสกฤต มารวมกัน โดยชนกันเฉยๆ
คือ นำมาต่อกันเฉย ๆ ไม่มีส่วนไหนหายหรือถูกกลืนไป (ยกเว้น สระ
ท้ายคำ และการันต์ เช่น แพทย์ สมาส สมาคม เป็น แพทยสมาคม
ศิลปะ สมาส กรรม เป็น ศิลปกรรม เป็นต้น

จึงมีสิ่งช่วยจำ คือ สมาสชน สนธิ เชื่อม

ดังนั้น คำถามของ คุณ วีระจักร (ที่จริง ตามหลัก ไม่ต้องมีสระ
อะ ควรเป็น วีรจักร แต่เนื่องจากเป็นชื่อเฉพาะ ก็ต้องยกเว้น)

คำถามที่ถาม หัตถ กับ นฤมิตร ถามว่า ก็ไม่ต้องแปลงรูป
อะไร จับใาชนกันเฉย ๆ เป็นหัตถนฤมิต (การเนรมิตด้วยมือของเรา)
เป็นคำสมาส ชนิด แบบสมาส

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 28 กันยายน 2562 15:59:02 น.  

 

หนูอยากถามว่าคำว่าบุปผาที่เป็นคำบาลี สามารถนำมาสมาสหรือสนธิกันได้ไหมคะ

 

โดย: พิมพ์ชนก IP: 159.192.218.101 30 สิงหาคม 2564 19:48:39 น.  

 


ถึงคุณ พิมพ์ชนก

บุปผา นำไป สมาสก้บคำว่า ชาติ เป็น บุปผชาติ ได้จ้ะ หมายถึง
พวกดอกไม้ จ้ะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 30 สิงหาคม 2564 22:33:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

space

อาจารย์สุวิมล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 46 คน [?]




เป็นครูสอนภาษาไทยที่เกษียณอายุราชการแล้ว สนใจเรื่องการเขียนหนังสือให้ความรู้ ชอบการท่องเที่ยว หากท่านที่เข้ามาชมและอ่านแล้ว มีความสนใจและต้องการสอบถามเรื่องความรู้ด้านภาษาไทย ถ้ามีความสามารถจะให้ความรู้ได้ ก็ยินดีค่ะ

http://i697.photobucket.com/albums/vv337/dd6728/color_line17.gif
space
space
space
space
[Add อาจารย์สุวิมล's blog to your web]
space
space
space
space
space