+++คิดอะไรก็เขียนไป ดูอะไรมาก็เล่าไป เจออะไรมาก็บ่นไป+++
 
พฤศจิกายน 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
26 พฤศจิกายน 2549

วัยสะรุ่น วุ่นแล้วฆ่า อีกหนึ่งความบ้าในความเงียบของเยาวชน

ด้วยชีวิตประจำวันและงานประจำของผู้เขียนซึ่งต้องวุ่นกับการเช็คข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับในทุก ๆ วัน มีหลายครั้งที่ต้องเตะตากับพาดหัวข่าวใหญ่โตจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทำนองฆาตกรรมเลือดสาด โศกนาฏกรรมในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกฆ่าบุพการี หรือวัยรุ่นช้ำรักฆ่าแฟนสาว ฯลฯ อยู่เนือง ๆ
จนผู้เขียนยอมรับว่าหลายครั้งที่มองเหมือนกับเป็นเรื่องปรกติในสังคมไปเสียแล้วที่จะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เพราะแม้แต่รายการข่าวช่วงเช้าหรือหัวค่ำก็พร้อมใจหยิบเหตุการณ์สะเทือนขวัญเหล่านี้มาพูดคุยกันอย่างปรกติ ราวกับว่าความรุนแรงเหล่านี้มันหยั่งรากในสังคมไทยไปเสียแล้ว
แล้วไฉนล่ะ ความรุนแรงสีแดงฉานเหล่านี้จะมีในตัววัยรุ่นไม่ได้!!!
ปรากฏการณ์น่าเศร้านี้คงสะท้อนออกมาได้ดีในละครชนะรางวัลส่งเสริมสุขภาวะยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครเวทีกรุงเทพปี 2548 เรื่อง “วัยสะรุ่น วุ่นแล้วฆ่า” จากกลุ่มละคร Naked Mask (หน้ากากเปลือย) ที่ได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวและชนะใจผู้ชมอย่างล้นหลามสมราคาคุยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนที่จะนำมาจัดแสดงอีกครั้งในมหกรรมละครส่งเสริมสุขภาวะ “เมื่อวัยรุ่นอยากเล่าเรื่อง ความรุนแรง ความสวย และความรัก” ที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
วัยสะรุ่นวุ่นแล้วฆ่าเริ่มเล่าเรื่องจากการอ่านข่าวเหตุการณ์ฆ่ากันตายของนักเรียนชายคนหนึ่ง ที่โดนแฟนบอกเลิก จึงตัดสินใจไปที่บ้านฝ่ายหญิง ฆ่าคนในบ้านและฆ่าตัวตายตาม จากนั้นเด็กนักเรียนที่อ่านข่าวดังกล่าวอยู่ก็จะเริ่มพูดคุยและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นผ่านตัวละครเอกซึ่งเป็นนักเรียนชายที่ท้ายที่สุดก็มีชะตากรรมชีวิตไม่ต่างจากข่าวที่เพิ่งเล่าไป
ที่น่าสนใจคือแม้ว่าละครจะไม่ได้เล่าเรื่องแบบต่อเนื่องด้วยบทสนทนาจนนำเหตุการณ์จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง แต่ใช้การเล่าเรื่องลักษณะภาพเหตุการณ์ปะติปะต่อเข้าด้วยกัน โดยใช้การเสนอรูปแบบในแนว Experimental ที่นักแสดงไม่ได้มีบทบาทแค่ตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถแตกออกไปสู่บทบาทอื่น ๆ รวมถึงแสดงเป็นองค์ประกอบของภาพความคิดในตัวละครตัวหนึ่ง
จากจุดเด่นดังกล่าว จึงกลายเป็นกลไกของละครที่ไม่ได้พยายามเล่าเรื่องว่าวัยรุ่นในเรื่องกระทำเหตุการณ์ฆาตกรรมได้อย่างไร แต่เป็นการนำภาพความคิด ความทรงจำ และประสบการณ์ของตัวละครที่เหมือนงานศิลปะแนว Expressionism ซึ่งบูดเบี้ยว บิดเบือนแต่สื่อตรงกับจิตใจของเจ้าของ มานำเสนอให้กับผู้ชมได้รับทราบและซึมซับกับประสบการณ์ดังกล่าว ก่อนจะจบลงด้วยแก่นตะกอนความคิดที่ว่าบทสรุปและทางออกของตัวละครนั้นสมควรแล้วหรือ
แม้ว่าละครจะนำเสนอบทสรุปของความรุนแรงในตัววัยรุ่นซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่น่าตกใจและกลายเป็นจุดขายที่กระแทกใจผู้ชมได้ตลอดการแสดงคือสาเหตุที่นำตัวละครไปสู่การตัดสินใจในตอนท้ายต่างหาก
คำพูดจากตัวละครที่สะท้อนประสบการณ์ในชีวิตของวัยรุ่นที่กำลังจะก้าวข้ามจากภาวะที่อยู่ภายใต้พ่อแม่สู่การเรียนรู้และค้นหาชีวิตแต่กลับต้องเจอคำพูดจากผู้ปกครองทำนองว่า “เรียนได้ต่ำกว่า 3.9 ได้ยังไง ไอ้ลูกอกตัญญู” “ต้องการเงินเท่าไร ก็เอาไป ไม่พอก็เอาไปอีก พ่อมีเยอะ” “แม่ไม่ว่างคุยนะ ถ้าจะคุยไปคุยกับพ่อ” “อย่าสนใจเรื่องอื่น เอาเรื่องเรียนก่อน” ฯลฯ ช่างเป็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจยิ่งกว่าภาพเหตุการณ์ฆาตกรรม เพราะครั้นที่ตัวละครได้รับเสียงต่าง ๆ ดังกล่าว จิตใจของตัวละครนั้นมืดมนและดำทมิฬเสียยิ่งกว่าอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่ตัวละครวัยรุ่นกำลังประสบปัญหาและต้องการที่พึ่ง ต้องการคนที่เขารักมาเข้าใจและให้คำปรึกษากลับต้องโดนตอกกลับด้วยคำปฏิเสธอย่างไม่สนใจไป
ขณะเดียวกัน ความรุนแรงในความสนุกที่เอาชนะคนอื่นในเกมคอมพิวเตอร์ที่วัยรุ่นหาเล่นได้อย่างดาษ ๆ ตามร้านเกมทั่วไปนั้น ก็สร้างความสนุกสนานครื้นเครงและนำไปสู่การเย็นชาต่ออาวุธปืน สีเลือดแดงฉาน และความตายแทนที่จะเตือนสติถึงความน่ากลัวและกันให้พวกเขาอยู่ห่างไกลจากมัน
จากผลลัพธ์ดังกล่าว ความยอดเยี่ยมของวัยสะรุ่น วุ่นแล้วฆ่าจึงไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของการเล่าเรื่องและพล็อตเรื่อง แต่อยู่การการนำเสนอภาพปะติปะต่อต่าง ๆ นั้น ล้วนกระแทกใจผู้ชมพร้อม ๆ กับการโยนประเด็นความจริงของปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของตัวละครซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนวัยรุ่นสู่กรอบเวทีที่มิอาจปิดกั้นความคิดเหมือนเช่นกรอบสังคมที่ผู้ใหญ่สร้างไว้ครอบงำพวกเขา และความแรงของภาพความคิดดังกล่าวก็มีอานุภาพพอที่จะกระแทกจิตใจผู้ชมวัยรุ่นให้ย้อนสะกิดใจตัวเองถึงสภาพจิตใจของตน และผู้ชมผู้ใหญ่ที่ควรน่าจะสะกิดสำนึกของคนที่ “ผ่านน้ำร้อนมาก่อน” ว่าตอนนี้น้ำร้อนของพวกเขานั้น มันเย็นไปแล้วหรือยัง
จุดที่ทำให้การเล่าเรื่องของละครมีพลังมากยิ่งขึ้น คือการเลือกใช้นักแสดงทั้งหมดเป็นวัยรุ่นที่เพิ่งจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แทนที่จะใช้นักแสดงละครเวทีปรกติที่มักจะอายุจะถึงหรือเลยวัยทำงานไปแล้ว การเลือกดังกล่าวทำให้ภาพที่ออกมาไม่ใช่ผู้ใหญ่ใส่ชุดนักเรียนมาเล่าเรื่อง แต่คือนักเรียนในชุดคอซอง หัวเกรียนมาเล่าเรื่องให้เราฟังจริง ๆ และผลที่เกิดก็ได้ดีอย่างที่คาดไว้
อย่างไรเสีย ละครก็ยังมีจุดที่น่าเสียดายตรงที่การเล่าเรื่องดังกล่าวเป็นการเล่าเรื่องจากฝั่งเดียวคือวัยรุ่นจนทำให้ละครดูหดหู่และมืดมนตามประสาวัยรุ่นที่อาจจะยังไม่เข้าใจและเจนจัดโลกเช่นเดียวกับผู้ชม ซึ่งทำให้ละครในบางครั้งเหมือนกับการระบายออกมาของวัยรุ่นที่เหมือนจะจงใจต่อว่าผู้ใหญ่และสังคมที่ไม่ได้แยแสพวกเขาไป และคำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะการระบายอารมณ์เมื่อจบลงก็จะจางหายไปกับการเวลา
ผู้ใหญ่หลายคนมักโทษวัยรุ่นที่จับกลุ่มมั่วสุมตามที่ต่าง ๆ ว่าเด็กมีพฤติกรรมและทัศนคติที่ย่ำแย่ ทั้งนี้เกิดจากตัวเด็ก “โง่” และ “เขลา” จนถูกชักจูงไปในทางที่ผิด แต่ในความจริงแล้ว กลไกทั้งหมดที่สังคมสร้างฆาตกรวัยสะรุ่นเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ใช่เกิดจากมันสมองของวัยรุ่นที่ไม่ทันโลกเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากฟันเฟืองทุกชิ้นของสังคมไม่ว่าจะเป็น สถาบันครอบครัว สถานศึกษา เพื่อน ฯลฯ ซึ่งส่งเสริมและเบี่ยงเส้นทางชีวิตของแต่ละคนไปพร้อม ๆ กัน
หากเมื่อกลไกสังคมดังกล่าวยังคงบิดเบือนเส้นทางความคิดของวัยรุ่นที่กำลังเติบโตขึ้นในแต่ละยุคให้ไปสู่โลกด้านมืดด้วยการมอมเมาของสื่อบันเทิงและจริยธรรมสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ช้า ความชินชาต่อความรุนแรงและความผิดที่พวกเขากำลังถูกปลูกฝังก็จะแปรเปลี่ยนจากรากฝอยกลายเป็นรากแก้วในไม่ช้า
ไม่แน่ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เมื่อผู้เขียนอายุเลยเลข 40 อาจจะมีการเรียนการใช้อาวุธปืนและการทำร้ายคู่กรณีในหลักสูตรการเรียนการสอนก็เป็นไปได้!!!




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2549
0 comments
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2549 1:32:47 น.
Counter : 723 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


surviorx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add surviorx's blog to your web]