2556-ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย

           จากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยคุณ ศุภศรุต-วรณัย ในเรื่อง วิษณุอนันตศายิน-นารายณ์บรรทมสินธุ์ จากทั่วถิ่นเมืองไทย...อยู่ทีใหนบ้าง post เมื่อ 5 มิถุนายน 2555

 

           รูปของ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือ “วิษณุอนันตศายิน” (อำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระวิษณุ) จะแยกออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ โดยรูปแบบแรกจะเป็นตอนที่ “พระนารายณ์หรือพระวิษณุกำลังบรรทมในระหว่างกัลป์ หรือการบรรทมหลังแบบธรรมดาในระหว่างที่สามโลกกำลังดำเนินไปตามกาลเวลา”ส่วนรูปแบบที่สอง จะเป็นภาพมหามงคลที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ตอน “พระวิษณุหรือพระนารายณ์ให้กำเนิดแก่พระพรหมผู้สร้างโลกใหม่” ซึ่งถูกกล่าวถึงในมหากาพย์ “มหาภารตะ” (The Mahabharata) มหากาพย์ที่เก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปีของอินเดียไว้ว่า “.....โลกเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์ (หนึ่งกัลป์เท่ากับหนึ่งวันของพระพรหม) ทุกสรรพสิ่งถูกทำลายล้าง พื้นดินจมลงสู่ใต้มหาสมุทรพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงพระนามว่า “นารายณ์” ผู้มีพันพระเนตรและพันพระบาท บรรทมอยู่ที่ท่ามกลางเกษียรสมุทร มีพญานาคผู้มีพันเศียรรองรับองค์พระผู้เป็นเจ้า ...เมื่อพระองค์ตื่นบรรทม และมองเห็นโลกที่ว่างเปล่า พระองค์ได้ตั้งสมาธิเพื่อการสร้างสรรค์สรรพสัตว์ขึ้นใหม่ ในขณะนั้น ได้เกิดดอกบัว(หมายถึงความบริสุทธิ์) ดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ)จากผลของสมาธินั้น แล้วพระพรหมผู้มีสี่พักตร์ก็ได้ปรากฏขึ้นบนดอกบัวนั้น.....”

 

 

 

อาศรม (Cella) เก่าแก่ที่พนมฮันเจย จังหวัดกำปงจาม

                 1.การรังสรรค์ภาพสลักพระวิษณุนารายณะ -อนันตศายิน ในคติความเชื่อที่คอยกำกับรูปศิลปะของเขมรที่รับมาจากอินเดียผ่านมาทางชวานั้น มีร่องรอยมาตั้งแต่ก่อนยุคเมืองพระนครครับ  “ร่องรอย” ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏในข้อความจารึกภาษาสันสกฤตของ “พระนางกุลประภาวดี” อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11 (ราว 1,500 ปีที่แล้ว) พบที่จังหวัดตาแก้ว ได้กล่าวถึงเรื่องการบรรทมสินธุ์ของของพระนารายณ์ไว้ว่า “ ...ผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญอย่างมีเหตุผลพักผ่อนในเกษียรสมุทร บรรทมบนแท่นที่ทำด้วยขดของพญานาคและเป็นผู้รวมเอาโลกทั้งสามไว้ในท้องและให้กำเนิดดอกบัวจากพระนาภี...”  นอกจากข้อความในจารึกโบราณในยุคอาณาจักรเจนละ (Chenla) แล้ว รูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหินทรายที่น่าจะมีอายุ “เก่าแก่ที่สุด” ในศิลปะเขมร เป็นภาพสลักบนทับหลังประตูของอาคารหลังเล็ก”อาศรม - ครรภมณฑล” (Cella - รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยม) ที่ “พนมหันเจย” (Phnom Han Chey Pr.) “อุคระปุระ”หรือ “ชัยคีรี” (ชื่อเก่าตามจารึกที่พบ) จังหวัดกัมปงจาม เป็นศิลปะแบบเจนละ (Chenla Style) อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 แต่นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ปาร์มังตีเออร์ (Henri Parmentier) เชื่อว่ารูปสลักนารายณ์บรรทมบนอนันตนาคราชที่ปราสาทหันเจยนี้ อาจจะมีอายุเก่าแก่ขึ้นไปจนถึงช่วงยุควัฒนธรรมฟูนัน (Funan) ซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 10 เลยทีเดียว

 

 

             2.ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ในยุคต้น ๆ ของศิลปะเขมร ยังปรากฏบนทับหลังของ “ปราสาทตวลบาเสท (Tuol Baset Pr.)” จากจังหวัดพระตะบอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่ชาติกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ เป็นภาพสลักในศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kameng Style) อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นภาพของพระวิษณุบรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราช ตะแคงตัวไปทางด้านขวา มีภาพพระพรหมประทับบนดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีแสดงถึงตอนกำเนิดโลกใหม่ ด้านข้างมีทั้งสองมีรูปเทพเจ้าในท่าเหาะเหินเดินอากาศประทับบนแท่นบัลลังก์ในท่าประนมหัตถ์นมัสการ

 

 

รูปสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทตวลบาเสท จังหวัดพระตะบอง

จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา

              3.ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย น่าจะเป็นรูปสลักทับหลังของ “ปราสาทตำหนักไทรหรือปราสาททามจาน (Tamnak Sai Pr.)” อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทอิฐหลังเดี่ยวที่สร้างขึ้นทับบนฐานเดิมของอาคารอิฐที่พังทลายไปแล้วในยุคเจนละ เป็นภาพพระนารายณ์สี่กร บรรทมสินธุ์ตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีสายบัวผุดมาจากพระนาภีและมีรูปของพระนางลักษมีขนาดเล็กอยู่ด้านหลังพระชงฆ์ ลวดลายของทับหลังมีลักษณะเก่าแก่ ภาพของพระวิษณุยังประทับในแบบนอนราบ น่าจะมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงสมัยศิลปะกำพงพระ – กุเลน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานเเห่งชาติพิมาย

            4. ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่เก่าแก่อีกชิ้นหนึ่ง น่าจะเป็นภาพสลักบนทับหลังของซากอาคารที่พังทลายชื่อว่า “ปราสาทภูฝ้าย (Phu Fai Pr.)” อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่วัดสุพรรณรัตน์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นรูปสลักพระนารายณ์ 2 กร ประทับตะแคงขวาบนพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีสายบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภีและมีพระพรหมขนาดเล็กสี่พักตร์ประทับอยู่ด้านบนดอกบัว มีรูปพระลักษมีประทับนั่งอยู่หลังพระชงฆ์ (น่อง) ในท่ากำลังนวดเฟ้น ปรนนิบัติ ถัดไปเป็นภาพบุคคลสี่รูปในท่าประนมหัตถ์ นั่งชันเข่าในท่ามหาลีลาสนะ บุคคลด้านหน้าถือ “แซ่จามร” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้ที่อยู่บนสรวงสรรค์

      5.ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่ง ปรากฏบนทับหลังบนซุ้มประตูด้านในของอาคารบรรณาลัยด้านทิศเหนือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (Sra Kampaeng Yai Pr.)” หรือที่ปรากฏชื่อในจารึกว่า “กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร" (ผู้เป็นใหญ่เหนือพงไพร) ที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นทับหลังศิลปะแบบบาปวน อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16  ภาพสลักที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นภาพตอนกำเนิดโลกใหม่ พระวิษณุนารายณะสี่กร บรรทมตะแคงองค์ไปทางซ้าย ประทับเหนือพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีภาพบุคคลเพศหญิงอยู่ทางด้านปลายเท้าห้ารูป ด้านในสุดด้านหลังของพระชงฆ์ เป็นรูปของเทวีลักษมี ในท่าตระกรองโอบกอดปรนนิบัติ ถัดไปรูปที่สอง เป็นรูปของนางภูมิเทวี หรือพระแม่ธรณี ยกพระชงฆ์ทั้งสองข้างมาวางไว้บนตัก พระบาทของพระนารายณ์ขึ้นไปดันจนชนพระถัน

 

 

 

       6.ภาพสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ในยุคร่วมสมัยกับทับหลังที่ปราสาทเปือยน้อย เป็นภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ด้านทิศใต้ของปราสาทบริวารทางทิศเหนือที่ “ปราสาทกู่พระโกนา” (Ku Phra Kona Pr.) จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นภาพพระวิษณุนารายณะสองกร ประทบบรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราชสามเศียรในตอนกำเนิดโลกใหม่ ศิลปะแบบบาปวน อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ด้านขวาและซ้ายของภาพสลักมีภาพของ “หงส์” กำลังกางปีกในท่าบิน ที่กำลังสื่อความหมายว่า ภาพเหตุการณ์การบรรทมสินธุ์ที่สาธุชนกำลังมองเห็นนี้ เกิดขึ้นในที่สูงส่งอย่างเช่นสรวงสวรรค์ (ที่ขนาดนกยังต้องบิน)

ขอขอบคุณ //www.oknation.net/blog/voranai/2012/06/05/entry-2

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 02 เมษายน 2556
Last Update : 2 เมษายน 2556 15:46:05 น.
Counter : 4422 Pageviews.

1 comments
  
โดย: Kavanich96 วันที่: 3 เมษายน 2556 เวลา:6:01:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

surya21
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 50 คน [?]



New Comments
เมษายน 2556

 
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
17
19
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog