อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
“ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ”

เกษียร เตชะพีระ

ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ตุลาเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศกนี้เป็นต้นมาได้นำพา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของไทยมาถึงจุดที่คับขันสุ่มเสี่ยงต่อการถลำลึกตกดิ่งลงไปในหุบเหวอันมืดมิดไม่มีที่สิ้นสุด!

แกนนำทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมาดปรารถนาบรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามเจตจำนงของตน โดยชี้นำผลักดันการเคลื่อนไหวอย่างดื้อรั้นเสี่ยงภัยไม่เลือกวิธีการ จนชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขารอบคอบระมัดระวังที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงอย่างเพียงพอ สมค่าคู่ควรแก่ความเชื่อถือศรัทธาไว้วางใจ ฝากชีวิตความปลอดภัยไว้ให้ และจิตใจกล้าต่อสู้กล้าเสียสละไม่กลัวยากไม่กลัวตายของมวลชนส่วนใหญ่ผู้ไร้อาวุธใต้การนำของตนแล้วหรือยัง?

ไม่ต้องสงสัยว่าทั้ง คุณอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ แห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ คุณณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง แห่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ต่างพลีชีพไปในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่ทั้งสองเทิดทูนไว้สูงค่ากว่าชีวิตของตน ได้แก่ชาติและสถาบันกษัตริย์ในกรณีแรก และประชาธิปไตย ในกรณีหลัง

คำถามคือเหตุไฉนคนไทยร่วมชาติผู้เสียสละทั้งสองท่านจึงกลายเป็นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน?

และการปะทะรุนแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตของทั้งสอง คือกรณี 7 ตุลาคม และกรณี 2 กันยายน ก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่? พอจะมีทางหลีกเลี่ยงได้อย่างไร?

แกนนำของทั้งสองฝ่ายได้สรุปบทเรียนและแสดงความรับผิดชอบออกมาบ้างหรือไม่? แค่ไหนเพียงใด?

เท่าที่ได้ยินได้ฟัง ฝ่ายหนึ่ง ขณะผูกผ้าพันคอสีฟ้าและห้อยเหรียญมหาชนก ได้ป่าวประกาศเรียกร้องเสียงดังฟังชัดว่าต้องการระบอบ “การเมืองใหม่” หรือนัยหนึ่ง ระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ –ไม่ทั้งในความหมายมาตรฐานสากลและความหมายแห่งขบวนการอภิวัฒน์เพื่อระบอบรัฐธรรมนูญ
2475, และขบวนการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษา ประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และพฤษภาคม 2535 ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราเอง

อีกฝ่ายหนึ่ง เบื้องหน้าฉากหลังเวทีรูปตีนโตไดโนเสาร์สวมแหวนเพชรสีฟ้า ก็แสดงปฏิกิริยาตอบกลับโดยยกระดับการโจมตีตอบโต้ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวทางการเรียกร้อง “ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน …ที่ซึ่งปวงชนชาวไทยเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้ใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง”- โดยไม่ปรากฏชัดว่า ที่ทางฐานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน? อย่างไร? ในระบอบประชาธิปไตยที่ว่านี้

ทั้งสองฝ่ายต่างตั้งเป้าประสงค์วางเจตจำนงทางการเมืองอย่างสุดโต่ง โดยไม่คำนึงถึงกรอบจำกัดทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ หากยึดเอาการออกแรงกดดันให้ได้ดังอุดมการณ์ หรือใจปรารถนาทางอัตวิสัยของตัวเอง – ที่นี่และเดี๋ยวนี้ - เป็นที่ตั้ง โดยจินตนาการสังคมการเมืองในอนาคตข้างหน้าของตัวแบบไม่มีที่ทางให้พลังฝ่ายตรง
ข้ามเหลืออยู่เลย

มิหนำซ้ำต่างฝ่ายต่างประหนึ่งว่ากำลังยื่นคำขาดบีบคั้นบังคับให้คนไทยทั้งชาติต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตย” หรือ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยไม่อนุญาตให้มีที่ทางและทางเลือกอื่นสำหรับพลังฝ่ายที่สามหรือฝ่ายเป็นกลาง

ทั้งๆ ที่จากประสบการณ์ของ “ระบอบประชาธิปไตย+อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังที่เป็นมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อาจสรุปบทเรียนได้ว่า: ระบอบเสรีประชาธิปไตยจะประกันความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นกลางทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญได้ดีที่สุดกว่าระบอบอื่น

และสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นกลางทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถแสดงบทบาทค้ำจุนประคับประคองระบอบเสรีประชาธิปไตยให้ยั่งยืน

ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงความถูกต้องชอบธรรมและสมเหตุสมผลหรือไม่ของข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย แต่อยู่ตรงที่ว่าเพื่อปฏิบัติตามเจตจำนงของตนอย่างถึงที่สุด – ที่นี่และเดี๋ยวนี้ – จะนำไปสู่การหักรานกวาดล้าง ทำลายเหล่าพลังและสถาบันที่ดำรงอยู่จริงในสังคมการเมืองไทย แต่ถูกมองว่ากีดขวางเจตจำนงเหล่านั้นอย่างขนานใหญ่ ถึงขนาดยากที่จะดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปได้

ดังจะเห็นได้ว่า นักวิจารณ์ “ระบอบทักษิณ” ขาประจำผู้เป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างธีรยุทธ บุญมี ได้เอ่ยเตือนแนวทาง “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรฯว่า: - “…แนวทางนี้มีข้ออ่อนคือเป็นการสวนทางประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน” และ “ในการเสนอความคิดใหม่ทางการเมือง ไม่ควรสวนทางประชาธิปไตย ควรเคารพประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน…”

ในทางกลับกัน นักวิจารณ์ระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยผู้เป็นแนวร่วมของบรรดากลุ่มอิสระต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 อย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้เน้นย้ำยืนยันความจำเป็นที่สถาบันกษัตริย์ไทยจะต้องมีอยู่ต่อไปเพราะทรงคุณค่าโดยเปรียบเทียบเหนือกว่าระบอบประธานาธิบดีทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายอย่างหลายประการ

แต่ท่ามกลางเสียงเตือนที่สองฝ่ายต่างไม่ฟังดังกล่าวนี้ โอกาสช่องทางของการเมืองแห่งการต่อสู้ผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงปฏิรูป “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้ดีขึ้นในกรอบระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวกดดันทั้งในและนอกรัฐสภา – ซึ่งไม่ใช่แค่การท่องคาถาสมานฉันท์แล้วสวดมนต์ภาวนาให้โลกดีขึ้น และก็ไม่ใช่การลุกขึ้นสู้ก่อการกำเริบด้วยอาวุธอย่างสุ่มเสี่ยง - กลับถูกเบียดขับและปัดปิดลงทุกที

ในบริบทที่แตกต่างทว่าเทียบเคียงกันได้ของการแยกขั้วสุดโต่งและต่อสู้ห้ำหั่นกันระหว่างพวก “ขวา สุด” กับ “คอมมูนิสต์” ในอดีตสมัย 14 ถึง 6 ตุลาคมฯ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้สะทกสะท้อนถึงชะตากรรมอันไม่มีทางเลือกของคนหนุ่มสาวยุคนั้นว่า: -

“49. ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมูนิสต์ ใครที่สนใจเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตยและเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป”

ฤาบทเรียนราคาแพงแห่งเดือนตุลาคมเหล่านี้ สังคมไทยจะไม่ฟังอีกต่อไป?

-------------------
โต้ เกษียร เตชะพีระ : จับแพะ (พันธมิตร) ชนแกะ (นปช.) และมุมมองบางด้านที่ถูกมองข้าม

เกรียงชัย ปึงประวัติ
นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกียวโต


หมายเหตุ : บทความนี้อ้างถึงบทความ เกษียร เตชะพีระ: “ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ”

การนำความขัดแย้งในปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับความขัดแย้งในช่วง 14 ถึง 6 ตุลาคม เป็นการเปรียบเทียบที่มิอาจเปรียบเทียบกันได้ เพราะความห่างไกลกันอย่างยิ่งของข้อเท็จจริงที่อุบัติขึ้นในทั้งสองช่วงเวลา อย่างน้อยที่สุดบางด้านของความขัดแข้งในปัจจุบันก็มิได้เป็นไปอย่างสุดโต่งดังที่เกษียรพยายามนำเสนอ

ในทำนองเดียวกันการนำกรณีของคุณอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ มาเปรียบเทียบกับ กรณีของคุณณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง ซึ่งต่างก็เป็นความสูญเสียอันไม่พึงเกิดขึ้น ก็ต้องพึงกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะด้วยเหตุว่า เงื่อนไขของเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังในทั้งสองเหตุการณ์มีความสลับซับซ้อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มิใช่ประเด็นหลักที่จะกล่าวถึงในที่นี้

บทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงบางประเด็นที่ถูกมองข้ามในบทความของเกษียร โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนรูปโฉมอย่างสำคัญของฝ่ายเสื้อแดง เช่น ในด้านจำนวนผู้เข้าร่วมที่มีเป็นจำนวนมาก หรือในด้านองค์ประกอบและบุคคลิกลักษณะของผู้เข้าร่วมซึ่งผิดไปจากที่คุ้นตา อนึ่ง ความเคลื่อนไหวของฝ่ายเสื้อแดงในอนาคตอันใกล้จะเป็นเช่นไรขอให้จับตาดูในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าบางด้านของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่ความขัดแย้งในลักษณะขั้วตรงข้ามที่สุดโต่งนั้น มีที่มาจากข้อสังเกตของผู้เขียนต่อจุดร่วมบางประการของผู้คนที่เข้าร่วมกับฝ่าย นปช.ซึ่งแม้ว่าเจตจำนงของผู้คนที่เข้าร่วมกับฝ่ายเสื้อแดงอาจจะมีความแตกต่างหลากหลาย นับตั้งแต่การคิดถึงคนไกลที่อยู่ลอนดอน ความต้องการบ้านเมืองที่
ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไปจนถึงอาจจะมี (หรือไม่มี) เจตนาบางอย่างที่เกษียรพยายามสื่อให้เข้าใจเช่นนั้น ดังที่เกษียรได้ยกเอาคำพูดของพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ที่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน …ที่ซึ่งปวงชนชาวไทยเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้ใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง” มาต่อท้ายข้อความที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งชวนให้ผู้อ่านเข้าใจไปว่าแนวทางปฏิบัติที่ถูกหยิบยกมานั้นเป็นมรรควิธีอันสำคัญที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน ซึ่งอาจนำความเสียหายไปสู่พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ผู้เสนอความคิดนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าจุดร่วมทางความคิดของฝ่ายเสื้อแดงที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ความเบื่อหน่ายต่อม็อบพันธมิตร ดังที่สติ๊กเกอร์ที่พิมพ์ข้อความ “เบื่อม็อบพันธมิตร” มียอดแจกจ่ายมากกว่าหนึ่งแสนแผ่นแล้ว

เกษียรได้แสดงความเฉียบคมโดยกล่าวอย่างชัดเจนว่า พันธมิตรเรียกร้องต้องการ การเมืองใหม่ หรือ ระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ผู้เขียนยังคงมึนงงไม่อาจหยั่งทราบได้ถึงความต้องการของฝ่ายพันธมิตร ด้วยเหตุที่ว่าข้อเรียกร้องต้องการของฝ่ายพันธมิตรได้เปลี่ยนแปลงมาตามกาลเวลา จนมิอาจนับได้ทั่วถ้วน ตั้งแต่การสกัดกั้นมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเบื้องแรก จนถึงการเรียกร้องให้ประชาชนก้าวข้ามมาอยู่กับฝ่ายตนในเบื้องปลาย นอกจากนี้ข้อเรียกร้องของฝ่ายพันธมิตรยังมีความแตกต่างผันแปรเมื่อถูกพูดออกจากปากของแกนนำแต่ละคน อย่างไรก็ตามข้อที่พึงตระหนักอย่างยิ่งยวดคือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังคำเตือนของผู้บัญชาการทหารบก (ออกอากาศในรายการเรื่องเด่น เย็นนี้ ไทยทีวีสีช่อง 3 วันที่ 16 ตุลาคม 2551) ที่ว่า “พระองค์ท่านทรงห่วงใยดูแล ไม่ว่าใครทั้งสิ้นใน 63 ล้านคน (นะครับ) จะต้องไม่แบ่งแยกท่าน”

สำหรับฝ่าย นปช.ความเบื่อหน่ายที่มีต่อม็อบพันธมิตรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าพันธมิตรได้กระทำการบางอย่างซึ่งเป็นการละเมิดต่อสิทธิของผู้ที่มิได้เข้าสังกัดกับพันธมิตร ดังเช่น กรณีผู้สัญจรไปมาบนถนนราชดำเนินนอก ในขณะเดียวกันพันธมิตรก็ได้กดดันและยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อรัฐบาลอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งที่เห็นอยู่ตำตา (แต่เกษียรไม่เห็น) ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีที่มาอันถูกต้องชอบธรรม ซึ่งในท้ายที่สุด หากพันธมิตรสามารถรุกคืบไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ เราอาจจะไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการเมืองไทยจะถูกผลักไปสู่สถานการณ์เช่นใด แต่ที่แน่นอนที่สุด กฎ กติกาทางการเมืองทั้งหลายจะค่อยๆ ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ

กล่าวอย่างถึงที่สุด เราอาจมองจุดยืนที่สำคัญข้อหนึ่งของฝ่าย นปช.ได้ว่า คือ การเรียกร้องให้เคารพการเลือกตั้งหรือเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งแม้อาจจะเป็นที่ถกเถียงกันว่า การชนะการเลือกตั้งมิได้หมายถึงการได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการเลือกตั้งอุดมไปด้วยเล่ห์เพทุบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสิทธิขายเสียง แต่อย่างน้อยที่สุด

การเลือกตั้งก็เป็นวิธีการที่ยอมรับนับถือเป็นสากล และเป็นวิธีการเพียงอย่างเดียวสำหรับการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยสันติวิธี ซึ่งในปัจจุบันความข้อนี้เป็นจริงในเกือบทุกที่บนมนุษยพิภพ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเร็ววัน ไปจนถึงซิมบับเวซึ่งเพิ่งจะประสบความสำเร็จในการเจรจาแบ่งปันอำนาจระหว่างคู่ปรปักษ์ทางการเมือง ซึ่งการเจรจาดังกล่าวอ้างอิงและยึดโยงอยู่บนพื้นฐานของคะแนนเสียงเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่า ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องแสวงหาจุดที่พอจะประนีประนอมกันได้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน โดยที่ การแก้ปัญหาโดยใช้กำลังทหารเป็นทางออกที่ไม่พึงกระทำ (บทบรรณาธิการ The Japan Times Online 13 ตุลาคม 2551, “People's Democrats' in name”)

กล่าวโดยสรุป บนสถานการณ์ความขัดแย้งอันยาวนานนับเนื่องมาแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน หลักการพื้นฐานบางอย่างในการอยู่ร่วมกันโดยสันติของพสกนิกรชาวไทยได้ถูกละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เคารพในผลการเลือกตั้ง และนำไปสู่การปรากฏตัวของคนเสื้อแดงหน้าใหม่ๆ จำนวนหนึ่งซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของขวนการ นปช.เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างน้อยที่สุด การแสดงจุดยืนในการเบื่อม็อบพันธมิตร ก็อาจพัฒนาไปสู่ข้อเรียกร้องต่อสังคมไทยซึ่งกำลังอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่กฎเกณฑ์ทางการเมืองในหลายประการได้ถูกทำให้บิดเบี้ยว ให้แสวงหาวิธีการในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้กฎ กติกาที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าข้อเรียกร้องในลักษณะเช่นนี้มิได้เป็นไปอย่างสุดโต่ง หรือตามอัตวิสัยสุดแต่ใจปรารถนา ข้อสรุปเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกษียรจงใจปิดตามองข้าม ในขณะที่เกษียรเป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่งในบรรดานักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ดูดายต่อการที่หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประชาชนชาวไทยซึ่งกินความรวมถึงชาวบ้านในชนบทอันไพศาล ได้ถูกกัดเซาะไปทุกเมื่อเชื่อวัน





Create Date : 20 ตุลาคม 2551
Last Update : 20 ตุลาคม 2551 23:48:47 น. 6 comments
Counter : 918 Pageviews.

 
ขอบคุณครับ ชอบมากเลย


โดย: ติ๊ก IP: 61.90.174.226 วันที่: 21 ตุลาคม 2551 เวลา:20:01:43 น.  

 
เบื่อม๊อบพันธมิตร


โดย: จริง จริง IP: 119.42.66.116 วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:20:12:13 น.  

 
เบื่อม็อบ เบื่ออารยะขัดขืน เบี่อว่าอ้างรักชาติ สนธิได้เงินบริจาคไปเท่าไรแล้ว


โดย: เอ เอ IP: 58.9.201.172 วันที่: 27 ตุลาคม 2551 เวลา:13:31:37 น.  

 
ข้อเขียนของเกษียร ฟุ่มเฟือย

ของคุณเกรียงชัย น่าติดตามใอกาสถัดไป



โดย: พูน IP: 124.120.187.111 วันที่: 29 ตุลาคม 2551 เวลา:18:50:33 น.  

 
ถ้าแสดงพลังแห่งประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าไร
พันธมิตรและผู้ก่อการเบื้องหลัง จะต้องสำนึกมากขึ้นเท่านั้น
ฉะนั้น ชุมนุมโดยสงบ แต่มั่นคงแข็งแรงเข้าไว้
ประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็จะอยู่ในมือประชาชน
รัฐประหารเมื่อไร ก็จงแสดงพลังให้ชาวโลกได้รับรู้
นี่คือสิ่งที่มือมืดต้องสั่นสะเทือน


โดย: Tanaporn IP: 124.121.129.208 วันที่: 29 ตุลาคม 2551 เวลา:22:12:26 น.  

 
เห็นด้วยกับคุณเกรียงไกร ที่คุณเกษียรพยายามบอกว่าเสื้อแดงไม่คิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เสื้อแดงไม่ได้มาจากกลุ่มก้อนเดียวแต่มาจากทุกชนชั้น แตจุดมุ่งหมายอันเดียวกันน่าจะมาจากเบื่อ พมธ.ต่อไปคงจะมาจากทุกหย่อมหญ้าที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านที่ไม่เคยสนใจการเมืองเริ่มออกมา เขาเห็นภาพชัดเจน พธม บอกรักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ คนถือปืนกำลังเหนี่ยวไกปืนยิงอีกคนยืนข้างหลังชูพระบรมฉายาลักษญ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เกษียรกลับไปดูภาพนั้นอีกครั้ง จะได้เข้าใจใหม่ จะคอยอ่านงานคุณเกรียงไกรต่อไป


โดย: nidubon IP: 114.128.48.223 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา:17:45:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.