ตี๋หล่อมีเสน่ห์
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ก็แค่คนๆหนึ่งที่ชอบดูหนัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้อัพเดตข้อมูลอะไรเพิ่มแล้วนะครับ


Group Blog
 
 
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ตี๋หล่อมีเสน่ห์'s blog to your web]
Links
 

 

ประสบการณ์ดีๆกับภาพยนตร์ทั้ง 37 เรื่องจากเทศกาล Bangkok International Film Festival 2006 (ตอนที่ 2)

เกริ่นนำตอนที่สอง "หนังที่ไม่ได้ดูในเทศกาลแต่อยากดู"

มีหนังหลายเรื่องที่อยากดูมากๆแต่ไม่ได้ดูครับ (เนื่องจากเวลางานที่บริษัทตอนกลางวัน มันชนกับตารางฉายของหนังเหล่านี้ไปเยอะ ก็เลยตัดออกไปบ้าง) หนังที่ผมพลาดไปแต่อยากดูเหล่านั้น (ถ้าใครได้ดู...ก็อิจฉาแทนด้วยนะครับ) ได้แก่...

- The Village Album ถ้าจะเป็นหนังเรื่องไหนอีกเรื่องที่เป็นเรื่องที่ 38 ของผม มันก็คือเรื่องนี้แหละครับเพราะรอบฉายเกือบจะได้ดูอยู่แล้ว (แต่เกิดเหตุการณ์เฉพาะกิจเล็กน้อยที่ยังติดพันอยู่ที่บริษัท...เลยอด) ตอนอ่านเรื่องย่อหนังจากญี่ปุ่นเรื่องนี้แล้ว...อยากดูมาก เนื้อหาดู nostalgia ดี (ประมาณอารมณ์โหยหาถึงเรื่องราวในอดีต ความทรงจำที่ดีๆกับรูปถ่ายบันทึกความทรงจำ) เรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านที่ในอนาคตจะจมอยู่ใต้น้ำ พ่อและลูกช่างภาพประจำหมู่บ้านจึงได้ถ่ายเก็บบรรยากาศเก่าๆของคนในหมู่บ้านไว้ แล้วความทรงจำดีๆในอดีต...ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

- Joyeux Noël (Merry Christmas) เรื่องนี้ ผมมีความรู้สึกว่า หน้าหนังน่าดูมาก (แต่รอบฉายเรื่องนี้กับผมมันไม่อำนวยกันเลย)

- Tsotsi เห็นกระแสในตอนนั้นบอกว่า หนังจากแอฟริกาใต้เรื่องนี้ดีกัน...ก็เลยอยากดู (ได้ข่าวว่า อารมณ์ประมาณ City of God เชียว) อ้อ..เพิ่งคว้าออสการ์ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมปีนี้ไปด้วย

- Omiros (Hostage) อ่านเรื่องย่อจากหนังประเทศตุรกีเรื่องนี้แล้วท่าทางจะระทึกดี เกี่ยวกับหนุ่มอพยพชาวอัลบาเนียคนหนึ่งที่ปล้นรถบัสเพื่อเรียกค่าไถ่และขอเดินทางกลับประเทศ หนังน่าจะปนข้อคิดในชีวิตระหว่างที่ตัวประกันอยู่บนรถได้ดี

- De Indringer (The Intruder) ที่อยากดูเพราะอยากรู้ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงทำเงินสูงสุดประจำปี 2005 ที่ประเทศเบลเยี่ยมนะ หนังเขย่าขวัญเกี่ยวกับลูกสาววัย 16 ปีที่ถูกลักพาตัวไป ผู้เป็นพ่อก็เลยต้องออกตามหา แถมได้ข่าวว่า หนังมีพล๊อตหักมุมด้วย

- Ryna ผมอยากดูหนังหดหู่สักเรื่อง และเรื่องย่อของหนังจากประเทศโรมาเนียเรื่องนี้...ท่าทางจะเข้าตากรรมการดี เกี่ยวกับเด็กหญิง Ryna ที่มีพ่อจอมเผด็จการ...ท่ามกลางบรรยากาศแร้นแค้นและสภาพสังคม

- Mrs. Henderson Presents หนังจากประเทศอังกฤษ เรื่องนี้เห็นเขาชมว่า ดีกัน และดูจากหน้าหนัง...ก็น่าจะดีอย่างที่เขาว่ากัน

- House of Sand เรื่องนี้ บอกได้คำเดียวว่า ผมอยากเห็นการกำกับภาพทะเลทรายในเรื่องนี้ว่า จะสวยแค่ไหน

และหนังเก่าที่นำกลับมาฉายใหม่อย่าง West Side Story ก็อยากดูเช่นกันแต่ก็พลาดไป หนังเหล่านั้น (ยกเว้น West Side Story) ภาวนาให้มันมาเข้าโรงแบบจำกัดด้วยแล้วกัน

ส่วนหนังเรื่องอื่นๆ...อาจจะมีดีและประทับใจใครอีกเยอะก็ได้ แต่ผมอาจไม่รู้เพราะมันมากมายเป็นร้อยเรื่องเหลือเกิน...ศึกษาข้อมูลไม่ทันจริงๆในช่วงเวลาสั้นๆ (เนื่องจากข้อมูลและตารางหนังมาแบบจวนตัว) อีกอย่าง...เวลาที่ผมสามารถดูได้...คือ 37 เรื่องนี้เท่านั้นจริงๆ (มากไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว) อ้อ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นชื่อหนังตอนแรก...ไม่คิดอยากดู แม้แต่เห็นเนื้อเรื่องย่อแล้ว...ก็ยังมองข้ามไปด้วยซ้ำ แต่พอหนังได้มาฉายโรงใหญ่อีกครั้งที่ลิโด้ ถึงรู้ว่า คนเราก็ "คิดผิด" ได้เหมือนกันแต่ก็นึกดีใจที่ได้ดู นั่นคือ L' Enfer (Hell) หนังประเทศฝรั่งเศสจากบทประพันธ์ของ Dante's Inferno (ตอนที่สองจากทั้งหมดสามตอน Heaven Hell และ Purgatory) โดยผู้กำกับจากบอสเนีย Danis Tanovic (ผลงานสร้างชื่ออย่าง No man's land ไง) ครับ

พูดคุยหนังที่ได้ดูมา

ในตอนที่ 2 นี้ ผมได้ดูมาอีก 18 เรื่องครับ งั้นเรามาดูกันเลยว่า ผมได้ดูเรื่องไหนมาบ้าง หมายเหตุ ข้อความที่ผมเขียนไม่ได้ตีความลึกซึ้งอะไรมาก สรุปความรู้สึกสั้นๆ และมีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังด้วยนะครับ (ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็พูดคุยกันได้นะครับ)

***ความหมายของคะแนน***
8.0/10 คะแนน - รู้สึกดีและประทับใจใน "หลายๆอย่าง" ของหนังเรื่องนั้น คุ้มค่าทั้งเงินและเวลา (ดีใจที่ได้ดู...ในความรู้สึกผมนะ) ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็รู้สึกดีและประทับใจขึ้นไปอีก
7.0/10 คะแนน - ผมรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้ ถ้าคะแนนมากกว่านี้...ก็ชอบขึ้นไปอีก
6.0/10 คะแนน - หนังมี "อะไรบางอย่าง" ที่ทำให้พอใจขึ้นมาระดับนึง ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็พอใจขึ้นไป
5.0/10 คะแนน - เฉยๆนะ แต่ก็ยังโอเคอยู่บ้าง ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็รู้สึกดีขึ้นไป
4.0/10 คะแนน - หนังมี "อะไรบางอย่าง" ที่เริ่มรู้สึกเสียอรรถรสในการชมไปบางส่วน ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็รู้สึกเสียอรรถรสน้อยลงไป
3.0/10 คะแนน - ผมรู้สึกผิดหวังขึ้นมา ถ้าคะแนนมากกว่านี้...ก็ผิดหวังน้อยลงไปนิดหน่อย
2.5/10 คะแนน - หนังมีอะไร "หลายอย่าง" ที่ควรปรับปรุง ทำให้รู้สึกผิดหวังมากขึ้น เริ่มไม่คุ้มค่าเงินและเวลา และถ้ายิ่งคะแนนต่ำลงไปมากเท่าไหร่...ก็ยิ่งรู้สึกว่า ผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น





In the shadow of the palms

★★★★★★★★★★ 6.0/10

เป็นหนังสารคดีอิรัคที่ขึ้นต้นมาก็ทำได้ดีกับภาพจอเรดาร์ของปืนกลที่ใช้ยิงวิถีไกลพุ่งกระสุนใส่ทหารอิรัคที่หลบซ่อนอยู่ตามที่กำบัง...เป็นการเลือกฉากโหดร้ายได้เห็นภาพมาก แต่พอเข้าประเด็นของตัวหนัง ผมอยากให้ผู้กำกับ Wayne Coles-Janess ชาวออสเตรเลียคนนี้จับไปที่ผลกระทบของสงครามให้แรงกว่านี้หน่อยเพื่อมุมมองที่ต่างออกไปจากสิ่งที่เราเคยรับรู้หรือเห็นผ่านทีวีกัน อาจจะเป็นฉากอะไรก็ได้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหน่อยเพื่อสะกดคนดูให้ได้มากกว่านี้...จากเหตุการณ์หรือคำสัมภาษณ์ในหลากมุมของผู้คนที่ยังอยู่ใน Green Zone เกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้น แต่สารคดีชิ้นนี้มีอยู่หนึ่งฉากที่สร้างความตื่นเต้นเมื่อชาวบ้านมากมายต่างกรูเข้าไปช่วยผู้คนที่เคราะห์ร้ายจากสงครามในซากปรักหักพัง เมื่อมองภาพรวมของหนังแล้ว การนำเสนอเรื่องราวทั่วไปของผู้คนที่ได้รับผลกระทบหลังจากสงคราม เช่น ตกงาน ของแพง เป็นการนำเสนอที่น่าสนใจดี เพียงแต่ตัดต่อส่วนนี้ให้คนดูเห็นมากไปหน่อย ผมว่า (แต่ก็ยอมรับว่า การจะได้ภาพตื่นเต้นให้ผู้ชมได้ดูกัน...มันก็เสี่ยงอันตรายเหมือนกัน) หนังมีภาพที่ติดตาผม...กับฉากในโรงพยาบาล (หลังจากช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายแล้ว) กับเด็กหญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 6 ขวบที่ขาดอากาศหายใจในซากตึกแล้วพอช่วยออกมาได้ เธอนอนอยู่บนเตียงแล้วก็ค่อยๆตายไปต่อหน้า...ตาเธอลอยไปลอยมา ปรือๆ ก่อนสิ้นลมนิ่งไป (ฉากนี้ได้ผลชะงักและผมก็สงสารเธอจริงๆ) สุดท้ายครับ แต่ยังไง ผมก็นับถือความกล้าหาญในการทำสารคดีชิ้นนี้ของเขานะ





Alla luce del sole (Come into the light)

★★★★★★★★★★ 6.0/10

เรื่องราวเกี่ยวกับคนดีอยากช่วยเหลือสังคมให้พ้นจากภัยมืด แต่ก็ต้องเจอกับอิทธิพลที่มองไม่เห็น...เราอาจเห็นมาบ่อยแล้วก็ได้ เลยไม่รู้สึกสะดุดใจกับแนวคิดหนัง ส่วนข้อคิดในตอนจบ...ให้บรรยากาศสังคมอันเลวร้าย "ยังไงมันก็กวาดกันไม่หมด" ตัวหนังเลือกจบแบบสมจริงดีครับ หนังเดินเรื่องในแบบสบายๆไม่เน้นความกดดันหรือฉากรุนแรงเกินไป ดูได้เรื่อยๆกับเหตุการณ์ต่างๆ (ประมาณหนังวัยรุ่นทั่วไปที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเลวร้ายและพลอยได้รับผลกระทบด้านมืดไป) ฉากที่บาทหลวง Pino Puglisi (แสดงโดย Luca Zingaretti) โดนยิงนอนอยู่ที่พื้นโดยไม่มีใครเหลียวแล (แม้พยายามทำความดีให้สังคมและเป็นที่รับรู้ของผู้คนในหมู่บ้านแล้วก็ตาม) เป็นภาพที่ฟ้องอะไรหลายอย่างในสังคมได้ดี หนังมีฉากที่ลูกชายของผู้มีอิทธิพลค้ายาคนหนึ่งตัดสินใจขี่มอร์เตอร์ไซต์พุ่งหลาวตายต่อหน้าพ่อแม่ที่บ้านริมผา...ซึ่งเป็นฉากสะท้อนได้ดีว่า ในสังคมแบบนี้ บางครั้งคนดีก็ไม่สามารถทนได้และต้องการจะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนที่อยู่เบื้องหลังรับรู้การกระทำที่ผิดมหันต์ และฉากในลักษณะนี้...หนังแทบทุกเรื่องจะมีอย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อเป็นอุทาหรณ์ อ้อ ตอนดูก็งงว่า คำว่า come into the light มันจะสื่อถึงอะไร...จนเมื่อหนังพูดประเด็นนี้ขึ้นมาตอนกลางเรื่อง ผมถึงเข้าใจจากประโยคที่บาทหลวง Pino Puglisi พูดขึ้น...ตอนที่พูดออกทางไมค์โครโฟนโดยแกล้งให้เหล่ามาเฟียในหมู่บ้านได้ยิน ฉากจบเรื่องนี้ดูเบาสบายในแบบน่ารักดี...เมื่อหลวงพ่อ Pino Puglisi นั่งอยู่ในโบสถ์...แล้วยิ้มไปให้เด็กน้อยคนหนึ่งที่เดินออกจากโบสถ์เป็นคนสุดท้าย





Yan Mo (Before the Flood)

★★★★★★★★★★ 5.0/10

ฺประเด็นของสารคดีเรื่องนี้ดีมากกับแว๊บแรกที่ผมรู้ว่า จะเข้ามาฉายในเทศกาล (ผมอยากดูเต็มที่จริงๆ) และเป็นเรื่องเดียวที่ตั้งตารอตั้งแต่ต้นเทศกาล คิดในใจว่า "ต้องจองตั๋วดูให้ได้" เรื่องราวเกี่้ยวกับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ทางรัฐบาลจีนต้องการจะให้อพยพออกโดยมีเงินชดเชยเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ ทางการต้องการพังหมู่บ้านรอบร่องน้ำในการสร้างเขื่อน แต่ชาวบ้านหลายคนที่ได้รับผลกระทบต่างไม่ยอม...รวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจด้วย จริงๆหนังหาหัวข้อมานำเสนอได้ดีแล้ว แต่ทำไมเลือกประเด็นที่มาสื่อได้ไม่เข้มข้นนัก และการตัดต่อเนื้อหามาให้ผู้ชมดู...ก็เป็นแบบกระจายและเยิ่นเย้อเกินไปในบางครั้งด้วย (บางฉาก...แช่เรื่องไว้นานมากและซ้ำไปมา) การตัดต่อคือปัญหาที่ผมอยากให้เปลี่ยนแปลงนะ ถ้าสารดีเรื่องนี้ตัดต่อประเด็นหลายๆอย่างให้กระชับและเพิ่มเรื่้องราวความไม่ลงรอย (รวมทั้งผลกระทบทางจิตใจในอีกหลายๆครอบครัวได้มากกว่านี้) มันต้องดีกว่าที่เห็นแน่นอน (ซึ่งจริงๆหนังก็มีบ้างกับฉากที่ชาวบ้านทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานอย่างรุนแรง แต่อยากให้ใส่รายละเอียดความน่าติดตามมากกว่านี้อีกหน่อย ไม่ต้องเน้นสนุกหรอก เพียงแต่เลือกเนื้อหาตัดต่อให้น่าติดตามกว่าที่เป็น) ยังไงก็ตาม หนังมีอยู่ฉากหนึ่งที่ผมชอบครับ ชายแก่คนหนึ่งพยายามพูดหลอกภรรยาของเขาให้ไปจากหมู่บ้านว่า "เขาไม่ค่อยสบาย ตอนนี้กำลังรื้อถอน อากาศไม่ค่อยดีและฝุ่นคลุ้งไปหมด สุขภาพเขาแย่ หัวใจไม่ค่อยดี เราย้ายกันเถอะ" แต่ภรรยาก็ยังไม่ยอมและร้องไห้ออกมา "แต่ฉันรักเธอนะ ไม่ว่าเธอจะไปไหน" ฉากนี้เศร้ากันทั้งโรงหนังเลย Yan Mo (Before the flood) คือ เรื่องที่ผมอยากดูมากที่สุดในเทศกาล แต่ก็เสียดายมากที่สุดเช่นกันเพราะแทนที่จะดูสารคดีที่มีการตัดต่อประเด็นให้น่าติดตามกว่า 3 ชั่วโมง บางครั้งมันก็เลยรู้สึกแว๊บขึ้นมาบางช่วงว่า "อยากให้จบเร็วขึ้น...กว่าที่หนังฉายอยู่"





The Giant Buddhas

★★★★★★★★★ 9.0/10

โดยส่วนตัวผม ถ้าดูสารคดี...ผมไม่ค่อยชอบสารคดีที่ทำให้เหมือนดูหนัง (ที่มีการวางเรื่องราวไว้ก่อน) เพราะมันดูปรุงแต่งวิธีการเดินเรื่องให้เกินจริงไป แต่ผมก็ตัดประเด็นนี้ออกไปได้เมื่อดูสารคดีเรื่องนี้จบเพราะหนังทำอารมณ์ร่วมในบรรยากาศเย็น อบอุ่น และสร้างความน่าติดตามได้ดีเกินคาดไปมากมาย ดนตรีประกอบเข้ากับหนังได้ดีด้วย การดำเนินเรื่องและตัดต่อ...ก็ทำได้ลงตัวเกี่ยวกับพระพุทธรูปยืนสององค์ที่ถูกกลุ่มตาลีบันทำลายลง ฉากที่ยิงทำลายพระพุทธรูปนั้น...ได้อารมณ์ไปเต็มแรงจริงๆเพราะผู้กำกับหาภาพที่เดินกล้องไปใกล้ฉากระเบิดอย่างมาก ในหนังสารคดีนี้...ผมยังชอบทิวทัศน์โดยรอบบริเวณหุบเขาพระพุทธรูปยืนทั้งสององค์ที่ตั้งอยู่ด้วย...หนังกำกับภาพได้สวยงาม แต่มันเป็นความสวยแบบเหงาๆของหุบเขาบามิยานที่มีหิมะปกคลุมตลอด...ทุกอย่างดูธรรมชาติและเหมือนมีแม่เหล็กดึงให้ผู้ชมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมชอบความสงบและนิ่งของหนังสารคดีชิ้นนี้ รวมทั้งบ้านเรือนที่เจาะทะลุเข้าไปในภูเขาด้วยครับ...มันได้บรรยากาศดีๆยังไงบอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่พอสารคดีชิ้นนี้ตัดฉากไปที่ประเทศจีน...เหมือนอารมณ์หนังเปลี่ยนจากเหงาเป็นเบาและครึกครื้นขึ้นมาได้เมื่อชายวัยกลางคนให้สัมภาษณ์ว่า เพราะเหตุใดพระพุทธรูปยืนถึงไม่อยากยืนอยู่ที่อัฟกานิสถานแต่ย้ายมายืนอยู่ที่จีนแทน...ฉากนี้หัวเราะกันทั้งโรงจริงๆ (แต่องค์ใหม่ที่สร้างอยู่ที่จีน...ก็ดูมีความขลังดี) หนังมีจุดที่ทำให้ผมรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ผู้กำกับ Christian Frei ไม่เน้นไปที่การประณามกลุ่มตาลีบันเกี่ยวกับการลายล้างพระพุทธรูปยืนที่เก่าแก่ที่สุด (แม้จะมีบางช่วงที่บอกถึงวิธีการแผนการณ์ทำลายล้างออกมาก็ตาม) แต่กลับเน้นไปที่เรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมา...ดูแล้วรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกกับแนวคิดที่เลือกที่จะสื่อออกมาในด้านนี้ (เหมือนเป็นมุมมองจากคนภายนอกที่ทำหนังแบบไม่อคติเกินไป)





Le Conseguenze dell'amore (The Consequences of Love)

★★★★★★★★★ 9.5/10

ผมชอบหนังเรื่องนี้มากครับ เรียกว่า เป็นความประทับใจแบบคาดไม่ถึงที่สุด (โดยเฉพาะการขมวดปมของหนังในตอนท้ายทั้งหมด) ดนตรีประกอบที่ชวนให้รู้สึกน่าสงสัยและตื่นเต้น...เลยทำให้บรรยากาศหนังดูลึกลับขึ้นมาทันตา (แบบที่ทีแรกคิดว่า ทำไมต้องเป็นดนตรีประกอบเสียงกระชากๆแรงๆแบบนี้ในหนังของชายที่โลกดูมีแต่ความน่าเบื่อและเรียบง่ายคนนี้นะ) โครงเรื่องโดยรวมของหนังแปลกตาดีครับคือ ค่อนข้างมีครบทุกรสชาติ มีลุ้น (เช่น ฉากที่สาวเสริฟกำลังขับรถโดยมีหุ่นอยู่เบื้องหน้า) มีหักมุมที่ทำออกมาได้ทึ่ง มีบรรยากาศมาเฟียในแบบอิตาลี่ และมีความรักในแบบเท่ห์โคตรๆ การนำประเด็นต่างๆเหล่านี้มาอยู่ในหนังด้วยกัน...เป็นสิ่งที่ผมชอบอย่างประทับใจในการเดินเรื่อง อารมณ์หลอนๆหวิวๆตั้งแต่ต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัว Titta ในมาดเงียบขรึมตลอดเรื่อง...ทำให้คนดูรู้สึกถึงความลุ้นขึ้นมาเองได้เหมือนกันว่า จริงๆแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แม้หนังไม่มีความนัวร์ให้เห็นแบบจะๆ แต่ผมก็กลับรู้สึกว่า การเล่าเรื่องนิ่งๆปนลึกลับท่ามกลางความเงียบงันแปลกๆนี้...ก็ชวนให้รู้สึกถึงความนัวร์ขึ้นมาได้เองเช่นกัน การตัดต่อของหนังยังทำได้ดีอีก (ยกเว้นในช่วงต้นที่หนังปูเรื่องแบบเรื่อยๆไปหน่อย...ซึ่งน่าจะมาจากการปูพฤติกรรมของ Titta)

ฉากที่เงินหนึ่งแสนยูโรในห้องนับเงินของธนาคารหายไป...เป็นบทสนทนาที่ยอดเยี่ยมประจำปี ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ Titta พูดกับนายธนาคารหรือตอนที่พนักงานหญิงนับแบ๊งค์คนหนึ่งตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไป ตัวเอกชายวัยกลางคน Toni Servillo ในบท Titta เล่นดีครับกับใบหน้าที่บึ้งเฉยไม่ยิ้มเลย แต่พอเขายิ้มออกมา...หนังเสียบรรยากาศไปหน่อยนะเพราะผมคาดหวังรอยยิ้มที่ดูเท่ห์ๆ (แต่มันไม่ใช่ที่ผมคิดไว้ แหะแหะ อันนี้คิดไปเองคนเดียวหรือเปล่าก็ไม่รู้) หนังมีอยู่ประโยคหนึ่งที่ผมฟังแล้วสะดุดหูดีครับหลังจากดูหนังมาได้ครึ่งทาง "คนขึ้อายมักจะสังเกตอะไรในขณะที่คนอื่นไม่เห็น" และนี่คือคำที่ Titta บอกกับ Sofia ตอนนี้ผมว่า...ผมชอบการทำงานของผู้กำกับ Paolo Sorrentino ไปเต็มร้อยเลย จัดเป็นหนังที่มีกลิ่นอายความรักอยู่ในบรรยากาศหนังมาเฟียที่ซ่อนความลึกลับเอาไว้และถือว่า เป็นการเดินเรื่องแนวใหม่ของโลกภาพยนตร์ปัจจุบันที่แปลกตาตัวผมในแบบไม่ต้องมีเอฟเฟ็คเข้ามาแต่ก็ดูเท่ห์ได้ และทำให้ผมจดจำชื่อผู้กำกับ Paolo Sorrentino ไปได้อีกนานเท่านานครับ ฉากสุดท้ายของหนังคือ ความเท่ห์ระดับสุดยอด...เมื่อรถยกเครนค่อยๆเลื่อนตัว Titta ลงไปยังถังปูนซีเมนต์ที่ยังไม่แห้งดี อ้อ ผมไม่แปลกใจเลยที่หนังเรื่องนี้จะคว้ารางวัลสูงสุดประจำปีของประเทศอิตาลีด้วยรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2004 และเข้าชิงรางวัลปาลม์ทองคำเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกด้วย





Masz na imie Justine (Your name is Justine)

★★★★★★★★★★ 5.5/10

ประเด็นหนังจากประเทศโปแลนด์ที่คนดูน่าจะคุ้นเคย พร้อมการเล่าเรื่องที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่เกินไป เกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกนำไปขายตัว Justine (แสดงโดย Anna Cieslak) และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เธอต้องเจออย่างโหดร้าย ผู้กำกับมองมุมหนังในแบบที่ไม่โหดร้ายเกินไปกับตัวนางเอก ซึ่งจริงๆแล้ว ความเป็นจริงย่อมจะโหดร้ายกว่าที่เห็นและเป็นอยู่แน่นอน เหตุการณ์ช่วงท้ายที่เธอหนีไปกับแมงดา แล้วหาเลี้ยงแมงดา...ก็ดูน่าติดตามดีเหมือนกัน จัดเป็นหนังที่ดูได้เรื่อยๆครับ อ้อ ผมชอบความคิดที่ Justine ทำน้ำท่วมห้องแล้วดึงปลั๊กออกมา และยังยิ้มๆกับฉากที่แมงดาช่วยสอน Justine ถึงการมีเพศสัมพันธ์กับแขกด้วย ส่วนตัว Anna Cieslak ก็แสดงได้ดีระดับนึง





Manderlay

★★★★★★★★★★ 6.5/10

ผมชอบวิธีการที่หนังนำเสนอนะ โดยเลียนแบบการจัดฉากและการใช้แสงเงา (เหมือนการแสดงละครเวที) มานำเสนอเป็นรูปแบบของหนัง เพียงแต่โครงเรื่องที่หนังสื่อรวมทั้งการเดินเรื่อง...ค่อนข้างจะเรียบไปหน่อยเกี่ยวกับหญิงผิวขาวคนหนึ่งที่ต้องการจะปลดปล่อยความเป็นทาสให้กับคนผิวดำแต่ดีที่หนังมีจุดน่าสนใจของเรื่องการนำเสนอลักษณะละครเวทีเข้ามาเสริม...เลยทำให้จับความสนใจของคนดูได้ ไม่เช่นนั้น...ประเด็นคนผิวดำและผิวขาวที่เราเห็นกันมาบ่อยๆและเดินเรื่องในแบบเนิบๆ อาจมาพร้อมกับความเรื่อยๆในการชมก็ได้ อีกอย่างที่รู้สึกได้ก็คือ การแสดงของแต่ละคนในเรื่อง...ยังไม่ได้มาพร้อมกับความประทับใจอย่างเต็มที่ ที่ต้องชมแทนกลับไม่ใช่นักแสดงครับ แต่คือแสงและเงาในเรื่องที่ทีมงานสาดส่องไปเพื่อให้เกิดน้ำหนักของอารมณ์ในฉากนั้นๆ ดนตรีประกอบยังเป็นส่วนเสริมที่ดีอีกเช่นกัน เรื่องนี้นางเอก Bryce Dallas Howard ในบท Grace หญิงผิวขาวที่ต้องการจะปลดปล่อยความเป็นอิสระภาพให้กับทาสผิวดำนั้นลงทุนเปลื้องผ้ากับฉากเร่าร้อนด้วยนะเนี่ย





Go west

★★★★★★★★★★ 6.5/10

หนังเรื่องนี้ปูความสัมพันธ์รักของชายสองคนที่เป็นคู่รักกันและความผูกพันธ์ระหว่างพ่อลูกเบาไปหน่อยในช่วงแรก...เลยทำให้ฉากที่ทหารชาวเซิรบ์สองคนเดินมาแจ้งข่าวลูกชาย Milan (แสดงโดย Tarik Filipovic) กับพ่อเขา Ljubo (แสดงโดย Rade Serbedzija) โดยมีคนรักชาวมุสลิม Kenan (แสดงโดย Mario Drmac) ซึ่งกำลังตากผ้ายืนฟังอยู่...ยังไม่ได้อารมณ์เศร้าที่รู้สึกตามเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้น...หนังเกิดความกระชับให้ติดตามขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หน้าหลุมศพที่ Kenan กับหญิงในหมู่บ้าน (ที่ทั้งสองมีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน) ทะเลาะกันอย่างรุนแรง...โดยมีลูกชายแอบฟังอยู่ห่างๆ หรือ ฉากความลับที่หญิงคนนั้นนำมาเปิดเผยให้กับพ่อแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ฉากการตัดสินใจของพ่อในตอนจบ รวมทั้งแผนการณ์หนีที่มีคนมาช่วยเหลือให้ Kenan หนีจากทหารชาวเซิรบ์ ส่วนบทหนังแล้ว...เมื่อมองโดยรวม...หนังไม่ได้เน้นไปที่ความลำบากลำบนหรือความรุนแรงกับตัว Kenan และ Milan ในสภาพที่รันทดหรือต้องดิ้นรนค่อนข้างมากเหมือนใน The Pianist ในเรื่อง Go West นี้...บรรยากาศสงครามเป็นเพียงฉากหลัง...ทำให้ผมไม่รู้สึกถึงความทุกข์ยากในชะตากรรมอย่างเต็มที่ อ้อ...ฉากที่หญิงในหมู่บ้านรู้ความจริงว่า Kenan จริงๆคือผู้ชายและสำเร็จความใคร่ให้ Kenan...Mario Drmac ทำหน้าได้อารมณ์เต็มที่ ประโยคสุดท้ายก่อนหนังจบที่ Kenan พูดว่า "คุณต้องบอกให้ผมเล่นดังกว่านี้" เป็นการเลือกประโยคจบที่ดีครับ





Las Mantenidas sin Sueños (Kept and Dreamless)

★★★★★★★★★★ 7.5/10

หนังอาร์เจนติน่าเรื่องนี้ เดินเรื่องความลำบากของสองแม่ลูกท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้น่ารักตลอดเรื่องโดยไม่เลือกเน้นไปที่ความโหดร้ายเกินไป แต่มุ่งไปที่ความสัมพันธ์ของสองแม่ลูก Florencia และ Eugenia จากผลกระทบเล็กๆน้อยๆทางเศรษฐกิจมากกว่า บทหนังจริงๆไม่มีอะไรใหม่แต่บทสนทนาและการเดินเรื่อง...ทำให้เรายิ้มได้ในหลายๆฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากทะเลาะกันระหว่างแม่ลูกในห้องรับแขกที่ทุกคนอยู่พร้อมหน้า ฉากในห้องน้ำที่แม่บอกว่า ลูกคนใหม่ของเธอมีพ่อเป็นคนจีนแน่นอน หรือฉากที่ Eugenia มีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่ตอนเก้าขวบในห้องน้ำ ผมดูแบบไม่ซีเรียสกับบทมากมายแต่ได้ใจเรื่องความน่ารักที่ผู้กำกับสองคน Vera Fogwill และ Martín DeSalvo นำเสนอ อ้อ...เด็กผู้หญิงในเรื่อง Lucia Snieg อายุ 9 ขวบจริงๆตามบท Eugenia และต้องใช้เวลาคัดเลือกเด็กอีกกว่า 6 เดือน...หลังจากนั้น...ต้องซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกอีก 6 เดือน เด็กผู้หญิงคนนี้ไม่เคยแสดงหนังที่ไหนมาก่อนเลย...นอกนั้นเป็นนักแสดงจริงๆ...แต่ Lucia Snieg กลับแสดงได้แก่นดีจนคนในโรงหนังวันนั้นต่างพูดชื่นชมกับตัวผู้กำกับ





Ultranova

★★★★★★★★★★ 7.5/10

ความจงใจของผู้กำกับ Bouli Lanners ที่ไม่เน้นบทพูดแต่พุ่งไปที่ความนิ่งสงบและฉากไร้จุดน่าสนใจตลอดเรื่อง...ทำให้คนดูรู้สึกได้ทันทีจริงๆ บทหนังไม่มีอะไรเลย แต่บรรยากาศของหนังกลับทำให้คนดูเกิดความอยากดูในความไร้สีสันนั้น หนังมีความน่าขันเล็กๆกับบทสนทนาของเพื่อนร่วมงานกับ Dimitri (พระเอก...แสดงโดย Vincent Lecuyer) ในบาร์ถึงเรื่องหน้าอกผู้หญิงเวลามีท้อง หนังยังมีความอึ้งหน่อยๆกับลายมือของหญิงคนหนึ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนโชคชะตาตัวเอง ในหนังเรื่องนี้...ฉากสองข้างทางในเมืองอุตสาหกรรมหนักของเบลเยี่ยมที่เลือกใช้ถ่ายทำ...เข้าใจหาจนกลายเป็นความโหลงเหลงโหวงเหวงและได้บรรยากาศเหงาเงียบตามที่ผู้กำกับต้องการสื่อออกมาครบร้อย...ในด้านอารมณ์ อ้อ...ฉากขับรถวนไปมาเป็นวงกลมด้วยความเร็ว...เป็นสีสันของหนังที่โดดขึ้นมาแต่ดีครับ คะแนนที่ให้ไป...ได้ใจผมกับความว่างเปล่าที่หนังต้องการนำเสนอได้ตรงประเด็นจริงๆและดูดีด้วย





C.R.A.Z.Y.

★★★★★★★★★ 9.0/10

งงกับรัฐควิเบคในประเทศแคนาดามากครับที่สร้างหนังได้ประทับใจขนาดนี้เพราะมันเป็นมุมมองหนังรักร่วมเพศที่ทำออกมาได้ฉีกและแตกต่างออกไปในทางที่ดี...โดยไม่มีฉากน่าเกลียดอะไรหรือบทสนทนาแย่ๆเหมือนหนังวัยรุ่นเรื่องอื่นๆเข้ามาเกี่ยวเลย ตัวเอกของเรื่อง Zac (แสดงโดย Marc-André Grondin ลูกชายคนที่สี่ของบ้าน) แสดงได้ดีและเป็นตัวเดินเรื่องของหนังที่สนุกด้วย ฉากในห้องกินข้าวตอนที่ Raymond พี่ชายกับ Zac ทะเลาะกันแทบบ้านแตกพร้อมรอยยิ้มอย่างสะใจของ Zac รวมทั้งภาพสโลโมชั่นนั้น...สร้างบรรยากาศออกมาได้ยิ้มๆดีครับ ฉากในบาร์ที่มีบรรยากาศเต้นรำก็เป็นความสนุกได้อีก ส่วนฉากจบของหนังบนรถที่ Zac เอามือโบกออกไปนอกหน้าต่าง (เหมือนตอนเด็กช่วงเริ่มต้นของหนัง) ในขณะที่พ่อขับรถอยู่...เป็นการเลือกอารมณ์จบที่ดูสบายๆ (บวกความน่าประทับใจด้วย) ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อที่เกลียดพวกรักร่วมเพศ Gervais Beaulieu (รับบทโดย Michel Côté) กับพี่ชาย Raymond (แสดงโดย Pierre-Luc Brillant) ที่คอยกวนประสาท Zac ดูเหมือนไม่มีอะไรมากนอกจากทะเลาะกันตามประสาคนในครอบครัวแต่ผู้กำกับ Jean-Marc Vallée กลับมีมุมมอง "ก้ำกึ่งระหว่างสองทางเดิน" ที่สร้างออกมาได้ประทับใจ...ทั้งที่ตัวนักแสดงทุกคนในเรื่องไม่ได้อยู่ในระดับสุดยอดก็ตาม เพลงที่เลือกมาในหนังก็เข้ากับยุคสมัยดีกับนักร้องอย่าง Pink Floyd David Bowie หรือ Jefferson Airplane แม้บทของ Zac จะอิงกับบรรยากาศหนังรักร่วมเพศแบบไม่ชัดเจนก็ตาม แต่ผู้กำกับ Jean-Marc Vallée แทบไม่ได้สื่ออะไรตรงนั้นออกมาเลย เหมือนเป็นเกมแมวจับหนูให้คนดูลุ้นไปเองนิดๆหน่อยๆโดยเน้นไปที่ปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องและพ่อแม่ในครอบครัวหลายๆมุมมองมาชดเชยแทนประเด็นหลัก





L' Annulaire (The Ringfinger)

★★★★★★★★★★ 8.0/10

บรรยากาศหนังรัญจวนดีครับ...มีความหลอนเข้ามาเสริมด้วย บทหนังยังแปลกดีอีกด้วยเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่ง Iris (แสดงโดย Olga Kurylenko) ได้งานในบริษัทเก็บสิ่งของที่ผู้คนนำมาฝากไว้เพื่อไม่ต้องการให้มันสูญสลายไปตามกาลเวลา และพระเอกที่เป็นหมอในเรื่อง...ก็คอยดูแลมันไว้ (แสดงโดย Marc Barbé) บริษัทที่ใช้เป็นบ้านและบริษัทของพระเอกเอง (ซึ่งอยู่ริมป่าใกล้ลำน้ำ) ตรงนี้เองที่ทำให้สถานที่และบรรยากาศในเรื่องชวนลึกลับกับตัวหนังได้เลย ผมชอบบทหนังที่เลือกให้ Iris ต้องมาพักอาศัยอยู่กับกะลาสีเรืออีกคน (แสดงโดย Stipe Erceg) ในห้องอพารท์เม้นท์เดียวกันเนื่องจากห้องพักเต็มหมด โดยตอนกลางวัน Iris ไปทำงาน แต่ชายกะลาสีแปลกหน้าคนนั้นมานอน พอตกกลางคืน Iris มานอน ขณะชายแปลกหน้าคนนั้นไปทำงาน การเดินเรื่องช่วงนี้มีเสน่ห์แปลกๆและน่าติดตามกับบทสรุปจริงๆ ทั้งช่วยเอื้อกับบรรยากาศซ่อนเงื่อนงำเข้าไปใหญ่ ฉากที่พระเอกมีเพศสัมพันธ์กับ Iris ที่ห้องโถงใต้ดิน...เป็นความรุนแรงในอารมณ์รักอย่างมาก เนื่องด้วยความรุนแรงของฝ่ายชายที่จู่โจมกระแทกฝ่ายหญิงอย่างหนักหน่วงขณะร่วมเพศกัน ตัวหนังสร้างอารมณ์ตัณหาในฉากนี้อย่างพลุ่งพล่านกับคนดูได้ดีจริงๆ ผมยังรู้สึกต่อกับบรรยากาศหลอนๆของหนังกับฉากห้องนอน Iris เองอีกครั้งด้วยเมื่อประตูริมระเบียงเปิดอยู่ แล้วลมพัดเข้ามาอย่างแรง...บานหน้าต่างก็พัดไปมา ม่านหน้าต่างก็สะบัดตามแรงลม...มันดูหวิวๆกับบรรยากาศในห้องนอนสลัวๆดีครับ แม้แต่ฉากที่คุณหมอใส่รองเท้าให้นางเอก...ยังให้อารมณ์พิศวาสด้วย สุดท้ายครับ ฉากจบของหนังที่นางเอกเดินเข้าไปในห้องเก็บของที่มีไฟสว่างจ้า ผมได้คุยกับผู้กำกับว่า นางเอกคงไม่มีโอกาสออกมาจากห้องอีกแน่นอน คือเหมือนเธอโดนปิดปากเพราะอาจไปล่วงรู้ความลับอะไรบางอย่างข้างในห้องนั้นหรือเปล่าเพราะตอนจบ...ตัวหนังเป็นไปได้ในทุกทาง แล้วผู้กำกับก็ตอบผมว่า "คำถามนี้น่าคิดและเป็นไปได้หมดทั้งนั้น"





Don't come knocking

★★★★★★★★★★ 8.5/10

จัดเป็นหนังเท่ห์ๆที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแบบพิลึกดี ประมาณว่า "เรื่อยๆมาเรียงๆ" แต่ทำได้โดนใจผมมาก และพอดูจบ...ยังกลับรู้สึกสบายใจขึ้นมาด้วย ตัวเอกของเรื่อง Howard นักแสดงหนังวัยกลางคน (แสดงโดย Sam Shepard) ที่อยู่มาวันหนึ่งเกิดรับรู้ว่า เขาเหมือนจะมีลูกอยู่ที่ไหนสักแห่ง...จึงออกเดินทางหาโดยที่ทิ้งกองถ่ายหนังไปดื้อๆ เมื่อเขาผ่านไปเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งที่เขาเคยแวะมาถ่ายหนังเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วเจอภรรยาเก่า Doreen เข้า (แสดงโดย Jessica Lange) ทุกอย่างจึงมีเหตุให้ชีวิตของ Howard ดูมีค่ามากขึ้น บทลูกสาว Sky (แสดงโดย Sarah Polley ซึ่งผมไม่เคยเห็นเธอเล่นหนังแนวอินดี้มาก่อนเลย อยากเห็นมานานแล้ว และนี่เป็นครั้งแรกนอกเหนือหนังเอาใจตลาดอย่าง Dawn of the Dead) เธอเป็นบทที่แปลกแต่น่าสนใจดีกับหญิงที่คอยอุ้มแต่โถใบหนึ่งติดตามตัว Howard อยู่ตลอดเวลา ผมว่า เธอได้บทที่พิลึก แต่เข้ากับบุคลิกดีนะ คือ "นิ่งแต่รับรู้" ในขณะที่ Earl (แสดงโดย Gabriel Mann) รับบทลูกชายของ Doreen ก็แสดงได้ถึงบทหนุ่มเกรี้ยวกราดใส่พ่อเช่นกัน แม้แต่แฟนของ Earl ที่ชื่อ Amber (แสดงโดย Fairuza Balk คนนี้ประทับใจเธอตั้งแต่ The Craft สมัยเธอแสดงหนังใหม่ๆแล้ว) ยังมีนาทีที่จดจำในหนังกับหญิงที่คอยตามง้อแฟน

ผมยังชอบฉากที่ Earl ปาข้าวของทุกอย่างจากห้องนอนชั้นสองลงมาหน้าบ้าน...ดูสะใจกับอารมณ์หนังดีครับ จนถึงฉากที่ Howard ชกกับ Earl ฉากชกระหว่างพ่อลูก...ดูเท่ห์ดี ส่วนฉากทะเลาะกันของ Howard และ Doreen ที่หน้าศูนย์ฟิตเนสออกกำลังกาย...เข้าใจเลือกสถานที่ในการทะเลาะนะ แม้แต่ฉากตอนที่ Sky มานั่งรอที่โซฟา (รวมทั้งตอนไปโปรยเถ้าถ่านกระดูกแม่ของเธอเองที่บนเขา) ยังมีนาทีที่น่าจดจำกับพฤติกรรมที่ผมเฝ้าดูเธออยู่ตลอด ตอนจบของหนังที่ Sky Earl และ Amber นั่งอยู่ในรถแล้วร้องเพลงร่วมกันไปบทถนน...เป็นภาพที่น่ารักดี Where is Howard Who is Howard อะไรประมาณนี้ถ้าจำไม่ผิด ฉากจบนี้ให้ความรู้สึกที่น่ารักจริงๆ ในความรักที่ไม่ลงรอย...ยังไงมันก็ต้องมีวันที่งดงามบ้างล่ะ อ้อ หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ที่มุมภาพด้วยครับเนื่องจากถ่ายภาพแบบจอกว้างคล้าย Wide Screen ได้สวยมาก ผู้กำกับ Wim Wenders (จาก Wings of Desire) สร้างบรรยากาศหนังเหงาๆและหดหู่โดยเลือกมุมมองการเดินเรื่องซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ดี สุดท้ายครับ รู้สึกว่า ตัว Sky คือจิตใจด้านลึกของมนุษย์ที่ไม่ค่อยเปิดเผยอะไร ขณะที่ Howard คือด้านปรกติของมนุษย์ และ Earl คือคนที่มีอารมณ์ตรงข้ามกับ Sky อย่างสิ้นเชิง อ้าวลืมบอกไป Sam Shepard พระเอกของเรื่องนี้เป็นคนเขียนบทเองด้วยนะ





Naked in Ashes

★★★★★★★★★★ 8.5/10

ถ้าถามผมว่า สารคดีเรื่องไหนที่มีหน้าหนังดูดีน้อยสุด แต่ได้ความประทับใจเกินคาดมากที่สุด...ก็คงไม่พ้นเรื่องนี้แน่นอน (ผิดกับสารคดีเรื่อง Before the flood ที่หน้าหนังดูดีมากที่สุด แต่เป็นสารคดีที่ผมอยากให้เป็นได้มากกว่านี้) ดูหนังเรื่องนี้ แล้วผมเกิดความผูกพันธ์กับโยคีในเรื่องไปโดยปริยาย ชีวิตของโยคีที่ต้องยอมสละทุกอย่างเพื่อความเป็นโยคีที่แท้จริง บอกไว้เลยครับว่า ผู้กำกับ Paula Fouce ทำสารคดีเรื่องนี้ได้ดูธรรมชาติ (บวกความไม่น่าเบื่อในการเล่าเรื่องโดยไม่ต้่องปรุงแต่งอะไร...ซึ่งเป็นจุดสำคัญของสารคดีเรื่องหนึ่งๆที่ควรจะมี) สารคดีเล่าถึงเด็กชายอายุ 14 ปีคนหนึ่ง Santosh Giri ที่อยากเป็นโยคีกับโยคีตัวจริง Shiv Raj Giri ที่พร้อมจะฝึกฝนเด็กคนนี้ให้เป็นโยคีที่แท้จริงในอนาคต สารคดีเรื่องนี้กำกับออกมาได้ครบอารมณ์และยังทำให้ผมรู้สึกผูกพันธ์ตามคนทั้งสองไปอย่างไม่รู้ตัว...จวบจนวินาทีสุดท้าย ฉากเริ่มต้นที่เห็นเส้นทางของเด็กชายอายุ 14 ปีคนนี้ก่อนเป็นโยคีที่ต้องฝึกและผ่านอะไรหลายอย่างจนถึงภาพที่ Santosh Giri เด็กชายคนนี้ได้เป็นโยคีอย่างแท้จริงในวันประกอบพิธีข้างริมน้ำ เป็นฉากที่ผมรู้สึกดีตามเต็มร้อย ในสารคดีนี้ เราจะเห็นขุนเขาหิมาลัยที่โยคี Shiv Raj Giri และเด็กน้อย Santosh Giri อาศัยอยู่และต้องเดินเท้าเปล่าขึ้นเขาหิมะโดยไม่มีเสื้อผ้าห่อหุ้มร่างกายด้วยความหนาวเหน็บ (ยกเว้นผ้าสีขาวผืนเล็กที่พันเป็นกางเกงสั้นๆคล้ายกางเกงใน) ฉากสุดท้ายในสารคดีที่มีการทำพิธีทางศาสนาริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เมื่อเหล่าโยคีทั้งหลายมารวมตัวกันอย่างมโหฬาร...เป็นการถ่ายภาพที่ดูขลังขึ้นมาโดยไม่ต้องมีคำพูดใดๆเลย ดนตรีประกอบตลอดเรื่องคือสิ่งที่เสริมให้สารคดีเรื่องนี้ดูเ้ข้ากับเรื่องราวของหนังและจรรโลงจิตใจคนดูได้ดีมาก สิ่งที่ผมรับรู้ได้อีกอย่างก็คือ การเป็นโยคีนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้เลยครับ...ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินหรือความเป็นอยู่ที่ลำบาก มิน่าละครับที่ในตัว Shiv Raj Giri บอกว่า โยคีในอินเดียตอนนี้กำลังจะหมดไปในไม่ช้าแล้ว สารคดีเรื่องนี้มีฉากที่หัวเราะลั่นกันทั้งโรงอยู่ฉากนึง...เมื่อโยคีต้องโชว์พลังความเป็นโยคีที่แท้จริงโดยการเอาอวัยวะเพศของตนเองไปผูกกับเชือกซึ่งผูกอยู่กับรถคันใหญ่แล้วลากรถคันใหญ่นั้นด้วยอวัยวะเพศของโยคีผ่านเชือกเท่านั้น...ฮาดีทั้งโรง แต่มันก็เป็นประเพณีความเชื่อของโยคีในอินเดียจริงๆ





Janji Joni (Joni's Promise)

★★★★★★★★★★ 8.0/10

ถ้าจะมีหนังเรื่องไหนในเทศกาลที่มี "เสน่ห์ในการเดินเรื่อง" มากที่สุด (ท่ามกลางปัจจัยอื่นๆของหนังที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่เลย) ผมขอยกให้กับหนังเรื่องนี้ทันที เป็นหนังตลกกับบรรยากาศวัยรุ่นล้วนๆที่ผมรู้สึกชอบเป็นการส่วนตัว ทุกอย่างในเรื่องไม่ได้ดูดีอะไรมากเท่าไหร่ ภาพก็ไม่ค่อยสวย ฉากก็งั้นๆ ตลกนิดๆมีฝืดหน่อยๆยิ้มๆบ้างด้วย แต่กลับเล่าเรื่องได้ "น่ารักและมีเสน่ห์" ได้อย่างแท้จริง เรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ชื่อ Joni (Nicholas Saputra) ที่มีอาชีพส่งฟิลม์หนังไปตามโรงภาพยนตร์ อยู่วันหนึ่ง เกิดความผิดพลาดในการส่งฟิลม์ขึ้นเมื่อฟิลม์ถูกขโมย ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้น หนังเดินเรื่องไปเรื่อยๆจนผมรู้สึกว่า ไม่มีการวางพล๊อตไว้ล่วงหน้าอะไรมาก ประเภทด้นกันสดๆตรงนั้นเลยกระมั๊ง แต่กลับดูดีและได้ผลแถมเป็นธรรมชาิติด้วย...ทั้งที่นักแสดงก็ไม่ได้เล่นดีอะไรกันมากมาย เพลงจากหนังของประเทศอินโดนิเซียเรื่องนี้...ก็เพราะดีกับฉากที่ Joni และเหล่าโจรโคจรมาพบกันในโกดังแห่งหนึ่ง เพลงในโกดังนี้ทำให้ผมรู้ว่า อินโดนิเซียมีการพัฒนาเรื่องเพลงไปในทางที่ดีนะ ฉากที่วิ่งหนีกันอย่างไม่หยุดหย่อน...จน Joni และ Voni โจรสาวต้องหลบเข้าไปอยู่ด้วยกันในถังขยะ ผมคาดไม่ถึงเลยนะว่า มันคือฉากคุยกันที่ดูเหมือนเป็นความรักเล็กๆในสถานที่เหม็นๆ แต่โคตรจะได้อารมณ์ความเท่ห์จริงๆ (จริงๆ ผู้กำกับน่าจะเลือกกำกับฉากในถังขยะนี้ให้มีบทสนทนานานกว่านี้อีกหน่อย...ก็จะดี) พอเข้าช่วงสุดท้าย ฉากที่ Joni และ Angelique ได้กลับไปดูหนังด้วยกันอีกครั้งในโรงหนังเพราะมาส่งหนังช้าจนเหลือคนอยู่ในโรงสองคน...ทั้งสองจึงดูต่อกันเอง...ฉากนี้เป็นความโรแมนติกได้น่ารักอีกจริงๆ ผมชอบต่อเนื่องต่อไปอีกเมื่อบทหนังเลือกให้ Voni หญิงที่เป็นโจรกลับมาหาพระเอกเพราะตกหลุมรักเขาไปแล้วโดยยืนรอเก้ออยู่ที่หน้าโรงหนังแล้วมีน้องชายเธอเองตามมาและแซวอยู่ข้างๆ นี่ก็ยังเป็นฉากที่น่ารักอีกเช่นกัน อ้อ ใครเคยเห็นคนไร้มรรยาทและความเกรงใจผู้อื่นในการชมภาพยนตร์...หนังเรื่องนี้มีประชดประชันให้ดูด้วย สุดท้ายครับ ผู้กำกับ Joko Anwar บอกว่า หนังเรื่องนี้ใช้ทุนสร้างน้อยมากและนักแสดงทุกคนก็หน้าใหม่หมด ตัวพระเอก...ก็เป็นเด็กหนุ่มวิศวะที่โดนเกณฑ์มาแสดงในหนังเรื่องนี้ แต่ทำไมทุกอย่างมันกำกับออกมาได้มีเสน่ห์และชวนติดตามได้ขนาดนี้ (ไม่เหมือนผู้กำกับไทยบางคนที่มีทีมงานมาพร้อมทุนสร้างและนักแสดงครบ แต่ผลงานสุดจะ...)





Adams Æbler (Adam's Apple)

★★★★★★★★★★ 6.5/10

นี่คือหนังตลกร้ายค่อนข้างมากแถมปนโอเวอร์นิดๆในอารมณ์เบาๆ เกี่ยวกับบาทหลวง Ivan (รับบทโดย Mads Mikkelsen) ผู้ที่รับอุปการะนักโทษไว้ในความปกครองเพื่อบ่มนิสัย แต่นักโทษคนล่าสุดที่เข้ามาอยู่ความปกครอง Adam (แสดงโดย Ulrich Thomsen) มาพร้อมกับการต่อต้านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของสถานที่แห่งนี้ไป ต้นแอปเปิ้ลในเรื่องที่มีเหล่าฝูงกาคอยมาจิกกัดกินแอปเปิ้ลอยู่ตลอด...เป็นศูนย์รวมของทุกคนในโบสถ์ดีครับ และผมก็ชอบทุกครั้งที่พูดถึงประเด็นของมัน บาทหลวง Ivan ช่างมองโลกได้สวยงามจริงๆทั้งที่โดน Adam ทุบตีสาระพัด ทั้งขู่ ทั้งชก...สุดยอดจริงๆ แต่ไม่เคยปริปาก ทั้ง Ivan และ Adam ต่างก็เป็นมุมมองด้านความคิดที่แตกกันสุดขั้ว สำหรับนักโทษที่เหลือในเรื่องทุกคน...ต่างเป็นจุดเอื้อให้หนังดูสนุกได้ ยังมีมุกอีกหลายอย่างที่เข้ามาแทรกในแบบหน้าตายนิ่งๆ แต่ได้อารมณ์ยิ้มๆเหมือนกัน หนึ่งในนั้นก็เกี่ยวกับขนมปังหรือแยมอะไรสักอย่าง...ที่เน้นกันอยู่หลายครั้ง เป็นความน่ารักดี ฉากที่อีกาโดนปืนยิงแบบไม่ยั้งท้ายเรื่องนั้น กลายเป็นความโหดที่ยิ้มและฮาไปพร้อมๆกันเลย และเพลง How deep is your love ตอนที่ Adam ยอมเป็นคนเปิดฟังเองในฉากสุดท้าย (หรือตอนที่ Ivan เปิดก็ตาม) ฟังกี่ทีก็ยังเพราะอยู่เสมอมาครับ และเพลงนี้ก็ช่วยให้บรรยากาศของหนังที่กำกับโดย Anders Thomas Jensen ดูเย็นสบายขึ้นมาได้อีกมาก อ้อ หนังเรื่องนี้กำกับภาพเย็นตาดี





Chinjeolhan geumjassi (Sympathy for Lady Vengence)

★★★★★★★★★★ 6.0/10

เหตุการณ์ที่โรงเรียนซึ่งบรรดาเหล่าพ่อแม่ได้รับเชิญให้มาร่วมวงล้างแค้นโดยที่ Geum-ja Lee (แสดงโดย Yeong-ae Lee) ให้ดูทีวีถึงผลงานของลูกชายลูกสาวแต่ละคนว่า โดนฆาตกรรมยังไงก่อน ในขณะเดียวกันบทสนนทนาอย่างเคียดแค้นของเหล่าพ่อแม่ในห้องก็ถูกต่อสายไปให้ Mr. Baek (แสดงโดย Min-sik Choi) ซึ่งอยู่อีกห้องหนึ่งได้ยินเช่นกัน...ก่อนที่ทุกคนจะตัดสินใจลงมือเข้าไปสังหาร Mr.Baek ทีละคนด้วยอาวุธต่างกันโดยที่ Geum-ja Lee เตรียมไว้ให้นั้น...เป็นฉากที่ดูสนุกในอารมณ์ร้ายปนขันไปพร้อมๆกัน ฉากในห้องกินข้าว...ก็เป็นความน่าติดตามในระดับนึง แต่โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า หนังเรื่องนี้กำกับออกมาแบบมีสไตล์ร้าย เหี้ยมในความนิ่งแต่ผมว่าขาดเสน่ห์ในฉากล้างแค้นไปหน่อยนะ ถ้าสังเกตดีๆ...หนังเรื่องนี้จะเล่นสีเป็นหลักด้วยครับกับฉากต่างๆในช่วงค่อนเรื่อง ก่อนที่จะลดความร้อนแรงของสีจนเหลือเพียงโทนขาวดำในฉากสุดท้าย นางเอกสาวแดจังกึม Yeong-ae Lee เปลี่ยนอารมณ์หนังเรื่องนี้ได้ดี แต่ผมยังไม่รู้สึกถึงเสน่ห์จากบุคลิกของ Geum-ja Lee ที่ออกมาอย่างเต็มที่นะ...แม้เธอจะทำให้คนดูติดตามการเดินเรื่องได้ตลอดด้วยสีหน้าที่นิ่งในที อ่อนหวานในเชิง โหดเหี้ยมยามถึงคราวก็ตาม





Water

★★★★★★★★★ 9.0/10

ยังไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนถ่ายภาพฉากริมแม่น้ำธรรมดาๆได้สวยเป็นธรรมชาติเท่านี้มาก่อน หนังให้การเดินเรื่องที่น่าติดตาม...แถมเนื้อหายังค่อนข้างล่อแหลมกับศาสนาฮินดูในยุคที่อังกฤษเรืองอำนาจในประเทศอินเดียและมหาตมะคานธีเริ่มมีบทบาทในช่วงนั้น เรื่องของเด็กหญิงวัยเพียง 9 ขวบคนหนึ่ง Chuyia (แสดงโดย Sarala) ที่โดนจับแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับชายแก่ซึ่งเด็กน้อยแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นั่นคือ งานแต่งงาน ในเวลาต่อมา ชายแก่ก็เสียชีวิตลง Chuyia จึงกลายเป็นหญิงหม้ายและถูกแม่ส่งมาอยู่ที่อาศรมในเมือง Banaras เพื่อไถ่บาปที่นี่ไปตลอดชีวิตตามหลักคำสอนศาสนาฮินดูเนื่องจากหญิงทุกคนที่โดนส่งมาที่นี่...เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สามีต้องเสียชีวิตไปและถูกสาปส่งอยู่ที่นี่ไปตลอดกาล (ตามที่เรารับรู้กันมาเกี่ยวกับศาสนาฮินดู หญิงหม้ายในอินเดียจะมีทางเลือกได้เพียงสามทางเท่านั้น คือ เธอต้องกระโดดกองไฟตายตามสามีไป สอง เธอต้องแต่งงานกับน้องชายของสามี หรือสามคือ เธอต้องอยู่ที่อาศรมหญิงหม้ายไปชั่วชีวิต) แต่เด็กน้อย Chuyia ไม่รู้และคิดว่า สักวันแม่จะมารับตัวเธอกลับบ้าน พฤติกรรมของเด็กคนนี้เรียกได้ว่า ทโมนและปลดแอกวัฒนธรรมในอาศรมเท่าที่เคยมีมา...จนสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วและมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอาศรมหญิงหม้ายแห่งนี้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน หญิงหม้ายผิวขาวอีกคนในสำนัก Kalyani (แสดงโดย Lisa Ray) เธอพบรักกับหนุ่มนักกฎหมายหัวใหม่ที่ศรัทธาในคำสอนของมหาตมะคานธี Narayan (แสดงโดย John Abraham) ทั้งสองมีใจให้กัน แต่แม่ของ Narayan ไม่เห็นด้วยเด็ดขาดกับความรักระหว่างลูกชายเธอกับสาวหม้ายผิวขาวคนนี้ ความไม่ถูกต้องของวัฒนธรรมหญิงหม้ายที่พร่ำสอนให้เธอห้ามมีรัก (รวมทั้งอดีตของเธอที่เฝ้าหลอน...ในวัน Kalyani นั่งเรือข้ามฟากไปเยี่ยมบ้าน Narayan กับเขาด้วยกัน แล้วพบว่า เธอเคยโดนบังคับจิตใจอะไรบางอย่างที่นี่เมื่อนานมาแล้วเพราะเธอจำสถานที่แห่งนี้ได้) กลายเป็นเครื่องขัดขวางจิตใจเช่นกัน

ประเด็นอีกอย่างในอาศรมแห่งนี้ที่ทำให้โครงเรื่องซับซ้อนขึ้นก็คือ เจ้าสำนักอาศรมหญิงหม้ายร่างใหญ่วัยชราอย่าง Madhumati ยังมีเบื้องหลังลับๆบางอย่างกับการหาเงินเข้าอาศรม นอกเหนือจากการไปนั่งขอรับบริจาคที่พื้นในที่สาธารณะอย่างที่หญิงหม้ายจากอาศรมทุกคนปฏิบัติกันมาเป็นประจำ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อหนังนำเรื่องของศาสนาเข้ามาอิงด้วยก็คือ ความเชื่อความศรัทธากับฉากที่ Kalyani สวดมนต์ต่อหน้าศาสดาก่อนลักลอบไปพบชายหนุ่มที่เธอแอบรัก...แม้มันจะเป็นรักต้องห้ามก็ตาม ผมชอบบทสรุปที่ Kalyani ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปตามที่หนังสื่อออกมาท้ายเรื่อง...เมื่อคนดูเห็นเสื้อผ้ากองทิ้งไว้อยู่ริมน้ำ ท่ามกลางบรรดาตัวละครทุกตัว...บทในเรื่องที่ผมชอบมากที่สุดคือ หญิงวัยกลางคนพูดน้อยแต่มีความเชื่อมั่นด้วยอารมณ์ที่ลึกและทำตามกฎเกณฑ์ของอาศรมอยู่ตลอดอย่าง Shakuntala (แสดงโดย Seema Biswas) แต่ท้ายที่สุด เธอทำให้รู้ว่า ความศรัทธาและความปรารถนาส่วนตัว แม้ทั้งสองไปด้วยกันไม่ได้...แต่เธอก็มีทางออกให้กับปัจจัยทั้งสองได้ ดูหนังเรื่องนี้จบ ผมถือว่าเป็นความกล้าหาญของผู้กำกับหญิง Deepa Mehta ที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมาได้ละเอียดอ่อนดีครับ...ขอชมด้วยใจจริงๆ (และไม่แปลกใจที่อ่านเจอในหนังสือนิทรรศการว่า ตอน Deepa Mehta ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ชาวฮินดูไม่พอใจอย่างมากถึงขั้นเผาทำลายฉากทิ้งกันเลย) สุดท้ายครับ ฉากตอนจบที่เป็นภาพมหาตมะคานธีนั่งอยู่บนแคร่ในสถานีรถไฟพร้อมกับสาวกมากมายที่มานั่งรอฟัง...ได้อารมณ์อย่างบอกไม่ถูก รวมถึงภาพสุดท้ายของหนังที่ Shakuntala วิ่งพร้อมอุ้ม Chuyia ส่งให้ Narayan ที่ยืนอยู่บนรถไฟด้วยเสียงร้องอย่างสุดอารมณ์ของเธอที่ฝากดูแลเด็กผู้หญิงคนนี้ด้วยรอยน้ำตา ภาพสุดท้ายที่ Shakuntala หันหน้ามานั้น แล้วกล้องแช่ภาพเธอนิ่งไว้ จากภาพที่สว่าง...ก็ค่อยๆเริ่มลดความสว่างจนกลายเป็นความมืดสนิทไปอย่างช้าๆ เป็นความสวยงามทางอารมณ์ของ Shakuntala ที่เลือกจบด้วยเทคนิคการกำกับภาพที่ดึงความประทับใจจากคนดูได้จริงๆ ขอบอกเลยครับ




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2549
6 comments
Last Update : 3 ธันวาคม 2551 14:26:14 น.
Counter : 4041 Pageviews.

 

โอ้วว เยอะแยะมากมายค่า
เราได้ชมไปเรื่องเดียวคือ your name is justine
ชอบในระดับนึง (แต่โกรธผู้ชาย แฮะ!)
เผลอๆจะนั่งชมรอบเดียวกันนะเออ

มีเกร็ดเรื่อง Manderlay มาฝาก
เรื่องนี้เป็นภาค2 ของเรื่อง dogville ค่ะ
ซึ่งใช้การทำฉากแบบนี้เช่นกัน
แต่พื้นเพของเรื่อง เป็นเมืองที่ชื่อ digville นี่แหละค่ะ
แล้วตัวละครจากภาค 2 ก็อิงมาจากภาคแรกนี่หละจ้า
เป็นหนังที่ใส่สัญลักษณ์เยอะมาก ให้ตายเหอะ

 

โดย: LUNATIC SPACE วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:52:08 น. (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) 25 สิงหาคม 2549 10:37:56 น.  

 

ตามมาอ่านแล้วนะครับ เห็นตอนนั้นคุณตี๋หล่อเคยบอกอยู่ว่าไว้จะสรุป ผมก็รอแล้วรอเล่า นึกว่าจะไม่ได้อ่านเสียแล้ว แหะๆ

น่าแปลกเหมือนกัน คุณตี๋หล่อดูไปเกือบ 40 เรื่อง ผมก็ดูไปพอๆ กัน แต่นับๆ แล้ว มีซ้ำกันแค่ไม่ถึง 5 เรื่อง ท่าทางเราจะใจไม่ค่อยตรงกันนะครับเนี่ย

แต่ทั้งหนังที่ผมเลือกดู และหนังที่คุณเลือก ล้วนมีแต่ดีๆ เสียเป็นส่วนมาก (อันหลังดูจากคะแนนที่คุณให้นะครับ) แสดงให้เห็นว่าโลกนี้มีหนังดีๆ ให้ค้นหามาดูกันแบบไร้ที่สิ้นสุดจริงๆ

อยากบอกว่าดีใจนะครับที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนบ้าหนังด้วยกัน แม้ว่าจะนานๆ ครั้งก็ตาม แล้วเอาไว้คุยกันใหม่นะครับ

 

โดย: kitty_boo_end IP: 58.136.225.23 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:23:51:28 น. (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) 25 สิงหาคม 2549 10:38:46 น.  

 

แง่ว... ผมอดดู Sympathy For Lady Vengeance เลยง่า รอบฉายบ้า.. ทับกะเวลาอ่านหนังสือของผม...

สรุปเรื่องที่ไปดูตอนเทศกาลก็มี Paradise Now, Tsotsi, Sophie Scholl, แค่นี้เองมังครับ...

อยากดู Good Night and Good Luck มากๆเลย ขอให้เข้าฉายทีเถอะ (กึมจาทวงแค้นอีกเรื่อง...)

 

โดย: nanoguy IP: 203.172.108.186 วันที่: 10 พฤษภาคม 2549 เวลา:0:58:41 น. (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) 25 สิงหาคม 2549 10:39:18 น.  

 

ตอบคุณ LUNATIC SPACE ได้ดู Your name is Justine มาด้วยหรือครับ เป็นไปได้นะครับว่า เราอาจจะดูรอบเดียวกันก็ได้ แต่อย่าลืมนะครับว่า หนัง 1 เรื่องมีฉายสองรอบ หรืออาจจะเป็นคนละรอบก็ได้นะเออ ส่วนดูหนังแล้ว...อย่ามาพลานผู้ชายซิครับ แย่นะ ผู้ชายดีๆ...ก็มีอีกเยอะ อ้อ...หนังเรื่อง Dogville ผมพอทราบแล้วครับ...แต่ขอบคุณที่แจ้งข่าวให้ทราบอีกที ที่ผมไม่ได้เขียนรวมลงไปใน Manderlay ด้วย...เพราะตอนที่เขียน 37 เรื่อง มันเยอะ...จนต้องตัดทอนข้อมูลบางอย่างออกไป เอาความรู้สึกกับตัวหนังเป็นหลักดีกว่า (ในความคิดของผมตอนนั้นนะ)

ตอบคุณ kitty_boo_end ทีแรกเกือบถอดใจไม่เขียนเหมือนกันนะครับเพราะมันเยอะและงานที่บริษัทก็มี บางทีก็เบื่อที่ต้องนั่งพิมพ์อะไรนานๆเหมือนกัน แต่ไหนๆก็จะลุยกันทั้งที (ประจวบกับมีเวลาว่างในช่วงที่ผ่านมานิดหน่อยเพราะหมู่นี้มีวันหยุดในเดือนพฤษภาคมหลายวัน...ก็เลยลุยกันไปเลย) แต่หนังเทศกาล...มองไปมองมา ส่วนมากเป็นหนังที่ให้ข้อคิดและดีกว่าหนังที่เข้าฉายตามโรงปรกติด้วยนะ (ถ้ามองกันที่เนื้อหาและข้อคิดอย่างเดียวเลยนะ) ส่วนเรื่องที่เรื่องไม่ตรงกันนั้น...หนังมันเยอะขนาดเป็นร้อยเรื่อง...ตรงกันเกินครึ่ง...ผมก็แปลกใจแล้วล่ะครับ อ้อ...ผมไม่ใช่เป็นคนบ้าหนังนะ...อิอิอิ ผมเป็นคนชอบดูหนังมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เอิ๊กส์...เอิ๊กส์

ตอบคุณ nanoguy น้องนาโนกายครับ แต่หนังสามเรื่องที่น้องได้ดูในเทศกาลนั้น...แต่ละเรื่อง เข้าข่ายที่พี่"ต้องดู"ให้ได้เช่นกันนะครับ ไว้เข้าโรงก่อน...เป็นได้เจอกันแน่

 

โดย: เจ้าของบล๊อคมาตอบเอง (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) วันที่: 10 พฤษภาคม 2549 เวลา:8:04:49 น. (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) 25 สิงหาคม 2549 10:40:13 น.  

 

..

ชุดนี้ ตรงกันหลายเรื่องเลยครับ

The Village Album .. B + (เป็นหนังสูตร ที่ไม่ถึงกับดีมาก แต่ชอบโดยส่วนตัวครับ คะเเนนเลยสูงหน่อย อิอิ)
Merry Christmas .. B
Tsotsi .. B
Mrs. Henderson Presents .. B -
House of Sand .. C +
The Consequences of Love .. B+
Your name is Justine .. C
C.R.A.Z.Y. .. A -
The Ringfinger .. B+
Don't come knocking .. B
Sympathy for Lady Vengence .. C +
Water .. A

ปีนี้ ไม่มีเรื่องไหน คว้า A+ ไปได้ โฮะๆ

ป.ล. แต่ Water ที่ได้ A ไป ก็คว้ารางวัลกินรี ไปตามที่ผมคาดไว้จริงๆ

..

 

โดย: POGGHI วันที่: 14 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:25:05 น. (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) 25 สิงหาคม 2549 10:41:09 น.  

 

มีความรู้สึกว่าwater น่าจะได้รางวัลใหญ่ๆติดไม้ติดมือเร็วๆนี้
ปล.ยังไม่ได้ดู

 

โดย: บังเอิญผ่านมา IP: 124.120.129.145 4 ธันวาคม 2549 23:42:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.