space
space
space
<<
มิถุนายน 2563
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
space
space
20 มิถุนายน 2563
space
space
space

ขุนช้าง ขุนแผน ตอนที่ 3/1 พลายแก้วบวชเณร




 
ขุนช้าง ขุนแผน ฉบับถอดความ
เรียบเรียงจากเสภา เรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน
ตอนที่  ๓/๑  พลายแก้วบวชเณร

    กล่าวถึงพลายแก้วแววไว เมื่อบิดาเสียชีวิต แม่พาหนีไปอาศัยอยู่ที่กาญจนบุรี มีใจหวนคิดถึงพ่อที่จากไปอยู่ทุกขณะจิตจนเจริญวัยได้ ๑๕ ปี มีความคิดอยากจะเป็นทหารเหมือนพ่อขุนไกรที่ได้ตายจากไป หลังจากตรึกตรองมาปีกว่า จึงได้อ้อนวอนมารดาว่า

    “ลูกนี้ใคร่รู้วิชา พระสงฆ์องค์ ใดมีวิชาดี ขอให้แม่พาลูกนี้ไปฝากท่าน ให้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ จะได้บวชลูกเป็นเณร”

    นางทองประศรีผู้เป็นมารดาได้ฟังหาขัดความประสงค์ของลูกไม่

    “สิ่งที่เจ้าคิดดีแล้ว สมภารท่านขรัววัดส้มใหญ่ ชำนาญทางใน แลดูดีครันแม่จะพาเจ้าไปฝากท่าน ลูกจะได้รู้วิชาการและคงกระพันให้เหมือนกับพ่อขุนไกร”

    จากนั้นจึงสั่งพวกบ่าวไพร่

    “ช่วยกันเร็ว กูจะบวชลูกชาย พวกเอ็งจงไปเที่ยวหาผ้าเนื้อดี มาทำสบงจีวร รวมทั้งหาย่าม บาตร รีบทำพร้อมกันในวันนี้ อ้ายถี อีล่า มาช่วยกู”

    ข้าไททั้งหลายไปหาของหมากพลูใบตอง บ้างก็ไปช่วยกันเย็บกรวย ปอกหมาก พันพลู ฟั่นเทียน ช่วยเอาผ้าขาวมานั่งล้อมวงช่วยกันเย็บ ตัด สบง จีวร ส่วนอังสะใช้แพรหนังไก่นุ่ม รังดุมทำด้วยไหม ทั้งหมดพร้อมเพรียงกันทำอย่างเอิกเกริกด้วยความตั้งใจศรัทธา

    บางคนออกมาหาขมิ้น จัดการโขลกย้อม พรมน้ำส้ม แก้ไขผ้าที่มีสีซีด จนได้สีเป็นที่น่าพอใจ ตากให้แห้งแล้วจัดเป็นไตรไว้บนพาน

    ฝ่ายแม่ครัวจัดการหุงต้มรวดเร็วอลหม่าน หน้าดำคล้ำอยู่ที่เชิงกราน บ้างซาวข้าวสารใส่กระทะ บ้างต้ม บ้างพะแนง บ้างแกงขม บางพวกคั่วยำ ทำขนม จัดแจงผลไม้ใส่กระบะเรียงรายละลานตา

    ครั้นเตรียมการเสร็จตามที่นางทองประศรีต้องการ นางก็ได้เรียกคนให้ไปเอาขันน้ำใบใหญ่มา
    “อ้ายโม่งอีมาช้าอยู่ใย มึงไปเอาขันใบใหญ่มาใส่น้ำ ขมิ้นดินสอพองเอาไปไว้ไหน เมื่อวานกูใส่ไว้ในถ้ำ (ภาชนะที่โดยมาก ทําด้วยตะกั่วชนิดหนึ่ง สําหรับใส่ใบชา รูปร่างคล้ายขวดมีฝาปิด) พวกแกอาบน้ำลูกข้า ชำระเหงื่อไคลให้สะอาด ทาขมิ้นดำ จากนั้นหวีผมแต่งตัว ผัดหน้าให้ผ่องใส นุ่งผ้ายกจีบ สวมเสื้อครุย คาดเข็มขัดถักสายลายทอง สวมแหวนเพชร ให้ถือธูปเทียน ดอกบัว”

    จากนั้นทองประศรีเรียกนายดำที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ให้มาแบกลูกชาย อีกทั้งยังให้คนเอาร่มกั้นร่วมเดินทางไปวัดส้มใหญ่ เอาสิ่งของทั้งหลายวางไว้ที่ศาลา จากนั้นนางทองประศรีพาพลายแก้วไปกราบสมภาร

    “ท่านเจ้าขาดิฉันพาลูกมาบวช  ช่วยเสกสวดสอน วิชาการอ่านเขียน ให้ได้ร่ำเรียนตั้งแต่เยาว์ ด้วยขุนไกรผู้บิดาได้จากไปแล้วจะได้รับส่วนแห่งบุญ”

    ฝ่ายสมภารบุญทอดใจใหญ่ ครุ่นคิดทอดถอนใจแล้วกล่าวว่า

“อนิจจาขุนไกรตายแล้ว อ้ายลูกชายเหมือนพ่อหนักหนา อาตมาเห็นแล้วก็รู้สึกคิดถึงขุนไกร วางใจเถอะ วางใจได้อาตมาจะเลี้ยงดูลูกของสีกาอย่างดี”

จากนั้นหันไปสั่งเณรคง

“เณรนิมนต์พระสงฆ์ลงไปข้างล่าง ปูเสื่อ อาสนะ โกนหัวเจ้าพลายแก้ว แล้วพามา”

สมภารลงมาศาลาใหญ่ พระสงฆ์ลงไปอยู่พร้อมหน้า พลายแล้วอุ้มผ้าจีวรไปกราบ ท่านขรัวบุญ จากนั้นให้บรรพชาเป็นสามเณร หลังจากบรรพชาเสร็จ นางทองประศรี เร่งแม่ครัว เตรียมข้าวปลาอาหาร ยกขันข้าวตักบาตรทันที พระสงฆ์สวดมนต์ถวายพรพระ ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็ให้พร เณรแก้วทองประศรีกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บิดา

หลังจากที่สามเณรแก้วบวชแล้ว ร่ำเรียนด้วยความขยันหมั่นเพียร มีปัญญาว่องไว เรียนสิ่งใด ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วง่ายดาย จนอาจารย์นึกขยาดในความฉลาดเฉลียว เณรทั้งหลายที่อยู่ที่นี่ จะเปรียบเทียบเณรแก้วนั้นไม่มี
บวชยังไม่ถึงปี ก็เรียน เขียน แปลหนังสือได้คล่องแคล่ว จนสิ้นความรู้สมภาร ไม่อาจสอนได้อีก วันหนึ่งสมภาร นั่งลูบที่หน้าและหลังของของสามเณรเบาๆ กล่าวว่า

“สิ้นความรู้กูแล้วเณรแก้ว แต่ยังมีสมุดตำรับใหญ่ เป็นหัวใจพระคาถา กูเก็บไว้ตั้งแต่หนุ่ม เป็นของหวงเก็บไว้จนชราไม่ให้ใคร ความรู้นอกนี้กูไม่มีแล้ว กูรักเณรแก้วจะยกให้เจ้า วิชาคงกระพัน ปล้นสะดม เลี้ยงโหงพราย”

เณรแก้วได้ตำรับของท่านขรัว เรียนแล้วคิดอยากให้เรียนให้ยิ่งไปกว่านี้ วันหนึ่งจึงเข้าไปหาท่านขรัว กราบลาขอไปสุพรรณบุรี เพื่อไปสืบหาวิชาเรียนต่อไป ท่านสมภารหัวเราะชอบใจกล่าวว่า

“ท่านสมภารวัดป่าเลไลย์นั้นน่าจะดี รู้จักกับสีกาทองประศรี”

เณรแก้วจึงกราบลาไปหาแม่ นางทองประศรีรีบมาต้อนรับ

“พ่อเณรมามีเหตุอันใดรึ”

“โยมแม่ขาขรัวท่านให้ลูกมา เพราะว่าร่ำเรียนวิชาจากท่านจบแล้ว ท่านบอกว่าวัดป่าเลไลย์ดีหนักหนา ได้ยินว่ารู้จักมานานกับโยมแม่ ขอให้พาลูกเณรไปฝากไว้”

นางทองประศรีดีใจหัวเราะดังลั่น

“จริงแล้วพ่อเณรหนา แม่นึกได้ที่เมืองสุพรรณนั้น ทางในท่านมีดีอยู่สององค์ วัดป่าเลไลย์ท่านสมภารมี และท่านขรัวที่วัดแค แม่กับขุนไกร พ่อของเณรคุ้นเคยกันดี พาลงไปฝากจะยากกระไร”

ว่าพลางนางทองประศรีสั่งบ่าวไพร่

“เอ็งรีบไปเรียกช้างมา เขาผูกพังบู่ให้กู อ้ายพลายกางผู้ไว้ให้พ่อเณร ข้าวของจัดใส่สัปคับ(ที่นั่งผูกติดบนหลังช้าง) ทั้งข้าวและกับรีบหาให้พอเพียงเลี้ยงพระทั้งเช้าและเพล ให้อ้ายแสนกับตาพุ่มคุมไป”

ครั้นตระเตรียมเสร็จเรียบร้อย พากันออกจากบ้านเขาชนไก่ เดินทางตัดผ่านทุ่ง ป่าพงไพร สามวันถึงสุพรรณ แวะเข้าวัดป่าเลไลย์ ตรงไปยังกุฏีขรัวมี นางทองประศรีรีบกราบท่านสมภาร

“ดีฉันมิได้มาหาท่านเลย”

ท่านขรัวดีใจหัวเราะร่า

“ไม่เห็นหน้าหลายปีนะสีกา เณรนี้เป็นลูกใครไม่คุ้นเคย”

นางทองประศรีกล่าวว่า

“ลูกฉันเองเจ้าคะ แต่เพียงขุนไกรแกวอดวาย ดีฉันเพลานี้เป็นหม้าย ให้ลูกบวชเรียน ก็อยู่ไกลไม่ได้การ จึงเอามาฝากให้ขรัวปู่ โปรดบอกความรู้เอ็นดูหลาน ถ้าเกียจคร้านไม่ร่ำเรียน ให้ทำโทษ ตีโบยได้”

“สีกาอย่าร้อนใจไป ถ้าไม่ฟังคำสอนเลี้ยงได้รึ ข้าไม่ใคร่โบยเท่าใดนัก แต่จะสั่งสอนให้ตามสติปัญญาของเณร ถ้าเณรดีก็จะมีคนชม ชั่วก็จะมีคนทับถม เณรก็เป็นเผ่าพันธุ์ผู้ดี จะผ่าเหล่าเสียนั้นเห็นผิดไป”

ทองประศรีฟังท่านขรัวกล่าวหัวเราะร่า

“พ่อเณรจำไว้หนาเอาใจใส่”

หลังจากฝากลูกแล้ว นางทองประศรีก็กราบลากลับเขาชนไก่
เจ้าเณรแก้วมีปัญญาคล่องแคล่วหาใครเหมือน ขยันหมั่นศึกษาเล่าเรียนมิให้ต้องเตือน หัดเทศน์ขึ้นใจในสามเดือน มหาชาติ ทำนองธรรมวัตร ไพเราะ เปรื่องปราดไม่มีใครเทียบได้ เสียงมีเสน่ห์ดุจดังเรไร เทศน์ที่ใดคนชมนิยมฟัง ชาวบ้านร้านตลาดคลั่งไคล้ สามเณรอดเพลไปรอฟัง  

เณรแก้วอุตส่าห์ศึกษา เขียน อ่าน ท่อง ได้แล้ว ไต่ถาม ตำรับใหญ่พิชัยสงคราม เรื่องฤกษ์ยามก็รอบรู้ วิชาคงกระพัน ล่องหน ผูกยนต์ใช้ให้ต่อสู้ เสกเป่า ผูกจิตหญิง ท่านขรัวหัวร่อร่า

“เณรแก้ว เรื่องเจ้าชู้ เมียของเขาอย่าได้ข้องเกี่ยว ดูทีเณรจะมีดีพอ กูจะให้วิชาสารพัด เวทมนต์ พระคาถา”

แล้วคายชานหมากมาให้เณรกิน เณรแก้วรับแล้วกินชานหมาก ท่านขรัวต่อยด้วยสาก หัวไม่แตก ไม่ยุบ ดังทุบหิน ท่านขรัวหัวเราะอย่างอารมณ์ดี สามเณรหมั่นปรนนิบัติพัดวี ท่านขรัวยิ่งมีความรักใคร่ ฝึกสอนทดสอบทุกวันเรื่อยมา

จะกล่าวถึงขุนช้างเมื่อหนุ่ม หัวเหมือนนกตะกรุมล้าน หนักหนา เคราคาง ขนอก ขึ้นดกดำ หน้าตาดุจดัง ลิง ค่างในป่า ไปติดพันกับ เจ้าแก่นแก้ว ลูกตาหมื่นแผ้ว สู่ขอพ่อแม่ก็ปลงใจ ขุนช้างจึงได้มาเป็นภรรยา มาอยู่กับเรือนเป็นเพื่อนนอน

ร่วมเรียงเคียงหมอนได้ปีกว่า ล้มเจ็บจับไข้หลายเพลา ต่อมากลายเป็น บิด ริดสีดวง ผอมแห้ง หน้าแข้งเป็นเกล็ด ตากลวง อยากกินเป็ด ไก่ ของแสลงทั้งปวง ขุนช้างเศร้าเหงาหงอย เป็นทุกข์ร้อนเห็นเมียจับไข้ก็ใจหาย เที่ยวตามหาหมอมารักษา เอาเงินใส่พานตั้งข้างที่นอน อ้อนวอนให้หมอด่อนมารักษา แต่หมอกล่าวว่า

“เป็นการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายแล้ว รักษาเยี่ยงไรก็มิหาย แต่แรกใยไม่เรียกให้ข้ามาดูเมื่อไข้หนักใกล้ตายจึงเรียกให้มาดู”

ว่าแล้วหมอก็จากไป ขุนช้างสงสารเศร้าโศกอยู่ ร้อนรุ่มกลุ้มใจดังไฟ ไม่รู้จะคิดแก้ไขประการใด ต่อมา แก่นแก้ว ก็ตายจากไป ขุนช้างได้แต่นั่งร้องไห้ จากนั้นก็ทำพิธีปลงศพ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เนืองๆ

ทีนี้จะกล่าวถึงเมืองสุพรรณ เทศกาลสงกรานต์มาถึง ผู้คนมากมายมาทำบุญที่วัดป่าเลไลย์ ช่วยกันขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทรายเรียงรายไป จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์สวดฉลองพระทรายเพลาบ่าย  แล้วกลับบ้านเตรียมจังหันเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้น  

บรรยากาศอลหม่านกันทั่วไป ทำของปิ้ง น้ำยาแกง พะแนงไก่ ห่อหมก ไข่ต้ม  ผัด ปลาแห้ง แกงบวน บ้างก็ทำวุ้นสาคู ข้าวเหนียวหน้าหมู ข้าวเม่ากวน ผลไม้สวนต่างๆ ส้ม มะปราง ลางสาด ลูกหวาย หว้า ส้มโอ กล้วยไข่ จนดึกดื่นพักผ่อนหลับใหลกันไป ครั้นรุ่งเช้าต่างแต่งตัว หนุ่ม สาว คนตลอดจนคนเฒ่า คนแก่มาพร้อมกันที่วัดป่าเลไลย์

ฝ่ายนางพิมกับมารดา พาบ่าวไพร่ออกมาแต่เช้าจัดหาข้าวปลา ธูปเทียนใส่พาน มาถึงวัดนั่งลงตรงพระทรายแล้วถวายนมัสการ หญิง ชายเต็มวัด ปูเสื่อนั่งคอยพระสงฆ์


ตอนที่ ๓ ยังมีต่อ โปรดติดตาม




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2563
1 comments
Last Update : 20 มิถุนายน 2563 22:13:12 น.
Counter : 7006 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร

 

0000 Book Blog ดู Blog
ประเพณีไทยแฝงอยู่ในวรรณกรรมจ้า

 

โดย: หอมกร 14 กรกฎาคม 2563 15:00:21 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

0000
Location :
สุรินทร์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
space
space
[Add 0000's blog to your web]
space
space
space
space
space