<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
5 กันยายน 2552

ปรับ EQ แล้วดีจริงเหรอ (หรือต้องปรับ IQ ด้วย)

สวัสดีครับ มาพบกับบทความต๊องๆ ตามสไตล์นาย sumat_kee กันอีกแล้วครับ วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง EQ กัน เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมวัย เอ้ยไม่ใช่ EQ = Equalizer ต่างหาก

Equalizer มาจาก Equa แปลว่าเท่าเทียม ลงท้ายด้วย er แปลว่าผู้ที่ทำให้เท่าเทียม (หรือผู้ที่ทำให้เกิดความเสมอภาคนั่นเอง) สำหรับอุปกรณ์ในเครื่องเสียงก็คือตัวปรับแต่งเสียงในย่านความถี่ต่างๆ นั่นเอง ก่อนที่เราจะมาบอกว่าดีหรือไม่ดี เรามารู้จักประวัติคร่าวๆ ของ EQ กันก่อนดีกว่าครับ

กำเนิด EQ

แรกเริ่มเดิมทีเครื่องเสียงในสมัยก่อนนั้นไม่มีอะไรมากมาย มีแค่ปุ่มเปิดปิด และปรับดังเบา (Volume) เท่านั้น แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่บางเพลงเสียงดนตรีจะดังมากแต่เสียงนักร้องเบา หรือเสียงนักร้องดังแต่เสียงดนตรีเบา หรือเสียงกลองดังแต่เสียงที่เหลือเบา จึงได้เริ่มมีการคิดทำอุปกรณ์ปรับเสียงในย่านต่างๆ ให้ดังเท่าๆ กัน (Balance)

ในตอนแรกนั้นได้ทำใส่มากับ Amp เลย เราเรียกกันว่า Pre-amp (แอมป์ที่มีตัวปรับอยู่ในตัว) โดยส่วนใหญ่จะมีเพียง 3 ย่านความถี่คือ Treple Mid Bass (สูง กลาง ต่ำ) ถือว่าเป็น EQ แบบพื้นๆ ต่อจากนั้นมาจึงได้มีการทำ EQ แยกออกมาต่างหากจากภาค Amp โดยได้แบ่งความถี่เป็นย่านต่างๆ ที่จะปรับแต่ง มีตั้งแต่ 5 ย่านความถี่ 10 , 15 จนถึงหลักร้อยก็มี (ดังที่เห็นใช้ในห้องอัด)

อย่างที่บอกเขาใช้ปรับปรุงเสียงในย่านที่เสียงเบาให้เสียงดัง และปรับเสียงที่ดังเกินไปในบางย่านให้เบาลง เพื่อจะไม่ให้ย่านความถี่ไหนเด่นเกินไปเขาจึงตั้งชื่อว่า Equlizer = เครื่องที่ปรับเสียงย่านต่างๆ ให้เท่าเทียมกัน

(*เพิ่มเติม ฝรั่งนี่เขาชอบตั้งชื่อง่ายๆ เนอะอย่างหูฟังครอบหูเขาเรียก
Headphone = head หัว + phone เสียง = เสียงที่อยู่บนหัว
In ear = In ใน + ear หู = อยู่ในหู หูฟังที่ต้องยัดอยู่ในหู
Ear bud = Ear หู + bud ประมาณตุ่ม หรือตาต้นไม้ = หูที่มีตุ่มยื่นออกมา 555
Gadget = ของกระจุกกระจิก แต่ผมเก็บไม่ค่อยจะเป็นะระเบียบ จนคนที่บ้านจะ
เรียกว่า Garbage (ขยะ) ครับ 555)

หลายๆ คนบอกว่าไม่สนใจ EQ หรอก ผมไม่ได้ใช้ แต่ในความจริงแล้วกว่าบทเพลงจะถึงเรานั้นได้ผ่าน EQ มาหลายขั้นตอนมาก เริ่มจากนักดนตรีก่อนเลย ถ้าเป็นกีตาร์ เขาก็จะมี pre กีตาร์ของเขา เบสก็ปรับได้ อุปกรณ์หลายๆ อย่างก็ปรับได้ เมื่อต่ออุปกรณ์ทุกตัวเข้ากับเครื่องบันทึกเพื่อบันทึกเสียงในห้องอัด ก่อนหน้านั้นก็จะมี EQ แผงใหญ่ควบคุมอีกทีหนึ่งเพื่อปรับเสียงทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี เสียงในย่านต่างๆ ให้กลมกลืนกัน เท่ากัน

โดยผู้ที่ปรับจะเป็นผู้มีฝีมือทางด้านนี้ เป็น Sound Engineering ที่เชี่ยวชาญ อยู่ในวงการมานาน หูต้องค่อนข้างเที่ยงตรง ถ้าเป็นการบันทึกแบบอัดสดพร้อมกัน (คือนักร้อง นักดนตรีเล่นพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว) การเซต EQ นั้นจะกินเวลาพอสมควรทีเดียวกว่าจะลงตัว แต่ถ้าเป็นการอัดแยก คืออัดทีละเครื่องดนตรีแล้วค่อยนำมารวมกัน การเซต EQ ก็จะใช้ในช่วง Edit หรือช่วงที่นำมาตัดต่อนี่แหละ

เมื่อได้บทเพลงต้นฉบับ (Master) มาแล้วก็จะถึงขั้นตอนในการตัดแผ่น ถ้าเป็นสมัยก่อนที่เป็น Master Tape การจะถ่ายทอดมาเป็น CD ต้องผ่านตัวแปลงจาก Analog เป็น Digital เราเรียกว่า A/D Converter ขั้นตอนนี้ก็ต้องมีการปรับ EQ อีก

แต่ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันที่บันทึก Master ลง Harddisk อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องผ่านตัวแปลงนี้แต่ส่วนใหญ่ Master Harddisk จะบันทึกเสียงที่คุณภาพ 24 bit 192 KHz แต่ระบบของแผ่น CD Audio จะอยู่ที่ 16 bit 44.1 KHz ฉะนั้นจึงต้องมีการแปลงเพื่อให้ได้ขนาดเท่ากับ bit rate ของ CD ตรงนี้ก็จะมี EQ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก

ฉะนั้น EQ นั้นเกี่ยวข้องกับวงการเพลงเกือบจะทุกขั้นตอน (ถ้าไม่มี EQ สำหรับ Sound Engineering ก็คงเปรียบเหมือนใช้คอมไม่มี เมาส์ล่ะมั้ง 555) เราจึงปฎิเสธการมีอยู่ของ EQ ไม่ได้เลย (อุ๊ยปานนั้นเชียว)

พอมาถึงเรานักฟังเพลงแม้ว่าจะมีคนที่เชี่ยวชาญตั้งเยอะแยะได้ปรับ EQ ให้เราแล้วแต่ก็หาได้ถูกใจเราไม่ (ใครมันจะเก่งกว่าผม 555) เราก็เลยต้องปรับ EQ กะเขาด้วยแต่การปรับของเรานี่เป้าหมายไม่เหมือนกับเขา เขาปรับให้เสียงทุกย่านเท่าๆ กัน แต่เรานี่ปรับให้เสียงย่านใดย่านหนึ่งโดดเด่นเป็นพิเศษ (ปรับเพิ่มเบสไปเลย ปรับให้แหลมปี๊ดไปเลย สะใจดี 555) พวกบริษัทต่างๆ เมื่อเห็นพวกเราชอบปรับ เขาก็เลยใส่ EQ เข้ามาให้ยกใหญ่ มีทั้งแบบสำเร็จรูป (เปลี่ยนแปลงไม่ได้) กับแบบตามใจฉัน

มาถึงตรงนี้หลายคนอยากจะถามว่าตกลงดีหรือไม่ดี ผมตอบได้เลยว่า EQ นั้นดีแน่นอน ถ้าไม่ดีแล้วเขาจะยังใช้กันอยู่หรือ แล้วก็ใช้เกือบจะทุกขั้นตอนเสียด้วย แต่ต้องอย่าลืมว่าการปรับทุกครั้งนั้นจะทำให้เสียงเดิมเปลี่ยนไป ผู้ปรับเขาจึงใช้ IQ กันมากว่าจะทำอย่างไรให้เสียงไม่เพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิมมากที่สุด ไม่ใช่ตะบี้ตะบันปรับซะจนเพลงเสียไปหมด

(เหมือนกับการปรุงก๋วยเตี๋ยว คนทำเขาก็ปรุงมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว แค่เราใส่อะไรเพิ่มนิดหน่อยไม่มีปัญหา แต่ถ้าเทน้ำตาล 2-3 ช้อน พริก 2-3 ช้อน น้ำส้ม น้ำปลา เยอะก๋วยเตี๋ยวชามนั้นก็จะเสียรสไป ก็จะมีแต่รสที่ปรุงนำ และวันหลังจะกินก๋วยเตี๋ยวแบบปรุงน้อยๆ หรือไม่ปรุงไม่ได้อีก) เมื่อฟัง EQ มากๆ พอไปดูคอนเสิร์ตจริงก็มาบ่นว่าทำไมมันไม่สะใจเหมือนกับตอนฟังกับเครื่องของเรา 555

สุดท้ายนี้ใครจะปรับ EQ กันเท่าไรก็ไม่ว่ากันครับ เพราะเป็นความชอบส่วนตัวของแต่ละท่าน ผมมิบังอาจไปบอกว่าแบบใดดี แต่อยากให้เข้าใจกันมากกว่าว่าเขาสร้าง EQ ขึ้นมาเพื่ออะไร เอาไว้ทำอะไร แต่โดยส่วนตัวแล้วผมจะไม่ปรับ EQ ครับ (เพราะขี้เกียจ 555) เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้วเขาก็ปรับมาให้เราอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว ผมอยากฟังแบบใกล้เคียงต้นฉบับให้มากที่สุดแค่นั้นเอง

พบกับบทความต๊องๆ ได้ใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ


Create Date : 05 กันยายน 2552
Last Update : 5 กันยายน 2552 13:25:27 น. 0 comments
Counter : 886 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sumat_kee
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกของผม
[Add sumat_kee's blog to your web]