อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
 
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
17 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

16 ม.ค.พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) - หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ถูกจับในข้อหากบฏ

กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

คนรุ่นหลังอาจจะคุ้นเคยกับคนสกุล “โต๊ะมีนา” ในแวดวงการเมืองไทยค่อนข้างดี และคนในสกุลนี้ก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หากเมื่อสืบย้อนไปก่อนหน้านั้น ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 บรรพบุรุษของคนในสกุลดัง

กล่าวคนหนึ่งที่ชื่อ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ก็มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับของคนในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย และถือว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งก็ว่าได้ แต่ต่อสายตาของรัฐไทยแล้ว เขากลับถูกมองว่าเป็นผู้นำกบฏที่ทรงอิทธิพลต่อการที่จะทำให้เกิดปัญหาการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ออกเป็นรัฐอิสระ และในที่สุดเขาก็ถูกจับกุมตัวและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เช่นเดียวกับกรณีทนายความสมชาย นีละไพจิตร ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาวมุสลิมแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่อยรอยเช่นกันในช่วงทศวรรษ 2540

ประวัติส่วนตัวของหะยีสุหลง

หะยีสุหลง มีชื่อเต็มว่า “ตวนกูรู หะยีมูฮำหมัด สุหลง บิน หะยี อับดุลกาเดร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟะฎอนี”[1] ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี เป็นบุตรชายคนโตของฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หรือตวนกูอับดุลการ์เดร์ กามารุดดิน อดีตสุลต่านแห่งปัตตานีองค์สุดท้าย ผู้ถูกจับตัวในฐานะที่แข็งข้อต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมลฑลในสมัยรัชกาลที่ 5 จนต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในช่วงที่บิดาถูกจับ หะยีสุหลงมีอายุเพียง 7 ขวบ และหลังจากออกจากคุกบิดาก็หนีไปปักหลักออยู่ที่กลันตัน ร่วมกับลูกหลานคนอื่นๆ ที่ยังคงดำเนินการต่อต้านระบอบการปกครองของสยามในสมัยนั้น ส่วนมารดาชื่อนางซารีเฟาะห์ ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของบิดาในจำนวนทั้งหมด 3 คน เป็นหลานปู่ของฮัจญีไซนับอาบีดิน บิน อาหมัด หรือ “ตวลมีนาล” ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อเสียง

ในวัยเด็ก หะยีสุหลงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนปอเนาะ บ้านกรือเซะ ตำบลบานา ปัตตานี เป็นปาเนาะของโต๊ะครูแวมูซอ ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาเริ่มได้รับการปูพื้นฐานความรู้ภาษามาลายู ภาษาอาหรับ และวิชาศาสนาอิสลาม

เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดาส่งเขาไปศึกษาทางด้านวิชาศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย เขาได้มีโอกาสศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามหลายคน หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์

และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง จนมีเสียงเรียกร้องให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามขึ้นที่นครมักกะห์ เขากลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ จนสร้างลูกศิษย์ลูกหาได้เป็นจำนวนมาก

เมื่ออายุ 27 ปี หะยีสุหลงแต่งงานครั้งแรกกับนางสะบีเยาะห์ บุตรสาวของโต๊ะครูปะคอแอร์ในเมืองมักกะห์ แล้วภรรยาคนแรกก็เสียชีวิตในสองปีต่อมา เขาแต่งงานครั้งที่สองกับนางเจ๊ะเยาะห์ พร้อมๆ กับสถานะความเป็นครู และฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น แต่ในขณะที่เส้นทางการเป็นครูสอนศาสนากำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ในด้านชีวิตครอบครัว เขาและภรรยาก็ไม่อาจจะทำใจกับการจากไปของบุตรชายคนแรกที่มีอายุแค่เพียงปีเศษได้ จึงต้องตัดสินใจเดิน
ทางกลับเมืองไทยเป็นการชั่วคราว

ขณะที่หะยีสุหลงเดินทางกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2470 หลังจากไปใช้ชีวิตยังต่างแดนเป็นเวลา 20 ปีเต็ม การเดินทางกลับในครั้งนี้ เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าวิถีชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง จากสังคมของชาวมุสลิมนครมักกะห์ที่เคร่งครัดต่อศาสนาเป็นอย่างสูง เมื่อกลับมาถิ่นบ้านเกิดเขากลับพบว่าปัตตานีและสังคมมุสลิมในช่วงเวลานั้นยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับในยุคศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ ยังเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นต่างๆ มากมาย ด้วยบริบททางด้านสังคมของชาวมุสลิมที่เป็นอยู่ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ปัตตานีซึ่งเป็นถิ่นเกิดแทนการกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิมที่นครมักกะห์ดังที่เคยตั้งใจเอาไว้ และมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำหน้าที่เผยแพร่หลักคำสอนศาสนาอิสลามดังที่ตัวเองเคยร่ำเรียนและเป็นอาจารย์เผยแพร่ความรู้เหล่านี้อยู่ในนครมักกะห์มาก่อน ดังนั้นชั่วชีวิตที่เหลือของหะยีสุหลงทั้งหมดจึงตั้งใจที่จะทุ่มเทให้กับการเผยแพร่หลักคำสอนทางศาสนาให้กับชาวมุสลิมในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด

เบ้าหลอมความคิดทางการเมือง

ก่อนที่หะยีสุหลงจะก้าวเข้ามามีบทบาททางด้านศาสนาและการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมากในทศวรรษ 2470-2490 หากย้อนกลับไปดูบริบทแวดล้อมทางการเมืองในโลกชาวอาหรับช่วงวัยรุ่นที่นครมักกะห์ จะพบว่าบริบททางการเมืองในขณะนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นมาก และส่งผลต่อความคิดความอ่านของเขาไม่น้อย

มักกะห์ในช่วงเวลาที่หะยีสุหลงกำลังเรียนและกำลังสอนอยู่นั้น ถือได้ว่าเป็นระยะแห่งการบ่มเพาะทางปัญญาและทางการเมือง โดยช่วงที่เขาเริ่มเข้าศึกษาที่นครมักกะห์เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง จากสองแนวคิดที่ทรงพลังที่กำลังขยายตัวอยู่ในดินแดนแถบนั้น นั่นก็คือลัทธิชาตินิยมและลัทธิฟื้นฟูอิสลาม โดยมีนครมักกะห์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ[2]

โดยลัทธิชาตินิยมในช่วงนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ชาตินิยมในระบอบรัฐธรรมนูญของพวกเติร์ก และมีการปฏิวัติของกลุ่มยังเติร์กใน พ.ศ.2451 ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมในนครมักกะห์มากนัก อีกรูปแบบหนึ่งคือ ลัทธิรวมชาติอาหรับจากไคโร มักกะห์ และดามัสกัส เป็นความพยายามที่จะรวมชุมชนเผ่าอาหรับหลายกลุ่มเข้าเป็นประชาชาติอาหรับเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งมีผู้นำคนสำคัญอยู่ในนครมักกะห์ ส่วนลัทธิฟื้นฟูอิสลามมีหลายรูปแบบ

เมื่อบรรดาชาวมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไปมักกะห์จะค่อนข้างยอมรับนับถือความคิดนี้อยู่ในระดับหนึ่ง และเมื่อกลับมาก็มักจะมีเรื่องเล่าด้วยความชื่นชมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนที่เคร่งครัดของชาวมุสลิมในแถบนั้น และลัทธิฟื้นฟูอิสลามหลายๆ รูปแบบที่เกิดขึ้น โดยลัทธิฟื้นฟูอิสลามเกือบทุกรูปแบบจะได้รับการกระตุ้นด้วย “อุดมการณ์วะห์ฮะบี” อุดมการณ์นี้ก็จะมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มที่เห็นด้วยก็สามารถสร้างผู้นำทางการเมืองที่โดดเด่นขึ้นมาได้

ด้วยระยะเวลายาวนานที่หะยีสุหลงมาใช้ชีวิตอยู่ที่นครมักกะห์ ประสบการณ์ทางด้านการเมืองที่เขาได้รับจากปรากฏการณ์ในพื้นที่ที่เกิดขึ้น ทั้งอำนาจและแนวคิดของทั้งสองลัทธิที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่แถบนั้น ทั้งเล่ห์เพทุบาย ความเป็นพันธมิตร การทรยศหักหลังของกลุ่มต่างๆ การรุกคืบของอังกฤษเข้าหาดินแดนการปกครองในแถบอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น คงจะส่งอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของบรรดาผู้ที่ไปศึกษาในดินแดนแถบนั้นไม่น้อยรวมทั้งตัวหะยีหลงเอง

และยิ่งในวัยเด็กแค่เพียง 7 ขวบ ที่เคยเจอกับเหตุการณ์ที่บิดาถูกจำคุกเพราะต่อต้านระบอบการปกครองแบบใหม่ของรัฐไทยด้วยแล้ว คำถามถึงความถูกต้อง ความยุติธรรม คงจะก้องอยู่ในหัวของชายผู้นี้ตลอดมา และยิ่งเมื่อเขากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับอำนาจของรัฐไทยด้วยแล้ว วิถีชีวิตของเขาจึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อันไม่อาจจะหลีกหนีไปไหนได้เลย

บทบาทของหะยีหลง อับดุลกาเดร์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อหะยีสุหลงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่กลับไปอยู่นครมักกะห์ดังที่เคยตั้งใจไว้ เขาก็เริ่มชีวิตการเป็นโต๊ะครูในจังหวัดปัตตานีเพื่อสอนหลักศาสนา ออกไปเทศนาตามที่ต่างๆ ในปัตตานี ระยะแรกๆ ถูกโจมตีจากโต๊ะครูหัวเก่า
เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีการรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของหะยีสุหลงต่อผู้ปกครองมณฑลหรือสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี คือพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิสรภักดี) ว่าเขาเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะที่เขาทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาได้ยังไม่ถึงปี ในปลายปี พ.ศ 2470 เขาถูกจับไปสอบสวน แต่เมื่อหะยีสุหลงได้ชี้แจงเหตุผลก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา และยืนหยัดในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามต่อไป

หลังจากหะยีสุหลงเผยแพร่ศาสนาอิสลามได้ประมาณสองปี สังคมของชาวปัตตานีก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาสังเกตจากความคิดเห็นและความสำนึกในศาสนาอิสลามของชาวมลายูปัตตานีได้ตื่นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว มีโต๊ะครูตามปาเนาะต่างๆ กันมาสอนศาสนาในลักษณะเดียวกับหะยีสุหลง จนมีแนวร่วมมากขึ้นในการที่เขาจะคิดพัฒนาด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวมุสลิม จึงมีโครงการที่จะสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการเปิดปะเนาะแบบเดิม และเขามีความคิดว่าอยากให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นสมบัติส่วนรวมของชาวบ้าน เงินทุนที่จะใช้สร้างโรงเรียนจึงมาจากการเรี่ยไรจากชาวบ้านและผู้สนับสนุนต่างๆ โครงการก่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในจังหวัดปัตตานีจึงเริ่มขึ้นในปลายปี พ.ศ.2472 แต่เงินทุนที่ได้มาก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศขณะนั้นกำลังตกต่ำ รวมทั้งฐานะความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในปัตตานีด้วย ในคราวระดมทุนครั้งแรก พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะริ่งเคยรับปากไว้ว่า ถ้าหะยีสุหลงระดมทุนได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งท่านจะออกให้เอง โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อโรงเรียน แต่เมื่อติดป้ายชื่อโรงเรียนว่า “พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะริ่ง ปัตตานี ฮ.ศ. 1350” ได้ประมาณ 2 เดือน พระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ได้ทำเรื่องแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตานาทร (แจ้ง สุวรรณจินดา) ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี ว่าหะยีสุหลงนำชื่อบิดาของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทางหะยีสุหลงเข้าใจว่าทางพระยาพิพิธเสนามาตย์จะล้มเลิกสัญญาที่เคยรับปากไว้ในที่ประชุมเพื่อหาทุนสร้างโรงเรียน จึงเป็นสาเหตุความขัดแย้งกับกลุ่มพระยาเมืองยะริ่งจนไม่อานคืนดีกันได้อีก และหันไปเป็นมิตรกับขุนเจริญวรเวชช์ (เจริญ สืบแสง) สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีแทน

ส่วนโรงเรียนที่สร้างก็ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “มัดราเซาะห์ อับมูอารฟอับาฏอนียะห์ปัตตานี” และระหว่างที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินที่จะนำมาใช้สร้างโรงเรียน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎร วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และมอบหมายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่อีกประมาณ 1ปีต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาแทน

หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน หะยีสุหลงก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการสร้างโรงเรียนให้แล้วเสร็จ และท่านก็บริจาคเงินมาก่อสร้างโรงเรียนก้อนหนึ่ง ทางหะยีสุหลงได้เชิญท่านมาเป็นประธานเปิดโรงเรียนด้วย พร้อมได้ถือโอกาสเยี่ยมเยียนชาวจังหวัดปัตตานีไปด้วย อีกทั้งยังได้มีการถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกที่หน้าโรงเรียนด้วย

หลังจากสร้างโรงเรียนได้เป็นผลสำเร็จ หะยีสุหลงก็ยิ่งได้รับการยอมรับและศรัทธาจากชาวมลายูมุสลิมปัตตานีได้เป็นผลสำเร็จ และใช้ชีวิตการเป็นโต๊ะครูอย่างเป็นกิจจะลักษณะตั้งแต่ พ.ศ.2476 เป็นต้นมา มีลูกศิษย์มาของสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการสอนที่มีวาทศิลป์ดี มีมุขตลกและอารมณ์ขันอยู่ด้วย และพยายามเนื้อหาการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจหลักของคัมภีร์อัลกุรอานอย่างแท้จริง จนได้ชื่อว่าเป็นโต๊ะครูหัวใหม่ของปัตตานีในขณะนั้น

ความนิยมของชาวมลายูมิสลิมในจังหวัดปัตตานีต่อหะยีสุหลงเริ่มมีขึ้นเรื่อย ตั้งแต่ พ.ศ.2470-2479 รวมระยะเวลา 10 ปี จนเป็นที่สังเกตของทางการ และเริ่มมีรายงานจากพระประเสริฐสุนทราศัย ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี ต่อกระทรวงมหาดไทยว่ามีความก้ำกึ่งกับกลุ่มมุสลิมหัวเก่า[3]

หลังจากนั้นความนิยมนับถือต่อหะยีสุหลงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในท้องถิ่นจังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง ในระหว่างพ.ศ.2488-2490 ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธามากถึงขนาดก้มลงถอดรองเท้าและล้างเท้าให้หะยีสุหลงก่อนที่จะ
เข้าไปในสุเหร่าและมัสยิดต่างๆ มีศานุศิษย์คอยกลางกลดกันแดนให้ในขณะเดินทางไปชุมชนชาวมลายูมุสลิมในเขตสี่จังหวัดภาคใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา

นอกจากความรู้และความสามารถเฉพาะตัวของหะยีสุหลงแล้ว การพัฒนาตนเองของหะยีสุหลงในสถานภาพและบทบาทที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลซึ่งออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488[4] ก็มีส่วนสนับสนุนสถานะที่เป็นอยู่ขณะนั้นไปด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้หะยีสุหลงได้รับการยอมรับในกลุ่มชาวมลายูมุสลิมเป็นอย่างสูงและมีบทบาทการเป็นผู้นำที่โดดเด่น แต่อีกด้านหนึ่งการกระทำของเขาก็ถูกรัฐจับตามองมาตลอด เพราะนโยบายการสร้างชาติของรัฐบาลในขณะนั้นได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อต้านอย่างเปิดเผย

นโยบายของรัฐไทยที่ส่งผลกระทบต่อสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2490 ได้เกิดเหตุการณ์การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากความไม่พอใจนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และความเดือดร้อนที่เป็นผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

นโยบายการสร้างชาติ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชาตินิยม เพราะมีอุดมการณ์ที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่ระดับนานาอารยประเทศ และให้ความสำคัญกับเชื้อชาติไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการประกาศใช้รัฐนิยมช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2482-เดือนมกราคม พ.ศ.2485 จำนวน 12 ฉบับ เช่น ฉบับที่ 1 ว่าด้วย ”ใช้ประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ” มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย กำหนดให้เรียกคนสยามว่าคนไทยเพื่อเน้นความดถูกต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน รัฐนิยมฉบับแรกจึงเริ่มสร้างความรู้สึกคนละพวกให้มีความเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมในภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ต่างกัน

หลังจากประกาศใช้รัฐนิยมครบทั้ง 12 ฉบับ ปฏิกิริยาความไม่พอใจของชาวมุสลิมไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นการพัฒนาความไม่พอใจที่รู้สึกว่าบีบคั้นให้เกิดขึ้นอย่างเรื่อยๆ โดยเฉพาะรัฐนิยมฉบับที่ 9 ด้วยเรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี รัฐนิยมฉบับที่ 10 ว่าด้วยเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้และมีผลบังคับอย่างจริงจัง กระแสความไม่พอใจและการต่อต้านของชาวมุสลิมในพื้นที่ก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น

ที่จังหวัดสตูล ทางจังหวัดมีจดหมายราชการถึงอำเภอต่างๆ ขอให้แนะนำ ชักชวน และขอความร่วมมือจากบรรดาพ่อค้าให้งดสั่งซื้อผ้าโสร่งมาจำหน่ายแก่ราษฎร

ที่จังหวัดยะลา มีกรณีการจับกุมเด็กชายกิมซง แซ่ลิ้ม ซึ่งวิ่งเปลือยกายตามรถแจกใบปลิวภาพยนตร์ไปว่ากล่าวตักเตือน ลงโทษควบคุมตัวเอาไว้ถึง 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้แนะนำตักเตือนผู้ปกครองหรือพ่อแม่ของเด็กอีกหลายรายที่ปล่อยให้บุตรหลานเปลือยกายตามริมถนน ตลอดจนที่อุ้มอยู่และที่ใส่รถเข็น ส่วนคนขอทานก็ได้แนะนำให้เลิกอาชีพขอทานเสีย และบรรดาแม่ค้าก็ถูกห้ามทูนของบนศรีษะแต่ให้ใช้คานหาบแทน[5]

ที่จังหวัดนราธิวาส ชาวมุสลิมจะยอมทำตามในสิ่งที่ปฏิบัติได้ แต่บางอย่างก็ไม่อาจจะปฏิบัติตามได้คือ การห้ามสวมหมวกแบบอิสลามและห้ามสตรีใช้ผ้าคลุมศรีษะ แต่สำหรับจังหวัดปัตตานีแล้ว ปรากฏว่าค่อนข้างโดนต่อต้านมากกว่าที่อื่นๆ จนทำให้ข้าหลวงประจำจังหวัดขณะนั้นมีคำสั่งให้แต่ละเภอกวดขันให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่นถ้าใครไม่ปฏิบัติ หรือถ้ายังนุ่งโสร่งหรือแต่กายตามแบบประเพณีเดิมแล้วจะไม่ให้ความสะดวกในการติดต่อราชการ เป็นต้น

หรือบางกรณีที่เกิดขึ้นและมีปรากฏในเอกสารทางราชการซึ่งชาวมลายูมุสลิมเห็นว่าเป็นการกดขี่ทารุณ ดังเช่น

เครื่องแต่งตวให้สวมหมวก สวมกระโปรง ให้ถอดโสร่ง พวกราษฎรไม่พอใจ แต่เมื่อถูกบังคับก็จำเป็นต้องทำ...มีการจับ ทำร้าย ทุบตีดึงมาโรงพัก ผู้หญิงที่โพกผ้าก็ดึกกระชากทิ้งให้เห็น...

ความไม่พอใจของชาวมลายูมุสลิมยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทนที่การใช้กฏหมายอิสลามซึ่งเคยใช้กันในศาลจังหวัดของสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่งผลให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เดินทางไปขึ้นศาลศาสนาในรัฐมลายูซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ยกเว้นปัตตานีที่ไม่มีพรมแดนติดกับมลายู จึงใช้วิธีเลือกกอฎีขึ้นมาทำหน้าที่ติดสินขอพิพาท ซึ่งปรากฏว่า หะยีสุ
หลงได้รับเลือกมาทำหน้าที่นี้ ด้วยความสามารถและการสร้างศรัทธาในหมู่ชาวมุสลิมที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

นโยบายการสร้างชาติที่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิมแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรณพาด้วย เมี่อชาวมุสลิมได้รับกระทบการการที่รัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำ ราคาข้าวสูงขึ้นมาก ถึงกับเกิดภาวะขาดแคลนข้าว ราคายางตกต่ำลง เพราะไม่สามารถส่งออกยางพาราได้ ผู้คนก็ไม่มีรายได้ที่จะจุนเจือครอบครัว บางหมู่บ้านขาดแคลนอย่างหนักถึงขนาดต้องกินเผือกและมันแทนข้าว และจากการที่ญี่ปุ่นต้องเดินทัพผ่านพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งช่วงสมัยสิ้นสุดสงครามด้วยแล้ว เกิดขาดแคลนข้างสำหรับบริโภคเป็นอย่างหนัก ชาวมุสลิมต้องไปขอให้หะยีสุหลงหาทางช่วยเหลือ

ความไม่พอใจของชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบมาจากทั้งสองด้านคือนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลและวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในช่วงคราม เหล่านี้ล้วนตอกย้ำความไม่พอใจต่อการปกครองเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และยิ่งปะทุมากขึ้นจนถึงจุดแตกหักหลังจากสิ้นสุดสงครามเพียงไม่กี่ปี

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ถูกจับและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

หลังจากโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างปัญหาให้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก ชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นดีกับการแบ่งแยกดินแดน ถูกผลักให้เป็นแนวร่วมของขบวนการคิดแบ่งแยกดินแดนไปโดยปริยาย กระนั้นก็ตาม หลังจาก จอมพล ป. หมดอำนาจและรัฐบาลที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน แผนการดับไฟใต้โดยรัฐบาลพลเรือนได้เกิดขึ้น อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการแต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์ เป็นจุฬาราชมนตรี พร้อมมอบหมายให้ ไปเจรจาแก้ปัญหาภาคใต้ โดยการรับฟังความคิดเห็น ความต้องการของผู้นำ ศาสนาอิสลาม

ขณะนั้น หะยีสุหลง เป็นนักการศาสนามีความรู้สูงที่สุดและเป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมเป็นอย่างมากกว่าผู้นำศาสนาคนอื่นในภาคใต้ หะยีสุหลงจึงกลายเป็นคนที่มีบทบาทในการร่างบันทึกข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมากที่สุด แต่แผน
การดับไฟใต้ของนายปรีดี ไม่อาจดำเนินการได้สำเร็จ เพราะ จอมพล ป. ได้ปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้ง ท่านปรีดีและนายแช่ม จุฬาราชมนตรี ต้องอพยพหลีกลี้หนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดน

เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่หนทางในการแก้ปัญหากลับไม่ราบรื่นดังที่คาดหวังไว้ ในที่สุดหะยีสุหลงก็พลอยได้รับมรสุมภัยการเมืองด้วย เพราะรัฐบาลมองข้อเรียกร้องที่เสนอไปนั้น เป็นแผนการแบ่งแยกดินแดนที่ทำขึ้นมาตามแผนของ
ลูกชายอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่สูญเสียอำนาจ ทั้งที่ข้อเรียกร้องนั้นเกิดจากความต้องการของทางรัฐบาลก่อนหน้านั้นที่ต้องการจะแก้ปัญหาภาคใต้ โดยข้อเรียกร้องที่เสนอไปมี 7 ข้อ มีดังนี้

1) ขอปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งประเทศไทย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด

2) การศึกษาในชั้นประถม (ขณะนั้นชั้นประถมมีเรียนแค่ชั้น ป.4) ให้มี การศึกษาภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย

3) ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น

4) ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายู ร้อยละ 85 (คิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 85% พุทธ 15%)

5) ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย เป็นภาษาราชการ

6) ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด

7) ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎี หรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควรและมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี

จากข้อเรียกดังกล่าวจึงทำให้หะยีสุหลงถูกมองเป็นกบฏ เป็นผู้นำแบ่งแยกดินแดน ถูกจับดำเนินคดี 2 ข้อหาสำคัญ คือเป็นกบฏและหมิ่นประมาทรัฐบาลที่กล่าวหากดขี่ประชาชน ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้หะยีสุหลงพ้นมลทินข้อหา
กบฏ แต่มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาล จนต้องถูกจำคุกที่เรือนจำนครศรีธรรมราชเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน และหลังพ้นโทษในปีพ.ศ.2495 หะยีสุหลงเดินทางกลับบ้านที่ปัตตานี และกลับไปเป็นครูสอนศาสนาอยู่เช่นเดิม

วันที่ 13 สิงหาคมพ.ศ. 2497 ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้หะยีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะหะยีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ บุคคลทั้งหมดได้ “สูญหาย” ไปและไม่กลับไปยังปัตตานีอีกเลย บ้างก็ว่าเขาถูกจับฆ่าถ่วงน้ำอยู่ในทะเลสาบสงขลา หลงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่สร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้กับคนรุ่นหลัง และคำถามมากมายที่ยังรอคำตอบ




Create Date : 17 มกราคม 2554
Last Update : 17 มกราคม 2554 19:31:46 น. 0 comments
Counter : 4034 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.