ปุ๋ย - สารประกอบที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

2.1 ปุ๋ย คืออะไร ?
ปัจจุบันบุคคลส่วนใหญ่ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรรวมถึงผู้บริหารประเทศบางท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าปุ๋ยยังไม่ถูกต้องครบถ้วนนัก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากบุคคลบางกลุ่ม โดยเฉพาะแนวความคิดที่ชักนำให้เข้าใจกันผิดๆว่าปุ๋ยเคมีเป็นสารประเภทเดียวกับสารกำจัดศัตรูพืช จึงก่อให้เกิดกระแสสังคมที่ต้านการใช้ปุ๋ยเคมี และส่งเสริมให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทต่างๆแทน แท้จริงแล้วปุ๋ยเคมี คือสารประกอบอนินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืช เพียงแต่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี เมื่อนำมาใส่ลงไปในดินที่มีความชื้น สารประกอบเหล่านี้จะละลายและพืชสามารถดูดกินไปใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตได้

ในขณะที่สารกำจัดศัตรูพืชนั้นเป็นสารประกอบอินทรีย์ซึ่งเป็นพิษกับแมลงและศัตรูพืชหลายชนิด หากใช้อย่างไม่ระมัดระวังอาจเป็นพิษต่อสุขภาพของผู้ใช้และผู้บริโภคผลผลิตได้ เช่นสารกำจัดศัตรูพืชบางชนิดใช้แล้วต้องทิ้งไว้ 20 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวได้ แต่เกษตรกรผู้ปลูกได้เก็บเกี่ยวพืชก่อนถึงวันที่กำหนดจึงทำให้มีสารพิษตกค้างอยู่ในผลผลิตและเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้

ส่วนปุ๋ยอินทรีย์นั้นหมายถึงสารประกอบที่ได้จากสิ่งมีชีวิต (ภาพที่ 2.3) ได้แก่พืช สัตว์ จุลินทรีย์ โดยผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ มีประโยชน์ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินเป็นต้นว่า ทำให้ดินโปร่ง ร่วน ซุย เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำและอากาศ ทำให้การชอนไชของรากเพื่อหาธาตุอาหารง่ายขึ้น ส่วนเรื่องปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์นั้นก็พอมีอยู่บ้าง แต่มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์เช่น มีธาตุไนโตรเจนอยู่ในสารประกอบจำพวกโปรตีน แต่เมื่อใส่ลงไปในดิน สารประกอบเหล่านี้ไม่สามารถเป็นประโยชน์กับพืชได้ทันที จำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินเสียก่อน โดยสุดท้ายจะปลดปล่อยธาตุอาหารในรูปสารประกอบอนินทรีย์ชนิดเดียวกับปุ๋ยเคมี

การนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยธาตุอาหารในดินที่หายไปกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากพื้นที่จึงจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมหาศาล และการปรับปริมาณการใช้เพื่อให้เกิดความสมดุลของแต่ละธาตุทำได้ลำบาก ยากต่อการปฏิบัติของเกษตรกรโดยทั่วไป ดังนั้นแนวทางที่ดีและเหมาะสมสำหรับการใช้ที่ดินผลิตพืชเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนรากฐานที่ยั่งยืนควรมีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับการจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม ประหยัด และมีประสิทธิภาพ

ปุ๋ยคือวัสดุที่ใส่ลงไปในดินเพื่อเพิ่มเติมธาตุอาหารให้กับพืช
ปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

2.2.1 ปุ๋ยเคมี : เป็นสารประกอบที่ผลิตจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี ธาตุอาหารที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปที่พืชดูดกินได้ทันทีเมื่อละลายน้ำ หรือใส่ลงดิน เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ เป็นต้น ปุ๋ยเคมีสามารถแบ่งได้เป็น

(1) ปุ๋ยไนโตรเจนได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งมีธาตุไนโตรเจน 46% หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งมีธาตุไนโตรเจน21%

(2) ปุ๋ยฟอสฟอรัส ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสเป็นหลักได้แก่ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟตซึ่งมีฟอสฟอรัส 46% หรือปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ซึ่งมีฟอสฟอรัส 46% และมีไนโตรเจน 18%

(3) ปุ๋ยโพแทสเซียม ได้แก่ปุ๋ยที่ให้โพแทสเซียมเป็นหลักได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์มีโพแทสเซียม 60% หรือปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟตมีโพแทสเซียม 50%

2.2.2 ปุ๋ยอินทรีย์ : เป็นวัสดุที่ได้มาจากสิ่งที่มีชีวิต ธาตุอาหารส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่พืชดูดกินไม่ได้ ต้องผ่านการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์เสียก่อน เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เลือดแห้ง เศษเนื้อพังผืด กากเมล็ดฝ้าย กากเมล็ดละหุ่ง กากน้ำปลา กระดูกป่น หินฟอสเฟต ฯลฯ เป็นต้น

การบ่งบอกปริมาณธาตุอาหารหลักในปุ๋ยเคมี
บนฉลากปุ๋ยเคมีทุกชนิดจะระบุปริมาณธาตุอาหารหลักเป็นตัวเลข 3 จำนวนเรียงกันเรียกว่า “สูตรปุ๋ย” โดยตัวเลขจะหมายถึง % โดยน้ำหนักของไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส-โพแทสเซียม หรือ เอ็น-พี-เค เรียงตามลำดับ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยสูตร 13-0-46 แสดงว่ามีไนโตรเจน 13% ไม่มีฟอสฟอรัส และมีโพแทสเซียม 46% สำหรับธาตุอาหารอื่นๆ ในปุ๋ยเคมี ผู้ผลิตจะระบุหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าระบุก็จะเขียนบอกบนฉลากปุ๋ยว่ามีธาตุอะไรบ้าง และมีเท่าไร

รูปของธาตุอาหารหลักในปุ๋ยเคมี
2.4.1 ไนโตรเจน (เอ็น) : ในปุ๋ยเคมีอาจจะอยู่ในรูปแอมโมเนียมหรือไนเตรตหรือยูเรีย ปริมาณไนโตรเจนในสูตรปุ๋ย หมายถึงปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน พืชสามารถดูดกินได้ทันที

2.4.2 ฟอสฟอรัส (พี) : ในปุ๋ยเคมีอาจจะมีอยู่ทั้งในรูปที่พืชดูดกินได้ที่เรียกว่า รูปที่เป็นประโยชน์ และบางส่วนอาจจะอยู่ในรูปที่พืชดูดกินไม่ได้ ตัวเลขที่บอกปริมาณฟอสฟอรัสในสูตรปุ๋ยจะหมายถึง เฉพาะรูปที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยหินฟอสเฟตบด ถ้ามีฟอสฟอรัสทั้งหมด 30% แต่อยู่ในรูปที่พืชดูดกินได้ เพียง 3% ก็จะมีสูตรเป็น 0-3-0 เท่านั้น

2.4.3 โพแทสเซียม (เค) : ในปุ๋ยเคมีก็อาจจะมีอยู่ทั้งในรูปที่พืชดูดกินได้ หรือที่เรียกว่า รูปที่ละลายน้ำได้ และรูปที่พืชดูดกินไม่ได้ ซึ่งตัวเลขในสูตรปุ๋ยก็จะหมายถึงเฉพาะรูปที่พืชดูดกินได้เท่านั้น

ข้อดีและข้อเสียของปุ๋ยอินทรีย์- ปุ๋ยเคมี
ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์ ข้อเสียของปุ๋ยอินทรีย์
1. ช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น 1. ปริมาณธาตุอาหารต่ำ
2. อยู่ในดินนาน (ค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหาร) 2. ใช้เวลานานกว่าจะเป็นประโยชน์
3. ส่งเสริมปุ๋ยเคมีให้เป็นประโยชน์ดีขึ้น 3. ราคาแพงต่อหน่วยธาตุอาหารพืช
4. ส่งเสริมสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในดิน 4. หายาก
5. มีจุลธาตุ

ข้อดีของปุ๋ยเคมี ข้อเสียของปุ๋ยเคมี
1. มีปริมาณธาตุอาหารสูงมาก (ใช้นิดเดียวก็เพียงพอ) 1. ปุ๋ยพวกแอมโมเนียมทำให้ดินเป็นกรด
2. ราคาถูก 2. ไม่มีคุณสมบัติปรับปรุงดิน
3. หาง่าย 3. มีความเค็ม
4. ใช้ง่าย 4. การใช้ต้องการความรู้พอสมควร
5. ให้ผลเร็ว

ปุ๋ยปลอมและปุ๋ยด้อยมาตรฐานเป็นอย่างไร
เนื่องจากประเทศไทยยังผลิตปุ๋ยเคมีได้ในปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศมาจำหน่าย หรือมาผสมเป็นปุ๋ยผสมสูตรต่างๆ ทำให้ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง อีกทั้งปุ๋ยเคมีมีสีสัน และลักษณะเม็ดปุ๋ยแตกต่างไปได้หลายแบบ ไม่สามารถสังเกตได้ว่ามีธาตุอาหารอยู่หรือไม่ ทำให้มีผู้ผลิต "ปุ๋ยปลอม" ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ไม่มีธาตุอาหารเลย หรือผลิต "ปุ๋ยด้อยมาตรฐาน" ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารไม่ตรงตามสูตรปุ๋ยและโดยปกติจะมีปริมาณน้อยกว่าตัวเลขในสูตรปุ๋ยมาก เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยปลอมและปุ๋ยด้อยมาตรฐานไปใช้ ก็จะไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย และขาดทุน

การตรวจสอบปุ๋ยปลอม และปุ๋ยด้อยมาตรฐานทำได้อย่างไร
การที่จะบอกว่าปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐานหรือไม่ เราไม่สามารถสังเกตได้จากกลิ่น สี รูปร่างลักษณะเม็ดปุ๋ย การละลายน้ำ หรือความรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัส การตรวจสอบจะต้องทำโดยวิธีการทางเคมีเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

2.7.1 การตรวจสอบอย่างละเอียด เป็นการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ วิธีการวิเคราะห์ยุ่งยาก ใช้เครื่องมือราคาแพง ต้องใช้นักวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญ ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์แพงมาก แต่ผลที่ได้ละเอียดถูกต้องดี เป็นการตรวจสอบเพื่อรับรองธาตุอาหารในปุ๋ยตามกฎหมาย

2.7.2 การตรวจสอบแบบรวดเร็ว เป็นวิธีทางเคมีที่ดัดแปลงให้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อย เกษตรกรตรวจสอบเองได้ และที่สำคัญค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันมาก อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่ละเอียดพอที่จะใช้ตรวจสอบอ้างอิงในทางกฎหมาย แต่ตรวจสอบได้ว่าปลอมหรือด้อยมาตรฐานหรือไม่ เพื่อเกษตรกรจะได้เลือกใช้ปุ๋ยที่ดี และถูกต้อง ชุดตรวจสอบปุ๋ยเคมี มก. 4 เป็นชุดตรวจสอบปุ๋ยเคมีแบบรวดเร็ว ซึ่งได้ผลิตโดย คณะนักวิจัยของ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถใช้ตรวจสอบปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยด้อย มาตรฐานได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่ใช้ตรวจสอบเพื่อรับรองธาตุอาหารในปุ๋ยตามกฎหมาย

วิธีการผสมปุ๋ย
2.8.1 การผสมปุ๋ยเพื่อให้ได้ตามสูตรที่ต้องการ เกษตรกรควรรู้จักผสมปุ๋ยใช้เอง โดยใช้แม่ปุ๋ยที่หาซื้อได้ในท้องตลาด ซึ่งอาจเป็น 18-46-0, 16-20-0 หรือ 15-15-15 และเติมธาตุอาหารที่ขาดหายไป โดยใช้ปุ๋ย 0-0-60 หรือ 46-0-0 เป็นต้น ตัวอย่างข้างล่างเป็นการผสมปุ๋ยสูตร 15-20-15 จากแม่ปุ๋ย 3 ชนิด คือ 18-46-0, 0-0-60 และ 46-0-0


ต้องการผสมปุ๋ย 15-20-15 โดยมีแม่ปุ๋ย 3 ชนิด คือ DAP (18-46-0)
KCl (0-0-60)
Urea (46-0-0)


ปุ๋ย DAP (18-46-0) หมายความว่า
ฟอสฟอรัส 46 กก. มาจากปุ๋ย 18-46-0 เท่ากับ 100 กก.
ถ้าต้องการฟอสฟอรัส 20 กก. จะต้องใช้ปุ๋ย 18-46-0 เท่ากับ 100 x 20
46
= 43.5 กก.
ปุ๋ย 18-46-0 100 กก. มี ไนโตรเจน เท่ากับ 18 กก.
ฉะนั้น ปุ๋ย 18-46-0 43.5 กก. มี ไนโตรเจน เท่ากับ 18 x 43.5
100
= 7.8 กก.


ปุ๋ย KCl (0-0-60) หมายความว่า
โพแทสเซียม 60 กก. มาจากปุ๋ย 0-0-60 เท่ากับ 100 กก.
ถ้าต้องการโพแทสเซียม 15 กก. จะต้องใช้ปุ๋ย 0-0-60 เท่ากับ 100 x 15
60
= 25 กก.


ได้ไนโตรเจนจาก 18-46-0 เท่ากับ 7.8 กก.
ต้องการผสมปุ๋ยให้มีไนโตรเจน 15 กก. ดังนั้นต้องเพิ่มไนโตรเจนอีก 7.2 กก.
ปุ๋ย (46-0-0) หมายความว่า
ไนโตรเจน 46 กก. มาจากปุ๋ย 46-0-0 เท่ากับ 100 กก.
ถ้าต้องการไนโตรเจน 7.2 กก. จะต้องใช้ปุ๋ย 46-0-0 เท่ากับ 100 x 7.2
46
= 15.6 กก.

ดังนั้นให้ผสมปุ๋ย 18-46-0 43.5 กก
0-0-60 25 กก.
และยูเรีย 15.6 กก.
= 84.1 กก.
ใส่สารตัวเติมอีก 100-84.1 = 15.9 กก.

ได้สูตร 15-20-15 ถ้าไม่ใส่สารตัวเติมสูตรก็จะเปลี่ยนเป็น 17.8-23.8-17.8


2.8.2 การผสมปุ๋ยตามคำแนะนำที่ได้ โดยใช้ปุ๋ยสูตรที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด คือ 16-20-0,
0-0-60 และ 46-0-0 เช่น


คำแนะนำปุ๋ยคือ 8 - 4 – 8 กก.ไร่

แบ่งใส่เป็นสองครั้ง รวม (N-P-K) 8-4-8 กก. ไร่
ครั้งที่ 1 (N-P-K) 3.2 – 4 – 8 กก.ไร่
ครั้งที่ 2 (N-P-K) 4.8 – 0– 0 กก.ไร่


ปุ๋ย 16-20-0 หมายความว่า
ฟอสฟอรัส 20 กก. มาจากปุ๋ย 16-20-0 เท่ากับ 100 กก.
ถ้าต้องการฟอสฟอรัส 4 กก. จะต้องใช้ปุ๋ย 16-20-0 เท่ากับ 100 x 4
20
= 43.5 กก.
ปุ๋ย 16-20-0 100 กก. มีไนโตรเจน เท่ากับ 16 กก.
ดังนั้นปุ๋ย 16-20-0 20 กก. มีไนโตรเจน เท่ากับ 16 x 20
100
= 3.2 กก.


ปุ๋ย 0-0-60 หมายความว่า
โพแทสเซียม 60 กก. มาจากปุ๋ย 0-0-60 เท่ากับ 100 กก.
ถ้าต้องการโพแทสเซียม 8 กก. จะต้องใช้ปุ๋ย 0-0-60 เท่ากับ 100 x 8
60
= 13.3 กก.


ปุ๋ย 46-0-0 หมายความว่า
ไนโตรเจน 46 กก. มาจากปุ๋ย 46-0-0 เท่ากับ 100 กก.
ถ้าต้องการไนโตรเจน 4.8 กก. จะต้องใช้ปุ๋ย 46-0-0 เท่ากับ 100 x 4.8
46
= 10.4 กก.


ดังนั้นให้ผสม 16-20-0 จำนวน 20 กก. + 0-0-60 จำนวน 13 กก. เป็นปุ๋ยครั้งที่ 1 ซึ่งจะได้ธาตุอาหาร 3.2 - 4 - 8 กก./ไร่ และให้ใส่ปุ๋ย 46-0-0 ครั้งที่ 2 จำนวน 10.4 กก./ไร่ จะได้ธาตุอาหารตามคำแนะนำคือ 8-4-8 กก./ไร่

การคำนวณราคาปุ๋ย
เกษตรกรมักพิจารณาราคาปุ๋ยโดยเทียบราคาปุ๋ยต่อ 1 หน่วยน้ำหนักของปุ๋ย ที่ถูกต้องแล้วจะต้องเทียบราคาของปุ๋ยต่อน้ำหนักธาตุอาหาร 1 หน่วย ตามตัวอย่างข้างล่าง


2.9.1 เปรียบเทียบราคาปุ๋ย 46-0-0 และปุ๋ย 21-0-0

1 ปุ๋ย 46-0-0 ราคาตันละ 13,400 บาท
ปุ๋ย 46-0-0 หมายความว่า ปุ๋ย 1,000 กก. มี
ไนโตรเจน 460 กก. ราคา = 13,400 บาท
ฉะนั้น ไนโตรเจน 1 กก. = 13,400
460

= 29.1 บาท
2 ปุ๋ย 21-0-0 ราคาตันละ 8,000 บาท
ปุ๋ย 21-0-0 หมายความว่า ปุ๋ย 1,000 กก. มี
ไนโตรเจน 210 กก. ราคา = 8,000 บาท
ฉะนั้น ไนโตรเจน 1 กก. = 8,000
210

= 38.1 บาท


ดังนั้นปุ๋ย 21-0-0 มีราคาแพงกว่าปุ๋ย 46-0-0



2.9.2 เปรียบเทียบราคาปุ๋ย 15-15-15 และปุ๋ย 16-20-0

1 ปุ๋ย 15-15-15 ราคาตันละ 12,000 บาท
ปุ๋ย 15-15-15 หมายความว่า ปุ๋ย 1,000 กก. มี
ธาตุอาหาร 450 กก. ราคา = 12,000 บาท
ฉะนั้น ธาตุอาหาร 1 กก. = 12,000
450

= 26.6 บาท
2 ปุ๋ย 16-20-0 ราคาตันละ 11,000 บาท
ปุ๋ย 16-20-0 หมายความว่า ปุ๋ย 1,000 กก. มี
ธาตุอาหาร 360 กก. ราคา = 11,000 บาท
ฉะนั้น ธาตุอาหาร 1 กก. = 11,000
360

= 30.5 บาท


ดังนั้นปุ๋ย 16-20-0 มีราคาแพงกว่าปุ๋ย 15-15-15



2.9.3 คำนวณราคาปุ๋ยอินทรีย์

วิธีคำนวณ ปุ๋ยอินทรีย์ (2-1-0) ราคาตันละ 3,000 บาท

ปุ๋ย 1,000 กก. มีธาตุอาหาร 30 กก. ราคา = 3,000 บาท
ฉะนั้น ธาตุอาหาร 1 กก. = 3,000
30

= 100 บาท


ดังนั้นจะเห็นว่าปุ๋ยอินทรีย์มีราคาแพงมาก เมื่อเทียบราคาธาตุอาหาร 1 หน่วย ในปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ย อนินทรีย์ นอกจากนั้นปริมาณธาตุอาหาร 30 กก. ในปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตันนั้นพืชไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันที จุลินทรีย์จะต้องทำการย่อยสลาย และเปลี่ยนรูปจากอินทรีย์มาเป็นอนินทรีย์สารก่อน อัตราการย่อยสลายนี้ช้ามาก ประมาณกันว่าปุ๋ยอินทรีย์จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในปีแรก 10% และปลดปล่อยออกมาเรื่อยๆ ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ถ่องแท้ในการเลือกซื้อปุ๋ยแต่ละชนิดไปใช้

ที่มา //www.ssnm.agr.ku.ac.th/main/Know/Ferti.htm


Create Date : 20 พฤษภาคม 2553
Last Update : 20 พฤษภาคม 2553 9:42:46 น. 0 comments
Counter : 1452 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

SriSurat
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




Online 30-03-2553 #2



Stats
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add SriSurat's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.